เมื่อใดที่มาติสต์จากโลกนี้ไป ก็จะเหลือจิตรกรเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เข้าใจอย่างแท้จริงว่า ‘สีสัน’ คืออะไร และคนคนนั้นก็คือชากาล
นั่นคือคำกล่าวของ ปาโบล ปิกัสโซ ศิลปินผู้วางรากฐานศิลปะบาศกนิยมหรือ Cubism ผู้ยก ‘ชากาล’ หรือ มาร์ก ชากาล ที่เขากล่าวถึงนั้นให้เป็นคู่แข่งคนสำคัญในการทำงานศิลปะ ซึ่งการที่ประโยคนี้ได้ถูกเอ่ยขึ้นหลังจากที่มิตรภาพระหว่างปิกัสโซและชากาลได้สะบั้นลงแล้ว ก็สะท้อนให้เห็นว่า ความนับถือที่บิดาแห่งศิลปะบาศกนิยมอย่างปิกัสโซมีให้ต่อชากาลนั้นเป็นเรื่องจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แม้ว่าจะเกลียดขี้หน้ากันแค่ไหนก็ตาม
แม้จะส่งอิทธิพลให้แก่กันและกัน แต่มาร์ก ชากาล ไม่เคยยอมรับการตีตราในฐานะศิลปินในลัทธิบาศกนิยม อันเป็นสถานะติดตัวปิกัสโซเรื่อยมา และแม้ว่าภาพวาดลายเส้นชวนฝันที่ประกอบด้วยนางฟ้า วัว และคนบินได้ของชากาลจะดูค่อนเอียงมาทางอีกหนึ่งศิลปะสมัยใหม่อย่าง ‘ลัทธิประทับใจ’ หรือ Impressionism แต่ชากาลก็ยังปฏิเสธการเป็นศิลปินในลัทธินี้ พร้อมประกาศว่าตนจะไม่ขอเป็นทั้งศิลปิน Cubist หรือ Impressionist เพราะเขาต้องการปล่อยให้ภาพวาดของเขายังคง “เสรี กู่ร้อง ร่ำไห้ และร่ายภาวนาต่อไป”
7 กรกฎาคม คือวันคล้ายวันเกิดของ มาร์ก ชากาล ศิลปินชาวรัสเซียผู้เรียกตัวเองว่า ‘นักฝันผู้ไม่ยอมลืมตาตื่น” ผู้ที่แม้จะจากไปแล้วเกือบสี่ทศวรรษ แต่ผลงานกว่าหมื่นชิ้นที่เขาสร้างสรรค์ไว้ในช่วงเวลา 75 ปีของชีวิตการทำงาน ได้พาผู้คนไปร่วมฝัน และพาเราไปเปิดประตูสู่เส้นทางที่ทอดยาวเข้าไปในจินตนาการของทุกคน
มารู้จัก มาร์ก ชากาล ด้วยกันผ่าน The Art of Being An Artist ‘Marc Chagall ศิลปินผู้ตื่นเพื่อวาดความฝัน และผู้ไม่ยอมเป็นทั้ง Impressionist หรือ Cubist’
ศิลปินผู้พบกับความตายในวันแรกที่ลืมตาดูแรก
มาร์ก ชากาล ‘ตาย’ ครั้งแรกในวันที่ 7 กรกฎาคม 1887 ที่เมืองวีเชปสก์ ประเทศเบลารุส เหตุผลที่ชากาลใช้คำว่า ‘ตาย’ ในการอธิบายวันแรกที่เขาลืมตาดูโลก ก็เพราะเขาออกมาจากท้องแม่โดยไม่หายใจ แต่ด้วยความพยายามของพ่อแม่ที่จะเรียกชีวิตคืนร่างที่ไร้ลมหายใจ พวกเขาได้นำร่างทารกน้อยไปวางไว้บนหินกลางแม่น้ำท่ามกลางอากาศหนาวจัด และทันใดนั้น เด็กชายมาร์ก ชากาล ที่ตายก่อนจะได้เกิด ก็เปล่งเสียงร้องออกมา ซึ่งการตายก่อนที่จะเกิดในก็ส่งผลให้ชากาล “กลัวที่จะต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แม้กระทั่งเมื่อก้าวเข้าวัยยี่สิบ ฉันก็อยากใช้ชีวิตอยู่ในความฝัน เพื่อครุ่นคำนึงถึงความรัก และถ่ายทอดมันออกมาในภาพวาดของฉัน”
