FAST & FEEL LOVE เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ คือหนังเรื่องล่าสุดของผู้กำกับ เต๋อ–นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์
ถ้านับจากหนังเรื่องแรกอย่าง 36 ปัจจุบันเป็นเวลาครบ 10 ปีพอดีที่เต๋อเริ่มต้นเส้นทางอาชีพในฐานะผู้กำกับหนัง ผลงานหนังยาว 8 เรื่องคือหลักฐานอย่างดีถึงคุณภาพและความสม่ำเสมอที่เขาทำมาตลอด
แต่ถ้าย้อนไปเมื่อ 2 ปีก่อน หลังการฉายของ ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ เต๋อเพิ่งให้สัมภาษณ์ว่าตัวเองวางแผนหยุดทำหนังสักพัก เพราะหลังจากทำหนังในระดับปีละเรื่องติดต่อกันมา 7 ปี มันทำให้บางอย่างในตัวเขา ‘หมดลง’ เหมือนกัน
และด้วยเหตุนั้นเอง การมาถึงของ FAST & FEEL LOVE จึงทำให้เราแปลกใจและสงสัย
2 ปีที่ผ่านมา เต๋อหายไปทำอะไรมาบ้าง อะไรคือที่มาของความเร็วโหดของหนังเรื่องใหม่ และเหตุใดคือปัจจัยที่ทำให้หนังใหม่ของเต๋อดูต่างจากเดิม - คำถามทั้งหมดพาให้ GroundControl นัดสนทนากับเขาในบ่ายวันหนึ่ง
“มีหลายอย่างมากจริงๆ ที่ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด หรือเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันต้องเป็นยังไง” ช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์ เต๋อว่าไว้แบบนั้น
แต่การพูดคุยทั้งหมดเป็นอย่างไร ตามอ่านได้แบบไม่เร็วโหด..ในบทความ
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว คุณเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าหลังจากทำหนังมานาน อยากหยุดทำหนังสักพัก แต่ปัจจุบัน FAST & FEEL LOVE กำลังเข้าโรงฉาย ระหว่างนั้นเกิดอะไรขึ้น
หลังจาก ฮาวทูทิ้ง เราหายไปทำโฆษณามา ตอนแรกวางแผนหยุดพักโดยการไปเที่ยวน่ะแหละ แต่พอเจอโควิดก็ไม่ได้ไปไหน ทำแต่งาน จนปลายปี 2020 GDH ทักมาชวนว่ามีไอเดียสนใจอยากทำหนังไหม หลังจากได้คุยกันสุดท้ายโปรเจกต์ FAST & FEEL LOVE ก็เกิดขึ้นช่วงต้นปี 2021
ดังนั้นเรียกว่าไม่ได้หยุดก็ได้ครับ จบ (หัวเราะ)
ถือว่าผิดแผนไหม ตั้งใจพักแต่ไม่ได้พัก
