เวลาอ่านวรรณกรรมตะวันตก เรามักจะพบภาพวาดประกอบแผนที่หรือผังเมืองสอดแทรกอยู่ในหน้าแรก ๆ ของหนังสืออยู่เสมอ ซึ่งนอกจากแผนที่จะช่วยเสริมสร้างจินตนาการให้นึกภาพแต่ละพื้นที่ในเเนื้อรื่องง่ายขึ้น มันยังเป็นองค์ประกอบชั้นดีที่กระตุ้นความอิน ความเบียว และความหวังฟุ้ง ๆ ตามประสานักอ่านนิยายว่า บางทีโลกในแผนที่เหล่านี้อาจจะตั้งอยู่ที่ไหนสักที่บนจักรวาลนี้ก็ได้
และความรู้สึกที่ว่านั้นก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อได้สำรวจผลงานของ ‘Gui.dekk’ หรือ ‘ไกด์-กรวิชญ์ กาญจนคูหา’ ศิลปินนักวาดภาพประกอบและช่างปั้นเซรามิกอิสระ ผู้หลงรักการเปลี่ยนโลกในจินตนาการให้กลายเป็นพื้นที่ที่มีอยู่จริง ผ่านการวาด ‘ผังเมือง’ และสร้าง ‘ประติมากรรมเซรามิก’ จากโลกวรรณคดีไทย ที่ทำให้เรามองเห็นพื้นที่เขาพระสุเมรุในมุมมองที่แปลกใหม่ และสัมผัสกับปลาอานนท์ตัวใหญ่ได้ใกล้ชิดกว่าเดิม
Gui.dekk เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการแนะนำตัวสั้น ๆ ให้เรารู้จักเขามากขึ้นว่า “เราเรียนจบจากมหาลัยธรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง หลักสูตรการออกแบบพัฒนาชุมชนเมือง (UDDI - Urban Design and Development (International Program) งานแรกที่ได้ทำหลังเรียนจบเลยเป็นอาชีพนักวิจัยด้านผังเมืองตรงตามสาย แต่หลังจากทำงานนั้นได้หนึ่งปีเราก็ตัดสินใจไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ในรูปแบบของนักเรียนพิเศษ เพื่อเรียนรู้ด้านศิลปะให้มากขึ้น ”
“ในระหว่างเรียนเรายังมีโอกาสกลับไปเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาลัยธรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมืองด้วยสองปี ก็ทั้งเรียนและทำงานสลับกันอยู่แบบนั้น และหลังจากเรียนจนชำนาญเรื่องการปั้นและเพนท์ติ้งแล้ว ก็เลือกกลับมาลำพูนและทำงานที่ ‘เตาชวนหลง’ โรงงานเซรามิกของบ้านเราเอง ตอนนี้เลยเรียกได้ว่าเราเป็นคนทำงานด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และเป็นศิลปินสร้างสรรค์งานศิลปะส่วนตัวไปพร้อม ๆ กัน”
สำหรับเอกลักษณ์ในการทำงาน Gui.dekk ก็ได้บอกกับเราว่างานของเขาโดดเด่นที่ ‘ลายเส้นและสีสัน’ เฉพาะตัว เขาเล่าให้ฟังว่า “เราว่าจุดเด่นแรกในงานของเราคือลายเส้น ซึ่งหลาย ๆ คนก็น่าจะคาดเดาได้แหละว่าเป็นลายเส้นแบบคนเรียนสถาปัตย์ จากการวาดแบบไอโซเมตริก หรือการวาดภาพสามมิติที่ด้านเท่ากันทุกด้าน แต่เราจะมีการผสมผสานระหว่างเส้นตรงจากสถาปัตย์และเส้นขดจากศิลปะไทย เมื่อรวมกับสีสันที่เลือกใช้ที่เน้นโทนสีไทย ๆ อย่าง สีแดงชาติ สีเขียวตังแช และสีคราม ก็ทำให้ลายเซ็นความเป็นเรามันชัดขึ้น”
“ในส่วนของคอนเซปต์งาน เราจะหยิบเอาเรื่องราวในวรรณคดีไทยมาใช้เป็นหลัก บวกกับเราเคยเรียนเกี่ยวกับผังเมืองมาก่อน เลยตั้งใจปูเนื้อเรื่องให้เป็นฉากของเรื่องที่เราอยากเล่า บางทีจะหยิบเรื่องราวของเหตุการณ์ปัจจุบันมาผูกโยงกับตัวละครในวรรณคดีไทย ทำให้บางรูปมีการเล่าถึงปัญหาของเมืองทั้งกายภาพหรือสังคมที่กำลังส่งผลกับเหล่าตัวละครวรรณคดี ในบางรูป (โดยเฉพาะงานวาดตัวละคร) จะมีองค์ประกอบจากธีมไซเบอร์พังค์มาด้วย แต่ไม่มากเกินไป”