ชากาลเป็นพี่คนโตในจำนวนพี่น้องเก้าคน เขาเติบโตขึ้นมาในสภาพแร้นแค้น เนื่องด้วยในช่วงเวลานั้น จักรวรรดิรัสเซียยังคงกีดกันชาวยิว และมีอาชีพเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้นที่ชาวยิวสามารถทำได้ ซึ่งพ่อของชากาลก็หาเลี้ยงครอบครัวด้วยการเป็นลูกจ้างของพ่อค้าขายปลาเฮอร์ริง ชากาลที่เติบโตมาด้วยการเห็นพ่อต้องตื่นตั้งแต่หกโมงเช้าเพื่อออกไปแบกถังใส่ปลาถึงค่ำ จึงได้สัญญากับตัวเองว่า เขาจะไม่มีวันตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันกับพ่อที่เหมือนถูกสาปให้เป็น ‘ทาส’ ไปตลอดกาล ตามความคิดของชากาล
มือของฉันอ่อนนุ่มเกินไป… ฉันต้องมองหาอาชีพอื่นที่ทำให้ฉันไม่ต้องก้มหน้าก้มตาทำงานจนหันหลังให้ท้องฟ้าและดวงดาว งานที่เปิดให้ฉันได้ค้นหาความหมายของชีวิต
และแม้ว่าชากาลจะเติบโตขึ้นมาในบ้านที่ไร้ภาพวาดหรืองานศิลปะตกแต่ง ตามความเชื่อของชาวยิวที่ไม่ยอมรับภาพวาดหรืองานศิลปะใด ๆ ก็ตามที่ถ่ายทอดภาพของพระเจ้า แต่ความไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตาก็กระตุ้นให้ชากาลรบเร้าแม่ จนในที่สุดแม่ของเขาก็สามารถติดสินบนครูใหญ่ และส่งเขาเข้าเรียนในโรงเรียนของชาวรัสเซียทั่วไป ที่ไม่ใช่โรงเรียนสอนศาสนาสำหรับชาวยิวได้ ซึ่งที่นั่นเองที่เปลี่ยนชะตาชีวิตของชากาล เมื่อเขาได้เห็นสิ่งที่เขาไม่เคยเห็นในโรงเรียนยิวแถวบ้านมาก่อน นั่นก็คือการวาดรูป
สำหรับชากาลที่เติบโตมาในบ้านที่ไร้งานศิลปะหรือของประดับ การวาดรูปคือเรื่องแปลกที่เขาไม่อาจละสายตาได้ เมื่อเขาถามเพื่อนร่วมชั้นว่าจะเรียนรู้วิธีการวาดรูปได้อย่างไร เพื่อนของเขาก็ตอบกลับมาว่า “ไอ้โง่ ก็ไปหาหนังสือในห้องสมุด เลือกรูปมาสักรูป แล้วก็วาดตามซะสิ” และจากจุดนั้นเอง ชากาลก็ตัดสินใจว่าเขาจะมีอาชีพเป็นศิลปิน
บ้านเกิดที่จากมา แต่ไม่เคยจากไป
ความรักในศิลปะที่ทำให้มาร์ก ชากาล ได้ค้นพบเป้าหมายในชีวิตของตัวเอง กลับสร้างความสยดสยองให้พ่อแม่ของเขา โดยเฉพาะเมื่อชากาลเป็นลูกชายคนโตที่พ่อแม่หมายฝากผีฝากไข้และช่วยทำงานหาเลี้ยงครอบครัว แต่ชากาลก็หาได้สนใจ เป้าหมายต่อไปที่เขามองไว้ก็คือการเข้าเรียนในโรงเรียนของ ยูริ แพน (Yuri Pen) ศิลปินลัทธิสมจริง (Realism) ที่มาตั้งสตูดิโอทำงานในเมืองวีเชปสก์ ซึ่งชากาลเคยเล่าย้อนถึงความคิดอันแสนไร้เดียงสาของเขาในตอนนั้นว่า “ถ้าฉันได้เข้าเรียนที่นี่และเรียนจนจบ ฉันก็จะได้เป็นศิลปิน”
