History of Street Art & Graffiti: ประวัติศาสตร์ฉบับย่อ ของศิลปะที่เกิดขึ้นนอกกฎหมาย และกลายมาเป็นพลังพัฒนาชุมชน

Post on 8 April

เช้าวันหนึ่งที่ริมถนนย่านชานเมืองกรุงเทพฯ หางตาเราเหลือบเห็นภาพสีสเปรย์บนผืนปูนใต้สะพานลอย เป็นรูปเจ้าเด็กหัวแหลมของศิลปิน GTB Gothboy ที่เพิ่งแสดงงานกับเราไปในนิทรรศการ Artists on Our Radar มันเป็นงานศิลปะชิ้นเล็ก ๆ ข้างถนน ที่ให้ความรู้สึกคล้ายกับการมีห้างใหญ่มาเปิดข้างบ้าน มันเชื่อมโยงย่านที่ไม่ได้มีพื้นที่อาร์ตสเปซอะไรมากมาย ไปหาประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของรูปแบบทางศิลปะหนึ่งที่ถูกมองด้วยสายตาตั้งคำถาม (ปนหยามเหยียด) ที่สุดรูปแบบหนึ่ง

สตรีทอาร์ต (Street Art) และกราฟิตี้ (Graffiti) เป็นรูปแบบทางศิลปะที่อยู่ใกล้ตัวเราสุด ๆ แต่ก็ดูห่างไกลทางความคิดเหลือเกิน มันเป็นรอยฉีดรอยพ่นหรือแต้มสีเปื้อนอยู่ตามข้างทาง ที่เราเดินไปเดินมาทุกวัน แต่มันก็เต็มไปด้วยข้อความ สัญลักษณ์ หรือรูปภาพ ที่เราแปลไม่ออก มันเป็นภาพจำของเด็กช่าง และภาพจำของคนดำ สองผู้ร้ายแห่งเมืองใหญ่ที่สังคมยังไม่เข้าใจดี แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นขุมทรัพย์ทางเศรษฐกิจที่เรียกนักท่องเที่ยวให้มาเดินชมเมือง

เราอยากชวนทุกคนให้ลองค่อย ๆ ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ศิลปะที่เข้าถึงได้ง่ายสุด ๆ นี้ ผ่านประวัติศาสตร์จากยุคโบราณ มาสู่นิวยอร์ก จนมาถึงกรุงเทพฯ เพื่อที่จะมองเห็นศิลปะที่อยู่รอบตัวจริง ๆ นี้ด้วยความเข้าใจ ก่อนมาชมนิทรรศการ ‘BKK WALL FESTIVAL 2024’ ซึ่งกำลังจัดแสดงผลงานของศิลปินสตรีทอาร์ทและกราฟิตี้ไทยอยู่ที่ MMAD MASS GALLERY กันในวันที่ 1 เมษายน - 2 มิถุนายน 2567 นี้

ถ้าพร้อมแล้ว ก็เปิดเพลงฮิปฮอปให้ดังลั่นบ้าน แล้วก็ย้อนเวลามาด้วยกันได้เลย

‘ไกอุซมาเยือน’ ความมือบอนของมนุษย์ ก่อนยุครุ่งเรืองของสีสเปรย์

ก่อนจะมาถึงนิวยอร์ก เบอร์ลิน หรือกรุงเทพฯ ประวัติศาสตร์ของกราฟิตี้จริง ๆ แล้วอาจจะต้องเริ่มกันที่ผนังถ้ำยุคโบราณ ก็เพราะการขีดเขียนกำแพงเป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติมาตั้งแต่แรก เหมือนกับนิสัยเจ้าประกาศศักดา ที่ดูเหมือนจะมีมาอยู่ในสายเลือดเผ่าพันธุ์เราจริง ๆ

