บุกโตเกียวตามรอย 7 ห้องน้ำใน ‘Perfect Days’ เมื่องานดีไซน์ ปรัชญาญี่ปุ่น และสุนทรียะแบบ วิม เวนเดอร์ส มาบรรจบกัน

ไม่รู้ว่าเป็นโชคชะตาหรือคำสาปที่ทำให้ในช่วงที่เราอยู่โตเกียวนั้น หนังที่เล่าเรื่องวันธรรมดาอันงดงามของคนขัดห้องน้ำอย่าง Perfect Days ได้ฤกษ์เข้าฉายในบ้านเราพอดี ทำให้แผนการเที่ยว (และการไปติ่ง เทย์เลอร์ สวิฟต์) ของเราต้องเปลี่ยนเป็นแผนการตามล่าหนึ่งในตัวละครที่สำคัญที่สุดในเรื่องอย่าง ‘ห้องน้ำสาธารณะ’ ที่ปรากฏในหนังของผู้กำกับที่เล่าบทกวีผ่านภาพอย่าง วิม เวนเดอร์ส เรื่องนี้!

นั่นก็เพราะบรรดาห้องน้ำสาธารณะหลากสไตล์ที่คุณลุงต้องตื่นเช้าไปทำความสะอาดในทุก ๆ วัน หาได้เป็นห้องน้ำธรรมดา ๆ ที่ผู้กำกับเขาปิดตาแล้วจิ้มปัดหมุด แต่เป็นห้องน้ำที่รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งใจรีโนเวทขึ้นใหม่ในช่วง ‘The 2020 Summer Olympics’ ภายใต้ชื่อโปรเจกต์ ‘The Tokyo Toilet’ โดยเฉพาะ เพื่อรองรับการมาถึงของนักท่องเที่ยว โดยพวกเขาได้รวมตัวสถาปนิกและนักออกแบบระดับโลกถึง 16 คน มาช่วยกันดีไซน์ใหม่ไว้ถึง 17 แห่งเลยทีเดียว

ก่อนจะคลิกไปอ่านการฝ่าลมหนาวและหิมะเพื่อตามรอยห้องน้ำของเรา ขอชวนไปทำความรู้จักโปรเจกต์ The Tokyo Toilet และจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่นที่ซ่อนอยู่ในการมีอยู่ของห้องน้ำเหล่านี้สักหน่อย

📍เบื้องหลังงานดีไซน์ The Tokyo Toilet โปรเจกต์ห้องน้ำรับมหกรรมโอลิมปิก

ก่อนการมาถึงของห้องน้ำดีไซน์เก๋เหล่านี้ ห้องน้ำสาธารณะในเมืองโตเกียวเคยได้รับคำวิจารณ์ว่าไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้งานเลย เพราะทั้งมืด สกปรก ดูอันตราย ไม่น่าไว้ใจ และยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์คนทุกเพศทุกวัยอีกด้วย การรีโนเวทครั้งนี้จึงมีขึ้นเพื่อปฏิวัติภาพลักษณ์ใหม่ของห้องน้ำสาธารณะในโตเกียวให้สวยงาม สะดวกต่อการใช้งาน และพร้อมบริการทุกคนอย่างเท่าเทียม และเมื่อโปรเจกต์นี้ประสบความสำเร็จ ห้องน้ำทั้ง 17 แห่งเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโตเกียวที่หลาย ๆ คนยกให้เป็นเหมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่งไปเลย

