GC_MultiCover_bridgerton.jpg

มุดใต้เตียงผู้ดีอังกฤษและประวัติศาสตร์เบื้องหลัง Bridgerton 2

Post on 6 April

เรียนท่านผู้อ่านที่รัก

ผู้เขียนมีความเชื่อว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านสาว ๆ หลายคนที่เคยเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการทำงาน สวมบทสาวแกร่งในออฟฟิศ ปฏิบัติหน้าที่เวิร์คกิงวูแมนดีเด่นของเจ้านายและทีม ก็น่าจะได้บรรเทาความเหี่ยวเฉาในหัวใจลงได้บ้าง ด้วยการมาถึงของซีรีส์ที่สะท้อนภาพแฟนตาซีที่เก็บซ่อนไว้เบื้องลึกจิตใจของหญิงแกร่งหลายคน นั่นก็คือ Bridgerton ซีซัน 2

คุณผู้อ่านโปรดอย่าขัดเขินที่จะประกาศออกมาดัง ๆ ว่าตัวเราเป็นแฟนซีรีส์เรื่องนี้ ที่หากว่ากันตรง ๆ ก็คือละครน้ำเน่าของฝรั่งที่มีแก่นของเรื่องว่าด้วยความรักชนะสิ่งของเหล่าผู้ดีสวมชุดราตรีผ้าชีฟอง เต้นรำกันทั้งวันทั้งคืนดังเจ้าชายกับเจ้าหญิง โดยมีฉากหลังเป็นกรุงลอนดอนในยุครีเจนซี และมีของแถมเป็นอาหารตาในแบบ ‘Female Gaze’ อย่างฉากพระเอกเลียช้อนบ้าง พระเอกตกน้ำเสื้อเปียกบ้าง …ก็มันจะผิดตรงไหนกันล่ะ หากในช่วงเวลาส่วนตัว เราจะขอวางหัวโขนหญิงแกร่งที่เราต้องสวมออกไปสู้ชีวิต แล้วขอขลุกตัวบนเตียง นอนดูภาพฝันในจอที่ถ่ายทอดเรื่องราวที่พาเราหลบหนีออกจากชีวิตจริง ไปสู่ชีวิตโรแมนติกแฟนตาซีในฝันที่มีหนุ่มหล่อล่ำพ่อรวยมาสยบแทบเท้า พาเรานึกฝันถึงชีวิตที่วัน ๆ มีแต่การตระเวนไปงานเต้นรำ หรือไม่ก็นั่งจิบชาในบ้านสวย ๆ

ถ้าเราจะดู Bridgerton เพื่อตอบสนองแฟนตาซีของเรา ก็อย่าได้กังวลไปเลย เพราะ ‘ความโรแมนติกแฟนตาซี’ นี่ล่ะคือสิ่งที่ทำให้ซีรีส์นวนิยายโรแมนซ์ของผู้เขียน จูเลีย ควินน์ กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลข 250 ล้านคนดูทั่วโลกเท่านั้น (ยอดของซีซัน 2) แต่รวมถึงวิธีการนำเสนอของผู้ทีมผู้สร้างที่ถ่ายทอด ‘โลกยูโทเปีย’ ด้วยการนำข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์มาบรรจบกับจินตนาการ จนกลายเป็นโลกสีลูกกวาดที่ผู้คนในสังคมลอนดอนอาศัยอยู่ร่วมกันแบบไม่แบ่งแยกเชื้อชาติและสีผิว ราวกับว่าในโลกนั้นไร้ซึ่งประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดของการล่าอาณานิคมหรือการค้าทาส เป็นโลกที่คนเอเชียหรือคนดำก็สามารถเป็นท่านลอร์ดหรือเลดี้ได้ จนทำให้คนดูสามารถจินตนาการไปด้วยได้ว่า คนหน้าจีนอย่างเราก็สามารถเข้าไปอยู่ในโลกนั้น ณ ช่วงเวลานั้น สวมชุดราตรีสีสวยและรัดคอร์เสตออกไปงานเลี้ยงได้เหมือนกัน