ในทางโบราณคดี “graffito” คือคำเรียกของการขีดข่วนใด ๆ ก็ตามบนพื้นผิวของผนังหรือกำแพงให้เป็นรอย ซึ่งผลงานสมัยนั้นก็มีตั้งแต่รูปภาพการล่าสัตว์ไปจนถึงถ้อยคำภาษา ที่บางครั้งก็เป็นการสื่อสารเรื่องราวทั่วไป บางครั้งก็ชวนให้นึกถึงข้อความตามประตูห้องน้ำสมัยนี้เหลือเกิน

อย่างกราฟิตี้ (หรือ Graffitio) ที่สำคัญของช่วงไม่กี่ร้อยปีแรกของคริสตกาล (เกือบสองพันปีที่แล้ว) คือ ‘Alexamenos graffito’ ที่ว่ากันว่าเป็น “ภาพแรก” ที่จารึกการตรึงกางเขนของพระเยซู ก็ยังเป็นการเขียนในโทนลบหลู่ สลักพระเยซูเป็นหัวลา พร้อมกับชายคนหนึ่ง พร้อมกับเขียนล้อเลียนไว้ว่านายอเล็กซ์ฯ คนนี้บูชาพระเจ้า (หัวลา) ของเขาอยู่

หรืออีกชิ้นที่ย้อนไปได้ไกลกว่านั้นอีกในช่วงเกือบร้อยปีก่อนคริสตกาล ที่เมืองปอมเปอี ก็มีกราฟิตี้ที่แสนจะเรียบง่าย เป็นถ้อยคำใจความว่า “Gaius Pumidius Diphilus was here” หรือที่เราอยากแปลว่า “ไกอุซมาเยือน” ซึ่งนับเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดชิ้นหนึ่งของถ้อยคำที่มนุษย์ผลิตซ้ำมากที่สุด อย่างที่กลายเป็น “มีม” ขึ้นมาจริง ๆ จัง ๆ ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองกับคาแรกเตอร์คิลรอย (Kilroy was here) ที่มักจะมาเยือนกับหัวล้านและจมูกโต

‘นิวยอร์กสไตล์’ กับคำถามว่าด้วย “ศิลปะหรืออาชญากรรม”

ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของกราฟิตี้และสตรีทอาร์ทมักจะเริ่มต้นกันที่ชายชาวกรีกคนหนึ่ง ผู้ฝากชื่อของเขาไว้กับลายเซ็นทั่วมหานครนิวยอร์กว่า ‘Taki183’ และทำให้รูปแบบผลงานที่เรียกว่าแท็ก (Tag) เริ่มได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ

เขาไม่ใช่คนแรกที่ทำอย่างนี้ (โดยเฉพาะถ้านับว่าไกอุซและคิลรอยก็ทำมาก่อนในอดีต) แต่เขาเป็นคนที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์การเขียนชื่อด้วยปากกามาร์กเกอร์ลงบนสถานี(และ)รถไฟใต้ดิน ซึ่งสร้างความฉงนให้กับผู้คนจนหนังสือพิมพ์ต้องทำข่าวเขาในปี 1971

“แท็ก” เป็นรูปแบบที่ซื่อตรงที่สุดรูปแบบหนึ่งของงานกราฟิตี้ คือการเขียนเพียงแค่ “ชื่อ” ของตัวเองลงไปตรง ๆ กับผนังในพื้นที่สาธารณะ โดยที่ชื่อเหล่านั้นก็เป็นเหมือนนามแฝง อย่างเช่นในกรณีของ Taki183 นั้น ตัวเลขข้างหลังมาจากถนนที่เขาอยู่แค่นั้นเอง

