GC_MultiCover_everything5.jpg

หินแห่งความสุข เบเกิลแห่งความสูญสิ้น: สำรวจ 3 ปรัชญาที่ซ่อนอยู่ใน Everything Everywhere All At Once

Post on 19 May

ย้อนกลับไป 6 ปีก่อน เมื่อสองคู่หูแดเนียล แดน ควัง และ แดเนียล ไซเนิร์ต กำลังจะเริ่มสเก็ตช์ไอเดียที่จะกลายมาเป็นหนังซือเจ๊บุกพหุจักรวาลอย่าง Everything Everywhere All at Once ณ ตอนนั้นพวกเขากำลังประสบปัญหาวิกฤตด้านตัวคนอย่างหนัก อันเป็นผลมาจากความเครียดและความวิตกกังวลกังวลเกี่ยวกับเส้นทางอาชีพของตนเอง โดยเฉพาะความสงสัยในคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองกำลังทำ และการตอกย้ำตัวเองซ้ำ ๆ ด้วยคำถามที่ว่า สิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่นั้น มันมีคุณค่าใด ๆ หรือไม่?

คืนหนึ่ง …คืนที่ควังยังต้องทำงานทั้งที่ยังรู้สึกท่วมท้นด้วยอารมณ์ต่าง ๆ และความรู้สึกว่าโลกทั้งโลกกำลังปะเดประดังเข้ามาแบบไม่หยุดยั้ง ด้วยความที่ควังและไซเนิร์ตเห็นตรงกันว่าอยากเพิ่มปมให้ตัวละครซือเจ๊ เอเวอร์ลีน ด้วยการให้เธอเป็นโรคสมาธิสั้น ควังจึงต้องลงมือรีเสิร์ชเรื่องโรคสมาธิสั้นจนด้วยตัวเอง จนบังเอิญไปเจอเข้ากับผลวิจัยที่ระบุว่า ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นที่เป็นผู้ใหญ่มักจะมีจุดจบด้วยการฆ่าตัวตาย ซึ่งเมื่อศึกษาไปเรื่อย ๆ คืนนั้นก็จบลงที่ควังลงไปนอนร้องไห้จนถึงเช้า เพราะรู้สึกว่าลักษณะอาการของคนที่เป็นสมาธิสั้นตรงกับที่เขากำลังเป็นทุกอย่าง

แม้ว่าควังจะเข้ารับการตรวจและถูกระบุว่าเป็นโรคสมาธิสั้นจริง ๆ จนตอนนี้เขาดีขึ้นด้วยการเข้ารับการบำบัดและกินยา แต่ควังพบว่า อีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์จากโรคนี้ได้ ก็คือการเปิดใจและหยิบเอาโลกอันสับสนอลหม่านที่เขากำลังเผชิญออกมาเปิดเผยให้โลกเห็น …จนกลายเป็นการผจญภัยของซือเจ๊ร้านซักรีดในโลกแห่งความสับสนและจับต้นชนปลายไม่ถูกนั่นเอง

“มันคือโอกาสให้ผมได้ให้อภัยตัวเอง ที่ตลอดมาเอาแต่ด่าโทษตัวเองว่าไร้ค่า ว่าเป็นที่พึ่งพาให้ใครก็ไม่ได้”

เพราะเป็นหนังที่เกิดมาจากการทุกข์ทนและตกผลึกปรัชญาชีวิตของตัวผู้กำกับเอง Everything Everywhere All At Once จึงสอดแทรกอัดแน่นด้วยปรัชญาและคำถามว่าด้วย ‘เหตุผล’ ของการมีอยู่ของชีวิต วันนี้ GroundControl จึงอยากชวนทุกคนที่ได้เข้าไปท่องมัลติเวิร์สฉบับอาเจ๊มาแล้ว มาสำรวจปรัชญาที่ซ่อนอยู่ในหนังเรื่องนี้ด้วยกัน

เมื่อทุกสิ่งไร้ความหมาย ความเจ็บปวดและความรู้สึกผิดที่เป็นผลมาจากชีวิตอันไร้ค่าของเราก็จะหายไปด้วยเช่นกัน” — โจบุ ทาพูกิ

