ถ้าผู้นำประเทศสองที่คุยกัน เราเรียกว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ถ้าศิลปินหรือประชาชนเชื่อมต่อกันเองโดยตรงล่ะ? เราเรียกสิ่งนั้นว่าอะไร? และมันสำคัญอย่างไร?
คำถามนี้คือจุดตั้งต้นของบทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างเรา กับสามกลุ่มศิลปะจากคาบสมุทรมลายูที่มาร่วมเทศกาล ‘Tolong Menolong’ ที่ Patani Artspace จังหวัดปัตตานี
เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ จาก Patani Artspace บอกว่า ในระดับรัฐบาล เรามักพูดถึงอาเซียน พูดถึงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ แต่เมื่อเกิดปัญหาจริง ๆ รัฐต่าง ๆ กลับไม่ยอมกัน ต่างฝ่ายต่างปกป้องผลประโยชน์ตัวเอง ในฐานะศิลปิน พวกเขาไม่อยากอยู่ในโครงสร้างแบบนั้น จึงเลือกจะรวมตัวกันเองในระดับประชาชน เพื่อผนึกกำลังเคียงข้างผู้คนที่กำลังเผชิญปัญหา และอาจไม่สามารถพึ่งพารัฐได้เลย
ทำนองเดียวกันกับที่ Adi จากกลุ่ม Pangrok Sulap ของมาเลเซียบอกว่า “ความเห็นอกเห็นใจมันเดินทางได้ ข้ามเหนือหนังสือเดินทาง” การเชื่อมโยงกันของประชาชน ไม่ต้องมีตราประทับ ไม่ต้องใช้พาสปอร์ต นี่คือพลังของการช่วยเหลือกันเองในแบบที่ไม่ผ่านระบบทางการ
การรวมตัวกันของทั้งสามกลุ่มศิลปะในเทศกาลนี้ ไม่ว่าจะเป็น Patani Artspace จากแดนด้ามขวานของไทน, Pangrok Sulap และ Taring Padi จากอินโดนีเซีย ไม่ใช่แค่การจัดนิทรรศการหรือแสดงผลงานศิลปะ แต่มันคือการตั้งคำถามกับโครงสร้างที่อยู่เหนือหัวพวกเขาอยู่ทุกวัน พวกเขาชวนกันคิดถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการจัดตั้งรวมกลุ่มแบบ ‘นอกระบบ’ ที่ไม่ต้องรอการอนุญาตจากอำนาจใด
Adi เล่าถึงบรรยากาศการเมืองในมาเลเซียว่า นักการเมืองสามารถย้ายขั้วได้เสมอ เปลี่ยนพรรคไปมาแบบไม่ยึดโยงกับอุดมการณ์ มันจึงไม่ใช่แค่การต้านใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือการตั้งคำถามกับโครงสร้างรัฐทั้งระบบ ส่วน Ucup Baik จาก Taring Padi ก็บอกว่า หลังจากโค่นซูฮาร์โตได้ อินโดนีเซียยังต้องมีศิลปะการเมืองต่อไป เพราะปัญหาไม่ได้จบที่การโค่นเผด็จการคนหนึ่ง แต่มันคือการสู้กับโครงสร้างอำนาจที่ลึกกว่านั้น
พวกเขารู้ดีว่าการเรียกร้องให้รัฐบาลทำอะไรบางอย่างเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นในระดับของประชาชนเอง การลงมือทำจึงสำคัญที่สุด และการทำงานศิลปะที่พวกเขารวมตัวกันทำอยู่ ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งในการผลักดันให้รัฐต้องหันมามองความเคลื่อนไหวเหล่านี้
บทสนทนานี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของงานศิลปะ แต่คือการเดินทางคู่ขนานระหว่างการสร้างงานกับการตั้งคำถามทางการเมือง มันคือการพูดถึงประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ความรู้สึกของการเป็นคนนอกในระบบรัฐชาติ มันคือการพูดถึงเวทย์มนต์ของการรวมกลุ่ม ที่จริง ๆ แล้วอาจซ่อนอยู่ในตัวพวกเราทุกคน และในเวลาที่โลกเต็มไปด้วยความเปราะบาง การรวมตัวแบบนี้อาจกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้เพื่ออนาคตที่อยากเห็น

GroundControl