ในปี 1906 แพนก็ได้รับชากาลเข้าเรียนโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน แต่เข้าเรียนได้ไม่กี่สัปดาห์ ชากาลก็พบว่าการวาดรูปบุคคลตามประเพณีนิยมนั้นหาใช่วิถีทางของเขา ทำให้สายตาของเขาหันมองไปยังจุดหมายที่ไกลกว่านั้น นั่นก็คือกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิรัสเซียในเวลานั้น ชากาลในวัย 19 ปีได้ขอเงินจากพ่อมาจำนวนหนึ่ง แล้วมุ่งหน้าสู่เมืองหลวง หันหลังให้บ้านเกิดที่เขาเคยอธิบายว่าเป็น “เมืองอันแปลกประหลาด เมืองที่ไร้ความสุข เมืองที่แสนจะน่าเบื่อ”
แต่กลายเป็นว่าการจากเมืองที่ทั้งน่าเบื่อและไร้ความสุขมานั้น กลับกลายเป็นรากฐานของเอกลักษณ์สำคัญในงานของชากาล เมื่อย่างเท้าเข้ามาในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งมีข้อกำหนดว่าชาวยิวที่จะเข้ามาในเมืองนี้ต้องถือพาสปอร์ตแสดงตนตลอดเวลา การเป็น ‘คนนอก’ ในเมืองใหญ่กลับทำให้ชากาลได้กลับมาเชื่อมโยงกับรากความเป็นยิวที่เขาไม่เคยให้ความสำคัญ และทำให้ผลงานของเขาเต็มไปด้วยองค์ประกอบจากความทรงจำถึงชีวิตในวัยเด็ก ทั้งถนนที่เต็มไปด้วยหิมะ บ้านไม้ หรือทิวทัศน์ป่าเขาที่เขาคุ้นตา ในภายหลัง ชากาลในวัย 57 ปีผู้ใช้แรงกดทับจากประสบการณ์การเป็นคนยิวมาเป็นขุมพลังแห่งจินตนาการอันเสรี ก็ได้ย้อนรำลึกถึง ‘เธอ’ หรือบ้านเกิดที่เขาเคยเดียดฉันท์ว่า “ฉันอาจไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับเธอ แต่ไม่มีแม้แต่ภาพเดียวที่ฉันวาดขึ้นโดยปราศจากจิตวิญญาณและภาพความทรงจำถึงเธอ”
ปารีสเปิดโลก
ในปี 1909 ชากาลได้เข้าเรียนในชั้นเรียนของ** เลออน บาสก์** ศิลปินชาวยิวผู้เคยไปพำนักอยู่ในกรุงปารีส ผู้ซึ่งเปิดหูเปิดตาโลกศิลปะให้ชากาล พาเขาไปรู้จักศิลปะของการออกแบบฉากและคอสตูมละครเวที นอกจากนี้ บาสก์ยังปักหมุด ‘ปารีส’ ให้กลายเป็นจุดหมายในฝันของชากาล
ในปีต่อมา ชากาลก็ได้เดินทางไปเรียนศิลปะที่กรุงปารีส โดยดำรงชีพด้วยเงินสนับสนุนก้อนเล็ก ๆ จากสภาดูมาที่มุ่งสนับสนุนคนรุ่นใหม่เพื่อกลับมาเป็นกำลังสำคัญของรัสเซียในอนาคต ทันทีที่ไปถึงเมืองในฝัน ชากาลก็ตรงไปยังพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์และชมงานศิลปะต่าง ๆ ด้วยความตื่นตาตื่นใจในความก้าวหน้าของเหล่าศิลปินโมเดิร์นที่แหกขนบงานศิลปะแบบเดิม ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลงานของ วินเซนต์ แวนโกะห์, ปิแอร์-ออกุสต์ เรอนัวร์, อองรี มาติส, ปอล โกแก็ง, โคลด โมเนต์ หรือ เอดัวร์ มาเนต์
