ตามที่เราได้เห็นกันมาอย่างต่อเนื่องว่าภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่อง มักหยิบเอาตำนานในอดีตมาเล่าใหม่ให้เป็นภาพ เพื่อย่นระยะเวลาทางประวัติศาสตร์ สร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตกับปัจจุบัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว สิ่งที่เราเห็นได้บ่อยครั้งในโลกของภาพยนตร์ คือการเอาตำนานดังมาขยายโครงข่ายให้กว้างมากขึ้น ทว่า The Green Knight ภาพยนตร์โดย David Lowery ผู้กำกับที่เคยฝากผลงานดังใน A Ghost Story (2017) กลับแตกต่างออกไป เพราะเรื่องราวทั้งหมด อ้างอิงถึงเรื่องเล่าปากต่อปากโดยกวีนิรนามช่วงศตวรรษที่ 14 ที่ถูกลืมในหน้าประวัติศาสตร์มานานหลายร้อยปี
ตำนานของกษัตริย์ Arthur ผู้ยิ่งใหญ่ คือหนึ่งในเรื่องที่เป็นที่นิยมของหมู่กวีหลายยุคสมัย จนเกิดเป็นตำนานหลายมิติที่ยากจะพิสูจน์ความจริงได้ แต่คงมีไม่มากนักที่ผู้แต่งจะกล้านำเสนอขั้วตรงข้ามของศีลธรรมอย่างเรื่องตัณหา สงคราม และความน่าอับอาย ผ่านวิธีการเล่าที่แปลกประหลาด เพราะอาจเป็นเรื่องยากที่ผู้คนจะเข้าถึงความสุดโต่งได้ สิ่งนี้เองที่ทำให้ Sir Gawain and the Green Knight (ชื่อเดิมคือ Bertilak de Hautdesert) ซึ่งบอกเล่าถึงการต่อสู้ภายในจิตใจของตัวละครหลักโดยไม่มีฉากแอคชั่นอย่างการดึงด้ามดาบยาวออกจากหิน ไม่มีจอกน้ำศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีสิ่งใดยืนยันถึงอำนาจอันยิ่งใหญ่ของ Arthur เกือบจะถูกกลืนหายไปในหน้าประวัติศาสตร์ กระทั่งศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา เรื่องราวนี้จึงกลับคืนสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง
แม้จะไม่มีใครรู้แน่ชัดว่านิยายปากต่อปากแนวดาร์คแฟนตาซีจากยุคกลางเรื่องนี้ หมายความถึงอะไรกันแน่ แต่สิ่งหนึ่งที่เราจับใจความได้คร่าว ๆ ก็คือ ตำนานของ Gawain ได้เดินทางข้ามยุคสมัยผ่านสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปมา เกิดเป็นเรื่องเล่าที่มีความทับซ้อนกันทางความเชื่อศาสนา ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติในตัวมนุษย์ รวมถึงการเบลอเส้นความเป็นจริงกับคำเปรียบเปรยถึงสิ่งที่ไปไกลกว่านั้น ในแง่หนึ่ง Sir Gawain and the Green Knight คือการเผชิญหน้ากันระหว่างธรรมชาติกับอารยธรรม ธรรมชาติกับศาสนา และการก้าวล้ำพื้นที่ของกันและกัน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าสิ่งนี้คือเสน่ห์ที่แม้แต่คนรุ่นเรา ๆ อ่าน ก็ยังอินตามเนื้อเรื่องไปได้ไม่ยาก
Sir Gawain and the Green Knight คือเรื่องราวบนเส้นเรื่องบิดเบี้ยว ที่เริ่มต้นขึ้นในวันคริสต์มาส ท่ามกลางการฉลองครั้งใหญ่แห่งปีที่ราชสำนักของกษัตริย์ Arthur อัศวินรูปร่างเหมือนมนุษย์ต้นไม้สมัยยุคกลาง (Green Man) ตามตำนานเซลติกส์ (Celtics) ซึ่งว่ากันว่าเป็นสัญลักษณ์ของพวกคริสเตียนนอกรีต เขาเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในเสื้อผ้าสีเขียวบนหลังม้าสีเขียว พร้อมถือกิ่งไม้ฮอลลี่ในมือ เขายื่นข้อเสนอท้าทายเหล่าอัศวินผู้กล้าหาญให้ตัดหัวตัวเขา เพื่อที่อีกหนึ่งปีข้างหน้า เขาจะตัดหัวอัศวินผู้กล้าคนนั้นคืน นี่คือการแสดงให้เห็นว่าแม้เหล่าผู้กล้าจะไม่เคยกลัวการออกรบ แต่พอพวกเขาต้องอยู่ต่อหน้าข้อเสนอถึงความตาย พวกเขากลับหัวหดจนไม่มีใครกล้าเดินออกมาลานประลอง ทว่า คนที่ดูไร้ทีท่าที่สุดอย่าง Gawain หลานชายของ Arthur ผู้อยู่นอกแสงไฟสปอตไลท์ กลับยืดอกรับคำท้าแม้ใจจะแอบกลัวก็ตามที
