แรกเริ่มที่ ‘เจริญกรุง’ สำรวจ ‘แห่งแรกในสยาม’ ที่เกิดขึ้นที่ ‘เจริญกรุง’ ย่านที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดความสร้างสรรค์ของไทย

Post on 3 March

เชื่อว่าหลายคนต้องเคยได้ยินคำว่าสังคมแบบ “Melting Pot” กันมาบ้างแน่ ๆ โดยคำนี้จะใช้อธิบายถึงสภาพสังคมแบบหนึ่งที่เปรียบเสมือนกับ “เบ้าหลอม” ที่หลอมรวมผู้คนจากหลายวัฒนธรรมให้อยู่รวมกันได้อย่างลงตัว ซึ่งย่านเจริญกรุงเอง ก็มีสภาพสังคมเป็น “เบ้าหลอมของวัฒนธรรม” ที่ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว

เหตุผลที่เรามองว่าย่านเจริญกรุงเป็นสังคมแบบ “Melting Pot” ก็เพราะว่าในอดีต ย่านแห่งนี้เคยมีผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติมาอาศัยอยู่ร่วมกัน ได้แก่ ชุมชนชาวจีน, ชุมชนชาวตะวันตก, ชุมชนชาวมอญ, ชุมชนทวาย, ชุมชนชาวมุสลิม และชุมชนชาวลาว ซึ่งทุกวันนี้ตัวตนของผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ที่นี่ ก็ไม่ได้จางหายไปไหนไกล แต่ได้หลอมรวมเข้าด้วยกัน และแปรเปลี่ยนเป็นวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ประเพณี และเมนูอาหารเลิศรสที่ส่งอิทธิพลต่อมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบัน ย่านเจริญกรุงจะถูกมองว่าเป็นย่านเก่า แต่ถ้าเรามองย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่สี่ ตอนที่สยามเพิ่งเริ่มเข้าสู่ช่วงปรับบ้านแปลงเมืองให้มีความ “ศิวิไลซ์” เราก็จะพบว่าย่านเจริญกรุง คือย่านรวมสิ่งใหม่ ๆ หนึ่งในย่านแรก ๆ ที่ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว และยังเป็นที่ตั้งสำคัญของสถานที่หลายแห่ง ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “สถานที่แห่งแรก” ของประเทศไทยอีกด้วย

นอกจากนี้ย่านเจริญกรุง ยังเป็นย่านต้นกำเนิดของ Bangkok Design Week ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ “ความสร้างสรรค์” มากมายภายในเมืองไทย และต่อให้ในปีนี้งานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 หรือ Bangkok Design Week 2023 ที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 4 - 12 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ เขาจะขยายงานออกไปไกลถึง 9 ย่าน แต่ “ย่านเจริญกรุง” ก็ยังเป็นหนึ่งใน 9 ย่านสร้างสรรค์ที่ห้ามพลาดเด็ดขาด

เพื่อเพิ่มอรรถรสให้ทุกคนเดินเที่ยวย่านนี้กันได้สนุกขึ้น เราเลยขอต้อนรับสัปดาห์แห่งความสร้างสรรค์ ด้วยการเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของ 7 สถานที่สำคัญทั่วย่านเจริญกรุง อย่างถนนแบบตะวันตกสายแรก,ธนาคารแห่งแรก, โรงแรมแห่งแรก, ไปรษณีย์แห่งแรก,สถานทูตแห่งแรก,และแหล่งรวมร้านถ่ายรูปแห่งแรกของเมืองไทยให้ทุกคนฟังกัน

“เจริญกรุง” เจริญได้เพราะการสร้างถนนแบบตะวันตก

รู้หรือไม่ว่า “ถนนเจริญกรุง” คือถนนตะวันตกสายแรกของเมืองไทย และเป็นจุดเริ่มต้นของความเจริญทั้งหมดที่เกิดขึ้นในย่านเจริญกรุงอีกด้วย แต่จะจริงหรือไม่ที่เขาว่ากันว่าจุดเริ่มของถนนเจริญกรุง มาจากการที่ชาวตะวันตกอยากมีถนนไว้ขี่ม้า?