เราไม่ได้มองแบบนั้น คือถ้า GDH ไม่ได้ชวนก็อาจยังไม่มีหนังใหม่น่ะแหละ เพราะเรายังคงคิดเหมือนอย่างที่เคยให้สัมภาษณ์ไปว่าไม่ได้รีบ แต่พอเขาชวนแล้วเราดันมีเรื่องในใจที่อยากเล่าพอดี เราเลยคิดว่า ‘งั้นลองดู’ มากกว่า ง่ายๆ แบบนั้น โอกาสมาเร็วกว่าที่คิด
เรื่องในหัวที่ว่าคือต้นเรื่องของ FAST & FEEL LOVE
ประมาณนั้น แต่เป็นแค่ไอเดียคร่าวๆ ว่าด้วยการโตขึ้นของคนที่ต้องทำอะไรเยอะแยะจุกจิกชิบหายและไม่ได้อยากทำ เรื่องพวกนี้ไม่เคยมีใครทำหนังมาก่อนทั้งที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับแทบทุกคน เราเลยเอามาคุยกับทาง GDH ก่อนพัฒนาเป็นพล็อตคำว่า ‘หนังแอกชั่นในชีวิตประจำวัน’ อย่างที่ทุกคนได้เห็นในที่สุด
ไอ้ความเยอะแยะจุกจิกที่ว่าเป็นสิ่งที่คุณเองกำลังเจออยู่หรือเปล่า
ใช่สิ (หัวเราะ) คือหนังทุกเรื่องที่ทำ มันมีที่มาจากสิ่งที่เราเจอเสมอ และมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามวัย ดังนั้นสามารถพูดได้ว่า FAST & FEEL LOVE คือเรื่องที่เราเจอตอนนี้นั่นแหละ เพราะนอกจากหายไปทำโฆษณา ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเราสร้างบ้านของตัวเองด้วย และการสร้างบ้านมีเรื่องที่ต้องจัดการเยอะแยะไปหมด
อยู่ดีๆ เราต้องมาทำเรื่องโฉนดที่ดิน ทำเอกสารสัญญามากมายที่โคตรวุ่นวายแต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สักพักน้ำแอร์หยด ฝ้าแตกอีก เรื่องพวกนี้กลายเป็นสิ่งที่สนใจและอยากเล่าในวัยนี้ เพียงแต่หน้าที่ของเราหลังจากนั้นคือการหาทางเล่าเป็นภาพยนตร์ให้คนทั่วไปสนใจ ซึ่งเป็นยังไง อันนี้ต้องไปรอดูในหนัง
แต่ถ้าเอาแบบที่เล่าได้ เราว่าเราทำหนังเรื่องนี้ด้วยความรู้สึกอยากให้คนดู ‘เชื่อมโยงกับหนัง’ มากกว่าเรื่องก่อนๆ นะ เพราะพอถึงวัยนี้ เราอยากให้หนังของตัวเองเป็นเหมือนร้านนวด คือเป็นหนังที่คุณดูตอน 5 ทุ่มหลังจากทำงานเหนื่อยมาทั้งวัน สามารถดูได้โดยไม่ต้องคิดอะไร เพราะมันช่างปลอดโปร่งและสนุก หรือถ้าดูในโรง เราอยากให้คุณออกมาจากโรงแล้วไปกินสุกี้ต่อได้อย่างสบายใจ
เนี่ย คือสิ่งที่หนังเราไม่เคยทำได้ แต่ตอนนี้เราอยากทำ เพราะอยากลองอะไรที่ไม่เหมือนเดิมดูบ้าง
ไม่ใช่แบบเรื่องก่อนหน้าที่ดูตอนหนึ่งทุ่มแล้วต้องกินกาแฟก่อน
(หัวเราะดัง) ดูตอนเที่ยงยังต้องกินกาแฟเลย!