การแท็กของ Taki183 เป็นหนึ่งในหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์กราฟิตี้ เพราะมันนำมาสู่การลุกลามของผลงานแบบนิวยอร์กสไตล์ (New York Style) กับวัฒนธรรมการบอมบ์ (Bombing) หรือการเขียนชื่อ และจากปากกามาร์กเกอร์ เหล่าศิลปินข้างถนนแห่งมหานครนิวยอร์กก็เริ่มหันมาใช้เทคนิคสีสเปรย์ และสร้างงานขนาดใหญ่ขึ้นที่เรียกกันว่าพีซ (Piece หรือ Masterpiece) ที่เพิ่มมิติความหนาและรายละเอียดสีสันต่าง ๆ เข้าไปในตัวอักษรของพวกเขาอีก พวกเขาดัดแปลงหัวพ่นด้วยตัวเองโดยใช้หัวพ่นแบบต่าง ๆ เช่นน้ำยาทำความสะอาดเตาอบ น้ำยาซักผ้า ฯลฯ มาถึงจุดนี้ กราฟิตี้ดูเหมือนจะเป็นรูปแบบศิลปะที่มีสไตล์ชัดเจนแล้ว คือการพ่นสีสเปรย์เป็นตัวอักษรนามแฝงของศิลปินเอง

ในแง่หนึ่ง กราฟิตี้ในนิวยอร์กเป็นโลกใต้ดินที่ให้ผู้คนได้ปลดปล่อยตัวตน มันเป็นภาษาของคนดำ ของวัฒนธรรมฮิปฮอป และผู้คนที่ถูกกดทับด้วยอำนาจในนามกฎหมาย และถ้าไม่ถูกกลืนหายไปกับเมืองจนล่องหน ก็ถูกปฏิบัติอย่างแบ่งแยก และกราฟิตี้เองก็ต้องเจอกับคำถามคลาสสิกที่ว่า “มันคือศิลปะหรือไม่” เหมือนกันในยุค 70s โดยมีเสียงค้านจากฝ่ายรัฐว่ามันจะไปใช่ได้ยังไง และฝ่ายนักวิจารณ์ศิลปะอย่าง Norman Mailer ที่เขียนความเรียงชิ้นสำคัญขึ้นมาคือ ‘The Faith of Graffiti’ ให้เห็นว่ากราฟิตี้เป็นศิลปะ ในขณะที่ฝ่ายตำรวจเองก็มองว่ามันเป็นอาชญากรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจลามไปสู่อาชญากรรมใหญ่ ๆ หรือทำให้บริเวณนั้นเป็นย่านอาชญากรรมเลยก็ได้

กระแสบูมของกราฟิตี้ในนิวยอร์กช่วงนี้ทำให้ โลกได้รู้จักกับศิลปินแบบใหม่ที่เรียกกันว่า Graffiti Writer ซึ่งสร้างสรรค์งานศิลปะในรูปแบบที่ต่างออกไปจากการสร้างรอยเปรอะเปื้อนเพียงเท่านั้น แต่เป็นกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตอยู่ภายในวัฒนธรรมกลุ่มย่อย ที่มีภาษาและสไตล์ของตัวเอง ก่อนจะมีการพัฒนาแนวคิดวิธีการและเทคนิคที่แตกต่างออกไปจากการเขียนตัวอักษร ไปเป็นงานภาพที่มีความซับซ้อน (ใช้เวลาทำนาน) เช่นงานคาแรกเตอร์เพนต์ต่าง ๆ ทดลองใช้สีต่างชนิดมากขึ้นที่ไม่ใช่แค่สีสเปรย์ จนกลายเป็นรูปแบบศิลปะอีกตระกูลที่เรียกกันว่า Street Art

ยุคสมัยแห่งการลุกฮือของผู้ถูกกดขี่

มาถึงตรงนี้ต้องขอตัดภาพไปที่ส่วนอื่นของโลกสักนิด เพราะช่วงปี 70s และลามมาถึงปี 80s คือยุคสมัยแห่งการปะทะกันทางอุดมการณ์ที่รุนแรงไปหมด และทำให้กราฟิตี้เองเป็นรูปแบบการแสดงออกที่เกิดขึ้นเต็มไปหมดเหมือนกัน ภายใต้บรรยากาศของสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต โลกได้เห็นกำแพงเบอร์ลินในปี 1961 ตั้งขึ้นขวางคนสองฝั่งเมืองให้ตัดขาดออกจากกัน ซึ่งปัจจุบันหลังกำแพงถล่มลงแล้วเราก็เห็นถ้อยคำประท้วงมากมายรวมไปถึงผลงานแบบสตรีทอาร์ท ที่พัฒนาจากการเขียนเพียงตัวอักษรแบบกราฟิตี้ ไปสู่การวาดภาพ เช่น ‘My God, Help Me to Survive This Deadly Love’ ที่เป็นภาพของจูบแบบชาวคอมมิวนิสต์ระหว่างชายสองคนในกำแพงฝั่งเบอร์ลินตะวันออก