และในตอนที่ชากาลไปถึงปารีสนั้น เมืองหลวงแห่งโลกศิลปะเหล่านี้กำลังเบ่งบานด้วยกระแสศิลปะสุดล้ำหน้าอย่างบาศกนิยม (Cubism) และคติโฟวิสต์ (Fauvism) ซึ่งชากาลก็โอบรับอิทธิพลจากกระแสศิลปะที่กำลังมาแรงนั้น อย่างไรก็ตาม ทิวทัศน์และความทรงจำถึงบ้านเกิดก็สถิตฝังแน่นอยู่ในห้วงความคิดของเขา จนส่งผลให้ผลงานของชากาลมีเอกลักษณ์แตกต่างไปจากงานบาศกนิยมทั่วไป ในขณะที่ศิลปินในช่วงเวลานี้มุ่งมั่นสำรวจรูปทรงและวัตถุต่าง ๆ ชากาลยังคงให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึก ผ่านการเลือกใช้สีสันอันสดใหม่ และการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพที่ทำให้ความรู้สึกของนิทานพื้นบ้านและบทกวี
แม้ว่าจะเริ่มค้นพบที่ทางและผสานตัวเข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกชุมชนศิลปินที่พากันมารวมตัวที่ปารีสในเวลานั้น แต่คนที่ชากาลผูกมิตรด้วย และเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่มองเห็นความพิเศษในผลงานของชากาล ก็คือเหล่ากวีและนักเขียน โดยเฉพาะนักเขียนและบรรณาธิการคนดังอย่าง กีโยม อาปอลีแนร์ ที่เป็นคนแรก ๆ ที่ให้คำนิยามว่าผลงานของชากาลนั้นเป็นงานศิลปะ ‘เหนือธรรมชาติ’ (Supernatural) จากการที่เขามักวาดผู้คนลอยไปบนท้องฟ้า โบส์ วัวบินได้ และการนำเสนอฉากหลังที่เป็นการผสมผสานระหว่างทิวทัศน์ของกรุงปารีสและภาพความทรงจำของบ้านเกิดอย่างวีเชปสก์ ซึ่งภาดวาดที่ราวกับหลุดมาจากความฝันเหล่านี้ก็คือภาพสะท้อนความคิดถึงบ้าน และความรู้สึกแปลกแยกของการอาศัยอยู่ในมหานครใหญ่โดยที่ยังมีภาพธรรมชาติและวิถีชีวิตเรียบง่ายของบ้านเกิดฝังอยู่ในจิตใจ ดังที่ชากาลได้เคยอธิบายว่า “บ้านของฉันดำรงอยู่ในจิตวิญญาณของฉัน”
ในภายหลัง ผลงานสะท้อนจิตวิญญาณของชาวยิวและภาพฝันถึงบ้านเกิดของชากาลนั้นจะถูกยกย่องให้เป็นต้นธารแห่งศิลปะเหนือจริง (Surrealism) อย่างไรก็ตาม ชากาลได้ปฏิเสธที่จะสังกัดตัวตนและงานของเขาไว้ในขบวนการศิลปะใด ๆ พร้อมยืนยันว่า ภาพสิ่งมีชีวิตที่ผสมผสานระหว่างคนกับสัตว์ หรือภาพความมหัศจรรย์ต่าง ๆ ที่เขาถ่ายทอดในผลงานนั้น เป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายสำหรับเขาเพียงคนเดียวเท่านั้น และหากผู้ชมจะตีความหรือเชื่อมโยงผลงานของเขาด้วยประสบการณ์หรือมุมมองของตัวเอง ก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าผลงานอันสะท้อนจิตวิญญาณเสรีของเขาจะหลุดกรอบขนบศิลปะใด ๆ
