ช่องโหว่แห่งการล่าถอย: การรวมตัวของเหล่า ‘ผู้เป็นอื่น’

Art
Post on 25 May

(บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือระหว่าง GroundControl และพันธมิตรสื่อทางศิลปะ Protocinema ผู้เผยแพร่สื่อดิจิทัลด้านศิลปะรายเดือน เพื่อนำเสนอมุมมของของศิลปินที่มีต่อสังคมร่วมสมัย การเมือง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ โดยดำเนินการผ่าน Protodispatch ผู้เป็นตัวกลางเผยแพร่ข่าวประจำเดือนให้แก่พันธมิตรในเครือ โดย GroundControl ได้รับเกียรติให้เป็นพันธมิตรสื่อเพื่อเผยแพร่บทความในภาษาไทย ร่วมกับ Artnet.com จากนิวยอร์ก และ Argonotlar.com จากอิสตันบูล เพื่อร่วมกันสร้างโครงข่ายของระบบนิเวศน์ทางศิลปะที่เข้มแข็ง และเพื่อให้ผู้สนใจศิลปะชาวไทยสามารถเข้าถึงได้โดยปราศจากกำแพงด้านภาษา)

ย้อนกลับไปในมหกรรมศิลปะนานาชาติเวนิซเบียนนาเล่ ประจำปี 2018 ที่พาวิลเลียนของอเมริกา ได้เกิดโปรเจกต์ศิลปะครั้งสำคัญ จากการรวมตัวกันของเหล่าผู้หญิงผิวดำในโลกศิลปะ ที่มีทั้งศิลปิน นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

พวกเธอมารวมตัวกันในพื้นที่ที่ชื่อว่า Loophole of Retreat หรือ “ช่องโหว่แห่งการล่าถอย” อันเป็นชื่อเรียกยุทธศาสตร์ของเหล่าผู้หญิงผิวดำที่เรียกได้ว่าเป็นชนกลุ่มน้อยทางสังคม พวกเธอตั้งเป้าเสาะหาช่องโหว่ในโครงสร้างวัฒนธรรมใหญ่ของสังคม เพื่อ “ไฮแจ็ค” โครงสร้างนั้น ด้วยการนำเสนอความคิดและการแสดงออกซึ่งเสรีภาพในรูปแบบใหม่ ๆ และชวนทุกคนมาร่วมจินตนาการถึงวิถีทางใหม่ ๆ ที่จะเป็นวิถีแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ เชื่อมโยงกัน แต่ล้วนมีพื้นที่และเสรีภาพให้แก่กัน

ตลอดสามวันในพื้นที่แห่งช่องโหว่นั้น เหล่าผู้หญิงผิวดำที่ประกอบด้วยศิลปิน นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้มานำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันผ่านการประชม การแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต การจัดแสดงผลงานศิลปะ ไปจนถึงการฉายภาพยนตร์

สามปีให้หลัง ผู้ที่อยู่เบื้องหลังพื้นที่แห่งยุทธวิธีแห่งนี้คือศิลปิน ซิโมน ลี และภัณฑารักษ์ ราชิดา บัมเบรย์ ได้กลับมานั่งลงพูดคุยถึงการจัดพื้นที่ “ช่องโหว่” นั้นอีกครั้ง ในบทสัมภาษณ์นี้

Photo: Glorija Blazinsek

Photo: Glorija Blazinsek

บทสนทนาระหว่าง ซิโมน ลี, ราชิดา บัมเบรย์ และผู้สัมภาษณ์ ลอรา ไรโควิค ถึงกระบวนการทำงานเพื่อก่อร่างโครงสร้างทางวัฒนธรรม ด้วยการเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่างความห่วงใย มิตรภาพ และการเปิดกว้าง

ลอรา: ในบทสนทนาระหว่างพวกคุณทั้งสองคนที่ดำเนินต่อเนื่องมานานหลายปี ฉันได้สังเกตเห็นถึงแง่มุมหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ นั่นก็คือประเด็นการพูดคุยของพวกคุณมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับการวางโครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรม พวกคุณทั้งสองต่างมีวิธีการทำงาน วิถีการใช้ชีวิต และวิถีการทำสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่อิงตามขนบดั้งเดิม ซึ่งเป็นอะไรที่ลึกซึ้งมาก ๆ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดช่องให้เกิดการลบล้างและสร้างใหม่ เฉกเช่น “ช่องโหว่แห่งการล่าถอย” มีความสำคัญมาก

เรามาเริ่มต้นด้วยการย้อนกลับไปที่ “ช่องโหว่แห่งการล่าถอย” ครั้งแรกกันดีกว่า อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณริเริ่มจัดการประชุมครั้งแรกที่กุกเกนไฮม์ในปี 2018?

ซิโมน: การเกิดขึ้นของเวทีนี้กุกเกนไฮม์เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะฉันได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี ณ ที่แห่งนั้น นี่คือหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่มีการทำงานเป็นระบบมากที่สุดเท่าที่ฉันเคยมีโอกาสร่วมงานด้วย และฉันก็มีความใกล้ชิดกับ แคทเธอรีน บรินสัน และ ซูซาน ทอมป์สัน มาก ๆ ฉันมีประสบการณ์ตรงต่อความมุ่งมั่นของกุกเกนไฮม์ที่มีต่อการศึกษา เพราะฉันเคยร่วมงานกับฝ่ายการศึกษาของพวกเขาในฐานะครูสอนศิลปะให้กับเด็กในตอนที่ฉันทำงานให้กับโครงการ Studio in a School

