บทสนทนาระหว่างคนทำหนัง ดีคา โอโฟมา (Dika Ofoma) และคิวเรเตอร์ อินโนเซนต์ เอเคจียูบา (Innocent Ekejiuba) ว่าด้วยภาพยนตร์ของโอโฟมาเรื่อง ‘วันจันทร์อันเงียบงัน’ ซึ่งเผยโฉมหน้าแห่งการใช้ชีวิตในประเทศไนจีเรีย และสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลสร้างหลุมอากาศที่ทำให้ความรุนแรงลุกลามไปเรื่อย
โดย ดีคา โอโฟมา (Dika Ofoma) และ อินโนเซนต์ เอเคจียูบา (Innocent Ekejiuba)
อินโนเซนต์ เอเคจียูบา / IE: ดิกา เรามาคุยกันครั้งนี้ภายใต้บริบทของโปรแกรมการฉายหนังของ Protocinema เกี่ยวข้องกับผลงานศิลปะที่กล่าวถึงสภาพการณ์การกดขี่ที่เกิดขึ้นบนโลก โปรแกรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาสภาพการณ์เหล่านี้และคิดไปไกลกว่าสิ่งที่มันเสนอมาเอง และมันยังเกี่ยวข้องกับการวางผังและวาดภาพสถานการณ์บางอย่างเหล่านี้ และอีกทางหนึ่ง ก็สร้างความเชื่อมโยงข้ามสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นที่มาของผลงาน: จากกัมพูชาไปยังอินเดีย ผ่านปาเลสไตน์ อิรัก และไนจีเรีย ภาพยนตร์ของคุณเรื่อง ‘วันจันทร์อันเงียบงัน’ (A Quiet Monday) ก็อยู่ในโปรแกรมนี้ ช่วยเล่าให้เราฟังหน่อยได้ไหมว่าภายใต้สถานการณ์ใด จึงทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้นมา
ดีคา โอโฟมา / DO: ผมอาศัยอยู่ในเมืองเอนูกู ประเทศไนจีเรีย วันที่ 30 พฤษภาคม ปี 2021 เราได้เผชิญหน้ากับประสบการณ์การถูกสั่งให้กักตัวอยู่บ้าน (sit-at-home order) ครั้งแรกโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดน IPOB [1] ซึ่งคำสั่งนี้เกิดขึ้นมาเพื่อรำลึกถึงบิอาฟรา (Biafra รัฐที่ประกาศแบ่งแยกดินแดนจากไนจีเรียในช่วงปี 1967 - 1970 ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวอีโบ) และสงครามกลางเมืองของไนจีเรีย (1967-1970) ย้อนกลับไปในวันศุกร์นั้น ผมวางแผนจะไปชมคอนเสิร์ตวงแนวไฮไลฟ์ที่ชื่อ The Cavemen แต่ IPOB กลุ่มผู้ก่อการแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ได้ออกคำสั่งห้ามออกจากบ้าน และคำสั่งนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของคำสั่งให้อยู่บ้าน (sit-at-home order) ภายหลังจากผู้นำของพวกเขาถูกจับกุม กลุ่ม IPOB ประกาศว่าคำสั่งให้อยู่แต่ในบ้านจะถูกบังคับใช้ทุกวันจันทร์ ดังนั้นทุกวันจันทร์ จะไม่มีใครไปโรงเรียน ไม่มีใครออกไปทำธุรกิจ ทุกคนอยู่บ้าน และมันก็ให้ความรู้สึกเหมือนกับเรื่องตลก มันรู้สึกเหมือนเป็นเรื่องขำ ๆ ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น เมื่อวันจันทร์แรกมาถึง ไม่มีใครถือคำสั่งนั้นเป็นเรื่องจริงจัง แต่เราได้ยินข่าวจากโรงเรียน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่เหล่านักเรียนถูกเฆี่ยนตีเพราะพวกเขาออกไปโรงเรียน ร้านค้าถูกเผาและปล้นเพราะพวกเขาเปิดร้านในวันจันทร์ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงจัง และรัฐบาลก็ไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง เราคิดว่ามันเป็นแค่สถานกาณ์ชั่วคราว แต่มันก็ยังดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ กระทั่งประมาณช่วงเทศกาลคริสต์มาส สถานการณ์นั้นก็เหมือนจะหยุดลง มันเป็นวันคริสต์มาสปี 2021 ผู้คนเริ่มออกไปข้างนอกอีกครั้ง แต่แล้วผมก็จำได้ว่าในวันจันทร์แรกหลังจากวันขึ้นปีใหม่ในเอนูกู ผมออกจากบ้านเพราะมีงานที่ผมจะไปสัมภาษณ์ แล้วอยู่ดี ๆ ก็เกิดความวุ่นวายในเมือง และเหมือนกับว่า IPOB ได้เข้าไปคุมพื้นที่ทั่วเมืองพร้อมกับยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อทำให้ผู้คนหวาดกลัว แล้วในวันจันทร์ถัดไป ทุกคนก็อยู่แต่ในบ้าน และมันก็ยังเป็นอย่างนั้นต่อไปจนถึงทุกวันนี้ รัฐบาลมีความพยายามบางอย่างในการสร้างความมั่นใจเพื่อชักชวนให้กับพลเมืองออกจากบ้านในวันจันทร์ ตอนนี้โรงเรียนและธนาคารทยอยกลับมาเปิดให้บริการในวันจันทร์แล้ว แต่เอนูกูยังคงให้ความรู้สึกเหมือนเมืองร้างในวันจันทร์ การใช้ชีวิตภายใต้ประสบการณ์พวกนี้ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเรื่องราวนี้
IE: มันดูตลกร้ายอยู่นะถ้าลองคิดว่ากลุ่ม IPOB น่าจะฆ่าชาวอีโบ (Igbo กลุ่มชาติพันธุ์ในไนจีเรีย) มากกว่าใครอีก แม้ว่าพวกเขาจะอ้างว่ากำลังสู้เพื่อเสรีภาพของรัฐอีโบและการสถาปนารัฐบีอาฟรา ผู้คนที่พวกเขาอ้างว่ากำลังต่อสู้ให้อยู่ กลับเป็นคนที่พวกเขาทำร้ายมากที่สุด ผมพยายามพูดคุยกับผู้ที่สนับสนุนปฏิบัติการของ IPOB หรือคนในองค์กร IPOB ซึ่งบางครั้งก็พยายามสำเร็จ และผมรู้ว่ามีนักเขียนและนักข่าวหลายคนพยายามจะสร้างบทสนทนากับพวกเขาด้วย แต่ก็ประสบความสำเร็จมากน้อยแตกต่างกัน ผมรู้ว่ามันยากขนาดไหน ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนนี้ส่งผลต่อการสร้างภาพยนตร์และการเผยแพร่มันอย่างไรบ้าง
DO: ผมต้องเจอกับความท้าทายอย่างมากในการแคสต์บท คาลิสตัส (Calistus) พอผมไปทาบทามนักแสดงและอธิบายเนื้อเรื่องให้พวกเขาฟัง พวกก็เขามักจะปฏิเสธ ความรู้สึกต่อต้านนี้เกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่าเหล่าเด็กหนุ่มมักจะถูกเล็งเป้าโดยกลุ่มคนที่หนังพูดถึง แม้ว่าเจตนาของผมจะไม่ได้เป็นเรื่องการเมืองโดยตรง แต่ภาพยนตร์ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ IPOB บ้าง อย่างไรก็ตาม จุดสนใจหลักของผมคือการนำเสนอความเป็นจริงของสถานการณ์ผ่านสายตาของคนธรรมดา ๆ อย่าง คามโนนู (Kamnonu) และน้องชายของเธอ อ็อกบอนนา (Ogbonna) แต่ผมไม่คาดคิดว่าจะต้องเจอนักแสดงถึงสามหรือสี่คนที่ปฏิเสธบทบาทคาลิสตัสทั้งหมด สุดท้ายคนที่รับบทเป็นคาลิสตัสก็คือเพื่อนของผม ครั้งแรกที่ผมไปหาเขา เขาก็ปฏิเสธ แต่หลังจากที่นักแสดงประมาณสี่คนไม่ยอมเล่นบทนี้ ผมก็กลับไปหาเขาอีกครั้ง เขาเป็นเพื่อนของผม ผมเลยพยายามคุยกับเขา เขาไม่ใช่นักแสดงมืออาชีพ เขาเป็นเด็กสายเทคฯ ที่ผมดึงมาเล่นหนังเรื่องนี้ พวกนักแสดงก็ไม่ยอมเล่นบทอ็อกบอนนาเหมือนกัน ไม่ใช่แค่บทคาลิสตัส คือว่า อูโซมาคา (Uzoamaka) ก็ตื่นเต้นที่จะรับบทเป็นคามโนนู เธอชอบตัวละครนั้น แต่บทตัวละครนำชายนั้นแคสต์ยากมาก นอกจากนี้ แค่ก่อนที่เราจะเริ่มถ่ายทำ A Quiet Monday พวกผู้กำกับภาพที่เราชวนมาร่วมงานด้วยก็เพิ่งไปถ่ายอีกงานกันที่รัฐอื่นของอิโมะ พวกเขาถ่ายงานกันในวันจันทร์ และ IPOB ก็ไปโจมตีพวกเขา ดังนั้นเขาเลยมีอาการสะเทือนขวัญจากประสบการณ์นั้น เมื่อเราติดต่อเขาไป เขาก็บอกว่าเขาไม่สนใจที่จะถ่ายทำในเอนูกูหรือที่ใดก็ตามในภาคตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากข้อกังวลด้านความปลอดภัย เรื่องนี้ก็ทำให้พวกเราหวาดกลัวด้วยเช่นกัน ดังนั้นในช่วงเวลาหนึ่ง เราจึงคิดถึงการไปถ่ายทำที่ลากอสแทน ทำให้การถ่ายทำล่าช้าออกไปจากเดือนพฤศจิกายน 2022 จนถึงเดือนมกราคม 2023 ซึ่งในที่สุดเราก็ได้ถ่ายทำที่เอนูกู แต่มันก็ต้องฝ่าฟันใช้ได้เลยเพื่อหาคนมาร่วมทีมสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้
IE: คุณคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสร้างงานการเมืองโดยไม่ต้องตรงไปตรงมาจนเกินไป
DO: คุณพูดถูกแล้ว และผมต้องการการถ่ายทอดมันไม่ใช่การเทศนาสั่งสอนตรง ๆ แม้ว่า A Quiet Monday จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองบ้าง แต่จุดมุ่งหมายหลักคือการพาผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมในแง่อารมณ์ความรู้สึกกับเรื่องราวของพี่น้องพวกนี้ที่ต้องใช้ชีวิตแต่ละวันด้วยความท้าทายจากคำสั่งนั้น ดังนั้น ใช่เลยว่าโดยแก่นแท้แล้วมันเป็นเรื่องราวทางการเมือง แต่จุดสำคัญของมันคือการสร้างความเชื่อมโยงกับผู้ชมในแง่อารมณ์ความรู้สึกของการใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความกลัวและการควบคุมของคนกลุ่มนั้น
IE: คนไนจีเรียมองภาพยนตร์เป็นสื่อบันเทิงรูปแบบหนึ่งเป็นหลัก ซึ่งก็สะท้อนอิทธิพลของนอลลีวูด (Nollywood) และนำไปสู่ความสำเร็จทางรายได้ของอุตสาหกรรมนี้ [2] ด้วยเหตุนี้ คนทำหนังไนจีเรียจำนวนมากจึงมีแนวทางในการสร้างภาพยนตร์อยู่สองแนวทาง คือถ้าไม่สร้างภาพยนตร์เพื่อความบันเทิงอย่างเดียว ก็ทำสารคดีจริงจังเจาะลึกประเด็นใดประเด็นหนึ่ง แต่คุณกลับมีวิธีการเล่าเรื่องที่แตกต่างออกไปอยู่ บางทีอาจเป็นเพราะคุณดูละครน้ำเน่ามากในวัยเด็ก เลยได้องค์ประกอบของการเล่าเรื่องต่าง ๆ มาถักทออยู่ในหนังของคุณ คุณตั้งใจใช้กลวิธีการเล่าเรื่องเป็นหนทางที่จะนำเสนอสถานการณ์ทางสังคมการเมืองที่แหลมคมให้มันง่ายแก่การเข้าถึงหรือไม่
