ย้อนกลับไปในวันที่ 29 มิถุนายน 2022 นักศึกษาศิลปะ 3 คนจากสถาบัน Glasgow School of Art เดินเข้าไปใน Kelvingrove Art Gallery ที่ตั้งอยู่ในกรุงกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ก่อนจะใช้สีสเปรย์พ่นบนกำแพงรอบผลงานศิลปะจากศตวรรษที่ 19 อย่าง ‘My Heart’s in the Highlands’ ของ โฮราชิโอ แมคคัลลอค พร้อมทั้งใช้กาวแปะมือตัวเองเข้ากับกรอบภาพ และประกาศเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดอนุมัติให้โปรเจกต์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันและก๊าซใด ๆ ในอนาคต
ในเวลาต่อมา การเคลื่อนไหวของนักศึกษาทั้งสามคน ผู้เป็นสมาชิกของกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่ชื่อว่า ‘Just Stop Oil’ จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่ ที่มีเป้าหมายเป็นการจู่โจมงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์เพื่อส่งสารถึงรัฐบาลและประชาชนคนทั่วไป
“ฉันออกมาเรียกร้องด้วยวิธีการนี้เพราะฉันเชื่อว่าศิลปะคือการพูดความจริง และศิลปะเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงอารมณ์ที่ลึกที่สุดของเรา แต่ในช่วงเวลาวิกฤติที่เราต้องการศิลปะมากที่สุด สถาบันศิลปะกลับทำให้เราผิดหวัง แทนที่พวกเขาจะออกมาท้าทายรัฐบาล พวกเขากลับดูเหมือนจะคิดว่า แค่จัดนิทรรศการเกี่ยวกับโลกร้อนขึ้นมาก็เพียงพอแล้ว” คือข้อความส่วนหนึ่งที่ เอ็มมา บราวน์ หนึ่งในนักศึกษาที่บุกแกลเลอรีแห่งกรุงกลาสโกว

“ฉันเป็นศิลปิน ฉันรักศิลปะ แต่แทนที่จะใช้เวลาไปกับการทำงานศิลปะ ฉันเลือกที่จะออกมาเรียกร้องด้วยวิธีนี้ ต้องเข้า ๆ ออก ๆ คุก และถูกลงโทษโดยระบบกฎหมาย เพียงเพราะฉันออกมาขอร้องให้รัฐบาลปล่อยให้คนรุ่นฉันได้มีอนาคต เรายกย่องผลงานศิลปะเหล่านี้ไว้สูงส่ง แต่จะมีสิ่งใดที่มาค่าไปกว่าชีวิตอีกเหรอ?” ฮันนาห์ ทอร์เรนซ์ ไบรต์ อีกหนึ่งสมาชิกร่วมปฏิบัติการกล่าวไว้ในเหตุการณ์ครั้งนั้น
จากกลาสโกว์ สู่ลอนดอน เบอร์ลิน ฟลอเรนซ์ และล่าสุดได้ย้อนกลับมาที่ลอนดอนอีกครั้ง ปฏิบัติการจู่โจมงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรีชั้นนำกำลังแพร่สะพัดไปทั่วยุโรป โดยมีเหยื่อรายล่าสุดเป็นผลงานดอกทานตะวันของ วินเซนต์ แวนโกะห์ ที่จัดแสดงอยู่ที่หอศิลป์แห่งชาติ (ลอนดอน) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเดือดดาลไปกับการกระทำของพวกเขา แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการกระทำของนักติดกาวและสาดสีในพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อโลกศิลปะอย่างมาก โดยผลกระทบที่เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุดก็คือการที่บรรดาภัณฑารักษ์และเจ้าหน้าที่ในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำต่าง ๆ ทั่วยุโรปได้เริ่มวางมาตรการรับมือกันอย่างจ้าละหวั่น โดยเฉพาะในพิพิธภัณฑ์ที่เคยถูกจู่โจมมาแล้วนั้นได้มีการเพิ่มระดับการรักษาความปลอดภัยขึ้นมาเป็นสองเท่าด้วย
