รู้จักกับ ‘minopus’ ศิลปินผู้หยิบชิ้นส่วนที่ร่วงหล่น มาประกอบสร้างเป็นตัวตนผ่านงานศิลป์หลากสไตล์

Post on 11 April

‘Minopus’ (อ่านว่ามิโนปุ๊ด) คือนามปากกาของศิลปินอิสระผู้มีงานหลักเป็น Art Director ให้กับเอเจนซี่โฆษณาแห่งหนึ่ง อย่าง ‘จุ๊บแจง-ญาศิณี แซ่อึ๊ง’ ผู้ได้ไอเดียการตั้งชื่อมาจากความชอบในการวาดของจุกจิกแบบไม่หยุดมือ จนคิดว่าถ้าจะมีนามปากกาเท่ ๆ สักชื่อก็ต้องเป็นชื่อนี้นี่แหละ เพราะมาจากการผสมคำกันระหว่างเจ้า Minion ตัวเหลือง กับหมึกหนวดยาว สองคาแรกเตอร์ตัวโปรดที่เธอชอบจับมายำผสมกันอยู่บ่อย ๆ

และเมื่อไม่นานมานี้ GroundControl ก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับเธอ เลยอยากเก็บเอาเรื่องราวเบื้องหลังการทำงานศิลปะอันน่าสนใจของเธอมาแชร์ให้ทุกคนได้ฟังไปด้วยกัน ซึ่งเธอก็เริ่มเล่าให้เราฟังถึงกระบวนการทำงานศิลป์ และจุดเริ่มต้นในการทำงานศิลปะว่า “จริง ๆ แล้วจุดเริ่มต้นทั้งหมดของเรามาจากความสนใจเรื่องการสื่อสารผ่านวิธีการทางศิลปะ”

Minopus เล่า “ก่อนหน้านี้เราพยายามค้นหาและทดลองหลายอย่างเพื่อตามหาหัวข้อและเนื้อหาที่ตัวเองอยากจะพูดถึงให้เจอ แต่สุดท้ายเรากลับค้นพบว่า วิธีการที่ทำงานกับตัวเราได้มากที่สุด คือการกลับมาตั้งต้นที่ตัวเอง”

“เราพบว่าในช่วงเวลาที่อาการโรคซึมเศร้าของเราส่งผลมาก ๆ เรามีความคิดที่ค่อนข้างกระจัดกระจาย และไม่ต่อเนื่อง ก่อนหน้าเราพยายามที่จะเรียบเรียงความคิดเหล่านั้นโดยตรงในสมอง เพื่อจะได้สื่อสารกับตัวเองมากขึ้น แต่เราไม่สามารถทำได้ จนกระทั่งเราทดลองจนค้นพบวิธีการหนึ่ง นั่นคือการหยิบชิ้นส่วนที่ตกหล่นทั้งหมดมาวางกองรวมกัน

“ด้วยความที่มันเริ่มต้นมาจากความกระจัดกระจาย ผลงานบางชิ้นเลยถูกบันทึกผ่านงานวาด บางชิ้นเป็นภาพถ่าย บางครั้งเป็นวิดีโอ แล้วเราค่อยเอามารวบรวมให้เป็นสิ่งเดียวกันจะได้มองเห็นชัดเจนขึ้น ลดความคิดที่ซับซ้อนลง โดยเหตุผลที่เราทำทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจุดประสงค์แรกสุดเลย นั่นคือเราอยากรักตัวเองให้มากขึ้น และการสื่อสารคือสิ่งสำคัญของความสัมพันธ์ เพราะฉะนั้น เราเลยใช้เวลาเหล่านี้เพื่อสื่อสารกับตัวเองให้มากขึ้น”

จากบทสนทนาเหล่านี้เราก็ได้ย้อนกลับไปมองยังผลงานทั้งหมดของเธอ ที่ทำมาจากสื่อหลากหลายประเภทจริง ๆ ซึ่งผลงานแต่ละชิ้นก็จะมีการตั้งชื่อให้เกี่ยวโยงกับเรื่องราวของตัวเธอเอง ไม่ว่าจะเป็น dear myself, secret body และ 1st tattoo (did it by myself) และไม่เพียงร่างกายเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงเหล่าสิ่งของแวดล้อมที่เธอรักด้วย เช่น rubber plant, cactus และ sunset เป็นต้น

“อย่างที่ทุกคนเห็นเลย คืองานของเราจะเป็นการบันทึกเรื่องราว หรือการถ่ายทอดมวลความรู้สึกในช่วงเวลาหนึ่งของตัวเองออกมา เราเลยต้องใช้เวลาในการสะสมและเก็บรวบรวมเศษความคิดที่ตกหล่นตามที่ต่าง ๆ อยู่นานเหมือนกัน โดยหลักแล้วงานของเราจึงเป็นเหมือน Long-term Archiving ที่ตั้งต้นจากการสำรวจตัวเอง เพื่อให้มีสติอยู่เสมอ แต่สิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากผู้ชมที่มีประสบการณ์ร่วมหรือคล้ายคลึงกัน” Minopus อธิบาย

“สำหรับเทคนิคหรือวิธีการที่เราใช้ในการสร้างผลงาน เราจะเริ่มต้นจากการเรียบเรียงและการเล่าเรื่อง (Storytelling) ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะไม่มีเวลาบันทึก ก็ขอให้ได้มีโอกาสนึกถึงและวิเคราะห์ เริ่มต้นจากการรับรู้ความรู้สึก การบันทึก (ผ่านการวาด ภาพถ่าย การเขียน หรืออื่น ๆ) และสุดท้ายคือการเรียบเรียงและการนำเสนอ”