พวกคุณดูสนิทกันมาก เทศกาลนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทุกคนได้เจอกันใช่ไหม
Pangrok Sulap
พวกเราเคยพบ Taring Padi มาแล้วนิดหน่อยที่งาน Documenta Fifteen ตอนนั้นเป็นครั้งแรกเลยที่ผมได้ไปทัวร์ยุโรป ซึ่งแรก ๆ ก็กลัวอยู่บ้าง แล้วพอดีช่วงนั้นโรคโควิดก็ยังระบาดอยู่ด้วย แต่พอไปถึงก็ตื่นเต้นมากที่จะพบไอดอลของผม
GroundControl
คุณมองพวกเขาเป็นไอดอลเลยหรอ
Pangrok Sulap
ใช่ เพราะเรามาจากรากแบบพังก์เหมือนกัน ตอนที่เรารวมตัวกันในปี 2010 พวกเขาก็ได้เริ่มมาก่อนนานมากแล้ว
สำหรับชาวมาเลเซีย อินโดนีเซียเป็นเหมือนเข็มทิศนำทางของเรา ในแง่วรรณกรรม ภาพยนตร์ หรือดนตรี แน่นอนว่าเราจึงมีหลายอย่างที่เหมือนกัน เช่นในแวดวงดนตรีใต้ดินหรือแวดวงศิลปะ ซึ่งผมก็มักได้ยินชื่อของ Taring Padi ขึ้นมาเสมอในช่วงที่เราเริ่มรวมตัวกัน พวกเราไปตามร้านเน็ตแล้วก็หาข้อมูลของพวกเขา มันเลยเหมือนกับเรารู้จักพวกเขามาก่อนแล้ว
และเราก็ชื่นชมพวกอุดมการณ์ของพวกเขา พวกวิธีที่เขาประท้วงบนท้องถนน ซึ่งเราอ่านเจอบ้าง ได้ยินจากเพื่อนบ้าง และที่สำคัญคือพวกเขาทำงานศิลปะด้วยงานภาพพิมพ์ไม้ พวกเราก็เลยอยากพยายามเดินตามรอยเท้านั้นดู และเรารู้สึกเป็นเกียรติมากที่พวกเขาก็ยอมรับผลงานของเรา
GroundControl
คุณจำผลงานชิ้นไหนของเขาได้เป็นพิเศษไหม
Pangrok Sulap
จริง ๆ สิ่งที่ผมจำมันคือชื่อของพวกเขา คุณรู้ใช่ไหมว่า Taring Padi หมายถึงอะไร (หันไปถาม Ucup baik ให้อธิบาย)
Taring Padi
มันคือส่วน ‘เขี้ยว” ของข้าว ที่อยู่บนข้าวแต่ละเม็ด ซึ่งพอเราเกี่ยวข้าว ส่วนเขี้ยวนี้มันจะกระเด็นมาโดนผิวได้ แล้วทำให้คัน แต่ถ้ามันกระเด็นไปที่อื่น ข้าวก็จะงอกงามขึ้นมา มันสื่อถึงการจัดตั้งและรวมตัวผู้คนในแบบร่วมมือกันเข้าเหมือนกัน และสื่อถึงการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันหรือรัฐบาล ทำให้พวกเขาคันหน่อย (หัวเราะ) ศิลปะนิด ๆ หน่อย ๆ ให้พวกเขาพอแสบ ๆ คัน ๆ ไม่ถึงกับเจ็บปวดอะไร แค่กระตุ้นให้รู้ตัวบ้าง (หัวเราะ)

GroundControl
สำหรับ Taring Padi พวกคุณได้แนวคิดเรื่องการรวมตัวกันแบบคอลเลกทีฟมาจากไหน
Taring Padi
การร่วมมือกันแบบนี้เป็นเหมือนประเพณีปฏิบัติของพวกเราที่ทำกันอยู่แล้ว เหมือนอย่างที่โรงเรียน ในแต่ละชั้นเรียนก็จะมีกลุ่มของตัวเอง หรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ก็มีกลุ่มของตัวเอง เช่นกลุ่มชาวชวา หรือชาวสุมาตรา ก็มีกลุ่มของตัวเอง แต่พวกเขาก็มารวมกลุ่มกันได้ด้วยนะ เช่นเป็นกลุ่มทางชนชั้นเดียวกันถึงจะแตกต่างทางชาติพันธุ์
Taring Padi เองเริ่มต้นขึ้นช่วง 1998 หลังขบวนการนักศึกษาลุกฮือขึ้นต่อต้านเผด็จการซูฮาร์โต เรามองว่าจากกระแสการเมืองในตอนนั้น และหลังจากที่ซูฮาร์โตถูกโค่นลง อินโดนีเซียยังต้องมีศิลปะการเมืองอยู่ ไม่ใช่แค่เพื่อโค่นซูฮาร์โต แต่ต้องไปต่อ เพราะปัญหาในประเทศของเรามันมีเต็มไปหมด ซึ่งเราก็พยายามใช้ศิลปะการเมืองเป็นเครื่องมือทำอะไรสักอย่าง
