ไม่ว่าจะผ่านไปกี่พันปี เสน่ห์ของเรื่องราวในศาสนา ตำนานปรัมปรา และปกรณัมทั้งหลาย ก็ยังคงติดตราตรึงใจผู้คนอยู่เสมอ ต่อให้เรื่องราวเหล่านั้นจะถูกเล่าขานออกมากี่รอบ และถูกดัดแปลงไปหลากหลายรูปแบบมากแค่ไหน แต่เราก็ยังสนุกกับการค้นหาความหมายและสำรวจเบื้องหลังสัญญะมากมายเหล่านั้นได้อย่างไม่รู้จบ เหมือนกับ ‘Narsid’ หรือ ‘ดานิส- พิชญะ วิมลธรรมวัฒน์’ ศิลปินนักวาดภาพประกอบอิสระผู้ใช้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้มาสร้างให้เป็นเรื่องราวใหม่ แต่ยังคงยึดโยงผู้คนในปัจจุบันให้เข้าใจได้ผ่านสัญญะอันน่าสนใจและงานศิลปะย่อยง่ายสไตล์ของเขาเอง
Narsid ได้เล่าถึงที่มาของนามปากกาตัวเองว่ามาจากการสลับสับเปลี่ยนคำในชื่อเล่นของตัวเองอย่าง ‘Darnis’ ให้กลายเป็น ‘Narsid’ (อ่านว่านารฺซิด) ซึ่งสอดคล้องกับสไตล์งานและความสนใจของเขาที่มักทำงานเกี่ยวกับสัญญะทางศาสนาหรือปกรณัมต่าง ๆ ในวัฒนธรรมอิสลาม ที่เชื่อมโยงกับฝั่งคริสต์และยูดาย หรือเรียกรวม ๆ ว่า ‘Abrahamic Religions’ หรือ ‘กลุ่มศาสนาอับราฮัม’ เพราะทั้งสามศาสนานี้มีความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงหนึ่งเดียว และมีอับราฮัมเป็นศาสดาพยากรณ์ โดยเขาได้นำเอาเรื่องราวเหล่านี้มาเล่าใหม่ให้เข้าถึงความรู้สึกและธรรมชาติของมนุษย์ที่ยังคงมีความรู้สึกรัก หลง เศร้า สุข อยู่ไม่จาง
Narsid อธิบายถึงรูปแบบผลงานของตัวเองว่า “เราทำงานกับสัญญะทางศาสนาหรือปกรณัมต่าง ๆ แต่นำเอามาใช้เล่าเรื่องใหม่ โดยส่วนมากจะนำมาใช้เล่าเรื่องราวของความรู้สึกและธรรมชาติของมนุษย์ที่คนปัจจุบันก็ยังเข้าถึงได้ เช่น ความรู้สึกรัก หลง เศร้า สุข ต่าง ๆ ซึ่งเรามองว่าอารมณ์เหล่านี้ เหตุการณ์เหล่านี้ ความรู้สึกเหล่านี้ยังคงเป็นเรื่องที่มนุษย์ในปี 2024 สามารถรับรู้ได้ ไม่ต่างอะไรจากผู้คนในอดีตกาลที่ก่อตั้งศาสนาหรือเขียนปกรณัมให้เราหยิบยืมสัญญะของเขามาใช้เลย”
“เราเชื่อว่าต่อให้คุณจะเป็นพนักงานออฟฟิศยุคปัจจุบัน หรือกสิกรผู้ทำงานกสิกรรมในยุคเมโสโปเตเมีย แต่ถ้าพูดถึงความทุกข์ของการสูญเสียคนรัก ไม่ว่าใครก็น่าจะเข้าใจได้ว่ามันโศกเศร้าแค่ไหน และยิ่งในช่วงหลังมานี้เราได้มีโอกาสอ่านงานเขียนของ ‘Carl Gustav Jung’ นักจิตบำบัดและจิตแพทย์ชาวสวิส ผู้ก่อตั้งสำนักจิตวิทยาวิเคราะห์ขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 เรื่อง ‘Collective Unconscious’ หรือ ‘จิตไร้สำนึกร่วม’ ที่พูดถึงเรื่อง ‘Archetypes’ หรือ ‘แม่แบบ’ อันสื่อถึงสัญญะบางอย่างที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่ในจิตใต้สำนึกเหมือนกันไม่ว่าจะมาจากที่ไหนบนโลกนี้ก็ตาม งานเขียนที่ว่านั้นทำให้เราเชื่อว่าการศึกษาและนำสัญญะโบราณมาใช้ในงานวาด จะช่วยสร้างเนื้อหาที่เป็นสากลและเชื่อมถึงมนุษย์ยุคปัจจุบันได้เยอะขึ้น”