และไม่เพียงการดีไซน์อย่างใส่ใจเท่านั้น แต่ความพิเศษของห้องน้ำเหล่านี้ ยังรวมไปถึงตัวผู้ให้บริการเบื้องหลังทั้งหมดที่มีการตั้งทีมคอยจัดการทุกอย่างอย่างเป็นระบบ รวมถึงจัดสรรเวลาและเทคนิคการทำความสะอาดเป็นอย่างดี เรียกว่าไม่ใช่ใครก็จะสามารถเข้ามารับหน้าที่ตรงนี้ได้ แต่ต้องคัดสรรมาแล้วว่ามีความรักและตั้งใจกับงานตรงนี้ นั่นรวมไปถึงเหล่า ‘พนักงานล้างห้องน้ำ’ ตัวจริงเสียงจริง ที่คอยทำความสะอาดห้องน้ำเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา โดยพวกเขาจะมีเครื่องแบบประจำตัวเป็นชุดสีน้ำเงิน ที่สกรีนข้อความข้างหลังว่า ‘The Tokyo Toilet’ ที่ได้ดีไซเนอร์ญี่ปุ่นชื่อดังอย่าง ‘NIGO®’ เป็นคนออกแบบให้

ด้วยเหตุนี้นอกจากพนักงานทุกคนจะตั้งใจล้างห้องน้ำอย่างดีแล้ว ก็ยังเป็นเหมือนมาสคอตที่ทุกคนสามารถเข้ามาถ่ายรูป พูดคุย หรือนำของต่าง ๆ มาให้ได้ด้วย และถ้าใครได้ชมภาพยนตร์ Perfect Days มาเรียบร้อยแล้ว ก็น่าจะนึกภาพการทำงานของพวกเขาได้ไม่ยาก เพราะลุงฮิรายามะเป็นเหมือนตัวแทนของทีม The Tokyo Toilet เลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของมารยาท ความใส่ใจ อัธยาศัย การตั้งใจทำความสะอาด หรือในฉากที่ลุงต้องเจอกับเหตุการณ์ที่คนลาออกกะทันหัน เราก็ได้เห็นความสามารถในการจัดการปัญหาของทีมฝ่ายอื่น ๆ เบื้องหลัง ที่สามารถหาคนเข้ามาทำงานแทนได้ภายในหนึ่งวันอย่างรวดเร็ว

คอลัมน์ GC Special Rout วันนี้ GroundControl เลยขอพาทุกคนไปตามรอย 7 ห้องน้ำสาธารณะที่ปรากฏใน Perfect Days เพื่อย้อนกลับไปดูแนวคิดการดีไซน์สุดใส่ใจ ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิญญาณ ‘Omotenashi’ แบบคนญี่ปุ่น ที่แทรกซึมอยู่ในทุกอณูของเมือง มาทำความรู้จักพร้อม ๆ กันเลย!

***GC Special Route คือคอลัมน์พิเศษของ GroundControl ที่จะพาผู้สนใจในศิลปะและวัฒนธรรมไปเปิดเส้นทางสำรวจงานศิลปะ สถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในรูทท่องเที่ยวนอกประเทศ เสมือนพาผู้อ่านออกไปเที่ยวผ่านหน้ากระดาษ

ห้องน้ำโปร่งใส
Yoyogi Fukamachi Mini Park toilet by Shigeru Ban

ห้องน้ำโปร่งใส คือห้องน้ำแห่งแรกที่เราเลือกไปตามรอย โดยจะตั้งอยู่ที่สวนสาธารณะ ‘Yoyogi Fukamachi Mini Park’ ภายในเมืองชิบูย่า ซึ่งถ้าเราดูในหนังเรื่อง Perfect Days เราจะเห็นลุงฮิรายามะมาทำความสะอาดที่นี่บ่อยสุด ๆ แถมยังมีฉากที่คนต่างชาติเข้ามาขอความช่วยเหลือเรื่องวิธีการใช้งานด้วย และถึงแม้ว่าลุงจะพูดคุยไม่เก่ง แต่ก็สามารถแสดงวิธีใช้งานให้เห็นได้อย่างเข้าใจ เป็นอีกหนึ่งความใส่ใจที่ส่งผ่านหน้าจอมาได้แบบชัดมาก