เช่นเดียวกับการลุกฮือของขบวนการฝ่ายซ้ายที่ปะทุขึ้นทั่วโลก ซึ่งเต็มไปด้วยคำขวัญติดหู เช่นที่ฮิตสุด ๆ คือ “อยู่กับความเป็นจริง — ถามหาสิ่งที่เป็นไปไม่ได้!” (Soyez réalistes — demandez l'impossible!) หรือ “การสั่งห้ามเป็นสิ่งต้องห้าม!” (it is forbidden to forbid — Il est interdit d'interdire!) สโลแกนของการลุกฮือในช่วงพฤษภาฯ 1968 ในฝรั่งเศส ซึ่งทั้งถูกตะโกนและถูกพ่นอยู่ในช่วงการชุมนุม

ลายเส้นริมถนนเหล่านี้เป็นอีกเส้นเรื่องที่เกิดขึ้นคู่ขนานไปกับโลกของกราฟิตี้ที่รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมฮิปฮอปในสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าเจ้าของร่องรอยเหล่านี้จำนวนมากก็คงไม่ได้นิยามตัวเองเป็นนักพ่นกราฟิตี้หรือศิลปินสตรีทอาร์ท แต่สำหรับพวกเขา ผืนผนังกำแพงก็เป็นทั้งเวทีให้แสดงออกและสนามต่อสู้ที่ชวนให้นึกถึงจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ศิลปะบนท้องถนนอยู่ดี

จากสตรีทสู่อาร์ทสเปซ

คอศิลปะหลาย ๆ คนคงจะคุ้นกับภาพรก ๆ สีสันแรง ๆ ของ Jean-Michel Basquiat และตัวการ์ตูนเรียบง่ายแบบดูเดิลของ Keith Haring เป็นอย่างดี แต่ก่อนจะมีผลงานมูลค่าหลักล้านอย่างทุกวันนี้ พวกเขาทั้งสองก็เกิดมาจากท้องถนนแห่งมหานครนิวยอร์กเหมือนกัน

สำหรับ Keith Haring เทคนิคที่เขาใช้ทำงานคือชอล์คสีขาวที่สร้างความโดดเด่นชัดเจนอย่างมาก บนพื้นหลังของช่องโฆษณาตามสถานีรถใต้ดินต่าง ๆ ก็มีหน้าตาเหมือนกับกระดานดำ ผลงานของเขาในช่วงนี้มีลักษณะ “ลองเล่น” เป็นอย่างมาก แต่ที่สำคัญเลยคือแท็กของเขา ที่ไม่ได้เป็นชื่อเหมือนกับศิลปินกราฟิตี้ทั่วไป แต่เป็นเจ้า “Radiant Baby” เด็กเรืองแสงที่มักจะมากับหมาขี้เห่าและหัวใจขนาดยักษ์ จนทำให้เขาป๊อบไปทั้งเมืองในที่สุด

เช่นเดียวกับ Jean-Michel Basquiat ศิลปินผิวดำที่สร้างคาแรกเตอร์ SAMO© (หรือ “same old shit”) กับ Al Diaz เพื่อนของเขา ผลงานของพวกเขาทำให้ “สตรีทอาร์ท” เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ ในฐานะศิลปะที่มีภาษา มีเทคนิค และวัฒนธรรมของตน โดยไม่ได้จำกัดแค่การเขียนตัวอักษรเหมือนกับกราฟิตี้ แต่มีทั้งการวาดภาพ งานสติกเกอร์ งานโปสเตอร์ ไปจนถึงการพ่นลายฉลุเหมือนที่ศิลปินรุ่นหลังอย่าง Banksy ทำ