เดิมทีฉันคิดไว้ว่าจะตั้งชื่อผลงาน “ช่องโหว่” ว่า carte blanche หรือพื้นที่สีสาวแห่งอิสระ เพราะฉันอยากจัดการประชุมที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ “ความดำมืด” ที่ติดมากับคำว่า Loophole หรือช่องโหว่ และเอาเข้าจริงฉันไม่อยากมีชื่องานด้วยซ้ำ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเพ่งความสนใจไปที่เหล่าผู้เขียนมากกว่าแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง ฉันอยากจะพูดถึงความไร้ตัวตนของผลงานทางปัญญาของหญิงผิวดำในฐานะเชื้อเพลิงสำหรับการสรรค์สร้างและสัมผัสศิลปะ ในโลกแห่งศิลปะมักจะมีความเชื่อที่ว่า ถ้าฉันพูดถึงชีวิตของตัวเอง “มันต้องเกี่ยวกับเพศ” หรือถ้าฉันพูดถึงชีวิตตัวเอง “มันต้องเกี่ยวกับชาติพันธุ์” ซึ่งมันได้นำไปสู่แนวคิดที่ว่าประเด็นเหล่านี้เป็นความกังวลเฉพาะในชนกลุ่มน้อยทางสังคมเท่านั้น ฉะนั้นจึงเป็นประเด็นที่ไม่จำเป็น หรืออย่างมากก็เป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเป็นคำครหาที่ถูกใช้มาตลอดหลายปี และฉันก็เหลืออดกับมันมาก

นอกจากนี้ ฉันยังจงกำหนดว่าคนดูหลักในงานของฉันจะเป็นเหล่าผู้หญิงผิวดำ ซึ่งพอมานึกย้อนดู นั่นก็เป็นก้าวแรกสู่การสร้างเวทีแห่งนี้ คนที่เข้าร่วมในงานนั้นยังประกอบด้วยนักทฤษฎีคนสำคัญมากมาย เช่น ซิลเวีย วินเทอร์, ฮอร์เทนส์ สปิลเลอร์, ไซดิยา ฮาร์ทแมน และ คริสทินา ชาร์ป ที่มักถูกมองว่าไม่ได้มีความสำคัญต่อศิลปะร่วมสมัยเท่าบิ๊กเนมอย่าง ฟูโกต์ หรือ ฮันนาห์ อาเรนดท์ พวกเธอพูดและทำสิ่งที่กระทบผู้คนหลายกลุ่มในโลกศิลปะ นอกจากการมีส่วนร่วมในงานไม่กี่งาน เช่น การประชุมที่ Cooper Union (Intra-Disciplinary Seminar public lecture series) แล้ว ผู้หญิงเหล่านี้ล้วนถูกเมินเฉยในแวดวงวิชาการกระแสหลัก

ฉันยังจำช่วงที่มันเป็นกรากฏการณ์ได้ ฉันจำช่วงเวลาที่มีแต่ภัณฑารักษ์ชายผิวดำเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับ มองไปทางไหนก็มีแต่ โอควุย [เอ็นเวเซอร์] แต่ไม่เคยเป็น บิซิ [ซิลวา] เพราะฉะนั้นสำหรับฉัน “ช่องโหว่” จึงถือกำเนิดขึ้นมาจากความกระอักกระอ่วนนั้น

ฉันยังชอบการได้ทดลองด้วยการให้เหล่านักวิชาการได้เลือกหัวข้อของตัวเอง และทำงานด้วยวิธีการราวกับศิลปิน แทนที่จะจัดตั้งการประชุมแบบเดิม ๆ ที่พูดถึงแต่ประเด็นทื่อ ๆ ฉันคิดว่ามันคงจะน่าสนใจดี ซึ่งทั้งหมดนี้คือส่วนที่ฉันรับผิดชอบ แต่สิ่งที่แจ้งเกิดที่เวนิซจริงอย่างแท้จริงคือผลงานของราชิดา หน้าที่ของฉันเป็นแค่การสร้างพื้นที่ขึ้นมา เพื่อให้สิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ก่อตัวและเกิดขึ้นที่เวนิซ นั่นคือความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ของฉัน และก็เป็นงานที่ฉันใหม่มาก ๆ แต่ฉันก็รู้สึกว่าตัวเองเติบโตขึ้นนะ แต่ก็นั่นแหละ ฉันต้องฝ่าฟันพอสมควรเพื่อได้มันมา

Loophole of Retreat: Venice; Lorraine O' Grady & Simone Leigh Photo; Claudia Rossini

Loophole of Retreat: Venice; Lorraine O' Grady & Simone Leigh Photo; Claudia Rossini

ลอรา: จริง ๆ ก็น่าแปลก เพราะประสบการณ์ของ “ช่องโหว่แห่งการล่าถอย” ในเวนิซ ในฐานะสถานที่ทางกายภาพ ถือเป็นที่สุดของช่องโหว่แห่งการล่าถอย ราชิดา คุณพอจะพูดถึงวิธีที่คุณใช้ในการวางแนวคิดของการประชุมที่ดำเนินไปในเมืองนี้ได้ไหม ว่าคุณจินตนาการการจัดวางพื้นที่การประชุมให้เกิดบรรยากาศที่เฉพาะเจาะจงขนาดนี้ได้อย่างไร?

ราชิดา: สิ่งที่น่าอัศจรรย์อย่างหนึ่งก็คือการที่ผู้หญิงจากทั่วทุกมุมโลกได้มีโอกาสมาเยือนเวนิซในช่วงเบียนนาเล่เพื่อรับชมพาวิลเลียนอเมริกัน พาวิลเลียนสกอตติช หรือมารับชมพาวิลเลียนใดๆ ก็แล้วแต่ที่จัดแสดงผลงานของผู้หญิงผิวดำเป็นครั้งแรก ฉันว่ามันมีเครื่องหมายคำถามอยู่ในใจของหลาย ๆ คนว่าจะมีคนมาจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องน่าตกใจสำหรับเรา เพราะ หนึ่ง เราเคยผ่าน “ช่องโหว่แห่งการล่าถอย” มาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งขายตั๋วหมดเกลี้ยง และสอง เรารู้ว่าทุกคนอยากมาที่เวนิซเพื่อเข้าชมพาวิลเลียนอเมริกา เพราะฉะนั้นผู้คนจึงต้องพยายามตัดสินใจว่าจะมาช่วงเดือนเมษายนดีไหม หรือจะมาตรงกับช่วง “ช่องโหว่แห่งการล่าถอย” ดี? หรือจะมาทั้งสองรอบ? พวกเรารู้ดีว่าคำถามที่แท้จริงคือ “พวกเราจะจุคนทั้งหมดนี้เข้าไปอย่างไร?!” มากกว่าจะเป็น “จะมีคนมาดูไหม?”
นอกจากที่กล่าวมา เรายังให้ความสำคัญกับการมอบประสบการณ์แก่เหล่านักวิชาการผู้หญิงผิวดำที่ได้รับเชิญมา โดยเรามุ่งเน้นให้พวกเธอมีอิสระอย่างเต็มที่ และทุกคนที่ได้รับเชิญมีความสำคัญเท่าเดียมกัน เช่น ถ้าคุณเป็นนักแสดง เราจะทำให้มั่นใจว่าคุณจะได้ทั้งเวลาในการแสดง และได้รับการสนับสนุนทางเทคนิคอย่างเต็มที่ เราสร้างเวทีขึ้นกลางสระน้ำเก่า โดยได้รับความช่วยเหลือจากพาร์ทเนอร์ของเราในอิตาลี (A Consulting) ซึ่งทั้งมีฝีมือและมีความเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการจะทำตั้งแต่ต้น