“ฉันเคยถูกจวกยับจากเหล่าตำรวจตรวจความถูกต้องตามประวัติศาสตร์ถึงเรื่องความไม่สมจริงในงานของฉัน มันทำให้ฉันจิตตกไปเหมือนกัน กับคำถามที่ว่า ฉันกำลังปฏิบัติเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นจริงอย่างนั้นหรือ? แต่รู้อะไรมั้ย สุดท้ายแล้วนี่มันก็คือโรแมนติกแฟนตาซี ซึ่งฉันคิดว่าสิ่งที่สำคัญกว่าความถูกต้องคือการสะท้อนให้เห็นว่าทุกคนควรได้รับความสุขและการให้เกียรติ ดังนั้นฉันจึงคิดว่า การที่ผู้สร้างเลือกที่จะนำเสนอตัวละครหลากหลายเชื้อชาติในซีรีส์เรื่องนี้ เพื่อสื่อแมสเสจนั้นถึงคนทุกกลุ่ม เป็นอะไรที่ถูกต้องแล้ว” ควินน์เคยกล่าวไว้ในการสัมภาษณ์กับ The Guardian

หลังจากที่ไปเติมแฟนตาซีใจจนอิ่มเอมกันแล้ว ผู้เขียนจึงอยากใช้โอกาสที่ Brifgerton ซีซัน 2 ลงฉายนี้ พาท่านผู้อ่านไปสำรวจเบื้องหลังการสร้างโลกยูโทเปียของผู้สร้างซีรีส์ที่มีเค้าโครงมาจากข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องราวใต้เตียงของผู้ดีอังกฤษยุครีเจนซี เพื่อให้คุณผู้อ่านกลับไปดูซ้ำอย่างมีสีสันและเข้าใจบริบทกันมากขึ้น

ขอให้สนุกกับแฟนตาซี
เลดี้วิสเซิลดาวน์กราวนด์คอนโทรล

‘สุภาพบุรุษ’ คืออะไร? ทำไมพระเอกพูดถึงบ่อยนัก?

ประเด็นหลักใน Bridgerton ซีซัน 2 ที่เล่าเรื่องราวความรักของลูกชายคนโตบ้านบริดเจอร์ตันอย่าง ไวต์เคานต์แอนโธนี บริดเจอร์ตัน นั้น ก็คือการเลือกระหว่าง ‘หน้าที่’ หรือ ‘หัวใจ’ ของตนเอง ซึ่งไม่ใช่แค่แอนโธนีคนเดียวที่ต้องเลือก แม้กระทั่งนางเอกของเรื่องอย่าง เคท ชาร์มา ก็ต้องเลือกระหว่างหน้าที่ของการเป็นพี่และหัวหน้าครอบครัว กับสิ่งที่หัวใจตัวเองปรารถนาเช่นกัน

ในเรื่องเราจึงจะได้ยินแอนโธนีพูดย้ำทั้งกับตัวเองและเคทว่า “ผมเป็นสุภาพบุรุษ” เพื่อหักห้ามความรู้สึกและความหลงใหลที่มีต่อเคท จนทำให้บางคนอาจรำคาญได้ว่าจะพูดย้ำอะไรนักหนา แต่ที่จริงแล้ว คำว่า ‘สุภาพบุรุษ’ หรือ Gentleman ในยุคนั้นมีความหมายที่ซับซ้อนกว่าแค่การเป็นผู้ชายอ่อนโยน แสนดี หรือชอบเอาใจผู้หญิง อย่างที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน

โดยทั่วไปแล้ว คำว่าสุภาพบุรุษหรือ Gentleman ในโลกฝั่งตะวันตกนั้น เป็นคำที่ใช้อธิบายผู้ชายที่เกิดในครอบครัวขุนนางผู้ดีที่สืบทอดตำแหน่งทางราชสำนักสืบต่อกันมา นั่นหมายความว่าการเป็นสุภาพบุรุษนั้นเป็นสถานะที่สืบต่อกันมาทางสายเลือด ไม่ใช่ว่าใครก็เป็นสุภาพบุรุษได้ แม้เมื่อถึงศตวรรษที่ 19 ที่สภาพสังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนไป เกิดชนชั้นใหม่ที่เป็นคนธรรมดาซึ่งสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจากน้ำพักน้ำแรงจนมีฐานะมั่งคั่ง แต่ในทางสังคมก็ไม่นับว่าเป็นสุภาพบุรุษ เพราะไม่ได้สืบทอดตำแหน่งหรือเกิดมาในครอบครัวผู้ลากมากดี

ตำแหน่งของยศฐาบันดาศักดิ์ เรียงจากความสูงทางสถานะ คือ

พระราชา / พระราชินี
เจ้าชาย / เจ้าหญิง
ดยุค / ดัตเชส (เจ้าพระยา)
มาร์เควส / มาร์ชันเนส (พระยา)
เอิร์ล / เคานต์เทส (พระ)
ไวส์เคานต์ / ไวส์เคานต์เทส (หลวง)
บารอน / บารอนเนส (ขุน)

