ปีใหม่ ก็ได้เวลาของการตั้งเป้าหมายใหม่ (ที่ยกมาจากลิสต์เก่าของปีที่แล้ว) อีกครั้ง GroundControl จึของชวนพี่ ๆ น้อง ๆ รุ่นใหม่ ที่กำลังค่อย ๆ พบความมหัศจรรย์พันลึกของโลกศิลปะไทยในปัจจุบัน มาแชร์ความหวังของพวกเขาด้วยกัน (ถ้ายังพอมี)
ท่ามกลางความฝันอันยิ่งใหญ่ และวิสัยทัศน์ของหน่วยงานเอกชนยันระดับชาติที่ฟังแล้วหวังใจจะเจออนาคตดี ๆ รออยู่ข้างหน้า เสียงเหล่านี้อาจจะพอแสดงให้เห็นได้ว่าในโลกศิลปะที่กว้างไกล ยังมีโลกของคนทำงานศิลปะอีกหลาย ๆ ใบในนั้น ซึ่งหลายคนอาจจะไม่เคยสัมผัส และพวกเขาก็มีจินตนาการถึงอนาคตด้วยเหมือนกัน
ไม่รู้ว่าปี 2025 นี้โลกศิลปะจะเริ่มจัดสรรนโยบาย แผน โครงการ งบ ทุน อะไรกันหรือยัง แต่ว่าถึงจะอย่างไรก็คงไม่สายเกินไปถ้าจะลองฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ในโลกศิลปะดูบ้าง และถ้าใครมีอะไรในใจ ไม่ว่าจะเป็นฝันที่ดูงดงามเกินจริงแค่ไหน (หรือเรื่องจริงชวนหดหู่แค่ไหน) เราก็อยากชวยให้ลองส่งเสียงออกมา เพราะความฝันเหล่านั้นคงมีค่ามากขึ้นอีก สำหรับใครอีกหลายคนที่อาจผ่านมาได้ยิน
ชื่อ: ดานิช เสกสรรค์ (ชื่อเล่นก็ ดานิช เหมือนกัน)
อาชีพปัจจุบัน: Sales และ Project Manager, SAC Gallery
งานที่ผ่านมา: ART SG 2024, Singapore (Art Fair), Tokyo Gendai 2024, Yokohama, Japan (Art Fair), Sentimental Fission (Group exhibition at Bangkok Art and Culture Centre)
“หลังจากที่พื้นที่ศิลปะเคยซบเซา และปิดตัวไปหลายแห่งช่วงโควิด ในปัจจุบัน เราได้เห็นการค่อย ๆ ฟื้นตัวของวงการศิลปะไทย มีกิจการน้อยใหญ่ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลระบบนิเวศนี้ให้ได้เติบโตและแข็งแรงมากขึ้น
“ปีสองปีมานี้ก็เริ่มมีการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้นที่เข้ามาเกื้อหนุน ในสายตาของต่างชาติ ประเทศไทยตอนนี้เป็นพื้นที่ศิลปะที่มีศักยภาพสูงมากด้วยตัวแปรต่าง ๆ แต่สิ่งที่เราอยากเห็นมากขึ้นคือแรงผลักดันและการสนับสนุนแบบเป็นรูปธรรมและยั่งยืนจากทางรัฐ ที่ไม่ได้มุ่งหวังให้ศิลปะเป็นแค่ ‘Soft Power’ แต่คืออีกหนึ่งระบบนิเวศท่ามกลางระบบนิเวศอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ช่วยปลูกฝังความคิด การเรียนรู้ และการรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่ประชาชนในประเทศ และยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศอีกด้วย เช่นเมืองรอง หรือพื้นที่นอกจุดท่องเที่ยวหลัก
“เราดีใจที่ได้มีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่านในวงการศิลปะ และพวกเขากำลังทำงานหนักเพื่อเรียกร้องนโยบายและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่คนทำงานศิลปะ พื้นที่ศิลปะและนักจัดการศิลปะ ในความคิดเห็นของเรา หน้าที่ของพวกเราตอนนี้ที่สามารถลงมือทำได้เลยคือการผูกความสัมพันธ์ให้แน่นแฝ้น สร้างสหภาพแรงงานและโอกาสในการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนได้เห็นศักยภาพของวงการศิลปะไทย”
ชื่อ: สุระวิทย์ บุญจู (Surawit Boonjoo)
