ชื่อของ อาน รอแบร์ ฌัก ตูร์โก (Anne Robert Jacques Turgot) อาจไม่ใช่ชื่อที่เราคุ้นหูกันดีนัก แต่ที่จริงแล้วนักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐบุรุษในช่วงรัชสมัยของ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 นี้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าสังคมฝรั่งเศสในภายภาคหน้า นั่นก็คือ การปฏิวัติฝรั่งเศส นั่นก็เพราะตูร์โกเคยได้ทูลเกล้าถวายคำแนะนำที่ ‘อาจจะ’ ยับยั้งไม่ให้เกิดการปฏิวัติได้… หากเพียงแต่พระราชาและขุนนางแวดล้อมจะยอมรับฟังอย่างทันท่วงที
ตูร์โกเป็นบุตรคนที่สามของ มีแชล-เอเตียน ตูร์โก (Michel-Étienne Turgot) ประธานหอการค้าปารีส ด้วยพื้นเพของครอบครัว ตูร์โกจึงเติบโตขึ้นมาพร้อมกับความสนใจในเศรษฐศาสตร์ และได้รับอิทธิพลจากนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของฝรั่งเศสอย่าง ฟร็องซัว แกแน (François Quesnay) ผู้ได้ชื่อว่านักคิดคนแรก ๆ ที่นำเรื่องของทุนและผลผลิตมาวิเคราะห์อย่างเป็นหลักเกณฑ์ จนกลายมาเป็นรากฐานของศาสตร์แห่งเศรษฐศาสตร์ โดยเขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรก ๆ ที่ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่สำคัญที่สุดของระบบเศรษฐกิจซึ่งก็คือผลผลิตทางการเกษตรนั่นเอง
ที่ต้องกล่าวถึงผู้ส่งอิทธิพลอย่างแกแนก็เพราะว่า ในเวลาต่อมา อิทธิพลจากแนวคิดของแกแนจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ตูร์โกทูลเกล้าถวายคำแนะนำถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ในทันทีที่เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นขุนคลังเอกในปี 1774 โดยในช่วงเวลาที่เขาเข้ามารับตำแหน่งดูแลท้องพระคลังนั้น เป็นช่วงเวลาที่สภาพคล่องของท้องพระคลังถึงขั้น ‘วิกฤติ’ อย่างถึงที่สุด ซึ่งที่จริงก็อยู่ในสภาพนี้มาเป็นเวลาหลายปี
ด้วยความที่ตูร์โกเคยดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานอากรในพื้นที่ชนบทยาวนานถึง 13 ปี ทำให้เขาเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำของระบบภาษีซึ่งนำมาสู่ความยากแค้นของเกษตรกรผู้เป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบสังคมและเศรษฐกิจของชาติ โดยในช่วงที่ตูร์โกเข้ามารับตำแหน่งขุนคลังเอกนั้น ภาคการเกษตรของฝรั่งเศสก็อยู่ในสภาวะย่ำแย่อยู่แล้ว เพราะไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ต่อเนื่องมาหลายปี จนนำมาสู่สภาวะอดอยากขาดแคลนอาหาร แต่ชาวนาชาวไร่กลับยังคงต้องจ่ายภาษีที่ดินให้กับขุนนางเจ้าของที่ในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ซ้ำร้ายราชสำนักยังใช้จ่ายเงินในการทำสงครามเจ็ดปีและสงครามปฏิวัติอเมริกาจนเป็นหนี้มหาศาล กระนั้นรัฐบาลและราชสำนักกลับยิ่งเรียกเก็บภาษีสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนนำมาสู่ความไม่พอใจของประชาชนผู้อยู่อย่างอดอยากยากไร้
ตูร์โกที่ตอนนั้นถูกเพ่งเล็งโดยฝั่งอำมาตย์ที่อยู่แวดล้อมพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้เขียนบทความลงใน Encyclopédie ฉบับปี 1757 แบบไม่เปิดเผยชื่อ ในบทความนี้เขาได้วิพากษ์ระบบชนชั้นของผู้ปกครองที่เบื้องบนสุดนั้นกลับเต็มไปด้วยคน ‘ไร้ประโยชน์’ และหาได้ทำประโยชน์ใด ๆ ให้กับสังคม โดยเฉพาะเหล่าขุนนางที่ใช้เวลาเสพสำราญในปาร์ตี้อิเวนต์ที่จัดขึ้นเป็นประจำที่พระราชวังแวร์ซาย “หากจะประเมินคุณประโยชน์ของพวกเขาโดยเทียบกับเงินภาษีที่พวกเขาใช้ไปนั้น แค่หนึ่งเปอร์เซนต์ก็ยังมากเกินไปด้วยซ้ำ”
ในปี 1776 หรือสองเดือนหลังจากที่ตูร์โกได้รับแต่งตั้งให้เข้ามากู้วิกฤติท้องพระคลังที่กำลังร่อยหรอ ตูร์โกจึงได้ร่างรายงานขึ้นถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 โดยเริ่มต้นด้วยการร่ายยาวถึงปัญหาที่ฝรั่งเศสกำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ และมีใจความสำคัญเป็นการยื่น ‘หนทางแก้ไข’ วิกฤติครั้งนี้ด้วยการ ‘ปฏิรูป’ การใช้เงินของราชสำนักที่แบ่งออกเป็นสามข้อ ซึ่งมีหลักการรวม ๆ คือ "ไม่ล้มละลาย, ไม่เพิ่มภาษี, ไม่กู้ยืม"