Just Stop Oil คือใคร? ทำไมงานศิลปะถึงตกเป็นเป้าโจมตี? และคนที่ทำงานในแวดวงศิลปะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับเหตุการณ์นี้บ้าง? GroundControl ขอชวนทุกคนไปออกสำรวจคำถามเหล่านี้ด้วยกัน
Just Stop Oil กลุ่มคนรุ่นใหม่ ‘ตัวแทงก์’ ด้านสิ่งแวดล้อม
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กราดเกรี้ยวกับการเห็นภาพของแวนโกะห์ถูกสาดด้วยซุปมะเขือเทศ หรือเดือดดาลกับการเห็นภาพ Primavera ของ ซันโดร บอตติเชลลี ถูกประทับด้วยมือทากาว …นั่นแสดงว่าจุดประสงค์ในการลงมือของพวกเขาสำเร็จลุล่วงแล้ว นั่นก็เพราะเป้าหมายหลักของกลุ่มนักอนุรักษ์ตัวตึงเหล่านี้ก็คือการสร้าง ‘Disruption’ ซึ่งหมายถึงการทำให้สังคมหยุดชะงัก เพื่อนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง
และไม่ใช่แค่คนชมชอบศิลปะเท่านั้นที่ชาว Just Stop Oil ไปสร้างวีรกรรมท้าตีท้าต่อย ก่อนหน้านี้พวกเขาบุกไปปั่นให้เกิดความหัวร้อนมาแล้วแทบทุกวงการ ตัวอย่างเช่น ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมาชิกหัวแถวของกลุ่มอย่าง หลุยส์ แม็คคีไชน์ วัย 21 ปีวิ่งลงไปกลางสนามฟุตบอลในแมตช์สุดเดือดระหว่างทีมเอเวอร์ตันกับนิวแคสเซิล ก่อนจะมัดตัวเองเข้ากับเสาโกล และทำให้แฟนบอลหัวร้อนทั้ง 4,000 ร่วมใจสามัคคีโห่ร้องด้วยความกราดเกรี้ยว
.
แม้จะมีวีรกรรมมาแล้วจนนับนิ้วไม่หมด แต่ที่จริงแล้ว Just Stop Oil เพิ่งถูกก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษา 2022 นี่เอง โดยเป็นการรวมตัวกันของสมาชิกในกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมสัญชาติอังกฤษอย่าง Extinction Rebellion และ Insulate Britain เพื่อสร้างเป็นกลุ่มใหม่ที่เน้นการปฏิบัติและสร้างแรงสั่นสะเทือนให้สังคม นอกจากนี้พวกเขายังมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากกลุ่มอื่น ๆ จากการที่สมาชิกของกลุ่มล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคน Gen Z โดยอายุเฉลี่ยของสมาชิกในกลุ่มนั้นอยู่ที่ 20 ปีเท่านั้น
สมาชิก Just Stop Oil กับภาพ JMW Turner. Tomson’s Aeolian Harp. 1809 ที่ Manchester Art Gallery
เป้าหมายหลักของกลุ่ม Just Stop Oil คือการกดดันให้รัฐบาลอังกฤษออกหนังสือที่ระบุว่า รัฐบาลจะไม่ออกใบอนุญาต หรืออนุมัติให้เกิดการกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันหรือก๊าซในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจ การขุดเจาะ หรือการผลิตเชื้อเพลิงในประเทศอังกฤษ โดยพวกเขามองว่า การอนุญาตให้เกิดกิจกรรมการผลิตน้ำมันในอังกฤษคือการออก ‘ใบสั่งฆ่า’ เด็ก ๆ และโอกาสในการที่จะได้มีชีวิตและเติบโตต่อไปในอนาคต รวมทั้งยังเป็นการผลักมนุษยชาติสู่หายนะจากความยากจน อดอยาก ไปถึงขั้นสงคราม
ส่วนเหตุผลที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจมุ่งโจมตีงานศิลปะดัง ๆ สร้างความปั่นป่วนในอิเวนต์ที่สังคมให้ความสนใจ ไปจนถึงการปิดถนนและเรียกร้องเคลื่อนไหวในพื้นที่สาธารณะแบบกองโจร นั่นก็เพราะพวกเขามองว่าความเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้น ‘เดี๋ยวนี้’ ด้วยเหตุนี้ การสร้างแรงกระแทกและทำให้สังคมหยุดชะงักจึงเป็นหนทางที่พวกเขามองว่าจะทำให้รัฐบาลหันมาสนใจแก้ปัญหาอย่างจริงจังได้