อย่างที่ซิโมนบอกว่าเธอต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อให้ “ช่องโหว่” ได้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ที่จัดแสดงที่พาวิลเลียนอเมริกา ซึ่งหมายความว่าเธอว่าจ้างผู้คนมาทำงานนี้ด้วยตนเอง เรามีทีมที่ครบวงจรเพราะซิโมนได้วางรากฐานนั้นไว้ในสตูดิโอของเธอเอง ฉะนั้น ซูซาน ทอมป์สัน จึงเป็นจุดเชื่อมจากกุกเกนไฮม์ไปยังเวนิซ และ เกรต้า ฮาร์เทนสไตน์ ผู้ซึ่งเคยทำงานที่พิพิธภัณฑ์วิทนีย์ในฐานะผู้ดูแลงานแสดง ก็มีส่วนร่วมในการจัดการงานแสดงต่าง ๆ ในฐานะเทคนิคัลไดเรกเตอร์ และจากนั้น แดฟนี เฮอร์นานเดซ ซึ่งเคยร่วมงานกับฉันในโครงการ Open Society Foundations ก็มีประสบการณ์ในวงการดนตรีมาก่อน เราจึงมีทีมงานผู้หญิงที่ทำงานอย่างหนักเพื่อให้ทุกคนได้รับสิ่งที่ต้องการ และสามารถจัดงานออกมาได้อย่างดีงาม

คุณพูดถึงเวนิซในฐานะช่องโหว่ที่สุดยอด ซึ่งมันน่าสนใจ เพราะในครั้งแรกที่ฉันมาเวนิซในปี 2015 มันเป็นเพราะ เธลมา โกลเด้น ได้รับทุนจากมูลนิธิ Ford Foundation ให้ชวนภัณฑารักษ์ผิวดำสิบคนมาร่วมงาน ซึ่งมันเป็นคำเชิญที่ทุกคนหวังจะได้รับ เพราะถ้าคุณไม่ได้เป็นคนที่มีอภิสิทธิ์อยู่แล้วในโลกศิลปะ คุณอาจไม่มีวันได้เห็นงานเบียนนาเล่เลยก็ได้ เพราะฉะนั้นฉันจึงรู้สึกว่าระยะทางระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2015 และฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้วมีความสำคัญมาก มันน่าทึ่งมากที่ได้เห็นผู้หญิงผิวดำนับพันคน ซึ่งมาจากจุดยืนทางศิลปะที่แตกต่างกัน ไม่ว่าพวกเธอจะมีพื้นเพทางวิชาการ จะเป็นภัณฑารักษ์ หรือศิลปิน ทุกคนที่ได้ร่วมชมงาน “ช่องโหว่” อาจจะเป็นผู้อภิปรายหรือนักแสดง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์ที่สุดในแง่ของกลุ่มคนดู และ ลอร์เรน โอ เกรดี ยังบอกว่าเธอรู้สึกราวกับว่าเธอกำลัง “พูดกับตัวเอง” ซึ่งทั้งน่าตลกและน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง เธอบอกว่าทุกครั้งที่เธอเล่นมุกตลก เธอรู้สึกได้ทันทีว่าผู้คนรอบตัวเธอเข้าใจเธอโดยไม่ต้องการคำอธิบาย

Loophole of Retreat: Venice; Lorraine O' Grady & Simone Leigh Photo; Claudia Rossini

Loophole of Retreat: Venice; Lorraine O' Grady & Simone Leigh Photo; Claudia Rossini

ซิโมน: เราประสบความสำเร็จในการสร้างบรรยากาศของความสบายใจและความรู้สึกของการเป็นคอมมูนิตี ในแบบที่เรามักไม่ค่อยได้รับในพื้นที่เหล่านี้ เพราะโดยปกติเรามักปลีกวิเวกจากกันโดยสิ้นเชิง

ลอรา: ผลงาน “ช่องโหว่” ลบล้างมุมมองที่คับแคบและแบนเรียบของ “การเป็นตัวแทน” ในทางที่ลึกซึ้งที่สุด ในวันนี้ เกือบหนึ่งปีหลังจากที่คุณเปิดงานที่พาวิลเลียนอเมริกัน และหกเดือนนับจากการแสดง “ช่องโหว่” รอบสุดท้าย คุณคิดถึงอะไรบ้างเวลาที่คุณนึกย้อนกลับไปถึงงานนี้? คุณคิดว่างานประสบความสำเร็จตามความคาดหวังหรือไม่? มีเหตุการณ์อะไรบ้างที่คุณคาดไม่ถึงแต่กลับประทับใจมั้ย?