ด้วยเหตุนี้นอกจากเราจะได้เห็นผลงานของ Gui.dekk ในรูปแบบงานวาดผังเมืองโลกสมมติ เรายังได้เห็นคาแรกเตอร์จากแต่ละเมืองในเรื่องราวเหล่านั้นปรากฏออกมาในรูปแบบงานประติมากรรมเซรามิก ที่สร้างตามคาแรกเตอร์ดีไซน์ของ Gui.dekk เองด้วย ซึงเขาก็ได้อธิบายวิธีการทำงานกับงานประติมากรรมเซรามิกให้เราฟังด้วยเหมือนกันว่า
“การทำงานเซรามิกของเราจะเป็นงานเซรามิกแบบเคลือบแตกลานสีสด โดยเราจะพยายามคิดค้นสูตรดินหรือการเคลือบอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าในหนึ่งอาทิตย์เราจะตั้งเป้าไว้เลยว่าจะต้องได้ทดลองเผาอย่างน้อยสองถึงสามครั้ง ไม่งั้นนอนไม่หลับ เพราะทุกครั้งที่ได้เอาผลงานเข้าเตาเผาแล้ว จะรู้สึกตื่นเต้นอยู่ตลอดว่าจะออกมาตามที่คาดไว้ไหม หรือเกินคาด”
อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ยังเป็นเหมือนเสต็ปเริ่มต้นของ Gui.dekk เพราะเขายังแชร์ถึงการทำงานในอนาคตด้วยว่าอยากจะสร้างนิยายภาพของตัวเอง อยากลองวาดภาพวิวทิวทัศน์แบบเหนือจริง และภาพวิวเมืองบนแคนวาส หรือบนวัสดุที่ต่างออกไปอย่างแผ่นดินที่เรียบแบน และโปรเจกต์ที่เขาอยากทำมากที่สุดก็คืองานศิลปะจัดวางสาธารณะ (Public Installation) ซึ่งก่อนหน้านี้เขาเคยมีโอกาสได้ลองชิมลางมาครั้งหนึ่งแล้วในการร่วมงานกับชุมชนลำพูน
Saladaeng Mapping Competition
ช่วงแรกที่เริ่มทำงานกราฟิกเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับตอนที่กำลังเรียนมหาลัยศิลปากร เป็นงานออกแบบโลโก้ เลยทำให้มีทักษะด้านการวาดในคอมพิวเตอร์ หลังจากที่ได้สัมผัสกับงานจิตรกรรมฝาผนัง ศิลปะไทยเป็นแรงบันดาลใจในการเริ่มนำองค์ประกอบต่างๆ เข้ามาผสมในงาน
งานดิจิทัลเพนท์ติ้งงานแรกที่ทำออกมาเป็นผลงานส่งประกวศของ Woofpack ชื่อ ‘Saladaeng Mapping Competition’ เป็นการวาดแผนที่ให้กับย่านศาลาแดง ผลออกมาได้ที่สี่ ซึ่งเป็นที่น่าพอใจสำหรับเรา และทำให้มั่นใจในไสตล์งานที่เราทำออกมา เลยพัฒนาลายเส้นในคอมพิวเตอร์ให้มีความเป็นมาตรฐานของตนเองมากขึ้น เช่น ปรับลายเส้นที่ดูเหมือนดินสอให้เป็นเส้นเรียบ ๆ คลีน ๆ จากความพึงพอใจของตนเอง
Jambudvipa [ Earth ] Iso-projection
ภาพนี้ได้แรงบันดาลใจจากความเชื่อของภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อนเกี่ยวกับจักรวาลไตรภูมิซึ่งประกอบด้วยศูนย์กลางจักรวาล เขาพระสุเมรุ ที่เป็นที่สิงสถิตของเหล่ามนุษย์ เทวดา และภพและภูมิต่าง ๆ ของสัตว์โลก ที่มีปลาอานนยักษ์คอยหนุนแบกรับน้ำหนักของโลกไว้ บางครั้งจะพลิกตัว เพื่อเป็นการเปลี่ยนอิริยาบท ที่กำลังแบกโลกอยู่ เลยทำให้เกิดภัยพิบัติเหนือผิวโลก
ภาพประกอบนี้ชี้ให้เห็นถึงวิถีการดำรงชีวิตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่ทำให้จักรวาลเสื่อมสลาย เพราะความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ทำให้เกิดการเสียสมดุลของธรรมชาติ ซึ่งปลาอานนไม่สามารถหนุนโลกได้อีกต่อไป จึงพยายามว่ายขึ้นเหนือน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด นำมาสู่ภัยพิบัติที่กำลังจะตามมา เป็นผลงานที่ทำต่อจาก Saladaeng Mapping Competition
Devoured Town
คอนเซปต์ของภาพนี้คือพญานาคมากลืนกินทั้งเมืองมนุษย์เพื่อหยุดความเจริญของเมืองที่กำลังเติบโต แต่ภายในของนาคได้รับความเสียหายจากมลภาวะในขณะที่กลืนกินเมือง ทำให้ไม่สามารถย่อยได้ และบางส่วนโดนมลพิษกัดเนื้อ กัดผิวจนขาดเหลือแต่โครงกระดูก การจัดวางองค์ประกอบภาพดัดแปลงมาจากเกมกระดานบันไดงู ในมุมสไตล์ไอโซเมตริกและใส่เลขไทย