สำหรับผม ผมร่วมในกลุ่มนี้เพราะในเมืองยอกยาการ์ตาที่ผมอยู่มันใหญ่มาก มีคนจำนวนมากมาเรียนศิลปะแล้วก็เป็นศิลปิน แต่การเดินลำพัง ต่อสู้ลำพัง ในเมืองใหญ่แบบนั้นมันเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับผม การรวมกลุ่มจึงทำให้อุ่นใจขึ้นมา เพราะเราจะมีพลัง มีความคิดต่าง ๆ มามากขึ้น มีบทสนทนามากขึ้น เราแลกเปลี่ยนอาหารกันได้ แลกเปลี่ยนกันได้ทุกอย่างในเครือข่าย และนั่นทำให้เราแข็งแกร่ง
สำหรับเรา เผด็จการซูฮาร์โตจากไป ไม่ได้แปลว่าประเทศเราดีแล้ว เราต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและคิดว่ากำลังจะเกิดประชาธิปไตยขึ้นแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ประชาธิปไตย พวกเขายังคงใช้อำนาจ ใช้เงิน มาควบคุมคนให้โง่และไร้อิสระอยู่
GroundControl
คุณเคยพูดถึงพื้นหลังของการรวมกลุ่มทางศิลปะในอินโดนีเซียซึ่งหลายคนมีบทบาทอยู่ในแวดวงวิชาการด้วย นั่นน่าสนใจมาก คนจำนวนมากมองว่าศิลปะใต้ดินอย่างพังก์กับแวดวงวิชาการว่าเป็นคนละโลกกันเลย ความสัมพันธ์ระหว่างแวดวงเหล่านี้เป็นอย่างไรจากประสบการณ์ที่คุณสัมผัสมา
Taring Padi
เราอาจจะดูต่างกันแต่ที่จริงเราก็เหมือนกันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว พวกเราอยู่ภายใต้การควบคุมของทุนนิยมมาด้วยกันหมด ดังนั้นมันจึงไม่ได้ยากอะไรเลย

GroundControl
การรวมตัวกันของพวกคุณดูจะ ‘อันตราย’ ต่อผู้มีอำนาจไม่น้อยเลยนะ ในทางการเมือง
Patani Artspace
ผมคิดว่าทั้งสามกลุ่มมีวิธีคิดร่วมกันคือการทำงานศิลปะเคียงข้างประชาชน คือถ้าสังคมมีปัญหาอะไร เขาก็เข้าไปอยู่เคียงข้าง ไม่สยบยอมต่อโครงสร้างเช่นอย่างระบอบเผด็จการหรือระบบทุนนิยม ซึ่งผมคิดว่าวิธีคิดที่มีคล้ายกันนี้ ทำให้เราสามารถขยับไปพร้อมกันได้ในพื้นที่คาบสมุทรมลายูหรือ ‘นูซันตารา’ นี้
ในระดับรัฐบาล เรามักพูดถึงความสัมพันธ์กันในมิติของอาเซียน แต่พอถึงเวลาที่เกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้น เราก็เห็นว่ารัฐต่าง ๆ ก็ไม่ยอมกัน ดังนั้นในมุมของศิลปิน เราอยากอยู่นอกโครงสร้างแบบนั้น แล้วมาผนึกกำลังกันต่อสู้เคียงข้างประชาชนที่มีปัญหา ซึ่งอาจไม่สามารถพึ่งพารัฐได้
ผมว่าพลังของศิลปะอย่างที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้เกิดจุดร่วมและทำให้เกิดความเคลื่อนไหวขึ้นได้ มันเหมือนกับสถาบันอีกรูปแบบหนึ่งต่างออกไปจากรัฐ
เราสู้อยู่ลำพังคนเดียวอาจไม่มีวันจะสำเร็จ การร่วมมือกันมันก็สามารถเกิดขึ้นได้ในระดับนานาชาติโดยกลุ่มก้อนทางศิลปะแบบนี้ เราเองก็ไม่มีตำแหน่งแห่งที่ในทางรัฐอะไรไปเชื่อมต่อกับเขา แต่ศิลปะมันคือภาษาสากล คนที่ทำงานศิลปะเองก็ต้องมีหัวใจของความเป็นมนุษย์ ซึ่งสะเทือนใจกับปัญหาต่าง ๆ บนโลก และมาขยับขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน
Pangrok Sulap
การร่วมมือกันเป็นกลุ่มอย่างนี้ก็คือปฏิกิริยาต่อตัวโครงสร้างเองด้วยเหมือนกัน ผู้คนที่เข้ามาร่วมมือกันในกลุ่มนี้ต่างก็มีมุมมองที่ชัดเจน รู้ว่ากำลังสู่กับอะไร มันเหมือนกับเราต่อต้านโครงสร้างรัฐแบบถึงราก ไม่ใช่แค่ต้านนักการเมืองคนไหน เพราะในประเทศเรานักการเมืองมักจะโดดข้ามสังกัดพรรคไปมาเสมอ เช่นที่ซาบาห์ (รัฐในมาเลเซีย) ผมให้คะแนนเสียงกับคุณเพราะหวังว่าจะทำอะไรดี ๆ แต่วันหนึ่งคุณโดดไปอยู่พรรคอื่นที่ทุกคนเกลียดแล้วเสียอย่างนั้น เราก็เลยไม่เหลือใครให้เลือกอีกเลยในซาบาห์
