history of zines cover web.jpg

History of Zines ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของสิ่งพิมพ์เล็ก ๆ แต่ขับเคลื่อนสังคมอย่างมหาศาล

Post on 26 November

เดือนกันยายน ปี 1980 เทอร์รี โจนส์ อดีตนักศึกษากราฟิกดีไซน์ที่เรียนไม่จบ แต่ฝีมือดีจนถูกจีบให้มารับตำแหน่งอาร์ตไดเรกเตอร์ของนิตยสาร British Vogue ถืองานดีไซน์ส่วนตัวเดินไปในร้านปรินต์บ้าน ๆ บนถนนพอตโตเบลโลของกรุงลอนดอน และในเวลาเพียงอึดใจเดียว นิตยสาร i-D ฉบับแรกก็ถือกำเนิดขึ้นในรูปแบบของ ‘ซีน’ (Zine) เย็บมือง่าย ๆ แต่สุดขีดคลั่งด้วยการถ่ายทอดจิตวิญญาณความขบถของชุมชนพังก์ ผ่านภาพถ่ายแฟชั่นตกขอบที่ไม่มีทางได้ไปอยู่บน British Vogue หรือโว้ก รวมไปถึงการถ่ายทอดเรื่องราวในชุมชนดนตรีใต้ดินสุดเปรี้ยวที่พ่อแม่ยุคนั้นไม่ปลื้ม และการตั้งตัวเป็นสิ่งพิมพ์นอกกรอบที่ชูนิ้วกลางใส่บรรดานิตยสารแฟชั่นกระดาษมันของวัฒนธรรมกระแสหลัก

ในเวลาต่อมา i-D ที่เคยเป็นเพียงซีนจากเครื่องพิมพ์ดีด เย็บแม็กธรรมดา ๆ และแบ่งกันอ่านเฉพาะในกลุ่มซับคัลเจอร์ของคนรักความพังก์ จะกลายเป็นหนึ่งในนิตยสารแฟชั่นที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก และขึ้นมายืนประจันหน้ากับ Vogue ในฐานะนิตยสารของวัยรุ่นหัวก้าวหน้าที่มี ‘เทสต์’ แตกต่างเฉพาะตัว

i-D ไม่เพียงเป็นตัวอย่างของพลังแห่งการคิดนอกกรอบ แต่มันยังเป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังของสิ่งที่เรียกว่า ‘ซีน’ สิ่งพิมพ์ทำมือที่ตัดสายสะดือด้วยพลังแห่ง ‘คอมมูนิตี้’ และพลังของการรวมตัวของกลุ่มคนที่เชื่อในสิ่งเดียวกัน จนกลายเป็นซับคัลเจอร์ที่เคลื่อนไหวอย่างไม่กระโตกกระตาก แต่รู้ตัวอีกที เราก็พบว่าความเชื่อและความคิดของพวกเขากำลังหมุนโลกไปในทิศทางใหม่แล้ว

ซีนไม่ได้เพิ่งเกิด และนับจากวันที่มันถือกำเนิดขึ้นมา มันก็ไม่เคยหายไปไหน แม้กระทั่งในยุคการมาถึงของอินเทอร์เน็ตที่ส่งผลต่อการล้มหายตายจากของนิตยสาร ผู้คนต่างเชื่อว่าสิ่งพิมพ์ตายไปแล้ว แต่วัฒนธรรมการทำซีนกลับยังคงเข้มแข็ง มันยังคงปรากฏตัวเป็นดาวเด่นในงานมหกรรมสิ่งพิมพ์หรือหนังสือศิลปะในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก

เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ซีนเป็นเพียงผลลัพธ์ของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น นั่นก็คือความกระหายที่จะแสดงออกทางความคิดของผู้คน และความต้องการที่จะสร้างสื่อกลางเพื่อสื่อสารภายในกลุ่มหรือชุมชนที่มีความเชื่อแบบเดียวกัน ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะแค่แฟชั่น ดนตรี หรือภาพยนตร์ แต่รวมไปถึงความคิดทางการเมือง สิทธิสตรี ความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ และการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือสังคมอันอัตคัดคับแคบ

