GC_Infocus-สิน_web.jpg

สิน–ยงยุทธ ผอ.ฝ่ายคอนเทนต์ Netflix กับ ‘หน้าที่’ ในการทำให้หนังไทยหลากหลาย

Post on 13 May

ในช่วงชีวิตหนึ่งที่สิน–ยงยุทธ ทองกอนทุน เติบโตมา หนังไทยเมื่อครั้งอดีตมีความหลากหลายจนทำให้เขาตื่นตาตื่นใจไม่รู้จบ 

ในแง่หนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความน่าสนใจตรงนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งในการเชื้อเชิญให้เขาเริ่มต้นเส้นทางอาชีพในวงการภาพยนตร์ ตั้งแต่การเป็นคนเขียนบท ผู้กำกับ ไปจนถึงโปรดิวเซอร์

จนตัดภาพมาที่ปัจจุบัน สินคือผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ของ Netflix ประจำประเทศไทย และเป็นเขานี่เองที่รวมผลักดันให้เกิดโปรเจกต์ #ฉายแล้ววันนี้ที่Netflixรามา โปรเจกต์ที่ Netflix ร่วมกับหอภาพยนตร์ในการนำหนังไทยเลื่องชื่อ 19 เรื่องกลับมาฉายบนแพลตฟอร์มตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา

ไล่เรียงตั้งแต่ สันติ-วีณา (2497), แพรดำ (2504), ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น (2520), ข้างหลังภาพ (2528), ผีเสื้อและดอกไม้ (2528), กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ (2538) เรื่องตลก 69 (2542), นางนาก (2542), บางระจัน (2543), ฟ้าทะลายโจร (2543), สตรีเหล็ก (2543), มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2544), องค์บาก (2546), ทวิภพ (2547), มหา’ลัย เหมืองแร่ (2548), รักแห่งสยาม (2550), ลุงบุญมีระลึกชาติ (2553), MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY (2556) ไปจนถึง กระเบนราหู (2561) 

สำหรับในแง่เสียงตอบรับ เวลาหนึ่งเดือนที่ภาพยนตร์ทั้ง 19 เรื่องกลับมามีชีวิตบนแพลตฟอร์มคงตอบตัวเองได้ว่าโปรเจกต์ประสบความสำเร็จหรือเปล่า แต่ในฐานะส่วนหนึ่งที่ร่วมผลักดัน สินรู้สึกอย่างไร - นั่นเองคือคำถามที่พาให้ GroundControl ต่อสายสนทนากับเขาในบ่ายวันหนึ่ง

"ผมคิดว่ามันเป็นหน้าที่” น่าสนใจที่ส่วนหนึ่งในการพูดคุย สินว่ากับเราไว้อย่างนั้น 

แต่ประโยคเต็มๆ จะเป็นอย่างไร ติดตามได้ในบรรทัดถัดไป


 

ผ่านไปหนึ่งเดือนกับ #ฉายแล้ววันนี้ที่Netflixรามา ผลตอบรับที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรบ้าง

คงต้องบอกว่า ‘เหนือความคาดหมาย’ ครับ (ยิ้ม) เพราะในกลุ่มคนดู ฟีดแบ็กที่เกิดขึ้นดีอย่างที่เราคิดจริงๆ แต่นอกเหนือจากนั้นคือกลุ่มคนทำด้วย ที่พี่ๆ น้องๆ ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต่างดีใจและภูมิใจ จนเกิดเป็นกระแสที่ทำให้หลายคนเริ่มเชื่อและมั่นใจว่าภาพยนตร์สามารถหลากหลายได้ภายใต้กรอบที่มีอยู่ในยคุนี้

 

ถ้าย้อนกลับไปที่จุดแรกเริ่ม #ฉายแล้ววันนี้ที่Netflixรามา เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจแบบไหน

ต้องอธิบายก่อนว่าโดยพื้นฐาน Netflix เชื่อมั่นใน Local Content อยู่แล้ว แต่ไอเดียขั้นต้นเกิดจากการที่คุยกันในทีมว่าระหว่างรอการผลิตเรื่องใหม่ๆ ว่าเราเองต้องสร้างความคุ้นเคยกับคนดูเพื่อให้เขารับรู้ว่า Netflix ให้คุณค่ากับ Local Content  ด้วย

ทีนี้ผมจึงเริ่มหันกลับมามองตัวเองที่เติบโตมาด้วยความรักหนัง เห็นหนังไทยที่มีความหลากหลายและเจ๋งตามช่วงเวลามาโดยตลอด แต่ในขณะเดียวกันปัจจุบันหนังสมัยก่อนกลับหาดูยาก จนทำให้บางครั้งเวลาผมคุยกับทีมแล้วพูดถึงหนังที่เคยดู ผมกลับมีประสบการณ์ร่วมอยู่คนเดียว กลายเป็นคนแก่ที่ชอบเล่ารำลึกความหลัง (หัวเราะ) ซึ่งนี่แหละที่เป็นที่มา ทำให้ทีมคุยกันว่างั้นเรามาลองทำคอลเลกชั่นหนังพิเศษกันดูไหม 

เพราะนอกจากความเป็น Local Content  ผมยังมองโปรเจกต์นี้เป็นเหมือนการปูทาง ด้วยความที่สิ่งที่เราจะทำต่อไปให้สมาชิก Netflix จะมีความหลากหลายขึ้น โปรเจกต์นี้จึงเป็นเหมือนการทำความเข้าใจกับคนดูก่อน ว่าคอนเทนต์หนังไทยน่ะ เคยหลากหลายมากๆ  และที่หลากหลายก็ประสบความสำเร็จ

จากตรงนั้นเองเราจึงไปคุยกับทางหอภาพยนตร์ เพื่อช่วยกันเลือกหนังไทยบางส่วนออกมาชิมลางตามสิ่งที่ตั้งใจไว้ จนเกิดเป็น #ฉายแล้ววันนี้ที่Netflixรามา อย่างที่ทุกคนเห็นกัน ผ่านภาพยนตร์ 19 เรื่องที่เราเชื่อว่าสามารถเล่าไทม์ไลน์หนังไทยในยุคต่างๆ ได้และโดดเด่นในเชิงเนื้อหาที่หลากหลายด้วย

ในความเป็นจริงหนังที่หลากหลายและสามารถเล่าไทม์ไลน์หนังไทยน่าจะมีมากกว่านั้น อยากให้ช่วยเล่าถึงการเลือกหนังทั้ง 19 เรื่องนี้ใฟ้ฟังหน่อย

ด้วยความที่เราอยากนำเสนอหนังไทยเจ๋งๆ แน่นอนว่าหนังที่เราคิดว่าเจ๋งน่ะมีเยอะแน่ๆ ย้อนกลับไปถึงปี 2498 ได้เลย แต่อย่างหนึ่งที่เราต้องพิจารณามากๆ คือเรื่อง Material เพราะหนังแต่ละเรื่องที่เอามาฉายบน Netflix เราใส่ใจในคุณภาพมาก เช่น ขั้นต่ำหนังควรได้ภาพในระดับ HD หรือเสียงต้องดีระดับหนึ่ง นี่จึงเป็นข้อหนึ่งในการเลือก รวมถึงเรื่องของลิขสิทธิ์ด้วยที่เราต้องเคลียร์ให้ชัดเจน เลยออกมาเป็น 19 เรื่องที่คัดสรรมา

แต่ในโอกาสต่อไป ถ้ามีใครรอคอยคอลเลกชั่นแบบนี้อีก Netflix ก็อยากเอานำเสนอถึงความหลากหลายอีกครับ เป็นการบ้านที่เราต้องทำงานกันต่อ

 

