‘วาดโดยคนบ้า’ - Edvard Munch
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หนึ่งในข่าวใหญ่ที่เกรียวกราวอย่างมากในโลกศิลปะก็คือ ผลการตรวจสอบลายมือที่ปรากฏอยู่บนมุมซ้ายของภาพ The Scream (1983) ที่สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่า ผู้ที่ฝากข้อความแสนพิลึกนี้ไว้หาใช่ใครอื่น หากแต่เป็น Edvard Much เจ้าของผลงานการกรีดร้องที่ดังสะเทือนที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ ที่วาดเอง และเขียนข้อความจิกกัดตัวเองนี้ลงไป หาใช่มือบอนหรือบุคคลอื่นใดมาเขียนด่าภาพเอาไว้ดังที่เคยมีคนตั้งข้อสันนิษฐานก่อนหน้านี้
ความสำคัญของการตามหาเจ้าของลายมือที่ฝากข้อความนี้ไว้บนผลงานที่ได้รับการขนานนามว่า ‘Mona Lisa แห่งโลกสมัยใหม่’ ก็คือการต่อจิ๊กซอว์ตัวใหม่เข้าไปในภาพใหญ่ ที่ทำให้ผู้คนในยุคปัจจุบันสามารถจินตนาการถึงตัวตนของศิลปินผู้ใช้ความผิดปกติในจิตใจเป็นเชื้อไฟในการทำงานผู้นี้ได้ ซึ่งการที่เจ้าตัวตอกย้ำถึงความผิดปกติด้านจิตใจนี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า เอ็ดวาร์ด มุงก์ (Edvard Munch) คือศิลปินลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ (Expressionism) ที่มุ่งเน้นนำเสนอโลกอันบิดเบี้ยวที่เขามองเห็นให้โลกได้ร่วมรับรู้ และเขาก็ตระหนักดีว่า ‘ความบ้า’ ที่เขาหมายถึงนั้นคือแรงบันดาลใจชั้นดีที่ทำให้เขาสามารถสร้างผลงานที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากเพื่อนศิลปินร่วมยุคคนอื่น ๆ
ตลอดชีวิตของมุงก์ เขาจมจ่อมอยู่กับอารมณ์ด้านลบในจิตใจ เนื่องด้วยอาการป่วยไข้กระเสาะกระแสะมาตั้งแต่เด็ก และยังต้องเผชิญกับความตายที่อยู่รายล้อมจากการสูญเสียแม่และพี่สาวไปไล่ ๆ กัน
แต่แทนที่จะดิ่งลึกอยู่ในมวลอารมณ์ดำมืดอย่างเปล่าดาย เขากลับนำภาพของโลกอันมืดหม่นนั้นมานำเสนอให้คนภายนอกได้เห็นและ ‘รู้สึก’ ร่วมกัน ดังที่เขาเคยกล่าวไว้ว่า
“ความกลัวในชีวิตของฉันกลับกลายเป็นสิ่งจำเป็น เช่นเดียวกับความป่วยไข้ของฉัน” มุงก์เคยกล่าว “หากปราศจากความวิตกกังวลและความป่วยไข้ ฉันก็เป็นดังเรือที่ไร้หางเสือ… ความทุกข์ระทมคือส่วนหนึ่งของตัวฉันและงานศิลปะของฉัน สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นสิ่งที่แยกจากฉันไม่ออก และหากมันถูกทำให้สูญสลายหายไป งานศิลปะของฉันก็จะพินาศลงเช่นกัน”
เนื่องในโอกาสที่โลกกำลังแซ่ซ้องและพูดถึง (ศิลปินที่เรียกตัวเองว่า) ‘คนบ้า’ GroundControl จึงขอใช้คอลัมน์ The Art of Being An Artist สัปดาห์นี้พาทุกคนกลับไปสำรวจเรื่องราวของ เอ็ดวาร์ด มุงก์ ชายผู้เรียกตัวเองว่าคนบ้า ผู้ซึ่งเป็นคนบ้าแห่งโลกศิลปะที่สร้างสรรค์งานศิลปะที่ทำให้คนทั้งโลกได้ทั้ง ‘รู้สึก’ และ ‘กรีดร้อง’ ร่วมไปกับเขา