สุภาพบุรุษมีมาตั้งแต่ช่วงยุคกลางหรือศตวรรษที่ 15 โดยเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับระบบศักดินาที่ตำแหน่งทางสังคมมาพร้อมกับที่ดินซึ่งนับเป็นทรัพย์สินที่มีค่าเหนือสิ่งอื่นใด ยิ่งตำแหน่งยิ่งสูง ยิ่งมีที่ดินมาก ซึ่งที่ดินนี่เองที่เป็นแหล่งรายได้ของเหล่าท่านลอร์ดทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้ในยุคก่อนศตวรรษที่ 19 เหล่าสุภาพบุรุษทั้งหลายจึงไม่ต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ แค่รอเก็บค่าเช่าที่จากสามัญชนที่มาเช่าที่เพื่อทำนาทำไร่ (เพราะคนธรรมดาย่อมไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง) โดยอาจมีการจัดตั้งผู้ดูแลที่ดินมาทำงานแทน ซึ่งในยุคนั้น การทำงานถือเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับสังคมชั้นสูง เพราะมีแค่คนธรรมดาสามัญชนเท่านั้นที่ทำงาน อีกทั้งการทำงานยังเป็นการสะท้อนความต้องการทางโลก ซึ่งเป็นถือเป็นเรื่องไม่งามของคนชนชั้นสูงผู้วางตัวอยู่เหนือกิเลส (ด้วยเหตุนี้ เหตุผลที่ทำให้ตัวละคร เพเนโลปี เฟเธอริงตัน หรือเลดี้วิสเซิลดาวน์ต้องปิดบังตัวตนที่แท้จริง ก็ไม่ได้แค่เพราะเธอต้องการจะสอดแนมในวงสังคม แต่เพราะการทำงานแลกเงิน แม้กระทั่งการเป็นนักเขียน ก็ถือว่าเป็นเรื่องต่ำช้ารับไม่ได้ในหมู่ชนชั้นสูง)

แนวคิดเรื่องสุภาพบุรุษที่สืบต่อตำแหน่งทางสายเลือดสะท้อนให้เห็นว่า ครอบครัวและสายเลือดถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในหมู่ผู้ดีชนชั้นสูง การกระทำใด ๆ ที่สร้างความอื้อฉาวจึงไม่ได้นำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อตัวผู้กระทำเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสมาชิกทุกคนในครอบครัว 

ด้วยเหตุนี้เอง การวางตัวเป็นสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับสมาชิกชนชั้นสูงทุกคน ถึงกับที่มีการแต่งหนังสือกฎที่สุภาพบุรุษและสุภาพสตรีพึงกระทำ (จะเรียกว่าเป็นหนังสือ ‘สมบัติผู้ดี’ ก็ได้) ตัวอย่างเช่น The Ideal of A Gentleman โดย John Kekes ที่ระบุคุณสมบัติของสุภาพบุรุษว่า “สิ่งสำคัญอย่างแรกคือการสืบเชื้อสายมาจากครอบครัวผู้ดี ‘เลือดแท้’ (pure gene) ตามมาด้วยคุณสมบัติความเป็นผู้มีเมตตาและนุ่มนวล นิสัยใจคอดี และมีภาพลักษณ์อันงดงาม”

คำว่าเลือดแท้ในความหมายของผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ไม่ได้หมายถึงแค่เชื้อสายทางเลือดเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการไม่มีเรื่องฉาวโฉ่ที่สร้างความด่างพร้อยให้วงศ์ตระกูล การเน้นย้ำเรื่องเชื้อสายในที่นี้ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้สุภาพบุรุษและสุภาพสตรีในยุคนั้นเฟ้นหาคู่ครองที่มาจากตระกูลที่ดีที่สุด เพราะการเกี่ยวดองกับครอบครัวที่มีเคยมีเรื่องอื้อฉาวก็อาจนำความเดือดร้อนมาสู่สมาชิกในครอบครัวทุกคน

เมื่อแอนโธนีย้ำเตือนกับตัวเองว่า ตัวเขาเป็นสุภาพบุรุษ เขาจึงไม่ได้กำลังเรียกสติตัวเองไม่ให้เผลอใจไปกับเสน่ห์ทางกายของเคทเท่านั้น แต่ยังเป็นการย้ำเตือนตัวเองถึงหน้าที่ที่เขามีต่อครอบครัว เพราะหากเขาทำการใดที่เป็นเรื่องเสื่อมเสีย โดยเฉพาะการตกหลุมรักนางเอกซึ่งไม่มีเชื้อสายบรรดาศักดิ์ใด ๆ ก็ไม่ใช่แค่ตัวเขาเองเท่านั้นที่จะสูญเสียพื้นที่ในสังคม แต่น้อง ๆ ที่ยังไม่ได้แต่งงานอีก 6 คนของเขาก็จะประสบกับการถูกตัดขาดจากวงสังคมด้วย

จีบกันยังไงถึงจะเหมาะสมในสังคมผู้ดีอังกฤษ?