และสิ่งที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือดีไซน์สุดเก๋และแหวกแนว เพราะมันสามารถมองทะลุได้ทั้งหมดเลยจริง ๆ ชนิดที่ว่าหากใครมี trust issue อาจลังเลที่จะใช้งานมันได้ โดยคนที่ออกแบบห้องน้ำที่เราสามารถมองทะลุปรุโปร่งได้ทั้งหมดนี้ คือ ‘ชิเกรุ บัน’ สถาปนิกชาวญี่ปุ่น ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘ความไม่ไว้ใจ’ ของคนใช้ห้องน้ำสาธารณะ ที่นอกจากจะกังวลเรื่องความสะอาดแล้ว ยังสงสัยด้วยว่ายังมีคนอยู่ในห้องน้ำไหม หรือมีใครไม่น่าไว้ใจซ่อนตัวอยู่หรือเปล่า ดังนั้นเพื่อเพิ่มความกล้าให้คนกล้าใช้ห้องน้ำสาธารณะมากขึ้น เขาเลยออกแบบห้องน้ำโปร่งใส ที่ทุกคนสามารถมองเห็นได้แต่ไกลเลยว่าภายในห้องน้ำมีคนอยู่หรือไม่และสกปรกหรือเปล่า ในส่วนของวิธีการใช้งานก็ไม่ต้องกังวลว่าเราจะต้องทำธุระส่วนตัวทั้ง ๆ ที่กระจกยังใสอยู่แบบนี้ เพราะเมื่อเราเข้าไปในห้องน้ำแล้วกดล็อก กระจกจะเปลี่ยนเป็นทึบให้โดยอัตโนมัติเลย

ห้องน้ำสามเห็ด
Yoyogi-Hachiman toilet by Toyo Ito

ห้องน้ำสีขาวนวลกับหลังคาทรงหมวกเห็นสามห้องนี้ คือห้องน้ำอีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับ ศาลเจ้าโยโยกิ-ฮาจิมัน และเป็นห้องน้ำอีกแห่งหนึ่งที่เราพบเห็นบ่อย ๆ ในหนังเรื่อง Perfect Days เพราะนอกจากจะเป็นสถานที่ทำงานของลุงฮิรายามะแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่ลุงมักขึ้นไปขอต้นไม้จากพระในศาลเจ้าโยโยกิ-ฮาจิมันกลับมาปลูกที่บ้านด้วย รวมถึงยังเป็นจุดที่ลุงมักไปนั่งทานอาหารกลางวัน ถ่ายภาพใบไม้ไหว และยิ้มให้คนข้าง ๆ บ้างในบางทีด้วย

ห้องน้ำแห่งนี้เป็นผลงานการออกแบบของ โตโย อิโต้ (Toyo Ito) ที่ตั้งใจออกแบบห้องน้ำให้เป็นรูปเห็ด เพราะเป็นห้องน้ำที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ ศาลเจ้าโยโยกิ-ฮาจิมัน ที่มีความร่มรื่นของป่าไม้อยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ มิตสึมาสะจึงตั้งใจออกแบบห้องน้ำแห่งนี้ให้มีลักษณะคล้ายเห็ดสามดอกที่งอกออกมาจากป่ารอบ ๆ ศาลเจ้า ให้ดูกลมกลืนไปกับทัศนียภาพดั้งเดิมของป่าด้านหลัง ไม่เพียงเท่านั้นเขายังตั้งใจตั้งห้องน้ำสามห้องแยกออกจากกัน และสร้างทางเดินระหว่างกันให้สามารถเดินเวียนได้ทั่ว ไร้ทางตัน เพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับผู้ใช้งาน และยังป้องกันอาชญากรรมที่เกิดจากการดักตามมุมอับต่าง ๆ ได้ด้วย

ห้องน้ำโคมไฟอันดง
Nishihara Itchome Park toilet by Takenosuke Sakakura

ห้องน้ำที่ Nishihara Itchome Park ก็เป็นจุดที่เราอยากให้ทุกคนได้ลองไปตามรอยหนัง Perfect Days มาก ๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน เพราะทาเคโนะสุเกะ ซากาคุระ สถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่ออกแบบห้องน้ำแห่งนี้ เขาตั้งใจออกแบบพื้นที่ให้มีลักษณะเหมือนโคมไฟอันดงของญี่ปุ่น เลยให้ภาพบรรยากาศที่สวยงามจนเกือบลืมว่าเป็นห้องน้ำไปเลย