จุดพีคของสตรีทอาร์ทช่วงนี้คือนิทรรศการที่ ‘The Houston Bowery Wall’ หรือกำแพงบาวเวอรี่ กำแพงคอนกรีตย่านแมนฮัตตันที่ Keith Haring ไปวาดภาพขนาดใหญ่ไว้ตั้งแต่ปี 1982 และกลายมาเป็นจุดศูนย์รวมของศิลปินสตรีทมากมายสลับกันเข้ามาทำงาน จนกระทั่งมันมีมูลค่าขึ้นมาพอให้เกิดการทำงานแบบจ้างงานหรือคอมมิชชันในที่สุด

ทั้ง Jean-Michel Basquiat และ Keith Haring สร้างแรงกระเพื่อมที่สำคัญต่อวงการสตรีทอาร์ท ด้วยการจัดแสดงนิทรรศการในแกลเลอรี่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเปิดรับศิลปะและเหล่าศิลปินจากท้องถนนในวงการศิลปะกระแสหลักมากขึ้นเรื่อย ๆ

กลิ่นไอการเมืองในลมหายใจของสตรีทอาร์ท©

เดิมทีชาวสตรีทก็มีการทำงานนอกถนนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะกับเพื่อน ๆ ในกลุ่มเองหรือโปรเจกต์ที่พัฒนามาจากงานข้างถนน อย่างศิลปินกราฟิตี้ Eric Haze ที่ทำปกอัลบั้มให้แก๊งฮิปฮอปอย่าง Beastie Boys และ Public Enemy หรือแบรนด์ OBEY ที่วันนี้ใครเห็นโลกโก้ก็จำได้ ก็มีที่มาจากโปรเจกต์สมัยเรียนของ Shepard Fairey ที่เป็นสติกเกอร์และงานพ่นภาพจากลายฉลุในชื่อ “Andre the Giant Has a Posse”

ในช่วง 1990s - 2000s สตรีทอาร์ทก้าวเข้าสู่โลกศิลปะกระแสหลักอย่างเป็นทางการ ผลงาน “Hope” ที่ Shepard Fairey ทำเพื่อสนับสนุนโอบามาในการเลือกตั้งปี 2009 ได้รับการสะสมอยู่ในแกลเลอรี่แห่งชาติในสหรัฐฯ ผลงาน “Di-Faced Tenner” ที่ Banksy ศิลปินสตรีทชื่อดังแห่งยุคเอาภาพเจ้าหญิงไดอาน่ามาใส่ในแบงค์สิบปอนด์แทนพระราชินีฯ ถูกประมูลไปด้วยมูลค่าสูงสุดถึง £24,000 (ประมาณหนึ่งล้านบาทในปัจจุบัน) เมื่อปี 2004

Fairey และ Banksy เป็นภาพสะท้อนหนึ่งของศิลปินสตรีทรุ่นใหม่ ที่ผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในทางคุณค่าและมูลค่า แต่สิ่งหนึ่งที่ยังอยู่กับพวกเขาเสมอก็คือเนื้อหาทางการเมือง ไม่ต่างกับงานกราฟิตี้ในยุคแรกเริ่ม

ศิลปินเด็กช่างและศิลปะเพื่อสังคม ปรากฏการณ์ที่หลากหลายของสตรีทอาร์ทแบบไทย ๆ

ถ้าพูดถึงกราฟิตี้ไทย เชื่อว่าภาพแรกที่หลายคนนึกถึงคงเป็นถ้อยคำแบบ “xxx มาเยือน” หรือ “xxx พ่อทุกสถาบัน” แน่นอน ซึ่งในแง่หนึ่ง ผลงานกลุ่มนี้ก็เป็นดังประวัติศาสตร์คู่ขนานของกราฟิตี้และสตรีทอาร์ทไทย ที่เติบโตมาก่อนอิทธิพลของดนตรีและวัฒนธรรมฮิปฮอป รวมไปถึงไลฟ์สไตล์ที่มากับการเล่นกีฬาเอกซ์ตรีม

