Lazuli ศิลปินผู้เชื่อมประติมากรรมปูนปั้นสไตล์ไทยเข้ากับโลกร่วมสมัยในแบบของตัวเอง

Post on 25 September

หากทุกคนลองมองภาพบนโพสต์นี้ไปทีละภาพ ก็อาจจะคิดว่างานประติมากรรมเหล่านี้คืองานประติมากรรมปูนปั้นแบบดั้งเดิมที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามวัดวาอารามของไทย แต่ถ้าเราลองซูมภาพเข้าไปให้ใกล้มากกว่านี้อีกสักหน่อย ก็จะเห็นสิ่งแปลกประหลาดที่ซ่อนอยู่ เพราะบนพื้นที่ที่ควรจะประดับประดาไปด้วยเศษกระเบื้องและกระจกสีสวยคุ้นตา กลับกลายเป็นวัตถุพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ จากโลกร่วมสมัย ที่เข้ามาเติมเต็มสีสันและลวดลายใหม่ ๆ ให้กับงานประติมากรรมเหล่านี้

ซึ่งศิลปินที่นำสองสิ่งนี้มาจับคู่กันให้กลายเป็นงานศิลปะร่วมสมัย ก็คือ ‘Lazuli’ หรือ ‘สุพรรณวศรี งามปัญจะ’ ศิลปินและครูสอนศิลปะอิสระ ผู้สนใจในสถาปัตยกรรมไทยปูนปั้นประดับกระเบื้อง แล้วนำความชอบนั้นมาทำงานร่วมกันกับสิ่งของเครื่องใช้พลาสติก เพื่อบอกเล่าถึงสังคมในปัจจุบัน และล่าสุด เธอก็ได้นำผลงานเหล่านี้มาจัดแสดงให้เราได้ชมกันแบบเต็ม ๆ ตา ในนิทรรศการ ‘อุดมคติใหม่’ บนพื้นที่ของพีเพิลส์แกลเลอรี ห้อง P3 ชั้น 2 ณ Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และเมื่อเราได้มีโอกาสพูดคุยกับเธอ ก็เลยขอให้เธอช่วยเล่าเรื่องราวทั้งหมดของงานประติมากรรมเหล่านี้ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นความสนใจ กระบวนการคิด รวมไปถึงเบื้องหลังนิทรรศการล่าสุดครั้งนี้ด้วย

“เราเรียนจบจาก สาขาศิลปไทย คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็เลยมีความสนใจศิลปะไทยรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมไทยปูนปั้นประดับกระเบื้อง เรารู้สึกถึงความมีเสน่ห์ ความเท่ ความสวยงามเฉพาะตัวของรูปทรงโบสถ์ เจดีย์ ลวดลายไทยและสีสันของวัสดุที่ประดับลงไปบนสถาปัตยกรรม ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่า เราสามารถเห็นภูมิปัญญา ความเชื่อ และวิถีชีวิตในอดีตจากของที่ฝังลงบนสถาปัตยกรรม เราจึงอยากที่จะบันทึกประวัติศาสตร์ในปัจจุบันบ้าง โดยใช้สิ่งของเครื่องใช้พลาสติก ตุ๊กตา วัสดุสำเร็จรูปที่ใช้ในปัจจุบันแทนกระเบื้องของเดิม เพื่อบอกเล่าถึงสังคมในปัจจุบัน”

“สำหรับเอกลักษณ์ในงานของเรา เรามองว่าก็คือการใช้เทคนิคปูนปั้นไทยแบบโบราณนั่นแหละ แต่มีการปรับเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ประดับเป็นวัสดุสมัยปัจจุบันที่มีรูปทรงหลากหลาย จนเกิดเป็นลวดลายบนผลงาน โดยวัสดุที่เราเลือกใช้เปรียบเสมือนสิ่งที่สะท้อนเรื่องราวทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนในสังคมในปัจจุบัน”

เธอยังเสริมอีกว่า “ในส่วนรูปทรงของผลงาน เรานำมาจากเค้าโครง ระนาบ และมุมหนึ่งในสถาปัตยกรรมไทย จากนั้นนำมาตกผลึกผ่านกระบวนการคิดจนเกิดเป็นรูปทรงใหม่ สำหรับสีสันสดใส ก็มาจากการเรียงกันของวัสดุต่าง ๆ ทำให้ชิ้นงานเกิดความสนุก พอองค์ประกอบทั้งหมดนี้มารวมกัน มันก็จะกลายเป็นลวดลายไทย ทำให้สามารถมองได้อย่างไม่มีเบื่อเลย”

