‘คำแรกขึ้นสมอง คำสองขึ้นสวรรค์’ คือนิยามของข่าวร้อนแรงที่กำลังครองพื้นที่ฟีดของเราอยู่ ณ ขณะนี้ กับข่าวการบุกทลายลัทธิประหลาดที่มีแก่นใจกลางความเชื่ออยู่ที่ ‘พระบิดาโจเซฟ’ ผู้เป็นเจ้าเหนือกว่าศาสดาของศาสนาใด ๆ และที่ชวนอึ้งกว่านั้นก็คือพิธีกรรมของเหล่าสาวกที่พากันบริโภคสิ่งปฏิกูลจากร่างกายของพระบิดา ไม่ว่าจะเป็นขี้ไคล น้ำปัสสาวะ หรืออุจจาระของพระบิดา โดยเชื่อว่าสิ่งที่ถูกขับออกมาจากร่างกายอันศักดิ์สิทธิ์ของพระบิดาเป็นยาอายุวัฒนะซึ่งมีสรรพคุณในการเยียวยาความป่วยไข้ รวมทั้งทำให้ผู้เสพคงความอ่อนเยาว์ ผิวพรรณเปล่งปลั่ง
นอกจากความขมคอขมใจจากการเสพข่าวร้อนที่เป็นที่พูดถึงไปทั่วทุกที่ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในข่าวที่กลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมข่าวนี้ ก็คือปฏิกิริยาช็อกซีนีม่า ความรังเกียจ และอาการรับไม่ได้อย่างรุนแรงของคนทั่วไปที่มีต่อข่าวคนกินขี้ ซึ่งในทางจิตวิทยา มานุษยวิทยา และปรัชญา ก็มีความพยายามศึกษากันมานานแล้วว่า อะไรคือต้นตอหรือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้มนุษย์รังเกียจสิ่งปฏิกูลจากร่างกายของมนุษย์ ทั้งที่มาจากคนอื่น และที่มาจากตัวของเราเอง?
แม้ว่าคำถามนี้จะชวนให้น่าขมวดคิ้วสำหรับคนทั่วไปว่า ‘ก็ขี้อะ ไม่ว่าใครก็ต้องรังเกียจอยู่แล้วมั้ย?’ แต่ในฐานะกลุ่มคนที่ทำอาชีพไขปริศนาพฤติกรรมและความคิดของมนุษย์อย่างเหล่านักจิตวิทยา นักปรัชญา และนักมานุษยวิทยา ที่มาที่ไปของอาการสะอิดสะเอียนและความรังเกียจนี้อาจมาจากต้นตอที่หยั่งรากลึกไปถึงพื้นที่จิตใต้สำนึก หรือจิตไร้สำนึก ซึ่งเป็นดินแดนปริศนาที่นักวิเคราะห์มนุษย์ยังคงเฝ้าสำรวจกันอยู่ ซึ่งหนึ่งในทฤษฎีจิตวิเคราะห์ชื่อดังที่สำรวจปฏิกิริยารังเกียจเดียดฉันท์ที่มนุษย์มีต่อสิ่งปฏิกูลเหล่านี้ก็คือทฤษฎีเรื่อง Abjection ของนักปรัชญา จูเลีย คริสเตวา ที่อธิบายว่า การที่สิ่งปฏิกูลที่ถูกขับมาจากร่างกายของเรา (และของคนอื่น) กลับมากระตุ้นความรู้สึกสยดสยองและขยะแขยงในตัวเรา ก็เพราะวัตถุหรือสสารเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่ ‘ก้ำกึ่ง’ ระหว่างภายนอกกับภายในตัวของเรา ซึ่งสถานะความก้ำกึ่งนี้เป็นภัยต่อการดำรงอยู่ของตัวเราในโลกแห่งสัญญะนั่นเอง (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://groundcontrolth.com/blogs/art-term-abject-art)
ในแง่ของศิลปะ สิ่งปฏิกูลทั้งขี้ ฉี่ อ้วก อสุจิ ศพ ฯลฯ เป็นวัตถุดิบชั้นดีที่ถูกศิลปินผู้มุ่งหมายจะสร้างความสั่นสะเทือนและกระตุกจิตกระชากใจสังคม หยิบเอามาใช้ในการสร้างงานศิลปะ ในโอกาสแจ้งเกิดพระบิดาในฐานะเชฟคนคนดังเจ้าของคอนเซปต์ ‘คนทำอมยิ้ม คนชิมอมเหรียญ’ เราจึงขอเกาะกระแส รวบรวมงานศิลปะที่ใช้วัตถุดิบเดียวกับพระบิดามาให้ชิม เอ๊ย! ชมกัน
ขี้ใคร?