กราฟิตี้ใน “ยุคบุกเบิก” ของไทย ตั้งแต่ช่วงปลาย 1990s ถึง 2000s เป็นต้นมา มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม Street Crew อย่าง BNA Crew และ PMT Crew ซึ่งสมาชิกแต่ละคนจะมีแท็กที่ลงท้ายด้วยชื่อกลุ่มเสมอ Pakorn หนึ่งในศิลปินกราฟิตี้ยุคบุกเบิกของไทยจากกลุ่ม BNA Crew เคยเล่าบรรยากาศไว้ว่า เขาเริ่มสนใจกราฟิตี้จากการเล่นสเก็ตบอร์ด การได้เสพสื่อเสพวัฒนธรรมจากต่างประเทศ โดยมักจะเป็นงานตัวหนังสือหรือฟอนต์ ที่มีคาแร็กเตอร์ด้วยบ้าง จนมีการพัฒนาสไตล์ขึ้นเป็นแบบสามมิติด้วย โดยสถานที่พ่นนอกจากท้องถนนแล้ว ก็จะเป็นงานตกแต่งร้านเหล้า

อีกกลุ่มที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของกราฟิตี้ไทยเลยก็คือ ESA CREW ที่ตั้งใจทำงานประเภทพีซ ที่ต้องใช้เวลาและความละเอียดมากกว่างานบอมบ์ จึงเป็นการทำงานแบบขอเจ้าของพื้นที่ก่อนเสมอ เพื่อให้ใช้เวลาได้นาน และทำให้งานกราฟิตี้เป็นที่ยอมรับในสังคมไทยด้วย

กราฟิตี้ไทยเองก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์กราฟิตี้โลก มันมีทั้งการประกาศศักดาเหนืออาณาเขต คาแรกเตอร์กวน ๆ ที่บางทีก็เสียดสีสังคม บางทีก็เล่าเรื่องส่วนตัวของศิลปินเอง และก็เช่นเดียวกัน ที่บรรดาจุดยุทธศาสตร์ทางการเมืองทั้งหลายจะเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของเหล่าศิลปินข้างถนน ไม่ว่าจะเป็นตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้กีดขวางในพื้นที่การชุมนุม ไปจนถึงกำแพงวัง ไม่ต่างกับที่เกิดขึ้นบนกำแพงเบอร์ลินหรือกำแพงที่เวสต์แบงค์ของอิสราเอลที่ Banksy ไปฝากผลงานมา

และนิทรรศการที่เป็นหมุดหมายสำคัญเลยของกราฟิตี้และสตรีทอาร์ทในไทย ก็คืองาน ‘FOR 2 wallpainting’ ที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ ซึ่งได้ศิลปิน “หลังกราฟิตี้” (Post-graffiti) 16 คนมาแสดงผลงานร่วมกันเมื่อปี 2554 โดยเป็นงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับศิลปินที่ปัจจุบันกลายเป็นตำนานมากมายอย่างเช่น Rukkit, Yuree, รวมไปถึง MAMAFAKA เจ้าของ Mr.Hell Yeah! ผู้ล่วงลับ

ศิลปินอย่าง Alex Face เองก็เป็นหนึ่งในคนที่เติบโตมาจากการทำงานศิลปะข้างถนน จนเข้าสู่วงการศิลปะด้วยการจัดนิทรรศการในแกลเลอรี่ โดยที่ยังไม่ทิ้งการทำงานร่วมกับชุมชนสตรีทอื่น ๆ อย่างเช่นผลงานศิลปะบนหน้าปกซิงเกิล “ประเทศกูมี” เพลงที่สร้างแรงสะเทือนทางการเมืองได้เข้มข้นจากแก๊ง Rap Against Dictatorship

