โชติชีวิตบรรลัยของแพทริก ชั่ยฯ คือนิยายเรื่องล่าสุดของนักเขียนรางวัลซีไรต์ อุทิศ เหมะมูล และยังเป็นวาระเหตุผลที่ทำให้ GroundControl ได้สนทนากับเขาในบ่ายวันหนึ่ง
หลังจากกล่าวทักทาย เราเริ่มต้นกันด้วยเครื่องดื่มสีเหลืองอำพันหลายอึก ก่อนที่หลังจากนั้นไม่นานเมื่อเครื่องอัดเสียงเริ่มทำงาน บทสนทนาก็เริ่มลื่นไหล ว่าด้วยที่มาของผลงานใหม่ ก่อนที่ประเด็นพูดคุยของเราจะไปไกลกว่านั้นมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เรื่องโชติชีวิตบรรลัย เซ็กส์ ไปจนถึงมุมมองของอุทิศท่ามกลางประเทศสีหม่นเก่าในเวลานี้
และเราเชื่อว่าเขาไม่เชิงบอกกล่าวสิ่งเหล่านี้กับเราหรอก แต่อุทิศเลือกอุทิศถ้อยคำต่อจากนี้แด่คุณ
(หมายเหตุ - บทสัมภาษณ์มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของวรรณกรรม แต่จะไม่ทำให้คุณเสียอรรถรสในการอ่านแน่นอน และอาจทำให้คุณอ่านสนุกมากขึ้นด้วยนะ)
อธิบายและบันทึกเรื่องเจเนอเรชั่น
ถ้ายึดตามประโยคที่อุทิศหยิบมาโปรโมตผลงาน โชติชีวิตบรรลัยของแพทริก ชั่ยฯ คือ “บทบันทึกชีวิตเสเพล ที่รับประกันความหรรษาน่าขัน ไม่อยู่ในศีลในธรรมพอจะเป็นแบบอย่าง แต่มีชีวิตชีวาเปลือยปลดน่าเล่า” แต่ถ้าสืบเสาะลงไปกว่านั้น อุทิศมักบอกเสมอว่างานเขามีเรื่องที่อยากสื่อสาร นั่นเองจึงเป็นที่มาของคำถามแรก ว่าภายใต้คำโปรยชวนอ่าน แท้จริงแล้วมีเจตนาใดของคนเขียนซ่อนอยู่กันแน่
อุทิศ : “เราอยากพูดเรื่องยุคสมัยที่ผ่านพ้น เพราะเราคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่คนในยุคปัจจุบันควรรู้ว่าอดีตเคยมีกาลเวลาแบบไหนอยู่ เพราะจากการที่เขาคิดไม่ถึง บางทีมันอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดกับคนอีกเจเนอเรชั่นหรือเกิดความสงสัยได้ว่าทำไมคนรุ่นก่อนถึงตัดสินใจใช้ชีวิตแบบนั้น
“จากเหตุผลนี้ เราเลยพูดถึงสภาพแวดล้อม บรรยากาศ และโลกในอดีต ที่ถ้ามองด้วยสายตาในปัจจุบันอาจดูโง่และเจ็บปวดกล้ำกลืน แต่เราก็อยากอธิบายให้เห็นว่าเมื่อก่อนสภาพสังคมบีบบังคับให้คนตัดสินใจทำอะไรบ้าง เราอยากบันทึกเรื่องเหล่านี้ไว้เพื่อบอกว่าโลกไม่ง่าย มันเคยยากจนต้องประนีประนอมและจัดการเพื่อให้ได้อะไรหลายอย่างมาอยู่เหมือนกัน
“ซึ่งเราไม่ปฏิเสธนะ ว่าเราเองก็อยู่ในยุคเดียวกันกับตัวละครหลัก ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจะมองเป็นความพยายามในการอธิบายจากเจเนอเรชั่นเก่าก็ได้ แต่เราก็เองไม่ได้มองเป็นการแก้ตัว เราว่านี่คือความพยายามเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากกว่า เพื่อที่สุดท้ายเราจะได้ไม่ขาดกันเกินไป