ในโอกาสที่หนึ่งในงานรวมตัวของคนทำซีนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอย่าง Bangkok Art Book Fair 2022 กำลังจะมาถึงในวันที่ 25-27 พฤศจิกายนนี้ โดยที่พวกเขายังร่วมมือกับชุมชนคนทำงานสิ่งพิมพ์และหนังสือศิลปะในเมืองอื่น ๆ อย่าง ไทเป, สิงคโปร์, กัวลาลัมเปอร์ และเซี่ยงไฮ้ ด้วยการส่งต่อหนังสือที่ได้รับเลือกให้ร่วมจัดแสดงในแต่ละเมือง เราจึงอยากชวนทุกคนกลับไปสำรวจที่มาที่ไปและพลังของสิ่งพิมพ์เล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่อย่าง ซีนด้วยกัน

Amateur Press แฟนด้อมและดิสคอร์ดที่มาก่อนกาล

แม้ว่าคำว่า ‘ซีน’ เพิ่งจะถูกบัญญัติลง Oxford English Dictionary อย่างเป็นทางการ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นผลมาจากความเฟื่องฟูของวิถีการทำนิตยสารทำมือในกลุ่มคนรักนิยายไซไฟ แต่ที่จริงแล้ว ต้นกำเนิดของซีนย้อนกลับไปได้ถึงช่วงศตวรรษที่ 19 อันเป็นยุครุ่งเรืองของ ‘Amateur Press’

Amateur Press คือระบบการตีพิมพ์และจัดส่งนิตยสารเล่มเล็กของกลุ่มสำนักพิมพ์สมัครเล่น ที่ทำขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในหมู่ผู้อ่านที่มีความสนใจเฉพาะร่วมกัน ตั้งแต่บทกวี นวนิยายไซไฟ เรื่องผี ไปจนถึงการ์ตูนในยุคหลัง โดยสำนักพิมพ์สมัครเล่นเหล่านี้แยกตัวจากสิ่งพิมพ์กระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร ด้วยการเป็นสิ่งพิมพ์ที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดและความสนใจในประเด็นเฉพาะเจาะจง หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นสิ่งพิมพ์สำหรับ ‘แฟนด้อม’ โดยเฉพาะ โดยทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการทำนิตยสารเล่มเล็กเหล่านี้ได้ง่าย ๆ ด้วยการส่งต้นฉบับ ข้อคิดเห็น หรือผลงานเขียนในประเด็นนั้น ๆ มายัง ‘คนกลาง’ หรือกลุ่มคนทำ Amateur Press ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นคนรวบรวมผลงานทั้งหมดมาตีพิมพ์ ซึ่งวิธีการตีพิมพ์ก็จะทำด้วยกระบวนการที่ง่ายที่สุด ถูกที่สุด เพื่อเป็นการลดต้นทุน ในภายหลัง วิธีการปรินต์แบบหยาบเพื่อจำกัดต้นทุนเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นเสน่ห์ของงานปรินต์ที่คนทำซีนในปัจจุบันยังคงนิยมใช้กัน เช่น การซีร็อกซ์ การพิมพ์ออฟเซ็ต หรือการพิมพ์ไรโซกราฟด้วยสีไม่กี่สี เป็นต้น

ลักษณะการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่สนใจเฉพาะกลุ่มเช่นนี้ก็ทำให้ Amature Press เป็นเหมือนกับกระดานโต้ตอบของกลุ่มแฟนด้อมที่เราคุ้นเคยกันในโลกโซเชียลในปัจจุบัน นอกจากวิธีการส่งความคิดเห็นมายังคนกลางแล้ว ยังมีบางกลุ่มที่ใช้วิธีการส่งต่อจดหมายแลกเปลี่ยนความคิดในรูปแบบของจดหมายเวียน คือเมื่อคนหนึ่งได้รับข้อเขียนมาแล้ว ก็จะเติมความคิดเห็นของตัวเองที่มีต่อข้อคิดในหัวข้อนั้น ๆ แล้วส่งต่อให้คนถัดไป (ลักษณะเหมือน ‘Thread’ ของ Twitter ในปัจจุบัน) ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนสมาชิกทุกคนได้แสดงความคิดเห็นครบแล้ว ก็อาจมีการนำไปรวมเล่มแล้วพิมพ์แจกจ่ายในกลุ่มต่อไป

ลักษณะการต่อจดหมายเช่นนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Round Robin’ โดยส่วนใหญ่มักใช้กันในกลุ่มนักเขียนมือสมัครเล่นที่ใช้จดหมายเวียนในการต่อแต่งเรื่องต่อกันไปเรื่อย ๆ พูดง่าย ๆ ว่าเป็นเหมือนแฟนฟิครุ่นบุกเบิกนั่นเอง

Little Magazine สิ่งพิมพ์ของคนชายขอบ

หนึ่งในหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์สิ่งพิมพ์ รวมถึงประวัติศาสตร์วรรณกรรม เกิดขึ้นในช่วงยุค 1920s เมื่อกระแสการเรียกร้องสิทธิของคนผิวสีเริ่มเบ่งบานในสังคมอเมริกัน และ ‘ซีน’ สิ่งพิมพ์ราคาถูกที่มีอานุภาพในการส่งต่อความคิดได้อย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง ได้กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือการส่งเสียงของคนชายขอบที่ถูกกีดกันจากสื่อกระแสหลักอย่างนิตยสารและหนังสือพิมพ์ด้วยเหตุผลเรื่องเฉดสีผิว

Harlem Renaissance คือชื่อเรียกกระแสความเคลื่อนไหวด้านศิลปะที่เกิดขึ้นในยุค 1920s โดยมีศูนย์กลางหลักอยู่ในย่านฮาร์เลม แมนฮัตตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยของคนอพยพ โดยเฉพาะคนผิวดำที่ย้ายถิ่นฐานจากตอนใต้ขึ้นมาทางเหนือในช่วงยุค 1870s เพื่อหลีกหนีจากการกดขี่และมุ่งหมายเอาชีวิตของคนผิวขาวหัวรุนแรงทางตอนใต้อย่างกลุ่ม Klu Klux Klan

แม้ว่าเวลาจะผ่านมาหลายทศวรรษ แต่ความทรงจำของพ่อแม่ที่ต้องถูกกดขี่และหนีตายยังคงถูกส่งต่อให้ลูกหลาน Harlem Renaissance จึงเกิดขึ้นด้วยเป้าหมายเพื่อเชิดชูรากและเรื่องราวของคนผิวดำผ่านวรรณกรรม ดนตรี และแฟชั่น ประยุกต์เข้ากับแง่มุมศิลปะร่วมสมัย (ในยุคนั้น) จนกลายเป็นศิลปะรูปแบบเฉพาะที่นำเสนออัตลักษณ์ของคนดำรุ่นใหม่ ซึ่งทำให้พวกเขาเรียกตัวเองอย่างภาคภูมิใจว่า ‘New Negro’

