“ฉันคือเครื่องบันทึกเสียง Edison
ฉันถูกสร้างสรรค์โดยพ่อมดผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลกใหม่
ฉันมาเพื่อสร้างความรื่นรมย์ให้กับผู้มีเสียงเพลงในหัวใจ
ฉันจะร้องเพลงรักหวานซึ้งขับกล่อมคุณ
ฉันเล่าเรื่องราวตำนานและมอบเสียงหัวเราะให้คุณได้
ฉันสามารถพาคุณไปสู่โลกแห่งเสียงดนตรีได้
ฉันสามารถทำให้คุณลุกขึ้นมาเต้นรำไปตามจังหวะเพลงได้
ฉันสามารถขับกล่อมเด็กน้อยให้หลับใหลได้
หรือพาคุณตื่นเต้นโลดแล่นไปกับความทรงจำของวานวันก็ได้เช่นกัน!” - บางส่วนจากประกาศโฆษณาเครื่องบันทึกเสียงยี่ห้อ Edison ในปี 1905
ไม่ว่าเราจะรักหรือชังคนที่เรียกตัวเองว่า ‘พ่อมดสิ่งประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลกยุคใหม่’ ที่ชื่อว่า Thomas Edison อย่างไร แต่เราก็ต้องยอมรับว่า หากไม่มีเขาคนนี้ คนที่มีเสียงดนตรีกล่อมใจเป็นเพื่อนคลายเหงาอย่างเราก็คงเหงาหงอย และโลกของเราก็คงจะไม่ค่อยรื่นรมย์นัก นั่นก็เพราะหนึ่งในคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเจ้าพ่อนักประดิษฐ์แห่งศตวรรษที่ 19 คนนี้ก็คือการคิดค้นสิ่งที่เรียกว่า ‘เครื่องบันทึกเสียง’ หรือ Phonograph ที่เป็นบรรพบุรุษของบรรดาเครื่องบันทึกเสียงและเครื่องเล่นแผ่นเสียงทั้งหมดที่ตามมาในยุคหลัง
และต่อให้เราจะปฏิเสธใจตัวเองว่า ‘บ้าจริง ไม่หรอก ชั้นน่ะ ไม่ได้เป็นทาสสิ่งประดิษฐ์ของคนใจร้ายที่เทคเครดิตของ Nikola Tesla ไปหรอกนะ เพราะฉันไม่ได้ฟังเพลงจากแผ่นเสียงหรือซีดีใด ๆ ฉันฟังเพลงจากมิวสิกสตรีมมิงต่างหากล่ะ’ แต่ความจริงก็คือ ไม่ว่าจะมาในรูปของซีดี แผ่นเสียง iTune หรือ Spotify อย่างไร บรรดาเพลงที่เราฟังทั้งหมดนี้ก็ล้วนแต่ได้รับการ ‘บันทึก’ เพื่อนำไปเผยแพร่ใหม่ ซึ่งด้วยเทคโนโลยีการบันทึกเสียงที่ Edison คิดค้นนี่แหละ ที่ทำให้เราสามารถฟังเพลงจากที่ไหนก็ได้ ต่างจากในยุคก่อนหน้าการมาถึงของเครื่องบันทึกเสียงของ Edison ที่หากเราอยากจะเสพดนตรีขึ้นมา มีอยู่ 2 ทางเท่านั้นที่เราจะทำได้ นั่นก็ต้องออกจากบ้านไปฟังนักดนตรีเล่นดนตรีกันสด ๆ หรือไม่ก็เล่นเอง...
เนื่องในโอกาสที่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1878 หรือวันนี้เมื่อ 142 ปีที่แล้ว เป็นวันแรกที่ Thomas Edison ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องบันทึกเสียง Phonograph เป็นผลสำเร็จ GroundControl จึงขอพาทุกคนย้อนกลับไปสำรวจที่มาที่ไปของสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเปรียบได้ดังปู่ทวดของทวดของ iTune, Spotify, Joox ทั้งหลาย และไปดูกันว่าก่อนการมาถึงของบริการสตรีมมิงมิวสิกอย่างในทุกวันนี้ คนยุคนั้นเขาฟังอะไร และฟังอย่างไรกัน!
