สารภาพกับเรามาตามตรง ใครที่วาดรูป เล่นดนตรี หรือเขียนบทกวี ว่ามีภาพกี่ภาพ เพลงกี่เพลง หรือบทกวีกี่บทกัน ที่เราแต่งให้กับคนที่เราตกหลุมรัก? ไม่ต้องกลัวเขิน เพราะตั้งแต่อดีตมา ก็มีศิลปินมากมายที่ได้แรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะมาจาก “คนคนนั้น” ของเขา ซึ่งเรามักจะรู้จักเหล่าคนต้นเรื่องเหล่านี้ในนามของมิวส์ (Muse) ที่มักจะแปลกันตรง ๆ ว่า ‘เทพธิดาบันดาลใจ’ (และไม่ใช่วงร็อกสามชิ้นจากอังกฤษ) ซึ่งเป็นนิยามที่ถูกตั้งคำถามอยู่ไม่น้อยในปัจจุบัน ว่าทำไมมิวส์จะต้องเป็นแค่ผู้หญิงด้วย แล้วผู้หญิงจะเป็นมากกว่ามิวส์ไม่ได้หรอ?
ในเดือนแห่งความหลากหลายปีนี้ GroundControl เลยอยากชวนทุกคนมารื้อนิยามของคำว่ามิวส์ใหม่ จากอดีตที่หมายถึงเทพธิดาตามปกรณัมกรีก ที่ดูเหมือนจะทรงพลังยิ่งกว่าศิลปินเสียอีก มาสู่เธอคนนั้นที่เหล่าศิลปินตกหลุมรัก ซึ่งหลายทีก็ถูกลบบทบาทให้กลายเป็นเพียงนางแบบให้เขาวาดเท่านั้น เพื่อมาสร้างนิยามใหม่ของมิวส์ด้วยกันในบทความนี้ ว่าที่จริงแล้วถ้าลองถอดบทบาททางเพศที่แบ่งหน้าที่ชายหญิงอย่างชัดเจนออกจากคำคำนี้ไปแล้ว มิวส์ก็คงเป็นอะไรก็ได้ อาจไม่จำเป็นต้องเป็น ‘ธิดา’ และอาจไม่ได้มีบทบาท ‘ให้’ แรงบันดาลใจกับศิลปินแต่ฝ่ายเดียวเลยด้วยซ้ำ
เทพธิดาผู้ขับร้องผ่านศิลปิน
ที่มาของคำว่ามิวส์จริง ๆ อาจจะย้อนไปได้ถึงสมัยโบราณ ในเรื่องเล่าปกรณัมทางศาสนากรีก-โรมัน เกี่ยวกับกลุ่มเทพธิดาสาวพี่น้องลูก ๆ ของซูส ราชาแห่งทวยเทพ และนิมอซินี เทพธิดาแห่งความทรงจำ ซึ่งอยู่อาศัยในเขาเฮลิคอน (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศกรีซ)
สอดคล้องกับที่มีคนเสนอว่ารากศัพท์ของคำว่ามิวส์ มาจากคำว่า *men- ในภาษากลุ่มโปรโต-อินโด-ยูโรเปียน ซึ่งอาจจะหมายถึงภูเขาหรือหุบเขาก็ได้ หรืออาจจะหมายถึงการ “ใส่ไว้ในความคิด” ก็ได้ ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่พวกเธอทำพอดีเหมือนกัน คือการใส่เรื่องราวศิลปะวิทยาการเข้าไปในเหล่ามนุษย์ธรรมดา
ตามตำนานแล้วพวกเธอจะร้องเล่นเต้นรำกันอยู่ในหุบเขานั้น และเป็นผู้อุปถัมป์เหล่ากวี ซึ่งในยุคนั้นก็เป็นนักดนตรีเหมือนกัน รวมทั้งศาสตร์อื่น ๆ ทั้ง 9 ตามจำนวนพี่น้องมิวส์ทั้งหมด 9 คน คือบทกวี, ประวัติศาสตร์, กลอนรัก, เพลงขลุ่ย, โศกนาฏกรรม, กลอนสวด, เพลงประสานและการเต้น, สุขนาฏกรรม, และดาราศาสตร์
และนั่นก็ทำให้เหล่ากวีมักจะเรียกหามิวส์เสมอ เวลาจะร่ายกลอนเล่ามหากาพย์อะไร และก็เป็นที่มาของ “Mousaion” สถานที่บูชามิวส์ ที่มักจะเต็มไปด้วยศิลปะวิทยาการ ซึ่งกลายเป็นรากศัพท์ของคำว่า Museum หรือพิพิธภัณฑ์ในโลกสมัยใหม่
ถ้าใครเคยอ่าน ‘โอดิสซี’ (Odyssey) มหากาพย์กรีกโบราณที่เล่าเรื่องราวหลังการล่มสลายของกรุงทรอย ก็คงจะรู้ว่ายอดกวีอีเลียดเริ่มต้นบทประพันธ์นี้ว่า
