Niki de Saint Phalle ศิลปินผู้สร้างสวนแห่งความเป็นหญิงเพื่อผู้แสวงหาความสุขในโลกของผู้หญิง

Art
Post on 24 October

ท่ามกลางแมกไม้สีเขียวในเมืองทัสคานี ประเทศอิตาลี กลับปรากฏสิ่งก่อสร้างสีสันสดใสที่พุ่งยอดแหลมสะดุดตาเหนือยอดไม้ขึ้นมา สร้างทั้งความแปลกตาและแปลกใจให้กับผู้พบเห็นและคนแปลกหน้าของพื้นที่ แต่สำหรับชาวท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่รกร้างซึ่งในอดีตเคยเป็นแหล่งอารยธรรมอิทรัสคันแห่งนี้ พวกเขาคุ้นเคยกับภาพนั้นดี และรู้กันดีกว่าในป่าชัฏข้างในนั้นคือที่ตั้งของ Il Giardino dei Tarocchi หรือ Tarot Garden สวนประติมากรรมของ นิกิ เดอ แซงต์ ฟาลล์ (Niki de Saint Phalle) ประติมากรหญิงคนดังแห่งยุค 19802 ที่ได้พลิกพื้นที่กลางธรรมชาติ 14 เอเคอร์แห่งนี้ให้กลายเป็นสวนที่ประดับประดาไปด้วยงานประติมากรรมสุดเซอร์เรียลกว่า 20 ชิ้น และเปิดให้คนเข้าเยี่ยมชมมาตั้งแต่ปี 1998

เนื่องในโอกาสที่วันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมาคือวันคล้ายวันเกิดของศิลปินหญิงผู้นำเสนอความกราดเกรี้ยวของสตรีเพศที่เคลือบสีสันอันสดใส หรือที่เธอเรียกว่า ‘Joyful Feminism’ เราจึงอยากชวนทุกคนมารู้จักผลงานและชีวิตของเธอมากขึ้น

นิกิ เดอ แซงต์ ฟาลล์ คือศิลปินหญิงลูกครึ่งฝรั่งเศส-อเมริกัน ที่ได้ชื่อว่าเป็นประติมากรหญิงที่มีชื่อเสียงสูงสุดของยุค และเป็นศิลปินหญิงเพียงคนเดียวในกลุ่ม Nouveau Réalisme ขบวนการศิลปะที่ก่อตั้งขึ้นในฝรั่งเศสในปี 1960 โดยนักวิจารณ์ศิลปะ ปิแอร์ เรสทานี (Pierre Restany) และกลุ่มศิลปิน เช่น อีฟส์ ไคลน์ (Yves Klein), อาร์มาน (Arman), ฌอง ติงเกอลี (Jean Tinguely) และ นิกิ เดอ แซงต์ ฟาลล์ โดยมุ่งมั่นที่จะนำใช้วัตถุที่พบในชีวิตประจำวันหรือวัสดุอุตสาหกรรม มาทำงานศิลปะที่ท้าทายรูปแบบศิลปะแบบดั้งเดิม และนำเสนอภาพของสังคมบริโภคแห่งวัฒนธรรมสมัยใหม่ เชื่อมโยงศิลปะกับชีวิต สะท้อนความเป็นจริงของสังคมหลังสงครามที่เต็มไปด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้า

ผลงานของเธอได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์บาดแผลและความทรงจำอันแสนเศร้าในวัยเด็ก โดยเธอถูกพ่อแท้ ๆ ล่วงละเมิดทางเพศเมื่ออายุได้เพียง 11 ปี และเมื่ออายุ 22 ปี เธอก็ถูกส่งเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลจิตเวชที่เมืองนีซ ที่ซึ่งเธอได้รับการรักษาด้วยการช็อตไฟฟ้า จนส่งผลต่อต่อความทรงจำของเธอ

ด้วยคำแนะนำจากจิตแพทย์ เดอ แซงต์ ฟาลล์จึงเริ่มต้นใช้ศิลปะในการช่วยเยียวยารักษาจิตใจ กระทั่งเธอตกหลุมรักและทุ่มเทให้กับศิลปะแบบสุดตัว ซึ่งศิลปะก็ช่วยทำให้เธอสามารถเปลี่ยนความเจ็บปวดในอดีตให้เป็นงานสร้างสรรค์ได้ รวมทั้งยังช่วยให้เธอเติบโตขึ้นเป็นหญิงสาวที่มีความมั่นใจและกล้าที่จะขบถต่อขนบทั้งทางศิลปะและสังคม

มุมมองทางสตรีนิยมของนิกิ เดอ แซงต์ ฟาลล์ ถูกถักทออย่างลึกซึ้งเข้ากับงานศิลปะของเธอ โดยสะท้อนผ่านธีม เทคนิค และผลงานที่ท้าทายบรรทัดฐานของสังคมและเฉลิมฉลองความเป็นหญิง ผ่านผลงานเหล่านี้