‘Bella’
นอกจากรากความเป็นยิว ทิวทัศน์ของบ้านเกิด และจิตวิญญาณของนักฝันแล้ว แรงบันดาลใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของชากาลก็คือ ‘ความรัก’ และความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขาก็คือ ‘เบลลา’ ภรรยาคนแรกของชากาล ผู้พาให้ชากาลกลับมาบ้าน ก่อนที่จะติดกับและต้องติดอยู่ในบ้านที่เขาไม่รักไปอีกนาน
ชากาลพบกับเบลลาครั้งแรกในตอนที่เขากลับมาเยี่ยมบ้านเกิดที่วีเชปสก์ เธอเป็นลูกสาวของครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ ส่วนเขาก็ยังเป็นศิลปินทีืกำลังดิ้นรนเพื่อที่จะมีตัวตนในโลกศิลปะ ชากาลกลับไปปารีสด้วยอาการคนคลั่งรัก และความตั้งมั่นที่จะเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จเพื่อพิสูจน์ให้ครอบครัวของเธอได้เห็น ก่อนที่เขาจะกลับมาวีเชปสก์อีกครั้งเพื่อแต่งงานกับเธอ
แม้บ้านเกิดจะเป็นส่วนหนึ่งของเขาเสมอ แต่ชากาลไม่ได้ตั้งใจจะกลับมาใช้ชีวิตที่นี่ แผนของเขาคือการกลับมาแต่งงานกับเบลลาและพากันย้ายไปอยู่ปารีสเป็นการถาวร แต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ปะทุขึ้นมาพอดิบพอดี ก็ทำให้พรมแดนของรัสเซียถูกปิด และชากาลกับเบลลาก็ต้องจำใช้ชีวิตข้าวใหม่ปลามันด้วยกันในเบลารุส ในช่วงเวลานี้เองที่การติดอยู่กับที่กลับปลดปล่อยจินตนาการอันเสรีของชากาล ผลงานของเขาในช่วงนี้ก็หนีไม่พ้นภาพวาดชวนฝันของเขาและเบลลา ซึ่งถูกถ่ายทอดออกมาอย่างเหนือจริง สะท้อนความรู้สึกของการตกอยู่ในห้วงรักที่แปรเปลี่ยนสภาพรอบตัวให้ราวกับโลกแห่งความฝันที่มีเพียงเขาและเธอเท่านั้น หนี่งในผลงานชื่อดังที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นในช่วงนี้ก็คือ ‘Birthday’ (1915) ที่เขานำเสนอฉากจุมพิตระหว่างเขาและเบลลา โดยที่ทั้งเขาและเธอต่างลอยคว้าง ราวกับว่าความรักของพวกเขาได้พาพวกเขาหลุดลอยออกจากกฎเกณฑ์ทั้งปวง ไม่เว้นแม้กระทั่งกฎทางกายภาพและฟิสิกส์
อีกหนึ่งผลงานสำคัญของชากาลที่ขึ้นแท่นไอคอนิกและกลายเป็นเรฟฯ ให้ฉากในหนังดังมากมาย ก็คือ Over the town (1918) ที่ชากาลวาดภาพตัวเขาและเบลลาตระกองกอดกันและพากันลอยไปสู่ท้องฟ้าเหนือเมืองวีเชปสก์ที่เขาและเธอติดกับอยู่