ก่อนจะไปไขปริศนาข้อนี้ด้วยกัน เราคงต้องเท้าความถึงวิธีการสัญจรของชาวสยามเมื่อครั้งอดีตกันเสียก่อน โดยในช่วงสมัยรัชกาลที่สี่ วิถีชีวิตของผู้คนยังคงยึดโยงอยู่กับสายน้ำเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน การค้าขาย หรือการคมนาคม ผู้คนก็มักจะเลือกใช้เส้นทางน้ำมากกว่าทางบกเสมอ เนื่องจากสภาพถนนในเมืองไทยยุคนั้น มีลักษณะเป็นถนนลูกรังแคบ ๆ ที่เต็มไปด้วยฝุ่นคละคลุ้ง เมื่อฝนตกลงมา ดินก็เละเป็นโคลน ทำให้เคลื่อนที่ได้ช้า ไม่เอื้อต่อการเดินทางเท่ากับทางเรือ

โดยจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชาวสยามหันมาเดินทางบนบกมากกว่า ก็คือการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง เพื่อเปิดประตูการค้าเสรีกับประเทศอังกฤษในสมัยรัชกาลที่สี่ ด้วยผลของสนธิสัญญานี้ ทำให้สยามต้องทำการปรับเปลี่ยนบ้านเมืองหลายอย่าง เพื่อรองรับการมาถึงของชาติตะวันตก และอำนวยความสะดวกในการค้าขายให้รวดเร็วขึ้น และนั่นก็รวมไปถึงการทำตามข้อเรียกร้องของชาวตะวันตกด้วย ซึ่งหนึ่งในคำร้องที่ชาวตะวันตกร้องขอให้สยามทำ ก็คือการ “สร้างถนน” ไว้สำหรับขี่ม้าตากอากาศนั่นเอง

คำร้องนี้ได้ประจวบเหมาะเข้ากับความต้องการหลาย ๆ อย่างของทางฝั่งสยามพอดี เพราะในช่วงเวลานั้นชนชั้นนำสยามเริ่มมีแนวคิดที่จะปรับตัวให้มีความ “ศิวิไลซ์” มากขึ้นแล้ว และได้มีการทำอะไรหลาย ๆ อย่างให้เป็นไปตามอย่างตะวันตก โดยการสร้างถนนเอง ก็เป็นหนึ่งในวิธีการที่ชนชั้นนำสยามมองว่าจะทำให้ตัวเองเข้าใกล้ความศิวิไลซ์แบบตะวันตกได้มากขึ้น เมื่อทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันเช่นนี้ ในปีพ.ศ. 2404 ถนนที่สะอาดตาและราบเรียบไร้ฝุ่นแบบตะวันตก ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

หลังจากสร้างเสร็จ ชาวยุโรปก็ได้เรียกถนนเส้นนี้ว่า “นิวโรด” ที่มาจากคำว่า New Road ส่วนชาวจีนก็เรียกถนนเส้นนี้ว่า “ซินพะโล้ว” แต่ถึงแม้ว่าทั้งสองชนชาติจะออกเสียงเรียกชื่อต่างกัน แต่เมื่อดูกันที่ความหมาย ก็จะพบว่าหมายความถึงถนนเส้นใหม่เหมือนกัน จนกระทั่งในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการให้กับถนนเส้นนี้ว่า “ถนนเจริญกรุง” ถนนเส้นนี้ก็ถูกเรียกขานตามแบบอย่างไทยมาจนถึงปัจจุบัน