Nanas

Nanas

Nanas ประติมากรรมรูปหญิงสาวอวบอัดที่เต็มไปด้วยสีสันสดใสที่เดอ แซงต์ ฟาลล์สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของผู้หญิง พวกเธอเป็นดังตัวแทนของเดอ แซงต์ ฟาลล์ในการเฉลิมฉลองร่างกายของผู้หญิงที่ไม่เป็นตามอุดมคติของสังคม ปลดแอกมุมมองผู้หญิงที่เคยเป็นเพียงผู้ถูกจ้องมอง หรือถูกทำให้เป็นวัตถุทางเพศ เธอได้ปลดปล่อยร่างกายของผู้หญิงออกจากมาตรฐานความงามทั่วไปผ่านการนำเสนอภาพสาวอวบอ้วนผู้มีความสุข นำเสนอผู้หญิงที่มีตัวตนและชีวิต มากกว่าจะเป็นแค่วัตถุ

 Tirs (Shooting Paintings)

Tirs (Shooting Paintings)

 Tirs (Shooting Paintings)

Tirs (Shooting Paintings)

ใน Tirs (Shooting Paintings) ผลงานที่เป็นจุดเริ่มต้นที่เปิดที่ทางของเธอในแวดวงศิลปะ เดอ แซงต์ ฟาลล์พาคนดูไปประจัญหน้ากับอุดมการณ์ปิตาธิปไตยมาผ่านศิลปะผสมการแสดงสด ที่เธอจะใช้ไรเฟิลบรรจุลูกสี หรือบางทีก็เป็นมะเขือเทศ แล้วยิงไปที่ปูนปลาสเตอร์ที่ปั้นเป็นรูปสิ่งของซึ่งแสดงถึงความรุนแรงในบ้านที่เธอได้รับในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นมีด กรรไกร ที่ตอกไข่ หรือแขนของตุ๊กตา รวมไปถึงงานประติมากรรมที่เธอมักจะปั้นรูปผู้หญิง งู ปีศาจในจินตนาการ ซึ่งเธอดึงแรงบันดาลใจมาจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานอัศวินและจินตนาการที่เธอหลงใหลในวัยเด็ก

การทำลายล้างนี้ไม่เพียงเป็นการวิจารณ์เท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างสรรค์ แสดงถึงความต้องการของเธอที่จะทำลายโครงสร้างที่กดขี่ และชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างเหล่านั้น

นอกเหนือไปจากการวิพากษ์สังคมชายเป็นใหญ่แบบดุดัน เดอ แซงต์ ฟาลล์ ยังนำเสนอความสุขและความร่าเริงเข้ากับมุมมองสตรีนิยมของเธอ ซึ่งแตกต่างจากโทนที่เคร่งขรึมในงานศิลปะสตรีนิยมของยุคนั้น เธอเชื่อในการสร้าง ‘โลกใหม่แห่งความสุข’ ที่ผู้หญิงจะได้เติบโต และความเป็นหญิงได้รับการเฉลิมฉลอง ผลงานศิลปะของเธอสะท้อนปรัชญานี้ผ่านรูปทรงที่สนุกสนานและสีสันสดใส เชิญชวนผู้ชมให้เข้ามามีส่วนร่วมกับธีมเรื่องความเป็นหญิงในแง่มุมบวก ซึ่งนั่นก็นำมาสู่การสร้าง ‘พื้นที่’ ในแบบของเธอ เพื่อให้ผู้ชมได้เข้ามารับประสบการณ์การเชื่อมต่อกับความเป็นหญิงในแง่มุมที่ทรงพลังเหล่านั้น

ในปี 1979 เดอ แซงต์ ฟาลล์ได้ซื้อที่ 14 เอเคอร์จากเพื่อนสนิทของเธอ ด้วยแรงบันดาลใจที่ได้มาจากสวน Park Güell ของศิลปินผู้นำเสนอสสถาปัตยกรรมรูปทรงธรรมชาติอย่าง อันโตนิโอ เกาดี ในบาร์เซโลนา เดอ แซงต์ ฟาลล์ตั้งใจที่จะสร้างสวนที่จะเป็นดังบทสนทนาระหว่างงานประติมากรรมกับธรรมชาติ และเป็นที่ที่ผู้คนสามารถ ‘ฝัน’ ได้

Il Giardino dei Tarocchi หรือ Tarot Garden ใช้เวลาเกือบ 20 ปีในการสร้างจึงแล้วเสร็จ สวนถูกประดับประดาด้วยงานประติมากรรม 22 ชิ้นที่ถ่ายทอดแคแรกเตอร์ของไพ่ทาโรต์ ทั้งหมดถูกถ่ายทอดผ่านเอกลักษณ์ในงานของ เดอ แซงต์ ฟาลล์ ไม่ว่าจะเป็นสีสันแสนสดใส การประดับกระจก และรูปทรงที่ดูไม่สมมมาตรซึ่งทำให้งานของเธอดูมีชีวิตในโลกเหนือจริงของมันเอง

หลัง Il Giardino dei Tarocchi เปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้เพียงสี่ปี เดอ แซงต์ ฟาลล์ก็เสียชีวิตลงในปี 2002 ทิ้งสวนแห่งจินตนาการนี้ไว้ให้ผู้คนได้เข้ามาใช้เวลาในโลกแห่งความฝัน ดังที่เธอเคยกล่าวว่า “การสร้างสถานที่ที่ผู้คนสามารถมาเยือนและมีความสุขได้ นั่นคือโชคชะตาของฉัน”

อ้างอิง
Life & Work - Niki Charitable Art Foundation. Niki Charitable Art Foundation. Published May 31, 2022. https://nikidesaintphalle.org/niki-de-saint-phalle/biography/#1960-1964