The Homecoming of Navel Strings, 2005
Noritoshi Hirakawa
ในงาน Frieze Art Fair ปี 2005 หนึ่งในงานที่เรียกเสียงฮือฮาและทำให้ผู้ชมเดินหนีได้มากที่สุดก็คือผลงานของศิลปินคอนเซปชวลชาวญี่ปุ่น โนริโตชิ ฮิรากาวะ ที่เป็นงานกึ่งเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตที่ตัวศิลปินไม่ได้มาแสดงเอง แต่ส่งนางแบบสาวมานั่งอ่านหนังสือ …โดยที่มีกองขี้สดใหม่ของเธอวางตระหง่านอยู่บนพื้นข้าง ๆ เก้าอี้ที่เธอนั่งอยู่
นี่คือขี้จริง ๆ ไม่ใช้ตัวแสดงแทน ว่ากันว่าผู้ชมหลายคนที่เดินเข้ามาด้วยความไม่รู้ แค่ได้กลิ่น ยังไม่ต้องเห็นภาพ ก็พากันเดินหนีแล้ว ซึ่งนั่นก็เป็นความตั้งใจของศิลปินที่ลงทุนจัดตารางการกินแบบพิเศษให้นางแบบที่ต้องทำตามอย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 2 อาทิตย์ก่อนวันงาน เพื่อให้ได้งานในรูปทรง สี และกลิ่น ที่ศิลปินต้องการ…
เบื้องหลังความช็อกของ The Homecoming of Navel Strings ศิลปินเผยว่าเขาตั้งใจที่จะผลักผู้ชมไปสุดขอบเส้นแบ่งระหว่างภายนอก/ภายในร่างกายของเรา แล้วตั้งคำถามว่า บรรทัดฐานที่ขีดเส้นแบ่งว่าสิ่งที่แบ่งว่าสิ่งใดคือร่างกายของเรา หรืออะไรที่ไม่ใช่ร่างกายของเรา คืออะไร? รวมไปถึงการชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามกับ ‘ความเป็นปกติ’ ในชีวิตประจำวันของเรา ในเมื่อการขับถ่ายเป็นกิจวัตรที่เราทำกันอยู่ทุกวัน เหตุใดเราจึงมีท่าทีรังเกียจกิจกรรมและผลของกิจกรรมนั้น แล้วมีสิ่งใดอีกบ้างในชีวิตประจำวันของเราที่ดูปกติ แต่ที่จริงแล้วอาจไม่ปกติ
งานศิลปะยั่ว ๆ เยี่ยว ๆ
Oxidation Paintings, 1978
Andy Warhol
ในยุคที่ แจ็กสัน พอลล็อก สร้างความสั่นสะเทือนให้วงการศิลปะด้วยผลงานภาพวาดแอ็บสแตร็คที่เกิดจากการสะบัดสีลงบนผืนผ้าใบ หรือที่เรียกว่า ‘Action Painting’ หนึ่งในคนที่ได้แรงบันดาลใจเต็ม ๆ จากการปฏิวัติวงการของพอลล็อกก็คือ แอนดี วอร์ฮอล ศิลปินร่วมยุคที่ลุกขึ้นมาทำแอ็คชั่นเพนติงกับเขาด้วย
แต่วอร์ฮอลไม่ได้ใช้สี เขาประเดิมผลงานแอ็บสแตร็คชิ้นแรกในชีวิตด้วยการใช้ ‘เยี่ยว’ ของเขา สาดราดรดลงไปบนแผ่นคอปเปอร์ฟอยล์และเมทัลลิกเพนต์ที่กางอยู่บนพื้น ซึ่งการกางผ้าใบบนพื้นก็เป็นหนึ่งในซิกเนเจอร์ของพอลล็อกด้วย