ทางออกของเราก็คือ เราไม่รอรัฐบาลแล้ว ถ้าเรามีเงิน เราก็เอาไปช่วยเหลือผู้คนที่ต้องการมัน เหมือนที่ Ucup บอกนั่นแหละ ว่าทุกประเทศต่างก็มีปัญหาเฉพาะตัว อย่างที่ปัตตานีเองผมก็คิดว่าเหมือนกัน แต่พวกเราไม่ได้พยายามจัดการปัญหาทั้งหมดนั่นด้วยตัวเอง เพราะเสียงเสียงเดียวมันฟังเบามาก ๆ เลย แต่ถ้าคุณมีกลุ่มของคุณ ที่มีมุมมองร่วมกัน มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท และแรงผลักดันร่วมกัน คุณอาจบอกว่าพรุ่งนี้ไปที่นี่กัน แล้วมีใครอีกสี่คนตกลงตามคุณไป แล้วทุกคนก็ตามไป นั่นแหละ คือวิธีการทำงานแบบร่วมมือกัน ฟังดูคล้าย ๆ งานอาสาสมัครเหมือนกัน
เราอยากนำเสนอผู้คนในแวดวงพังก์ของเราด้วย เพราะพวกเขามักถูกมองว่าเป็นพวกไร้อนาคต ด้วยภาพจำเชิงลบของความเป็นพังก์ที่จะต้องวุ่นวาย ซึ่งเราอยากพิสูจน์กับทุกคนว่าเราสามารถทำอะไรดี ๆ สำหรับผู้คนได้ แล้วหวังว่าผู้คนจะโอบรับเราและสนับสนุนเราในที่สุด ซึ่งก็ใช้เวลาเหมือนกัน
ซาบาห์เป็นสถานที่ที่รัฐบาลมองข้ามไปไม่พัฒนา มันเป็นรัฐที่ใหญ่ มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย แต่ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากที่นี่กลับตกไปอยู่ที่อื่นที่ไม่ใช่ที่นั่น
นี่คือปัญหาสำหรับพื้นที่ของเรา ซึ่งเราพยายามจัดการอยู่ เรารู้อยู่แก่ใจว่าการเรียกร้องให้รัฐบาลทำอะไรมันโคตรฝันเฟื่องเลย ดังนั้นเพื่อจะถอนรากระบอบอาณานิคมทั้งหลายในพื้นที่ โดยเฉพาะในระดับการปกครองแบบรัฐ เราทำทุกอย่างที่เราทำได้ และมันทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องหันมามองสิ่งที่พวกเรากำลังทำเอง แล้วเราจะส่งเสียงเรียกร้องได้ชัดเจน ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างที่นั่น
เราคิดอยู่เสมอเวลาทำแต่ละโครงการในพื้นที่ชุมชน ว่ามันคือคำประกาศไปถึงรัฐบาลว่า คุณต้องทำอะไรสักอย่าง เพราะมันยากมากเลยที่เราจะไปพบกับพวกรัฐมนตรี เพราะแน่นอน พวกเขาไม่อยากมาเจอคนแบบเราหรอก แต่เราก็ไม่ได้ปฏิเสธถ้าพวกเขาจะมาร่วมทำงานกับเราเพื่อทำให้ที่นั่นมันน่าอยู่ขึ้น
ที่ซาบาห์ เรามีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 30-40 กลุ่ม ซึ่งต่างก็พูดภาษาของตัวเอง และผมคิดว่าที่อินโดนีเซียก็เป็นคล้าย ๆ กันนี้ ดังนั้นคุณจำเป็นต้องมีเซนส์ของการทำงานกับชุมชนที่ดีมาก ๆ และมันต้องมาจากความหลงใหลก่อน เราต้องไม่ล้ำเส้นระหว่างเรากับผู้คนในชุมชน เพราะแน่นอนว่าเราเป็นแขกในบ้านของเขา เราต้องเคารพวัฒนธรรมของเขา ถ้าเขาไม่ต้องการให้เราเข้าไปทำกิจกรรมอะไรอีกเราก็ต้องเคารพเขา มันคือการทำความเข้าใจร่วมกันเสมอ ดังนั้นมันจึงเต็มไปด้วยการสื่อสารระหว่างคน และเมื่อเราไปทำงานในชุมชน เราไม่เคยมองตัวเองเป็นศิลปิน แต่เป็นเหมือนกับอาสาสมัครมาทำงานมากกว่า ถึงแม้ว่ามันจะขีดเส้นแบ่งได้ยากระหว่างสองบทบาทนี้
นี่แหละคือพลังของการรวมกลุ่ม เพื่อให้ผู้ไร้เสียงได้ส่งเสียง
GroundControl
การร่วมมือกันแบบพวกคุณเหมือนการจัดตั้งสถาบันชนิดหนึ่งขึ้นมาทำหน้าที่ของรัฐแล้ว รัฐยังจำเป็นอยู่จริง ๆ หรือ?