หนึ่งในคุณูปการสำคัญของกลุ่ม Harlem Renaissance คือการพลิกโฉมหน้าวงการวรรณกรรมอเมริกัน โดยเฉพาะการทำนิตยสาร ซึ่งพวกเขามองว่านิตยสารไม่ควรเป็นพื้นที่สงวนไว้แค่เรื่องชวนหัวเบาสมอง เรื่องซุบซิบ หรือเรื่องแต่งและบทกวี แต่ควรเป็นพื้นที่ที่นำเสนอความคิดเห็นในประเด็นซีเรียสจริงจัง โดยเฉพาะด้านสังคมและการเมือง ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงได้ร่วมกันก่อตีพิมพ์ ‘Little Magazine’ หรือนิตยสารขนาดเล็ก แต่นำเสนอประเด็นหนักแน่น โดยเฉพาะความเรียงเรื่องสีผิว งานเขียนทดลองที่แหกขนบวรรณกรรมที่เคยถูกตั้งบรรทัดฐานโดยคนผิวขาวชนชั้นนำ ไปจนถึงการวิพากษ์วิจารณ์วิจารณ์ทางการเมือง โดยพวกเขาไม่เพียงวิพากษ์คนผิวขาวเท่านั้น แต่ยังวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำของกลุ่ม ไปจนถึงนักการเมืองผิวดำที่ได้เข้าไปนั่งในสภาด้วย

เหนือสิ่งอื่นใด เป้าหมายสำคัญของการเผยแพร่นิตยสารเล่มเล็กเหล่านี้ยังเป็นการมุ่งนำเสนอเสียงของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่มีใครรับฟัง โดยเฉพาะงานเขียนของนักเขียนผิวดำรุ่นใหม่ที่มักถูกด้อยค่าที่โอกาสการแจ้งเกิดในแวดวงวรรณกรรมกระแสหลักแทบจะเป็นไปไม่ได้ พร้อมเปิดพื้นที่ให้ศิลปินผิวดำในท้องถิ่นต่าง ๆ ได้ฉายแสง

หนึ่งในนิตยสารเล่มเล็กที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของกลุ่ม Halem Rainessance ก็คือ Fire!! (แม็กกา) ซีนสุดเปรี้ยวที่ไม่เพียงนำเสนอประเด็นสังคมและการเมืองเรื่องสีผิวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเด็นที่คนในยุคนั้นไม่มีมีใครกล้าพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเซ็กซ์ คนรักเพศเดียวกัน ไปจนถึงประเด็นเรื่องการค้าประเวณี

Punk Zine ซีนพังก์ ๆ

ซีนไม่เคยเกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยวปราศจากสภาพแวดล้อม ซีนล้วนมีต้นกำเนิดมาจากการรวมกลุ่มทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะกลุ่มวัฒนธรรมใต้ดินหรือ ‘Subculture’ และหนึ่งในซับคัลเจอร์สำคัญที่ให้กำเนิดซีนก็คือ ‘พังก์’

แม้ว่าซีนจะเป็นที่รู้จักครั้งจากการเป็นสิ่งพิมพ์ของกลุ่มแฟนด้อม โดยเฉพาะกลุ่มคนรักนวนิยายไซไฟและเรื่องผี แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่โอบรับวัฒนธรรมการทำซีนจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองก็คือกลุ่มคนรักดนตรีพังก์ ในช่วงยุค 1970s ที่ใช้การทำสิ่งพิมพ์นอกกระแสในการต่อต้านสิ่งพิมพ์และสื่อกระแสหลักของชนชั้นนำหัวสูง

สิ่งที่ทำให้พังก์และซีนกลายเป็นของคู่กัน ก็มาจากรูปแบบ ‘D.I.Y.’ ที่เป็นแก่นหลักร่วมกันของศิลปะทั้งสองแขนง ดนตรีพังก์ได้ชื่อว่าเป็นดนตรีแห่งการต่อต้านขนบ ต่อต้านทุกบรรทัดฐานทางสังคมที่พวกเขามองว่าเป็นผลิตจากนายทุนและกลุ่มคนชนชั้นนำ ดนตรีของพวกเขาจึงมักถูกสร้างด้วยของใกล้ตัว อัดเพลงในโรงรถ ทำซาวนด์กันเอง และขายกันเอง ตระเวนโชว์กันเอง แบบไม่ต้องพึ่งพาการนำของค่ายใหญ่ ดนตรีของชาวพังก์ยังสาดใส่ความบ้าคลั่ง ปลดปล่อยอารมณ์อัดแน่น และบางทีมีการก็ตะโกนข้อความทางการเมืองแบบไม่มีการประนีประนอมคนฟัง ไม่มีการใช้เทคนิคทางดนตรีเหนือชั้น เพราะพวกเขามองว่าไม่ว่าใครก็สามารถทำเพลงได้  ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ความตั้งใจที่จะไม่ยอมให้ผลงานสร้างสรรค์เป็นแค่ ‘สินค้า’ ทำเงินสำหรับกลุ่มทุนเท่านั้น