ใน Bridgerton ซีซัน 2 มีฉากหนึ่งที่ เลดี้เฟเธอริงตันคนแม่ วางแผนจับผู้ชายให้ลูกสาว ด้วยการนัดแนะให้ลูกสาวไปยืนคุยกับผู้ชายสองต่อสองในสวน ก่อนที่แม่จะแกล้งทำทีเดินเข้ามาเห็นลูกอยู่กับผู้ชายสองต่อสอง พร้อมสักขีพยานอีกเป็นขบวน จนทำให้ผู้ชายต้องจำใจแต่งงานกับลูกสาวเพื่อไม่ให้เป็นเรื่องฉาวโฉ่

แค่อยู่ด้วยกันสองต่อสองก็นับว่าเสื่อมเสียแล้วหรือ? ในแวดวงสังคมผู้ดีอังกฤษสมัยนั้น การข้องเกี่ยวระหว่างชายหญิงที่ไม่ใช่พี่น้องกันถือเป็นเรื่องเสื่อมเสียอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ ชายหญิงที่ไม่ใช่พี่น้องกันจึงจำเป็นต้องพบปะกันโดยอยู่ในสายตาของพ่อแม่ พี่เลี้ยง หรือคนติดตามเท่านั้น ที่สำคัญที่สุด หญิงสาวผู้ดีจะไม่ไปไหนตามลำพังโดยปราศจากผู้ติดตาม หรือต่อให้ไปกับผู้ชายอีกเป็นสิบคน แต่ถ้าเป็นผู้หญิงคนเดียวในกลุ่ม ก็ต้องมีผู้ติดตามตามไปด้วย (ดังในฉากที่เคทไปล่าสัตว์กับพวกผู้ชาย) ซึ่งหากมีการพบว่าหนุ่มสาวอยู่ด้วยกันตามลำพัง ชายหนุ่มจะต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการแต่งงานกับฝ่ายหญิง แต่หากผู้ชายไม่ยอมแต่งงาน ญาติผู้ชายของฝ่ายผู้หญิงจะต้องทำการ ‘ท้าดวล’ ผู้ชายที่นำความเสื่อมเสียมาให้ เพื่อรักษาเกียรติของครอบครัว ดังที่เกิดขึ้นใน Bridgerton ซีซันแรก

แล้วหนุ่มสาวยุควิกตอเรียนเขาจีบกันอย่างไร? ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า การแต่งงานของผู้ดีในยุคนั้นมุ่งเน้นเรื่องการสร้าง ‘คอนเนกชัน’ ระหว่างครอบครัวเป็นสำคัญที่สุด จนทำให้การแต่งงานด้วยความรักหรือความเสน่หาเป็นเรื่องที่แทบจะไม่ค่อยมีให้เห็น ด้วยเหตุนี้พ่อแม่ของหนุ่มสาวผู้ดีในยุคนั้นจึงมองหาว่าใครจะให้ผลประโยชน์ในการแต่งงานมากที่สุด (ผู้ชายให้ดูที่บรรดาศักดิ์ ผู้หญิงให้ดูที่สินเดิมหรือทรัพย์สินที่ติดตัวมากับเจ้าสาว ซึ่งจะกลายเป็นของสามีหลังแต่งงาน) การใช้เวลาสองต่อสองเพื่อทำความรู้สึกหรือพัฒนาความสำคัญกันจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็น

แล้วเขาไปเจอกันที่ไหน? นอกจากการจับคลุมถุงชนแต่แรกเกิดแล้ว โอกาสเดียวที่หนุ่มสาวจะได้พบปะกันก็คือในงานเต้นรำ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมฉากงานเต้นรำจึงสำคัญและโผล่มาหลายครั้งในซีรีส์