เมื่อถึงเวลาครบกำหนด Gawain จึงออกเดินทางเพื่อค้นหาโบสถ์ของอัศวินสีเขียว ไม่นานเขาก็พบกับปราสาทในชนบทห่างไกล ซึ่งเป็นบ้านของ Sir Bertilak และภรรยาคนสวย ที่นี่ข้อเสนออันขัดต่อจารีต ได้กลายมาเป็นบททดสอบสำคัญให้ Gawain แม้เขาจะห้ามใจท่าทางเย้าของภรรยา Bertilak ได้ในตอนต้น แต่สุดท้ายเขากลับพ่ายแพ้ต่อรักร้อนที่พลุ่งพล่านอยู่ในตัว จนทำผิดกติกาที่ตัวเขาตกลงไว้กับ Bertilak นำมาสู่การเผชิญกับอัศวินสีเขียว ที่มาพร้อมกับบทลงโทษคูณสอง เพราะทั้งตัวอัศวินสีเขียวและ Bertilak คือคนคนเดียวกัน และทั้งหมดเป็นกลอุบายที่แม่มด Morgan Le Fay ป้าของ Gawain ซึ่งเป็นพี่น้องต่างแม่ของ Arthur สร้างขึ้น
ความจริงแล้วในตำนานชาว Arthur เล่าไว้ว่า Morgan Le Fay คือแม่มดหญิงที่ทรงพลังมาก ถึงขั้นไม่มีใครสามารถอธิบายนิสัยอันซับซ้อนของเธอได้ แม้ว่าเธอจะมีสถานะเป็นคนคอยดูแลอาณาจักรด้วยมนต์คาถา แต่ความรักที่เธอมีต่อ Arthur ก็ทำให้เธอกลายเป็นศัตรูของเขา (ในบางตำนาน) ซึ่งยิ่งตอกย้ำว่านิยายเรื่องนี้ เป็นเหมือนอุบายที่เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่งและการรักษาเกียรติในภายนอก แต่ภายในจิตใจของตัวละครกลับแฝงด้วยความรู้สึกอันแตกร้าว นำมาสู่ตอนท้ายใน Sir Gawain and the Green Knight ที่ยังคงตั้งคำถามต่อภาพ ‘อุดมคติ’ ของอัศวินซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็น ‘The One’ ที่สุดแล้วเรื่องราวการผิดศีลธรรม หรือกฎกติกาที่เข้ามาทดสอบความกล้าหาญของ Gawain อาจไม่ใช่ส่วนสำคัญเลยก็เป็นได้ เพราะเขาไม่ได้ขาดคุณสมบัติความเป็นผู้นำจากการวางตัวดูร้ายกาจหรือความเจ้าชู้ แต่หากจะมีเหตุผลสักข้อที่ตัดสินว่าเขาไม่คู่ควรกับตำแหน่งกษัตริย์ นั่นคือ การที่ “เขารักชีวิตส่วนตัว” มากกว่าความเป็นไปของบ้านเมืองนั่นเอง ซึ่งก็น่าติดตามว่าตัวหนังจะถ่ายทอดเรื่องราวของ Gawain ออกมาอย่างไร และชวนให้เราหาคำตอบไปในทางไหนกันบ้าง
ภาพวาด The Devil Presenting St. Augustine with the Book of Vices (1475) โดย Michael Pacher บอกเล่าถึง Green Devil กับ Saint Augustine โดยจำลองตามบทกวี Gawain
ในนิทานพื้นบ้านและวรรณคดีอังกฤษ มักใช้สีเขียวเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนธรรมชาติและการมีตัวตน ซึ่งก็อธิบายได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงการเกิดใหม่ด้วยเช่นกัน นักวิจารณ์อ้างว่าบทบาทของอัศวินสีเขียว เน้นไปในเรื่องสิ่งแวดล้อมนอกที่อยู่อาศัยของมนุษย์ อัศวินสีเขียวยังถูกมองว่าเป็นการประนีประนอมกันระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม และบ่อยครั้งก็ใช้เพื่อรวมโลกของเราเข้ากับโลกเหนือธรรมชาติหรือจิตวิญญาณ
รับชม The Green Knight ได้แล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์
คลิกเพื่อรับชมตัวอย่างภาพยนตร์
อ้างอิง : The magic, sex, and violence of the 14th-century poem behind The Green Knight, Sir Gawain and 'The Green Knight' Movie Explained, Sir Gawain and the Green Knight