DO: ผมได้รู้จักกับศาสตร์แห่งการเล่าเรื่องแรก ๆ ก็มาจากประสบการณ์การอ่านนิยายแอฟริกัน ซึ่งแม้ว่าพวกมันจะทำหน้าที่ให้ความบันเทิง แต่ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์สังคมไปด้วย บางเรื่องก็มีพื้นหลังทางการเมือง ซึ่งยิ่งทำให้เรื่องราวนั้นน่าสนใจและน่าติดตามมากขึ้นไปอีก หนึ่งในคนทำหนังแอฟริกันที่ผมได้ศึกษาอย่างจริงจังเมื่อผมหันมาสนใจการเล่าเรื่องคือ อุสมาน ซ็องบ็อง (Ousmane Sembène) หนังของเขาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและผู้นำของเซเนกัล จนถึงขั้นโดนแบนในบางที่ การปิดกั้นของรัฐบาลเซเนกัลต่อภาพยนตร์เหล่านี้ตอกย้ำให้เห็นพลังของการเล่าเรื่อง ในการสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ประชาชน และนี่คือความตระหนักรู้ประเภทที่จะเกิดเมื่อเราสะท้อนสิ่งต่าง ๆ กลับไปสู่ผู้คน บางครั้งก็เป็นสิ่งที่เรามองข้ามมาก่อน เมื่อเราได้ยินเรื่องราว พวเขามักจะรู้สึกถึงระยะห่างกับมัน เหมือนกับข่าวหน้าหนึ่งที่เกิดขึ้นอยู่กลางวันยุ่ง ๆ ยาก ๆ ของเรา ประเด็นอย่างการอยู่บ้านตามคำสั่งของ IPOB อาจดูเหมือนแค่เรื่องยุ่งยากเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่หนังทำได้นั้นน่าประทับใจมาก มันคือสะพานเชื่อมข้ามช่องว่างระหว่างเราและประสบการณ์เหล่านั้น และฟูมฟักความเห็นอกเห็นใจ ความสามารถในการเข้าใจและแบ่งปันความรู้สึกของผู้อื่นเป็นแรงที่ทรงพลังอย่างยิ่งในการทำกิจกรรมเคลื่อนไหว หัวหอกนักกิจกรรมจำนวนมากก็ไม่ได้โดนผลกระทบโดยตรงจากปัญหาที่พวกเขาเรียกร้อง แต่ว่านั่นแหละ สิ่งที่หนังทำได้ “ความเห็นอกเห็นใจ”
IE: บางครั้งความเห็นอกเห็นใจก็คือเพียงแค่การหาภาษาที่เหมาะสม ในการสื่อสารผลงานของคุณ และการทำให้แน่ใจว่าสารสำคัญนั้นได้รับการถ่ายทอดไปถึงผู้อื่น สิ่งสำคัญหนึ่งที่ต้องพิจารณาอย่างยิ่งในการสนทนานี้คือตัวภาษา ว่ามันจะถูกนำไปใช้อย่างไรในการสื่อสารความเห็นอกเห็นใจ และบางครั้งมันก็พลัดออกจากพวกสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ คุณตัดสินใจอย่างไรที่จะให้ภาษาที่พูดในภาพยนตร์เป็นภาษาอีโบ แล้วจากนั้นจึงใส่คำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ
DO: ส่วนใหญ่แล้ว การตัดสินใจของผมมักมาจากความรู้สึกว่ามันใช่ ภาษาหลักที่ใช้ในเอนูกูคือภาษาอีโบ คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเอนูกูพูดภาษาอีโบ ดังนั้นหากเราจะสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับคนที่อาศัยอยู่ในเอนูกู มันก็มีสมเหตุสมผลอยู่แล้วที่จะทำเป็นภาษาอีโบ แต่ก็อีกนั่นแหละ นี่คือภาพยนตร์ที่ผมตั้งใจจะฉายให้คนไนจีเรียดู และคนไนจีเรียจำนวนมากนอกพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้พูดภาษาอีโบ ดังนั้นภาษาใดจะครอบคลุมผู้ชมทั้งหมดไว้ได้ล่ะ? ผมเลยตัดสินใจใส่คำบรรยายภาษาอังกฤษในภาพยนตร์เรื่องนี้
IE: ย้อนกลับไปที่เรื่อง IPOB สิ่งที่พวกเขาอ้างว่าต้องการคือการแยกดินแดน แต่ตามความเห็นของผม สิ่งที่พวกเขาต้องการจริงๆ คืออนาธิปไตย เพราะจากประวัติศาสตร์บีอาฟราในไนจีเรียและประวัติศาสตร์ที่ไม่ซับซ้อนของชาวอีโบในไนจีเรีย ที่ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนและหลังสงครามกลางเมือง การแบ่งแยกดินแดนคือสิ่งที่ IPOB ต้องการจริง ๆ หรือ?
