สำรวจสงขลาและปักษ์ใต้ให้ได้แรงอก! ไปกับ 10 งานศิลปะและดีไซน์ ในเทศกาล ‘Pakk Taii Design Week 2024’

Post on 16 September

เมื่อปลายอาทิตย์ที่แล้ว ชาว GroundControl ได้มีโอกาสมุ่งหน้าลงใต้ไปสำรวจเทศกาลดีไซน์ครั้งใหญ่ที่เมืองสงขลาอย่าง ‘Pakk Taii Design Week 2024’ เทศกาลที่รวมเอาทุกความสร้างสรรค์มาจัดวางไว้ในสี่แลนด์มาร์คสำคัญของภาคใต้ ตั้งแต่ย่านเมืองเก่าสงขลา หาดสมิลา หาดใหญ่ และจะนะ ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องอาหาร หนัง ศิลปะ ดีไซน์ เพอร์ฟอร์แมนซ์ งานแสงไฟสวย ๆ และนิทรรศการอีกมากมายที่เดินเที่ยวกันได้แบบไม่รู้จบ

ซึ่งหลังจากที่งานนี้ได้สิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เราเลยอยากรวบรวมบันทึกการเดินทางที่เกิดขึ้นมาฝากทุกคน เรียกว่าต่อให้ใครไม่ได้เดินทางไปถึงถิ่นก็ไม่ต้องกลัวว่าจะพลาด เพราะในคอลัมน์ GC Special Route ครั้งนี้ เราได้คัดสรร 10 ไฮไลต์งานศิลปะและดีไซน์ในย่านเมืองเก่าสงขลาและหาดใหญ่ที่จัดขึ้นในเทศกาลนี้ มาเรียบเรียงใหม่ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทุกซิกซ์เนเจอร์ความเป็น Pakk Taii Design Week 2024 ได้แบบถึงแรงอกแน่นอน

ส่วนใครที่ไปเยือนมาแล้ว และอยากจะแนะนำงานหรือนิทรรศการไหนใน Pakk Taii Design Week 2024 เพิ่มเติมนอกเหนือจากลิสต์ของเรา ก็อย่าลืมมาแปะภาพ แชร์ข้อมูล และพูดคุยกันได้นะ

Samilla Odyssey
สถานที่: โรงเรียนสตรีวชิรานุกูล (เมืองเก่าสงขลา)
โดย: วิรุนันท์ ชิตเดชะ, ไพลิน ถาวรวิจิตร, อาทิตยา นิตย์โชติ

‘Samilla Odyssey’ หรือ ‘สมิหลาเชิงซ้อน’ คือนิทรรศการแรก ๆ ที่เราชอบมากจนขอเก็บมาเล่าให้ทุกคนได้รู้จักกันเป็นงานแรก เพราะนิทรรศการนี้เขาจะนำเสนอความเป็นสงขลาและหาดสมิหลาผ่านผลงานศิลปะจัดวางและภาพถ่าย ที่ตีความออกมาจากเทคนิคภาพเชิงซ้อน ให้เราค่อย ๆ ค้นพบสงขลาและหาดสมิหลาในหลากหลายแง่มุมมากขึ้น ที่ซ้อนทับกันอยู่ในหลายระนาบของเวลาและความเป็นไป โดยมีการใช้พื้นที่ของโรงเรียนมาเป็นเครื่องสะท้อนความหมายถึงห้วงเวลาที่แตกต่างกัน ผ่านการแบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็นสามชั้น แต่ละชั้นจะแทนถึงห้วงเวลาที่ต่างกัน ได้แก่ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ยกตัวอย่างเช่น ตรงทางเข้า ทีมผู้จัดเขาก็ได้เตรียมศิลปะจัดวางเป็นภาพมากมายซ้อนกันหลาย ๆ ชั้นให้เราเข้าไปถ่ายรูปกันได้ ซึ่งงานชิ้นนี้ได้ตั้งใจพาเราย้อนกลับไปในปีพ.ศ. 2500 ยุคแรก ๆ ที่เกิดเทรนด์ของฝากจากหาดสมิหลา ด้วยการถ่ายภาพจากเทคนิคซ้อนรูป (Combination Printing) ที่ได้แนวคิดมาจากงานศิลปะเซอร์เรียลและดาด้า เราเลยมักจะเห็นภาพถ่ายในยุคนั้นมีทั้งคนที่เหาะเหินเดินอาหาศได้ หรือไม่ก็มาในรูปแบบแยกร่าง เพราะสร้างมาจากการทำภาพซ้อนภาพนั่นเอง