เดิมทีห้องน้ำแห่งนี้ไม่ค่อยมีคนมาใช้งานมากนัก ทางซากาคุระเขาเลยนำโจทย์นี้มาเป็นตัวตั้งต้นในการออกแบบพื้นที่ต่าง ๆ ให้มีความสวยงามและน่าดึงดูดมากขึ้น เพื่อที่ทุกคนจะได้อยากเข้ามาใช้งานห้องน้ำแห่งนี้กันอีกครั้ง และที่สำคัญเขายังตั้งใจให้ห้องน้ำแห่งนี้เป็นพื้นที่ของทุกคนโดยไม่แบ่งแยกเพศอีกด้วย

ส่วนใครที่ไปทันเพียงช่วงกลางวัน (แบบเรา) ก็ไม่ต้องนอยใด ๆ เนื่องจากกิมมิคตอนกลางวันของห้องน้ำแห่งนี้ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน เพราะถึงแม้ว่าภายนอกจะเหมือนกับห้องน้ำธรรมดา แต่ถ้าเข้าไปใช้งานด้านใน เราจะเห็นวิวทิวทัศน์ด้านนอกผ่านกระจกฝ้า คล้ายกับกำลังมองผ่านกระดาษ ราวกับอยู่ด้านในโคมไฟอันดงแล้วมองออกมายังภาพวาดจิตรกรรมที่วาดไว้เลย

ห้องน้ำยุคหินใหม่
Ebisu Park toilet by Wonderwall

ห้องน้ำแห่งนี้คือห้องน้ำที่ทางกลุ่ม Wonderwall ตั้งใจออกแบบให้เป็นเหมือนวัตถุหนึ่งที่ถูกตั้งวางไว้อย่างไม่เป็นทางการบนสวนสาธารณะอิบิสึ เหมือนว่าเป็นม้านั่ง ต้นไม้ หรืออุปกรณ์ในสนามเด็กเล่น โดยได้แรงบันดาลใจมาจากห้องน้ำแห่งแรก ๆ ของญี่ปุ่นที่เรียกว่า ‘ kawaya’ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาในยุคหินใหม่ มีลักษณะเป็นกระท่อมที่สร้างขึ้นมาจากดินแข็ง หรือท่อนไม้ที่ผูกติดกัน ด้วยแนวคิดที่ว่านี้พวกเขาได้นำมาดัดแปลงเป็นห้องน้ำในแบบฉบับของตัวเอง ด้วยการใช้ผนังคอนกรีตจำนวน 15 แผ่นมาประกอบเข้าด้วยกัน และเมื่อเข้ามาด้านในแล้ว ช่องว่างระหว่างกำแพงยังนำทางผู้ใช้ไปยังพื้นที่ที่แตกต่างกันถึงสามแห่ง ได้แก่ห้องน้ำชาย ห้องน้ำหญิง และทุกคน ผู้ใช้จึงสามารถเล่นสนุกกับพื้นที่นี้ได้ ไม่ต่างจากส่วนอื่น ๆ ของสวนสาธารณะ