ในฐานะที่คุณเองอยู่ในวงการภาพยนตร์มานาน ความหลากหลายของหนังสำคัญอย่างไร

(นิ่งคิด) ตอบในฐานะคนทำก่อน ง่ายมากเลยคือจะได้ไม่เบื่อ เพราะถ้าต้องทำหนังซ้ำๆ เล่าเรื่องเดิมๆ มันน่าเบื่อนะ แต่ถ้าได้ทำอะไรที่ท้าทาย หรือได้ลองเล่าเรื่องเดิมในมุมใหม่ ผมคิดว่าน่าจะสนุกกว่า และยิ่งถ้าความหลากหลายตามมาด้วยการเพิ่มจำนวนคอนเทนต์ ความต้องการงานก็จะยิ่งสูงขึ้นตาม  ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศมากขึ้นอีก

แต่ถ้าตอบในฐานะคนดู ผมว่าหนังก็จะทำให้เกิดคนดูที่หลากหลายนั่นแหละ ไม่ใช่มีพื้นที่แค่ให้คนแบบเดียว เพราะอย่าง Netflix เอง จะเห็นได้ว่าคนดูเปิดรับให้กับความหลากหลายมาก อย่างงานใน TOP10 ก็ไม่เคยมีรูปแบบที่ตายตัว

ผมเลยถือว่าการใส่ความหลากหลายลงไปเป็นหน้าที่ เพราะมันสำคัญกับทั้งคนทำและคนดูครับ


 

ถ้าให้นึกย้อนสักหน่อยสำหรับคนรุ่นใหม่ที่อาจนึกถึงความหลากหลายของหนังไม่ออก ในมุมคุณตอนโตมา หนังไทยมีความเจ๋งอย่างไรบ้าง และแตกต่างยังไงกับในปัจจุบัน

ถ้าย้อนไปถึงช่วงเด็ก ผมอยู่ในช่วงที่หนังไทยเป็นแบบระเบิดภูเขาเผากระท่อม แต่ท่ามกลางยุคนั้นก็มีหนังของท่านมุ้ย (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) ที่ฉีกออกมาอย่างเห็นได้ชัด ถ้าตัดเรื่องบริบทเสื้อผ้าหน้าผมและเทคนิคการถ่ายทำออกไป หนังของท่านมุ้ยคือโคตรสากลและทันสมัย ประเด็นของหนังสดใหม่และเต็มไปด้วยความกล้า เลยถือเป็นรสชาติที่แปลกใหม่มาก เป็นประสบการณ์ที่ดีมากและสร้างมาตรฐานใหม่ๆ ให้กับคนดูได้

แต่ถ้าให้ลองมองด้วยแว่นนั้นผ่านมุมปัจจุบัน ก็ต้องอธิบายก่อนว่าในมุมผม หนังคือศิลปะครับ มันคือความชอบ แปลว่าไม่ว่าจะยุคก่อนหรือยุคนี้ แต่ละคนสามารถชอบหนังที่ไม่เหมือนกันได้ เพียงแต่พอหนังเป็นงานศิลปะที่ดันใช้เงินเยอะ ถ้าเราไม่ควักเงินตัวเองทำ ช่วงที่ผ่านมาการไปหาทุนของคนทำหนังเลยพ่วงมาด้วยโจทย์ต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น แนวทางความนิยมโดยรวม ซึ่งผมไม่ได้มองว่านี่เป็นความผิดของใครนะ มันเข้าใจได้ในทางธุรกิจ แต่ในมุมผม นั่นค่อยๆ ส่งผลให้ความหลากหลายของหนังหลบเข้าไปอยู่ในมุมเล็กๆ แทน