ยังมีงานภาพถ่ายที่ใต้อาคารที่ถูกนำมาพริ้นต์ไว้บนผืนผ้า ซึ่งผลงานชิ้นนี้เป็นโปรเจกต์ที่คนท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยทีมผู้จัดนิทรรศการเขาได้ทำการมอบกล้องฟิล์มแบบใช้แล้วทิ้งให้กับคนสามเจเนอเรชัน และให้พวกเขาถ่ายเมืองสงขลาจากมุมมองของตัวเอง จากนั้นก็นำมาซ้อนกันให้เรามองเห็นสงขลาผ่านสายตาที่แตกต่างกันของคนแต่ละรุ่น

และอีกหนึ่งชิ้นงานที่ค่อนข้างท้าทาย ก็คือการใช้ AI มาร่วมสร้างภาพสงขลาและให้เราเดากันว่าเราสามารถมองออกหรือไม่ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการใช้ AI มาวิจารณ์ จำแนก หรืออธิบายภาพงานศิลปะเทียบเคียงกับศิลปินที่เป็นมนุษย์ด้วย โดยทางทีมผู้จัดก็เลือกใช้ AI Gemini มาเป็นตัวตอบคำถาม เพราะพวกเขามองว่า AI ตัวนี้ยังคงมีความไร้เดียงสาแบบ AI ที่ไม่เก่งเกินไป ไม่เหมือนมนุษย์เกินไป และยังคงทำให้เราสัมผัสถึงความเป็น AI ที่แตกต่างจากมนุษ์ได้อยู่

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่เราหยิบยกมาเท่านั้น แต่ภายในนิทรรศการ ‘Samilla Odyssey’ ยังมีอีกหลายชิ้นงานมาก ๆ ให้ได้ลองเข้าไปสัมผัสกัน ถ้าใครเป็นคนที่ชอบเรื่องการสลับไทม์ไลน์ที่ซับซ้อน และการไขความเชื่อมโยงระหว่างชิ้นงานกับห้วงเวลา นิทรรศการนี้คือคำตอบ

Living Cinema อรุณใต้
สถานที่: ลานในศาลเจ้าพ่อหลักเมือง, ศาลาวัดยางทอง, โรงสีแดง
โดย: อวัช รัตนปิณฑะ, ณัฏฐ์ กิจจริต, ภูมิภัทร ถาวรศิริ ภายใต้การกำกับของ พวงสร้อย อักษรสว่าง

Living Cinema เรื่อง อรุณใต้ เป็นอีกหนึ่งในกิจกรรมไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาดจริง ๆ เพราะนอกจากพวกเขาจะเปลี่ยนพื้นที่ประวัติศาสตร์ในย่านเก่าเมืองสงขลาให้กลายเป็นโรงละครขนาดยักษ์ ผู้กำกับอย่าง พวงสร้อย อักษรสว่าง ก็ยังเพิ่มความท้าทายด้วยการใช้นักแสดงผู้ถนัดในศาสตร์ภาพยนตร์อย่าง อัด-อวัช รัตนปิณฑะ, เอม-ภูมิภัทร ถาวรศิริ และณัฏฐ์ กิจจริต มาลองโลดแล่นนอกโลกจอเงิน พร้อมสัมผัสกับผู้ชมที่กำลังจ้องมองพวกเขาอยู่จริง ๆ บนสภาพแวดล้อมที่ควบคุมไมไ่ด้ และไม่มีการสั่งคัต