อย่างที่บอกไปแล้วว่า ก่อนหน้าการมาถึงของเครื่องบันทึกเสียง Edison ในปี 1877 การฟังดนตรีของคนในยุคนั้นถูกจำกัดอยู่เพียงสองช่องทางคือ 1. ออกไปฟังที่โรงมหรสพ หรือ 2. เล่นเอง (แง) ซึ่งเมื่อเครื่องบันทึกเสียง Edison ออกวางขาย มันจึงเอื้ออำนวยให้คนสามารถฟังเพลงโปรดกันที่บ้านได้
แต่เราอยากขอย้อนกลับไปอีกสักนิด ที่จริงแล้วก่อนที่ Edison จะประดิษฐ์เครื่องบันทึกเสียง Phonograph ออกมา ในยุคนั้นก็มีการพยายามพัฒนาเทคโนโลยีการบันทึกเสียงกันอยู่แล้ว เพียงแต่เสียงที่บันทึกได้ในยุคนั้นทั้งแตก ซ่า และฟังไม่ชัด (ที่จริงแล้วคือแทบฟังไม่ออกเลย) นั่นเป็นตอนที่ Edison ก้าวเข้ามาและมุ่งมั่นที่จะสร้างเครื่องบันทึกเสียงที่ฟังชัด เสียงใส โดยเขาเล็งเห็นว่า เทคโนโลยีการบันทึกเสียงนั้นจะเป็นธุรกิจทำเงินในอนาคต เช่น สามารถนำตัวบันทึกเสียงไปใส่ในตุ๊กตา เพื่อให้ตุ๊กตาสามารถเปล่งเสียงร้องเพลงหรือร้องไห้ได้ หรือไม่เช่นนั้นก็สามารถนำไปใช้บันทึกคำสั่งเสียสุดท้ายของคนที่ใกล้ม้วยมรณาได้
แต่อีกช่องทางหนึ่งที่ Edison มองเห็น และเป็นช่องทางที่มาถูกที่ถูกทางที่สุด ก็คือการที่ Edison มองเห็นว่าเครื่องบันทึกเสียงนี้จะพลิกโฉมหน้าของการฟังดนตรี และปลดปล่อยดนตรีให้เป็นอิสระ ซึ่งการคาดเดาของ Edison ก็ถูกต้อง เพราะเพียงไม่กี่ปีหลังการมาถึงของเครื่องบันทึกเสียง บนท้องถนนทั่วทุกหัวระแหงก็เต็มไปด้วยเสียงดนตรีและเสียงบันทึกเล่าเรื่องต่าง ๆ จากเครื่องบันทึกเสียงทื่เหล่าพ่อค้าและนักธุรกิจนำไปตั้งไว้ แล้วใส่กระบอกเสียง (Phonograph Cylinder) ลงไป ใครที่อยากฟังก็มาหยอดเหรียญที่ตู้ แล้วก็จะได้ฟังเพลง มุกขำขัน หรือบทละครต่าง ๆ ซึ่งในยุคนั้นเครื่องบันทึกเสียง Phonograph ของ Edison ก็ฮิตถล่มทลาย ถึงขนาดที่ตู้หนึ่งสามารถทำเงินได้อาทิตย์ละ 100 ดอลลาร์เลยทีเดียว
เครื่องบันทึกเสียงของ Edison ยังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนรูปแบบและสไตล์ของดนตรีในยุคนั้น เห็นได้ชัดในเรื่องของความยาวของเพลง ตอนนั้นกระบอกเสียงสามารถบันทึกเสียงได้เพียง 2-3 นาทีเท่านั้น ในขณะที่ดนตรีที่เล่นกันในศตวรรษที่ 19-20 นั้นมีความยาวเป็นชั่วโมง ซึ่งในการที่จะเผยแพร่ผลงานของตัวเองให้ออกไปสู่สาธารณชนได้มากขึ้น คอมโพเซอร์ในยุคนั้นจึงต้องแต่งเพลงให้สั้นลง จนมีความยาวในแบบที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันในที่สุด
