สำหรับผม ‘กล้วย’ Comedian (2019) ไม่ใช่เรื่องขำเอาแค่ตลก กล้วยชิ้นนี้คือการนำเสนอความคิดเห็นของผมอย่างตรงไปตรงมา และเป็นภาพสะท้อนของสิ่งที่เรายกย่องให้คุณค่า ในตลาดขายงานศิลปะที่ความเร็วและกลยุทธ์ทางธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ผมฉุกคิดขึ้นมาว่า ถ้าผมต้องเอางานไปขายที่อาร์ตแฟร์ ผมก็น่าจะขายกล้วยเหมือนที่คนอื่น ๆ ขายภาพวาดได้ ผมจะเล่นไปตามเกม แต่ผมจะเล่นในกติกาของผมเอง
ข้อความข้างต้นอาจเป็นคำอธิบายจากปากของศิลปินเจ้าของกล้วยเขย่าโลก (ศิลปะ) หรือ Comedien (2019) หรือผลงาน ‘กล้วยแปะผนัง’ ที่เพิ่งกลับมาเป็นไวรัลอีกครั้ง หลังเกิดเหตุนักศึกษาศิลปะจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ดึงผลงานศิลปะกล้วยมูลค่าสี่ล้านบาทออกมาปอกเปลือกกิน จนทำให้หลายคนที่ไม่เคยรู้จักผลงานศิลปะสุดกวนบาทาชิ้นนี้ต่างตั้งคำถามกันว่า “กล้วยบ้าอะไรใบละตั้งสี่ล้าน?”
มัวริซิโอ คัตเตลัน คือศิลปินชาวอิตาเลียนเจ้าของกล้วยสุดกระฉ่อน โดยผลงานศิลปะน่าตั้งคำถามชิ้นนี้เปิดตัวครั้งแรกในเทศกาลซื้อขายงานศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Art Besel ไมอามี ในปี 2019 ที่ซึ่งท่ามกลางกระแสเงินสะพัดจากหลากหลายแหล่งที่ทุ่มแข่งกันซื้อผลงานจากศิลปินดัง จู่ ๆ กล้วยสดแปะเทปสีเงินก็ปรากฏตัวขึ้นมา ท้าทายเหล่านักลงทุนศิลปะใจกล้าว่า ‘ถ้าแน่จริง ก็ซื้อเซ่!’ ซึ่งสุดท้ายแล้ว กล้วยที่ทำหน้าที่เป็นดั่งกระจกส่องแวดวงการซื้อขายงานศิลปะสุดคลั่ง ก็ถูกขายไปในราคา 120,000 ดอลลาร์ หรือประมาณสี่ล้านบาท อันเป็นการเพิ่มทั้งความหมายและความตลกร้านให้งานศิลปะกล้วยสดแปะเทปชิ้นนี้ ที่ประสบความสำเร็จสุด ๆ ในการจุดกระแสถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ การตั้งคำถามถึงคุณค่าของงานศิลปะ และการเป็นภาพสะท้อนความบ้าคลั่งในโลกศิลปะกรุ่นกลิ่นทุนนิยมที่คนยอมทุ่มเงินเป็นล้าน ๆ ซื้องานกันอย่างบ้ากระหน่ำ
เสียงถกเถียงและเรื่องราวดราม่าที่ตามมาจากกล้วยใบเดียว ยังยืนยันถึงสถานะและที่ทางของคัตเตลันในโลกศิลปะ ที่เขาได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ตัวกระตุ้น’ หรือ ‘ตัวปั่น’ ผู้ใช้งานศิลปะสุดเหวอในการชวนผู้คนมาถกเถียงและสำรวจประเด็นต่าง ๆ ในมุมมองใหม่