อรุณใต้ คือเรื่องราวของตัวละคร ‘อรุณ’ ที่จะปรากฏตัวอยู่ในสามสถานที่ โดยบทบาทของแต่ละคนจะเชื่อมโยงเข้ากับความทรงจำของพื้นที่นั้น ๆ ได้แก่ อรุณ (อัด) ที่ลานในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจะถูกเชื่อมโยงกับโรงงิ้วเพราะเป็นพื้นที่จัดแสดงงิ้วมาก่อน ต่อด้วยอรุณ (เอม) ในฐานะวิญญาณที่ศาลาวัดยางทอง และอรุณคนสุดท้าย (ณัฏฐ์) ในฐานะนักแสดงที่โรงสีแดง พื้นที่จัดแสดงหนังกลางแปลงมาตั้งแต่เมื่อครั้งอดีต และนอกจากการเชื่อมโยงกับพื้นที่แล้ว นักแสดงแต่ละคนก็ยังมีการใส่ความทรงจำของตัวเองร่วมเข้ามาในบทบาทด้วยจนกลายเป็นอรุณที่ทั้งเหมือนและต่างกันในคราวเดียว

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เพอร์ฟอร์แมนซ์นี้ได้ถูกจัดแสดงแบบเต็มรูปแบบเพียงวันเปิด (17 สิงหาคม 2567) วันเดียวเท่านั้น แต่สำหรับใครที่ตามไปทีหลัง เขาก็ยังเปิดให้ทุกคนได้เก็บตกบรรยากาศเหล่านี้ได้ผ่าน ‘เสียง’ หรือ ‘Soundtrack of อรุณใต้’ ที่จะเปิดขึ้นที่สามสถานที่จัดแสดง ให้เราได้ฟังเสียงเพลง เสียงนักแสดง เสียงบรรยากาศ เสมือนการแสดงในวันเปิดงานยังคงมีชีวิตอยู่ในพื้นที่

Under Construction
สถานที่: ท่าน้ำศักดิ์พิทักษ์ และ ตรอกสงครามโลก
โดย: พิสุทธิ์พักตร์ สุขวิสิทธิ์, ณัฐวัฒน์ ปาลสุข, สีตวรรณ สิงหเศรษฐ, อิงกมล รัตนกาญจน์

มาเทศกาลดีไซน์ทั้งทีก็ต้องไม่ลืมช้อปปิ้งงานดี ๆ จากวัยรุ่นปักษ์ใต้กลับบ้านกัน ซึ่งหลังจากที่เราแนะนำสองจุดชมงานอาร์ตดี ๆ ทั้งภาพถ่ายและสายเพอร์ฟอร์แมนซ์ไปแล้ว ก็ขอพาทุกคนวกกลับมาเดินหาของฝากราคาดีกันที่โซน Under Construction พื้นที่ปล่อยของและโชว์ผลงานของนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ และผู้ผลิตศิลปะทุกแขนง ที่กำลังอยู่ในระหว่าง ‘สร้างตัว’ ให้ได้พบปะ แลกเปลี่ยน จัดแสดงผลงาน รวมถึงซื้อขายผลงานของตนเองได้

Under Construction คือ Young Community Pillar ที่เกิดขึ้นจากการ Open Call หาศิลปินในปักษ์ใต้มาจัดแสดงและนำเสนอผลงานไปด้วยกันในงานนี้ โซนนี้เลยเป็นโซนที่มีความหลากหลายสูงมาก ทั้งงานอาร์ต งานคราฟต์ ไปจนถึงของกินจุบจิบ บอกเลยว่าถ้าอยากซื้อของฝากจนใคร ๆ ก็ทักว่านี่คุณไปถึง ‘เท่ใต้’ (สำเนียงคนใต้เวลาพูดถึงคำว่าที่ใต้) ของจริง ก็ต้องแวะมาเก็บกันที่โซนนี้นี่แหละ ๆ

