history_of_multiverse_in_comics.jpg

HISTORY OF MULTIVERSE IN COMICS ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของพหุจักรวาลในคอมิก

Post on 9 May

เวลาเจอกับอะไรแย่ๆ คุณเคยรู้สึกไหมว่าถ้าเป็นไปในทางตรงกันข้าม ตอนนี้ชีวิตจะเป็นแบบไหน หรือในอีกด้านเวลาเจอกับเรื่องดีๆ ถ้าวันนั้นดันเปลี่ยนเป็นวันแย่ๆ อีกตัวตนเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร

สำหรับบางคน นี่อาจเป็นเพียงความคิดที่แล่นเข้ามาในหัวแค่เพียงชั่วครู่ แต่กับบางคน นี่เป็นสารตั้งต้นชั้นดีให้พวกเขาตั้งคำถาม ‘What If .. ?’ จนเกิดเป็นเรื่องราวในจินตนาการมากมายไม่รู้จบ แถมยังถูกผูกเชื่อมเข้ากับทฤษฎีพหุจักรวาลตามหลักวิทยาศาสตร์ กลายเป็นเรื่องราว ‘ในอีกจักรวาลหนึ่ง’ 

กลเม็ดนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในการเล่าเรื่องมาช้านาน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างหนาหูในปัจจุบันคือพหุจักรวาลในรูปแบบของ ‘คอมิก’ อย่างล่าสุดกับหนัง Spider-Man: No Way Home ไอ้แมงมุมก็พาเราโหนใยเข้าไปในจักรวาลอันหลากหลายอีกครั้ง และคราวนี้เรื่องราวก็เรียกร้องให้เราเข้าใจความเป็นไปและกลไกของมันมากกว่าเดิม 

ด้วยเหตุนี้นี้ GroundControl จึงอยากพาทุกคนเดินทางไปในรอยทางเหล่านั้น (แบบย่อๆ) เพื่อทำความเข้าใจและปูพื้นฐานว่าแท้จริงแล้ว Multiverse นั้นคืออะไร และทำไมในวงการคอมิกถึงใช้วิธีนี้ในการสร้างสรรค์เรื่องอย่างแพร่หลายนัก 


 

พหุจักรวาลเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

ย้อนความกันไปไกลสักหน่อย ไอเดียว่าจักรวาลที่เราอยู่ไม่ได้มีแค่จักรวาลเดียวนั้นแท้จริงเกิดขึ้นหลายพันปีก่อน โดยถ้ายึดตามหลักฐานที่ปรากฏคือช่วง 500 ปีก่อนคริสต์กาล นักปราชาญ์ที่ศรัทธาในทฤษฎี Atomism ของวัฒนธรรมการกรีกได้บันทึกไว้ว่าโลกของเราเกิดจากการชนกันของอะตอม (Atomic Collisions) และการชนกันทำให้เกิด ‘โลกคู่ขนานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด’

แต่นี่เป็นเพียงการวัดจากหลักฐานหนึ่งที่ปรากฏเท่านั้น เพราะถ้ามองดูตามความเป็นจริง จะเห็นได้ว่าตลอดรอยทางที่ผ่านมา ความเชื่อเรื่อง ‘โลกขนาน’ ปรากฏตัวข้ึนทั่วโลกมาช้านาน ไม่ได้แปลว่าวัฒนธรรมกรีกเป็นจุดแรกเริ่มแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นการแทรกซึมอยู่ในเรื่องเล่าทางศาสนาไปจนถึงความคิดของนักปราชญ์ ไอเดียเกี่ยวกับโลกอีกใบนั้นมีให้เห็นอยู่เสมอ อาจเปลี่ยนบริบทไปบ้างแต่ใจความนั้นยังเหมือนเดิม