นอกจากเรื่องความยาวของเพลงแล้ว เครื่องบันทึกเสียงของ Edison ยังได้ส่งผลให้สไตล์ของดนตรีในยุคนั้นเปลี่ยนไป เนื่องจากการบันทึกเสียงในยุคนั้นแม้จะดีกว่าที่เคยมีมา แต่ก็ไม่ได้ฟังชัดเสนาะหูเท่ากับที่ไปฟังวงดนตรีเล่นสด ๆ ด้วยเหตุนี้ เมื่อนักดนตรีจะเล่นดนตรีลงเครื่องบันทึกเสียง (ด้วยการเล่นเครื่องดนตรีใส่แตรขนาดใหญ่ที่ยื่นออกมาจากตัวเครื่อง แล้วเข็มของตัวเครื่องจะสกัดจุดลงบนกระบอกเสียง) จึงต้องคำนึงว่าเครื่องดนตรีที่ตัวเองเล่นนั้นเมื่อบันทึกเสียงลงไปแล้วจะเพี้ยนมั้ย เพราะในหลาย ๆ ครั้ง เครื่องดนตรีที่ฟังสดแล้วเพราะเสนาะหู แต่เมื่อฟังจากเครื่องบันทึกเสียงแล้วกลับต้องปิดหู
ด้วยเหตุนี้ การบันทึกเสียงในยุคนั้นจึงเหมือนบังคับทางอ้อมให้เหล่านักดนตรีต้องเปลี่ยนเครื่องดนตรีบางชิ้น ตัวอย่างเช่น วงแจ๊สที่ต้องเปลี่ยนกลองชุดเป็นคาวเบล (Cowbell) หรือวู้ดบล็อก (Woodblocks)หรือดับเบิลเบสที่ต้องเปลี่ยนเป็นทูบาแทน
ไม่เพียงแค่การพิจารณาใช้เครื่องดนตรีเท่านั้นที่ต้องคำนึงถึง ในฝั่งของนักร้อง ในบางโน้ตที่เคยไต่ได้สูงอย่างทรงพลัง ก็ต้องเบรคตัวเองให้เบาลง ไม่เช่นนั้นแล้วเข็มที่บันทึกเสียงบนกระบอกเสียงอาจจะเด้งหลุดออกจากเครื่อง หรือไม่งั้นหากนักร้องคนไหนปล่อยพลังแบบสุดปอด เมื่อเอาไปเปิดในเครื่องบันทึกเสียงที่ตั้งอยู่ตามที่ต่าง ๆ แล้วอาจจะทำให้คนฟังหัวใจวายได้ เพราะเสียงที่ออกมาจะถูกขยายหรือทำให้ก้องกังวานกว่าเดิม
นอกจากการเปลี่ยนวิถีการทำเพลงในฝั่งของคนดนตรีแล้ว เครื่องบันทึกเสียงของ Edison ยังเปลี่ยนวิถีการฟังเพลงของคนในยุคนั้น เพราะนี่คือยุคที่คนสามารถเลือกได้ว่าอยากจะฟังเพลงอะไร และยังเลือกได้ว่าอยากฟังเมื่อไหร่ แบบที่ไม่จำเป็นต้องไปถึงโรงมหรสพเพื่อฟังดนตรีกันอีกต่อไป ไม่เพียงเท่านั้น การเลือกได้ว่าจะฟังเพลงอะไรยังทำให้คนในยุคนั้นเริ่มใช้ดนตรีมานิยามตัวตน เมื่อมีอำนาจในการเลือกฟังเพลงมากขึ้น คนในยุคนั้นจึงเริ่มจำแนกตัวเองได้ว่า ฉันเป็นแฟนโอเปร่า ฉันเป็นแฟนเพลงแจ๊ส หรือฉันเป็นแฟนเพลงคลาสสิก เป็นต้น