มะเทเบิ้ล Pop-Up Canteen
สถานที่: มะเทเบิ้ลพาวิลเลียน (ปกรณ์ อาร์คิเทค ถ.นครนายก)
โดย: Yala Icon

ขอพักเติมพลังแบบถึงเท่ใต้ได้แรงอกกันที่ ‘มะเทเบิ้ล’ Pop-Up Canteen ริมทะเลโปร่ง ๆ จาก Yala Icon ที่มาในรูปแบบ Home Cooking เมนูอาหารรสมือมะ แม่ ม๊า สุดพิเศษที่จะหากินที่ไหนไม่ได้ง่าย ๆ เพราะนอกจากทุกคนจะได้กินอาหารใต้แบบครบทุกรสชาติ ก็ยังจะได้ลองกันแบบครบทุกวัฒนธรรมความเป็นใต้ ทั้งไทยพุทธ ไทยจีน ไทยมุสลิม มลายู เปอรานากัน และชาวเล เข้าด้วยกัย โดยในแต่ละวันก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเมนูไปเรื่อย ๆ รวมกว่า 135 เมนู จาก 11 ชุมชนในภาคใต้ เช่น ตูปะซูตง, ซุปตอแระห์, สลัดแขก และ น้ําดาหลาบุหงาฮาลา เป็นต้น

Hatyai Gastronomy ลักหยบ หลังร้าน
สถานที่: ทั่วเมืองหาดใหญ่
โดย: กลุ่ม de'south

ถ้าฝั่งเมืองเก่าสงขลามีมะเทเบิ้ลไว้อุ่นท้อง ฝั่งหาดใหญ่ก็มี ‘Hatyai Gastronomy’ หรือ ‘ลักหยบ หลังร้าน’ ไว้ให้เราไปตะลอนกินอาหารในตำนานคู่บ้านคู่เมืองหาดใหญ่ พร้อมสนุกกับงานดีไซน์ไอเดียใหม่ด้วยเหมือนกัน เพราะโปรเจกต์นี้เป็นโปรเจกต์ที่ทาง 21 ดีไซนเนอร์จากกลุ่ม de'south เขาตั้งใจจะพาเราไปส่องหลังร้านดังทั่วหาดใหญ่ถึง 10 แห่ง พร้อมกับจับ Pain Point มาแปลงเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่ช่วยสร้างเอกลักษณ์ใหม่ให้แต่ละร้าน พร้อมกับชูเสน่ห์ที่ถูกซ่อนอยู่หลังร้านออกมาให้เราได้เห็นกันชัด ๆ

เช่น ร้านเต้าคั่วป้าแต๋ว ร้านเต้าคั่วรถเข็น หรือ สลัดทะเลสาบ ที่ขายในตลาดกิมหยงมากว่าสามรุ่น โดยเมนูนี้เป็นเมนูเด็ดของหาดใหญ่ แต่ก็หาทานได้ยากขึ้นทุกทีเพราะไม่ค่อยมีคนสืบต่อ ด้วยเหตุนี้พอใครได้มาลองชิมก็ติดใจจนอยากนำกลับไปเป็นของฝากกันทุกคน ทางทีมนักออกแบบจึงตั้งใจออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับป้าแต๋วใหม่ ให้กลายเป็นกล่องกระดาษทรงลิ้นชักสุดมั่นคง พร้อมหลอดเก็บน้ำจิ้มที่มีการระบุมิลลิลิตรอย่างดีจะได้นำขึ้นเครื่องได้