อาชีพปัจจุบัน: นักปฏิบัติการทางศิลปะ หนึ่งในทีมบรรณาธิการของ TheZeroBooks และทำงานเขียนบทความให้กับวารสารอาษาของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
งานที่ผ่านมา: โปรเจกเมเนเจอร์นิทรรศการ '3 เรื่องเล่าของบ้านวังหมา' โดย อารยา ราษฎร์จำเริญสุข และ 'A Primer for Forgetting' โดย นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ และ ลัทธพล ก่อเกียรติตระกูล ที่โนวา คอนเทมโพรารี, คิวเรเตอร์ นิทรรศการ 'Derivatives and integrals อนุพันธ์ และปริพันธ์' โดย กูKult ที่ Cartel Artspace, Artist assistant (Pratchaya Phinthong) นิทรรศการ นัยระนาบนอกอินซิทู : แปลงร่างอดีตในหลืบแห่งปัจจุบัน (IN SITU FROM OUTSIDE RECONFIGURING THE PAST IN BETWEEN THE PRESENT) ที่ National Museum Bangkok(Phranakorn), บรรณาธิการ jamais vu อีเแมกกาซีนภาพถ่ายที่จัดทำมาแล้วจำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ jamais vu 01, Point 0 (ธณัฐชัย บรรดาศักดิ์)/ jamais vu 02, order (จุติ กลีบบัว)/ jamais vu 03, man-made (วัชรนนท์ สินวราวัฒน์)
“อยากเห็นการขยายขอบเขตการทำงานข้ามศาสตร์สาขาองค์ความรู้อย่างหลากหลายต่อเนื่องเหมือนปีที่ผ่านมาและมากยิ่งขึ้น ๆ ไป และยังคงอยากให้เกิดการสร้างแรงขับเปิดผัสสะความท้าทายใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์และจัดการผลงานศิลปะที่อาจจะต่อยอดพัฒนาจากปฏับัติการที่น่าสนใจในช่วงปีที่ผ่านมาจากการนำผลงานศิลปะร่วมสมัยร่วมจัดแสดงกับโบราณวัตถุ จึงคงจะน่าสนใจไม่น้อยที่จะเห็นกระบวนการดังกล่าวถูกต่อยอดและส่งเสริมต่อไป”
“นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความเป็นไปได้อื่น ๆ ในหลากมิติหลายความหมายให้กับวัตถุจัดแสดงทั้งสองและศิลปินแล้ว ก็ยังเชื้อเชิญให้ผู้ชมได้สัมผัสกับประสบการณ์การชมและขบคิดที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ท้ายที่สุดนี้ก็อยากให้พวกเราเองพยายามเปิดรับและทำความเข้าใจวัฒนธรรมการชมผลงานของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่พวกเขาได้พัฒนาการเสพชมผลงานในวิธีการซึ่งเคลื่อนไปไกลมากยิ่งขึ้น และเมื่อที่เราเข้าใจต่อพฤติกรรมการอ่านผลงานเหล่านั้นของพวกเขาได้แล้ว เราก็จะสามารถส่งต่อข้อความหรือชุดความคิดของนิทรรศการหรือกิจกรรมทางศิลปะได้อย่างมีประสิทธิพลและละมุนละม่อม
ชื่อ: ภคนัน จิรธนาธร ชื่อเล่น ไอซ์ซี่ Pakanuat Jirathanatron (Iczxy)
อาชีพปัจจุบัน: ผู้นำชมของ Bangkok Art Biennale 2024 ที่วัดโพธิ์ และ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และ อาชีพอิสระ
ผลงานที่ผ่านมา: ผู้นำชมที่ BBK Art Biennale 2018 - 2022, Project Coordinator ที่ Street Star Gallery 2023 - 2024, ผู้จัดนิทรรศการ Air in the Air : Group Exhibition @Catneep Gallery 2024
“จากการทำงานในวงการศิลปะมาจนถึงทุกวันนี้ ยอมรับว่าศิลปะไทยมีความสามารถมากในเรื่องของการทำงานที่หลากหลาย และสามารถก้าวข้ามสิ่งเดิม ๆ ที่เคยทำอยู่ ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