DO: การเติบโตในกอมเบ เมืองทางตอนเหนือของไนจีเรีย [3] ทำให้ผมมักจะมองตัวเองว่าเป็นคนไนจีเรียและชาวอีโบไปพร้อม ๆ กัน ทั้งสองอัตลักษณ์นี้ไม่ได้ขัดแย้งกัน ผมเติบโตมาโดยพูดทั้งภาษาอีโบ ภาษาเฮาซา (Hausa) และภาษาอังกฤษ ผมนิยามตนเองเป็นคนกอมเบเมื่อมีคนถามว่าผมมาจากไหน คนมักจะพูดกับผมว่า "แต่คุณเป็นคนอีโบนะ" แล้วผมก็ต้องตอบว่า "ใช่ แต่พ่อแม่ผมมาจากรัฐอิโมะ" อย่างไรก็ตาม ผมก็รู้สึกพอใจในเอกลักษณ์ไนจีเรียของตัวเอง แต่เมื่อพูดถึงแนวคิดการแยกดินแดนและจุดยืนของ IPOB ต่อบีอาฟรา มันเหมือนกับภาพฝันของดินแดนในอุดมคติ สถานที่ที่ปัญหาทั้งหมดในภาคตะวันออกเฉียงใต้หายไป เหมือนกับสวงสวรรค์ที่พวกคริสเตียนพูดถึง อย่างไรก็ตาม ผมยังสงสัยถึงความเป็นไปได้จริงของมัน กลุ่ม IPOB ได้ทำอะไรเพื่อประชาชนชาวอีโบบ้าง? ต่อให้บีอาฟราเกิดขึ้นได้จริง พวกชนชั้นนำอีโบเดิม ๆ ก็ยังปกครองอยู่ดีไม่ใช่เหรอ? พวกเขาอาจจะแค่เปลี่ยนแปลงอะไรนิดหน่อย เปลี่ยนชื่อภาคตะวันออกเฉียงใต้เป็นบีอาฟราและสร้างสัญลักษณ์ใหม่ขึ้นมา แต่มันไม่ได้เป็นเวทมนตร์วิเศษ กลยุทธ์ของ IPOB อย่างคำสั่งให้อยู่บ้านนั้นเป็นการมุ่งต่อต้านรัฐบาลกลาง แต่กลับส่งผลกระทบหนักหนาที่สุดต่อชาวอีโบธรรมดา ๆ ที่ใช้ชีวิตทั่วไป ช่วงที่บูฮารี (Buhari อดีตประธานาธิบดีไนจีเรีย) ดำรงตำแหน่ง การ “ชัตดาวน์” พื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของพวก IPOB ก็ไม่ได้ก่อกวนเขาเท่ากับที่มันกวนใจทินนูบู (Tinubu ประธานาธิบดีไนจีเรียปัจจุบัน) [4] ผู้คนทั่วไปที่ไม่สามารถทำงานหรือไปโรงเรียนต่างหากที่ได้รับผลกระทบที่สุด ดังนั้น ผมเลยตั้งคำถามกับคำมั่นสัญญาของ IPOB แต่ส่วนตัวแล้ว ผมไม่เชื่อในการแบ่งแยกดินแดน
IE: มีคำถามจากทางผู้ชมบ้างไหม
ผู้ชม: สิ่งที่ติดใจผมมาจากภาพยนตร์เรื่องนี้คือความสมจริงของตัวละครต่าง ๆ การที่คามโมนูระลึกถึงการสวดมนต์ก่อนรับประทานอาหารนั้นให้ความรู้สึกจริงแท้มาก ทำให้ผมนึกถึงการเลี้ยงดูแบบคาทอลิกที่เจอมาในวัยเด็ก คุณต้องถ่ายทำฉากเหล่านั้นใหม่บ่อยหรือไม่? หรือมันมาจากการทำงานร่วมกับนักแสดงที่คุ้นเคยกับภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นมากกว่า การคัดเลือกนักแสดงที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดไหม หรือคุณเจออุปสรรคอื่น ๆ ในการสร้างความสมจริงให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้?