Pangrok Sulap
ก็มันเป็นงานของเขา คนลงคะแนนเสียงให้เขามาทำงานพวกนั้น พวกเขาพูดอะไรพวกนั้นมากมายในคำหาเสียงอยู่แล้ว

GroundControl
ผมเข้าใจว่างานนี้ไม่ได้มีใครเป็นภัณฑารักษ์ รูปแบบการทำงานของพวกคุณเป็นอย่างไร
Taring Padi
เราจัดตั้งกันขึ้นมาด้วยความเชื่อในตัวกันและกัน และนั่นทำให้มันสำเร็จ
Pangrok Sulap
นั่นแหละเวทมนตร์ของการรวมกลุ่ม เราอาจไม่ต้องบอกอะไรกันเลยก็ได้ แต่รู้กันเองแล้วว่าต้องทำอะไรต่อไป เพราะผมคิดว่าในแต่ละกลุ่มก็จะมีคนหลายรูปแบบบุคลิก และมีความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันออกไป และเราเข้าใจสิ่งเหล่านั้นของกันและกันหมด ทำให้เราเชื่อมกระแสจิตได้ (หัวเราะ) ยากเหมือนกันว่าจะอธิบายอย่างไรดี ถ้าคุณอยากเข้าใจว่าการรวมกลุ่มแบบนี้มันทำงานอย่างไร คุณคงต้องลองเข้าร่วมสักกลุ่มแหละ เรียนรู้ด้วยการกระทำ
การจะอธิบายเรื่องการรวมกลุ่มแบบนี้มันยากเพราะมันเป็นเรื่องวิถีชีวิตของมนุษย์ เราอาจจะทำอะไรแบบนี้กันอยู่แล้วก่อนที่จะรู้จักคำว่า ‘คอลเลกทีฟ’ ก็ได้ ผมคิดว่าในส่วนอื่น ๆ ของโลกก็มีการรวมกลุ่มอยู่เหมือนกัน กลุ่มชาติพันธุ์ หรือผู้ที่อยู่แบบชนเผ่า พวกเขาเข้าใจการรวมกลุ่มอยู่แล้วเพราะพวกเขาใช้ชีวิตแบบนั้น แค่เราคุยกับเพื่อนรวมตัววางแผนมาเที่ยวกรุงเทพฯ ด้วยกัน ผมคิดว่ามันก็คือการรวมกลุ่ม (คอลเลกทีฟ) แล้ว เราต้องวางแผนว่าใครจะเป็นคนขับ ใครจะดูทาง คนนั่งเบาะหลังก็คอยเล่นมุขอะไรหน่อย มันคือระบบนิเวศเล็ก ๆ ภายในนั้น
ในชีวิตจริงเราต่างก็ถกเถียงกันอยู่ตลอด เช่นว่าวันนี้จะกินอะไรกันดี ยิ่งถ้ากลุ่มคุณมีคนสักสิบคนนั่นยิ่งยากเลย เพราะแต่ละคนต่างก็มีความต้องการส่วนตัว แต่เราก็มีระบบจัดการกันได้ และการรวมกลุ่มแบบนี้ก็เป็นเหมือนกัน
เราใช้ชีวิตอยู่ในการรวมกลุ่ม แต่เราไม่ได้มองเห็นมันอย่างนั้น ความแตกต่างเดียวของการรวมกลุ่มแบบนั้นอาจคือแค่เราไม่ได้รวมกลุ่มกันในทางการเมืองในชีวิตประจำวัน แต่เราก็รวมกลุ่มกันเพื่อสิ่งที่ดีอยู่แล้ว
เราไม่ได้มีตำแหน่งผู้นำที่ชัดเจนเพราะเราเชื่อว่าทุกคนเท่าเทียมกัน แต่เราก็มีคนที่คอยดำเนินงานให้มีความคืบหน้าต่อไปได้ ซึ่งการตัดสินใจของคนคนนี้ก็ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของกลุ่ม
วันนี้เราก็ตกลงด้วยกันว่าจะใส่เสื้อแบบไหนเหมือนกัน เพื่อส่งพลังด้วยกันจากกลุ่ม
ถ้าเราโกรธกันเราก็โกรธกันไม่นานหรอก เราต้องการเติบโตไปด้วยกัน
Taring Padi
เราพยายามให้ทุกคนส่งเสียงออกมา และรับฟังทุกคน เพราะเราเชื่อว่าทุกคนเป็นคนดี โดยเฉพาะเมื่อเราใกล้ชิดกับศาสนาแบบเดียวกัน เราเป็นเหมือนพี่น้องกันจริง ๆ
Pangrok Sulap
พวกเราเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ซาบาห์ แต่ผู้คนที่ซาบาห์ก็เป็นคนกลุ่มน้อยของประเทศ และผมสัมผัสความรู้สึกแบบนั้นได้ที่ปัตตานี
ผมได้ยินกลุ่มเยาวชนบางคนพูดว่าเขาไม่ได้รู้สึกเป็นคนไทยเท่ากับความรู้สึกว่าเป็นคนมลายู คล้ายกับที่พวกเรารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนซาบาห์ มากกว่าจะเป็นคนมาเลเซีย