ซิโมน: นิทรรศการของฉันที่พาวิลเลียน รวมถึง “ช่องโหว่แห่งการล่าถอย” ประสบความสำเร็จเหนือทุกความคาดหมายของฉันเลย แต่มันก็มีราคาต่อตัวฉันเองเช่นกัน และฉันก็เพิ่งจะเสร็จสิ้นากการดูแลตัวเองมาตลอดเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา ฉันรู้สึกโชคดีมาก ๆ ที่สามารถหาเวลาและพื้นที่ให้ตัวเองได้พักฟื้น แต่ส่วนหนึ่งที่ฉันคิดว่าทำให้งานนี้ประสบความสำเร็จ ก็คือการที่ฉันได้ทำมันในตอนที่อายุ 55 และการที่งานนี้ไม่ได้เข้ามาหาฉันในตอนที่ฉันอายุ 35 ปี

ลอรา: คุณพอจะขยายความได้ไหม? เพราะฉันรู้สึกว่าคุณกำลังพูดถึงอะไรบ้างอย่างที่สำคัญมาก ๆ

ซิโมน: ณ จุดนี้ในชีวิตการทำงานของฉัน ฉันรู้แล้วว่าฉันเป็นใครในฐานะศิลปิน ฉันรู้ว่างานของฉันถูกสร้างมาเพื่อใคร และเกี่ยวกับอะไร มันไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมาเปลี่ยนได้ง่าย ๆ ราชิดากับฉันร่วมงานกันมาจะเข้าทศวรรษที่สองแล้ว ฉันมีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงผ่านประสบการณ์หลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่นตอนที่ฉันมาถึงเวนิซครั้งแรกสำหรับงาน Creative Time Summit ในปี 2015 ในตอนนั้นฉันไม่ได้นั่งเรือโดยสารเลยสักลำเดียว เพราะฉันไม่ยอมจ่ายเงิน 50 ดอลลาร์เพื่อนั่งเรือแค่ 15 นาทีแน่นอน! มันจึงเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างกันอย่างมหันต์เลยที่ได้มาเตรียมงานเบียนนาเล่ โดยที่มีทรัพยากรณ์ที่ต้องการครบถ้วน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้เราสามารถผ่านกระบวนการทำงานไปได้จริง ๆ คือการรู้จักตนเองและทรัพยากรณ์ทางอารมณ์ของเรา เพราะเดิมพันของงานนี้สูงมาก ราคาค่าจัดงานก็สูง และสำหรับทุกคนที่มีส่วนร่วมในงานนี้ นี่เปรียบเสมือนโอกาสครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตการทำงานของพวกเขา ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้หนทางของเรามีอุปสรรคที่ท้าทายและน่าสับสนไปด้วย

หากฉันอายุน้อยกว่านี้ก็มีโอกาสที่ฉันจะโอนอ่อนไปตามอิทธิพลของใครคนใดคนหนึ่ง มันคงยากที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น แต่ในช่วงวัย 50 กว่าปี ฉันเคยผ่านการเลี้ยงลูกสาวในนิวยอร์กมากแล้ว มันยากที่จะหาอะไรที่ทำให้ฉันกลัวได้ นึกออกไหม? หรือที่จะทำให้ฉันรู้สึกไปไม่เป็น เพราะฉันสามารถเลี้ยงลูกสาวในนิวยอร์กด้วยการทำงานศิลปะได้ แม้จะขัดสนไปหน่อยก็ตาม มันไม่มีอะไรในโลกศิลปะที่จะยากไปกว่านั้นอีกแล้ว ฉันจึงรู้สึกว่ามันเป็นข้อดีที่ผลงานของฉันไม่ได้รับการอุ้มชูในช่วงที่ฉันยังอายุน้อย ฉันได้รับการสนับสนุนจากผู้คนมากมายระหว่างทาง และฉันก็โชคดีมาก ๆ ที่ได้มายืนอยู่ในจุดนี้ แต่ความสำเร็จของฉันก็ไม่ได้มีใครหยิบยื่นให้ ฉันต้องกัดฟันสู้เพื่อให้ได้มันมา ซึ่งฉันรู้สึกว่านั่นส่งผลให้ฉันมีมุมมองที่จำเป็นในการทำงานนี้ให้สำเร็จลุล่วงจนได้

Photo: Laylah Barrayan

Photo: Laylah Barrayan

ลอรา: นั่นเป็นประเด็นที่สำคัญมาก ๆ และจุดที่น่าชื่นชมเป็นพิเศษในการที่คุณสามารถผ่านช่วงเวลาทั้งหมดนั้นในการทำงานของคุณสำหรับฉัน คงเป็นความเผื่อแผ่ของคุณทั้งในแง่ทรัพย์สินทางปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ที่คุณได้ถักร้อยเข้าไปในผลงานของคุณและสิ่งที่คุณทำอยู่ ซึ่งมันไปไกลกว่าแค่ผลงานศิลปะในงานกายภาพ แต่ก็ไม่ได้กีดกันออกไป? ฉันกำลังนึกถึงผลงานภาพยนตร์ของคุณ ผลงานรวมหลากหลายชนิด และคิดถึงแง่มุมต่าง ๆ ของงานที่คุณและราชิดาได้สร้างร่วมกันในฐานะผู้ร่วมงานระยะยาว เรื่องเหล่านี้ส่งผลต่อคุณอย่างไรบ้าง? ความเอื้อเฟื้อในแง่ความคิด จิตวิญญาณ ความคิดสร้างสรรค์ และการแบ่งปันทรัพยากรณ์ทุกรูปแบบของคุณ ส่งผลอย่างไรต่อวิธีการทำงานของคุณ โดยเฉพาะที่เวนิซ?