“การทำงานหลัก ๆ ของเราจะเน้นไปที่งานแบบดิจิทัล เพราะสะดวกมากกว่าทั้งในแง่ของการแก้ไขและสีสันที่มีให้เลือกเป็นล้านสี แต่จริง ๆ แล้วตั้งแต่สมัยเรียนจนถึงช่วงที่ทำโปรเจกต์ล่าสุด เทคนิคหลักที่เราเชี่ยวชาญคือ ‘Water-Medium Paint’ หรือตระกูลของสีที่ใช้น้ำเป็นหลัก โดยสีในตระกูลนี้ที่เราใช้มากที่สุดจะเป็นสีโกวเช่” Narsid ค่อย ๆ เล่าถึงกระบวนการทำงานของตัวเองให้เราฟัง
“จุดเริ่มต้นของการทำงานกับสีตระกูลนี้ของเราน่าจะคล้าย ๆ กับหลาย ๆ คน เพราะมีที่มาจากสมัยเรียนนั่นเอง เนื่องจากโจทย์การสอบเข้ามหาลัยศิลปะต่าง ๆ ในไทย ต้องการให้เด็กใช้สีโปสเตอร์เป็นทุกคน หลังจากฝึกใช้สีสไตล์นี้มา เราก็ค้นพบว่าสิ่งที่เราชอบในสีตระกูลนี้ไม่ใช่การทาให้เรียบเนียน แต่คือการที่เราค่อย ๆ ใช้พู่กันเล็ก ๆ สานเส้นรายละเอียดลงบนพื้นที่ที่ลงสีพื้นไว้แล้ว ด้วยความที่สีเหล่านี้มันละลายน้ำ ทุกครั้งที่เราสานเส้นสีใหม่ลงไปเพิ่มด้วยพู่กัน มันจะมีสีของเลเยอร์ก่อนหน้าที่ลงไปถูกดึงขึ้นมาผสมเสมอ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่เราชอบมาก ๆ”
พอเห็น Narsid เล่าถึงที่มาของสไตล์การทำงานของตัวเองอย่างตั้งใจแบบนี้ ก็สัมผัสได้ถึงแพสชันและความชอบที่เขามีต่อแนวทางการทำงานของตัวเองจริง ๆ จึงชวนให้เราอยากตั้งคำถามต่อไปอีกถึงที่มาของแรงบันดาลใจทั้งหมดว่า อะไรคือจุดเริ่มต้นทั้งหมดที่พาเขามาถึงวันนี้ ซึ่งเขาก็ตอบเราอย่างยินดีว่า “คงเป็นเพราะเราเติบโตขึ้นมาในครอบครัวมุสลิมล่ะมั้ง”
“เราคิดว่าเพราะเราเติบโตมาในครอบครัวมุสลิม เลยทำให้เราได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรม เรื่องเล่า ศิลปะ แนวคิด และความเชื่อที่แตกต่างจากเพื่อนไทยพุทธทั่วไป ซึ่งรากของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอิสลามมันก็ไปเชื่อมโยงกับฝั่งของคริสต์และยูดาย หรือจะเรียกรวม ๆ ว่ากลุ่มศาสนาอับราฮัมก็ได้ ทำให้เราได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมที่หลากหลายมากขึ้น”