“เราอยากให้คนในยุคปัจจุบันมองเห็นตรงจุดนี้ ซึ่งเอาจริงไม่ใช่แค่กับคนรุ่นใหม่นะ เพราะคนรุ่นใหม่บางคนเขาเห็นเรื่องนี้ชัดอยู่แล้ว แต่เราอยากสื่อสารกับคนรุ่นเก่าที่มองเรื่องพวกนี้ไม่ค่อยเห็นมากกว่า ว่าสิ่งต่างๆ ที่คุณเคยเผชิญมันถูกออกแบบมาเป็นกลไกโดยเบื้องบนอย่างไรบ้าง”
การเติบโตของฉากเซ็กส์
หนึ่งในจุดเด่นที่เป็นเหมือนลายเซ็นในงานเขียนของอุทิศคือฉากร่วมรักวาบหวิว และใช่แล้ว กับผลงานล่าสุดเรื่องอย่างว่าก็มีอยู่เช่นกัน เพียงแต่เมื่อแรกอ่านเรากลับรู้สึกว่าการร่วมรักบนหน้ากระดาษผ่านปลายปากกาของอุทิศในครั้งนี้มีอะไรต่างไป จนต้องเอ่ยถามเพื่อคลายความสงสัย และเราก็ได้คำตอบที่ไปไกลกว่าบนเรื่องบนเตียง
อุทิศ : “ด้วยพื้นฐานแล้วเรามีความเชื่อว่าถ้าในช่วงวัยนั้นกำลังรู้สึกอะไรอยู่ เราก็ควรเขียนออกมา ไม่ควรไปปิดกั้นหรือปิดบัง แต่ในทางเดียวกันถ้าวันหนึ่งความรู้สึกนั้นหาย เราก็ไม่ควรฝืน ซึ่งพอคิดแบบนี้การทำงานก็ง่ายขึ้น อย่างกับเรื่องล่าสุดที่มีฉากทางเพศ นั่นก็เพราะมันยังเป็นเรื่องที่เรายังสนใจอยู่นั่นเอง เพียงแต่ถ้าให้ลงลึก เราว่ามันก็มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เหมือนกัน
“ในหนังสือเล่มแรกๆ เรามักเขียนฉากที่เกี่ยวกับเพศด้วยความรู้สึกตื่นเต้น หวือหวา เร้าอารมณ์ เหมือนอยากระบายอารมณ์ทางเพศตลอดเวลา แต่พอผ่านมาถึงช่วงกลางใน ร่างของปราถนา เรากลับเริ่มรู้สึกว่าเรื่องเพศคือความท้าทาย เราไม่ได้จมกับมันเท่าเดิม การเขียนเลยเป็นเหมือนการมองจากข้างบนและพยายามนำเสนอมุมใหม่ๆ เพื่อบอกถึงเงื่อนไขแวดล้อมหรือความสัมพันธ์ที่ประกอบขึ้นมาเป็นเซ็กส์ และพอเข้าถึงตอนนี้ที่เราคิดว่าเป็นช่วงปลาย เราว่าตัวเองเริ่มเขียนเรื่องเพศด้วยความเข้าใจแล้ว เหมือนเขียนมามากพอจนรู้เหตุผลในการใส่ เริ่มใช้งานและจัดวางองค์ประกอบเพื่อให้เกิดอารมณ์และความรู้สึกในแต่ละฉากได้
“ดังนั้นถ้าอ่านแบบผิวเผินก็อาจคิดว่าอุทิศพูดเรื่องเซ็กส์เรื่องเดิม แต่เรายืนยันว่าไม่ใช่หรอก ฉากเหล่านี้เติบโตขึ้นไปพร้อมๆ กับเรานั่นแหละ อย่างเรื่องล่าสุดเราก็เก็บรายละเอียดมาเล่าอย่างครบถ้วน และมันจะเป็นชัยชนะของเรามากเลย ถ้าคุณเห็นและเข้าใจทรรศนะคติทางสังคมที่เราซ่อนอยู่หลังฉากเอากันเหล่านั้น
“แหม่ วัยขนาดนี้ เวลาเมาก็ไม่ได้แอลกฮอลล์ลงไข่เหมือนวัยรุ่นแล้วไหม นั่งชิวๆ คนเดียวก็มีความสุขได้หรือเปล่า (หัวเราะ)”
ลองเป็น Elite
เรื่องราวใน โชติชีวิตบรรลัยของแพทริก ชั่ยฯ นั้นดำเนินผ่านมุมมองของแพทริกเป็นหลัก ซึ่งสิ่งที่ให้เราสนใจจนต้องหยิบมาเป็นประเด็นถามอุทิศคือภูิมหลังของตัวละครนี้นั่นเอง เพราะนี่คือตัวละครแรกในนวนิยายของอุทิศที่ไม่ได้ถูกกดทับจากระบบชนชั้นทางสังคม แต่แพทริกกลับเป็น Elite ที่ดำรงชีวิตแบบมีพริวิลเลจอย่างที่อุทิศไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน
อุทิศ : “พอนิยายเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะความพยายามเข้าใจเป็นพื้นฐาน การเลือกเขียนในมุมของแพทริกก็คงเกิดขึ้นเพราะสิ่งนั้นด้วยเหมือนกัน
“ก่อนหน้านี้คนมักบอกนะ ว่าอุทิศแม่งเขียนแต่เรื่องตัวเอง เดี๋ยวพ่อตายอีกแล้ว เดี๋ยวตัวละครหลักเป็นคนชนชั้นกลางอีกแล้ว เราเลยอยากท้าทายตัวเองมากขึ้น ซึ่งเรามองว่าสถานภาพที่แตกต่างกันระหว่างตัวละครและคนเขียนก็เป็นความท้าทายชั้นดี เราเลยอยากเข้าถึงหัวจิตหัวใจของตัวละครที่ไม่ใช่เราผ่านงานชิ้นนี้ ก็ใช้ความพยายามหนักอยู่เหมือนกัน แต่เราโชคดีที่ไปได้ข้อมูลต้นแบบมาจากตัวละครเศรษฐีปริศนาคนหนึ่ง
“เขาคนนี้เข้ามาหาเราเพราะอยากแบ่งปันเรื่องราวชีวิต เป็นเรื่องสนุก มันๆ ที่เต็มไปด้วยเรื่องเหี้ยๆ ชั่วช้าห่าระยำ เขาอยากถ่ายทอดออกมาก่อนที่จะลืม เขาเลยถามเราว่าอยากฟังไหม ซึ่งเราตอบตกลง เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราตีบตันในชีวิตนักเขียน (Writer’s Block) พอดี เราจมและอยากออกจากชีวิตตัวเอง การได้ฟังเรื่องราวของเขาเลยช่วยเรามาก มันทำให้เราได้เห็นทางไปต่อ และทำให้เราค้นพบว่าในงานเขียนกูไม่ต้องเป็นตัวเองทุกงานก็ได้นี่หว่า กูเป็นคนอื่นบ้างก็ได้
“จากตรงนั้น เราจึงค่อยๆ ได้ค้นพบว่าแท้จริงแล้วความเป็นมนุษย์ของเขากับเราก็ไม่ได้ต่างกัน แต่สิ่งที่ต่างคือบริบทสังคมที่อยู่รอบตัว มันทำให้เขามองไม่เห็นบางอย่าง เช่น การที่ในตอนเด็กเขาเชื่อว่าทุกคนเกิดมามีเท่ากัน เข้าถึงโอกาสได้เท่ากัน ต่างกับเราที่โตมาด้วยความขาด ตั้งคำถามตลอดว่าทำไมกูไม่ได้อย่างคนอื่น ตรงนี้เองที่เข้ามาช่วยเติมและขัดเกลาเรา จากที่คิดว่าคนรวยแม่งเหี้ย แต่พอได้มาลองมองในมุมเขาบ้าง มันทำให้เราเข้าใจมากขึ้น
“ดังนั้นสุดท้ายแล้วแพทริกจึงเกิดขึ้นโดยการผสมกันระหว่างตัวละครปริศนากับเรานี่แหละ เป็นการเล่าถึงชีวิตเจ้าสัวในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีทั้งเรื่องดีและระยำตำบอน เพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจกับยุคสมัย เหมือนอย่างที่เราได้เข้าใจเขา
“แต่อ่านแล้วก็อย่าไปเดาเลยนะ ว่าเขาเป็นใคร เขาแค่เข้ามาในจังหวะชีวิตที่ตรงกับเราพอดี เราเองก็สนุกที่ได้จินตนาการด้วย ว่าถ้าตอนเด็กเกิดมาร่ำรวย ชีวิตเราจะเป็นแบบไหน (ยิ้ม)”
การเมืองแทรกซึม