แต่ถ้าโฟกัสไปที่คำว่า ‘Multiverse’ โดยเฉพาะ เชื่อไหมว่ากว่าที่คำนี้จะถูกบัญญัติขึ้นมาเป็นครั้งแรกก็ต้องรอถึงปี 1895 แถมความหมายก็ต่างกับ Multiverse ที่เรารู้จักตอนนี้อย่างสิ้นเชิง เพราะผู้บัญญัติขึ้นมาอย่าง William James นั้นเป็นนักจิตวิทยาที่ใช้คำว่า Multiverse เพื่ออธิบายถึงการรับรู้ของมนุษย์ที่ไม่อยู่ในความเป็นจริง ไม่ได้หมายความถึงจักรวาลคู่ขนานแต่อย่างใด

แล้วถ้าจะนับคำว่า ‘Multiverse’ ในแง่ของความหมายที่เราเข้าใจล่ะ ใครคือคนแรกที่เอ่ยถึงอย่างเป็นทางการ?  - คำตอบของคำถามนี้ชี้ไปที่นักฟิสิกส์นามว่า Hugh Everett 

ในปี 1954 ฮิวจ์ในวัย 23 ปีเกิดไอเดียในการทำวิจัยปริญญาเอกของเขาระหว่างการพูดคุยกับเพื่อนสนิท เรื่องขำขันในวงสังสรรค์วันนั้นกล่าวถึง ‘What If ..?’ ในชีวิต จุดนั้นเองที่ทำให้ฮิวจ์เกิดเอะใจถึงความเป็นไปได้ดังกล่าวและต่อยอดเป็นงานวิจัยที่มีชื่อว่า ‘The Many-Worlds Interpretation of Quantum Mechanics’ ขึ้นมา ซึ่งความยอดเยี่ยมและการตั้งข้อสังเกตุของงานวิจัยนี้เองที่ทำให้ผู้คนรู้จักฮิวจ์ในฐานะผู้ให้คำนิยามจักรวาลคู่ขนาน และทำให้ Multiverse ดูจับต้องได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แต่อย่างที่เรารู้กันว่าจวบจนถึงปัจจุบัน การทดลองทางวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถพิสูจน์เรื่องราวเหล่านี้ได้ จักรวาลคู่ขนานจึงยังเป็นเพียง ‘ทฤษฎี’ เท่านั้น แต่เพราะความน่าหลงไหลและเรื่องราวเหนือจินตนาการของมันนี่เองที่ทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมายังมีคนให้ความสำคัญ ทดลองและหยิบเอาคอนเซปท์นี้ไปใช้อย่างสม่ำเสมอ


 

Multiverse ถูกพูดถึงใน fiction อย่างไร

 

อย่างที่เกริ่นไปว่าความเชื่อในอีกโลกหนึ่งนั้นแทรกซึมแฝงตัวอยู่กับมนุษย์มาอย่างช้านาน ดังนั้นด้วยความที่เรื่องเล่าในธรรมชาติส่วนใหญ่เป็นการตั้งคำถาม ‘What if ..?’ อยู่แล้ว เราก็อาจพอนับรวมได้ว่า ‘ความเป็นโลกอีกใบ’ ปรากฏตัวในเรื่องเล่านานพอกับการมีอยู่ของแนวคิดนี้เลยทีเดียว

แต่ถ้าจะโฟกัสไปที่การกล่าวถึง ‘อีกโลกหนึ่ง’ อย่างไม่อ้อมค้อมในเรื่องเล่า ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้นปรากฏนวนิยายหลายเรื่องที่มีการใช้คอนเซปท์นี้อย่างน่าสนใจตลอดรอยทางที่ผ่านมา เช่น   The Blazing World  เมื่อปี 1666 โดย Margaret Cavendish ที่กล่าวถึงการเดินทางผ่านประตูมิติที่ขั้วโลกเหนือเพื่อไปเจอโลกที่คล้ายกับของเดิม ต่างกันเพียงดวงดาวและสัตว์ที่สามารถพูดได้