วัฒนธรรม D.I.Y. ของชาวพังก์จึงถูกปลดปล่อยออกมาผ่านการทำสิ่งพิมพ์ทำมือที่กลายเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ชั้นดีของชุมชนพังก์ใต้ดินในสมัยนั้น ซีนของชาวพังก์มักประกอบด้วยบทความรีวิวโชว์ บทสัมภาษณ์ ไปจนถึงความเคลื่อนไหวในซีนดนตรีพังก์ในท้องที่นั้น ๆ 

Queercore ซีนของชาวเรา

เมื่อถึงยุค 1980s ความนิยมในซีนพังก์ทำมือก็แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว จนกระจายตัวสู่กลุ่มซับคัลเจอร์อื่น ๆ ที่ต้องกาีจะนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายในกลุ่มของตนเอง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าซีนพังก์จะเป็นพื้นที่แห่งการปลดปล่อยตัวตนนอกขนบและการวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมกระแสหลัก แต่เมื่อย้อนกลับไปในยุคนั้นที่ประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ทั้งเพศหญิงและคนรักเพศเดียวกัน ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย พื้นที่บนซีนของชาวพังก์จึงยังไม่ค่อยเปิดกว้างให้กับผู้หญิงและชาว LGBTQ+ ได้แสดงออกถึงตัวตน รวมไปถึงการวิพากษ์สังคมชายเป็นใหญ่ที่ยังคงกดทับพวกเขาแม้ในพื้นที่ที่ดูเปิดรับความแตกต่างอย่างวัฒนธรรมพังก์ ด้วยเหตุนี้เอง ซีนที่เปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนชายขอบของวัฒนธรรมพังก์อย่างผู้หญิงและชาว LGBTQ+ จึงได้ถือกำเนิดขึ้น

Queercore คือซับคัลเจอร์ของพังก์ที่เปิดพื้นที่ให้ชาว LGBTQ+ ได้แสดงตัวตนผ่านดนตรี ภาพยนตร์ และแฟชั่น โดยมีซีนหรือสิ่งพิมพ์ทำมือเป็นเครื่องมือสำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของสมาชิกในกลุ่ม

หนึ่งในที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการผลักดันแนวคิดของชาวพังก์ที่เป็น LGBTQ+ จนส่งคุณูปการต่อขบวนการเคลื่อนไหวของ LGBTQ+ ในปัจจุบัน ก็คือซีนที่ชื่อว่า J.D.s ที่สร้างพื้นที่หยัดยืนให้ชาว LGBTQ+ ได้มีตัวตนในซีนวัฒนธรรมพังก์ที่ครอบครองโดยชายผิวขาว โดย จี.บี.โจนส์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งซีน J.D.s ได้เผยแพร่คำประกาศที่มีชื่อว่า ‘Don’t Be Gay’ ซึ่งส่งอิทธิพลต่อขบวนการเคลื่อนไหวของชาว LGBTQ+ เป็นอย่างมาก เพราะเนื้อหาในคำประกาศดังกล่าวคือการบอกให้ชาว LGBTQ+ ลุกขึ้นมาแสดง ‘ความโกรธ’ ที่อัดแน่นอยู่ในตัว จงอย่าทำตัวเป็นเหยื่อแล้วกดความรู้สึกของตัวเองไว้ เพียงเพื่อจะได้รับความเห็นใจและการยอมรับจากสังคมที่กดขี่ตัวเอง