เอ็ดวาร์ด มุงก์ เกิดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 1863 ในครอบครัวที่มีพ่อเป็นหมอผู้เคร่งศาสนา กับแม่ที่อายุเพียงครึ่งหนึ่งของผู้เป็นพ่อ เขาและพี่น้องอีกสี่คนเติบโตขึ้นมาในบ้านไร่ที่อยู่ในเมือง Løten ของประเทศนอร์เวย์ โดยความทรงจำแรก ๆ ที่มุงก์จดจำได้ในระหว่างที่เติบโตขึ้นมา ก็คือการที่แม่ของเขาต้องต่อสู้กับวัณโรคร้าย และภาพที่ประทับอยู่ในความทรงจำของเขาก็คือภาพของแม่ที่ใช้เวลาเกือบทั้งวันนั่งอยู่บนเก้าอี้ข้างหน้าต่าง และเหม่อมองออกไปยังทิวทัศน์ไร่อันกว้างไกลด้านนอกอย่างสิ้นหวัง
แต่มุงก์ไม่มีโอกาสได้สร้างความทรงจำใหม่ ๆ เพื่อทดแทนภาพแม่อันแสนเศร้า เพราะเมื่อเขาอายุได้เพียง 5 ปี แม่ของเขาก็เสียชีวิตลง ทิ้งให้เขาและพี่น้องอยู่ภายใต้การปกครองของพ่อผู้เคร่งครัดในกฎระเบียบและมีความเชื่อในศาสนาจนแทบจะเรียกได้ว่า ‘สุดโต่ง’ ซึ่งในกาลต่อมามุงก์จะเชื่อว่า ร่องรอยของความผิดปกติทางจิตใจของตัวเองหรือที่เขาเรียกว่า ‘ความบ้า’ นั้นได้ปรากฏรูปรอยในช่วงนี้นั่นเอง โดยที่เขาได้รับมรดกมาจากพ่อของเขา
“พ่อของฉันเป็นคนที่วิตกกังวลเป็นพัก ๆ แต่หมกมุ่นในศาสนาอย่างสุดขีด จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นอาการของโรคจิตเภท ฉันได้รับสืบทอดเมล็ดพันธุ์แห่งความบ้ามาจากเขา เทพธิดาแห่งความกลัว โศกเศร้า และความตาย ยืนหยัดอยู่ข้างกายฉันมาตั้งแต่วันแรกที่ฉันลืมตาดูโลก”
การต้องอยู่กับพ่อผู้เคร่งครัดและไม่เคยแสดงออกถึงความรัก ทำให้มุงก์ที่ตอนนั้นยังเยาว์วัยนักมองหาความอบอุ่นและความรักดังที่แม่ของเขาเคยมอบให้ และแม้ว่าจะมีป้าที่เป็นพี่สาวแท้ ๆ ของแม่มาคอยดูแล แต่มุงก์กลับยึดพี่สาวคนโตอย่าง Sophie ไว้เป็นเหมือนดังตัวแทนของแม่ผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้การตายของพี่สาวที่เขาเทิดทูนดังแม่ในอีก 9 ปีต่อมา อันเนื่องมาจากโรคร้ายชนิดเดียวกับที่พรากแม่บังเกิดเกล้าของเขาไป ได้ฝากรอยแผลขนาดใหญ่ไว้ในใจของเขาตลอดกาล โดยในช่วงสุดท้ายก่อนจะหมดลมหายใจ พี่สาวได้ขอให้เขาช่วยอุ้มเธอไปวางไว้บนเก้าอี้ ซึ่งภาพนั้นก็กลายมาเป็นซับเจกต์ที่เขาวาดเสมอมา และเขาก็เก็บเก้าอี้ตัวนั้นของพี่สาวไว้จนตลอดชีวิต (ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ Munch Museum)