หรือนวนิยายชุด Sidewise in Time เมื่อปี 1934 โดย Murray Leinster ที่มีการเปรียบเปรยการดำรงอยู่ของมนุษย์ในหนึ่งช่วงเวลาเป็นเส้นลองติจูดและละติจูด ซึ่งถ้ามนุษย์สามารถเดินทางผ่านสองเส้นนี้ได้ นั่นก็แปลว่าการเดินทางท่องเวลา (ละติดจูด - จากขวาไปซ้าย หรือซ้ายไปขวา) ก็สามารถเกิดขึ้นได้พอๆ กับการเดินทางไปยังอีกจักรวาลหนึ่ง (ลองติจูด - จากหน้าไปหลัง หลังไปหน้า) นั่นเอง

จะเห็นได้ว่าการเล่าเรื่องโดยยึดโยงกับอีกมิติหนึ่งไม่ใช่เรื่องที่ใหม่เลย นี่เป็นหนึ่งในรูปแบบที่ผู้ประพันธ์มักหยิบมาใช้เสมอเพื่อนำเสนอจินตนาการ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยรูปแบบความเข้าใจที่ในยุคหลังๆ ยึดโยงกับวิทยาศาสตร์ นี่จึงเป็นวิธีเล่าที่ค่อนข้างนิยมในนวนิยาย Sci-fi เป็นหลัก โดยถูกใช้วัตถุดิบที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นนิยายแบบไหน แนวคิดนี้ก็มักเกิดขึ้นเพื่อผู้อ่านจินตนาการถึง ‘What if ..?’ ใหม่ๆ และตั้งคำถามกับตัวเองเสมอ

อย่างที่ตำนานนักเขียนชาวอาร์เจนตินาอย่าง Jorge Luis Borges กล่าวไว้อย่างน่าสนใจในเรื่องสั้น The Garden of Forking Paths นั่นเองว่า “ลำดับเวลานั้นไม่สิ้นสุด โครงข่ายที่กำลังเติบโตของเวลาที่แตกต่างกันนั้นบรรจบกันและขนานอยู่เสมอ จนเกิดเป็นความเป็นไปได้ทั้งหมด และในช่วงเวลาเหล่าที่น่าพิศวงเหล่านั้น เราต่างไม่มีตัวตนอยู่จริง ในบางเรื่องคุณมีอยู่แต่ฉันไม่มี ในบางเหตุการณ์ฉันทำและคุณไม่ได้ทำ และในอีกบางเหตุการณ์เราทั้งคู่ต่างทำเหมือนกัน”


 

Multiverse ใน DC Comics 

 

จากความน่าหลงไหลในเรื่องราวเหนือจินตนาการผ่านความเป็นพหุจักรวาลนี้เอง ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่ในท้ายที่สุดไอเดียนี้จะถูกนำมาใช้กับศาสตร์ที่เรียกว่า ‘การ์ตูน’ หรือ ‘คอมิก’ เข้าในสักวัน แต่กว่าที่จะเป็นที่รู้จักทั่วไปอย่างปัจจุบัน ครั้งแรกของการหยิบเอาจักรวาลคู่ขนานมาใช้ในคอมิกยุคใหม่เกิดขึ้นตอนไหนกันล่ะ

การจะตอบคำถามนี้ เราต้องย้อนกลับไปถึงปี 1953 กับคอมิกในเครือของ DC Comis เลยทีเดียว

มีการบันทึกไว้ว่าคอมิกซูเปอร์ฮีโร่หญิงจอมพลังอย่าง Wonder Woman เล่มที่ 59 คือคอมิกแรกที่มีการพูดถึง ‘อีกความเป็นจริงหนึ่ง’ อย่างเป็นทางการ โดยเป็นการกล่าวถึงวันเดอร์ วูแมนอีกคนหนึ่ง ด้วยประโยคตอนต้นเรื่องที่พูดอย่างชัดเจนว่า “Earth must have a twin world, existing simultaneously alongside it!” และยังขยี้ในตอนจบเรื่องอีกด้วยว่า “Everyone on it, is a double of everyone on Earth!”