“ผมไปบอกผู้ชมไม่ได้หรอกว่าพวกเขาควรจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่องานของผม ผมหวังเพียงแค่ว่างานเหล่านี้จะเปิดให้เห็นวิถีการมองสิ่งต่าง ๆ ในรูปแบบใหม่ และเป็นตัวจุดบทสนทนาว่า อะไรกันแน่คือสิ่งสำคัญที่แท้จริง เราถูกล้อมรอบไว้ด้วยบทสนทนาที่ตั้งต้นมาจากโครงสร้างที่เรามองไม่เห็น คุณค่าทางสังคม และชนชั้นลำดับขั้นที่เราสร้างขึ้นมาเอง แต่เรากลับชอบที่จะทำเป็นลืม ๆ มันไปเสีย ราวกับว่าตัวเราเองไม่มีจิตสำนึกรับรู้ใด ๆ”
ที่จริงแล้วผลงานกล้วยเขย่าโลกศิลปะใบนี้เป็นเพียงผลงานการปั่นระดับ ‘เบา ๆ’ ของคัตเตลัน ศิลปินผู้ปฏิเสธตำแหน่ง ‘ศิลปินนักปั่น’ และขอเรียกตัวเองว่า ‘คนทำศิลปะ’ (Art Maker) แทน เพราะในฐานะ “คนที่ถือกระจกเงาส่องให้สังคมมองตัวเอง” ตามที่เขานิยามตัวเองไว้นั้น คัตเตลันยังมีผลงานสะท้อนสังคมอีกมากมายที่ดุดัน เผ็ดแสบ และไม่เกรงใจใคร จนหลายครั้งที่งานของเขาหวุดหวิดจะกลายเป็นชนวนเหตุสงครามเข้าให้ เพราะเขาแซะไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ตั้งแต่พระสันตะปาปา พระเยซู ผู้นำเผด็จการ ไปจนถึงคนปวดขี้!
ด้วยเหตุนี้ เราจึงอยากชวนทุกคนไปรู้จักนักแซะ เอ๊ย! นักสร้างงานศิลปะผู้สะกิดสังคม และผลงานเปี่ยมอารมณ์ขันสุดดำมืดของเขาด้วยกัน
ความตายของแม่ ก่อกำเนิดศิลปะของลูก
มัวริซิโอ คัตเตลัน เกิดและเติบโตในเมืองปาดัว ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอิตาลี ครอบครัวของเขาเป็นคนชนชั้นแรงงานเต็มขั้น โดยมีพ่อเป็นคนขับรถบรรทุก และแม่ทำงานเป็นแม่บ้านทำความสะอาด ด้วยเหตุนี้ พ่อแม่ผู้ทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำของคัตเตลันจึงไม่พอใจอย่างมาก เมื่อเด็กชายคัตเตลันโตขึ้นมาเป็นเด็กท้ายห้อง ผลการเรียนสุดแย่ ไม่สนใจการเรียน แถมยังก่อเรื่องก่อราวอยู่บ่อย ๆ
อย่างไรก็ตาม แรงบันดาลใจที่จุดไฟในการเป็นศิลปินของคัตเตลันกลับมาจากครอบครัวนี่เอง โดยเฉพาะกับแม่ของเขา ผู้ซึ่งป่วยกระเสาะกระแสะมาตั้งแต่เด็กชายคัตเตลันเริ่มจำความได้
ในวัยย่าง 20 ปี แม่ของคัตเตลันก็จากโลกนี้ไป คัตเตลันไม่อาจสลัดความรู้สึกที่ว่า แม่ของเขาโทษว่าเขาเป็นต้นเหตุของความเครียด จนนำมาซึ่งการล้มหมอนนอนเสื่อของตน ในภายหลัง ความทรงจำถึงแม่ที่คอยตามหลอกหลอนเขาได้ค่อย ๆ กลายมาเป็นธีมหลักที่คัตเตลันถ่ายทอดไว้ในงานของตน นั่นก็คือเรื่องประเด็นเรื่องความไม่แน่นอนของสรรพสิ่ง ความตาย และความล้มเหลว ซึ่งทกสิ่งที่ว่ามาล้วนเป็นองค์ประกอบหลักของ ‘ชีวิต’
