แกะรอยฝันเฟื่อง ๆ กับเรื่องล่องลอยสุดคอนทราสต์ ในภาพวาดของ ‘katchwaters’

Post on 28 March

ถ้าคุณมองภาพทั้งหมดของ ‘katchwaters’ หรือ ‘ศิลปี กอบกิจวัฒนา’ แล้วรู้สึกจับต้นชนปลายไม่ถูก ก็ถือว่าแกะรอยมาถูกทางแล้ว เพราะความไม่ปะติดปะต่อกันนี่แหละ คือเอกลักษณ์ที่ศิลปิน นักเขียน อาร์ตไดเรกเตอร์ และนักวาดภาพประกอบคนนี้ เขาตั้งใจจะถ่ายทอดออกมาผ่านภาพความฝันเฟื่องฟุ้ง ๆ และเรื่องราวอันสะเปสะปะสุดคอนทราสต์ ให้ออกมาเป็นสไตล์เฉพาะตัว

เธอได้เล่าคอนเซปต์การทำงานของตัวเองให้เราฟังว่า “เราเป็นคนชอบวาดรูป ชอบงานดีไซน์ แล้วก็ชอบการเล่าเรื่องด้วย แต่เรื่องที่เราชอบเล่ามักเป็นเรื่องราวที่ไม่ปะติดปะต่อ ฟุ้ง ๆ ไม่เป็นรูปไม่เป็นร่าง บางครั้งก็ไม่มีที่มาที่ไป เหมือนฝันเฟื่องอะไรทํานองนั้นเลย”

“ภาพที่ออกมาก็เลยเป็นภาพตามที่ทุกคนเห็น โดยเรามักจะพาตัวละครของเราไปอยู่ในสถานที่แปลก ๆ ที่บอกไม่ได้ว่าอยู่ที่ไหน ไม่รู้ว่าเป็นใคร ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นในช่วงเวลาไหนของวันด้วยซ้ํา และอีกสิ่งหนึ่งที่ชอบ ก็คงเป็นการเล่นกับพวกแสงเงา และสีสันสด ๆ ที่อาจจะทําให้คนดูรู้สึกว่ามันสนุกสนาน ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วองค์ประกอบของภาพหรือสิ่งที่เราวาดมักจะพูดเรื่องความตาย ความแห้งแล้ง ความเศร้า ที่ไม่มีทิศทางและสะเปะสะปะมาก ๆ เลย ถ้าให้พูดตรง ๆ ก็คงต้องบอกว่าเราอยากเห็นความตรงกันข้ามกันในตัวงาน ทั้งในเรื่องที่เล่า อารมณ์ความรู้สึก และบรรยากาศที่สื่อออกมาด้วย เพราะเราชอบอะไรแบบนั้นมาก ๆ เลย”

สำหรับวิธีการที่ช่วยให้ภาพของเธอมีความคอนทราสต์ได้อย่างชัดเจนแบบนี้ ก็คือการเล่นกับแสงและเงา โดยเธอได้อธิบายให้เราฟังว่า “เราคิดว่าสิ่งที่ทำให้องค์ประกอบประหลาด ๆ ไม่มีที่มาที่ไปเหล่านี้มันสัมฤทธิผลในสายตาผู้ชมได้ น่าจะมาจากเรื่องสีและแสงเงาเลย อย่างตอนนี้งานของเราจะเป็น Digital art ทำขึ้นในโปรแกรม Adobe Photoshop แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ เรากําลังคิดจะดัดแปลงผลงานไปเป็น Physical Art แล้ว และคิดว่าคงเลือกใช้เทคนิคสีอะคริลิกหรือไม่ก็สีน้ํามันนะ”

อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้นว่านอกจากศิลปินเขาจะสร้างผลงานผ่านรูปภาพแล้ว เธอก็ยังเป็นนักเล่าเรื่องตัวยงผู้ชื่นชอบการถ่ายทอดความฝันเฟื่องของตัวเองในรูปแบบงานเขียนด้วย อย่างล่าสุดนี้เธอก็เพิ่งได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งใน 12 นักเขียน ในโปรเจกต์ ‘Writer in Residence’ โครงการนักเขียนในพำนัก ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ‘Writer’s Cabin’ หรือ ‘บ้านพักนักเขียน’ ที่เชิญชวนเหล่านักเขียนมากประสบการณ์มาพำนักร่วมกัน ณ บ้านพักหนึ่งชั้นในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประกอบสร้างไอเดียภายใต้บรรยากาศเดียวกัน ให้เป็นเรื่องสั้นตามลายเซ็นของตัวเองกันคนละหนึ่งเรื่อง ในชื่อหนังสือ ‘Related Storeys: บ้าน ชั้น เธอ เรื่องเล่าในพำนัก’

และก่อนที่บทสนทนาของพวกเราจะจบลง อีกหนึ่งคำถามที่เรารู้สึกสงสัยสุด ๆ ก็คือที่มาของนามปากกาอย่าง ‘katchwaters’ ที่ไม่รู้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และมีความหมายอย่างไรบ้าง พอได้ยินคำถามนี้ไป เธอก็ตอบกลับเรามาอย่างอารมณ์ดีว่า “ฮ่า ๆ ที่มาของมันจะตลก ๆ นิดนึงนะคะ ความจริงแล้วมันมีที่มาจากแมวน้ํา ซึ่งเป็นชื่อเล่นของเรานี่แหละค่ะ โดยแมวน้ําในภาษาอังกฤษคือคำว่า ‘Seal’ แต่เพื่อนบางคนชอบเรียกเราว่า ‘cat water’ แบบขํา ๆ”

“และในช่วงเวลาตอนสร้างเพจขึ้นมา เราก็สนใจและไปเรียนภาษาเยอรมันมาค่ะ เลยพบว่าแมวในภาษาเยอรมันคือ ‘Die Katze’ อ่านว่า ‘ดี คัทเซอร์’ เรารู้สึกว่าวิธีการออกเสียงคําว่าแมวมันไม่ต่างจากภาษาอังกฤษมาก แต่หางเสียงดูน่ารักดี เลยเอามาสลับกับเสียงของคําว่า ‘Catch’ ที่แปลว่าจับในภาษาอังกฤษ แล้วเติมคำว่า ‘Water’ ที่มี ‘s’ เพื่อสื่อให้เป็นประเภทของมหาสมุทรเข้าไปง่าย ๆ เลยค่ะ ฮ่าๆ อาจจะไร้สาระไปหน่อย แต่ตามนั้นเลย”

พอได้ทราบที่มาที่ไปแบบนี้แล้ว ก็สัมผัสถึงความน่ารักของตัวศิลปินได้ชัดเจนมาก ๆ ซึ่งถ้าใครสนใจในเรื่องราวฝันเฟื่องเลื่อนลอยตามแบบฉบับของ ‘katchwaters’ ก็สามารถตามไปแกะรอยเรื่องราวต่าง ๆ ของเธอได้ทาง https://www.instagram.com/katchwaters/

หรือถ้าสนใจอยากลองเสพในรูปแบบตัวหนังสือ ตอนนี้หนังสือ ‘Related Storeys: บ้าน ชั้น เธอ เรื่องเล่าในพำนัก’ จากโปรเจกต์ ‘Writer in Residence’ ก็กำลังเปิดพรีออเดอร์อยู่พอดี สามารถตามไปสนับสนุนกันได้ที่ https://www.facebook.com/share/p/5bUjF6yJtxR3uN8A/?