สำรวจศาสตร์ของ Pimlogy ศิลปินผู้รักความเพ้อฝันและเชื่อในทุกความเป็นไปได้ของจินตนาการ

Post on 17 July 2025

ในระหว่างที่กำลังเดินทัวร์ในงาน Thailand Printmaking Festival 2025 เราก็มีโอกาสได้พบกับ ‘พิม - พิมพ์ มงคลเจริญโชค’ หรือ ‘Pimology’ ในโซน Printmaker's Market เธอเป็นศิลปินนักวาดภาพประกอบรุ่นใหม่ไฟแรง และเป็นนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 4 จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาเรขศิลป์ ที่นำผลงานต่าง ๆ มาออกร้านในงานนี้ แต่นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้พูดคุยกัน

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นประมาณสามเดือน ผลงานชิ้นแรกที่ทำให้เราได้รู้จักกับพิมคืองานที่มีชื่อว่า ‘Mirror of Me’ ที่สร้างขึ้นในปี 2024 เป็นงานศิลปะแบบอิมเมอร์ซีฟผสมโมชันกราฟิกที่รายล้อมรอบตัวผู้ชมอย่างน่าค้นหา เธอได้แรงบันดาลใจมาจากแนวคิดของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ เกี่ยวกับกระบวนการตัดสินใจของมนุษย์ ซึ่งประกอบด้วยสามองค์ประกอบหลักคือ Id (แรงผลักดัน), Superego (อุดมคติ), และ Ego (ตัวตน) ซึ่งหลังจากได้เห็นผลงานชิ้นนี้ผ่านหน้าไทม์ไลน์ เราก็รู้สึกอยากพูดคุยกับเธอถึงผลงานชิ้นอื่น ๆ แนวคิดหลักในการทำงาน และสำรวจความเป็นมาเป็นไปที่ทำให้เธออยากเป็นศิลปิน

**Mirror of Me (2024) งานศิลปะแบบอิมเมอร์ซีฟผสมโมชันกราฟิก**

Mirror of Me (2024) งานศิลปะแบบอิมเมอร์ซีฟผสมโมชันกราฟิก

เราเริ่มต้นถามพิมถึงเรื่องที่สงสัยที่สุดก่อนเป็นอย่างแรก นั่นก็คือที่มาของนามปากกา ‘Pimlogy’ ซึ่งเธอก็ได้อธิบายให้ฟังว่า “ที่มาของนามปากกามาจากการเติมคำลงท้าย -ology ที่หมายถึง ศาสตร์ พิมมองว่าการแสดงออกตัวตน ถ่ายทอดความคิดสักอย่างเหมือนเป็น subject หนึ่งที่สามารถศึกษาได้ผ่านวิธีการและการเลือกสื่อสาร บวกกับพิมเองชอบเรียนรู้จากศาสตร์อื่น ๆ มากมายเลย เช่น วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ พฤกษศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ปรัชญา จิตวิทยา ฯลฯ แล้วนำมาหลอมรวมแล้วสื่อสารในรูปแบบของงานศิลปะและการออกแบบ จนกลายเป็นศาสตร์ของตนเอง เลยเป็นที่มาของชื่อ Pimology ค่ะ”

นามปากกายังเชื่อมโยงกับเอกลักษณ์ในการทำงานของพิมด้วย เธอเล่าว่า “เท่าที่สังเกตการทำงานของตัวเอง ส่วนใหญ่เริ่มจากการทำความเข้าใจทั้งเรื่องที่อยากจะเล่า และทำความเข้าใจจินตนาการหรือความเห็นที่พิมได้จากเรื่องนั้น แล้วนำสองอย่างมาบวกกันในการสร้างงาน เหมือนกับการเอาควันความคิดที่ล่องลอยมาปั้น ๆ ตบ ๆ ให้ออกมาเป็นงานที่พอดีกำลังย่อยง่าย แต่แก่นใจความไม่ได้หายไปไหน”

“คือเหมือนเรามองหาความเป็นไปได้ในจินตนาการมั้งคะ คิดว่าความไม่ตายตัวของสไตล์การทำงาน เป็นเหมือนเครื่องมือบางอย่างที่กำลังพิสูจน์อะไรที่ไม่เคยมีอยู่ เหมือนที่มาของนามปากกาพิม เหมือนหนังคอนเซปต์ใหม่ ๆ เหมือนหนังสือที่เล่าเรื่องในมุมมองที่ยังไม่มีใครเขียนออกมา”