ความตายและความผิดปกติทางจิตรายล้อมรอบตัวมุงก์มาตลอดชีวิต หนึ่งในน้องสาวของมุงก์ใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตไปกับการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจิตเวช ในขณะที่น้องชายคนหนึ่งที่เป็นดังเพื่อนสนิทของมุงก์ก็เสียชีวิตอย่างกระทันหันด้วยโรคปอดบวมในวัยเพียง 30 ปี ในครอบครัวที่มีโศกนาฏกรรมเป็นดังบันทึกของครอบครัวนี้ มีเพียงเขาและน้องสาวคนเล็กสุด (ซึ่งใช้ชีวิตเพียงลำพัง ไม่แต่งงานเช่นเดียวกับมุงก์) ที่มีชีวิตอยู่ยืนนานจนเข้าล่วงวัยชรา
ในปี 1879 มุงก์ได้สมัครเข้าเรียนในวิทยาลัยและศึกษาในด้านวิศวกรรม ซึ่งเขาก็ทำได้ดีทั้งในวิชาฟิสิกส์ เคมี และคณิตศาสตร์ กระนั้น พรสวรรค์ที่แท้จริงของเขากลับถูกค้นพบในวิชาดรอว์อิงที่เขาได้ศึกษาเรื่องขนาดและมุมมองของสิ่งต่าง ๆ และนั่นก็เป็นแรงขับดันที่ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากวิทยาลัยในปีต่อมา พร้อมด้วยเป้าหมายแห่งชีวิตที่จะเป็นจิตรกร ซึ่งแน่นอนว่าการเลือกเส้นทางนี้ย่อมนำความผิดหวังใหญ่หลวงมาสู่พ่อของเขาผู้ซึ่งมองว่าศิลปะนั้นเป็น ‘เส้นทางแห่งความชั่วร้าย’ (‘unholy trade’) ซึ่งไม่ใช่แค่พ่อของเขาเท่านั้นที่แสดงความไม่พอใจ แม้กระทั่งเพื่อนบ้านของเขาที่เคร่งศาสนาไม่แพ้พ่อของเขาก็ยังแสดงออกถึงความเดือดดาลถึงขนาดที่ส่งจดหมายไม่ลงชื่อไปต่อว่ามุงก์เลยทีเดียว (ป้าข้างบ้านอยู่ทุกที่ และอยู่มาทุกยุคจริง ๆ)
แม้ว่าจะขัดแย้งกับผู้เป็นพ่อ แต่มุงก์มองว่าเส้นทางที่เขากำลังมุ่งไปนั้นก็มีเป้าประสงค์ไม่ต่างจากการเดินบนเส้นทางแห่งความศรัทธาในศาสนาของพ่อ โดยมุงก์เคยเขียนไว้ในบันทึกส่วนตัวว่า
“ศิลปะของฉันคือการพยายามที่จะอธิบายชีวิตและความหมายของมันต่อตัวฉันเอง”
ในปี 1881 มุงก์จึงเข้าเรียนใน Royal School of Art and Design ที่ตั้งอยู่ในเมืองออสโลในปัจจุบัน ที่นี่ เขากลายเป็นแถวหน้าของชั้นและพัฒนาทักษะทางศิลปะอย่างรวดเร็วจนทำให้เพียง 2 ปีถัดมา เขาก็สามารถมีผลงานจัดแสดงต่อสาธารณชนได้ โดยหนึ่งในผลงานที่ได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์มากที่สุดก็คือ ภาพพอร์เทรตของ ฮันส์ จูเกอร์ (Hans Jaeger) นักเขียนและนักปรัชญาชื่อดังชาวนอร์เวย์ที่เขาชื่นชม โดย มุงก์ได้จัดท่าทางให้จูเกอร์นั่งอยู่บนโซฟาโดยมีหมวกปิดลงมาถึงหน้าผาก ซึ่งการนำเสนอเสื้อคลุมสีเทาที่จูเกอร์สวมใส่นั้นก็สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะลัทธิประทับใจ (Impressionism) ที่ ‘กำลังมา’ ในยุคนั้น โดยเฉพาะฝีพู่กันแบบการตวัดแต้มและการเลือกใช้สีฟ้ากับเทาก็สะท้อนถึงอิทธิพลที่มุงก์ได้รับมาจากศิลปินผู้แผ้วทางให้กับ Post-Impressionism อย่าง ปอล เซซาน (Paul Cézanne)
แม้ว่าจะได้รับเสียงชื่นชมในการนำเสนอสไตล์ Impressiomism ออกมาได้อย่างดงาม แต่ในช่วงนี้เองที่มุงก์รู้แน่แก่ใจว่านี่ไม่ใช่แนวทางของเขา นอกจากนี้ ในช่วงนี้เองที่พ่อของเขาทำลายภาพวาดนู้ดของเขาไปจนแทบหมดสิ้น และตัดขาดการสนับสนุนทางการเงินกับมุงก์อย่างเด็ดขาด