การตัดถนนเจริญกรุง ไม่เพียงตอบโจทย์เรื่องการค้าขายกับชาติตะวันตกเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงความเป็นอยู่ของชาวสยามดั้งเดิมด้วย สังเกตได้จากการตัดถนนขนานไปกับแม่น้ำ ที่ชาวสยามใช้สัญจรไปมา อีกทั้งยังตัดผ่านเขตชุมชนถึงสี่แห่ง เมื่อทุกคนต่างได้ประโยชน์ร่วมกันบนถนนสายนี้ ถนนเจริญกรุงจึงสามารถนำพาความเจริญมาสู่ย่านนี้ได้สมดังชื่อ จนในที่สุดก็กลายเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญ และเป็นแหล่งรวมอาคารมากหน้าหลายตาที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “สถานที่แห่งแรก” ของเมืองไทย ดังนั้นเจริญกรุง จึงสามารถเจริญได้ เพราะถนนเส้นนี้จริง ๆ

ธนาคารสยามกัมมาจล ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทย

ธนาคารสยามกัมมาจล คือธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย ที่ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกบนถนนเจริญกรุงในสมัยรัชกาลที่ห้า

จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งธนาคารแห่งนี้ มาจากการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ห้า ที่ยังคงพยายามนำพาสยามไปสู่ความ “ศิวิไลซ์” อย่างเข้มข้น ซึ่งการเพิ่มสถาบันการเงินเข้ามาจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตได้ดีขึ้น และเม็ดเงินเหล่านั้นยังสามารถนำไปพัฒนาความเจริญด้านอื่น ๆ ตามแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจได้อีก ด้วยเหตุนี้สถาบันการเงินแห่งแรกของชาวสยาม จึงเริ่มต้นขึ้นในนาม “บุคคลัภย์” (Book Club) ตามความประสงค์ของ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวง พระคลังมหาสมบัติในเวลานั้น

หลังจากการทดลองใช้งานผ่านไปด้วยดี จากบุคคลัภย์ ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท แบงก์สยาม กัมมาจล ทุนจำกัด” ในปีพ.ศ. 2449 และเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง สยามได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น “ไทย” จาก “สยามกัมมาจล” เลยเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “ไทยพาณิชย์” แทน หรือก็คือ “ธนาคารไทยพาณิชย์” ที่เรารู้จักกันนั่นเอง

ในปัจจุบันธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย ก็ยังคงตั้งอยู่ย่านเจริญกรุงเหมือนเดิม ทุกคนสามารถไปชมสถาปัตยกรรมเก่าแก่สไตล์โบซาร์ (Beaux-Arts architecture) ที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบกรีก - โรมัน เข้ากับแนวความคิดแบบเรอเนสซองส์ ได้อย่างสวยงามกันได้ ที่บริเวณตลาดน้อยได้เลย

โรงแรมโอเรียนเต็ล โรงแรมแห่งแรกของเมืองไทย

นอกจากถนนหนทางและธนาคารแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยเสริมสร้างให้เศรษฐกิจของสยามเติบโตได้มากขึ้น ก็คือ “ที่พัก” เพราะถ้าต้องการรองรับการค้าขายให้ดีขึ้น สยามจำเป็นต้องมีสถานที่พำนักให้กับเหล่าพ่อค้าที่เดินทางเข้ามาค้าขายได้อย่างเพียงพอ ซึ่งคนที่ริเริ่มการสร้างสถานที่ที่เรียกว่า “โรงแรม” ก็คือกะลาสีเรือชาวเดนมาร์กสองคน ที่ตัดสินใจจะตั้งรกรากอยู่ในสยามนั่นเอง

กะลาสีเรือสองคนนี้มีชื่อว่า ร้อยเอกจาร์ด และร้อยเอกชาร์ล พวกเขาได้สร้างโรงแรมแห่งนี้ขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยรัชกาลที่ห้า โดยตั้งชื่อว่า “โรงแรมโอเรียนเต็ล” ซึ่งถือว่าเป็นโรงแรมที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและในเอเชีย

หลังจากบริหารกิจการได้สักพัก พวกเขาก็ตัดสินใจขายกิจการให้กับคนอื่น และมีการเปลี่ยนมือเจ้าของกิจการอยู่อีกหลายครั้ง ในปัจจุบัน ผู้ที่เป็นเจ้าของโรงแรมแห่งนี้ คือกลุ่มบริษัทในเครือ Jardine Matheson Group และโรงแรมแห่งนี้ก็เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล”