Nishilism และเบเกิลแห่งความว่างเปล่า

ใน Everything Everywhere All At Once ผู้ชมได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับซือเจ๊เอเวลีนว่า ตัวตนของเราไม่ได้เป็นตัวตนจริงแท้หนึ่งเดียวในจักรวาล แต่ยังมีตัวเราอีกนับหมื่นนับแสนเวอร์ชั่นที่อาศัยอยู่ในจักรวาลอีกนับหมื่นนับแสนแห่ง และตัวของเราในแต่ละจักรวาลก็มีเรื่องราว ประสบการณ์ และความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป มีทั้งจักรวาลที่เราเป็นนักแสดงงิ้วเสียงดีคนหนึ่ง ไปจนถึงจักรวาลอันแสนอัศจรรย์พันธุ์ลึกที่เรามีนิ้วเป็นไส้กรอก

เอเวอลีนในจักรวาลที่เป็นเจ๊เจ้าของร้านซักรีดธรรมดา ๆ ต้องกลายมาเป็นผู้พิทักษ์จักรวาลทั้งหมด เมื่อตัวร้ายของเรื่องคือ โจบุ ทาพูกิ ร่างอัลฟ่าของลูกสาวของเอเวอลีนในจักรวาลอันไกลโพ้น ได้ปลดล็อกพลังขั้นเทพที่ทำให้เธอสามารถรับรู้และเป็นตัวเธอในทุกจักรวาลได้ในเวลาเดียวกัน …แต่ในทุกจักรวาลที่เธอไปเยี่ยมเยียน โจบุไม่รู้สึกถึงความหมายของการมีอยู่ของชีวิตและตัวตนของตัวเองเลยแม้แต่จักรวาลเดียว  จนนำมาสู่ความรู้สึกว่างเปล่าไร้จุดหมาย ซึ่งเป็นที่มาของความมุ่งมั่นในการสร้าง ‘เบเกิลแห่งความว่างเปล่า’ อันเปรียบเสมือนหลุมดำที่พร้อมจะดูดทุกสิ่งในทุกจักรวาลให้กลับเข้าสู่ความว่างเปล่าอันธการ

หากลองเสิร์ชคำว่า ‘Nihilism’ ลงในกูเกิล หนึ่งในผลการค้นหาที่เราจะได้เห็นซ้ำ ๆ ก็คือรูปวงกลมธรรมดา ๆ ที่ดูเหมือนถูกปาดเร็ว ๆ ด้วยพู่กัน แม้ว่าในความจริงแล้วรูปวงกลมดังกล่าวจะเป็นรูปวงกลม Enso ในความเชื่อทางเซน ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ Nihilism เลย แต่รูปวงกลมที่สะท้อน ‘ความว่างเปล่า’ ที่อยู่ตรงกลางก็ถูกคนในยุคปัจจุบันจับมาเชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่องความว่างเปล่าไร้ความหมาย ซึ่งเป็นแก่นหลักของแนวคิดเรื่อง Nihilism ไปแล้ว ซึ่งใน Everything Everywhere All At Once ก็มีผู้ชมบางส่วนได้ตีความว่า เบเกิลสีดำของโจบุก็คือสัญลักษณ์ที่สะท้อนแนวคิดเรื่อง Nihilism ที่ผู้กำกับตั้งใจใส่เอาไว้นั่นเอง

Nihilism มาจากภาษาละติน (nihil) ที่แปลว่า ‘Nothing’ หรือความว่างเปล่า คำว่า Nihilism จึงใช้ในการอธิบายปรัชญาแนวคิดทั้งหมดที่พูดถึงความว่างเปล่าไร้ความหมายของสรรพสิ่ง สิ่งใด ๆ ที่มนุษย์รับรู้และมีประสบการณ์ ล้วนหาได้มีสารัตถะหรือความหมายในตัวเอง ไม่ได้มีความหมายที่จะนำเราไปสู่ความจริงสูงสุดใด ๆ (เพราะความจริงสูงสุดก็หาได้มีอยู่จริง) กล่าวง่าย ๆ ว่า ในเมื่อมนุษย์นั่นแหละคือผู้ที่ให้ค่าหรือความหมายกับสิ่งต่าง ๆ ด้วยเหตุนั้นแล้ว สิ่งต่าง ๆ ที่เรารับรู้จึงหาได้มีคุณค่าหรือความหมายใด ๆ ในตัวมันเอง