“ซึ่งในปีนี้พิมก็ได้มีโอกาสทำงานหลากหลายมาก ๆ เลย ทั้งได้ร่วมงาน Faqtory กับทาง Noise Attack Team เป็นนิทรรศการรวมผลงานมัลติมีเดียที่ย่านตลาดน้อยค่ะ อีกงานคือจะเป็น CU X QUT Design For Change Thailand: The Future of Wellbeing In Focus เป็นโปรเจกต์ที่นิสิตนักศึกษาจากทั้งสองมหาลัยมาสร้างแนวร่วมในการออกแบบเพื่อแก้ปัญหากับคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของสังคมไทย ซึ่งทั้งสองงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Bangkok Design Week 2025 ที่เพิ่งเกิดขึ้น

“ในส่วนของเทคนิคการทำงานและการฝึกฝน พิมเริ่มจากการทดลองไปเรื่อย ๆ เลยค่ะ ทั้งสีแท่ง สีหลอด ดินสอ ปากกา การปั้นดิน การวาดภาพดิจิทัล รวมถึงการปั้น blender เรียกว่าลองทำไปทั่วเลยก็ได้ค่ะ หลังจากลองหลายอย่าง สุดท้ายพิมก็ค้นพบว่าตัวเองชอบเสน่ห์ของ physical media หรือผลงานที่จับต้องได้ จะว่าไงดี คือการได้ทำงานลงบนแผ่นกระดาษ สัมผัสมันฟินที่สุดแล้วค่ะ”

“ที่ชอบที่สุดคือดินสอค่ะ พิมโตมากับมันมาตลอดเลยรู้จักมันมากที่สุด พิมชอบที่ทุกเส้นที่เราเขียนเข้าไปมัน intentional ทุกเส้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักมือ การลากเส้น ความละเอียด ใครก็ทำซ้ำไม่ได้ถึงจะมีดินสอแท่งเดียวกัน อะไรประมาณนั้นค่ะ”

“พิมว่าเส้นทางของพิมเพิ่งเริ่มต้นเอง พิมมีเป้าหมายว่าอยากให้งานพิมเป็นมากกว่างานที่สวย แต่เป็นงานที่ทำให้คนรู้สึก เกิดบทสนทนา หรือสร้างสิ่งที่เป็นมากกว่าภาพที่ตาเห็น นอกจากนั้นพิมสนใจเรื่องการคัดสรรวัสดุให้ยั่งยืนขึ้นค่ะ เป็นแนวคิดที่อยากให้อยู่ควบคู่ไปกับทุกงานเสมอไม่ว่าจะทำอะไร ด้วยความที่พิมสื่อสารเรื่องธรรมชาติของโลกอยู่บ่อย ๆ พิมเลยอยากหาวิธีที่สามารถใส่ใจทุกขั้นตอนของงานค่ะ” เธอกล่าวทิ้งท้าย

Symbol of Power

Symbol of Power เป็น Artist Zine เล่มล่าสุดของพิมค่ะ เล่าเรื่องความคงทนของธรรมชาติ เป็นเวลานานเกินจะนับได้ที่ธรรมชาติได้ก่อกำเนิดชีวิตมากมายมหาศาล เกิดระบบการหมุนเวียนสสารที่ซับซ้อนเกินความเข้าใจ ธรรมชาติและระบบของมันได้สร้างขึ้นด้วยความสามารถที่ยิ่งใหญ่ ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน ภายในความเป็นไปของชีวิตนั้น ในอีกทางหนึ่ง การเข้ามาของสิ่งประดิษฐ์ทำให้ทัศนคติของมนุษย์ที่มีต่อความเป็นปกติของโลกเปลี่ยนไป เป็นการตั้งคำถามค่ะว่า ความขัดแย้งของพลังทั้งสองส่วนไหนควรจะอยู่ต่อไป

เราชอบเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้มาก ด้วยความที่เป็นเรื่องที่อยู่ในบทสนทนาของคนมานาน ทำให้พิมอยากใช้ภาพเล่าเรื่องนี้ให้ไม่เหมือนที่เคยเห็นมาค่ะ”

งานชุดนี้จะอยู่ในคอลเลคชันที่พิมอยากใส่ความเป็นคนให้กับแมลงตัวจิ๋วค่ะ พิมคิดว่าการใช้ชีวิตของแมลงหรือสิ่งมีชีวิตอื่นมันมีน้ำหนักการใช้เวลาที่เทียบเท่ากับคนเราที่ทุ่มเทให้กับงานบางอย่างเช่นความพิถีพิถันในการดำรงชีวิต

Feline Mutation

งานนี้มาจากตำนานแมวเก้าชีวิตที่คุ้นหูกันอยู่แล้ว พิมอยากจะทำให้แมวตัวนี้เป็น mutant ที่พอเขาได้เกิดใหม่จนถึงชาติสุดท้ายแล้วอะไรจะเปลี่ยนจะเพิ่มไปบ้าง

สามารถติดตามศิลปะและศาสตร์ความเป็น Pimlogy หรือ ‘พิม - พิมพ์ มงคลเจริญโชค’ กันต่อได้ทาง https://www.instagram.com/pimology/