ที่จริงแล้ว ความไม่พอใจจากผู้เป็นพ่อไม่เพียงมาจากการที่มุงก์ทุ่มเทให้กับศิลปะที่พ่อของเขามองว่าเป็นปีศาจร้าย แต่พ่อของเขายังรับไม่ได้กับการที่ลูกชายไปสนิทสนมกับ Jæger ผู้ยึดถือวิถีชีวิตแบบโบฮีเมียนที่ปฏิเสธการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ๆ และมีมอตโต้ประจำใจว่า ‘ความปรารถนาที่จะทำลายคือความปรารถนาที่จะสร้างสรรค์’ ซึ่งแนวทางความคิดของจูเกอร์ก็ส่งอิทธิพลต่อมุงก์เป็นอย่างมาก… โดยเฉพาะข้อเสนอของเขาที่ว่า การฆ่าตัวตายคือหนทางสู่การเป็นอิสระที่จริงแท้ที่สุด
“ความคิดของฉันพัฒนาขึ้นมาภายใต้ร่มเงาของอิทธิพลทางความคิดแบบโบฮีเมียน หรือภายใต้อิทธิพลของ ฮันส์ จูเกอร์”
นอกจากอิทธิพลด้านความคิดของจูเกอร์ยังช่วยทำให้มุงก์ได้ค้นพบแนวทางศิลปะของตัวเอง โดยจูเกอร์ได้ให้คำแนะนำกับมุงก์ว่า เขาควรที่จะเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองออกมาในผลงาน ซึ่งก็ทำให้มุงก์ตัดสินใจที่จะกลับไปทบทวนและสำรวจชีวิตในวัยเยาว์ของเขาที่เต็มไปด้วยความดำมืดทางด้านอารมณ์และจิตใจ และในที่สุดมุงก์ก็ตัดสินใจที่จะใช้ภาพวาดของเขาเป็นดัง ‘บทบันทึกทางจิตวิญญาณ’ (soul’s diary) จนกลายมาเป็นผลงานภาพวาดจิตวิญญาณภาพแรกของเขา นั่นก็คือ The Sick Child (1886) ซึ่งวาดมาจากความทรงจำถึงพี่สาวผู้ล่วงลับนั่นเอง
การค้นพบวิถีการวาดภาพสะท้อนจิตวิญญาณของมุงก์มาได้ทันพอดีกับการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายในชีวิตของเขาช่วงนี้ ที่แม้จะเต็มไปด้วยความผิดหวังและแตกสลาย แต่ก็ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ในการสร้างสรรค์ของเขา
เหตุการณ์แรกคือการได้ลิ้มรสประสบการณ์รักเป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1885 ซึ่งในขณะนั้นเขามีอายุได้ 21 ปีมุงก์ได้พบรักกับ มิลลี โธโลว์ (Millie Thaulow) หญิงสาวต้องห้ามผู้เป็นภรรยาของญาติห่าง ๆ ของเขา แต่ถึงแม้จะรู้ว่าความรักของพวกเขาไม่มีทางเป็นไปได้ ทั้งคู่ก็ยังแอบนัดพบกันในป่าเพื่อพลอดรักกัน ความปรารถนาที่มุงก์มีต่อหญิงสาวนั้นเรียกได้ว่าเข้มข้น ลึกซึ้ง และบ้าคลั่ง ซึ่งทำให้เขาทั้งสุขสมและทุกข์ทรมานไปพร้อม ๆ กัน นั่นจึงทำให้การที่โธโลว์ขอจบความสัมพันธ์กับเขาในอีก 2 ปีถัดมากลายเป็นอีกหนึ่งแผลใหญ่ในชีวิตของเขา ที่เขากลับดึงมันมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานเพื่อสะท้อนอารมณ์รักปรารถนาอันบ้าคลั่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเพิ่งได้มีประสบการณ์เป็นครั้งแรก