A Sense of Thai 2023: The Golden Kingdom event l 4 Apr - 17 Apr 2023 l Central Embassy
ชิ้นนี้คืองาน Key Visual ในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีการสื่อถึงสถาปัตยกรรม, อาหารและวัฒนธรรม, ความอุดมสมบูรณ์, การแสดงฟ้อนรำประเพณีไทย และความอินเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ตรงกลางของรูปจะเริ่มด้วยการก่อเจดีย์ทราย การฟ้อนรำ และเล่นน้ำเล็กๆน้อยๆ ด้านหลังจะมีเจดีย์หลักสีทองที่เปร่งแสงออก ถูกล้อมรอบด้วยต้นไม้และดอกไม้เหมือนเรากำลังโผล่ออกมาจากป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ชิ้นนี้ประทับใจตรงที่มีเวลาทำจำกัดในขณะที่องค์ประกอบที่ต้องใส่มีค่อนข้างเยอะ เป็นชิ้นงานที่ได้วาดคนเยอะ และหลากหลายท่าทาง
Heavy Jack Collection
ผลงานนี้คือคอลเลคชันที่อยากทำเป็น art toy เซรามิก ม้านิลมังกรที่ทำแล้วสนุกและอิสระกับความคิด ไม่มีการกำหนดแบบ แต่ละชิ้นจะคิดคอนเซปง่าย ๆ ที่ไม่ซับซ้อนมาก เพื่อนำมาปั้นตามความรู้สึกและเล่นกับสีเคลือบที่เราทดลองอีกที ตอนนี้ทำมา 20 ชิ้นที่มีแค่ edition เดียวเท่านั้น ซึ่งกำลังทำต่อเรื่อย ๆ จนถึง 100 ชิ้น
อันนี้คือรูปแบบงานในอนาคต เรามองว่าต่อไปจะออกมาในหลายรูปแบบเพราะตอนนี้สนใจในงานหลายด้านมาก ๆ คาดว่าปีนี้จะต้องได้เริ่มลองทำนิยายภาพ (graphic novel) ของตัวเอง วางแผนไว้ว่าอาจจะทดลองทำเป็นเรื่องสั้นหลาย ๆ เรื่องในเล่มเดียวก่อน โดยขยายเรื่องราวของตัวละครเดิมที่เราได้วาดหรือปั้นมา
อีกงานที่สนใจคืองานเพนท์ติ้งเพราะอยากจะขยายเพื่อสำหรับงานแสดง exhibition ต่างๆ โดยสนใจในงาน ภาพวิวทิวทัศน์แบบเหนือจริงและภาพวิวเมืองเป็นพิเศษ โดยจะใช้สีอะคริลิคและสีดินลงบนแคนวาส หรือลงบนแผ่นดินที่รีดแบน ความยากของแผ่นดินรีดแบนนั้น คือการรอให้ดินแห้งสนิท เพราะเป็นแผ่นขนาดใหญ่ หากดินแห้งเร็วเกินไป จะทำให้เกิดการแตกร้าวเสียหายได้
ชิ้นนี้คืองานศิลปะจัดวางสาธารณะ (Public Installation) ที่เคยทำร่วมกับชุมชนลำพูน งานนี้เราได้นำแม่พิมพ์ปูนที่สามารถขึ้นรูปเครื่องปั้นดินเผาได้ อาธิ แจกันเล็กใหญ่ในรูปทรงต่าง ๆ มาใช้ ด้วยการเทน้ำดินลงใปในแม่พิมพ์ จากนั้นจะถูกแม่พิมพ์ดูดซึมน้ำดิน ทำให้ดินอยู่ทรงตัวได้เปรียบเสมือนแม่กับลูก
งานชิ้นนี้สื่อถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของผู้คนชาวเมืองลำพูน จากรุ่นสู่รุ่น ที่พร้อมจะเติบโตก้าวไปข้างหน้าโดยยังรักษารากเง้าประเพณี วัฒนธรรมดั้งเดิมให้คงอยู่สืบไปอย่างจีรังยั่งยืน แม่พิมพ์ปูนพลาสเตอร์ที่ไม่ได้ใช้แล้ว ถูกคัดเลือกนำมาจัดตั้ง พร้อมกับตกแต่งด้วยแจกันลายครามที่เคลือบแล้ว จากผู้คนชาวเมืองลำพูนที่มีส่วนร่วมในการสร้างสีสรรค์ผลงาน นับว่าเป็นงานที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เลยเป็นที่มาที่ทำให้เราอยากทำงานสเกลใหญ่อีก
ซึ่งถ้าใครอยากติดตามผลงานของ Gui.dekk ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ก็สามารถไปเกาะขอบจอรอการอัพเดทจากเขาได้เรื่อย ๆ ใน Gui.dekk หรือ Instagram https://www.instagram.com/gui.dekk/ กันได้เลย