DO: มันเริ่มต้นจากตอนเขียนบทก่อน ผมรู้ว่าผมต้องการทำอะไร ผมต้องการให้ภาพยนตร์มีบรรยากาศคล้ายสารคดี ซึ่งส่งผลต่อวิธีการทำงานภาพของกล้องด้วย สำหรับการแสดง ผมได้ส่งตัวอย่างภาพยนตร์ที่มีการแสดงแบบธรรมชาติให้นักแสดงได้ศึกษา เราก็ได้ซ้อมหลายครั้ง โดยเฉพาะเพื่อให้แน่ใจว่าภาษาอีโบที่ใช้ถูกต้องแม่นยำ มันสำคัญที่จะต้องซ้อมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้มั่นใจในความชัดเจนของการถ่ายทอดและจังหวะของบทสนทนา แม้ว่าจะมีความท้าทายจากการที่นักแสดงอยู่คนละสถานที่กัน แต่เราก็ใช้วิธีมาเจอกันใน Zoom แล้วก็ซ้อมแบบ dry run (ซ้อมแบบเสมือนจริง) ในเซ็ต ที่สุดแล้ว ความสมจริงนั้นมาจากบทสนทนาที่ผมดึงมาจากประสบการณ์ชีวิตจริง เช่น ประสบการณ์การเติบโตในครอบครัวอีโบคาทอลิก และความตั้งใจที่จะจับภาพปฏิสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องให้ขึ้นไปอยู่บนจอ
ผู้ชม (ถามผู้พูดทั้งสอง): ในแง่การทำหนัง พวกคุณคิดว่าเจตนาที่ตั้งใจสำคัญกว่าผลกระทบไหม? คุณเชื่อไหมว่า ‘ทฤษฎีการตอบสนองของผู้ชม’ สำคัญกว่าคำวิจารณ์ในทางปฏิบัติ?
DO: คุณหมายถึงทรรศนะของผมกับสิ่งที่ผู้ชมได้จากมันเหรอ?
IE: โรลองด์ บาร์ตส์ ได้เขียนงานที่ได้รับความนิยมอย่างมากไว้ เกี่ยวกับความจำเป็นที่ผู้เขียนต้องตายไป และการเกิดใหม่ของผู้อ่านเพื่อให้กระบวนการสร้างความหมายได้เกิดขึ้น สำหรับผม ผลกระทบและเจตนาสำคัญเท่า ๆ กัน เพราะหากไร้ซึ่งเจตนา ก็จะไม่มีสิ่งใดนำพาไปสู่ผลกระทบ ยกตัวอย่างเช่น การปรากฏของกองทหารที่จับกุมทุกคน ความสัมพันธ์ระหว่างอ็อกบอนนาและคาลิสตัส และวิธีที่เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อ คามโนนูในภาพยนตร์ สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อผู้ชมภาพยนตร์ได้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ชมคนนั้นเป็นใคร
IE [ถาม DO]: นอกเหนือจากการเมืองเรื่องไบอาฟรา ยังมีการเมืองในความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องหรือคู่รักด้วย สิ่งเหล่านี้สำคัญสำหรับคุณเช่นกันใช่หรือไม่?