“ศิลปะในตอนนี้มักเน้นที่ความเข้าถึงง่าย ตัวละครที่มีความชัดเจน และเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน เช่น Arttoy, Character Art เป็นต้น โดยประเทศไทยตอนนี้เข้าสู่ยุค Pop Culture ที่ศิลปินเริ่มมีผลงานในสื่อและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งทำให้ศิลปะเข้าถึงผู้คนในทุก ๆ มุมมอง
“แต่ปัญหาที่พบคือคนเริ่มเก็บงานน้อยลงและมีนักสะสมคนเดิม ๆ รวมไปถึงศิลปินที่เคยซื้อสนับสนุนกันเอง เนื่องจากเศรษฐกิจที่ซบเซา และจำนวนศิลปินที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ศิลปินบางคนไม่สามารถทำงานศิลปะเป็นอาชีพหลัก (Full-time Artist) หรือบางครั้งอาจต้องล้มเลิกไป หรือไม่ก็ต้องพยายามผลักดันงานของตัวเองไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน สิงคโปร์ หรือจีน ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถทำตรงนี้ได้ง่าย
“ส่วนตัวคิดว่า เราควรทำให้ผลงานศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่ทุกคนสามารถใช้ชีวิตอยู่กับมันได้ โดยไม่จำกัดแค่การมองผลงานในแง่เดียว หรือ การรับรู้ในแค่ด้านเดียว การทำให้ศิลปะเข้าถึงง่ายและเข้าใจได้ง่าย จะช่วยให้ศิลปินไทยมีโอกาสเติบโตมากขึ้น และหากเราสามารถทำให้ศิลปะไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นในต่างประเทศ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดและเพิ่มจำนวนผู้สะสมงานศิลปะจากต่างประเทศ”
ชื่อ: ฟ้ามุ่ย - พิมผกาพร พรเพ็ง
อาชีพปัจจุบัน: ภัณฑารักษ์อิสระ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานรับจ้างทั่วไป คุณแม่ยังสาวของน้องปรีดี งานที่ผ่านมา: ปี 2567 ได้ลองทำงานภัณฑารักษ์รับเชิญในนิทรรศการสืบสายธาร (The Ancestors) ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม, พนักงานรับจ้างทั่วไปในนิทรรศการน้ำจะท่วมฟ้า ปลาจะกินดาว (when floods high as skies, fish feast on the stars), ลูกจ้างชั่วคราวที่ SUPERNORMAL STUDIO, ก่อนหน้านี้เป็นแรงงานต่างชาติในไต้หวันตั้งแต่ปี 2565-2567 ชื่นชอบการได้ขโมยผักหญ้าข้างทางมาทำแกงอ่อมเป็นพิเศษ เพราะต้องเอาเงินที่หามาได้ซื้อเปียกๆ ส่งกลับมาให้ลูกที่ไทย
“เราเองเป็นหนึ่งคนที่ทำงานเป็นฟันเฟืองในวงการศิลปะไทยได้แม้จะไม่นานนัก แต่สัมผัสได้ถึงความทุ่มเททั้งเวลาและชีวิตของคนในวงการศิลปะ เรามองเห็นและรู้สึกนับถือมาโดยตลอดไม่ว่าคนเหล่านั้นจะทำงานในตำแหน่งไหน การได้มองเห็นคนที่มีประกายไฟในตาตัวเองตอนที่เค้ากำลังอธิบายถึงตัวตนของเค้าให้เราฟังมันเป็นสิ่งที่น่าหลงใหลมาก ๆ ในขณะเดียวกันเราก็เข้าใจเป็นอย่างดีกว่าแพชชันพวกนั้นแลกมาด้วยอะไรบ้างเพื่อให้ทุกคนมายืนอยู่ในที่ที่ทุกคนอยากยืนได้
“ในอนาคต เราอยากส่งต่อวงการศิลปะที่เอื้อให้เกิดระบบนิเวศทางศิลปะที่แข็งแรงทั้งในแง่แนวคิด วิธีการทำงาน และปฏิบัติการเฉพาะด้านต่าง ๆ ที่ไม่ได้หมายถึงแค่ศิลปิน หรือภัณฑารักษ์ แต่ยังรวมไปถึงความถนัดด้านอื่น ๆ ในโลกของการทำงานด้วย