“เพราะ (ศิลปะ) คือสิ่งทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมอย่างมหาศาล และด้วยการกระตุ้นของเรา ในที่สุดผู้คนก็เริ่มพูดถึงสารและข้อเรียกร้องที่เราเสนอ” แอนนา ฮอลแลนด์ หนึ่งในผู้สาดซุปใส่ภาพ Sunflower กล่าว “ณ ขณะนี้ คนปากีสถาน 33 ล้านคนต้องย้ายออกจากบ้านเพราะน้ำท่วมใหญ่ ในขณะที่ในแอฟริกาตะวันออก คน 36 ล้านคนต้องทุกข์ทรมานกับความอดอยาก แต่แค่วัยรุ่นสองคนเอาซุปไปสาดใส่ภาพวาด ก็สามารถทำให้คนพูดถึงปัญหาเหล่านี้ได้มากกว่าที่เคยมีมา”
“การใช้งานศิลปะอันสวยงามก็เป็นการสื่อสารที่ตรงประเด็น เมื่อคนเห็นภาพวาดเหล่านี้ (ถูกสาดซุปหรือทากาวติด) พวกเขาก็มีปฏิกิริยาตอบโต้ว่า ‘ฉันอยากปกป้องสิ่งที่ทั้งสวยงามและล้ำค่า’ แล้วทำไมผู้คนถึงไม่มีปฏิกิริยาแบบนี้เวลาเห็นอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงทำงายโลกและผู้คนบ้างล่ะ?” ฟีบี พลัมเมอร์ อีกหนึ่งมือสาดซุปกล่าว
นอกจากนี้ทั้งสองยังให้เผยเบื้องหลังในการเลือกงานศิลปะชิ้นเป้าหมายว่า ความตั้งใจแรกของพวกเขาคือการสาดซุปใส่ผลงานของ แอนดี วอร์ฮอล ซึ่งสื่อถึงการบริโภคนิยม แต่สุดท้ายพวกเขาก็เลือกผลงาน Sunflower ของแวนโกะห์ ซึ่งในตอนที่มีชีวิตอยู่นั้นเป็นศิลปินตกอับแทบไม่มีจะกิน ซึ่งหากแวนโกหะห์มีชีวิตอยู่ในยุคนี้ เขาก็เป็นอีกคนหนึ่งในฤดูหนาวนี้ที่จำต้องเลือกว่าจะนำเงินไปซื้ออาหาร หรือเก็บไว้จ่ายค่าแก๊สเพื่อรักษาความอบอุ่นในบ้านดี?
“แวนโกะห์เคยกล่าวว่า ‘ชีวิตจะเป็นอย่างไรถ้าเราไม่มีความกล้าที่จะทำสิ่งใดเลย?’ ในความคิดของฉัน แวนโกะห์คงเป็นอีกคนหนึ่งที่ตระหนักว่าเราต้องลงมือทำ และแสดงออกว่าประชาชนจะไม่จำยอมอีกต่อไป ในวิถีที่ปราศจากความรุนแรง” พลัมเมอร์อธิบาย
“ภาพวาดชิ้นนี้ได้รับการปกป้องไว้หลังกระจก แต่ ณ ตอนนี้ ผู้คนในซีกโลกทางใต้กลับไม่ได้รับการปกป้องใด ๆ เลย เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ที่อนาคตของพวกเราไม่ได้รับการปกป้องแต่อย่างใด”
ใครคือผู้สนับสนุนหลักของ Just Stop Oil
Just Stop Oil ไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างไรที่มาที่ไป และคงไม่สามารถก่อการอุกอาจได้หากไม่มี ‘แบ็คอัพ’ ที่คอยสนับสนุนด้านการเงิน และคอยช่วยพวกเขาจ่ายค่าปรับจากการจู่โจมงานศิลปะต่าง ๆ
ผู้สนับสนุนหลักของ Just Stop Oil คือ Climate Emergency Fund องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่มีฐานที่ตั้งอยู่ในลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ก่อตั้งโดยสามมหาเศรษฐีชาวอเมริกันคือ เทเวอร์ เนลสัน ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง WasteFuel บริษัทผู้ผลิตเชื้อเพลิงที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้, รอรี เคนเนดี นักทำภาพยนตร์และลูกสาวของผู้ว่าการรัฐ โรเบิร์ต เคนเนดี และ ไอลีน เก็ตตี หลานสาวของมหาเศรษฐีน้ำมัน ฌอง-ปอล เก็ตตี ผู้ก่อตั้งบริษัทน้ำมัน Getty Oil นั่นเอง