แต่ที่บอกแบบนี้ ไม่ได้แปลว่าตัวเราเวอร์ชั่นก่อนหน้าคือยุคมืด มันคือเราน่ะแหละ เพียงแต่ทำหนังติดกันมา 10 ปีก็มีหมดเป็นธรรมดา เราจึงต้องมาถามตัวเองว่าแล้วตอนนี้กำลังสนใจอะไรอยู่ มีสิ่งไหนที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำไหม ซึ่งไอ้คำตอบของคำถามทั้งหมดกลั่นออกมาเป็น FAST & FEEL LOVE
คอมเมนต์ในโซเชียลหลายคนพูดถึงความเปลี่ยนแปลงในงานคุณอยู่เหมือนกัน
อย่าว่าแต่โซเชียล คนใน GDH ยังบอกว่านี่โปสเตอร์หนังมึงเหรอ (หัวเราะ) รวมถึงตัวหนังเองด้วย ตอนฉายรอบ Screen Test มีหลายคนที่บอกเราว่านี่เหรอวะหนังมึง
คุณว่าวัยที่มากขึ้นมีผลต่อการอยากทำอะไรใหม่ๆ ไหม
(นิ่งคิด) เราว่าไม่ได้เกี่ยวกับตัวเลขอายุนะ แต่เกี่ยวกับตัวตนเรามากกว่า
ถ้ามาย้อนดูไทม์ไลน์ชีวิตตัวเอง เอาจริงรูปแบบชีวิตเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เสมอ มันไม่เคยเป็นเส้นตรง มันบิดเกลียวโค้งมาโดยตลอด เราเลยรู้สึกว่าไอ้การทำอะไรใหม่ๆ จากความสนใจ จริงๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัยหรือช่วงไหนของชีวิตหรอก แต่มันคือตัวตนเราต่างหาก
แต่ถ้าถามว่าวัยมีผลกับการทำหนังในแง่มุมไหน เราว่ามันไปมีผลต่อมุมมองมากกว่า เพราะพอทำมานานขนาดนี้ การทำหนังหลอมรวมจนเป็นชีวิตประจำวันเราไปแล้ว ดังนั้นเราไม่ได้มองว่าหนังคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่เท่าเดิมอีกต่อไป หนังก็คือหนัง เป็นการเล่าเรื่องที่อยากเล่าใน 120 นาที มุมมองแบบนี้จึงค่อยๆ ส่งผลให้เรารู้สึกอิสระมากขึ้น ตึงน้อยลง ไม่ได้ไปยึดติดอีกแล้วว่าหนังต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องมีลายเซ็น เปลี่ยนสไตล์ไม่ได้
หรือพูดง่ายๆ ว่ากลัวน้อยลงน่ะแหละ เพราะถ้ายังกลัว เราคงทำหนังแบบ FAST & FEEL LOVE ไม่ได้หรอก
แต่ในอีกมุม การทำอะไรที่ไม่เคยทำดูเป็นอุปสรรคไหม มันมีเหตุให้ต้องกลัวอยู่เหมือนกันนะ ซึ่งพอทำจริงคุณเจออะไรแบบนั้นบ้างหรือเปล่า
แน่นอน (ตอบทันที) ระหว่างทำมีหลายอย่างที่ไม่แน่ใจ ตั้งคำถามว่า ‘ได้เปล่าวะ’ อยู่บ่อยๆ แต่สุดท้ายกับเรื่องนี้เรามักบอกตัวเองว่า ‘อะ ลองดูๆ’ จุดนี้แหละที่ต่างกับเรื่องก่อนๆ เพราะเมื่อก่อนถ้าลองแล้วไม่ได้ เราจะรู้สึกแย่มาก แต่เรื่องนี้ถ้าลองแล้วไม่เวิร์ก เรารู้สึกว่าไม่เป็นไร ก็ไม่เคยทำนี่หว่า คล้ายเราเข้าใจกลไกตรงนี้มากขึ้น ถ้าเป็น The Matrix เราเหมือนอยู่ในจุดที่เห็นโครงสร้างเขียวๆ ของมันแล้ว ดังนั้นถ้าอยากลอง เราก็ทำ