โจนส์ยังเป็นผู้บัญญัติคำว่า ‘Queercore’ ขึ้นมาใช้ในการอธิบายอัตลักษณ์ของกลุ่ม LGBTQ+ ในซีนดนตรีพังก์ โดยตอนแรกเขาเกือบจะใช้คำว่า ‘Homocore’ แต่ก็ตัดสินใจเปลี่ยนคำว่า Homo มาเป็น Queer เพื่อไม่เพียงแบ่งแยกตัวเองออกจากกลุ่มพังก์ที่เต็มไปด้วยชายผิวขาว แต่เพื่อแบ่งแยกตัวเองออกจากกลุ่ม LGBTQ+ บนดินที่เรียกร้องสิทธิด้วยการเดินตามขนบความเป็น ‘คนดี’ ของสังคม เพื่อพิสูจน์คุณค่าในตัวเอง ในขณะที่กลุ่ม Queercore มองว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องตามใจใคร และมุ่งมั่นแสดงออกตัวเองในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านความคิด การแต่งตัว หรือการแสดงออกทางเพศอย่างเสรี

Riot Grrrl ซีนสาวสู้!

ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า แม้วัฒนธรรมพังก์จะเปิดพื้นที่ให้กับการแสดงออกของตัวตนที่ไม่เป็นไปตามขนบของสังคม แต่ก็ยังคับแคบเกินกว่าที่จะแบ่งปันพื้นที่ให้กับผู้หญิงและ LGBTQ+ เมื่อชาวเควียร์พังก์มี Queercore และ J.D.s เป็นแลนด์มาร์กของตัวเองแล้ว ผู้หญิงชาวพังก์ก็เปิดพื้นที่ให้ตัวเองบ้างด้วยมูฟเมนต์ที่ชื่อว่า Riot Grrrl

Riot Grrrl ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมพังก์และกระแสสตรีนิยมคลื่นลูกที่ 3 ในอเมริกา ที่มีเป้าหมายเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิงในทุกเชื้อชาติและสีผิว โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการเปล่งเสียงของผู้หญิงในเรื่องที่สังคมไม่อยากได้ยิน และนอกจากการใช้ดนตรีและศิลปะแล้ว อาวุธสำคัญอีกอย่างหนึ่งของ Riot Grrrl ก็คือซีน ซึ่งพวกเธอมองว่า เป็นสื่อที่ช่วยให้พวกเธอเผยแพร่อุดมการณ์ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสื่อกระแสหลัก

“เพราะผู้หญิงต้องการที่จะสร้างสื่อกลางที่พูดกับพวกเรา เราเบื่อกับวงดนตรีของผู้ชายที่สร้างมาเพื่อผู้ชาย ซีนของผู้ชายที่สร้างมาเพื่อผู้ชาย และดนตรีพังก์ของผู้ชายที่สร้างมาเพื่อผู้ชายด้วยกันเอง เพราะในทุก ๆ สื่อ ฉันต้องทนเห็นภาพตัวเอง (ผู้หญิง) ถูกตบหน้า ถูกประหาร ถูกหัวเราะใส่ ถูกด้อยค่า ถูกผลักไส ถูกละเลย ถูกแบ่งแยก ถูกเตะ ถูกดูถูก ถูกล่วงละเมิด ถูกปิดปาก ถูกทำให้ไร้ค่า ถูกแทง ถูกยิง ถูกบีบคอ และถูกฆ่า…เพราะควรมีพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้ผู้หญิงได้ตระหนักรู้และยื่นมือออกไปช่วยเหลือผู้หญิงด้วยกัน โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่ออำนาจของสังคมเหยียดเพศและเรื่องไร้สาระที่พวกเราต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน”