ราชิดา: ฉันคิดว่าแง่มุมเป็นประโยชน์มากที่สุดในความสัมพันธ์ระหว่างฉันกับซิโมนคือการที่เธอไว้ใจฉัน และฉันรู้สึกขอบคุณมาก ๆ ที่ซิโมนไว้ใจฉันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในเรื่องที่สำคัญมากเท่ากับงาน “ช่องโหว่” ที่เวนิซ ซิโมนได้มอบโอกาสให้ฉันได้ตัดสินใจทุกอย่าง ตั้งแต่คนที่มาร่วมงาน วิธีที่เราจัดงาน และทุกอย่างที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน มันเป็นของขวัญที่ล้ำค่ามากสำหรับฉัน ฉันยังรู้สึกตะลึงอยู่ตลอดที่เธอเชื่อใจฉัน ซิโมนให้ฉันได้ทำงานในระดับนี้ แต่อย่างที่เธอว่า เราร่วมงานกันมาเกิน 20 ปีแล้ว และซิโมนก็อยู่เป็นสักขีพยานในทุกสิ่งที่ฉันทำ โดยเฉพาะงานของฉันที่มูลนิธิ Open Society Foundations เธอเดินทางมาที่มาร์ราเกช ที่ซึ่งฉันจัดงานประชุมระหว่างศิลปินจากทั่วโลก ฉะนั้นฉันจึงรู้สึกว่าเรามีแนวคิดเดียวกันในวิธีการที่เรายกโลกซีกใต้หรือผู้หญิงผิวดำเป็นจุดศูนย์กลางของงาน

มีผลงานทางวิชาการหลากหลายชนิดมาก ซึ่งผลงานเหล่านี้ได้เปิดพื้นที่รอบ ๆ คำถามที่ว่า “ช่องโหว่” จะเป็นอะไรได้บ้าง? พวกเรารู้ว่ามันจะเป็นการรวมตัวกันจากทั่วโลก และมีแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อย่าง FESTAC 77 เป็นต้น รวมถึงได้รับอิทธิพลจากงานที่เราทำร่วมกับภัณฑารักษ์ บิซิ ซิลวา ระหว่างที่ไปเยือนเซเนกัลเพื่อร่วมงาน ASIKO ในปี 2014 เราเข้าใจว่าการนำผู้คนมารวมกันเป็นงานที่ต้องอาศัยการคิดอย่างหนักหน่วง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับการทำงานของทุกคน โดยการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเช่นนี้ รวมถึงการอุ้มชูผู้หญิงผิวดำที่มีอิทธิพลทั้งในแง่ของรูปลักษณ์และปัญญา แต่กลับถูกมองข้าม โดยประเด็นเหล่านี้เป็นแนวคิดที่ฉันและซิโมนมีร่วมกัน “ช่องโหว่” ที่เวนิซถือเป็นมาตรการสุดท้ายเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ไปพร้อมกันด้วยการมอบเวทีนี้ให้กับผู้คน ซึ่งผู้คนที่เราได้ร่วมงานด้วยต่างก็อยู่ในจุดที่ต่างกัน ทั้งในแง่ของตำแหน่งการงานและความโดดเด่น แต่ทุกคนล้วนกำลังทำหน้าที่ที่ขาดไปไม่ได้ แต่ด้วยสัจธรรมของโลกศิลปะและโลกวิชาการ ทำให้ผู้คนเหล่านี้ไม่มีเวทีที่เหมาะสมของตัวเอง

สิ่งหนึ่งที่ฉันชอบมาก ๆ เกี่ยวกับ “ช่องโหว่” ครั้งแรก ก็คือการที่พวกเราสามารถสร้างพื้นที่ที่ต้องการขึ้นมาเอง แทนที่จะมัวแต่ขุ่นข้องใจที่ไม่มีเวทีที่เหมาะสมให้กับเรา ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เราทำขึ้นอีกครั้งที่เวนิซ เราพูดกับตัวเองว่า “ผู้หญิงเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญต่องานของเรา ไม่ว่าพวกเธอจะทำงานด้านการแสดง ภาพยนตร์ หรือการแต่งบทกวีก็ตาม เราจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อมอบพื้นที่เหล่านี้ให้กันและกัน เพื่อให้เราสามารถมองเห็นผลงานของกันและกันได้ และยังเป็นพื้นที่ที่จะทำให้ทั้งโลกมองเห็นพวกเธอไปพร้อมกันด้วย?” เรากำลังต่อสู้กับการกลายเป็นเพียงจุดอ้างอิงที่ไร้ตัวตน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้หญิงผิวดำที่ทำงานศิลปะหรืองานวิชาการ หรือกระทั่งงานการกุศลอย่างในกรณีของฉัน ล้วนเคยประสบกันทั้งสิ้น ผู้คนทั่วไปมักเห็นเราเป็นเพียงวัตถุดิบสำหรับงานของตัวเอง และพวกเขาคิดว่าสามารถหยิบยืมความคิดของคุณไปได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ซึ่งฉันคิดว่า “ช่องโหว่” หมายความว่าผู้หญิงเหล่านี้และความคิดของพวกเธอได้รับการบันทึกเอาไว้ตลอดไป ไม่ว่าจะบนยูทิวบ์ หรือในช่องไลฟ์สตรีม หรือในหนังสือที่เรากำลังจะผลิต มันเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่สำคัญมาก โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ประเด็นเรื่องสิทธิสตรีกำลังถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง มันเป็นช่วงเวลาที่หนักหน่วงในหลาย ๆ ระดับ อย่างที่พวกเราเคยพูดถึงการประท้วงในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญในแง่ของสิทธิพนักงานทั่วโลก เป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่มที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงผิวดำ และอย่างที่กลุ่ม Combahee River Collective บอกกับเราไว้ ถ้าผู้หญิงผิวดำได้รับสิทธิ ได้รับทรัพยากรณ์และเวทีในการแสดงออก นั่นก็หมายความว่าพวกเราทุกคนได้รับเหมือนกัน ถูกไหม? ซิโมนมักพูดถึงผู้หญิงผิวดำในฐานะกลุ่มเป้าหมายหลักของผลงานของเธอ นั่นแหละคือเหตุผล คุณสามารถสังเกตได้เลยว่า “ช่องโหว่” ที่เวนิซเป็นช่วงเวลาที่แตกต่างจากสิบปีที่แล้วอย่างมหันต์ ซึ่งมันวิเศษมาก และประสบการณ์ทั้งหมดประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมายทั้งหมดของเราในแง่ของความเป็นไปได้ และในหลาย ๆ มุมฉันก็อธิบายมันไม่ถูก เพราะรู้สึกว่าจริง ๆ แล้วมันอาจเป็นอะไรที่อธิบายไม่ได้