“ขับร้องในฉันเถิด มิวส์ และเล่ามันออกมาผ่านตัวฉัน เรื่องของชายผู้ชำนาญการรอบด้าน”
ถ้อยคำสั้น ๆ นี้ให้ภาพเหมือนเวลาคนไทยเรียกเจ้ามาเข้าทรงแล้วตัวตนเปลี่ยนไปเป็นคนละคน จากที่แรงน้อยกลายเป็นแรงเยอะ หรือจากที่ไม่มีเรื่องราวอะไรในหัวเลย แต่กลับสามารถแต่งนิยายได้เป็นฉาก ๆ มิวส์ในจักรวาลแบบนี้เลยเป็นเจ้าของพลังที่แท้จริงในการสร้างสรรค์ผลงานต่างหาก ไม่ใช่ศิลปิน โดยที่ศิลปินเป็นเหมือนสื่อกลางที่ทำให้งานศิลปะปรากฏออกมาได้
แนวคิดเรื่องมิวส์ในโลกกรีกโบราณนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์งานอีกด้วย ว่าผลงานของศิลปินไม่ได้มาจากศิลปินแค่คนเดียว หรือจริง ๆ ไม่ได้มาจากศิลปินเลยด้วยซ้ำ
เรือนร่างของนางแบบ?
เมื่อเวลาผ่านไป เทพก็อาจจะลดบทบาทลงในสังคมมนุษย์ เช่นเดียวกับความหมายของคำว่ามิวส์ที่เปลี่ยนไปจากการเป็นเทพธิดา กลายเป็นแค่คนธรรมดาเหมือนกับเราทุกคน แต่อาจจะไม่ธรรมดาตรงที่เธอมอบพลังบันดาลใจศิลปินผ่านความงามของเธอเองที่สวยดุจดังเทพธิดาอยู่ดี
ช่วงกลาง 1800s หรือที่เรียกกันว่ายุควิกตอเรียนในประเทศอังกฤษ หญิงสาวคนหนึ่ง เป็นแบบให้ศิลปินหัวก้าวหน้า ‘กลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอล’ มากมายวาดภาพอย่างเช่น วอลเตอร์ เดเวอเรล (Walter Deverell), วิลเลียม ฮอลแมน ฮันต์ (William Holman Hunt) ไปจนถึง เซอร์จอห์น เอเวอเร็ตต์ มิลเล (Sir John Everett Millais)
อลิซาเบธ ซิดดัล (Elizabeth Siddal) คือเจ้าของใบหน้าหญิงสาวที่นอนจมน้ำแบบสวย ๆ ในภาพ ‘โอฟีเลีย’ (Ophelia) ของเซอร์จอห์น เอเวอเร็ตต์ มิลเล เธอไม่ได้เป็นภาพฝันของศิลปิน ที่จินตนาการหญิงสาวผู้แสนดึงดูดแรงปรารถนาเกินมนุษย์ขึ้นมา แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็เป็นภาพของ “หญิงสาวในอุดมคติ” ในแง่หนึ่งอยู่ดี
เป็นเวลานานที่ซิดดัลตกอยู่ในสถานะตัวประกอบในประวัติศาสตร์ของกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอล ในสถานะภรรยาของ ดันเต กาเบรียล โรเซ็ตติ (Dante Gabriel Rossetti) ศิลปินผู้ใช้เธอเป็นแบบวาดภาพครั้งแล้วครั้งเล่า และห้ามเธอไม่ให้ไปเป็นแบบให้ผู้อื่น
มีผู้คาดการณ์ไว้ ว่าเธอเป็นแรงบันดาลใจให้กับผลงานภาพวาดและบทกวีของโรเซ็ตติกว่าพันชิ้น รวมไปถึงผลงานชุดที่โรเซ็ตติวาดเรื่องราวจากบทกวีของ ดันเต อาลีกีเอรี กวีเอกชาวอิตาเลียน
เธออาจจะเป็นมิวส์ผู้งดงามตามอย่างอุดมคติของศิลปิน หรือเป็นคนจริง ๆ ผู้ต้นแบบของนิยามความงามว่าคืออะไรด้วยซ้ำ นักประวัติศาสตร์ศิลปะมากมายในอดีตนิยามเธอเป็นมิวส์ แต่ก็ยังมีนักประวัติศาสตร์ศิลปะอีกหลายคน ที่มองว่าสถานะมิวส์ของเธอ ทำให้แนวคิด ฝีมือ และบทบาทของเธอในฐานะศิลปินคนหนึ่งในกลุ่มที่ยิ่งใหญ่นี้ ถูกกลบลงไป
ไม่ใช่แค่เรือนร่างของนางแบบ!