เราเชื่อว่าทุก ๆ คนต่างก็มีบทบาทของตัวเองบนโลก ซึ่งไม่จำเป็นต้องอิงกับศาสนา โลกเรามีคนหลากหลายมากมาย และเราต้องเชื่อมต่อกับคนอื่น ๆ ด้วย เราอยากมองผู้คนแบบที่เป็นผู้คนจริง ๆ คือมองเห็นความเป็นคนก่อน แล้วถึงมาทำความรู้จักกันว่าคุณมาจากไหน ชอบกินอะไร ชอบฟังเพลงแบบไหน แล้วหลังจากนั้นเราจะยิ่งเข้าใจความเป็นคนของพวกเขาเข้าไปอีก เราคิดว่าทำแบบนี้แล้วเราจะสามารถิเข้าหาผู้คนจากคนละประเทศ คนละชาติพันธุ์ คนละภาษา คนละวัฒนธรรมได้
ถ้าเรามองไปก่อนแล้วว่านี่คือคนไทย เราอาจจะไม่เห็นอะไรเลย แต่พอเราทำความเข้าใจผ่านอาหารก่อนว่า เขาชอบกินข้าว เราก็เห็นก่อนแล้วว่าเขาเหมือนเราเลย เราพยายามมองหาความเหมือนระหว่างพวกเราก่อน มันทำให้การสื่อสารระหว่างเราง่ายขึ้น เหมือนคุณชอบเพลงพังก์ ผมชอบเพลงพังก์ เราก็เป็นเพื่อนกันได้
พวกเราทุกคนในกลุ่มมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ของตัวเอง ผมเป็นคนดูซุน (Dusun) พวกเขาเป็นคนบูกิซ (Bugis) มีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่จำนวนมากในมาเลเซีย แต่รัฐมองพวกเราเป็นคนมาเลเซียหมด แต่พวกเราไม่ใช่คนมาเลเซียทางเชื้อชาติ นั่นคือที่มาของความเชื่ออันแรงกล้าของพวกเราที่จะมองผู้คนด้วยความเป็นคนของพวกเขาก่อน — มันเหมือนการปกครองด้วยความกลัวเลยในแง่หนึ่ง เมื่อคนบางกลุ่มก็มีอภิสิทธิ์ที่คนอีกกลุ่มไม่ได้
การรวมกลุ่มมันสำคัญสำหรับเรามากเพราะเวลาเราเดินทางไปที่อื่น ๆ บนโลก เรายังมีเพื่อนอยู่ข้าง ๆ ด้วย เราจะไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เมื่อเราทำงานที่เราทำร่วมกับเพื่อน ถึงตัวจะอยู่ที่สหรัฐฯ มันก็รู้สึกเหมือนอยู่ที่บ้าน เพราะเราพูดภาษาเดียวกัน มีวัฒนธรรมร่วมกัน แบ่งปันอารมณ์ความรู้สึกด้วยกันทุกคน และผมไม่ได้หมายถึงแค่ศิลปินเท่านั้นด้วย พวกเราทำงานกับคนทั่วไปรวมไปถึงกลุ่มคนไร้รัฐที่ไม่มีสถานะตัวตนอย่างเป็นทางการ พวกเราทำงานกับคนต่างสาขาวิชา เราจึงให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์และความเห็นอกเห็นใจกันมาก ๆ
ผมคิดว่าถ้าไม่มีความเห็นอกเห็นใจกันอย่างลึกซึ้ง มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำงานร่วมกับผู้คน และในขณะเดียวกันเมื่อทำงานกับผู้คน ได้เห็นสิ่งที่ต้องการการพัฒนา เห็นอะไรที่อยากเรียกร้องให้รัฐมาสนใจ ความเห็นอกเห็นใจมันก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไปด้วย
ความเห็นอกเห็นใจ มันเดินทางไปไหนมาไหนได้ข้ามเหนือหนังสือเดินทาง

GroundControl
ช่วยเล่าเกี่ยวกับการทำงานของพวกคุณในนิทรรศการนี้ให้ฟังหน่อย
Pangrok Sulap
ก่อนอื่นเลยผมอยากพูดตรงนี้ในฐานะตัวแทนกลุ่มว่าเราขอบคุณมาก ๆ สำหรับ Patani Artspace ที่ต้อนรับเรา ยอมรับเรา และช่วยเหลือเราหลาย ๆ อย่างตลอดช่วงเวลานี้ ทุกคนที่นี่อัธยาศัยดีมาก ซึ่งทำให้พวกเราทำงานต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น