ใน You (2022) คัตเตลันจำลองหุ่นตัวเองในชุดสูทสีน้ำเงิน ถือช่อดอกไม้ ห้อยลงมาจากเพดานห้องน้ำอันหรูหราโอ่โถงของแกลเลอรี Casa Corbellini-Wassermann ผู้ชมที่ผลักประตูห้องน้ำเข้ามาจะต้องประสบกับความประหลาดใจ เมื่อเผชิญหน้ากับสิ่งไม่คาดคิด นั่นก็เป็นหุ่นคัตเตลันที่ห้อยต่องแต่งอยู่ในห้องน้ำ การเปิดประตูเพื่อเผชิญหน้ากับความประหลาดใจอันคาดไม่ถึงนี้ ไม่เพียงเป็นการพาผู้ชมไปสำรวจสถานะความ ‘ไม่แน่นอน’ และการไม่อาจคาดเดาใด ๆ ได้ของสรรพสิ่ง แต่ผลงานนี้ยังเป็นการนำเสนอความหมายเรื่อง ‘ความตาย’ ในมุมมองของคัตเตลัน ผู้มองว่า แม้กระทั่งความตายก็หาได้มีความหมายแน่นอนตายตัว ในบางครั้งความตายหาใช่จุดจบ แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของบางสิ่ง
เช่นกัน ความตายของแม่ของเขาก็ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของทั้งหมด แต่ความตายของแม่กลับจุดประกายความต้องการของคัตเตลันในการที่จะถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านงานศิลปะ
“การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ การปฏิวัติ ประสบการณ์บาดแผล สิ่งเหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งความไม่แน่นอน ซึ่งในความจริงแล้ว เราต่างใช้ชีวิตอยู่กับ ‘เวลา’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไร้ความแน่นอนที่สุด” คัตเตลันเคยอธิบาย
“ผมเคยทำงานกับศพจริง ๆ ตอนที่ได้งานทำในห้องเก็บศพ ร่างไร้วิญญาณเหล่านั้นดูนิ่งเงียบและห่างเหิน ผมอาจได้รับอิทธิพลแย่ ๆ มาจากการทำงานในตอนนั้น แต่เวลาที่ผมทำงานประติมากรรม ผมมักนึกภาพหุ่นของผมในสภาพที่เหมือนกับศพเหล่านั้น …เป็นสิ่งที่อยู่คนละโลกกับเรา และไร้ชีวิต ผมประหลาดใจทุกครั้งเวลาที่เห็นผู้ชมหัวเราะกับงานของผม บางทีนั่นอาจเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติ เมื่อเราเผชิญหน้ากับความตายก็เป็นได้”
ศิลปะแห่งการเป็นคนนอกคอก และสุนทรียะแห่งการล้มเหลว
หลังแม่ของเขาเสียชีวิต คัตเตลันก็ออกจากโรงเรียนและเริ่มทำงานทุกอย่างเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว เขาทำงานที่ไปรษณีย์ ร้านอาหาร ไปจนถึงในห้องเก็บศพ ซึ่งประสบการณ์การเป็นผู้ใช้แรงงานเต็มขั้นก็ส่งอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อการเป็นศิลปินหัวขบถของคัตเตลัน ผู้ใช้งานศิลปะในการเสียดสีและวิพากษ์วิจารณ์ ‘ระบบ’ ที่กดหัวประชาชนคนใช้แรงงาน ซึ่งในที่นี้หมายรวมถึงทั้งรัฐบาล องค์กรทางศาสนา