1stStage: มองความต่างของมนุษย์ ในธีสิส ‘การสูญเสียตัวตนในโลกร่วมสมัย’ ของพลวัฒน์ สามิดี

Art
Post on 26 June

เราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์เหมือนกัน มีรูปลักษณ์และอวัยวะต่าง ๆ คล้ายกัน แต่พอเติบโตขึ้น พวกเรากลับมีความรู้สึกนึกคิด มีอัตลักษณ์ และมีความชอบแตกต่างกันออกไป จนไม่มีใครที่เหมือนใครเลยแบบร้อยเปอร์เซ็น แม้กระทั่งฝาแฝดเองก็ตาม

ทว่าเราเปลี่ยนแปลงไปเพราะเจตจำนงของตัวเองจริง ๆ หรือมีอะไรกันแน่ที่เข้ามาควบคุมและครอบงำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงไปเป็นเช่นนี้?

เพราะมนุษย์เกลียดกลัวการไม่รู้ เราจึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบตั้งคำถาม และต้องการหาคำจำกัดความให้กับสถานการณ์บางอย่างอยู่ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่ที่มาของตัวเราเอง ซึ่ง ตุ้ย - พลวัฒน์ สามิดี บัณฑิตหมาด ๆ จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ก็เป็นมนุษย์อีกหนึ่งคนที่ถูกบ่วงความสงสัยกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามเหล่านี้ขึ้นมา โดยเขาสงสัยว่า เราเกิดมาได้อย่าง? เราเกิดมาเพื่ออะไร? และอะไรที่เป็นตัวเรา? หรือแท้จริงแล้วตัวเราจะถูกหล่อหลอมมาจากโครงสร้างทางสังคมกันแน่?

จากนั้นเขาก็เปลี่ยนมวลความสงสัยทั้งหมดให้กลายเป็นหัวข้อธีสิสเรื่อง ‘การสูญเสียตัวตันในโลกร่วมสมัย’ เพื่อออกค้นหาคำตอบของความแตกต่างของมนุษย์ และตั้งคำถามถึงสังคมร่วมสมัย ว่าเรากำลังถูกกรอบของเวลา กรอบความคิดของศาสนา และกรอบจารีตวัฒนธรรมประเพณี มากำหนดวิธีการดำเนินชีวิตอยู่หรือเปล่า โดยถ่ายทอดออกมาผ่านงานจิตรกรรมแบบเรียลลิสติกสุดสมจริง

และด้วยความน่าสนใจคอนเซปต์กับตัวงาน ผสมเข้ากับความอยากรู้อยากเห็นของเราเอง ที่อยากรู้ว่าพ่อศิลปินหน้าใหม่คนนี้เขาจะค้นพบอะไรในการหาคำตอบครั้งนี้บ้างกันแน่ เราก็เลยขอเข้าไปพูดคุย ถึงความเป็นมาของหัวข้อนี้อย่างละเอียดสักหน่อย

เรื่องแรกที่ศิลปินเล่าให้เราฟัง คือการยกแนวคิดเรื่อง ‘ฮาบิทัส’ ของ ‘ปิแอร์ บูร์ดิเยอ’ มาให้เราได้ทำความรู้จักก่อน เขาอธิบายว่า “พอเริ่มตั้งคำถามและได้หัวข้อธีสิสแล้ว ขั้นตอนต่อมาผมก็เริ่มศึกษาค้นคว้าหาหลาย ๆ ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องต่อ เพื่อหาคำตอบให้เจอว่าสิ่งที่ผมอยากรู้มันอธิบายได้อย่างไรบ้าง โดยหนึ่งในหลายทฤษฎีที่ผมหยิบขึ้นมาใช้ จะเป็นทฤษฎี ‘ฮาบิทัส’ ของปิแอร์ บูร์ดิเยอ เพราะมันเป็นทฤษฎีทางมานุษยวิทยาที่สื่อว่ามนุษย์ที่อยู่ภายใต้โครงสร้างทางสังคมเดียวกัน หรืออยู่ในสภาพเงื่อนไขทางสังคมอันเดียวกัน จะมีฮาบิทัสที่คล้ายกัน”

“มันก็เลยเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของผม ที่มองว่ามนุษย์ในสังคมปัจจุบันกำลังดำรงชีวิตอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของสังคม อีกทั้งยังมีการพึ่งพาเทคโนโลยีอยู่ตลอด เมื่อรวมเข้ากับเรื่องของแนวคิดทางศาสนา การเมือง และวัฒนธรรมประเพณีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามาก ๆ ก็เหมือนกับเราอยู่ในฮาบิทัสที่คล้ายคลึงกัน จนคล้ายกับกำลังอาศัยอยู่ภายใต้ห้องแก้วใส ๆ ที่ถูกตีกรอบไว้ด้วยจารีตของสังคม”

“หรืออย่างเวลาเราใช้งานเทคโนโลยี เพื่อสืบค้นข้อมูล หรือต้องการซื้อสินค้าอะไรก็ตาม หลังจากการค้นหาครั้งนั้น ต่อไประบบอัลกอริทึ่ม (Algorthm) ก็จะทำป้อนข้อมูลที่เราค้นหาเข้ามาในโซเชียลมีเดียของเราทั้งหมด ทั้งการจัดหาเนื้อหาที่คล้ายคลึงกันมาให้เราดู ไปจนถึงโฆษณา มันจึงกลายเป็นเหมือน ห้องเสียงสะท้อน (Acho Chamber) ที่สะท้อนแต่สิ่งเดิม ๆ ให้เราเห็น จนเราซึมซับและค่อย ๆ รับมันมาเป็นส่วนหนึ่งของเราเอง”