สำหรับงานนี้ เราทำงานภาพพิมพ์ไม้กว่า 50 ชิ้น เป็นรูปทรงเหมือนกระสุน ซึ่งแต่ละชิ้นจะเล่าเรื่องราวหรือมีคำพูดเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่เราต่อสู้กันอยู่ที่ซาบาห์ ซึ่งเพื่อน ๆ และศิลปินในท้องถิ่นก็มาร่วมมีส่วนร่วมสร้างงานนี้มากมายด้วย
ที่เราทำเป็นรูปกระสุนปืน เพราะเรารู้สึกแบบเดียวกับที่เราทั้งหมดคุยกันมาก่อนหน้านี้ว่า เสียงเสียงเดียวไม่สามารถดังสั่นสะเทือนอะไรได้มาก ดังนั้นกระสุนเหล่านี้จึงเป็นการรวมเสียงของผู้คนเข้ามาดังชื่องาน Setiap Suara Adalah Peluru (“ทุก ๆ เสียงคือกระสุน”) เพราะว่าการรวมตัวกันทำให้เรามีพลังขึ้น เหมือนกับแนวคิดงาน ‘Tolong Menolong’ หรือการร่วมมือกันทำงาน แม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดียวกันก็ตาม เราก็ยังสามารถทำอะไรได้เพื่อร่วมมือกับผู้อื่น การร่วมมือกันสำหรับเรามันไม่ใช่แค่การยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือกัน แต่คือการห่วงใยดูแลกันด้วยเวลาคุณยากลำบากไม่ว่าจะทางความรู้สึกหรือมีปัญหาในชีวิต และเราช่วยเหลือกันและกันด้วยภราดรภาพ นั่นคือรูปแบบของการร่วมมือกันแบบ Tolong Menolong ที่เรายึดถือ ไม่ใช่แค่การอยู่ด้วยกัน ทำงานอะไรด้วยกันเพียงชั่วคราว และคุณสามารถเชื่อมโยงความร่วมมือกันนี้ข้ามพรมแดนต่าง ๆ ได้ด้วย โดยเฉพาะในเวลานี้ที่มีสื่อโซเชียลทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นอีกมาก
Patani Artspace
สำหรับ Patani Artspace พวกเรารวมกลุ่มศิลปินสมาชิกคอลเลกทีฟของเรามานำเสนอในรูปแบบของตัวเอง ซึ่งแต่ละคนก็มีประเด็นของตัวเองตามประสบการณ์ที่สัมผัสกับพื้นที่สามจังหวัดนี้ แต่ก็มีจุดร่วมกันคือการทำงานภาพพิมพ์ไม้ ซึ่งทุกคนก็สามารถแกะภาพตามสไตล์ที่แตกต่างกันได้ โดยที่มีความเชื่อมโยงกันอยู่ เราเลยจัดแสดงอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ให้แต่ละผลงานเป็นเหมือนผนังบ้าน เปรียบเหมือนสามจังหวัดนี้คือบ้านของพวกเรา
Taring Padi
สำหรับ Taring Padi เราดีใจมากที่ได้มาที่นี่ เพราะปัตตานีมีภูมิศาสตร์ สถานที่ และมุมมองอะไรหลาย ๆ อย่างที่แตกต่างออกไปจากเรา ถึงแม้เราจะมีรากร่วมกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นทำให้เราได้เรียนรู้ร่วมกัน และออกแบบการอยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้ด้วยกัน
งานของเราชื่อว่า WAYANG BEBER Taring Padi “MATAHARI RAKYAT” (“ดวงอาทิตย์ของประชาชน”) คือการส่งต่อจิตวิญญาณแห่งการทำงานร่วมกันให้กว้างไกลออกไปเป็นเครือข่าย ชื่อผลงานของเราหมายถึงหุ่นเชิดเงาที่เล่าเรื่อง ซึ่งตัวงานจะเป็นม้วนป้ายผ้า เล่าเรื่องราวของผู้คนและบริบท ณ ปัจจุบัน ซึ่งได้ข้อมูลมาจากประสบการณ์ร่วมของผู้คนที่เราเข้าไปทำงานด้วย ผู้คนที่ต่อสู้กับประเด็นทางสิ่งแวดล้อม เราไปทำงานกับพวกเขาด้วยภราดรภาพและศิลปะ และนำสิ่งนี้มาแบ่งปันต่อ ซึ่งในเรื่องที่เล่าก็ผสมกันไปทั้งเรื่องจริงและเรื่องที่แต่งขึ้นมา เกี่ยวกับครอบครัวผู้อพยพ