Minopus ยังสรุปภาพรวมทั้งหมดให้เราฟังด้วยการยกตัวอย่างกระบวนการที่เธอเคยทำให้เราฟังด้วยว่า “ยกตัวอย่างเช่น บางชิ้นงานเราจะพิมพ์ลงบนกระดาษที่มีคุณสมบัติบาง หยาบ เป็นรอยง่าย เพราะเนื้อหาภายในภาพกำลังพูดถึงสิ่งที่ละเอียดอ่อน และเปราะบาง หรือหากเป็นงานภาพถ่าย แบบที่จัดแสดงในงาน Secret Body เราก็จะยืดขยายขนาดของไฟล์ภาพถ่าย จนทำให้คนดูไม่สามารถระบุวัตถุนั้นได้ชัดเจน แล้วพิมพ์ลงบนผ้าที่มีลักษณะนุ่มลื่น และมีความนูน เพราะเป็นภาพส่วนหนึ่งของผิวหนัง โดยเราปิดบังความปรารถนาภายใน แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องการดึงดูดและสื่อสารความต้องการนั้นออกมาด้วย นั่นเลยเป็นเหตุผลที่ทำให้เราเลือกใช้ลักษณะการสร้างผลงานที่เชิญชวนให้ผู้คนได้จับ หรือมีปฏิสัมพันธ์กับงานแบบนี้”

Minopus ยังแอบกระซิบทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “ตลอดเวลาที่ผ่านมา คนส่วนมากชอบจับผลงานเราแทบทุกชิ้น ซึ่งเรายินดีในส่วนนี้”

**dear myself**

dear myself

ผลงาน dear myself คือซีนที่เกิดจากการรวบรวมชิ้นส่วนที่เราบันทึกไว้มาตลอดสามปี เป็นผลงานที่ทำให้เราได้สื่อสารกับตัวเองมากขึ้น ด้วยเนื้อหาที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกที่เปราะบางและนุ่มนวล ทำให้เราเลือกใช้วัสดุที่หลากหลาย เช่น เราเลือกที่จะไม่เย็บเล่ม แต่ให้อิสระในการเรียบเรียงลำดับเนื้อหาภายใน ใช้ตัวหนีบเหล็กที่สามารถสะท้อนให้เห็นตัวเรา ตอนที่กำลังมองหนังสือเล่มนี้ ใช้กระดาษห่อที่มีความบาง แต่มีลักษณะที่แตกต่างกันทั้งสองหน้า ด้านนอกจะมีความหยาบ แต่ด้านในที่สัมผัสกับเนื้อหาภายในจะมีความละเอียด หรือการใช้เนื้อกระดาษที่มีเนื้อกลิตเตอร์ละเอียด เพราะให้ลักษณะเหมือนละลองฝุ่นในอากาศเวลาที่แสงตกกระทบ ทำให้ใกล้เคียงกับภาพในความทรงจำของเราที่สุด

**fusilier and pandanus**

fusilier and pandanus

ภาพนี้เป็นภาพกุหลาบมอญและใบเตยที่เราวาดตอนนึกถึงคนในครอบครัวเรา ที่บ้านเรามีอาชีพขายดอกไม้สำหรับไหว้พระ ถึงเราจะโตมากับกลิ่นของปุ๋ยยาในดอกไม้ และไอเย็นของน้ำแข็ง แต่เรายังจำสัมผัสของสองสิ่งนี้ได้ดี เราคิดถึงคนที่บ้าน

**rubber plant**

rubber plant

ต้นยางอินเดียที่อยู่ด้วยกันตั้งแต่วันที่ออกใบใหม่ จนเหี่ยว เราคิดว่าต้นไม้กับเราสามารถสื่อสารกันได้

**Lotus**

Lotus

สีของดอกบัวที่เราคุ้นเคยเป็นสีนี้ สัมผัสของกลีบบัวมีความหยาบแต่นุ่ม เป็นชิ้นที่เราใช้ลมหายใจเบามากตอนใช้สีไม้สัมผัสกับกระดาษเนื้อหยาบ ขณะเดียวกัน เรารู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับเนื้อสีของสองภาพนี้

**Moon**

Moon

เราชอบมองพระจันทร์ในทุกคืน ชอบมองท้องฟ้าในทุกวัน ชอบตัวเองตอนที่สามารถมองท้องฟ้าได้ เรารู้สึกได้หายใจ

**Cactus**

Cactus

ต้นกระบองเพชรต้นแรกๆที่อยู่มาสี่ ปี ส่วนหนึ่งของการบันทึกเรื่องราวของเรา

**sunset**

sunset

ส่วนประกอบที่สำคัญมากสำหรับเราในทุกวันคือแสงตอนพระอาทิตย์กำลังตก

**1st tattoo (did it by myself)**

1st tattoo (did it by myself)

หากใครสนใจกระบวนการทำงานศิลปะสไตล์ Minopus ที่ท่องลึกลงไปในการสำรวจตัวเองอย่างลึกซึ้ง ก็สามารถตามไปดูเรื่องราวและชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่เธอตั้งใจประกอบสร้างได้ที่ Instragram: https://www.instagram.com/minopus.onthebeach/