“ในส่วนของนิทรรศการอุดมคติใหม่ มีจุดเริ่มต้นมาจากเราชอบไปเที่ยววัดบ่อย ๆ แล้วสังเกตเห็นสถาปัตยกรรมที่มีการปะติดถ้วยจานชามเซรามิกหรือกระจกในสมัยก่อนแล้วรู้สึกประทับใจ เพราะมีทั้งความละเอียด ความประณีตของลวดลายปูนปั้น สีสันของกระเบื้อง ที่ถูกคิดวางแผนมาอย่างดี จนกลับไปหาข้อมูลพบว่าคือเทคนิคปูนปั้นประดับเบญจรงค์ ด้วยความที่เกิดความประทับใจในเอกลักษณ์เฉพาะตัวของงานปูนปั้นอยู่แล้ว จึงได้เลือกกระบวนการปูนปั้นเป็นตัวกลางถ่ายทอดผลงาน จากนั้นค่อย ๆ ทดลอง ขัดเกลารูปแบบวิธีการ ฝีมือรวมถึงแนวความคิด มาจนถึงนิทรรศการในครั้งนี้”

พอเห็นความตั้งใจแบบนี้แล้ว เราเลยถามเธอต่อว่าอยากให้ผู้ชมเห็นอะไรจากนิทรรศการนี้บ้าง ซึ่งเธอก็ได้บอกกับเราว่า “เราอยากให้ผู้ชมได้เห็นความงามของงานประติมากรรมไทยในรูปแบบต่างออกไปจากเดิม ที่มีความสนุก สีสันสดใส และฟอร์มผลงานที่มีรูปทรงแปลกตา และหวังว่าผลงานชุดนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชม สร้างรอยยิ้มความสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับวัสดุทุกชิ้นที่เราตั้งใจเลือก และใช้พื้นที่นิทรรศการพูดคุยแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นซึ่งกันและกัน”

สู่กาล หมายเลข 2

ผลงานชิ้นนี้เกิดขึ้นมาจากการทดลองหาความเป็นไปได้ทางเทคนิค ภายใต้แนวความคิดการนำเสนอสังคมไทยในปัจจุบันที่มีการขับเคลื่อนไปตามยุคตามสมัย ผ่านรูปแบบการเคลื่อนย้ายรูปแบบของกระบวนลายสถาปัตยกรรม

ผลงานนี้เกิดขึ้นช่วงแรกที่เริ่มทำเทคนิคปูนปั้นประดับเซรามิก โดยคำนึงถึงความงาม ความลงตัวของกระบวนลายไทย ความพิเศษของชิ้นนี้คือ เป็นชิ้นแรกๆที่เริ่มทดลอง ลองผิดลองถูก จนพอจับทางได้ รู้สึกสนุกที่ได้เรียงกระเบื้องได้วางแผนลวดลายไทย วางแผนสีภาพรวมในงาน และมีการปั้นปูนขึ้นมาเป็นลายไทย เป็นชิ้นที่เหมือนจุดประกายความคิดความชอบปูนปั้นไทยยิ่งขึ้นไปอีก เป็นใบเบิกทางที่ดีในการเริ่มทำงานชุดต่อๆไป

อุดมคติใหม่ หมายเลข 1

ความพิเศษของชิ้นนี้คือ การผสมผสานหลายรูปแบบ มีใช้การปั้นปูนปั้น ใช้วัสดุที่นำมาย่อยแล้วเรียงต่อกันเป็นลวดลายไทย และใช้วัสดุสำเร็จรูปที่เป็นตุ๊กตากับพลาสติกมาใช้ในส่วนที่ต้องการให้มีความนูน กระบวนการพวกนี้ทำให้ภาพรวมของงานมีความน่าสนใจด้วยพื้นผิวที่หลากหลาย โดยรูปทรงของชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัดอรุณฯ

อุดมคติใหม่ หมายเลข 3

ผลงานชุดอุดมคติใหม่ทั้งสี่ชิ้นนี้มีที่มาที่ไปแนวคิดเดียวกัน คือเราได้รับการซึมซับความเป็นพหุวัฒนธรรมจากการใช้ชีวิตประจำวัน เลือกใช้รูปทรงจากมุมมองหนึ่งในสถาปัตยกรรมไทยอันเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความดีงามของผู้คนในอดีต และเกิดความประทับใจในเอกลักษณ์เฉพาะตัวของงานปูนปั้นประดับเบญจรงค์จึงนำเสนอผลงานผ่านกระบวนการทำปูนปั้นประดับเบญจรงค์ แต่ได้ประยุกต์เทคนิคใช้วัสดุสำเร็จรูปมาแทนที่ของเดิม อีกทั้งได้มีการสั่งนำเข้าวัสดุสำเร็จรูป จากประเทศจีนผ่านทางออนไลน์ เพื่ออุปมาถึงอดีตที่คนไทยได้มีการนำเข้า กระเบื้องเบญจรงค์ ถ้วย จาน ชาม จากประเทศจีนผ่านเรือสำเภา มาใช้ในสมัยนั้น และส่วนหนึ่งได้ถูกนำมาใช้ประดับตกแต่งสถาปัตยกรรมทางศาสนา กระบวนการทั้งหมดนี้สร้างขึ้นเพื่อต้องการสื่อถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกยุคใหม่ บริบทในสังคมปัจจุบัน ข้าวของที่ใช้ และการใช้ชีวิตที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันนี้

ผลงานชิ้นนี้เกิดขึ้นจากเราไปเก็บข้อมูลสถาปัตยกรรมในวัดโพธิ์ แล้วรู้สึกสนใจพระเจดีย์รายอย่างมาก จึงนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างรูปทรงของงานชิ้นนี้ เราตั้งใจเลือกวัสดุทุกชิ้นเพื่อนำมาประกอบกันเป็นลวดลายโดยอิงมาจากลายไทย และใช้พลาสติกไล่สีเป็นค่าน้ำหนัก เพื่อสร้างมิติในผลงาน

อุดมคติใหม่ หมายเลข 5

ความพิเศษของชิ้นนี้คือพอทำงานมาสักระยะ เราเริ่มสนใจในแสงและเงาของงานสถาปัตยกรรม งานชิ้นนี้จะมีการใช้สีของวัสดุเป็นตัวแยกน้ำหนัก โดยใช้วัสดุสีอ่อนประดับลงในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นแสง และใช้สีเข้มในพื้นกำหนดให้เป็นฝั่งเงา ได้รับแรงบันดาลใจจากหลักความเป็นจริงเมื่อมีแสงกระทบ

Pathway

ผลงานชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากกระบวนลายที่เราชอบมากที่สุด คือลายหน้ากระดาน ตกผลึกออกมาเป็นรูปทรงที่มีระนาบ สีรุ้งในงานเปรียบเหมือนสีของแสงที่หักเหอยู่บนอากาศแล้วมากระทบกับกระเบื้อง

ก่อนจะจบบทสนทนาในครั้งนี้ เราก็ยังชวนเธอให้ช่วยแชร์ถึงวิธีการค้นหาสไตล์การทำงานของตัวเอง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น ๆ ที่อยากก้าวเข้าสู่เส้นทางศิลปินแบบนี้เหมือนกัน เธอเลยแชร์ให้ฟังว่า “ส่วนตัวคิดว่าการหาสไตล์เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายเลย เพราะเราต้องให้เวลากับเขา คือเรารู้สึกว่ามันคือการทดลองอย่างสม่ำเสมอ ค้นคว้าข้อมูลให้รู้จริง ลองผิดลองถูกและพูดคุยกับตัวเองตลอดว่าสิ่งนี้ใช่หรือไม่ ระหว่างทำงานมีความสุขหรือเปล่า มองดูผลงานตอนเสร็จสมบูรณ์แล้วชอบหรือไม่”

ถ้าใครอยากชมผลงานทั้งหมดของ Lazuli หรือ สุพรรณวศรี งามปัญจะ แบบเต็ม ๆ ก็สามารถตามไปชมผลงานของเธอได้ที่นิทรรศการ ‘อุดมคติใหม่’ ยังคงจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ - 29 กันยายน 2567 ณ พีเพิลส์แกลเลอรี ห้อง P3 ชั้น 2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

หรือติดตามผลงานอื่น ๆ ในอนาคตของเธอได้ที่ https://www.instagram.com/lazuli.baji/