ลอรา: และผลกระทบของมันก็ยังคงส่งผลให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ

ราชิดา: ใช่ มันยังดำเนินไปเรื่อย ๆ โดยหวังว่าจะสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้งานต่อ ๆ ไปที่จะตามมา

ซิโมน: ฉันอยากจะพูดอะไรอย่างหนึ่ง ซึ่งฉันคิดว่ามันน่าจะจริงสำหรับทั้งฉันและราชิดา ราชิดาได้ริเริ่มสร้างผลงานชิ้นนี้มานานถึง 25 ปีแล้ว ไม่ใช่แค่ปีสองปี นี่มันคือผลงานทั้งชีวิตจริง ๆ และฉันก็รู้สึกแบบเดียวกันกับนิทรรศการของฉันที่พาวิลเลียน บทเรียนและความสัมพันธ์ที่สั่งสมมาหลายทศวรรษล้วนส่งเสริมให้ฉันทำงานนี้จำสำเร็จ ซึ่งฉันรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่รู้สึกได้ผ่านผลงาน

ราชิดา: แน่นอนที่สุด ฉันก็เห็นด้วย ฉันชอบมากเลยที่คุณพูดเช่นนั้น มีเพื่อน ๆ ของฉันหลายคนที่เติบโตและเรียนเต้นมาด้วยกันจาก “ช่องโหว่” ด้วย และฉันรู้สึกว่าแนวคิดหลาย ๆ อย่างที่เราได้เรียนรู้ในบทเรียนการเต้น คือความคิดว่าเราต้องเต้นอย่าง “เต็มที่” อยู่ตลอดเวลา ต้องเต็มที่เพราะครูสอนเต้นมักจะบอกพวกเราว่า “อย่าออกท่าอย่างเดียว ให้เต้นอย่างเต็มที่!” ซึ่งนี่เป็นคำสอนที่ฉันใช้ในการทำงานศิลปะจนถึงทุกวันนี้ ฉันมักถามตัวเองเสมอว่า “เวอร์ชั่นที่เต็มที่ของฉันคืออะไร?” ฉันจะนำความเต็มที่นั้นมาประยุกต์ใช้สำหรับทุกอย่าง เช่น การทำงานในฐานะภัณฑารักษ์ ได้อย่างไร? ฉันจะทำอย่างไรให้ตัวเองสามารถสร้างความทุ้มทางอารมณ์ของสถานที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในงาน “ช่องโหว่” เราอยากให้ผู้คนรู้สึกผ่อนคลาย ยกตัวอย่างเช่นเพื่อนสนิทของฉัน จินจี แมคลอยด์ ซึ่งฉันรู้จักมาตั้งแต่เรียนที่ Montessori School เธอบอกกับฉันว่า นี่คือพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุดที่เธอเคยรู้สึก ซึ่งมันวิเศษมาก ๆ เพราะเราอยู่กันที่อิตาลี ซึ่งเพิ่งจะเลือกตั้งผู้นำฟาสซิสต์เป็นประธานาธิบดี ฉันไม่เคยนึกเลยว่ายุโรปจะกลายเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มผู้หญิงผิวดำ แต่เราก็ทำมันสำเร็จจนได้ เรากำหนดทุกแง่มุมของการประชุมอย่างใส่ใจ ภายในงานมีห้องหนึ่งที่จัดฉายภาพยนตร์ ซึ่งคุณสามารถนั่งดูผลงานภาพยนตร์ต่าง ๆ จากผู้สร้างหลาย ๆ คน ที่ไม่สามารถมาร่วมงาน หรือไม่ได้มีโอกาสพูดในงานโดยตรง อย่างผลงานของตูร์มาลีน หรือผลงานของ อัลเบอร์ตา วิตเติล ผู้ซึ่งจัดพาวิลเลียนสกอตติช ก็มีผลงานฉายอยู่เช่นกัน มีอีกห้องหนึ่งสำหรับการพักผ่อนโดยเฉพาะ คุณสามารถนั่งพักและอ่านอีเมลโดยที่ไม่ต้องโบกเรือกลับไปถึงโรงแรม ซึ่งบางคนใช้เป็นที่นอนกลางวันด้วย เรายังต้อนรับเด็ก ๆ ให้เข้ามาชมผลงาน และมีพื้นที่จัดเอาไว้ให้พวกเขาโดยเฉพาะด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เริ่มต้นขึ้นจากการจินตนาการถึงพื้นที่ที่มี ‘เรา’ เป็นจุดศูนย์กลาง และฉันก็รู้สึกว่าเราประสบผลสำเร็จมาก แม้ว่าการที่เราต้องง่วนออกแบบรายละเอียดทั้งหมดจะเหน็ดเหนื่อยอยู่ไม่น้อย แต่สุดท้ายก็หาวิธีทำสำเร็จจนได้
ลอรา: คุณมีทั้งเด็ก ชรา และผู้คนจากภูมิประเทศที่แตกต่างกัน ซึ่งกำลังเผชิญอาการเจ็ทแลคในระดับต่าง ๆ กันด้วย! ฉันจำได้ว่าในระหว่างที่กำลังเดินทางไปที่งานวันแรก ฉันได้เห็นผู้หญิงผิวดำกลุ่มใหญ่เดินอยู่ริมแม่น้ำ Riva dei Schiavoni พร้อมกัน และฉันก็คิดกับตัวเองว่า “โอ้ ฉันรู้แล้วว่าต้องไปทางไหน” มีผู้หญิงเป็นกลุ่ม ๆ คอยทักทายเราตอนลงจากเรือ และมีการพบปะกันระหว่างคนรู้จักเกิดขึ้นรอบตัวฉันเต็มไปหมด มันเป็นประสบการณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว และเรายังเดินทางไม่ถึงงานประชุมด้วยซ้ำ! ฉะนั้นทุกสิ่งที่เกิดขึ้นบนเวที พื้นที่จัดแสดง และพื้นที่โดยรอบทั้งหมด มันจึงงดงามเหลือเกิน