“ทันใดนั้น ฉันรู้สึกราวกับว่าเรากำลังโบยบินขึ้นไป เธอเองก็ค่อย ๆ ใช้ชาข้างหนึ่งถีบตัว ราวกับว่าห้องเล็ก ๆ นี้ไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับเธออีกต่อไป เธอลอยขึ้นไปถึงเพดานแล้วหันมามองฉัน และฉันก็หันไปมองเธอเช่นกัน… เราโบยบินผ่านเหนือทุ่งดอกไม้ บ้านเรือน หลังคา สนามหญ้า และโบสถ์” นั่นคือความรู้สึกที่ชากาลอธิบายให้เบลลาฟัง ยามที่เขาให้เธอดูภาพนี้
หลังจากติดอยู่ในบ้านเกิดมาระยะเวลาหนึ่ง เหตุการณ์ปฏิวัติเดือนตุลาก็เกิดขึ้น ชากาลที่ในตอนนั้นเริ่มมีชื่อเสียงในฐานะศิลปินหัวก้าวหน้าของรัสเซียได้รับมอบหมายจากกลุ่มบอลเชวิกให้ตั้งโรงเรียนสอนศิลปะในวีเชปสก์ ชากาลโอบรับการปฏิวัติครั้งนี้อย่างยินดี เพราะรัฐบาลใหม่นี้ได้มอบสิทธิพลเมืองให้กับชาวยิวอย่างเต็มรูปแบบ และดูมีทีท่าที่จะเปิดรับแนวความคิดก้าวหน้า ซึ่งชากาลก็ได้รวบรวมศิลปินอาวองการ์ดมากมายให้มาสอนที่โรงเรียนของเขา แต่ไม่นานนักชากาลก็ตระหนักว่า รัฐบาลบอลเชวิกยังคงสนับสนุนศิลปะที่ตอบสนองต่ออุดมการณ์มาร์กซิสต์มากกว่า และเริ่มมองว่าภาพวาดคนลอยได้และวัวสีฟ้าของชากาลนั้นหาได้มีประโยชน์ต่อการเผยแพร่อุดมการณ์ของพรรค นั่นเองที่ชากาลกับเบลลาได้ตัดสินใจพา ไอดา ลูกสาววัยหกเดือนของพวกเขาไปตั้งรกรากที่ปารีส และไม่กลับมายังบ้านเกิดอีกเลย
อเมริกาและปารีสในบั้นปลายชีวิต
เมื่อชากาลพาครอบครัวกลับมาปารีส เขาก็เริ่มได้รับงานคอมมิชชั่นที่ทำให้เขามีชื่อเสียงมากขึ้น กระทั่งเมื่อยุคกองทัพนาซีเรืองอำนาจมาถึง ชากาลผู้เป็นชาวยิวก็ได้ลุกขึ้นโต้ตอบด้วยการวาดภาพ White Crucifixion (1938) ซึ่งนำเสนอภาพของพระเยซูขณะถูกตรึงกางเขน รายล้อมด้วยภาพของชาวยิวที่กำลังทุกข์ทรมานจากการถูกกดขี่ ก่อนที่เขา เบลลา และลูกสาว จะขึ้นเรือเดินทางมายังอเมริกาในปี 1941
ชีวิตหกปีที่นิวยอร์กของชากาลนั้นไปด้วยความหมองเศร้า เขาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ และไม่คิดที่จะเรียนรู้ภาษาใหม่ ด้วยเหตุผลว่า “ฉันใช้เวลา 30 ปีไปกับการเรียนรู้ที่จะพูดภาษาฝรั่งเศสแบบพอถู ๆ ไถ ๆ แล้วทำไมฉันต้องเสียเวลามาเรียนรู้ภาษาใหม่ด้วย” ผลงานของเขาในช่วงนี้แทบไร้สีสัน และยังนำเสนอภาพของบ้านเกิดที่เบลารุสที่กำลังลุกไหม้ ไปจนถึงภาพกระต่ายที่ดูหวาดหวั่นขวัญเสีย อย่างไรก็ตาม ชากาลก็ยังพอมีใจให้อเมริกาอยู่บ้าง เพราะตอนนั้นนิวยอร์กกำลังเติบโตในฐานะเมืองศิลปะแห่งใหม่ ซึ่งชากาลก็หวังว่าตัวเขาเองจะมอบอะไรบางอย่างให้กับเมืองแห่งนี้ได้