รวมไปถึงบรรดานายทุน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเริ่มอาชีพศิลปินจริงจัง คัตเตลันต้องเผชิญหน้ากับความรู้สึก ‘ไม่เข้าพวก’ อย่างรุนแรง ซึ่งอาจมีส่วนที่ทำให้เขามีท่าทีปฏิเสธสถานะ ‘ศิลปิน’ ตลอดช่วงชีวิตการทำงานของเขา คัตเตลันไม่เคยเข้าศึกษาในสถาบันสอนศิลปะจริงจัง แต่เริ่มจับงานศิลปะด้วยการต่อยอดจากประสบการณ์เมื่อครั้งเป็นช่างทำเฟอร์นิเจอร์ และที่ตลกร้ายกว่านั้นก็คือ แม้ว่าเขาจะมีความกังวลในการเรียกตัวเองว่าศิลปิน แต่ครอบครัวของเขากลับอับอายที่จะให้คนอื่นรู้ว่าลูกชายของบ้านย้ายถิ่นฐานไปอยู่มิลาน และผันตัวมาทำงานศิลปะ โดยน้องสาวของเขาเคยเผยว่า เธอเคยอายที่จะบอกคนอื่นว่ามีพี่ชายที่ “เป็นแค่ศิลปิน” เพราะภาพลักษณ์ศิลปินในสายตาคนทั่วไปมักเป็นพวก “ขี้เกียจสันหลังยาวไม่เอาการเอางาน”
คัตเตลันก็เคยเผยไว้ในหนังสือชีวประวัติของเขาว่า ความรู้สึกของการเป็นคนนอกนี่แหละที่ในเวลาต่อมาได้กลายเป็น ‘สุนทรียะ’ ในการทำงานของเขา พร้อมย้อนกลับไปยกตัวอย่างถึงเหตุการณ์หนึ่งในชีวิตที่สะท้อนภาพการทำงานศิลปะของเขาได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือเหตุการณ์สมัยที่เขาเป็นเด็กรับใช้ในโบสถ์ และเขาได้แอบปีนขึ้นไปวาดหนวดบนรูปปั้นของโบสถ์ จนทำให้เขาถูกไล่ออกในที่สุด
ความรู้สึกไม่เข้าพวกและไร้ตำแหน่งแห่งที่ในโลกศิลปะของคัตเตลัน ยังสะท้อนอยู่ในผลงานชิ้นแรก ๆ ที่กลายเป็นจุดปักหมุดในอาชีพศิลปะของเขาอย่างจริงจัง ในปี 1989 คัตเตลันจัดแสดงผลงานครั้งแรกในแกลเลอรี โดยสิ่งที่เขาทำก็คือการปิดแกลเลอรี แล้วแขวนป้ายที่เขียนข้อความภาษาอิตาเลียน แปลเป็นไทยว่า “เดี๋ยวกลับมา” เหมือนกับป้ายที่พนักงานขายของแขวนไว้ระหว่างไปเข้าห้องน้ำ! หรือในผลงานชื่อ Una Domenica a Rivara ที่เขาโยนผ้าปูเตียงที่มัดต่อกันออกมาจากหน้าต่างแกลเลอรี Castello di Rivara ในเมืองตูริน ทำเป็นว่าศิลปินผู้จัดแสดงผลงานที่นี่ได้เผ่นหนีไปแล้ว
ผลงานเหล่านี้คือภาพสะท้อนความกังวลของคัตเตลันที่กลัวว่าจะทำผลงานออกมาได้ไม่ดี จนพาให้ตื่นตระหนกไปว่าตัวเองไม่ได้อยากทำงานศิลปะ การนำเสนอผลงานที่ไม่ใช่ผลงาน จึงเป็นเหมือนการโอบรับความล้มเหลวเสียตั้งแต่ก่อนจะลงมือทำ
ในปี 1989 คัตเตลันยังได้ทำปกแม็กกาซีนปลอม โดยเลียนแบบแม็กกาซีนศิลปะหัวใหญ่อย่าง FlashArt Magazine เขานำ FlashArt หลายฉบับมาเรียงต่อกันเป็นโครงรูปบ้าน เหมือนบ้านที่ประกอบขึ้นมาจากไพ่ ก่อนจะถ่ายรูปออกมา แล้วส่งไปยังแกลเลอรีศิลปะต่าง ๆ ด้วย