หมู่บ้านห้องน้ำสาธารณะ
Nabeshima Shoto Park by Kengo Kuma

ที่นี่คือ ‘หมู่บ้านห้องน้ำสาธารณะ’ ใช่แล้ววว ทุกคนฟังไม่ผิดเพราะมันคือหมู่บ้านจริง ๆ เนื่องจาก Kengo Kuma สถาปนิกผู้ออกแบบพื้นที่แห่งนี้เขาได้แรงบันดาลใจมาจากกะท่อม และเขายังคิดอีกด้วยว่า ท่ามกลางพื้นที่เขียวขจีของสวนสาธารณะโชโตะ การมีกะท่อมร่วมสมัยห้าหลังมาตั้งรวมกันจะต้องเป็นภาพที่เข้ากันสุด ๆ ซึ่งพอเราได้ไปเห็นด้วยตาตัวเอง ก็ต้องบอกว่าจริงมาก ๆ เพราะมันดูร่มรื่นเข้ากันจริง ๆ ที่สำคัญก็คือนอกจากความสวยงามของบานเกล็ดจากไม้ซีดาร์กว่า 240 ชิ้นแล้ว ภายในก็ยังมีการตกแต่งด้วยไม้อีกเหมือนกัน เมื่อรวมเข้ากับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์คนทุกเพศทุกวัยจริง ๆ เลยขอยกให้เป็นหนึ่งในห้องน้ำที่ครบเครื่องที่สุดที่เคยเข้าเลย

สำหรับในเรื่อง Perfect Days เราจะเห็นห้องน้ำนี้บ่อยมาก ๆ แต่ฉากที่น่าจดจำสุด ๆ จากพื้นที่นี้ ก็คือฉากที่ลุงฮิรายามะเข้าไปช่วยเหลือเด็กที่ติดอยู่ในห้องน้ำแล้วออกมาไม่ได้ และเมื่อพาออกมา ก็มาเจอกับคุณแม่ที่ห่วงลูกตัวเองมาก จนลืมขอบคุณคุณลุง แถมยังรีบเอาผ้ามาเช็ดมือที่ลูกจับกับมือคุณลุงที่เป็นคนล้างห้องน้ำเพราะกลัวสกปรกอีก เราเลยรู้สึกเห็นใจคุณลุงมาก ๆ

ห้องน้ำปลาหมึก
Ebisu East Park by Fumihiko Maki

‘ห้องน้ำปลาหมึก’ คือชื่อที่ใคร ๆ ต่างก็ใช้เรียกห้องน้ำแห่งใหม่ในสวนสาธารณะ Ebisu East Park สวนสาธารณะยอดนิยมที่ใช้เป็นสนามเด็กเล่นและเต็มไปด้วยแมกไม้เขียวขจี โดยคนที่ออกแบบห้องน้ำแห่งนี้ก็คือสถาปนิกชาวญี่ปุ่นนามว่า ฟูมิฮิโกะ มากิ (Fumihiko Maki) ที่ต้องการทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นมากกว่าห้องน้ำ และสามารถกลายเป็นศาลาพักผ่อนกลางสวนสาธารณะที่ใคร ๆ ก็มาเอ็นจอยได้ ผ่านการออกแบบพื้นที่ให้ดูสว่างสะอาดตา และมีรูปลักษณ์เหมือนกับเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น ส่วนเหตุผลที่เรียกว่าห้องน้ำปลาหมึกก็เพราะว่า Ebisu East Park เป็นที่รู้จักในหมู่คนท้องถิ่น ในฐานะของสวนสาธารณะปลาหมึกนั่นเอง

ห้องน้ำลมโกรก
Jingu-Dori Park toilet by Tadao Ando

ห้องน้ำสองทางเข้าแห่งนี้ถูกออกแบบโดย ทาดาโอะ อันโดะ (Tadao Ando) สถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่ต้องการใช้พื้นที่เล็ก ๆ สร้างเป็นห้องน้ำที่คุ้มค่า เหมาะสมกับทุกคน และที่สำคัญคือต้องใช้งานได้แบบสบาย ๆ ปลอดภัย เขาเลยเลือกสร้างห้องน้ำผังวงกลม ที่มีทางเข้าสองทาง ไม่ว่าคุณจะเดินมาจากทางไหนก็เข้าทางที่ใกล้ที่สุดได้เลยไม่ต้องอ้อม และพอมีทางเข้าสองจุดแบบนี้ ก็ช่วยให้สายลมพัดโกรกเข้ามาได้ดี อากาศจึงถ่ายเทสะดวกมากขึ้น ไม่อับ ไม่สกปรก และปลอดภัย

อ้างอิง

The Tokyo Toilet