กลุ่ม Ultima Generazione (Last Generation) กับผลงานของ Sandro Botticelli 'Primavera (Spring)' ที่ Uffizi Galleries. Florence
สมาชิก Just Stop Oil แปะมือทากาวเข้ากับกรอบภาพ Peach Trees in Blossom (1889) ของ วินเซนต์ แวนโกหะ์ ที่. The Courtauld Gallery ลอนดอน
Just Stop Oil เป็นเพียงหนึ่งใน 86 กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก Climate Emergency Fund โดยยังมีกลุ่มที่เคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกันอย่าง Ultima Generazione ที่เปรียบเสมือน Just Stop Oil สัญชาติอิตาเลียน ผู้เคยสร้างวีรกรรมติดกาวที่มือกับภาพ Primavera ของบอตติเชลลี ในพิพิธภัณฑ์อุฟฟิซี และก่อนหน้านี้เคยติดกาวที่มือตัวเองกับฐานประติมากรรม Laocoön and His Sons ที่พิพิธภัณฑ์วาติกันมาแล้ว ก็ได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรนี้เช่นกัน
“การประท้วงเหล่านี้สุดยอดมาก ๆ” มาร์กาเร็ต ไคลน์ ซาลามอน ประธานองค์กร Climate Emergency Fund ให้เหตุผลในการสนับสนุนกลุ่มตัวแทงก์ด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ “ผู้คนมาชมงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ แต่เราต้องการให้พวกเขามองเห็นภาพความเป็นจริงเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนมาก”
ซาลามอนเชื่อว่า การประท้วงด้วยวิธีการสร้างแรงสั่นสะเทือนสังคมเช่นนี้เป็นวิธีการที่ได้ผลดี เพราะทำให้สารถูกส่งต่อผ่านสื่อต่าง ๆ จนทำให้มีเข้าร่วมขบวนการมากขึ้น
หลากหลายความเห็นในโลกศิลปะ
ทันทีที่ภาพผลงาน Sunflower ของแวนโกะห์ที่มีซุปสีส้มถูกแพร่กระจายออกไป โลกโซเชียลก็ร้อนเป็นไฟ ก่อนที่จะตามมาด้วยปฏิกิริยาตอบโต้ของผู้คนที่มีตั้งแต่โกรธจัด ไปจนถึงเข้าใจและเอาใจช่วยกลุ่ม
ปรากฏการณ์เสียงแตกเช่นนี้ก็เกิดขึ้นในแวดวงคนทำงานศิลปะเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจไปมากกว่านั้นก็คือความคิดเห็นของสมาชิกในโลกศิลปะที่มีต่อคำถามของผู้ประท้วง ‘อะไรสำคัญมากกว่ากัน? ระหว่างชีวิตกับศิลปะ?’
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและต่อต้านเทรนด์การบุกโจมตีงานศิลปะแบบสุด ๆ ก็หนีไม่พ้นเหล่าภัณฑารักษ์ในพิพิธภัณฑ์ใหญ่ทั่วยุโรป รวมไปถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ผลงานศิลปะที่เป็ามรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้โดยตรง ตัวอย่างเช่น ผู้อำนวยการสภาวัฒนธรรมเยอรมัน โอลาฟ ซิมเมอร์มาน ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นหลังกลุ่ม ‘Letzte Generation’ แปะกาวที่มือกับกรอบภาพ Massacre of the Innocents ของ ปีเตอร์ ปอล รูเบนส์ ที่จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Alte Pinakothek ว่า “ภาพวาดที่เกือบได้รับความเสียหายชิ้นนี้นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก และมันก็ควรจะได้รับการปกป้องเช่นเดียวกับสิ่งแวดล้อมของเรา”
กลุ่ม Ultima Generazione ติดกาวที่มือของตัวเองเข้ากับฐานงานประติมากรรม Laocoön and His Sons (1506) ที่ Vatican Museum กรุงโรม