แต่ว่ากันตามจริง คุณเป็นผู้กำกับที่หลายคนคิดลงความเห็นว่าลายเซ็นงานชัดเจนมาก บางคนถึงกับเรียกสิ่งนี้ว่า ‘หนังเต๋อ’ ด้วยซ้ำ ก่อนหน้านี้สิ่งนี้มีผลกับคุณหรือเปล่า แล้วกับ FAST & FEEL LOVE ที่คุณบอกว่ามีความเปลี่ยนแปลง คุณว่าภาพจำต่อ ‘หนังเต๋อ’ จะมีผลไหม
(นิ่งคิด) จริงๆ เราเจอเรื่องนี้มาตลอดทั้งชีวิตการทำงานนะ ตั้งแต่ 36 จนถึง ฮาวทูทิ้ง มันมีทั้งแซว เรียกแยกเป็นประเภท ไปจนถึงแอนตี้ เราเจอมาทุกแบบ ช่วงหนักๆ ที่ต้องมานั่งทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้นก็มีอยู่ ซึ่งเราตกตะกอนได้ว่าสิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่คนอื่นพูดถึงตัวเราน่ะ สิ่งที่สำคัญคือการที่เรารู้จักตัวเอง ณ ขณะนั้นมากกว่า
เราได้ค้นพบว่าเวลาทำหนังหนึ่งเรื่อง มันเหมือนการที่เราเลือกเสื้อผ้าใส่ในแต่ละวันออกจากบ้าน เราไม่ต้องกลัวว่าใครคิดอะไร อยากแต่งตัวยังไงก็ไม่ต้องกังวลว่าคนอื่นจะมองเราสวยหรือเปล่า เราไม่เคยเดินไปโชว์คนเพื่อต้องการสิ่งนั้น เราคิดแค่ว่าถ้าชอบใส่ มันก็คือเราชอบใส่ แค่นั้น ถ้าโชคดีหน่อยอาจมีคนชอบบ้าง ก็ไม่เหงาดีที่มีคนชอบแต่งตัวแบบเดียวกัน แต่ถ้ามีคนไม่ชอบ เราคงไปหยุดเขาไม่ได้ คงทำได้แค่ ‘ซอรี่เพื่อน เราแต่งตัวได้แค่นี้จริงๆ ว่ะ ขอโทษที’
จะว่าไปนี่ก็เป็นหนึ่งเรื่องที่ได้เห็นหลังจากทำหนังมาพอสมควรนะ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ ‘อ๋อ มันแค่นี้เอง’ เราเลือกมองและเข้าใจแบบนี้แล้วกัน ได้สบายใจขึ้น
ลงลึกในแง่การทำงานกันบ้าง วันปิดกล้อง FAST & FEEL LOVE คุณโพสต์ในเฟซบุ๊กว่าการทำหนังเรื่องนี้มีสิ่งที่ Out of Control อยู่เยอะมาก ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าคืออะไร แล้วมันส่งผลยังไง
อย่างที่บอกไปว่าหนังเรื่องนี้ต่างจากสิ่งที่เราถนัด ดังนั้นไม่แปลกที่เราต้องเจอกับความ Out of Control เป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว โอเค อาจมีซีนถนัดอยู่บ้างที่เรารู้ว่าต้องทำยังไง หนึ่ง สอง สาม สี่ แต่นั่นยิ่งเป็นข้อเปรียบเทียบเห็นชัดว่ามีอีกหลายอย่างมากในหนังที่ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคิด หรือเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องเป็นยังไง
ซึ่งเราว่าตรงนี้แหละที่มายด์เซ็ตแบบ ‘ลองดูเว้ย’ ของเราใน FAST & FEEL LOVE กลายเป็นข้อดี เพราะพอเปิดรับโอกาส การช่วยเหลือจากทีมงานก็หลั่งไหลเข้ามาหาเรา ไอเดียเข้ามาเวียนว่ายในหัวเต็มไปหมด เช่น ซีนบางซีนเราไม่เคยถ่าย แต่เรามีทีมงานที่เคยทำหนังมาทุกแบบ พวกเขาจะเข้ามาแนะนำว่าซีนแบบนี้ต้องทำยังไง หรือการที่เราไปยืนงงในโลเคชั่นแล้วนึกไม่ออกว่าใครควรยืนตรงไหน เวลาแบบนั้นทีมงานเรานี่แหละที่เข้ามาช่วยคิด