และหากใครมีกำลังพอที่จะซื้อเครื่องบันทึกเสียงและกระบอกเสียงมาฟังเองที่บ้านได้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องออกจากบ้านไปเผชิญกับฝูงชน เครื่องเล่นเพลงของ Edison จึงช่วยเปิดโอกาสให้คนในยุคนั้นสามารรถดื่มด่ำกับดนตรีเพียงลำพังได้
Nipper น้องหมาผู้กลายมาเป็นดาราโฆษาที่ดังที่สุดในยุค 1800s
แม้ว่า Edison จะมองการณ์ไกลในหลาย ๆ เรื่อง แต่ไม่ใช่ในเรื่องนี้…
ในปี 1989 Francis Barraud ศิลปินชาวอังกฤษได้วาดภาพสุนัขกำลังฟังเสียงจากเครื่องเล่นกระบอกเสียงยี่ห้อ Edison-Bell ของ Thomas Edison โดยสุนัขตัวนั้นมีชื่อว่า Nipper เป็นสุนัขที่ Barraud รับเลี้ยงต่อมาจากพี่ชายของเขาที่เสียชีวิตไป และในตอนที่ Barraud วาดภาพที่จะกลายมาเป็นหนึ่งในไอคอนแห่งยุคนี้ Nipper ก็ได้จากโลกมนุษย์ไปอยู่บนดาวสุนัขได้ 3 ปีแล้วเมื่อวาดภาพนี้เสร็จ Barraud ก็คิดว่าบริษัท Edison-Bell น่าจะสนใจภาพนี้ และอาจจะนำไปใช้เป็นภาพโฆษณาได้ Barraud จึงติดต่อไปยัง Edison-Bell ที่อยู่ในอเมริกา แต่กลับได้รับการตอบกลับมาว่า ‘หมาไม่ฟังเครื่องเล่นกระบอกเสียงหรอก’ ("Dogs don't listen to phonographs)
เมื่อถูกปฏิเสธ Barraud จึงติดต่อไปยังออฟฟิศ The Gramophone Company ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นผู้นำการผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงในยุคนั้น เผื่อขอยืมแตรสีทองซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์นี้มาเป็นต้นแบบเพื่อวาดทับแทนแตรสีดำของเครื่องเล่นกระบอกเสียงยี่ห้อ Edison-Bell แต่สิ่งที่ Barraud ได้รับตอบกลับมาก็คือ ข้อเสนอให้วาดเครื่องเล่นแผ่นเสียงของ The Gramophone Company ทับลงไปแทนเครื่องเล่นกระบอกเสียงของ Edison แล้วทางบริษัทจะซื้อภาพของ Barraud มาใช้เป็นโฆษณา
ในกาลต่อมา ภาพ Nipper กับเครื่องเล่นแผ่นเสียงนี้ก็จะกลายเป็นโลโก้และภาพจำของแบรนด์ HMV บริษัทจำหน่ายแผ่นเสียงชื่อดังของอเมริกาที่เข้ามาซื้อบริษัท Gramophone ในเวลาต่อมา และกลายเป็นหนึ่งในภาพที่คนคุ้นเคยและจำได้ที่สุดในยุคนั้น ส่วนเทคโนโลยีกระบอกเสียงของ Edison ก็พ่ายแพ้ให้กับเครื่องเล่นแผ่นเสียงในที่สุด...
อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Phonograph...
https://www.smithsonianmag.com/.../phonograph-changed.../