แม้ว่าสุดท้ายแล้วผลงานศิลปะเก่าแก่ที่ตกเป็นเป้าโจมตีเหล่านี้จะไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ เพราะทุกชิ้นล้วนได้รับการป้องกันจากกระจกนิรภัยซึ่งเป็นมาตรฐานของงานอนุรักษ์ในพิพิธภัณฑ์อยู่แล้ว แต่ก็มีนักอนุรักษ์บางส่วนที่แสดงความคิดเห็นว่า ที่จริงแล้วกรอบรูปที่ถูกผู้ประท้วงประทับมือเปื้อนกาวนั้นก็ถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นหนึ่งเหมือนกัน เพราะบางกรอบก็มีอายุพอ ๆ กับรูป ตามที่ คอรินา ร็อจ รองประธานสถาบันงานอนุรักษ์แห่งอเมริกาให้ความเห็น นอกจากนี้เธอยังเสริมว่า แม้ว่าเธอจะไม่ได้ต่อต้านการกระทำรูปแบบนี้ เพราะมองว่าพื้นที่ศิลปะเป็นพื้นที่สำหรับการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของทุกคน แต่เธอมองว่า ยังมีวิธีการอีกมากมายในการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือเรียกแนวร่วม ซึ่งน่าจะได้ผลดีมากกว่า
หนึ่งในความคิดเห็นที่น่าสนใจมาจาก ฟิลิปป์ เคนนิคอต นักวิจารณ์ศิลปะเจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์จาก Washington Post ที่เข้าใจความเหตุผลและความจำเป็นที่ทำให้ทางกลุ่มต้องออกมาเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อมองการกระทำดังกล่าวในแง่ของการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เขาก็มองว่าสารที่ถูกส่งออกมานั้นกลับ ‘ไม่ถึง’ และไม่ได้สื่อถึงเป้าหมายของกลุ่มได้ดีพอ
“ความโกรธของสมาชิกกลุ่มและผู้สนับสนุนนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ พวกเขาคือกลุ่มคนที่จะต้องเผชิญหน้าและมีชีวิตอยู่กับหายนะของโลกในอนาคต พวกเขาจะต้องเผชิญหน้ากับการตัดสินใจที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ โดยเฉพาะการตัดสินใจว่า พวกเขาจะมีลูกเพื่อให้มนุษยชาติดำรงอยู่ต่อไป หรือจะไม่มีลูกเพื่อไม่ให้เด็ก ๆ คนไหนต้องทนกับความยากลำบากและช่วงชีวิตที่อาจแสนสั้น

“แน่นอนว่าโลกศิลปะไม่ได้บริสุทธิ์ไร้เดียงสา เงินที่ขับเคลื่อนโลกศิลปะก็ล้วนมาจากระบบเศรษฐกิจที่ผลิตคาร์บอนจำนวนมหาศาล ในขณะที่กิจกรรมต่าง ๆ ในโลกศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลศิลปะ งานเบียนนาเล หรือนิทรรศการใหญ่ ๆ ก็ล้วนต้องพึ่งพาการบริโภคและการเดินทางที่ก่อมลพิษมหาศาล ถ้าพลัมเมอร์ (หนึ่งในผู้สาดซุปมะเขือเทศใส่ภาพแวนโกะห์) เอาซุปไปสาดใส่งานอาร์ตแฟร์ระดับโลก เธออาจจุดบทสนทนาที่ฟังดูเข้าท่าและจิกกัดโลกศิลปะได้เจ็บถึงใจกว่า ‘จำเป็นไหมที่เราต้องบินไปเวนิซเบียนนาเลทุกสองปี?’ ‘จะดีกว่าไหมถ้าคุณเอาเงินล้านของตัวเองไปช่วยวิกฤติโลกร้อน แทนที่จะเอามาซื้องานขาด ๆ ของแบงซีแล้วเก็บไว้ดูคนเดียว?’
“[…] ถ้าเรามองว่าศิลปะเป็นแค่สัญลักษณ์ ของซื้อของขาย หรือสินค้าไฮโซโก้หรู ถ้างั้นการตั้งคำถามว่า ‘อะไรมีค่ามากกว่ากัน ระหว่างชีวิตคนกับศิลปะ’ ก็อาจเป็นเรื่องสมเหตุสมผล แต่ถ้าเรามองว่าศิลปะเป็นวัฒนธรรมฝังตัว (Embodied Culture) เราก็ควรให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และการคงคุณค่าของมันให้คงอยู่ ไม่ว่าในวิกฤติทางธรรมชาติใดก็ตาม”
อ้างอิง