ปัจจุบันสตรีทอาร์ทในไทยอาจไม่ได้มีภาพที่น่ากลัวเท่าอดีตอีกแล้ว รวมทั้งไม่ได้ต้องมีท่าทีท้าทายผู้มีอำนาจอีกด้วย โครงการอย่าง “บุกรุก” ที่ศิลปินไทยและต่างชาติเกือบ 30 คน เช่น TRK, P7, Hattie Stewart, Tawan และ Lee กระจายตัวกันไปสร้างสรรค์ผลงานทั่วกรุงเทพฯ แบบได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง แสดงให้เห็นว่าสตรีทอาร์ทมีศักยภาพอย่างไรในการเปลี่ยนพื้นที่ที่อาจจะเคยทรุดโทรม ให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างมีความสร้างสรรค์

นอกจากนี้ก็ยังมีสตรีทอาร์ทเพื่อการท่องเที่ยว ที่นำโดยหน่วยงานราชการเอง อย่างเช่น “สตรีทอาร์ทสงขลา” ที่นำโดย เทศบาลนครสงขลา ร่วมกับการท่องเที่ยวและกีฬา จ.สงขลา เปลี่ยนบรรยากาศย่านถนนนางงามให้ดูมีความย้อนยุค ให้ผู้คนจดจำความเป็นมาในอดีตของชุมชน

อนาคตของท้องถนน

ปัจจุบันในไทยเองชาวสตรีทก็ยังคงสร้างผลงานกันอยู่สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะในพื้นที่แกลเลอรี่หรือตามท้องถนน อย่างเช่นสองศิลปินชาว EB Crew ก็เพิ่งแสดงงาน ‘Ghidorah’ ไปที่ JWD artspace หรือล่าสุด Alex Face ก็ได้ไปพ่นอาคารเก่าที่ปิดร้างไปหลายปีอย่างหอศิลป พีระศรี กับโปรเจกต์ Revitalizing Bangkok

พวกเรา GroundControl เองก็กำลังตื่นเต้นกับ “BKK WALL FESTIVAL 2024” เฟสติวัลที่จะนำเสนอสตรีทอาร์ทและกราฟิตี้ในประเทศไทย กับศิลปินมากมายที่จะมาวาดมาพ่นและมาจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ MMAD MASS GALLERY ในวันที่ 1 เมษายน - 2 มิถุนายน 2567 นี้

ถ้าอยากรู้ว่าซีนสตรีทตอนนี้เป็นอย่างไรกันแล้ว ก็มาเจอกับพวกเรากันได้ แล้วอาจจะทำให้มุมมองที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ รอบเมืองของเราเปลี่ยนไป

อ้างอิง
https://sure.su.ac.th/xmlui/handle/123456789/20428
https://en.wikipedia.org/wiki/Graffiti_in_the_United_States
https://en.wikipedia.org/wiki/Street_art
https://www.sprayxbrush.com/pakorninterview/

ภาพจาก
https://topicstock.pantip.com/home/topicstock/2009/11/R8527840/R8527840.html
https://www.facebook.com/photo/?fbid=127365112522050&set=a.108707007721194
https://www.facebook.com/Bukrukfestival
https://erichazenyc.com/portfolio/album-covers/
https://en.wikipedia.org/wiki/Graffiti#/media/File:Jesus_graffito.jpg
https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Kilroy_Was_Here_-_Washington_DC_WWII_Memorial_-_Jason_Coyne.jpg
https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Pompei_(28789346550).jpg
https://www.flickr.com/photos/vandalog/5647256362
https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Graffiti_in_the_United_States_in_the_1970s
https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Graffiti_in_Berlin-Kreuzberg
https://www.artsy.net/artist/jean-michel-basquiat
https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Keith_Haring
https://en.m.wikipedia.org/wiki/File:Obey_in_Tbilisi.jpg
https://www.artsy.net/artist/banksy
https://www.graffiti.org/esa/index.html
https://www.facebook.com/profile.php?id=100063714663084&locale=th_TH
https://www.facebook.com/baccpage/?locale=th_TH
https://www.facebook.com/rapagainstdictatorship?locale=th_TH