หญิงสาวที่ได้รับอนุญาตให้ไปงานเต้นรำต้องเป็นหญิงสาวที่เปิดตัวต่อสังคมผ่านงานเดบูตองมาแล้วเท่านั้น โดยงานนี้จะเป็นการเปิดตัวหญิงสาวจากตระกูลชนชั้นสูงที่มีอายุระหว่าง 16 - 18 ปี เมื่อหญิงสาวผ่านงานนี้ ก็ถือเป็นการประกาศตัวว่าพร้อมมีผัว…เอ๊ย! พร้อมหาคู่ครองแล้ว ต้นกำเนิดของงานเดบูตองนั้นมีมาตั้งแต่สมัยพระราชินีเอลิซาเบธที่ 1 (ส่วนงานเดบูตองครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในสมัยพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2) โดยมีเป้าหมายเพื่อเฟ้นหาหญิงสาวจากตระกูลผู้ดีมารับหน้าที่เป็นนางสนมกำนัลนั่นเอง กระทั่งในเวลาต่อมา จุดประสงค์ของงานจึงเปลี่ยนไปเป็นการเปิดตัวหญิงสาวจากตระกูลผู้ดีต่อหน้าพระพักตร์ของพระราชินี 

<p><i>ภาพหญิงสาวในงานเดบูตอง</i></p>

ภาพหญิงสาวในงานเดบูตอง

ในยุคสมัยของพระราชินีชาร์ลอตต์ซึ่งมีบทบาทในซีรีส์ Bridgerton นับเป็นยุคสมัยที่เฟื่องฟูที่สุดของประวัติศาสตร์งานเดบูตอง เนื่องจากพระองค์ทรงโปรดการสังสรรค์ในหมู่วงสังคม รวมไปถึงจารีตประเพณีต่าง ๆ พระองค์จึงได้จัดงานเดบูตองส์ในวันฉลองพระราชสมภพของพระองค์ทุกปี อย่างไรก็ตาม ตำแหน่ง ‘เพชรน้ำงามประจำฤดู’ หาได้เลือกสรรโดยพระราชินีดังที่ปรากฏในซีรีส์ แต่จะถูกคัดเลือกโดยสื่อที่ใหญ่ที่สุดในยุคนั้นนั่นก็คือหนังสือพิมพ์ หลังงานเดบูตอง หนังสือพิมพ์จะลงประกาศรายชื่อของหญิงสาวผู้ดีที่เปิดตัวในซีซันนั้น ๆ พร้อมให้คะแนนแต่ละคนด้วย! หญิงสาวที่เพียบพร้อมจะได้รับคะแนนสูงสุด และถูกประกาศชื่อในหนังสือพิมพ์ โดยเธอจะกลายเป็นที่หมายปองของหนุ่ม ๆ และกลายเป็นสาวสังคมคนดังในชั่วข้ามคืน

<p><i>สาวเดบูตองเข้าเฝ้าพระราชินีวิกตอเรีย</i></p>

สาวเดบูตองเข้าเฝ้าพระราชินีวิกตอเรีย

กลับมาที่กระบวนการเกี้ยวพาราสี ในงานเต้นรำ เมื่อชายหนุ่มเล็งหญิงสาวที่สนใจไว้แล้ว (ซึ่งส่วนใหญ่ก็รู้ชื่อเสียงเรียงนามมาก่อนอยู่แล้ว เพราะพ่อแม่ก็ต้องทำการบ้านก่อนพาลูกออกงาน) ก็จะเข้าไปขอเต้นรำ และระหว่างเต้นรำนี่แหละคือจังหวะที่หนุ่มสาวจะได้พูดคุยกันอย่างเป็นส่วนตัวสั้น ๆ โดยชายหนุ่มจะให้สัญญาณว่าสนใจหญิงสาวคนนั้น ๆ จากการเข้าไปขอเต้นรำเป็นครั้งที่สอง (ตามธรรมเนียมแล้วไม่ควรเต้นรำเกินหนึ่งครั้ง ถ้าเกินกว่านั้นเป็นการส่งสัญญาณแล้วว่าผู้ชายจะจีบ ส่วนผู้หญิงก็มีใจ)

หลังงานเต้นรำ พิธีกรรมการเกี้ยวพาจะเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ เช่น ในสวนสาธารณะ ในงานเลี้ยง หรืองานมหรสพต่าง ๆ โดยทั้งหมดนี้ต้องอยู่ในสายตาของพ่อแม่หรือบุคคลที่สาม จะไม่มีการไปกันแค่สองต่อสอง ชายหนุ่มที่แสดงท่าทีว่าหมายมั่นคนนี้แน่ ๆ ก็อาจจะขอพบหญิงสาวเพื่อพูดคุยกันที่บ้านของผู้