ผลงานแม็กกาซีนเก๊คือวิถีทางของคัตเตลันในการสำรวจนิยามความหมายของการเป็น ‘ศิลปิน’ และการตั้งคำถามถึงบทบาทของสถาบันต่าง ๆ ในโลกศิลปะในการเป็นผู้ตัดสินว่าใครศิลปิน หรือใครไม่ใช่ศิลปิน ซึ่งก็กลายเป็นว่า ผลงานที่ตั้งคำถามถึงสถานะศิลปินชิ้นนี้กลับเป็นงานเปิดทางที่ทำให้เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินนักเสียดสีผู้มีอารมณ์ขันร้ายกาจในแบบของตัวเอง
สัตว์สตัฟฟ์กับความเป็น ‘คน’
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าหนึ่งในธีมสำคัญที่ปรากฏในงานของคัตเตลันก็คือ ‘ความตาย’ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ ‘สัตว์สตัฟฟ์’ หรือ ‘Taxidermy’ ปรากฏให้เห็นบ่อย ๆ ในผลงานของคัตเตลัน ซึ่งความตลกร้ายก็อยู่ตรงที่คัตเตลันใช้ร่างสัตว์ไร้ชีวิตเหล่านี้ในการสำรวจและสะท้อนสภาวะของสิ่งมีชีวิตอีกสายพันธุ์หนึ่งที่เรียกว่า ‘มนุษย์’
ใน Bidibidobidiboo (1996) คัตเตลันจับกระรอกสตัฟฟ์มาวางหน้าจุ้มโต๊ะในฉากห้องครัวจิ๋ว ซึ่งจำลองมาจากห้องครัวที่บ้านของเขาในวัยเด็ก คัตเตลันเคยอธิบายว่า กระรอกตัวนี้สะท้อนความกลัวที่จะล้มเหลวของตัวเขา โดยกล่าวว่า “บางครั้งการเป็นตัวเองมันก็ยากเหลือเกิน”
ความน่าสนใจก็คือปฏิกิริยาของน้องสาวของคัตเตลันเมื่อได้เห็นผลงานชิ้นนี้ โดยเล่าว่า ไม่นานก่อนที่พี่ชายของเธอจะทำผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา เธอกำลังประสบกับช่วงเวลายากลำบากในชีวิต ซึ่งแทนที่จะปลอบใจ พี่ชายของเธอกลับถามติดตลกว่า เธอเคยคิดที่จะฆ่าตัวตายบ้างไหม? ซึ่งการได้เห็นผลงานชิ้นนี้ในภายหลัง ก็ปลดล็อกความข้องใจที่เธอมีต่อคำพูดของพี่ชายในวันนั้น และทำให้เธอยิ้มออกมาได้ …เพราะชีวิตคือความทุกข์ยากและขมขื่น หากไม่ทุกข์ ไม่ขมขื่น ก็ไม่ใช่ชีวิต การเรียกหาชีวิตที่ไร้ความทุกข์จึงเปรียบเสมือนการเรียกร้องหาความตาย
ชื่อผลงาน Bidibidobidiboo ยังมาจากคาถาร่ายมนต์ของนางฟ้าแม่ทูนหัวขณะแปลงโฉมให้ซินเดอร์เรลลา แต่ในชีวิตจริง ไม่มีนางฟ้าหรือมนต์คาถาใดจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราได้ ทั้งกระรอกและตัวเรา ต่างมีชีวิตเพื่อรอความตายมาถึง
นอกจากกระรอกแล้ว สัตว์อีกหนึ่งชนิดที่คัตเตลันหลงใหลและมักนำมาใช้ในงานของตัวเองบ่อย ๆ ก็คือ ‘ม้า’ ที่เขานำมาจัดแสดงด้วยการมัดเชือกแล้วค่อยลงมาจากเพดาน จัดท่านอนหงายบนพื้น หรือนำส่วนลำตัวของม้ามาติดกับผนัง ทำให้ดูเหมือนกับว่าม้าเหล่านั้นกำลังกระโดดเข้าไปในกำแพง