แต่ถ้าว่ากันถึงคอมิกที่มีการหยิบเอาคอนเซปท์นี้มาเล่าและพูดถึงอีกจักรวาลหนึ่งอย่างเป็นรูปธรรม คำตอบของคำถามข้อนี้จะไปเริ่มต้นที่ The Flash เล่มที่ 123 ในปี 1961 ที่มีการกล่าวถึงคำว่า Earth-Two อย่างเป็นทางการ ก่อนที่ในอีก 2 ปีต่อมา คอมิกรวมซูเปอร์ฮีโร่ในค่ายดีซี อย่าง Justice League of America เล่มที่ 21 จะมีการหยิบเอาคอนเซปท์นี้มาตีฟองให้ยิ่งใหญ่มากขึ้นจนประสบความสำเร็จ

ในเวลานั้น Justice League of America เล่มที่ 21 เลือกนำเสนอการต่อสู่กันระหว่าง ‘ซูเปอร์ฮีโร่จากทั้งสองจักรวาล’ แน่นอนว่าด้วยความใหม่และคอนเซปท์อันบ้าคลั่งนี้ก็ทำให้ยอดขายดีขึ้นอย่างเทน้ำเทท่า ซึ่ง DC Comics ก็ไม่หยุดความสำเร็จอยู่แค่นั้น พวกเขาค่อยๆ เพิ่มจักรวาลเข้าไปอีก เช่น Earth-Three ที่ซูเปอร์ฮีโร่กลับกลายเป็นตัวร้าย หรือแม้กระทั่ง Earth-X ที่พูดถึงโลกที่นาซีชนะสงคราม เป็นต้น

ซึ่งถ้าว่ากันตามจริง ด้วยเหตุผลด้านเสียงตอบรับนี่เอง พวกเขาเลยพยายามเปิดตัวจักรวาลใหม่อยู่ตลอด พอผ่านไปช่วงหนึ่งก็จับทุกจักรวาลมาชนกัน เช่น คอมิกหัว Crisis on Infinite Earths ที่สร้างปรากฏการณ์ขายดีอย่างที่ไม่เคยทำได้ ดีซีวนวงจรนั้นนั้นอยู่เป็นสิบๆ ปี จนปี 2011 นี้เอง ที่อาจเป็นเพราะจำนวนที่มากหรือความยุ่งเหยิงที่เกินแก้ พวกเขาจึงตัดสินใจรีเซ็ททุกอย่างใหม่ทั้งหมดภายใต้คอมิก Flashpoint ทำให้ในปัจจุบัน DC Comics เหลือจักรวาลในมือเพียง 52 จักรวาลเท่านั้น (เรียกว่า ‘The New 52’) เปรียบดั่งการเริ่มต้นเล่าเรื่องใหม่โดยมีรากฐานที่แน่ชัด ไม่สะเปะสะปะเท่าเดิมแล้ว

ส่วนสำหรับคอหนัง หนัง The Flash ภาคต่อไปที่กำลังจะเข้าฉายก็มีชื่อว่า Flashpoint เช่นเดียวกัน ทำให้แฟนการ์ตูนส่วนใหญ่พอคาดเดาได้ว่านี่ก็อาจเป็นเหตุการณ์ที่เข้ามารีเซ็ทจักรวาลหนังของดีซีเช่นกัน ถือเป็นวาระในการเปลี่ยนแปลงทิศทางของหนังให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควรอย่างแท้จริง


 

Multiverse ใน Marvel Comics 

 