ในด้านของความสำคัญ โรงแรมแห่งนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในโรงแรมที่ดีที่สุดในโลก จากนิตยสารอินสติติวชั่นแนล อินเวสเตอร์ ของนิวยอร์ก และยังได้ทำการต้อนรับบุคคลผู้มีชื่อเสียงมากมาย เช่น เหล่าประมุขและผู้แทนพระองค์จากประเทศต่าง ๆ ที่มาเยือนเมืองไทยช่วงงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อพ.ศ. 2549

ไปรษณีย์แห่งแรกของประเทศไทย

อย่างที่เราทราบกันว่าในสมัยรัชกาลที่ห้า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตัดสินใจผลักดันสยามให้เจริญตามรอยตามตะวันตกแบบเต็มตัว และก้าวเข้าสู่ความ “ศิวิไลซ์” เพื่อการนั้นสยามจะต้องมีความเจริญทัดเทียมกับชาติตะวันตก มีทุกสิ่งที่ตะวันตกมี ดังนั้นการจัดตั้งกรมไปรษณีย์จึงเป็นสิ่งจำเป็น

ไปรษณีย์ไทยแห่งแรก ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ห้า โดยอาคารไปรษณีย์แห่งแรกได้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของปากคลองโอ่งอ่าง ย่านเจริญกรุง โดยผู้ที่คอยดูแลกรมไปรษณีย์ในช่วงเวลานั้น ก็คือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช และแสตมป์ชุดแรกของประเทศไทย ที่ถูกนำมาใช้งาน มีชื่อว่า "แสตมป์ชุดโสฬส"

หลังจากเปิดดำเนินกิจการมาได้เกือบ 20 ปี ในพ.ศ. 2441 ไปรษณีย์ไทยก็ได้ควบรวมดูแลกิจการโทรเลขด้วย และเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็น “กรมไปรษณีย์โทรเลข” เมื่อมีงานมากขึ้น คนก็มากขึ้น อาคารเดิมที่คลองโอ่งอ่างจึงไม่สามารถรองรับได้อย่างเพียงพอ จึงย้ายไปยังริมถนนเจริญกรุง ก่อนจะตั้งชื่ออาคารว่า “ไปรษณีย์กลาง”

สถานทูตกงสุลโปรตุเกส สถานทูตแห่งแรกของประเทศไทย

ถ้าพูดถึงชาติตะวันตก “ชาติแรก” ที่ติดต่อกับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ก็คงต้องนึกถึง “โปรตุเกส” โดยพวกเราได้เริ่มติดต่อกันมาตั้งแต่พ.ศ. 2054 ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งอาณาจักรอยุธยา ไม่เพียงติดต่อกันเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีเท่านั้น แต่ยังมีการทำสนธิสัญญาทางการค้าและไมตรีระหว่างไทยกับตะวันตกเป็นฉบับแรกอีกด้วย

การติดต่อกับโปรตุเกสทำให้ไทยได้เรียนรู้วิทยาการทางฝั่งตะวันตกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ ด้านการคมนาคม และด้านสาธารณสุข รวมไปถึงเมนูอาหารบางอย่าง เราก็รับจากฝั่งโปรตุเกสมาไม่น้อยเลย ในขณะเดียวกันทางฝั่งไทยเอง ก็ได้มอบที่ดิน และสร้างสถานที่หลายแห่งให้ชาวโปรตุเกสสามารถใช้ชีวิตในไทยได้ง่ายขึ้น อย่างการสร้างบ้านโปรตุเกส และสถานกงสุลโปรตุเกส ซึ่งเป็นสถานทูตกงสุลแห่งแรกของประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในย่านเจริญกรุง