ยังไม่ต้องพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงการนำเสนอ ฉันรู้สึกได้ถึงความต้องการของคุณในการจำกัดคำนิยามของสิ่งที่ผู้คนอาจจะมีส่วนร่วมได้ เพื่อนำเอาความมุ่งมั่นส่วนตัวอันเป็นแก่นกลางของพาวิลเลียนและงาน “ช่องโหว่” มาไว้ในฉากหน้า แน่นอนว่าคุณย่อมมีหมุดหมายนำทางอย่างข้อกำหนดการประชุมเรื่อง Medicine, Maroonage, Manual, Sovereignty, and Magical Realism ซึ่งทุกประเด็นล้วนมีความสำคัญมากต่อจักรวาลวิทยาที่คุณกำลังสร้างในงาน “ช่องโหว่” แต่ประเด็นเหล่านี้กลับไม่ได้ถูกกำหนดมาอย่างเข้มงวด ฉันรู้สึกว่ามันมีประโยชน์โดยเฉพาะสำหรับผู้คนที่เคยชินกับงานประชุมที่ไม่เพียงแต่มีหัวข้อกำหนดชัดเจน แต่การเสวนาทุกเวทีก็มีทั้งชื่อหัวข้อ รวมถึงผู้อภิปรายแต่ละคนก็มีธีมในใจของตัวเองด้วย

ฉันจึงอยากถามพวกคุณทั้งสองคนถึงสิ่งที่จะตามมาในอนาคต ผลงาน “ช่องโหว่” จะได้รับการสานต่อหรือไม่ เช่นอาจจะย้ายไปจัดในภูมิประเทศที่ต่างออกไป? งานจะมีรูปแบบแตกต่างไปไหม? การได้อยู่ในหมู่คนดูผลงานที่กุกเกนไฮม์และเวนิซนั้นทรงพลังมาก และฉันก็อยากจะหวนสู่ประสบการณ์เหล่านั้นในวิธีที่ต่างออกไปบ้าง พวกคุณกำลังคิดว่าจะผลิตหนังสืออย่างไร?

Photo: Glorija Blazinsek

Photo: Glorija Blazinsek

ราชิดา: ในส่วนของหนังสือ เป็นอย่างที่คุณบอกว่าเราอยากมอบวิธีการเข้าถึงประสบการณ์ของ “ช่องโหว่” อีกทางหนึ่งให้กับผู้คน และเราก็คิดว่าจะรวมเอาเรียงความจาก “ช่องโหว่” ครั้งแรกเข้าไปด้วย เพราะ ทีน่า แคมปต์ ผู้จัดงานรอบแรกร่วมกับ ไซดิยา ฮาร์ทแมน - ซึ่งทำหน้าที่ที่ปรึกษาสำหรับงานรอบหลังนี้ด้วย - ได้จัดการปรับแก้และตีพิมพ์เรียงความเหล่านี้ทางออนไลน์แล้ว เราจึงอยากพิจารณานำเรียงความเหล่านี้มารวมในหนังสือด้วย ส่วนประเด็นเรื่อง “ช่องโหว่” ครั้งถัดไป เรากำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาว่าควรจัดงานอย่างไร โดยที่ไม่ได้เป็นการจัดงานเพื่อได้จัดไปอย่างนั้น ซิโมนน่าจะเสริมประเด็นนี้ได้ดีกว่า เราอยากมั่นใจว่าการจัดงานอีกรอบเป็นอะไรที่สมเหตุสมผลเพราะกระบวนการระดมทุนนั้นยากลำบากมาก และเพราะซิโมนแทบจะต้องทำงานเต็มเวลาเพิ่มอีกงานเพียงเพื่อจัดการกับการระดสมทุน นั่นจึงเป็นปัจจัยหนึ่งอย่างแน่นอน

ซิโมน: ฉันรู้สึกขอบคุณสำหรับประสบการณ์นั้น แต่ฉันคงไม่อยากต้องระดมทุนตลอดเวลาแน่ๆ (หัวเราะ) ยิ่งกว่านั้น ฉันรู้สึกต่อต้านแนวคิดที่ว่าถ้าอะไรบางอย่างปประสบความสำเร็จซักครั้ง หมายความว่าเราจะต้องทำมันต่อไปเรื่อยๆ ฉันปลีกตัวออกจากโครงการที่ประสบความสำเร็จหลายครั้งเพียงเพราะถึงเวลาของมันแล้ว งาน Be Black Baby Party เป็นตัวอย่างที่ดีของงานที่อาจจะสามารถจัดต่อไปได้ตลอดกาล หรืออย่าง Black Women Artists for Black Lives Matter ก็อาจดำเนินต่อไปได้เรื่อยๆ แต่มันก็มีเหตุผลต่างๆ กันไปที่ทำให้โครงการเหล่านี้ต้องปิดตัวลง โครงการเหล่านี้ได้บรรลุเป้าหมายของมันแล้ว ซึ่งฉันรู้สึกว่านี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราสามารถนับมันเป็นศิลปะ มากกว่าเป็นทุนนิยมอีกรูปแบบหนึ่ง

ฉันไม่อยากมารู้สึกทีหลังว่าเราได้กระทำอะไรลงไปที่ส่งผลให้พลังของงาน “ช่องโหว่” สองครั้งแรกเจือจางลง ถ้าเราจัดงานนี้อีกครั้ง ฉันอยากให้มันยังทรงพลังไม่ต่างจากสองครั้งแรก ฉะนั้นฉันจึงคิดว่าสมาธิทั้งหมดของเรา หรืออย่างน้อยก็ของฉัน ถูกเพ่งเป้าไปที่การบันทึกเรื่องราวของงานเอาไว้ เพราะฉันเห็นด้วยกับคุณว่ามันมีกลุ่มคนภายนอกอีกมากมายที่งานของฉันจะเข้าถึงได้ในรูปแบบของหนังสือเท่านั้น ผลงานวิดีโอหรือกระทั่งนิทรรศการของฉันอาจไม่สามารถเอื้อมไปถึงกลุ่มคนที่ฉันถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของฉัน และฉันเริ่มสังเกตว่าฉันไม่มีคนอย่าง รอสซาลินด์ เคราส์ หรือนักประวัติศาสตร์ศิลป์คนใดที่ยอมรับหน้าที่ในการจดบันทึกเกี่ยวกับผลงานของฉันในทางที่ฉันรู้สึกว่าสำคัญหรือมีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่น่าสนใจด้วยซ้ำ ฉันจึงกำลังคิดว่าจะผลิตหนังสือและมีส่วนในการกำหนดนิยามหรือภาษาที่ถูกใช้ในการพูดถึงงานของฉัน