อย่างไรก็ตาม เวลาที่พูดถึง Nihilism คนส่วนใหญ่จะหมายถึง Existential nihilism ซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อมแก่นเรื่องความว่างเปล่าของสรรพสิ่งเข้ากับการดำรงอยู่ของมนุษย์ แก่นของแนวคิดนี้จึงเป็นมุมมองที่ว่าการดำรงอยู่ของมนุษย์หาได้มีความหมายหรือสารัตถะใด ๆ นั่นเอง

คำว่า Nihilism ถูกใช้มาตั้งแต่ยุคกลาง แต่ถูกนำมาพูดถึงอย่างมากโดยเหล่านักปรัชญาชาวรัสเซียและเยอรมันในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แต่นักปรัชญาที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดเวลาพูดถึงปรัชญา Nihilism ก็คือ ฟรีดริช นีทเชอ เจ้าของประโยคสุดคลาสสิก ‘พระเจ้าตายแล้ว’ 

<p>ฟรีดริช นีทเชอ</p>

ฟรีดริช นีทเชอ

ที่มาที่ไปของการประกาศมรณกรรมของพระเจ้าโดยนีทเชอร์ มาจากสภาพสังคมในยุโรปในช่วงเวลานั้นที่ผู้คนเริ่มหมดความศรัทธาในโบสถ์ การยึดพระเจ้าไว้เป็นที่มั่นไม่ได้ให้คำตอบกับชีวิตของผู้คนอีกต่อไป การไปอยู่กับพระเจ้าหลังสิ้นชีวิตก็หาใช่เป้าหมายสูงสุดที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวของผู้คนในยุคนั้น นีทเชอร์จึงประกาศว่า สภาวะที่พระเจ้าตายแล้ว หรือไร้ความหมายไปเสียแล้วเช่นนี้ ทำให้ผู้คนตกอยู่ในความทุกข์ยากและสับสนของการไร้คุณค่าให้ยึดเหนี่ยว กลายเป็นสัตว์ที่ไร้จุดมุ่งหมายในจักรวาลที่ไร้ความหมาย

อย่างไรก็ตาม นีทเชอร์ยังอธิบายเสริมว่า จริงอยู่ที่มนุษย์ทั้งมวลเมื่อเกิดมาแล้วล้วนตกอยู่ในชะตากรรมของ Nishilism เพราะเมื่อพระเจ้าไม่สามารถเป็นหลักยึดให้เราอีกต่อไป การดำรงอยู่ของเราก็ไร้ความหมาย แต่กระนั้น มนุษย์ยังสามารถก้าวข้ามสภาวะการดำรงอยู่อย่างไร้ความหมายได้ เพียงแค่เราเลือกว่าจะเป็น ‘Active Nishilism’ หรือ ‘Passive Activism’

Passive Nishilism คือมนุษย์ที่ตระหนักว่าชีวิตนั้นไร้ความหมาย และยอมรับสภาวะความว่างเปล่าไร้แก่นสารของชีวิตโดยดุษณี พวกเขาจึงยอมรับความว่างเปล่าและใช้ชีวิตอย่างไร้จุดมุ่งหมายใด ๆ (ซึ่งนีทเชอก็ยังมองว่า การตั้งใจใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมายและว่างเปล่า ก็ยังถือเป็น ‘เจตจำนง’ (Will) อยู่ดี)

ตรงกันข้าม Active Nishilism คือคนที่ทำลายความหมายหรือความเชื่อที่ไม่ใช่ความจริงแท้สูงสุด เช่น ศาสนา เป็นต้น แล้วแสวงหาความหมายหรือคุณค่าในแบบของตัวเอง ซึ่งใน Everything Everywhere All At Once ตัวอย่างของ Active Nishilism ที่ชัดเจนที่สุดก็อาจจะเป็น เวย์มอนด์ ผู้ค้นพบวิธีการในการต่อสู้ของตัวเองด้วยการ ‘ใจดี’ 

สิ่งเดียวที่ผมรู้ก็คือ เราต้องใจดีต่อกัน ได้โปรด ใจดีต่อกันเถอะ โดยเฉพาะในเวลานี้ที่เราไม่รู้เลยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น – เวย์มอนด์