ในประวัติศาสตร์ศิลปะ มาคือหนึ่งในสัญลักษณ์ยอดฮิตที่ศิลปินนำมาใช้เพื่อถ่ายทอดและสำรวจความหมายของ ‘อำนาจ’ และการเมือง ผลงานม้าสตัฟฟ์ลอยกลางอากาศของคัตเตลันจึงมักนำเสนอประเด็นเรื่องความไม่แน่นอนของอำนาจ และโศกนาฏกรรมของมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่อาจหนี ‘ความตาย’ พ้น
ผลงานม้าห้อยกลางอากาศชิ้นแรกที่ถือเป็นการเปิดตัวคัตเตลันในเมืองหลวงของโลกศิลปะร่วมสมัยอย่างนิวยอร์ก ก็คือ The Ballad of Trotsky (1996) ที่ตั้งชื่อผลงานตามนักปฏิวัติและนักทฤษฎีมาร์กซิสต์ชาวโซเวียตคนดังอย่าง เลออน ทรอตสกี ผู้ซึ่งชะตากรรมในบั้นปลายพลิกผัน ถูกขับออกจากประเทศบ้านเกิด อันเนื่องมาจากความขัดแย้งกับผู้นำโซเวียตจอมเผด็จการในยุคนั้นอย่าง โจเซฟ สตาลิน ก่อนที่เขาจะถูกลอบสังหารและเสียชีวิตที่เม็กซิโกนั่นเอง
ในขณะที่ผลงานม้ากระโดดกำแพงหรือ Untitled (all five horses together at once, for the first time) ที่จัดแสดงครั้งแรกในปี 2013 คือการนำเสนอภาพความกลัวและความกังวลต่อความไม่แน่นอนของชีวิต ม้าทั้งห้าตัวดูราวกับตื่นตระหนกด้วยอะไรบางอย่าง จนทำให้พวกมันพร้อมใจกันกระโดดทะลุกำแพงเพื่อหลบหนีไปจากความน่าสะพรึงกลัวนั้น
ในอีกแง่หนึ่ง คำว่า ‘Horse Ass’ ยังเป็นแสลงที่หมายถึง ‘คนโง่’ การนำเสนอ ‘ตูดม้า’ ของม้าที่พยายามจะหันหลังแล้ววิ่งหนีไปเสียจากพื้นที่แกลเลอรี ยังสะท้อนถึงความกังวลของคัตเตลัน ผู้ยังคงถูกหลอกหลอนด้วยความกลัวที่จะถูกมองว่าโง่ หรือเป็นแค่ตัวตลกในโลกศิลปะ
หุ่น/คน
อีกหนึ่งผลงานที่เป็นภาพจำของคัตเตลันก็คือบรรดาประติมากรรมหุ่นขี้ผึ้ง ซึ่งล้วนแล้วแต่สะท้อนอารมณ์ขันสุดร้ายกาจกัดเจ็บของเจ้าตัว ผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขาย่อมหนีไม่พ้น La Nona Ora (1999) ที่ทำให้ชื่อเสียงของคัตเตลันเป็นที่รู้จักในระดับสากล ทั้งในแง่ของการเป็นศิลปินผู้จิกกัดสังคมด้วยอารมณ์ตลกร้าย …และในการเป็นศิลปินหน้าใหม่ในบัญชีดำของเหล่าคนเคร่งศาสนา
La Nona Ora คือหุ่นขี้ผึ้งที่ลอกเลียนแบบมาจากอดีตพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 แต่อยู่ในท่านอนตะแคงบนพื้นพรมสีแดง บนร่างของท่านปรากฏหินอุกกาบาตทับอยู่ สื่อเป็นนัยว่าพระองค์ทรงถูกแรงอุกกาบาตกระแทกจนล้มหงายลงกับพื้น แต่ในพระหัตถ์ยังคงกำคทาที่ใช้ในพิธีทางศาสนาไว้แน่น โดยคัตเตลันได้เปิดเผยในภายหลังว่า ในตอนแรกเขาตั้งใจที่จะให้หุ่นนี้อยู่ในท่ายืน แต่เมื่อปั้นเสร็จแล้วกลับรู้สึกว่าบางอย่างขาดหายไป เขาจึงผลักหุ่นให้ล้มลงนอนกับพื้น