Do & Don’t เมื่อจีบสาวผู้ดีอังกฤษ

  1. สุภาพสตรีที่ยังไม่ได้แต่งงานห้ามพูดคุยกับสุภาพบุรุษก่อนที่จะมีคนแนะนำให้ทั้งสองรู้จักกัน
  2. สุภาพสตรีต้องไม่ต้อนรับสุภาพบุรุษเข้าบ้านโดยไม่มีญาติคอยเฝ้าอยู่ในห้องด้วย
  3. ห้ามแตะเนื้อต้องตัวกันโดยเด็ดขาด จนกว่าจะแต่งงานกันเท่านั้น
  4. ยกเว้นในกรณีที่เดินบนถนนขรุขระหรือพื้นไม่เรียบ สุภาพบุรุษสามารถยื่นแขนให้สุภาพสตรีเกาะได้
  5. หนุ่มสาวโสดห้ามพบปะกันในยามค่ำโดยไร้ผู้ติดตามเด็ดขาด ผู้ชายห้ามอยู่ในบ้านผู้หญิงในยามวิกาล ถือเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง
  6. สุภาพสตรีห้ามนั่งรถม้ากับสุภาพบุรุษที่ไม่ใช่ญาติตามลำพัง
  7. เมื่อมีการประกาศการหมั้นหมายแล้ว สุภาพบุรุษห้ามข้องแวะกับหญิงอื่นโดยเด็ดขาด แม้เพื่อพิจารณาเป็นทางเลือกก็ไม่ได้ 
  8. สุภาพบุรุษจะไม่ซื้อของขวัญที่เป็นของใช้ส่วนตัวให้กับสุภาพสตรี เช่น ผ้าเช็ดหน้า หมวก หรือเครื่องประดับ ของขวัญที่ถือว่าเหมาะสมต้องไม่แสดงความสนิทชิดเชื้อ เช่น ช็อกโกแลต โน้ตดนตรี หรือเข็มกลัด 
  9. ระหว่างการพูดคุยกัน การถามความคิดเห็นทางการเมืองถือเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง

ว่าด้วยเรื่องนิตยสารซุบซิบในยุครีเจนซี

แล้วเรื่องฉาวโฉ่ของเหล่าผู้ดีนั้นเขาไปรู้กันมาจากที่ไหน? นอกจากการบอกกันปากต่อปากแล้ว นิตยสารซุบซิบก็ช่องทางยอดฮิตในการรับข่าวสารใต้เตียงของท่านลอร์ดและเลดี้ทั้งหลาย ดังที่ปรากฏเป็นงานเขียนของเลดี้วิสเซิลดาวน์ใน Bridgerton นั่นล่ะ แต่ในยุคแรกนั้นยังไม่ใช่นิตยสาร แต่เป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘Scandal Sheet’ หรือหนังสือพิมพ์รวมเรื่องฉาว หรือบางทีก็จะแทรกเป็นคอลัมน์สังคมในหนังสือพิมพ์ โดยคอลัมน์ซุบซิบเช่นนี้ก็มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 แล้วล่ะ เรื่องราวที่รายงานก็ไม่พ้นเรื่องความเคลื่อนไหวในแวดวงสังคม บ้านไหนมีจัดงานเลี้ยงเต้นรำ ใครแต่งตัวยังไง ลูกสาวใครจะแต่งงาน รวมไปถึงเรื่องฉาวคาวสวาทต่าง ๆ ซึ่งข่าวฉาวที่คนเฝ้ารออ่านที่สุดก็คือข่าวของเหล่าสมาชิกราชวงศ์นั่นเอง

เช่นเดียวกับเลดี้วิสเซิลดาวน์ ผู้เขียนเรื่องใต้เตียงผู้ดีเหล่านี้มักปิดบังตัวตนที่แท้จริงจากผู้อ่าน แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือ ในขณะที่เรื่องฉาวในคอลัมน์ของเลดี้วิสเซิลดาวน์มีการระบุชื่อและตัวตนของคนในข่าวแบบตรง ๆ หนังสือพิมพ์หรือนิตยสารกอสซิปในยุคนั้นจะไม่ระบุชื่อชัด ๆ แต่มีการให้คำใบ้ให้ลองเดากันเล่น ๆ หรือไม่ก็ใช้ชื่อย่อ ‘ลอร์ด ก.’ 