Absurdism - หินกลิ้ง

ใน Everything Everywhere All At Once หากใครต้องการเรียกสกิลจากตัวตนของตัวเองในอีกจักรวาลหนึ่งมาใช้ในจักรวาลนี้ ก็สามารถทำได้ด้วยการ Verse-Jump ซึ่งในที่นี้ก็คือการ ‘กระโดดข้าม’ ความเป็นเหตุเป็นผลหรือตรรกะใด ๆ ไปเสีย แล้วทำสิ่งที่น่าขันหรือไร้เหตุผลที่สุด เช่น การอมกบ การบอกรักคนที่เราเกลียด การกินขี้มูกตัวเอง การตั้งใจทำกระดาษบาดมือตัวเอง ไปจนถึงการกระโดดทับ ‘Butt Plug’…

‘Absurd’ ที่มีความหมายในภาษาไทยว่า ไร้สาระ หรือไร้เหตุผล คือหัวใจหลักของ Everything Everywhere All At Once ที่สองคู่หูแดเนียลตั้งใจใช้เป็นแก่นหลักของเรื่อง ในฐานะผู้ประสบภัยกับคำถามต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวตนและชีวิตของตัวเอง ทั้งสองค้นพบคำตอบผ่านการ ‘ปล่อยจอย’ หรือการเลิกยึดติดกับเหตุผลและสิ่งที่ ‘สมควร’ ทำ ดังเช่นการที่พวกเขาเลือกที่จะปฏิเสธตำแหน่งผู้กำกับหนังมาร์เวลซึ่งรับประกันเรื่องเงินและความสำเร็จในสายอาชีพ แล้วขอกระโจนสู่ความอลหม่านและความไม่แน่นอนเพื่อมากำกับหนังซือเจ๊ตะลุยมัลติเวิร์สเรื่องนี้แทน

“ภายหลังเราพบว่า นั่นคือจุดร่วมที่มีอยู่ในงานศิลปะชิ้นโปรดของพวกเรา” ‘นั่น’ ที่ไซเนอร์หมายถึงก็คือการค้นหาความหมายในความยุ่งเหยิงและไร้ระเบียบ ซึ่งก็คือโลกของ Everything Everywhere All At Once

“มันคือการจ้องมองเข้าไปในหลุมดำ แล้วกลับได้เห็นอะไรบางอย่างที่จุดความหวังในตัวคุณขึ้นมา”

เราอาจอธิบายสถานการณ์ ‘การมองลึกเข้าไปในความว่างเปล่า แล้วกลับค้นพบความหมายบางอย่าง’ ใน Everything Everywhere All At Once ได้ผ่านปรัชญาที่เรียกว่า ‘Absurdism’ ซึ่งว่าด้วยความตลกร้ายของชะตากรรมร่วมของมนุษย์ ผู้ซึ่งอาจใช้เวลาทั้งชีวิตในการค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ ทั้งที่จริงแล้วการมีชีวิตอยู่นั้น ‘ปราศจากความหมาย’ 

คนที่คิดปรัชญาแห่งความตลกร้ายนี้คือ อัลแบต์ กามูส์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสสายอัตถิภาวนิยม (ปรัชญาที่พยายามหาคำตอบเรื่องความหมายของการดำรงอยู่ ซึ่ง Nishilism ก็คือหนึ่งในปรัชญาใต้ร่มนี้) ในขณะที่นักปรัชญาในสายนี้ต่างมีทัศนะไปในแนวทางเดียวกันว่าชีวิตนั้นไร้ความหมาย ทุกสรรพสิ่งล้วนไร้ความหมาย แต่กามูส์กลับคีบบุหรี่เข้าปากแล้วยักไหล่ว่า ‘ก็การไร้ความหมายนั่นแหละคือชีวิต’

หมายความว่าอย่างไร? กามูส์อธิบายว่าชีวิตเป็นเรื่องตลกร้าย ในขณะที่เราก่อร่างสร้างชีวิตด้วยความหวังถึงอนาคตในวันพรุ่งนี้ วันพรุ่งนี้กลับพาเราเข้าใกล้ความตายไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดูตลกร้ายและไม่เมกเซนส์เอาเสียเลย ถ้าเช่นนั้นแล้ว เราจะพยายามทำความเข้าใจชีวิตและความเป็นไปของโลกด้วยการใช้ตรรกะเหตุผลได้อย่างไร? กามูส์อธิบายว่า การพยายามหาเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ รังแต่จะยิ่งพบว่า ชีวิตนั้นไร้เหตุผลและความหมาย ซึ่งจะทำให้เราหดหู่ไปเปล่า ๆ (จนอาจนำไปสู่การ ‘จบชีวิต’ ได้)