เรียกว่าแค่ขั้นตอนสืบค้นทฤษฎี ก่อนจะเอามาทำเป็นผลงานจริงก็ลึกซึ้งมาก ๆ แล้ว แต่ในขณะที่เรากำลังนั่งทำความเข้าใจกับทฤษฎีต่าง ๆ อยู่นั้น พลวัฒน์ก็เสริมต่ออีกว่า นอกเหนือจากการอ่านทฤษฎี เขายังต้องตามเก็บข้อมูลภาพถ่ายโดยใช้กล้องดิจิตอล เพื่อบันทึกภาพท่าทางและบริบทต่าง ๆ ของมนุษย์ แล้วนำภาพที่ได้ไปทำเป็นภาพสเก็ตช์ ก่อนจะต่อด้วยการปรับแต่งในโปรแกรมตกแต่งภาพ ให้ได้ภาพตามรูปแบบที่ตั้งใจไว้ แล้วถึงจะลงมือวาดจริง ๆ

“ขั้นตอนที่ทำจะมีหลายขั้นตอนมาก ๆ โดยหลังจากออกแบบภาพเสร็จ ก็ต่อด้วยการลงมือปฏิบัติจริง เริ่มตั้งแต่การเตรียมผืนผ้าใบให้พร้อมลงสี การร่างรูปและการขึ้นรูปเป็นแนวทางไว้ก่อน ต่อด้วยการทำพื้นผิว ไปจนถึงการเคลือบสีทึบแสงและการเคลือบสีโปร่งแสงด้วยครับ จากนั้นค่อยมาตามเก็บรายละเอียดภาพให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ก่อนจะปิดท้ายด้วยการเคลือบชั่วคราว และการเคลือบถาวรเพื่อให้ภาพมีความคงทน”
.
สำหรับผลงานที่ออกมา พลวัฒน์จะเน้นวาดร่างกายของมนุษย์หน้าตาเฉยเมย ร่างกายเปลือยเปล่า ดูล่องลอย และไร้เครื่องเพศที่แน่ชัด พวกเขาทั้งหมดดูเหมือน ๆ กัน แต่ก็ต่างกันไม่น้อย ทั้งในแง่ของบุคลิกภายนอกอย่างสีผิว กับบุคลิกภายในที่สะท้อนออกมาผ่านท่าทางและอิริยาบถต่าง ๆ ที่แสดงออกมาในแต่ละภาพ

พลวัฒน์ได้อธิบายถึงที่มาท่าทางเหล่านี้ว่า “ผมได้แรงบันดาลใจทั้งหมดมาจากการศึกษาท่าท่างของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน เช่น ท่าทางของทหารภายใต้การควบคุม และท่าทางของคนที่ถูกโซเชียลมีเดียควบคุม ซึ่งผมตีความว่าท่าเหล่านั้นจะเป็นท่าทางที่คล้ายกับคนที่กำลังล่องลอยอย่างไร้สติบนอากาศและดูไร้น้ำหนัก หรือมีท่าทางเหมือนกับคนกำลังเดินสงบนิ่ง หรือกำลังเดินจงกรม เพราะพวกเขากำลังติดอยู่ภายใต้กรอบความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี รวมไปสื่อเทคโนโลยี และสิ่งที่มองไม่เห็นอีกมากมายที่ควบคุมพวกเขาอยู่ จนแสดงออกผ่านท่าทาง ลักษณะทางกายภาพ และภาษากายอย่างที่เห็น”

“ผมยังตั้งใจวาดภาพด้วยสไตล์เรียลลิสติก เพราะมันเป็นเรื่องที่มีอยู่จริงและเกิดขึ้นจริงจากสังคม พร้อมกับเน้นย้ำถึงตัวระบบและการถูกควบคุม ผ่านการใช้รูปทรงซ้ำ ๆ กับความต่างที่เหมือนกันของรูปร่างมนุษย์ด้วย”

ในท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าเราจะไม่อาจบอกได้ว่าคำตอบในมุมมองของพลวัฒน์ ที่ถ่ายทอดออกมาเป็นงานจิตรกรรมในธีสิสเรื่อง ‘การสูญเสียตัวตันในโลกร่วมสมัย’ ในครั้งนี้ จะตรงกับสิ่งที่ค้างคาอยู่ในใจของใครหลาย ๆ คนหรือเปล่า แต่การตีความของเขาก็อาจจะทำให้คนอีกหลายคนหันกลับมาสำรวจตัวเองอีกครั้งก็เป็นได้ว่า ตัวเราที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในตอนนี้ เป็นเพราะว่าเราอยากจะเปลี่ยนเอง หรือเพราะกำลังโดนอิทธิพลบางอย่างบีบให้เปลี่ยนโดยที่ไม่รู้ตัวอยู่กันแน่ เพราะฉะนั้นถ้าใครกำลังรู้สึกสับสนในใจ ภาพของพลวัฒน์อาจจะเป็นกุญแจอีกชิ้นหนึ่งที่คุณกำลังตามหา เพื่อตอบคำถามของตัวเองอยู่ก็เป็นได้

สามารถติดตามศิลปินได้ที่: https://www.instagram.com/tuy_pollawat_samidee