หนึ่งในนิตยสารซุบซิบที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคนั้นก็คือ Town and Country Magazine ที่ตีพิมพ์ระหว่าง 1769-1796 และได้ชื่อว่าเป็นนิตยสารหัวแรกที่มีคอลัมน์ซุบซิบ โดยในแต่ละเดือน ผู้เขียนจะเลือกคู่คนดังที่น่าจับตามองที่สุด รวมไปถึงการนำเสนอเรื่องซุบซิบที่เกิดขึ้นในแวดวงสังคม แต่ที่น่าจะใกล้เคียงกับเลดี้วิสเซิลดาวน์ใน Bridgerton มากที่สุด น่าจะเป็นคอลัมน์ของ Mrs. Crackenthorpe ในนิตยสาร The Female Tatler ที่มีแท็กไลน์ประจำคอลัมน์ว่า ‘A lady who knows everything’

แต่ความน่าเศร้าก็คือ เรื่องราวที่ปรากฏในคอลัมน์ซุบซิบเหล่านี้มักนำมาสู่หายนะของผู้ถูกพาดพิง แม้ว่าจะไม่มีการระบุชื่อตรง ๆ ก็ตาม อย่างที่รู้กันดีว่าสังคมในยุคนั้นเคร่งครัดเรื่องชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลมาก แม้จะเป็นแค่การสงสัยหรือการเดาไปเองของผู้อ่าน แต่เมื่อมีชื่อเกี่ยวข้องกับเรื่องไม่ดีไม่งามแล้ว ก็สามารถนำมาสู่ความมัวหมองของครอบครัว ที่ทำให้ครอบครัวล่มสลายและถูกขับออกจากวงสังคมได้เลยทีเดียว โดยเฉพาะหากชื่อของคนในข่าวเป็นผู้หญิง ก็มักจะถูกเนรเทศจากครอบครัวของตัวเองให้ไปใช้ชีวิตอยู่ในชนบท หรือไปอยู่ต่างประเทศและไม่ได้กลับมาอีกเลยก็มี

ว่าด้วยคนผิวสีในราชสำนักอังกฤษ

ในตอนที่ Bridgerton ซีซันแรกออกฉาย หนึ่งในประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดก็คือประเด็นเรื่องสีผิวของพระราชินีชาร์ลอตต์ ซึ่งผู้สร้างซีรีส์ก็ยอมรับว่า พวกเขานำเสนอตัวละครนี้โดยอ้างอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้เชื่อว่า พระราชินีชาร์ลอตต์อาจจะเป็นราชินีผิวดำคนแรกของราชวงศ์อังกฤษ

ข้อสันนิษฐานเรื่องสีผิวของพระราชินีชาร์ล็อทเทอนั้นมาจากพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ที่วาดโดยศิลปินในยุคนั้น โดยจะสังเกตได้ว่าสีผิวและองค์ประกอบบนพระพักตร์ของพระองค์ที่ถูกนำเสนอในงานศิลปะนั้นดูแตกต่างไปจากภาพวาดพอร์เทรตหญิงสาวทั่วไปในยุคนั้น ทั้งริมฝีปากของพระองค์ที่ดูหนา และพระเกษาหยิกและเป็นสีเข้ม 

โดยปกติแล้วการวาดภาพพอร์เทรตในยุคนั้น ศิลปินมักจะวาดสีผิวของแบบให้ดูอ่อนลง และเค้าโครงใบหน้าก็ดูกระจุ๋มกระจิ๋มตามแบบค่านิยมความงามของชาวอังกฤษในยุคนั้น (อารมณ์ว่าใช้ฟิลเตอร์) แต่สาเหตุที่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระราชินีชาร์ลอตต์ดูราวกับวาดออกมาแบบ ‘ตรงปก’ นี้ ก็น่าจะเป็นเพราะศิลปินผู้วาดภาพนี้คือ Sir Allan Ramsay ศิลปินหัวก้าวหน้าแห่งยุคผู้มีแนวคิดต่อต้านการค้าทาส ด้วยเหตุนี้การนำเสนอภาพของพระราชินีผิวดำอย่างสมจริงนั้นก็น่าจะมาจากความตั้งใจที่จะส่งสารด้านการเมืองของตัว Ramsay เองด้วย เนื่องจากพระบรมฉายาลักษณ์นี้จะถูกส่งไปยังบรรดาเมืองในจักรภพอังกฤษทั่วโลก รวมไปถึง​​บันทึกของหมอประจำราชสำนักที่ได้บรรยายพระราชินีชาร์ลอตต์ว่า ‘ตัวเล็ก หลังงุ้ม และมีใบหน้าของลูกครึ่งคนผิวขาวกับผิวดำ (mulatto)’ และบันทึกของ Sir Walter Scott ที่บรรยายถีงสีผิวของพระราชินีว่า ‘ไม่ชวนมอง’ รวมไปถึงบันทึกของนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งในช่วงรัชสมัยของพระองค์ ที่บรรยายถึงใบหน้าของพระองค์ว่า ‘พระนาสิกกว้างเกินไป และพระโอษฐ์ก็หนาเกินไป’