แรกเริ่มเดิมที พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงพระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้กับสมเด็จพระราชินีมาเรียแห่งโปรตุเกส เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของโรงสินค้า และเป็นที่พักของคาร์ลูช มานุเอล ดา ซิลเวย์รา (Carlos Manuel da Silveira) กงสุลโปรตุเกสคนแรก แต่ต่อมาก็ได้กลายเป็นสถานทูตของโปรตุเกส เมื่อมีสถานทูตและพื้นที่เป็นของตัวเอง ชาวโปรตุเกสก็ได้เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันในบริเวณนี้ และมีการสร้างศาสนสถานอย่างโบสถ์กาลหว่าร์ขึ้นมาด้วย

ในปัจจุบันสถานกงสุลแห่งนี้ยังคงตั้งอยู่ที่เดิม และยังคงมีคณะทูตจากโปรตุเกสทำงานอยู่เช่นเคยเหมือนในอดีต ในส่วนของตัวอาคารก็ได้มีการปรับปรุงจากรูปแบบแรกอยู่หลายส่วน เพราะแต่เดิมทำจากไม้ไผ่ แต่ในตอนนี้มีลักษณะเป็นอาคารทรงโคโลเนียลสไตล์นีโอ ปัลลาเดียน (Neo-Palladian) ที่ได้รับการปรับปรุงในยุค 60 และได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี

แหล่งรวมร้านถ่ายรูป แหล่งแรกของเมืองไทย

“หน้าของท่านในรูปนั้นจะเปลี่ยนไปได้ต่าง ๆ เช่น ยิ้มแล้วโกรธ โกรธแล้วหัวเราะ หัวเราะแล้วหน้าบึ้ง เปลี่ยนสีหน้าได้ต่าง ๆ เหมือนคนจริง ๆ ฤๅเช่นเดียวกับภาพยนตร์ ยังไม่มีใครทำได้ เปนของแปลก ไม่เหมือนกับรูปเลื่อนที่ทำขายในตลาด เชิญท่านลองไปถ่ายสักรูปหนึ่ง เพราะราคาถูกที่สุด ร้านถ่ายรูป ‘ฉายาเจริญกรุง’ ตำบลสามยอด แลร้านถ่ายรูป ‘คานาดา’ ข้างโรงพักนางเลิ้ง”

ข้อความข้างต้น คือข้อความโฆษณาของร้านถ่ายรูปฉายาเจริญกรุง ที่ลงไว้ในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ ฉบับวันที่ 25 ส.ค. 2463 หรือในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งโฆษณานี้ เป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ โฆษณาจากร้านถ่ายรูปที่ตั้งอยู่ในย่านเจริญกรุง ณ ช่วงเวลานั้น

ถึงแม้ว่าย่านเจริญกรุงจะไม่ใช่ที่ตั้งของร้านถ่ายรูปร้านแรกในเมืองไทย แต่จากโฆษณาหลาย ๆ อันที่พบเห็นก็บอกได้เลยว่า ที่นี่คือแหล่งรวมร้านถ่ายรูปแห่งแรกของเมืองไทยจริง ๆ ถ้าจะเปรียบเปรยให้เห็นภาพ ก็เหมือนกับเวลาคนมาถามเราว่าจะไปซื้อเสื้อผ้าถูก ๆ ที่ไหน เราก็ชี้ให้ไปประตูน้ำ เวลาเราถามคนสมัยก่อนว่าจะไปถ่ายรูปเก๋ ๆ ที่ไหนดี พวกเขาก็จะชี้มาที่ย่านเจริญกรุงเช่นเดียวกัน

ซึ่งในปัจจุบันย่านเจริญกรุงก็ยังขึ้นชื่อเรื่องการถ่ายรูปอยู่ ทว่าไม่ได้ขึ้นชื่อเรื่องร้านถ่ายรูปแบบในอดีต แต่เป็นจุดถ่ายรูปยอดฮิต กับแหล่งเสพงานอาร์ตสวย ๆ ที่เราควรไปเดินเก็บภาพ เป็นย่านแห่งความสร้างสรรค์ ที่ต่อให้ไม่ได้เจริญด้านเทคโนโลยี แต่ก็ยังรุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์เก่าแก่ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เอาไว้ เป็นเจริญกรุง ที่ยังคงเจริญใจมาจนถึงทุกวันนี้

อ้างอิงจากเว็บไซต์