ลอรา: ฉันคิดว่านั่นเป็นแนวคิดที่ลึกล้ำและสำคัญมากๆ เราล้วนมีหนังสือบนชั้นที่มักจะหยิบกลับมาอ่านซ้ำอยู่ตลอด และยังอาจจะมอบขอบเขตที่ต่างออกไปให้กับงานได้ด้วย แน่นอนว่าภายในงานจริงนั้นมีบรรยากาศบางอย่างที่อธิบายไม่ได้ เป็นพลังงานของพื้นที่ที่คงไม่สามารถถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหนังสือจะไม่สามารถมอบมุมมองหรือความหมายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงให้กับโครงการได้ การได้รับชมภาพและตัวหนังสือและมองมันในฐานะบทสนทนาที่อาจเกิดขึ้นได้ (หรือกำลังเกิดขึ้นอยู่) เคียงข้างกัน มันมีเรื่องบังเอิญทางภาษาอันน่าทึ่ง มีประวัติศาสตร์ที่ถูกแบางปัน และบทสนทนามากมายระหว่างผู้คนเหล่านี้ที่ “ช่องโหว่” ที่ฉันอยากจะย้อนไปสำรวจอีกครั้งในรูปแบบของหนังสือ

ฉันมีคำถามอีกข้อหนึ่งสำหรับคุณซิโมน ซึ่งย้อนกลับไปสู่สิ่งที่เราเคยคุยกันเมื่อนานมาแล้ว ซึ่งก็คือจังหวะสุดปังของคุณที่งาน Creative Time Summit ในปี 2015 ที่จัดขึ้นในกรุงเวนิซเช่นกัน โดยคุณพูดว่า “เราอาจต้องกลับลงใต้ดินอีกครั้ง” คุณพอจะพูดถึงความคิดและความรู้สึกของคุณในช่วงเวลานั้น รวมถึงพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างช่วงเวลานั้นและการได้กลับมาสู่เวนิซสำหรับงาน “ช่องโหว่” และ Sovereignty?

ซิโมน: ฉันกำลังคิดว่าตอนนั้นฉันอยู่ที่งาน Creative Time โดยไม่มีราชิดา เพื่อพูดเกี่ยวกับโครงการ Free People's Medical Clinic ทีนี้ทำไมราชิดาถึงไม่ได้อยู่ที่นั่นด้วย? นั่นเป็นตัวอย่างที่ดีมาก ๆ ของการลบล้างที่ทั้งเธอและฉันต้องเผชิญมาตลอดชีวิตการทำงาน และเป็นสิ่งที่ฉันเห็นว่าเกิดกับคนอื่นอีกมากมาย ฉันพูดถึงการกลับลงใต้ดินในฐานะประเด็นที่ฉันรู้ว่ามีความสำคัฐอย่างเฉพาะเจาะจงกับวัฒนธรรมของชาวอเมริกันเชื้อสายอัฟริกัน ในระหว่างกระบวนการก่อตั้ง Free People’s Medical Clinic ฉันได้เรียนรู้เกียวกับผลงานของกลุ่ม United Order of Tents พวกเขาทำงานอย่างลับ ๆ มาเป็นเวลากว่า 150 ปี นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ศึกษาพระคัมภีร์ที่ถูกยิงเสียชีวิตในโบสถ์ Mother Emmanuel ในช่วงเวลาเดียวกับที่เรากำลังพยายามจัดโครงการ FPMC โดยโบสถ์นั้นก็กลับลงใต้ดินและรวมตัวกันอย่างลับ ๆ เป็นเวลากว่า 35 ปี หลังจากที่โบสถ์ของคนผิวดำถูกแบนในปี 1834 ฉันยังไม่ได้คิดถึงการปลดแอกตัวเองของทาสผิวดำหรือวัฒนธรรมการหลบซ่อน และพรางตัวของคนกลุ่มน้อยเลยด้วยซ้ำ กลยุทธ์ของการจำกัดการมองเห็นเป็นอะไรที่ฉันรู้สึกว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในวงการที่การพยายามได้รับการมองเห็นจากผู้คนเป็นเป้าหมายตลอดมา มันเป็นเหมือนกับเครื่องบูชาทางปัญญาแด่ประวัติศาสตร์ จะว่าไปแล้วมุมมองของ แฮร์เรียต เจคอบส์ เกี่ยวกับ “ช่องโหว่แห่งการล่าถอย” ก็มีความเป็นใต้ดินเหมือนกัน

แต่เอาเข้าจริง สิ่งที่ฉันภูมิใจจริง ๆ คืออะไรบางอย่างที่ฉันกับราชิดาทำร่วมกันมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคือการแสดงให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีการกีดกันใคร เราได้แง้มประตูกว้างขึ้นและทุกคนก็มีพลังมากขึ้นไปด้วย เราไม่ได้เสียอะไรไปเลยในการแสดงออกเหล่านี้ และนี่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่เราจะสามารถดำรงอยู่ในโลกโดยรวม โลกแห่งศิลปะ อย่างมีจรรยาบรรณ คุณไม่จำเป็นต้องผ่อนปรนคุณธรรมพื้นฐานของตัวเองเพื่อประสบความสำเร็จ และฉันก็ภูมิใจมาก ๆ ที่เราสามารถประสบความสำเร็จได้บนเกณฑ์ที่เรากำหนดเอง