GroundControl
Taring Padi ครับ ผมจำเป็นต้องถามคำถามนี้ ผลงานที่ Documenta ของคุณกระตุ้นข้อถกเถียงจำนวนมาก เกี่ยวกับชาวยิวและอิสราเอลเพราะภาพของมันโจมตีอิสราเอลได้ตรง ๆ แรง ๆ มาก คุณตั้งใจจะสร้างภาพแรง ๆ อย่างนั้นเสมอหรอ ท่าทีแบบนั้นยังจำเป็นอยู่หรอในสมัยนี้
Taring Padi
นั่นมันก็คือเขี้ยวจากข้าวที่กระเด็นไปโดนผิวพวกเขาไง คันเลยเห็นไหม (หัวเราะ)
ผลงานตอนนั้นมันก็เกี่ยวกับเรื่องปาเลสไตน์ ซึ่งพวกเราเห็นมาตั้งแต่เราเกิด ปาเลสไตน์มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอินโดนีเซียมาก ๆ เพราะพวกเขาเป็นรัฐแรก ๆ ที่สนับสนุนการประกาศอิสรภาพของอินโดนีเซีย พวกเรามีรากทางศาสนาร่วมกันคืออิสลาม แม้จะต่างมุมมองกันไปแต่เราก็ถกเถียงกันได้
การเฝ้าดูว่ารัฐบาลจะทำอะไรมันน่าเบื่อมาก เพราะรัฐบาลไม่ทำอะไร ในขณะที่พวกเขาทำลายโลก สังหารผู้คน มันมากเกินไปแล้ว และมันดูไม่มีหวังเท่าไรเลย เมื่ออำนาจทางการทหารยังคงมีอิทธิพลอยู่ทั่วโลก พวกเขามีปืน แล้วก็ใช้ปืนฆ่าคน แล้วเราก็เฝ้ามองตำรวจทหารทำอย่างนั้นกับผู้คนเหมือนกัน พวกเขาไม่ได้มาช่วยประชาชน มันเป็นหมาที่ทำงานแลกเงินให้นาย พวกชนชั้นนำ รับประทานทุกสิ่ง

GroundControl
สำหรับ Pangrok Sulap พวกคุณมีความโมโหในงานศิลปะที่ทำบ้างไหม หรือเป็นความรู้สึกสิ้นหวัง หรือความรู้สึกอื่น ๆ
Pangrok Sulap
นั่นเป็นคำถามที่ดีมาก โดยทั่วไปแล้วคนจะพูดกันว่าเวลาโกรธให้ใส่ไปเลยทุกอย่างเทลงงานศิลปะที่ทำ แล้วมันจะกลายเป็นงานชั้นยอด แต่ผมไม่เห็นด้วยเลย ครูของผมบอกว่าเวลาสงบต่างหาก ที่เราจะรวบรวมความคิดและทุก ๆ อย่างเข้ามาได้
ความโกรธเป็นหนทางหนึ่งในการแสดงออกและยอมรับความรู้สึกของตัวเองให้ได้ แต่สำหรับเรา เราจะโกรธไปได้นานแค่ไหนกัน เราอยากทำงานช่วยเหลือผู้คน แล้วความโกรธก็ไม่ควรไปอยู่ในสมการนั้นเลย เพราะผู้คนก็จะไม่ชอบคุณ
GroundControl
และสำหรับปัตตานี พื้นที่นี้ดูจะยังคงเต็มไปด้วยความไม่เข้าใจจากคนภายนอก คุณคิดว่าเรื่องสำคัญที่สุดที่อยากสื่อสารออกไปตอนนี้คืออะไร
Patani Artspace
สำหรับที่ปัตตานี ผมมองว่าเราไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ว่าคนภายนอกจะรับรู้เรื่องของพวกเราที่นี่อย่างไร แต่เราสามารถควบคุมหัวใจของเราได้ เราก็ต้องพยายามต่อไป แสดงตัวตนของเราในมุมที่คนอื่นอาจจะไม่รู้ นี่คือสิ่งที่ทำให้ผมทำงานแบบนี้ ให้เรามีพื้นที่เล็ก ๆ สำหรับทุกคนมาสะท้อนเสียง และส่งพลังออกไปให้คนภายนอกได้ยิน ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือการที่เราได้มาเจอกัน ได้มาพูดคุยกัน ในฐานะศิลปินเราคิดว่าการทำงานสื่อสารความจริงออกมามันเป็นหน้าที่อยู่แล้ว แม้ว่าความจริงนั้นมันอาจจะสร้างความเจ็บปวดก็ตาม แต่เราก็ต้องยอมรับความจริงเหล่านั้น