“มิวส์ในรูปแบบที่แท้จริงที่สุดของเธอก็คือความเป็นหญิงภายในศิลปินชาย ที่ซึ่งเขาจะมีเพศสัมพันธ์ด้วยถ้าเขาต้องการสร้างผลงานใหม่ขึ้นมา เธอเป็นอนิมา (ลักษณะแบบหญิง) ต่ออนิมัส (ลักษณะแบบชาย) ของเขา เป็นหยินสำหรับหยางของเขา เพียงแต่ว่า มันกลับเป็นบทบาททางเพศที่ตรงข้ามกัน เธอสอดใส่หรือให้แรงบันดาลใจแก่เขา และเขาตั้งท้องและนำมันออก จากครรภ์สู่สำนึกคิด”
เจอร์เมน เกรียร์ (Germaine Greer) นักเขียนเฟมินิสต์ชื่อดัง ได้ถอดนัยทางเพศที่ฝังรากลึกอยู่ในแนวคิดเรื่องมิวส์ให้เราเห็น และชี้ว่า “มิวส์” อย่างน้อยก็ในความหมายแบบเดิม ๆ คือการจัดวางหรือแบ่งแยกบทบาททางเพศที่ชัดเจนระหว่างชายและหญิง
แต่เราพลาดอะไรไปบ้าง เมื่อเราใช้แนวคิดมิวส์ในความหมายแบบเดิม ๆ แล้วเรายังใช้คำว่ามิวส์ในความหมายไหนได้อีก?
ปี 1945 สงครามโลกครั้งที่สองกำลังปิดฉากลง หญิงสาวคนหนึ่งโพสต์ท่าถ่ายภาพนั่งเปลือยอยู่ในอ่างอาบน้ำของฮิตเลอร์
“พวกเขาไม่ใช่ศิลปิน แน่หละพวกผู้หญิงก็สำคัญ แต่มันเพราะว่าเธอคือมิวซ์ของพวกเรา” คำพูดของ เซอร์ โรแลนด์ เพนโรส (Sir Roland Penrose) ศิลปินเซอร์เรียลลิสต์ชาวอังกฤษ และอดีตสามีของลี มิลเลอร์ (Lee Miller) หญิงสาวในอ่างอาบน้ำของฮิตเลอร์คนดังกล่าว
ชาวเซอร์เรียล (และรวมไปถึงกลุ่มดาดา) มีความสัมพันธ์ที่ลุ่มหลงลึกซึ้ง หรืออาจเรียกได้ว่าหมกมุ่นกับผู้หญิง อย่างที่เราจะเห็นหน้าอกเปลือยของผู้หญิงภาพแล้วภาพเล่าเสมอเมื่อลองหาอ่านประวัติและผลงานของศิลปินกลุ่มนี้ดู
ลี มิลเลอร์เองก็เป็นหนึ่งในนั้น ร่างกายของเธออยู่ในภาพจำนวนมากของโรแลนด์ แต่สถานะที่เธอเป็นที่จดจำหนึ่งก็คือการเป็นมิวส์ของแมน เรย์ (Man Ray) ศิลปินเซอร์เรียลผู้สร้างงานศิลปะจากการทดลองกับเทคนิคภาพถ่าย
ริมฝีปากของเธออยู่ในงาน Observatory Time - The Lovers ดวงตาของเธออยู่ในภาพ Indestructible Object
เธอเป็นนางแบบให้นิตยาสาร Vogue ตั้งแต่อายุ 19 ปี แต่เธอย้ายจากนิวยอร์กไปปารีสเพื่อที่จะเป็นช่างภาพให้ได้ และได้พบกับแมน เรย์ ช่างภาพผู้รับเธอเป็นผู้ช่วย และตกหลุมรักเธอ อย่างบ้าคลั่ง อย่างที่เขาเขียนเองในจดหมายหลายต่อหลายฉบับ
เขาบูชาร่างกายของเธอ แต่ก็เข้าไปครอบครองและย่ำยีร่างกายของเธอพร้อม ๆ กัน โดยจับมันแยกส่วน แล้วขับให้เห็นแต่มิติทางเพศ