แม้เป็นคู่แข่งกับ DC Comics ชัดเจน แต่ผู้มาทีหลังอย่าง Marvel Comics กลับมองการใช้พหุจักรวาลในความหมายที่ต่างไป เพราะในความตั้งใจแรก มาร์เวลอยากให้ ‘จักรวาลหลัก’ ที่พวกเขากำลังสร้างขึ้นเป็น ‘หลัก’ จริงๆ มากกว่า ทำให้ในช่วงแรกมุมมองนี้ต่างกับดีซีอย่างสิ้นเชิง

‘โลกอีกใบหนึ่ง’ ในจักรวาลคอมิกของมาร์เวลนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1977 ในหัวคอมิกที่แยกย่อยออกมาเล่าเรื่องนี้โดยตรงอย่าง What if? โดยเป็นการกล่าวผ่านประโยคพูดของตัวละคร The Watcher ที่ว่า “Worlds within worlds, separated only by the thinnest web of cosmic gossamer.” และอีก 2 ปีต่อมาคอมิก Marvel Two-in-One ฉบับที่ 50 ก็มีการพูดถึงจักรวาลคู่ขนานเป็นครั้งแรก แต่เป็นการพูดที่ต่างกับดีซี นั่นคือมาร์เวลเชื่อว่าอดีตที่แตกต่างกันจะทำให้เกิดความเป็นไปได้ในอีกไทม์ไลน์ คล้ายกับแนวคิดที่อยู่ในซีรีส์ Loki มากกว่าที่จะมีจักรวาลหนึ่งดำเนินไปคู่ขนานกัน

แต่หลังจากนั้น ด้วยความนิยมของคอนเซปท์นี้และยอดขายของดีซีที่เห็นความต่างได้ชัด มาร์เวลก็ค่อยๆ เพิ่มไทม์ไลน์เข้าไปและเลือกเล่าพหุจักรวาลในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับดีซีในที่สุด อาจแตกต่างกันบ้างที่ในชื่อเรียก เช่น การที่มาร์เวลจะเรียกจักรวาลหลักของตัวเองว่า Earth-616 หรือจักรวาล MCU ว่า Earth-199999 แต่ด้วยพื้นฐานความเข้าใจแล้วสองค่ายนี้ยังใช้ชุดความคิดที่คล้ายกันอยู่

แต่จุดพลิกผันที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจเรื่องนี้จากมาร์เวลคือตรงไหนล่ะ คำตอบนั้นแสนง่าย ก็คือสื่อที่เข้าถึงคนได้มากกว่าอย่างจักรวาลหนัง MCU นั่นเอง

อาจเป็นเพราะความยิ่งใหญ่ที่พวกเขาค่อยๆ สร้างรากฐานและทำความรู้จักกับคนดูเรื่อยมาเป็นสิบปีก็ได้ ทำให้การพูดถึง ‘อีกไทม์ไลน์หนึ่ง’ ใน Avengers: Endgame ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ไม่ได้ยากจนเกินไป ก่อนที่พวกเขาจะค่อยๆ อธิบายเรื่องพหุจักรวาลทีละน้อย จนมาตีแผ่ใหญ่ผ่านซีรีส์ Loki ก่อนมาระเบิดแบบไม่แคร์ใครใน Spider-Man: No Way Home ทำให้ปัจจุบันความเข้าใจในเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องพื้นฐานไปแล้ว ต่างกับไม่กี่สิบปีก่อนลิบลับที่มันยังเป็นแค่ชุดความคิดในคนกลุ่มเล็กๆ ที่ติดตามคอมิกแค่นั้น


 

Multiverse ดียังไง และจะทำให้เกิดอะไรขึ้นต่อ

 

แน่นอนล่ะ ว่ากับคำถามนี้ ถ้าคิดคำตอบไวๆ ในมุมของผู้ผลิต คงไม่มีอะไรไปมากกว่า ‘ความขายได้’ เพราะถ้าดูจากตัวเลขยอดขายคอมิกที่มีการจับฮีโร่จากสองจักรวาลมาเจอกัน หรือหนังที่ใช้คอนเซปท์นี้ในการเล่าเรื่องก็มักได้รับการตอบรับด้วยตัวเลขที่สูงคุ้มค่าเหนื่อย