เรื่องราวของชายผู้โดดเดี่ยวกับหญิงสาวผู้ควบคุมความสัมพันธ์ได้กลายเป็นธีมอันยิ่งใหญ่ในการสร้างผลงานของมุงก์จนก่อให้เกิดเป็นหนึ่งในผลงานที่ได้รับการยกย่องที่สุดของมุงก์อย่าง Vampire (1893-94) ที่เป็นภาพของหญิงสาวผมแดงผู้กำลังฝังริมฝีปากลงไปบนซอกคอของชายหนุ่มคู่รักผู้ดูเศร้าสลด
อีกภาพหนึ่งที่วาดในปีเดียวกันก็คือ Ashes ที่เป็นภาพหญิงสาวซึ่งถอดแบบมาจาก Thaulow หันหน้ามาประจัญหน้ากับผู้ชม โดยมีชายหนุ่มคู่รักกำลังม้วนตัวด้วยความเศร้าเสียใจอยู่ข้าง ๆ
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ส่งอิทธิพลต่อภาพวาดจิตวิญญาณของมุงก์ก็คือเหตุการณ์ในปี 1889 ขณะที่เขากำลังอยู่ในปารีส เพื่อนของเขาก็ได้นำจดหมายที่ว่า พ่อของเขาได้เสียชีวิตลงแล้วด้วยสาเหตุเส้นเลือดในสมองแตก มามอบให้กับเขา
หลังจากบอกลาเพื่อนผู้นั้น มุงก์ก็ตรงไปที่ร้านอาหารและเปิดจดหมายที่แจ้งข่าวการเสียชีวิตของพ่อ และการมอบอำนาจการเป็นหัวหน้าครอบครัวที่พ่วงมากับหน้าที่การจัดการเงินในครอบครัว เขาอ่านจดหมายนั้นเงียบ ๆ เพียงลำพัง ท่ามกลางความเงียบสงบในร้าน มุงก์ทบทวนถึงความทรงจำและความสัมพันธ์อันร้าวฉานที่เขากับพ่อแบ่งปันร่วมกัน และแม้ว่าจะแทบไม่เคยมีช่วงเวลาดี ๆ ต่อกัน เขาก็รู้สึกเสียใจและรู้สึกผิดที่ไม่ได้ไปอยู่กับพ่อในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต ด้วยความที่เขาไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ที่พ่อของเขาจากไป มุงก์จึงพบว่าเขาไม่อาจไว้อาลัยให้พ่อด้วยการวาดฉากการเสียชีวิตของพ่อเหมือนที่เขาวาดแม่และพี่สาวของเขาได้ ด้วยเหตุนี้ Night in Saint Cloud ที่ถูกวาดขึ้นในภายหลัง (ปี 1890) จึงถูกใช้เป็นฉากการอำลาของเขาและพ่อ โดยที่บรรยากาศขมุกขมัวที่อบอวลอยู่ในอพาร์ตเมนต์นั้นก็คือภาพสะท้อนมวลอารมณ์ของมุงก์ในช่วงเวลานั้น ส่วนชายสวมหมวกมทรงสูงในภาพก็คือ เอมานูเอล โกลสตีน (Emanuel Goldstein) กวีชาวเดนิชซึ่งเป็นเพื่อนร่วมห้องของเขา นอกเหนือจากนั้น แสงยามเย็นที่สาดเข้ามาทางหน้าต่างและตกลงบนพื้นเป็นเงารูปไม้กางเขนนั้นก็คือสัญลักษณ์แทนพ่อผู้เคร่งศาสนาของเขานั่นเอง
ในไดอารีที่มุงก์เขียนไว้เมื่อวันที่ 22 มกราคม 1892 เขาได้บันทึกถึงเหตุการณ์หนึ่งที่ติดตราตรึงใจ และทำให้เขาทั้งสุขสมและรู้สึกพรั่นพรึงในเวลาเดียวกัน
“เย็นย่ำของวันหนึ่ง ผมกำลังเดินไปบนถนนเส้นหนึ่งที่ด้านหนึ่งคือเมือง ส่วนอีกด้านหนึ่งคือฟยอร์ด (ช่องทางน้ำที่ยาวและแคบที่เกิดจากการกัดเซาะของธารน้ำแข็ง) ที่ทอดยาวลงไป พระอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้า และก้อนเมฆกลายเป็นสีแดงดุจเลือด ผมรู้สึกได้ถึงเสียงกรีดร้องที่เสียดทะลุธรรมชาติออกมา ผมรู้สึกว่าผมได้ยินเสียงนั้น ผมจึงวาดภาพนี้ วาดก้อนเมฆด้วยสีที่เหมือนกับเลือด ด้วยสีที่ราวกับจะกรีดร้องออกมาได้ และภาพนั้นก็กลายเป็น The Scream”