“ฝรั่งเศสคือภาพที่ถูกวาดเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ยังไม่มีใครวาดอเมริกา นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ฉันรู้สึกถึงอิสระเสรี ณ ดินแดนแห่งนี้ได้มากกว่า แต่เวลาที่ฉันทำงานในอเมริกา ฉันรู้สึกเหมือนกับตัวเองกำลังตะโกนอยู่ในป่า โดยไม่มีเสียงสะท้อนกลับมา”
แต่เมื่อเบลลาเสียชีวิตลงในปี 1944 โลกของชากาลก็ดับแสงลงอย่างแท้จริง ชากาลในวัย 52 ปีบันทึกไว้ว่า นั่นคือช่วงเวลาที่ “ทุกสิ่งอย่างกลายเป็นสีดำ”
หลังจากที่นั่งอยู่ในอพาร์ตเมนต์เพียงลำพังและเดียวดายหลายสัปดาห์ ไอดาผู้เป็นลูกสาวก็ได้ว่าจ้าง เวอร์จิเนีย แม็คนีล (Virginia McNeil) แม่ม่ายผู้เคยใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับศิลปินชาวสกอตต์ จอห์น แม็คนีล ให้มาดูแลชากาล กระทั่งทั้งสองตกลงปลงใจที่จะอยู่ด้วยกัน จึงพากันย้ายกลับไปตั้งถิ่นพำนักในฝรั่งเศส
ในภายหลัง เวอร์จิเนีย แม็คนีล ได้ทิ้งชากาลไป ไอดาจึงได้เป็นแม่สื่อแม่ชักพาผู้หญิงอีกคนเข้ามาในชีวิตของผู้เป็นพ่อ นั่นก็คือ วาเลนตินา โบรดสกี (Valentina Brodsky) หรือ ‘วาวา’ ผู้กลายมาเป็นประตูที่ปิดกั้นชากาลจากโลกภายนอก แม้แต่กับลูกสาวอย่างไอดา ซึ่งชากาลก็พอใจที่จะเป็นเช่นนั้น เพราะเขาไม่ต้องการข้องเกี่ยวกับโลกภายนอกอีก และตั้งใจที่จะอุทิศเวลาทั้งหมดไปกับการทำงานศิลปะเท่านั้น
ผลงานชิ้นสำคัญของชากาลในช่วงท้ายของชีวิตก็คือการวาดเพดานโรงอุปรากรแห่งปารีส (Paris Opéra) ในปี 1963-64 ที่ซึ่งเขาสร้างความฮือฮาด้วยการสาดใส่จินตนาการและลายเส้นชวนฝัน พานางฟ้าและสิงสาราสัตว์มาไว้ท่ามกลางความมลังเมลืองหรูหราของศิลปะแบบบาโรก จนทำให้นักวิจารณ์ศิลปะในยุคนั้นออกมาสับแหลกว่าชากาลเป็นศิลปินที่วาดรูปได้ ‘ห่วย’ มาก และยากที่จะอธิบายว่างานของเขาเป็นศิลปะประเภทไหนกันแน่ ซึ่งชากาลก็ตอบกลับอย่างอารมณ์ดีว่า
“ภาพของฉันห่วยอยู่แล้ว เพราะฉันชอบการวาดรูปห่วย ๆ นี่นา” พร้อมทั้งตอบกลับข้อหาการเป็นศิลปินที่ไม่เข้ากับขบวนการใด ๆ ว่า “ทั้งศิลปะแบบประทับใจและบาศกนิยมล้วนเป็นภาษาที่ฉันไม่เข้าใจ สำหรับฉัน ศิลปะอยู่เหนือจิตวิญญาณใด ๆ ทั้งสิ้น…ปล่อยให้มันแทะเล็มผ้าใบสี่เหลี่ยมของมันอย่างอิสระเถอะ!”