เมื่อสงครามปะทุขึ้น เธอรับงานผู้รายงานข่าวสงครามให้กับ British Vogue ซึ่งทำให้เธอได้สัมผัสความโหดร้ายทั้งหมดในโลกที่ดูเหมือนจะขับเคลื่อนด้วยผู้ชาย และนำมันมาถ่ายทอดให้ผ่านสายตาเซอร์เรียลในแบบของเธอ ที่ยังคงลีลาการบิดองค์ประกอบภาพให้เห็นมุมมองแปลกประหลาดใหม่ ๆ ของมัน เช่นเดียวกับคนรักเซอร์เรียลของเธอ แต่ตัดสายตาแบบเพศชายออกไป
ในฐานะมิวส์ เธอเป็นที่มาของงานระดับคลาสสิกจำนวนมากของขบวนการหนึ่งที่สำคัญที่สุดในยุคสมัยใหม่ แต่ชีวิตของเธอก็เตือนเราว่า ภาพที่ศิลปินสร้างขึ้นมาจากมิวส์ของเขา อาจไม่ใช่สิ่งเดียวกับที่เธอเป็นหรือทำ และบางทีเธอก็เป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ด้วยตัวเองด้วยซ้ำไป
เทพยดาที่ไม่ได้มาพร้อมกับบทบาททางเพศ
มาจนถึงยุคนี้ นิยามของมิวส์อาจเหลือเพียงแค่ใครก็ตามที่เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาก็ได้แล้ว เราจึงเห็นคนอย่างดิเอโก ริเวรา (Diego Rivera) คนรักของศิลปินสาวฟรีดา คาโล (Frida Kahlo) ที่แม้จะเป็นเรดแฟล็กตัวพ่อ แต่ก็นำมาสู่ผลงานที่น่าจดจำ(?)ของฟรีดาจำนวนไม่น้อย หรืออย่างจอร์จ ไดเยอร์ (George Dyer) มิวส์ในแบบชายหนุ่มคนรักของฟรานซิส เบคอน ที่ตอนมีชีวิตอยู่ก็เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินวาดภาพ ตอนเสียชีวิตไปก็สร้างความสะเทือนใจจนทำให้เกิดผลงานอันเป็นที่จดจำ
แต่เมื่อไม่นานมานี้เราได้พบนิยามของมิวส์อีกแบบที่น่าสนใจไม่น้อย ในบทความจดหมายข่าวศิลปินที่ภัณฑารักษ์อัลเปอร์ ตูราน (Alper Turan) เขียนถึงคูบรา อูซุน (Kübra Uzun) ศิลปิน นักแสดง หรือ “เทพยดาบันดาลใจข้ามเพศ” ยุคใหม่
“ในทางประวัติศาสตร์แล้ว เทพยดาบันดาลใจคือคนรัก, คู่ครอง, และเพื่อนผู้ใกล้ชิดกับนักสร้างสรรค์ เทพยดาบันดาลใจถูกรับรู้ในฐานะแหล่งแห่งแรงบันดาลใจ ด้วยวิสัย, เสน่ห์, ภูมิปัญญา, ความหลักแหลม, และความยั่วยวนทางเพศของพวกเขา ด้วยความสามารถของเธอในฐานะเทพยดาข้ามเพศ อูซุนยกระดับการทำให้เป็นวัตถุเปล่า ๆ และปฏิเสธการลดทอนให้เป็นกลุ่มตัวอย่างศึกษาใด ๆ อย่างหนักแน่น เธอไม่ได้มาเพื่อโดนด้อยค่า เป็นความกระหายใคร่รู้และภาพที่หยุดนิ่งของความเป็นอื่น; เธอไม่สามารถถูกย่ำยีด้วยการจ้องมองแบบเพศชาย (male gaze) ในการแสดงของเธอกับกล้อง แม้กระทั่งตอนที่ถูกกำกับโดยคนอื่น อูซุนหนักแน่นในสถานะผู้กระทำการ (agency) ของเธอ”