“เรายังคิดต่อไปอีกว่า บางทีอาจจะเป็นเพราะวัฒนธรรมเหล่านี้หาดูไม่ได้ง่าย ๆ ในไทยเหมือนวัฒนธรรมทางฝั่งศาสนาพุทธ เลยทำให้เรายิ่งสนใจที่จะค้นคว้าและทดลองกับมัน อยากจะเข้าใจวัฒนธรรมทางสายตาทั้งหลายว่ามีที่มาอย่างไร สัญญะของเขาทำงานอย่างไร เลยเริ่มใช้ศิลปะในศาสนาและภาพจากปกรณัมต่าง ๆ มาเป็นตัวแทนในการเล่าเรื่องราวในงานของเรา”



Miʿrāj (2022)
งานชิ้นนี้เป็นงานที่เราดึงเรื่องราวจาก Islamic Mythology มาใช้ทำงาน โดยจะเป็นเหตุการณ์ตอนที่พระศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) เดินทางขึ้นสวรรค์บนหลังของบุร็อค (Buraq) เพื่อไปรับโองการจากพระเจ้าในยามค่ำคืน โดยเราเอามาตีความใหม่ ในเชิงที่ว่ามนุษย์ทั่วไปก็ได้เดินทางในแบบเดียวกันอยู่ทุกคืนในยามที่เราฝัน เป็นงาน paper-relief ที่เราได้สำรวจการเพ้นท์งานแบบ ‘Persian miniature’ หรือภาพขนาดเล็กที่มักทำเป็นภาพประกอบในหนังสือของเปอร์เซียมาเป็นแรงบันดาลใจ

Paradise (2023)
ผลงานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในผลงานที่จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการ Broken, thus Bloom ซึ่งทำหน้าที่เป็นอารัมภบทให้กับงานนี้ โดย Paradise ถูกสร้างขึ้นมาเป็น ‘Triptych’ หรือภาพที่มีบานพับเปิดดูเนื้อหาที่ซ่อนอยู่ด้านในได้ โดยเป็นการเล่าเปรียบเทียบสภาพจิตใจมนุษย์เป็นสวนสวรรค์ จิตสำนึกที่เราควบคุมได้ทำหน้าที่เป็นคนดูแลสวน ทั้งคอยรดน้ำ และเลือกสรรค์พันธุ์ไม้ใหม่ ๆ มาปลูก เปรียบเสมือนการที่คนเราสามารถเลือกสรรค์สิ่งต่าง ๆ ในชีวิตได้ว่าจะทำอะไร เป็นใคร คบกับใคร มีหน้าที่การงานทำอะไร และเมื่อสวนเจริญเติบโตกลายเป็นป่า สัตว์ต่าง ๆ ก็ย้ายเข้ามาอยู่อาศัย เปรียบเสมือนอุปนิสัยและอุดมคติของคนเรา ที่เกิดจากสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เราตัดสินใจในชีวิต โดยงานชิ้นนี้เราได้อิทธิพลอย่างมากจาก Persian Miniature และวัฒนธรรมการสร้างสวนของชาวเปอร์เซีย

Veneration of a Nameless Saint (2023)
ภาพนี้เป็นภาพดิจิตอลที่เพิ่งปล่อยออกมาในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เป็นงานที่เรายึดเนื้อร้องของเพลงประสานเสียงจากยุคกลางชื่อว่า ‘Kyrie’ โดยเนื้อร้องจะพูดขอวิงวอนให้พระผู้เป็นเจ้าเมตตาเรา ซึ่งเรารู้สึกเชื่อมโยงกับเพลงนี้ตรงที่มันทำให้เรารู้สึกเปราะบางแต่ก็ปลอดภัยและอบอุ่น หลังจากรู้ตัวว่ามีคนกำลังเมตตาเราอยู่ เราเลยพยายามกลั่นความรู้สึกนี้ออกมาผ่านสัญญะต่าง ๆ ผสมผสานทั้งงานเปอร์เซีย งานยุคกลาง และอาจจะมีปนความธิเบตเข้าไปเล็กน้อยด้วย โดยเป็นงานแรกที่เราพยายามเอาภาพของโน้ตดนตรีเข้ามาเล่นในงาน แล้วพบว่าเป็นองค์ประกอบที่น่าสนใจ น่าทดลองต่อในผลงานต่อ ๆ ไป