“เราเองก็กำลังเรียนรู้และมีสิ่งที่คาดหวังอยากให้โลกศิลปะไปต่อข้างหน้าได้ มันคือการให้ความสำคัญกับทุกหน้าที่ในงานแต่ละส่วน การให้ความสำคัญมันจะนำมาซึ่งการให้เกียรติตัวเองและผู้อื่น เกิดการเคารพในตัวเองและผู้อื่น เราคิดว่าสิ่งนี้น่าจะดีกับระบบนิเวศมาก ๆ เพราะสำหรับเรา การทำงานศิลปะมันคือการทำงานเป็นทีม เราไม่มีทางทำงานได้เลยถ้าไม่มีคนอีกหลาย ๆ คนเข้ามาช่วยขับเคลื่อน
“แล้วเราก็รู้สึกว่าทุกหน้าที่มีความถนัดเฉพาะ และการมีทีมที่ทุกคนใส่ใจหน้าที่ของตัวเองก็ทำให้งานที่ทำอยู่สนุกมากขึ้น ฝันเล็กๆ ว่าวันนึงอยากได้ไปฟังทัวร์พิเศษ จากนักติดตั้งงานศิลปะที่ติดตั้งนิทรรศการ หรือพี่การเงินที่ทำใบเสร็จนิทรรศการนั้น ๆ อะไรแบบนี้
“เราเชื่อว่าโลกศิลปะเป็นที่ที่พิเศษสำหรับทุกคนและมันก็บรรจุคนพิเศษเอาไว้มากมายเหมือนกัน”
ชื่อ: วสุ ศิริวานิช (เหมือง)
อาชีพปัจจุบัน: รับจ้างทั่วไป
งานที่ผ่านมา: Creative Content ที่ Exotic Quixotic, Clueless (2023) Video Performance Art จัดแสดงในนิทรรศการกลุ่ม ‘ไทยแทร่‘ โดย 3 nai 4 ใน Bangkok Design Week 2024, นำชมชิ้นงานศิลปะ Public Tour ใน Bangkok Art Biennale 2024 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
"ในฐานะคนทำงานศิลปะตัวเล็ก ๆ เราอยากเห็นวงการศิลปะไทยให้ความเคารพในคุณค่า (respect value) และมีความเข้าใจ (empathy) ต่อคนทำงานศิลปะมากกว่านี้ ไม่ว่าจะในทางปฏิบัติ หรือใด ๆ ก็ตาม เพราะมาไกลกว่ายุคที่ศิลปินเป็นคนสร้างทุกอย่างด้วยมือตัวเองคนเดียวแล้ว และทุกวันนี้เราไม่ได้ทำงานกันคนเดียว แต่ยังมีคนอีกมากที่มาเพื่อเป็นคนผลักดันให้กับคุณ ไม่ว่าจะคิวเรเตอร์ คนติดตั้งงาน หรือแม้แต่ด่านหน้าสุดอย่างผู้นำชมนิทรรศการ แม่บ้าน รปภ. และ Gallery Sitter ผลงานศิลปะอาจเป็นตัวแทนที่เล่าเรื่อง และส่งต่อความคิดของสังคมวัฒนธรรมในช่วงหนึ่งของมนุษย์ด้วยฝีมือของศิลปิน แต่อย่าลืมว่าคน หรือ มนุษย์เหล่านี้ก็เป็นกำลังสำคัญที่ผลักดันให้คุณได้ออกสู่สายตาสาธารณชน รวมถึงดูแล ปกป้อง ส่งต่อเรื่องราว และให้ความรู้กับคนทั่วไปด้วย สำหรับเราแล้ว คนทำงานศิลปะก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าศิลปิน จนเหมือนจะเป็นตัวแทนของศิลปินแบบกลาย ๆ หากไม่มีศิลปิน หรือคนสร้างสรรค์ โลกก็คงจะน่าเบื่อไม่น้อย แต่หากไม่มีคนทำงาน ศิลปิน และคนสร้างสรรค์ก็อาจไม่มีโอกาสได้ส่งต่อเรื่องราวของตัวเองสู่สังคมด้วยเช่นกัน"
ชื่อ: ณัฐสินี ภาณุพิพัฒน์พล (มิลค์) Nutsinee Phanupipatpon
อาชีพปัจจุบัน: Freelance ด้านงานเขียนและงานโปรดักชั่น
งานที่ผ่านมา: ประสานงานและดูแลโครงการ BACC pop·up และดูแล Galerie Monument
"คาดหวังให้มีอะไรสนุก ๆ มากยิ่งขึ้น ได้เห็นงานใหม่ ๆ ที่สร้างบทสนทนากับคนได้หลากหลายและเป็นวงกว้าง ผู้ชมไปดูงานแบบไม่จำเจไม่เฉพาะงานแมสๆ อยากให้ทุกคนในระบบนิเวศศิลปะมีโอกาสในการทำหน้าที่ของตัวเองมากขึ้น รวมถึงประชาชนทั่วไปก็มีโอกาสได้ดูงานศิลปะดี ๆ และใกล้ตัวขึ้น"