รวมถึงถ้าคิดในแง่มุมของคนเล่าเรื่อง ความไร้ขอบเขตของจินตนาการที่ความเป็นพหุจักรวาลมีให้กับผู้สร้างสรรค์ก็เป็นวัตถุดิบชั้นดีที่สามารถสร้างเรื่องเล่าชั้นยอดได้ ดังนั้นจะปฏิเสธวิธีการนี้ทำไมล่ะ 

แต่ในอีกแง่หนึ่ง ถ้าเราดูจากอดีตที่ผ่านมา จะสังเกตุได้ว่า ‘Multiverse’ ในเรื่องเล่าก็ใช่ว่าจะเวิร์กเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น DC Comics ก็ได้ที่ตัดสินใจขยายจักรวาลเสียจนมากเกิน กลายเป็นความยุ่งเหยิงที่ผู้อ่านไม่สามารถจับต้นชนปลายได้ถูก ตัวละครที่มากเกินควบคุมก็ทำให้ไม่สามารถเกลี่ยความสนใจให้เกิดสมดุล ก่อนที่สุดท้ายพวกเขาต้องตัดสินใจรีเซ็ทใหม่ท้ังหมด

และอีกประเด็นสำคัญ คือเมื่อใช้คอนเซปท์ ‘ตัวตนหนึ่งในจักรวาลที่แตกต่างกันไป’ ถ้าไม่สามารถคุมเส้นเรื่องได้ดีพอ มันก็มีโอกาสที่ทำให้คนอื่นเกิดอาการสับสน เพราะแทนที่จะมีหนึ่งเส้นเรื่องให้คนดูโฟกัสได้ตลอดเรื่องราว แต่กลับมีมากกว่าหนึ่งที่เข้ามาแย่งความสนใจและพลังงานในการดูจากผู้เสพไป ดังนั้นถ้าจัดสรรปันส่วนไม่ดี จากความหลากหลายก็อาจกลายเป็นความยุ่งเหยิงจนทำให้คนดูทิ้งเรื่องราวนั้นได้ภายในพริบตา 

กับเรื่องนี้ หัวเรือใหญ่ของ MCU อย่าง Kevin Feige ก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้เช่นกันว่าการที่เขาจะนำความเข้าใจเรื่อง Multiverse มาเสิร์ฟให้กับผู้ชมได้ ก่อนหน้านี้ผู้ชมก็ต้องมีเรื่องราววัตถุดิบที่มากพอ นั่นเลยเป็นเหตุผลที่เควินรอจนกระทั่ง MCU มีหนังกว่า 20 เรื่องถึงค่อยพูดพหุจักรวาลเป็นครั้งแรก และยังเป็นการค่อยๆ พูดเพื่อไม่ให้ข้อมูลนั้นมากล้นเกินด้วย

ดังนั้นในปัจจุบัน แม้พหุจักรวาลของทั้งดีซีและมาร์เวลจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกแล้ว แต่คำถามสำคัญสำคัญต่อมาที่เป็นโจทย์ที่ทั้งสองค่อยต้องแก้ให้แตก นั่นคือภายใต้กลไกลนี้ พวกเขาจะเลือกเล่าเรื่องราวแบบไหนให้มัดใจคนมากกว่า

เพราะในท้ายที่สุด ความเป็นพหุจักรวาลเป็นเพียงแค่องค์ประกอบเท่านั้น จะเป็น Multiverse หรือไม่ จะมีสไปเดอร์แมนโผล่มาอีกสักกี่คน สุดท้ายคนเสพก็อยากได้เพียงแค่เรื่องราวที่คุ้มค่าพอในการเสียเวลาดูเท่านั้นเอง