อูซุน เป็นศิลปินการแสดง ที่ได้อิทธิพลมาจากโชว์แดร็ก และศิลปินนักร้องนักแสดงเควียร์ทั้งหลายที่มาก่อนเธอ แต่เธอซึมซับการแสดงทั้งหมดเข้าไปในชีวิตของเธอจนเป็นดังโชว์ที่ไม่มีวันจบ เพราะเป็นเรื่องจริง เธอร้องเพลง ยั่วล้อ และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม ไม่ว่าจะในชีวิตจริง ๆ หรือผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ต แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ สถานะมิวส์ของเธอ เป็นทั้งการทำลายกรอบทางเพศ ที่ติดมากับเพศกำเนิด โดยสร้างมิวส์ที่เป็นคนข้ามเพศขึ้นมา และยังเป็นการวางบทบาทของมิวส์กับคนอื่น ๆ ไว้ ในฐานะผู้ทำงานร่วมกัน และส่งอิทธิพลต่อตัวตนของกันและกันอีกด้วย ไม่ใช่ใครมีอำนาจหรือความสามารถเหนือใคร
“งานเทพยดาบันดาลใจของอูซุนคือการร่วมงานกัน (collaborative) ด้วยตัวมันเอง เทพยดาบันดาใจในทางประวัติศาสตร์จะถือกันว่าแตกต่างจากผู้คนที่ทำงานจัดการ, สอน, ผูกมิตร, ให้คำแนะนำ, หรือศิลปินผู้สนับสนุน แต่อูซุนกลับยึดงานการดูแลคืน; ร่วมงานและสร้างแรงบันดาลใจกับผู้อื่น ด้วยการสร้างพื้นที่สำหรับผู้อื่นในงานแห่งเทพยดาบันดาลใจของเธอ”
เธอมักจะแทนตัวเองด้วย “ฉัน” ก่อนจะกลายไปเป็น “เรา” เสมอ เพื่อเน้นย้ำประสบการณ์ส่วนตัวของเธอ ที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของชาวเควียร์ด้วย เช่นเดียวกับตอนที่เธอปล่อยให้ผู้อื่นมีส่วนสร้างตัวตน (persona) ของเธอขึ้นมาด้วย และทำให้ “ภาพ” ของเธอไม่ได้หยุดนิ่งตายตัว
เช่นเดียวกับภาพของมิวส์ ที่เดิมอาจจะเป็นเทพธิดาบันดาลใจทั้งเก้า ผู้ส่งงานศิลปะมาให้เราชมผ่านศิลปิน แต่ก็อาจจะเป็นคนรักของศิลปิน ผู้นั่งเป็นแบบให้วาดภาพเฉย ๆ หรืออาจจะเป็นเทพยดาผู้สร้างสรรค์ศิลปะแห่งชีวิตร่วมกับเรา โดยที่มีเพศอะไรก็ได้
อ้างอิง
https://ruthmillington.co.uk/what-is-an-artist-muse-relationship-really-like/
https://edition.cnn.com/style/article/elizabeth-siddal-tate-britain-untold-art-history/index.html
https://www.barnebys.com/blog/the-tales-behind-some-of-art-historys-most-important-muses
https://www.protocinema.org/protodispatch/trans-muse-and-motheri-within-we-and-we-within-i