ดังนั้นถามว่าการ Out of Control เหนื่อยไหม ตอบได้เลยว่าเหนื่อย แต่แม่งสนุก ตื่นเต้นดี ชอบมาก
คุณเขียนในโพสต์เดียวกันด้วยว่า ‘เหมือนกลับไปเป็นเด็ก’
ใช่ๆ และเรารู้สึกว่าตัวเองโคตรโชคดีที่เอาความรู้สึกแบบนี้กลับมาได้
หลังจากทำหนังมาเยอะและโตขึ้น บางเวลาเรารู้สึกกับตัวเองว่าแม่งไม่มีอะไรตื่นเต้นอีกแล้ว โอเค งานแบบเดิมอาจมีสิ่งที่ยากขึ้นหรือท้าทาย แต่สุดท้ายเราจะทำให้ออกมาได้ด้วยความรู้สึกว่า ‘มันคงต้องประมาณนี้แหละ’ ซึ่งความรู้สึกนี้มันคนละเรื่องกับการพาตัวเองมาอยู่ในสนามใหม่
กับ FAST & FEEL LOVE ตอนถ่ายเราตื่นเต้น ถ่ายเสร็จเราตื่นเต้น ปัจจุบันที่ตัดต่อเราก็ยังตื่นเต้นอยู่ นี่เป็นความรู้สึกที่โคตรดี เพราะไอ้ความไม่แน่นอนตรงนี้มันกระตุ้นให้เราอยากไปต่อ
ไม่ได้รู้สึกกลัวล้มเหลว หรือสิ่งที่ทำอยู่มีเดิมพันสูง
ไม่ขนาดนั้น อาจเพราะที่ผ่านมาหนังเราไม่เคยได้ร้อยล้านด้วย เราเลยไม่ได้มีมาตรวัด ขอแค่ไม่เจ๊งก็โอเค ไม่ได้ร้อยล้านไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยที่เรารู้ว่าได้แน่ๆ คือได้ลองไง ว่าทำแบบนี้ไป คนรับได้หรือเปล่า จะได้ไม่คาใจ เพราะได้ลองทำแล้ว
คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าตัวเองเขียนในสมุดเฟรนด์ชิปตอนม.ปลายว่าอยากมีโปรเจกต์สนุกๆ ทำไปตลอดชีวิต พอฟังประสบการณ์ใน FAST & FEEL LOVE แบบนี้ เหมือนคุณทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ได้อยู่เหมือนกัน
ใช่ โชคดีเนอะ ทั้งที่เราเป็นคนทำหนังที่ควรได้รับโอกาสน้อยที่สุดแล้ว
ทำไมถึงคิดแบบนั้น
เพราะเรารู้สึกว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา เราไม่เคยทำหนังลงบนความต้องการของกลุ่มไหน แมสก็ไม่ได้ อาร์ตก็ไม่ได้ เหมือนเรา ‘อยู่ระหว่าง’ ตลอดเวลา แต่ถึงเป็นแบบนั้นระหว่างทางเราก็ไม่ได้ตั้งคำถาม เราแค่ทำต่อไป โชคดีที่ด้วยโชคชะตาหรืออะไรสักอย่างพาโอกาสมาหาเราอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยมาก มาแบบปีต่อปี จนมายืนอยู่ตรงนี้ได้ไงก็ไม่รู้ แต่ที่เรารู้และมั่นใจคือสิ่งที่ทำมามันไม่ได้ผิด
ทำให้ในอีกมุม เราพอเข้าใจคนที่เป็นแบบเราที่ยังอายุยี่สิบและไม่ได้มีโอกาสนะ ถ้ามีอะไรบอกได้เราคงแนะนำให้ทำต่อ เพราะแม่งไม่มีใครรู้หรอกว่าอนาคตเป็นยังไง มันเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้นจงทำและมีความสุขไประหว่างนั้นไปนั่นแหละดีที่สุด เพราะนี่ต่างหากคือสิ่งที่ควบคุมได้
ส่วนถ้าเจอคำที่ไม่ค่อยดี ก็อย่าไปคิดมาก ทำในสิ่งที่อยากทำต่อไปครับ
ภาพถ่ายโดย : Au Tammarat