แล้วเราจะใช้ชีวิตที่ว่างเปล่าและไร้ความหมายได้อย่างไร? กามูส์ตอบว่า วิถีทางที่ดีที่สุดก็คือการเผชิญหน้ากับความจริงว่าชีวิตของเรานั้นไร้ความหมาย เมื่อนั้นแหละที่เราจะได้เป็นอิสระจากการดิ้นรนตามหาความหมายใด ๆ (ที่หาไปก็ไม่เจอ เพราะไม่มีอยู่จริง) แล้วยอมรับสิ่งใด ๆ ก็ตามที่โลกอันไร้เหตุผลนั้นจะมอบให้เรา แม้กระทั่งความทุกข์ทนของชีวิต

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น กามูส์ได้ยกตัวอย่างอันโด่งดัง โดยเขาอ้างอิงถึงตำนานของฮีโร่กรีกอย่าง ซิซิฟัส ผู้พยายามโกงความตายด้วยการจับเทพแห่งความตายมัดขังไว้ จนทำให้ในช่วงเวลานั้นไม่มีมนุษย์คนใดบนโลกคนใดถึงแก่ความตายเลย เพื่อเป็นการลงโทษ เทพผู้ครองโลกแห่งความตายอย่างเฮเดส จึงลงโทษให้ซิซิฟัสมีชีวิตนิรันดร์ดังที่เขาต้องการ แต่มาพร้อมกับคำสาปที่ซิซิฟัสต้องกลิ้งหินก้อนใหญ่ขึ้นไปบนยอดเขาทุกวัน และเมื่อใดที่ซิซิฟัสกลิ้งหินใกล้ถึงยอดเขา มันก็จะกลิ้งกลับลงมาที่ตีนเขา ซิซิฟัสจึงต้องเข็นหินขึ้นภูเขาเช่นนี้ไปตลอดกาล

กามูส์ยกตำนานซิซิฟัสมาชี้ให้เห็นถึงความตลกร้ายของการมีชีวิต เขาเปรียบเทียบชะตากรรมของซิซิฟัสกับมนุษย์ในยุคปัจจุบันที่ต้องทำงานน่าเบื่อในโรงงานหรือออฟฟิศวันแล้ววันเล่า แม้จะน่าเบื่อและซ้ำซาก แต่นั่นแหละคือชีวิตเท่าที่เราจะมีได้ ไม่มีมากไปกว่านั้น แม้จะตลกร้าย แต่ก็ดีกว่ากลายเป็นโศกนาฏกรรม ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเราเงยหน้าจากงานขึ้นมาตั้งคำถามว่า ชีวิตมีความหมายมากไปกว่านี้หรือไม่? แล้วพบกับความจริงอันน่าหดหู่ใจว่า ไม่มี

ด้วยเหตุนี้ กามูส์จึงสรุปว่า เมื่อซิซิฟัสยอมรับก้อนหินนั้นในฐานะชะตากรรมของเขา และทำสิ่งที่เขาต้องทำไปในแต่ละวัน นั่นเองที่ซิซิฟัสได้เผชิญหน้ากับความจริง และเป็นเจ้าของชะตากรรมของตนเอง กามูส์ได้ปิดท้ายข้อคิดของเขา ซึ่งเป็นบทสรุปของคำถามเรื่องความหมายของชีวิตว่า “ในท้ายที่สุด เราต้องจินตนาการว่า ซิซิฟัสมีความสุข” ("one must imagine Sisyphus happy.")

และในฉากที่เอเวอลีนและโจบุคุยกันในสภาพที่พวกเธอเป็น ‘หิน’ สองก้อน เมื่อผู้ชมหัวเราะไปกับความเรียบง่ายและ ‘ไม่มีอะไรเลย’ ของฉากนี้ (ไม่มีบทพูด ไม่มีการเคลื่อนไหน) นั่นก็อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ผู้ชมได้เข้าใกล้สิ่งที่กามูส์ต้องการถ่ายทอดมากที่สุด …การที่เราได้หัวเราะใส่ ‘ความไม่มีอะไรเลย’ ซึ่งเป็นเหมือนกับการยอมรับว่า ถ้าเราอยากจะให้ชีวิตไม่ทุกข์ ไม่เศร้า ไม่เจ็บปวด เหมือนกับที่โจบุต้องการ ก็คงทำได้อย่างเดียวนั่นก็คือการเกิดเป็นหิน ซึ่งนั่นเรียกว่าชีวิตหรือ?