“เมื่อปั้นเสร็จ ผมยืนประจันหน้ากับมัน แล้วกลับรู้สึกว่ามีบางอย่างขาดหายไป สิ่งที่หุ่นตัวนี้ต้องการเป็นอะไรที่เรียบง่ายมาก นั่นก็คือความดราม่า และการถ่ายทอดความรู้สึกเมื่อได้เผชิญกับสิ่งที่ทรงอำนาจและมหัศจรรย์จนทำให้เข่าอ่อน สิ่งที่หุ่นตัวนี้ขาดหายไปในตอนแรกก็คือความรู้สึกล้มเหลวและพ่ายแพ้นั่นเอง”
ชื่อผลงาน La Nona Ora หรือ “ชั่วโมงที่เก้า” ยังสื่อถึงช่วงเวลาที่พระคริสต์สิ้นพระทัยบนไม้กางเขน เพียงไม่นานหลังจากที่พระองค์ทรงตรัสพระดำรัสสุดท้ายว่า “พระบิดา เหตุใดจึงทรงละทิ้งข้าพเจ้า” ("Father, father, why hast thou forsaken me?") ด้วยเหตุนี้ จึงมีนักวิชาการและนักวิจารณ์ศิลปะบางส่วนตีความว่า ผลงานพระสันตะปาปานอนตะแคงนี้อาจสื่อความหมายถึงความอับอายต่อเหตุการณ์สุดฉาวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโบสถ์ หรืออาจตีความได้ถึงความอีโกจัดของคริสตจักร ที่ถึงกับล้มลงเพราะแบกรับน้ำหนักอีโกของตัวเองไม่ไหว
ในปี 2000 La Nona Ora ได้กลายเป็นผลงานที่เปิดตัวคัตเตลันในฐานะนักปั่นอย่างสมบูรณ์แบบ เมื่อผลงานชิ้นนี้ถูกนำไปจัดแสดงที่โปแลนด์ ประเทศบ้านเกิดของพระสันตะปาปาผู้เป็นต้นแบบของหุ่น แล้วเกิดเหตุการณ์ที่นักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมสองคนพยายามจับหุ่นที่นอนกับพื้นนั้นให้ลุกขึ้นตั้งตรง พร้อมนำเรื่องเข้าที่ประชุมสภา เพื่อเรียกร้องให้มีการปลดคิวเรเตอร์ของแกลเลอรีที่จัดแสดงงานออกจากตำแหน่ง
คัตเตลันได้ออกมาโต้ตอบเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยการบอกว่า “ความรอดพ้น (salvation) ไม่ได้ถูกประทานมาจากท้องฟ้า แต่มาจากบนพื้นโลก มาจากประชาชนของพวกคุณต่างหาก”
เรื่องวุ่น ๆ ในส้วม
ในปี 2011 พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์แห่งกรุงนิวยอร์ก ได้จัดนิทรรศการเดี่ยวรวมผลงานตลอดชีวิตการทำงานเกือบสามทศวรรษของคัตเตลัน และในวันเปิดนิทรรศการนั่นเอง คัตเตลันก็ได้ประกาศเกษียณตัวเองออกจากโลกศิลปะ
แต่เพียงห้าปีผ่านไป คัตเตลันก็สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ชมอีกด้วย ด้วยการเปิดตัวผลงานใหม่ที่เป็นโถส้วมเคลือบทอง 18 กะรัต จัดแสดงอยู่ในห้องน้ำของพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ และเปิดให้ผู้เข้าชมสามารถมาปลดทุกข์ได้จริง!