DO: ถูกต้องเลย สิ่งเหล่านั้นสำคัญทั้งคู่ ผู้ชมก็ไม่ใช่กลุ่มคนที่เหมือนกันหมด ดังนั้นทุกคนจึงเก็บเอาอะไรต่างกันออกไปจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมดีใจที่ผลงานนี้สร้างแรงสั่นสะเทือนได้ และไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ผลตอบรับบางส่วนก็เป็นการสะท้อนเจตนาของผม
ผู้ชม: คำถามของผมเกี่ยวกับการคิวเรต (คัดเลือก) วิดีโอ/ภาพยนตร์ในการฉายในครั้งนี้ ตอนแรกมันเหมือนกับว่าว่าภาพยนตร์เหล่านี้จะกล่าวถึงการปกครองแบบทรราช และมุ่งเน้นไปที่กลุ่มประเทศโลกใต้ (global south) เท่านั้น และด้วยภาพยนตร์ของไมเคิล รากูวิทซ์ (Michael Rakowitz) ในที่สุดเราก็ได้เห็นบทบาทของชาติตะวันตกหรือประเทศโลกเหนือ (global north) ที่บางทีก็เป็นต้นกำเนิดของการปกครองแบบเผด็จการ เรื่องพวกนี้เป็นความตั้งใจอยู่แล้วหรือแค่เรื่องบังเอิญเท่านั้น
IE: เมื่อมารี สปิริโต (Mari Spirito)และ ลอรา ไรโคควิช (Laura Raicovich) คัดเลือกภาพยนตร์สำหรับงานฉายครั้งนี้ พวกเธอตั้งใจและระมัดระวังอย่างมากที่จะให้ผลงานศิลปะเหล่านี้ข้ามพ้นขีดจำกัดของการกดขี่ ในขั้นตอนการค้นคว้า พวกเธอพบว่ามีศิลปินบางคนที่เผชิญหน้ากับปีศาจ/ผู้กดขี่/ชาวตะวันตก และมีศิลปินบางคนที่เผชิญหน้ากับการสร้างโลกใหม่ การตัดสินใจเหล่านี้เป็นไปอย่างตั้งใจจากฝั่งศิลปินและคนคัดเลือกผลงาน ภาพยนตร์เรื่อง The Ballad of Special Ops Cody ไม่ใช่ผลงานชิ้นแรกในโปรแกรมที่สะท้อนบทบาทของตะวันตกในการสนับสนุนการปกครองแบบเผด็จการ ภาพยนตร์เรื่อง Monologue ของรัตตันนา วานดี (Rattanna Vandy) ก็สะท้อนเรื่องการทิ้งระเบิดในกัมพูชาโดยชาวตะวันตก และผลกระทบที่มันทิ้งไว้กับครอบครัวของเขา
ผมไม่เชื่อในการใช้เวลาและพลังงาน — ที่เราสามารถใช้ยกระดับและมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ไปกับแนวคิดและชุมชนของเรา — ไปกับกลุ่มชาติตะวันตกที่พยายามควบคุมแนวคิดและชุมชนของเราอยู่เสมอ ผมเชื่อว่าการต่อต้านที่ดีที่สุดคือการเปิดพื้นที่ให้กับชุมชนและจัดวางแนวคิดปรัชญา แนวคิด และการเคลื่อนไหวของเราไว้ตรงศูนย์กลาง แทนที่จะให้ความสำคัญและเปิดพื้นที่มากขึ้นกับผู้กดขี่
นั่นทำให้ผมนึกถึง กาบี เอ็งโคโบ (Gabi Ngcobo) เธอเคยถูกถามว่าการตัดสินใจทาผนังของศูนย์จัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์ (Center for Historical Reenactment) ให้เป็นสีดำนั้น เป็นการตอบโต้ต่อการทำห้องนิทรรศการแบบ ‘กล่องขาว’ (white cube) โดยตรงหรือไม่ เธอตอบว่าเธอไม่ได้คิดถึงเรื่องกล่องขาวอะไรเลยตอนที่เลือกสีดำ ที่มันทาสีดำก็เพราะความเหมาะสมกับโครงการที่พวกเธอกำลังทำอยู่เท่านั้น พวกเธอไม่ได้สนใจอยู่กับการหาพื้นที่ให้กับชาวตะวันตกในโครงเรื่อง สิ่งที่สำคัญกว่าสำหรับเราคือเรื่องราวที่ศิลปินและผู้สร้างภาพยนตร์เหล่านี้เล่า แค่นั้น
ผู้ชม (ถาม DO): ถ้าจุดสนใจหลักของคุณในฐานะคนทำหนังคือการบอกเล่าเรื่องราวของคนธรรมดา มีบ้างไหมที่คุณรู้สึกลำบากเวลาผู้คนให้ความสนใจแต่กับเรื่องการเมือง เพราะว่าอะไร ๆ ก็เป็นการเมือง?