การปล่อยวาง - ดวงตาเห็นธรรม

ในฉากต่อสู้ไคลแม็กซ์ในช่วงท้ายเรื่อง เมื่อเอเวอลีนมองเข้าไปในความว่างเปล่าของเบเกิลแห่งความสูญสิ้น เธอก็เหมือนกับได้ปลดล็อกพลังขั้นสูงสุดที่ทำให้เธอสามารถต่อกรกับมนุษย์จากจักรวาลอื่นได้ทั้งหมด และเมื่อเอเวอลีนนำดวงตา Googly Eyes แปะลงบนหน้าผากของเธอ ผู้ชมชาวเอเชียนแทบทั้งหมดที่คุ้นเคยกับศาสนาพุทธก็น่าจะมีภาพ ‘อุณาโลมหน้าพระ’ หรือตาที่สามของพระพุทธเจ้า ที่ปรากฏในพระพุทธรูปทั่วไป

ในทางพุทธศิลป์ อุณาโลม หมายถึงวงกลมคล้ายก้นหอย หรือจุดวงกลมที่อยู่บนหน้าผากของพระพุทธรูป ดวงตาที่ 3 ถือเป็น 1 ใน 32 มหาบุรุษลักษณะ (ลักษณะร่างกายของพระพุทธเจ้า) ซึ่งเป็นจุดเปิดที่ทำให้พระองค์เห็นสรรพสิ่งทั้งปวง

ตาที่ 3 ยังปรากฏในงานศิลปะของพระศิวะ โดยชาวฮินดูเชื่อว่า ในขณะที่ตาขวาของพระศิวะเปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ ดวงตาข้างซ้ายเป็นดวงจันทร์ ตาที่อยู่ตรงกลางก็คือดวงตาที่ใช้มองสิ่งต่าง ๆ อย่างหยั่งลึกกว่าภาพที่ปรากฏ เป็นดวงตาแห่งความหยั่งรู้และปัญญา

หากใช้แว่นตาของแก่นความเชื่อทางพุทธมาอธิบาย เมื่อเอเวลีนได้จ้องมองเข้าไปในเบเกิลอันเป็นศูนย์รวมของจักรวาลต่าง ๆ เธอก็ได้เห็นความทุกข์และความว่างเปล่าไร้ความหมายเช่นเดียวกับโจบุ แต่ในขณะที่การตระหนักรู้นั้นนำมาซึ่งความทุกข์ของโจบุ เอเวอลีนกลับได้ปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ ที่เธอแบกไว้บนบ่า เปรียบดังเมื่อพระพุทธเจ้ามองเห็นความทุกข์ยากแล้วตรัสรู้ว่าหนทางสู่การดับทุกข์คือการปล่อยวางซึ่งทุกสิ่ง จนทำให้พระองค์ตั้งใจมุ่งหน้าสู่นิพพาน

การพูดว่าเอเวอลีนถึงนิพพานดูจะไม่สอดคล้องกับตอนจบที่เอเวอลีนตัดสินใจใช้ชีวิตโดยมองหาความสุขเล็ก ๆ และมีเมตตากับคนรอบตัวมากขึ้น แต่ที่จริงแล้วสภาวะนิพพานนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่ามีลักษณะเป็นเช่นไร โดยที่เราคุ้นเคยกันอาจจเป็นนิพพานที่มีสภาวะเป็นอนัตตา อันเป็นความสุขสูงสุดที่เกิดจากการหลุดพ้นจากทุกสิ่ง และเข้าสู่ความว่าง แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางส่วนที่เชื่อว่า นิพพานคือการยอมรับในกฎไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นการยอมรับในการเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยงแท้ และการที่เราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ ดังเช่นที่ตัวเราก็ไม่ใช่ของเรา และเช่นกัน ตัวของลูกเราก็ไม่ใช่ของเราอยู่ดี ซึ่งสภาวะนี้ก็สอดคล้องกับการที่เอเวอลีนยอมรับในตัวจอย และยอมปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ จนพบกับความสุขในจักรวาลของเธอ

อ้างอิง

vulture.com

polygon.com

fastcompany.com

theguardian.com

wikipedia.org/wiki/Absurdism

wikipedia.org/wiki/The_Myth_of_Sisyphus

looper.com

slashfilm.com

wikipedia.org/wiki/Existential_nihilism

uidaho.edu

medium.com

khaosod.co.th