The Scream ถูกวาดออกมาเป็น 4 เวอร์ชั่น คือเวอร์ชั่นสีชอล์ก 2 ภาพ (ปี 1893 และ 1895) และเวอร์ชั่นภาพสีพู่กันอีก 2 ภาพ และยังมีเวอร์ชั่นภาพพิมพ์ออกมาอีกมากมาย
แต่เวอร์ชั่นที่เราคุ้นตากันดีที่สุดคงหนีไม่พ้นเวอร์ชั่นปี 1893 ที่กลายมาเป็นหนึ่งในไอคอนของงานศิลปะยุคโมเดิร์น และถูกขนานนามให้เป็นดัง Mona Lisa แห่งยุคสมัยใหม่ ซึ่งเหตุผลที่ทำให้ผลงานชิ้นนี้ของมุงก์ถูกนำไปเปรียบเทียบกับผลงานของเจ้าศิลปินอย่าง เลโอนาโด ดาวินชี ที่มีช่องว่างเวลาห่างกันเป็นร้อย ๆ ปี ก็มาจากการที่ทั้งสองภาพมีจุดร่วมเดียวกันคือการนำเสนอภาพตัวตนที่เรามองเห็นในยุคสมัยของเรา ซึ่งหากดาวินชีมองภาพของมนุษย์ในยุคนั้นว่าเป็นภาพความงดงามของสัดส่วนอันสัมบูรณ์ดังพระเจ้า ภาพมนุษย์แห่งยุคสมัยที่มุงก์เห็นและเป็นอยู่ก็คือภาพของมนุษย์ที่ถูกทำให้แหว่งวิ่นด้วยความวิตกกังวลและความไม่แน่นอนของสรรพสิ่ง
รูปทรงของมนุษย์ที่ดูไม่ออกว่าเป็นเพศใด ร่างกายที่คดงอบิดเบี้ยว ใบหน้าที่ดูราวกับเดกดทารกที่ยังอยู่ในครรภ์ของมารดา และปากกับตาที่เบิกอ้าเป็นโพรงด้วยความตื่นตระหนกสุดขีด คือภาพสะท้อนความรู้สึกของมุงก์ในช่วงขณะนั้น ที่ธรรมชาติรอบกายเขากลับปลุกอารมณ์ความรู้สึกในตัวเขาให้ตื่นขึ้นอย่างครบครันทุกองคาพยพ ท้องฟ้าสีแดงฉานราวกับเลือด เพื่อนร่วมเดินที่หันมามองเขาด้วยใบหน้าขาวอมเหลือง และเสียงที่ดังก้องอยู่ในหูของเขาที่ราวกับเป็นเสียงกรีดร้องของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ เหล่านี้คือสิ่งที่มุงก์เห็นและรู้สึก ณ ช่วงเวลาแห่งยามเย็นอันกลายมาเป็นแรงบันดาลใจแห่งภาพอันยิ่งใหญ่นี้
ในปี 1895 มุงก์ได้หวนกลับมาระลึกถึงความทรงจำจากโมงยามนั้นอีกครั้ง โดยคราวนี้เขาถ่ายทอดมันออกมาเป็นบทกลอนที่เขาเขียนลงไปบนเฟรมภาพ The Scream เวอร์ชั่นสีชอล์ก
ฉันและเพื่อนอีกสองคนเดินไปบนถนนเส้นนี้
ตะวันกำลังลาลับ
ท้องฟ้ากลับเปลี่ยนเป็นสีแดงโลหิต
รู้สึกถึงคลื่นของความโศกศัลย์
ฉันยืนนิ่งงัน เหนื่อยเจียนตาย
เหนือขึ้นไปบนฟยอร์ดสีน้ำเงินดำและเมืองนั้น
ท้องฟ้าสีแดงฉาน ดุจโลหิตและเปลวไฟ
เพื่อนฉันเดินต่อไป ฉันหยุดยืนนิ่ง
ตัวสั่นและหวั่นกลัว
ฉันรู้สึกได้ถึงเสียงกรีดร้องดังสนั่นของธรรมชาติ”
The Scream ไม่เพียงกรีดร้องความรู้สึกตื่นตระหนกที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจของมุงก์เพียงคนเดียว แต่มันยังนำเสนอเสียงกรีดร้องของมนุษย์ยุคใหม่ทุกคนที่ต้องทุกข์ทนและเผชิญกับโลกที่กำลังหมุนเร็วขึ้น