เมื่อมาถึงซีซัน 2 ผู้ชมก็ได้พบกับตัวละครผิวสีคนใหม่ นั่นก็คือนางเอกอย่าง เคท ชาร์มา ที่เดินทางมาจากอินเดียนั่นเอง ซึ่งที่จริงแล้ว ประวัติศาสตร์ราชวงศ์อังกฤษก็มีการบันทึกเรื่องราวของชาวอินเดียในราชสำนักไว้มากมาย เนื่องจากอินเดียก็เป็นหนึ่งในประเทศใต้อาณานิคมของอังกฤษ คนจากทั้งสองประเทศจึงมีการติดต่อและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันมาแต่ไหนแต่ไร

หนึ่งในคนอินเดียที่มีชื่อเสียงที่สุดในราชวงศ์อังกฤษก็คือ Victoria Gouramma พระธิดาบุญธรรมของพระราชินีวิกตอเรียนั่นเอง เดิมที Victoria Gouramma เป็นพระธิดาของ Chikka Virarajendra เจ้าผู้ครองนครคูร์กแห่งอินเดีย ซึ่งถูกรุกรานและยึดครองโดยกองทัพอังกฤษ ในเวลาต่อมา เมื่อ Virarajendra เดินทางมายังอังกฤษเพื่อเข้าเฝ้าพระราชินีวิกตอเรียและขอให้พระองค์คืนทรัพย์สินที่ถูกยึดไปกลับคืนมา Virarajendra ก็ได้ยกธิดาให้อยู่ในความดูแลของพระราชินีวิกตอเรีย และพระราชทานนามใหม่ให้ว่า วิกตอเรีย ด้วย

อีกหนึ่งคนอินเดียที่มีชื่อเสียงในแวดวงสังคมวิกตอเรียน และหลายเสียงเห็นตรงกันว่าน่าจะเป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังตัวละคร เคท ชาร์มา ก็คือ คิตตี เคิร์กแพทริก ลูกสาวที่เกิดจากพ่อผู้ดำรงตำแหน่งผู้แทนราชสำนักอังกฤษในอินเดีย กับแม่ที่เป็นหญิงสาวชาวอินเดีย เมื่ออายุได้ 4 ปี คิตตีและน้องชายได้ติดตามพ่อแม่ย้ายกลับมาอยู่อังกฤษ ที่ซึ่งเธอได้รับการศึกษาเฉกเช่นเดียวกับลูกสาวจากตระกูลผู้ดีทั้งหลาย เมื่อโตเป็นสาว เธอกลายเป็นที่หมายปองของหนุ่ม ๆ ในแวดวงสังคมมากมาย

ด้วยความเฉลียวฉลาดและใบหน้างดงามไม่เหมือนใครของคิตตี ทำให้เธอกลายเป็น ‘เทพธิดาแห่งแรงบันดาลใจ’ ของ ทอมัส คาร์ไลล์ หนึ่งในนักเขียนและนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสกอตแลนด์ แต่ด้วยสถานะทางสังคมที่ต้อยต่ำกว่า ครอบครัวผู้ดีฝั่งพ่อของคิตตีจึงกีดกันและจับคู่ให้เธอแต่งงานกับชายอื่น

<p><i><strong>หลักฐานความงดงามของคิตตีปรากฏอยู่ในคำบรรยายของคาร์ไลล์ที่พรรณนาถึงความงามของคิตตีไว้ว่า “หญิงสาวผู้มีใบหน้างดงามแปลกตา ด้วยดวงตาสีน้ำตาลอ่อนและผมสีบรอนซ์แดง รอยยิ้มตรึงใจ ความงดงามจากแดนไกลของเธอกลับทำให้เธอยิ่งดูน่าหลงใหลมากขึ้นไปอีก”</strong></i></p>

หลักฐานความงดงามของคิตตีปรากฏอยู่ในคำบรรยายของคาร์ไลล์ที่พรรณนาถึงความงามของคิตตีไว้ว่า “หญิงสาวผู้มีใบหน้างดงามแปลกตา ด้วยดวงตาสีน้ำตาลอ่อนและผมสีบรอนซ์แดง รอยยิ้มตรึงใจ ความงดงามจากแดนไกลของเธอกลับทำให้เธอยิ่งดูน่าหลงใหลมากขึ้นไปอีก”

อ้างอิง

Vogue
Shondaland
Historyextra
Buzz-litteraire
Wikipedia