DO: คำตอบของผมคือไม่นะ และนี่ล่ะเหตุผลว่าทำไมคนทำหนังถึงสร้างหนังตามที่ตนต้องการ และผู้ชมก็มีสิทธิ์ที่จะดูหนังตามที่พวกเขาต้องการด้วย และแน่นอน ภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งใจจะมีความเป็นการเมือง มันก็แน่อยู่แล้ว ผมคงไม่ได้สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับการเมืองของไบอาฟราและไนจีเรีย แล้วออกมาพูดว่าผมไม่ได้ทำภาพยนตร์ทางการเมือง มันเป็นภาพยนตร์การเมือง แต่อย่างไรก็ตาม จุดสนใจหลักของผมคือการสะท้อนว่าการเมืองส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนธรรมดา ๆ อย่างไร
เราไม่สามารถบรรจุบทสนทนาทั้งหมดเกี่ยวกับไบอาฟราเอาไว้ในภาพยนตร์สั้น 20 นาทีได้ เรื่องราวของไบอาฟราย้อนไปถึงช่วง 1960s เริ่มต้นจากการสังหารหมู่ในปี 1966 ที่นำไปสู่ความตายของชาวอีโบกว่าพันคนที่ตอนเหนือของไนจีเรีย ความตายเหล่านี้ยังไม่ได้มีการรับผิดชอบใด ๆ เลย เมื่อผู้คน ที่ภายหลังรู้จักกันในนามชาวไบอาฟรา (Biafran) ได้ตัดสินใจแยกตัวออกจากไนจีเรียเพื่อปกป้องตัวเอง รัฐบาลไนจีเรียก็ไปโจมตี นำไปสู่สงครามที่ยาวนานสามปี และคร่าชีวิตชาวอีโบไปอีกนับล้านคน สิ่งที่เกิดขึ้นใน A Quiet Monday คือปมบาดแผลจากเหตุการณ์เหล่านั้น ภาพสะท้อนหลังสงคราม ที่แสดงให้เห็นว่าแม้สงครามจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่คนเหล่านี้ยังไม่ฟื้นดีและยังไม่ได้รับการรักษาแผลแต่อย่างใด
และก็ใช่ ที่รัฐบาลกลางแบกความรับผิดชอบมหาศาลต่อคำสั่งห้ามออกนอกบ้านในวันจันทร์ในพื้นที่บริเวณตะวันออกเฉียงใต้ และผลของมันในการจัดการกับการเรียกร้องแยกดินแดนจากกลุ่มนี้ แต่นั่นก็ไม่ได้ปลดเปลื้อง IPOB ออกจากความรุนแรงที่เกิด แม้แต่ในภาพยนตร์เอง อ็อกบอนนาก็พูดว่า "ไนจีเรียเดียวกันนี้ที่ปล่อยให้เราต้องมาอยู่ในความมืดมนสิ้นหวัง" ตรงนี้เองที่ไปชี้เข้าที่ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลไนจีเรีย ในการปล่อยให้แนวคิดแบ่งแยกดินแดนลุกลามขยายไปมากขึ้นอีก
*All images (unless otherwise stated) are courtesy Dika Ofoma, Still from 'A Quiet Monday', 2023
[1] IPOB (Indigenous People of Biafra) is a secessionist and separatist group founded in 2014 by Nnamdi Kanu. See “Biafran leader Nnamdi Kanu: The man behind Nigeria's separatists,”BBC News, May 5, 2017, https://www.bbc.com/news/world-africa-39793185.
[2] See “Nigeria - Media and Entertainment,”International Trade Administration | Trade.Gov, June 6, 2023, www.trade.gov/country-commercial-guides/nigeria-media-and-entertainment.
[3] For some background on geographical conflict in Nigeria, see Frances Jumoke Oloidi and Leonard Ilechukwu, “Ethnicity in Nigeria in Post Colonial Era and Implications for Reader-Centred Library Collections,” Library Philosophy and Practice (2021), https://digitalcommons.unl.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=13384&context=libphilprac
[4] R. O. Okonkwo, “The trouble with IPOB’s sit-at-home orders,” Premium Times, January 23, 2022, https://www.premiumtimesng.com/opinion/507361-the-trouble-with-ipobs-sit-at-home-orders-by-rudolf-ogoo-okonkwo.html.