“ในการที่จะทำทั้งสามข้อให้สำเร็จได้มีเพียงทางเดียวเท่านั้น คือการลดค่าใช้จ่ายจากเดิมที่จ่ายอยู่นี้ จนกระทั่งมีเงินเหลือ 20 ล้านลีร์ต่อปีเพื่อนำไปจ่ายหนี้จากปีก่อน ๆ หากไม่ทำตามกระบวนการนี้ ระเบิดลูกแรกที่จะปะทุขึ้นในประเทศของเราก็คือการล้มละลายของรัฐบาล
“[…] เป็นเรื่องจำเป็นที่ฝ่าบาทจะต้องบังคับให้แต่ละกระทรวงรายงานค่าใช้จ่ายกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องให้ผู้ดูแลแต่ละกระทรวงมาปรึกษาเรื่องการเบิกจ่ายกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยกระทำต่อหน้าพระองค์ด้วย เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อพระองค์ได้ทรงแจกจ่ายงบประมาณให้แต่ละกระทรวงแล้ว พระองค์ต้องไม่อนุญาตให้กระทรวงใดมาขอเบิกจ่ายเพิ่มนอกเหนือจากงบประมาณที่ทรงอนุมัติไปแล้ว โดยที่ไม่ได้ผ่านการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสียก่อน หากไม่ทำตามนี้ กระทรวงต่าง ๆ ก็จะพอกพูนไปด้วยหนี้สิน ซึ่งก็จะตกเป็นหนี้สินของพระองค์เอง โดยที่ผู้เบิกจ่ายเงินไปนั้นจะไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ เลย
“หากทำได้ดังนี้ เราก็อาจยังพอตั้งความหวังได้ว่า การเก็บเกี่ยวพืชผลที่ดีขึ้น การลดการขูดรีดภาษี และการเก็บภาษีอย่างเท่าเทียม (ในสมัยนั้นเจ้านายและขุนนางไม่ต้องเสียภาษี) ประชาชนก็อาจผ่อนคลายความเครียดลงได้แม้ในช่วงเวลาที่รายได้ของประเทศตกต่ำลงเช่นนี้ แต่หากเราไม่ปรับตัวในภาคเศรษฐกิจ การปฏิรูปใด ๆ ก็จะไม่เกิดผล เพราะไม่มีการปฏิรูปใดจะสำเร็จได้โดยปราศจากการยอมเสี่ยงและเปลี่ยนแปลง”
ที่จริงแล้วข้อเสนอแนะของตูร์โกนี้ก็หาใช่จะถูกปัดตกไปเสียทีเดียว เพราะพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ทรงตอบรับและปรับปรุงตามในบางข้อ จนทำให้การคลังขาดดุลน้อยลง (แต่ก็ยังขาดอยู่) และสามารถเจรจากับเจ้าหนี้ชาวเนเธอร์แลนด์ให้ลดดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 4 เปอร์เซนต์ได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่หนี้ของการคลังสะสมมายาวนานหลายสิบปี (ตั้งแต่สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าขุนนางผู้ปกครองต่างไม่ยอมรับนโยบายของตูร์โกที่จะให้เก็บภาษีถ้วนหน้าไม่เว้นแม้แต่เหล่าเจ้าขุนมูลนาย โดยอ้างว่าการเก็บภาษีกับเหล่าเจ้าขุนมูลนายจะเป็นการทำลายระบบชนชั้นทางสังคมของฝรั่งเศส ทำให้ไม่มีสิ่งที่แบ่งแยกระหว่างเจ้านายกับคนธรรมดา จนสุดท้ายตูร์โกก็ถูกบีบให้ลาออกในปี 1776
ในเดือนตุลาคม 1789 ม็อบประชาชนจึงได้ยกขบวนไปยังพระราชวังแวร์ซายและได้จับตัวพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พร้อมทั้งพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ต ไว้ในการควบคุม อันเป็นจุดเริ่มต้นของการปิดฉากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในประเทศฝรั่งเศส กระทั่งในวันที่ 21 มกราคม 1793 เมื่อเจ้าพระหลุยส์ที่ 16 ถูกนำตัวไปยังบริเวณที่ในกาลต่อมาจะถูกเรียกว่า Place de la Concorde หรือ ‘จัตุรัสแห่งความปรองดอง’ เพื่อทำการประหารด้วยเครื่องกิโยติน เมื่อใบมีดของเครื่องกิโยตินตกลงมาตัดพระเศียรของพระองค์จนขาด แล้วเลือดไหลนองลงมายังลานประหาร เมื่อประชาชนกรูกันเข้าไปใช้ผ้าเช็ดหน้าซับเลือดของกษัตริย์เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก ท่ามกลางเสียงร้องตะโกน "Vive la Nation! Vive la République!" ของประชาชน ระบอบกษัตริย์ของฝรั่งเศสก็ได้สิ้นสุดลง ณ ตรงนั้น
อ้างอิง: Before the Fall: Calls for Reform Prior to the French Revolution, Turgot, "Letter to the King on Finance", Anne Robert Jacques Turgot, Execution of Louis XVI