(นิ่งคิด) แต่คงเพราะแบบนั้นด้วย ที่ทำให้ผมมองว่าการเกิดขึ้นของสตรีมมิ่ง สามารถดึงเอาความหลากหลายกลับมาได้ สตรีมมิ่งบันเทิงสามารถสร้างโอกาสให้คนดูหนังได้จริงๆ ทั้งในแง่ตัวเลือกและความสะดวกสบาย จะชอบ-ไม่ชอบก็ไม่เป็นไรเพราะยังไงหนังอยู่ในแพ็คเกจที่คุณสมัครแล้ว แต่อย่างน้อยการทำให้คุณได้เห็นว่าหนังสามารถเป็นแบบนี้ได้ นั่นต่างหากคือความสำคัญที่กลับมาอีกครั้ง


 

เหมือน Netflix มีส่วนในการทำลายกำแพงบางอย่างที่เคยมีก่อนหน้า

ถ้าสิ่งที่เราทำส่งผลให้คนส่วนใหญ่เชื่อแบบนั้นได้จริง ผมจะดีใจมากครับ ผมจะถือว่า #ฉายแล้ววันนี้ที่Netflixรามา ประสบความสำเร็จเลยล่ะ เพราะนอกจากจะตรงกับวิสัยทัศน์ของ Netflix เรื่องนี้ยังตรงกับสิ่งที่ผมและทีมเชื่อมาตลอดด้วย

เวลาทำอะไร เราตั้งใจสื่อสารกับคนดูที่เป็นคนไทย เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวทั้งการทำหนังเองและเป็นโปรดิวเซอร์ มันถูกพิสูจน์มาหลายครั้งแล้วว่าคอนเทนต์ที่เวิร์กกับคนไทย มันเดินทางด้วยตัวเองเสมอ ยิ่งคอนเทนต์จริงกับเรามากเท่าไหร่ มันยิ่งมีโอกาสไปต่อได้มากเท่านั้น ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องไปคิดแทนตั้งแต่แรกว่ายุโรปจะคิดยังไง อเมริกาจะชอบหรือเปล่า เป็นตัวเราและสื่อสารกับคนของเราดีกว่า ผมเชื่อแบบนั้น
 

ไม่แน่ว่าไทยอาจสร้างคอนเทนต์ที่โด่งดังแบบ Squid Game ขึ้นมาบ้างก็ได้

ผมว่าเป็นไปได้ (ยิ้ม)
 

เมื่อสักครู่คุณบอกว่าทั้งหมดที่ทำ คุณถือว่าเป็นหน้าที่ เลยอยากให้ช่วยสรุปให้ฟังหน่อยว่าโดยส่วนตัว ทำไมเรื่องนี้ถึงมีความหมายกับคุณขนาดนั้น

(นิ่งคิด) ในอีกมุมผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือด้วยนะครับ แต่ถ้ามาดูชั้นหนังสือที่บ้าน คนจะเดาไม่ได้เลยว่าผมชอบอ่านหนังสือแบบไหน เพราะสะเปะสะปะมาก มีตั้งแต่นิยายแปลไปจนถึงหนังสือวิทยานิพนธ์ แต่ความหลากหลายตรงนั้นเองที่ทำให้ผมรู้สึกประเทืองปัญญา IQ และ EQ ของผมเติบโต 

ในขณะเดียวกัน ผมก็ชอบคำที่พี่โดม (โดม สุขวงศ์-ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์) ที่เคยพูดว่า “ภาพยนตร์ทำให้เกิดปัญญา” ดังนั้นเมื่อความเชื่อตรงนี้ไปรวมกับสิ่งที่ผมรู้สึก ผมเลยรู้สึกว่าการทำให้คนเห็นความหลากหลายของภาพยนตร์ไทยได้ง่ายๆ เหมือนกับหนังสือที่บ้านคือสิ่งสำคัญ เพราะผมเห็นว่าความประเทืองปัญญาจะเกิดขึ้นกับคนดูเช่นกัน 

สิ่งนี้เลยกลายเป็นหน้าที่ครับ แต่ในอนาคตจะออกมาเป็นรูปแบบไหน อดใจรออีกนิด อีกไม่นานสิ่งที่พวกเราตั้งใจทำจะถูกส่งต่อไปถึงคนดูแน่นอน