นิทรรศการ Monet: The Late Waterscapes สำรวจบั้นปลายชีวิตของ Monet จากสระบัวในบ้านสู่โลกที่กลับหัวกลับหาง

Art
Post on 28 November

เรื่องและภาพโดย: นัทธมน เปรมสำราญ

ทุกครั้งที่เห็นนิทรรศการของศิลปินฝรั่งเศสจากลัทธิประทับใจ (Impressionism) ในโตเกียว ไม่ว่าจะจัดที่พิพิธภัณฑ์ไหน เราจะเห็นคนญี่ปุ่นหลากเพศหลายวัยต่อแถวยาวไปซื้อตั๋วเข้าชม ต่อแถวกันเดินชมภาพแต่ละภาพในนิทรรศการอย่างตั้งใจ แล้วหลังชมเสร็จก็ต่อแถวซื้อของที่ระลึกจากนิทรรศการกันต่อ เคยคุยกับเพื่อนว่าคนญี่ปุ่นติ่งศิลปินฝรั่งเศสที่จากไปแล้วเกือบร้อยปีไม่ต่างจากการโอชิไอดอลสาว ๆ หรือหนุ่ม ๆ เลย

นิทรรศการ Monet: The Late Waterscapes หรือในภาษาฝรั่งเศสคือ Le dernier Monet : Paysages d'eau ของ The National Museum of Western Art ที่เพิ่งเปิดให้เข้าชมเมื่อต้นเดือนตุลาคมก็เช่นกัน แม้จะเป็นวันฝนพรำ แต่บรรดาแฟน ๆ ของโมเนต์ก็ยังแวะเวียนกันมาไม่ขาดสาย

หลายคนคงจดจำ โคลด โมเนต์ (1840-1926) ได้จากภาพผู้หญิงถือร่ม ทิวทัศน์ยามพระอาทิตย์ขึ้น หรือสระบัวอันโด่งดังของเขา แต่ในนิทรรศการนี้ จุดสนใจคือพัฒนาการงานในช่วงบั้นปลายชีวิตของโมเนต์ที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงจากฝีแปรงที่จับความงามของธรรมชาติ แสงและบรรยากาศมาเป็นเชิงนามธรรมมากขึ้น หลังต้องเผชิญกับความยากลำบากมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจากไปของภรรยาผู้เป็นที่รัก ดวงตาที่เสื่อมสภาพลงตามวัยและสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นิทรรศการเล่าเรื่องราวชีวิตของโมเนต์จากผลงาน 67 ชิ้น ทั้งงานศิลปะจากคอลเลคชั่นของ The National Museum of Western Art ที่โตเกียวเองและที่หยิบยืมมาจากที่อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก Musée Marmottan Monet ที่ปารีส โดยออกแบบนิทรรศการให้เล่าเรื่องตามไทม์ไลน์ชีวิตเป็น 4 บทใหญ่และบทส่งท้าย แต่อนุญาตให้ถ่ายภาพได้เพียงในบทที่ 3 เท่านั้น

มาต่อแถว แล้วไปสำรวจบั้นปลายของโมเนต์ด้วยกันได้เลย

บทที่ 1 จากแม่น้ำแซนสู่สระบัว

ในปี 1890 โมเนต์ในวัย 50 ปีตัดสินใจซื้อบ้านในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่เมืองจีแวร์นี (Giverny) ในแคว้นนอร์มังดี หลังย้ายมาอยู่ที่นี่เมื่อเจ็ดปีก่อน บ้านหลังนี้กลายเป็นบ้านหลังสุดท้ายในชีวิตของเขา ช่วงเวลาสิบกว่าปีแรกในบ้านหลังนี้ เป็นช่วงเวลาที่เขาเริ่มวาดสิ่งเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงเวลาและสภาพอากาศที่แตกต่างกัน แต่โมเนต์ไม่ได้วาดสระบัวและสวนที่กลายมาเป็นซิกเนเจอร์ของเขาในทันที สิ่งที่ปรากฎซ้ำ ๆ (Motif) คือฉากจากลอนดอน เมืองที่โมเนต์ไปเยือนสามปีติดต่อกัน และแม่น้ำแซนที่เขาคุ้นเคยดี โดยทิวทัศน์แม่น้ำแซนในช่วงเวลานี้มักเน้นที่ภาพสะท้อนบนผิวน้ำ แสงและบรรยากาศเฉพาะตัว ซึ่งจะไปปรากฎในการวาดภาพสระบัวของเขาในภายหลัง