ด้วยการใช้สื่อที่สามัญที่สุดอย่างสิ่งพิมพ์ ชาว Riot Grrrl ใช้พื้นที่บนซีนในการถกเถียงเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน เช่น การต่อสู้กับค่านิยมเกี่ยวกับร่างกายของผู้หญิง เพศวิถี ค่านิยมทางเพศ และความรุนแรงที่ผู้หญิงต้องเจอเมื่อลุกขึ้นมาแสดงความโกรธต่อค่านิยมทางสังคมที่กดขี่ผู้หญิง

หนึ่งในซีนของ Riot Grrrl ที่ทรงอิทธิพลที่สุดคือ Bust ที่เริ่มตีพิมพ์ในปี 1993 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่ที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามของนิตยสารผู้หญิงสุดฮิตอย่าง Cosmopolitan และ Glamour นอกจากนี้ยังมี Shocking Pink ที่มีจุดประสงค์เพื่อท้าทาย ‘สายตาผู้ชาย’ หรือ ‘Male Gaze’,  BITCH Magazine ที่มีพันธกิจสำคัญเป็นการตั้งคำถามกับการนำเสนอภาพของผู้หญิงในวัฒนธรรมกระแสหลัก  

เมื่อดูจากขบวนการเคลื่อนไหวทางประวัติที่ล้วนมีซีนเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้ เราอาจสรุปได้ว่า การเป็นสิ่งพิมพ์ที่ใครก็ทำได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบการพิมพ์หรือพื้นที่สื่อกระแสหลัก คือเหตุผลที่ซีนยังไม่ตาย แม้กระทั่งในยุคเฟื่องฟูของอินเทอร์เน็ตที่คร่าชีวิตนิตยสารดัง ๆ และหนังสือพิมพ์ชื่อก้องหลายหัว แต่ซีนยังคงอยู่ยั้ง ตราบเท่าที่ ‘เรา’ มีสิ่งที่อยากจะพูด ดังที่ ชาการ์ มูจูเคียน ผู้จัดทำ The Hye-Phen ซีนที่ว่าด้วยเรื่องของชาวเควียร์และชาวทรานส์ฯ อธิบายว่า แม้ว่าในภาพรวมแล้ว ซีนจะทำหน้าที่เป็นเหมือนบล็อกออนไลน์ ในแง่ที่ทั้งสองอย่างต่างก็เป็นพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นของผู้เขียน แต่ซีนไม่เปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นแย่ ๆ อันแสนเป็นพิษ ซึ่งทุกวันนี้เว็บไซต์ต่าง ๆ ก็เต็มไปด้วยนักเลงคีย์บอร์ดที่อาจทำให้เจ้าของความคิดเห็นรู้สึกแย่

สำหรับเขาแล้ว ซีนจึงเป็น “พื้นที่แห่งการเรียกคืนอำนาจในตัวเรา เป็นที่ที่เราสามารถสร้าง ‘สื่อ’ ของตัวเอง และถ่ายทอดเรื่องราวในรูปแบบและวิธีของเราได้อย่างอิสระ” 

อ้างอิง

Brumfield, D. M. (2013). Richmond Independent Press: A History of the Underground Zine Scene. Arcadia Publishing.

Piepmeier, A. (2009). Girl zines. In Girl Zines. New York University Press.

Why the Internet Didn’t Kill Zines (Published 2017). (2022). The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2017/02/28/magazine/why-the-internet-didnt-kill-zines.html 

Wikipedia Contributors. (2022, November 21). Zine. Retrieved November 26, 2022, from Wikipedia website: https://en.wikipedia.org/wiki/Zine

Jensen, K. (2019, February 6). Get To Know The Little Magazines of The Harlem Renaissance. Retrieved November 26, 2022, from BOOK RIOT website: https://bookriot.com/harlem-renaissance-little-magazines/