America (2016) คือชื่อของผลงานโถส้วมเคลือบทอง ที่นับตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัว ก็มีผู้ชมกว่าแสนคนเข้าคิวรอเพื่อที่จะได้ปลดทุกข์ในผลงานศิลปะเรดดีเมด (งานศิลปะที่หยิบวัตถุที่มีอยู่แล้วมาสร้างความหมายใหม่) ของคัตเตลันชิ้นนี้ โดยตัวศิลปินเองปฏิเสธที่จะให้ความหมายหรืออธิบายผลงานส้วมราคาเกือบห้าล้านบาทชิ้นนี้ ในขณะที่พิพิธภัณฑ์กุมเกนไฮม์ได้ให้คำอธิบายผลงานชิ้นนี้ว่า เป็นการนำเสนอภาพสะท้อนของอาณาจักรฝมั่งคั่งเคลือบทองของ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปีนั้น
เรื่องพีค ๆ ที่ตามมาพร้อมกับผลงานสุดเหวอของคัตเตลันชิ้นนี้ก็คือ เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาเรียบร้อยแล้ว ทำเนียบขาวก็ได้มีการส่งยื่นเรื่องไปถึงพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ เพื่อขอยืมผลงานภาพวาดทิวทัศน์หิมะโปรยของ วินเซนต์ แวนโกะห์ อย่าง Landscape with Snow (1888) เพื่อนำมาจัดแสดงที่ทำเนียบขาว ทางพิพิธภัณฑ์ก็ได้ปฏิเสธคำร้องดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่าภาพวาดอายุเกือบ 130 ปีชิ้นนี้ไม่อยู่ในสภาพที่เหมาะกับการเคลื่อนย้าย แต่หากทางทำเนียบขาวสนใจ ทางพิพิธภัณฑ์ใจดีให้ยืมผลงานโถส้วมของคัตเตลันไปไว้ที่ทำเนียบขาวแบบฟรี ๆ ไม่มีกำหนดคืน!
สุดท้ายแล้วผลงานโถส้วมทองคำของคัตเตลันก็ไม่ได้ถูกนำไปตั้งที่ทำเนียบขาว และปัจจุบันก็ไม่มีใครทราบว่าผลงานชิ้นนี้เป็นตายร้ายดี หรือไปตั้งอยู่ในห้องส้วมบ้านใคร เพราะมันได้ถูกขโมยไปจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะวังเบลนิมแห่งสหราชอาณาจักร ในปี 2019 หลังจากที่ทางพิพิธภัณฑ์ได้ขอยืมผลงานส้วมทองคำชิ้นนี้มาจัดแสดงในนิทรรศการที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่คัตเตลัน
และหลังจากได้รับแจ้งข่าวว่ามีคนขโมยส้วมของเขาไปแล้ว คัตเตลันก็บอกเพียงแค่ว่า “ผมนี่เป็นแฟนหนังโจรกรรมตัวยงเลยนะ ในที่สุดผมก็ได้อยู่ในหนังแบบนี้บ้างละ”
อ้างอิง
https://www.theartstory.org/artist/cattelan-maurizio/
https://gagosian.com/quarterly/2022/02/28/interview-maurizio-cattelan-the-last-judgment/
https://www.theartnewspaper.com/2021/11/30/maurizio-cattelan-interview-miami-beach
https://the-talks.com/interview/maurizio-cattelan/