Morning on the Seine, Mist (1897)

Morning on the Seine, Mist (1897)

บทที่ 2​ น้ำและดอกไม้

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ของฝรั่งเศส ศิลปะประเภทตกแต่งเจริญรุ่งเรืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน จิตรกรหลายคนหันมาทำงานประเภทนี้ โมเนต์ก็เช่นกัน เขาเริ่มสนใจที่จะวาดเพียงดอกบัวเท่านั้น ถือเป็นต้นกำเนิดของภาพวาดอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา แต่ในปี 1909 อาชีพการงานของโมเนต์ก็หยุดชะงักชั่วคราวเนื่องจากความบกพร่องทางสายตา ต่อมาเขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นต้อกระจก และยังต้องเผชิญกับการเสียชีวิตของภรรยาอันเป็นที่รัก หลังใช้เวลาฟื้นฟูกายใจอยู่หลายปี ในปี 1914 เขาก็กลับมามีแรงกระตุ้นในการสร้างสรรค์อีกครั้งและเริ่มวาดภาพดอกไม้ที่ไม่ใช่แค่ดอกบัวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงดอกไม้หลากหลายชนิด เช่น ดอกวิสทีเรียที่เติบโตบนโครงระแนงของสะพานโค้งเหนือสระน้ำและดอกอะกาแพนทัสที่บานสะพรั่งบนฝั่ง แต่หลังวาดดอกไม้เหล่านี้ไปสักพัก เขาก็หันกลับไปสนใจพื้นผิวของสระน้ำและเงาสะท้อนของมันอีกครั้ง

Agapanthus (1914-1917)

Agapanthus (1914-1917)

บทที่ 3 ภาพตกแต่งอันยิ่งใหญ่

“Grande Décoration” เป็นโครงการภาพตกแต่งที่โมเนต์ปลุกปั้นอยู่หลายปี เขาตั้งใจจะวาดจิตรกรรมขนาดใหญ่รูปสระบัวเพื่อนำไปติดบนผนังโค้ง งานในช่วงเวลานี้มักมีความยาวด้านละ 2 เมตร ซึ่งใหญ่กว่างานช่วงก่อนปี 1909 ถึง 4 เท่า โมเนต์เลยลงทุนสร้างสตูดิโอใหม่ที่กว้างขวางขึ้นเพื่อทำงานชิ้นใหญ่เหล่านี้ เขาวาดภาพกลางแจ้งเพื่อเก็บความประทับใจ ก่อนจะมาวาดในสตูดิโอโดยอาศัยความทรงจำของตัวเองที่มีต่อช่วงเวลานั้น

โมเนต์ในสตูดิโอ

โมเนต์ในสตูดิโอ

ห้องจัดแสดงในบทที่ 3 แตกต่างจากสองบทก่อนหน้านี้ที่เป็นผนังสีเข้มเพื่อขับให้ภาพวาดเด่นขึ้น บทที่ 3 เป็นผนังโค้งสีขาวเพื่อบอกเล่าช่วงตอนนี้ของชีวิตโมเนต์ ท่ามกลางภาพสวยๆ มากมาย มีภาพหนึ่งที่สะดุดตา นั่นคือภาพที่ปรากฎสระบัวเพียงครึ่งล่างและมีสีทองในครึ่งบน ดูราวกับภาพนามธรรมมากกว่าจะเป็นลัทธิประทับใจ และยังมีเกร็ดที่น่าสนใจอีกด้วย

แคปชั่นของนิทรรศการเล่าว่า มัตสึคาตะ โคจิโร่ (Matsukata Kojiro) นักธุรกิจและนักสะสมชาวญี่ปุ่นผู้วางรากฐานให้กับคอลเลกชั่นของ The National Museum of Western Art โตเกียว ไปเยี่ยมบ้านของโมเนต์ในปี 1921 และซื้อผลงาน 18 ชิ้นโดยตรงจากศิลปิน นี่เป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ที่โมเนต์ยอมขายภาพขนาดใหญ่จากโครงการ Grandes Décorations ทำให้เราพอจะตั้งสมมติฐานได้ว่าโมเนต์กับนักสะสมคนนี้คงมีสายสัมพันธ์อันดีต่อกันไม่น้อย แต่หลายปีต่อมา พอโมเนต์ได้ยินว่าภาพวาดนี้ถูกนำไปจัดแสดงที่ปารีสในงานการกุศลเพื่อผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต ค.ศ. 1923 เขาก็รู้สึกไม่พอใจและสั่งให้นำภาพวาดออกจากสถานที่จัดงานทันที จากนั้นภาพวาดนี้ก็หายเข้ากลีบเมฆไป แล้วถูกพบอีกครั้งในปี 2016 ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ในสภาพที่เสียหายอย่างหนัก ซึ่งส่วนที่เสียหายก็คือส่วนที่ตอนนี้เราเห็นเป็นสีทองนี่เอง