Tum Roy Exhibition
สถานที่: บ้านสิงโต
โดย: Design PLANT x Southern Designer

หลังจากอิ่มท้องจากร้านอาหารมากมายทั่วสงขลาและหาดใหญ่ ก็มาเพิ่มความเนิร์ดไปกับ ‘นิทรรศการทำหรอย’ อีกหนึ่งนิทรรศการที่พูดถึงเรื่องอาหารเหมือนกัน แต่เป็นการทำอาหารที่เจาะลึกลงไปถึงเรื่องเครื่องปรุงและวัตถุดิบพื้นถิ่น ที่หากินได้เฉพาะในภาคใต้ แล้วนำเอาวัตถุดิบ ภูมิปัญญา และสิ่งของเครื่องใช้ใน วัฒนธรรมอาหารภาคใต้ มาดีไซน์เป็นสิ่งของต่าง ๆ มากมายในบริบทใหม่ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เช่น TI-MA Lamp ที่ได้ไอเดียจากหมาตักน้ำ อุปกรณ์ตักน้ำจากใบจากของภาคใต้, Pard Tarn Collection มีดปาดใต้ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากคนกับป่าภาคใต้ และ โหนดบาร์ & พิมพ์โหนด ตัวช่วยที่จะทำให้ทุกคนผลิตน้ำตาลโตนดของดีเมืองใต้ได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

Neighbors
สถานที่: ถ.ยะหริ่ง และ ถ.นางงาม (เมืองเก่าสงขลา)
โดย: Trimode Studio

เมื่อเริ่มเมื่อยแล้ว นอกจากจะไปแวะพักที่ร้านอาหาร ร้านของหวาน หรือร้านคาเฟ่ เราก็ไม่ลืมเหลียวมองรอบ ๆ ตัว เพราะในบริเวณ ถ.ยะหริ่ง และ ถ.นางงาม ในย่านเมืองเก่าสงขลา เขาได้มีการติดตั้ง ‘เก้าอี้’ หลากหลายสไตล์ของโปรเจกต์ ‘Neighbors’ ให้ไปนั่งพักถ่ายรูปกันแบบสบาย ๆ อยู่เต็มไปหมด

นอกจากประโยชน์การใช้งาน เก้าอี้ทุกตัวที่ตั้งอยู่ล้วนมีที่มาที่ไปทั้งนั้น เพราะทาง Trimode Studio เขาตั้งใจนำเสนอเก้าอี้เหล่านี้ในฐานะห้องรับแขกของชุมชน ด้วยการนำเก้าอี้ชำรุดจากแต่ละบ้านในชุมชนมาผสมผสานวัสดุในท้องถิ่นของสงขลา เช่น ใยตาล เข้ากับโครงสร้างดั้งเดิมของเก้าอี้ จนกลายเป็นชุดเฟอร์นิเจอร์ใหม่สำหรับย่านเมืองเก่าที่แทรกตัวอยู่ตามตรอกซอกซอยของชุมชนได้อย่างกลมกลืน และไม่รบกวนวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนท้องถิ่น

Bin Tower กับดีไซน์ใหม่ของสีถนนแทนทางเท้าและการจอดรถวันคู่และวันคี่
สถานที่: ทั่วย่านเมืองเก่าสงขลา
โดย: Cloud-floor

อีกสองสิ่งเล็ก ๆ ที่น่าจะผ่านตาคนที่เดินเที่ยวใน Pakk Taii Design Week 2024 บ่อย ๆ ก็คือ ถังขยะดีไซน์ใหม่ที่ถูกเรียกว่า ‘Bin Tower’ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากปัญหาความสะอาดในย่านเมืองเก่า เพราะก่อนหน้านั้นในแถบนี้จะไม่มีการางถังขยะเอาไว้ เพราะมักส่งกลิ่นเหม็นกระทบบ้านที่มีขยะวางอยู่หน้าบ้าน แต่พอไม่มีถังขยะเมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาก็เกิดการทิ้งเรี่ยราด จึงเป็นที่มาของถังขยะขนาดพอดีแก้ว ที่เป็นที่ทิ้งพวกแก้วเครื่องดื่มต่าง ๆ ได้แบบไม่ส่งกลิ่น