สำหรับใครที่ติดตามอุทิศมานาน เชื่อว่าทุกคนน่าจะรู้ว่าเขาคือหนึ่งในกระบอกเสียงที่แสดงออกทางการเมืองอยู่เสมอ ในนวนิยายของเขามักหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดประจำ แต่กับ โชติชีวิตบรรลัยของแพทริก ชั่ยฯ นั้นต่างไป เพราะถ้าดูจากคำโปรโมตหรือใครก็ตามที่อ่านจบแล้ว คุณจะพบว่าน้ำหนักของเรื่องการเมืองในนิยายเรื่องนี้ไม่เหมือนกับเรื่องก่อนหน้า ซึ่งอุทิศก็ได้อธิบายเหตุผลไว้กับเราเช่นกัน
อุทิศ : “กับเล่มนี้เราตั้งใจใส่เรื่องการเมืองให้คนอ่านเห็นน้อยที่สุดเลยล่ะ
“อาจเพราะเราพูดเรื่องการเมืองและสภาพสังคมในประเทศผ่านเรื่องตัวเองมาเยอะมากแล้ว มันเลยทำให้เราเริ่มเบื่อในการพูดถึงผ่านวิธีเดิมๆ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็รู้สึกว่านี่เป็นเรื่องที่ต้องพูด ไม่พูดไม่ได้ สุดท้ายความขัดแย้งตรงนี้เลยออกมาเป็นวิธีแบบในหนังสือเล่มล่าสุด
“ครั้งนี้เราใช้วิธีเล่าเรื่องการเมืองแทรกซึมผ่านชีวิตประจำวันของตัวละครที่ Elite เล่าผ่านเรื่องราวการปลูกฝังโดยครอบครัวในเรื่องคุณค่าและคุณธรรมที่ถ้าอ่านผ่านแล้วไม่ฉุกคิดก็อาจพาลเอาหงุดหงิดได้ ซึ่งสายแข็งทั้งหลายก็อย่าเพิ่งรำคาญเรานะ อย่าเพิ่งบอกว่าเราแตะแค่ผิวๆ ลองอ่านให้จบก่อน (ยิ้ม)
“อธิบายยังไงดีล่ะ คือในปัจจุบันเราก็ไปม็อบ แต่เราไปด้วยความรู้สึกที่คล้ายๆ กับการเขียนเรื่องการเมืองในนิยายนั่นแหละ คือไปแบบไม่ต้องการแสงไฟสาดส่อง ไม่ต้องมองฉันว่าเป็นคนพิเศษ แต่เราไปเพราะเชื่อในแนวคิดว่าคนเท่ากัน เราจริงใจกับมันแบบนี้ แล้วมันก็ส่งผลถึงงานของเราด้วยรูปแบบเดียวกัน คือเป็นงานที่ไม่ได้พูดในระดับแกนนำม็อบ เพราะเราเชื่อว่าด้วยทักษะที่มี เราทำได้ดีในการสื่อสารกับคนอีกกลุ่มหนึ่งมากกว่า
“แต่บอกแบบนี้ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่ทำอะไรเพิ่มนะ เราไม่ใช่คนแบบ ‘ผมแสดงออกผ่านงานเขียนแล้วครับ ผมขออยู่บ้านเฉยๆ แล้วกัน’ เพราะสำหรับเรามันแยกกัน ในมุมหน้าที่การงานเราก็ทำในส่วนของตัวเอง แต่ในฐานะประชาชนคนหนึ่งเราก็พร้อมสนับสนุนในวงกว้างเสมอ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในขณะที่นั่งสัมภาษณ์กันอยู่นี้ ยังมีนักต่อสู้ที่ยังต้องติดอยู่ในคุกเพราะรัฐอยู่เลย
“(นิ่งคิด) ไม่รู้ว่านี่เป็นมุมมองของคนแก่หรือเปล่า แต่เราไม่ได้มองว่าการที่เขาเหล่านั้นไปยืนอยู่บนเวทีคือจุดสูงสุดของชีวิต จริงอยู่ที่มันโคตรสำคัญ แต่เราก็อยากให้คนคนนั้นเดินลงเวทีมาแล้วมีชีวิตที่ดีในปัจจุบันด้วย ไม่ใช่แค่มีชีวิตอยู่เพื่อข้างหน้าอย่างเดียว เราเลยอยากทำทุกทางเท่าที่ทำได้ เพราะเราเชื่อว่ายุคนี้เป็นจุดชี้เป็นชี้ตายแล้ว ว่าคุณจะทนอยู่กับความไม่แฟร์ หรือจะลุกขึ้นมาตาสว่าง”