เราไม่อาจทราบได้ว่าทำไมโมเนต์ถึงไม่พอใจ แล้วทำไมภาพวาดถึงหายไปหลายปี แต่ที่แน่ใจคือตอนนี้ภาพวาดได้มาอยู่ในที่ที่ปลอดภัยและบอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังมันแล้ว

บทที่ 4​ ซิมโฟนีแห่งสีสัน

ภาพวาดของโมเนต์มักถูกเปรียบเทียบกับดนตรีเนื่องจากมีความกลมกลืนของสีสันที่ละเอียดอ่อน แต่อาการต้อกระจกซึ่งเริ่มปรากฏชัดมากขึ้นในราวปี 1908 ทำให้การมองเห็นสีของโมเนต์เปลี่ยนไปอย่างมาก แม้จะบ่นเรื่องอาการปวดตาอยู่ตลอดเวลา แต่โมเนต์ก็ไม่ยอมผ่าตัดอยู่นาน ทำงานโดยอาศัยการระบุสีจากตำแหน่งของสีบนจานสี จนกระทั่งปี 1923 เขาก็ทนไม่ไหวแล้วยอมผ่าตัดในที่สุด คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุผลทางสุขภาพส่งผลต่อการสร้างสรรค์ของเขา ผลงานของเขาในช่วงเวลานี้ให้ความสนใจกับสะพานโค้งแบบญี่ปุ่นและต้นหลิวเหนือสระน้ำ แม้จะใช้ชื่อบางงานว่าดอกบัวเหมือนงานก่อนๆ แต่เขาใช้ฝีแปรงที่เข้มข้นและสีสันที่ต่างออกไปจากงานชุดก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด

Water Lily Pond (1918-1919)

Water Lily Pond (1918-1919)

The Japanese Footbridge (1920–1922)

The Japanese Footbridge (1920–1922)

บทส่งท้าย โลกที่กลับหัวกลับหาง

ในโลกใบนี้ ศิลปินก็ไม่ต่างจากมนุษย์คนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและการเมือง ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม และมันอาจส่งผลต่อผลงานของพวกเขามากกว่าที่เราคิด
โมเนต์เริ่มการสร้างสรรค์จิตรกรรมตกแต่งขนาดใหญ่ในปีเดียวกับที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มต้นขึ้น เขาเขียนไว้ในปี 1914 ว่า “การมาคิดถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างรูปร่างและสีสันในขณะที่ผู้คนจำนวนมากต้องทนทุกข์และเสียชีวิตอาจเป็นเรื่องน่าละอาย แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว การทำเช่นนั้นเป็นหนทางเดียวที่จะหลีกหนีจากความเศร้าโศกได้” เมื่อสงครามสงบในปี 1918 โมเนต์เสนอที่จะบริจาคจิตรกรรมตกแต่งขนาดใหญ่บางภาพให้กับประเทศฝรั่งเศสเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ

โมเนต์ถึงแก่กรรมในปี 1926 ผลงานท้ายๆ แสดงให้เห็นถึงขอบเขตที่เลือนรางระหว่างต้นหลิวบนฝั่งกับเงาสะท้อนของมัน และดอกบัวบนผิวน้ำกับเงาสะท้อนของต้นหลิวบนผืนน้ำ ราวกับว่าโลกแห่งความจริงและเงาสะท้อนนั้นกลับหัวกลับหางกันอยู่ และนั่นอาจบ่งบอกถึงความรู้สึกที่โมเนต์เผชิญในช่วงบั้นปลายของชีวิตก็เป็นได้

หากคุณแวะมาเยือนโตเกียว เราไม่อยากให้พลาดนิทรรศการ Monet: The Late Waterscapes ซึ่งจะจัดแสดงยาวจนถึงวันที่ 11 เดือนกุมภาพันธ์ 2025 (ปิดทุกวันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์) ที่ The National Museum of Western Art ใกล้สถานีอุเอโนะ (Ueno)