ยังมีเรื่องของข้อจำกัดในการเดินเท้าและการจราจร เนื่องจากฟุตบาทแคบ ผู้คนเลยจำเป็นต้องเดินบนถนน ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยของคนเดินเท้า หนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาคือการทำเครื่องหมายเส้นเหลืองลาง ๆ บนถนนเพื่อเตือนให้ระวังและแบ่งแยกพื้นที่เดินเท้า พร้อมกับจำกัดการจอดรถสลับวันคู่-คี่ ยกเว้นวันหยุดที่สามารถจอดได้ทั้งสองฝั่งถนน โดยใน Pakk Taii Design Week 2024 ก็ได้มีการออกแบบสีถนนแทนทางเท้าและการจอดรถวันคู่และวันคี่ขึ้นใหม่ให้ชัดเจน สดใส และเข้าใจง่ายมากขึ้น ทั้งสำหรับคนท้องถิ่น ต่างถิ่น และนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

Samila Mermaid
สถานที่: หาดสมิหลา
โดย: Sumphat Gallery

มาถึงสงขลาแล้วจะไม่แวะไปหานางเงือกที่หาดสมิหลาคงไม่ได้ ซึ่งที่นั่นก็มีอีกหนึ่งกิจกรรมรอคอยทุกคนอยู่ นั่นคือ ‘Samila Mermaid’ ที่ประกอบไปด้วยเวิร์กช็อป งานศิลปะจัดวางและนิทรรศการ รวมถึงการแสดง ‘ระบำรองเง็ง’ เพื่อเล่าเรื่องของนางเงือกในแง่มุมใหม่ ผ่านการสร้างผลิตภัณฑ์และของที่ระลึก เช่น กระเป๋าใส่ขวดน้ำรูปหางนางเงือก ที่สื่อเรื่องนางเงือกกับการเก็บสมบัติ หรือการทำว่าวรูปนางเงือกที่ผนวกเรื่องความเชื่อเรื่องนางเงือกเข้าไป เพราะว่ากันว่านางเงือกจะให้สรรพคุณด้านความอุดมสมบูรณ์ ความงาม และความมีเสน่ห์ ทำให้การนำว่าวรูปนางเงือกไปแขวนก็จะได้ประโยชน์เรื่องนี้ไปด้วย

4 Stories of Songkhla
สถานที่: ย่านเมืองเก่าสงขลา
โดย: Fos Lighting Design Studio

ขอปิดท้ายด้วยการพาทุกคนมาเดินชมแสงไฟยามค่ำคืนด้วยการตามรอยโปรเจกต์ 4 Stories of Songkhla ที่นำเอาเรื่องราวท้องถิ่นสงขลามาเล่าผ่านแสงไฟที่ผนวกเข้ากับพื้นที่ประวัติศาสตร์มากมายในย่านเมืองเก่าสงขลา ได้แก่ วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร, ศาลเจ้ากวนอู, รามัญ-นครใน Courtyard (ข้างสินอดุลยพันธ์) และ ตรอกข้างโรงแรม Yu Cafe เชื่อมนครในกับถนนรามัญ ยะหริ่ง โดยจุดประสงค์ของการออกแบบแสงในครั้งนี้ ก็คือการดึงความสวยงามของเมืองและสถาปัตยกรรมออกมาให้เด่นชัด ส่งเสริมความปลอดภัย กระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งยังดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อีกด้วย

สำหรับจุดที่เรารู้สึกชอบมาก ๆ ก็คือบริเวณตรอกข้างโรงแรม Yu Cafe เชื่อมนครในกับถนนรามัญ ยะหริ่ง เพราะมีการนำเรื่องของเกาะหนูและเกาะแมวมาเล่าผ่านแสงไฟรูปหนู รูปแมว รูปหมา บวกกับรอยเท้าบนพื้น เมื่อประกอบเข้ากับบรรยากาศมืด ๆ ลึกลับนิด ๆ ก็ทำให้ตรอกนี้ดูมีเสน่ห์มากขึ้นไปอีก และที่สำคัญหากคุณโชคดีพอก็อาจจะได้เจอเจ้าเหมียวตัวจริง นั่งรออยู่ในตรอกด้วยก็เป็นได้