อุทิศแด่คุณ
แม้จะเกริ่นว่าหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นเพราะเป้าหมายเพื่อความเข้าใจ แต่ถ้าฟังจากที่อุทิศเล่ามาทั้งหมด ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าท่าเล่าที่เขาเลือกใช้นั้นถือว่าออกจากกรอบอยู่มาก เพราะในขณะที่ยุคสมัยพาให้ศิลปินส่งเสียงพูดเรื่องชนชั้นและการเมือง แต่เขากลับเลือกทำงานผ่านความตั้งใจเดียวกันด้วยวิธีตรงกันข้าม ดังนั้นก่อนเครื่องดื่มจะหมดหยดสุดท้าย เราจึงเอ่ยถ่ายให้เขาสรุปตอบในข้อนี้
อุทิศ : “ถ้าย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาก่อน ลับแล, แก่งคอย ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ตลาดหนังสือกำลังทุ่มเทความสนใจไปที่เรื่องพ่อรวยสอนลูก เราเลยสร้าง ลับแล, แก่งคอย ขึ้นมาเพื่อสวนบอกว่าคุณไม่ต้องประสบความสำเร็จในชีวิตตามแบบแผนเหล่านั้นก็ได้ เพราะมันยังมีอีกหลายร้อยคนในสังคมที่แม่งสู้ชิบหาย ไม่ประสบความสำเร็จด้วย แต่พวกเขาก็มีเรื่องเล่าที่ดีในแบบของตัวเอง ลับแล, แก่งคอย เลยเป็นเหมือนการต่อต้านเรื่องเล่าหลักของสังคมในตอนนั้น
“ซึ่งถ้าย้อนกลับมามองปัจจุบัน เราว่า โชติชีวิตบรรลัยของแพทริก ชั่ยฯ ก็คล้ายกัน คือถึงแม้มีเจตนารมณ์เดียวกับยุคสมัย แต่เราก็อยากใช้วิธีเล่าในมุมตรงข้ามกับเรื่องเล่าหลักเพื่อให้เกิดมุมมองที่กว้างขึ้น เราเลยเลือกย้อนมาเล่าถึงชีวิตเจ้าสัวที่เคยรังเกียจแทน
“ดังนั้นถึงแม้นิยายเรื่องนี้จะมีการพูดถึงช่วงวัยหนุ่มสาวอย่างแรงกล้า แต่เราก็ยอมรับว่ามันมีผลลัพธ์ที่อาจไม่ถูกใจกับอุดมการณ์บางอย่างอยู่บ้าง บางคนอ่านแล้วอาจรู้สึกขัดใจได้ เราเลยไม่แน่ใจว่าสุดท้ายหนังสือเล่มนี้จะทำหน้าที่เป็นสหายกอดคอพวกเขา หรือเป็นแค่คนแก่คนหนึ่งที่พยายามจะแบ่งปันประสบการณ์ในอดีต แต่ไม่ว่าจะออกทางไหน เราก็อยากนำเสนอด้วยน้ำเสียงนี้อยู่ดี
“เพราะในท้ายที่สุด เราไม่ต้องการจะสอนสั่งอะไรเลย เราไม่อยากให้คนมองว่าเราเป็นนักเขียนในขบวนอุดมการณ์ที่ทุกคนต้องมาซื้อหนังสือ เราไม่ใช่แบบนั้น เพราะตอนนี้ในวัย 46 ปี เราแค่อยากยืนอยู่ในช่วงเวลาและท้าทายตัวเองต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งกับครั้งนี้มันคือการสร้างตัวละครยั่วตีนคนหนึ่งขึ้นมา และรอดูว่าเขาจะถูกยำตีนไหม หรือเขาจะให้อะไรกับคนอ่านแบบที่เราคาดไม่ถึงบ้าง
"จริงอยู่ที่สุดท้ายนักเขียนทุกคนอยากให้คนชอบงาน แต่กับครั้งนี้เรายอมเสี่ยงที่จะมีคนไม่ชอบก็แล้วกัน เพราะด้วยอายุเท่านี้ เราไม่ได้อยากพร่ำเพ้อกังวลว่าใครจะรักเราบ้างแล้วล่ะ (ยิ้ม)”
ภาพถ่ายโดย : ก้อง พันธุมจินดา