ภาพบรรยากาศบางส่วนในนิทรรศการ ‘Broken, thus Bloom’ ถ่ายโดย ดิษฐา สุเทพปนะทานวงศ์
ภาพบรรยากาศบางส่วนในนิทรรศการ ‘Broken, thus Bloom’ ถ่ายโดย ดิษฐา สุเทพปนะทานวงศ์
ภาพบรรยากาศบางส่วนในนิทรรศการ ‘Broken, thus Bloom’ ถ่ายโดย ดิษฐา สุเทพปนะทานวงศ์
ล่าสุดผลงานของ Narsid ก็ไม่ได้อยู่บนโลกออนไลน์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เขายังจัดนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของตัวเองในชื่อ ‘Broken, thus Bloom’ หรือ ‘ผิดพลาด จึงผลิบาน’ ขึ้นมาด้วย เราจึงขอให้เขาเล่าถึงนิทรรศการครั้งนี้ของตัวเองให้ฟังสักหน่อยว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร
Narsid กล่าว “สำหรับนิทรรศการ 'ผิดพลาด จึงผลิบาน' เกิดมาจากการที่เราพยายามทำความเข้าใจสภาวะบาดเจ็บภายในจิตใจและทำความเข้าใจกระบวนการจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง โดยนำเรื่องราวหรือการเดินทางของตัวเรามาเปลี่ยนให้เป็นนิทานหรือตำนานบางอย่าง และใช้สัญญะทางศาสนาและปกรณัมเป็นตัวดำเนินเรื่องผ่านภาพ โดยหลัก ๆ แล้วงานนี้จะพูดถึงสภาวะจิตใจของมนุษย์ที่ต้องผ่านเรื่องราวเลวร้าย บุบพังแตกสลาย แล้วจากนั้นจึงจะลุกขึ้นมาผลิบานได้อีกครั้ง เหมือนกับวงจรชีวิตของดอกบัว ซึ่งเป็นสัญญะประธานของตัวงาน”
“จริง ๆ แล้วงานนี้เราได้ใช้ทฤษฎีของ ‘Carl Gustav Jung’ มาใช้เป็นโครงสร้างหลักของงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้สัญญะต่าง ๆ ตามทฤษฎีเรื่อง ‘Archetypes’ ใน ‘Collective Unconscious’ ที่เคยกล่าวถึง หรือว่าเส้นเรื่องหลัก ที่ยึดหลักเรื่อง ‘Individuation Process’ ที่พูดถึงการยอมรับและผนวกตัวตนด้านต่าง ๆ ของจิตใจให้กลายเป็นหนึ่ง เพื่อที่เราจะได้กลายเป็น 'ปัจเจก' อย่างแท้จริง โดยในงานจะมีภาพจัดแสดงอยู่ทั้งหมด 11 ชิ้น เป็น Gouache painting on wooden frame ทั้งหมดหกชิ้น และภาพประกอบที่เป็นภาพพิมพ์ดิจิทัลอีกห้าชิ้น แต่ละรูปจะพูดถึงสภาวะหรือสภาพจิตใจต่าง ๆ ที่เราประสบพบเจอมานั่นเอง”
ถ้าใครสนใจในเรื่องราวของการใช้สัญญะทางศาสนาและอยากชมภาพผลงานที่เล่าเรื่องราวตำนานปรัมปราในแนวทางใหม่ ๆ ก็สามารถตามไปชมผลงานของ ‘Narsid’ กันได้ที่นิทรรศการ ‘Broken, thus Bloom’ หรือ ‘ผิดพลาด จึงผลิบาน’ ตั้งแต่วันนี้ - 28 มีนาคม 2567 ณ 1559 Space
หรือติดตามเขาได้ที่เพจ Narsid