‘Piss Painting’ กลายเป็นชื่อเรียกผลงานเยี่ยว ๆ (สมชื่อ) ของวอร์ฮอล ที่จริงแล้ววอร์ฮอลหาโอกาสที่จะทดลองทำงานศิลปะโดยใช้เยี่ยวมนุษย์มานานแล้ว เพราะสนใจในปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดจากการผสานกันระหว่างส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์กับสารเคมีที่อยู่ข้างนอก โดยผลงานชิ้นนี้วอร์ฮอลก็ไม่ได้ทำคนเดียว แต่ชวนผู้ช่วยและเหล่าคนดังที่แวะเวียนมายังสตูดิโอของเขาให้ร่วมกันสร้างสรรค์ด้วย แต่ตอนหลังเขาก็ไม่ค่อยใช้ฉี่ของตัวเองแล้ว เพราะขี้เกียจเล็งและกะตำแหน่ง
เนินขี้
Vorm - Fellows - Attitude, 2018
Gelatin
“อาจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คนเกลียดศิลปะและคนรักศิลปะเห็นตรงกัน” คือคำประกาศอย่างภาคภูมิใจของ Gelatin กลุ่มศิลปินจากเวียนนาสุดขี้เล่น (และเล่นขี้) เจ้าของประติมากรรมภูเขาขี้ที่ชวนทุกคนมาปีนป่ายและใช้ช่วงเวลาสนุก ๆ กับขี้กองใหญ่ไปด้วยกัน
แม้จะว่าจะไม่ใช่ขี้จริง แต่เป็นผลงานการปั้นดินขนาดเท่ารถบรรทุกให้กลายเป็นขี้ แต่ผู้ชมที่เดินเข้าไปในห้องจัดแสดงสีขาวที่มีกองขี้ตั้งตระหง่านอยู่กลางห้อง ต่างก็ต้องผงะและชั่งใจว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้
ไอเดียเบื้องหลังการสร้างประติมากรรมขี้ยักษ์ครั้งนี้มาจากความตั้งใจของทางกลุ่มที่จะชวนผู้ชมมาเผชิญหน้ากับสิ่งที่ทำให้มนุษย์เรากระอักกระอ่วนชวนขย้อนมากที่สุด นั่นก็คือสิ่งปฏิกูลจากร่างกาย โดยเฉพาะขี้นั่นเอง และในระหว่างนั้น ศิลปินก็อยากให้ผู้ชมลองตั้งคำถามเพื่อย้อนกลับเข้าไปสำรวจตัวเราว่า ความรู้สึกรังเกียจที่กระตุ้นเร้าให้เราอยากขย้อนนั้นมาจากที่ไหนในตัวเรา? และแท้จริงแล้วเรารังเกียจหรือขยะแขยงอะไรกันแน่?
นอกจากจะชวนปีนป่ายกองดินรูปขี้แล้ว ศิลปินยังได้จัดทำชุดคอสตูมรูปจู๋และจิ๋มให้ผู้มาเยี่ยมชมได้ลองเลือกใส่แล้วไปสนุกกับการปีนป่ายกันได้ ซึ่งกลายเป็นว่านี่คือหนึ่งในงานที่ฮิตมาก ๆ ในกลุ่มผู้ชมที่เป็นเด็ก
เยี่ยวมาก พส
To Pee In Public Places, 2001-2006
Itziar Okariz
ในซีรีส์วิดีโอสร้างชื่อของศิลปินหญิงชาวสเปน อิตเซียร์ โอคาริซ บันทึกภาพตัวเองขณะยืนฉี่ในสถานที่ต่าง ๆ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่สาธารณะ และมีผู้คนสัญจรไปมาพลุกพล่าน ตั้งแต่สะพานบรูคลิน ไปจนถึงสถานรีรถไฟใต้ดินย่านควีนส์
ความตั้งใจเบื้องหลังการยืนปล่อยทุกข์ในพื้นที่สาธารณะของโอคาริซก็คือเพื่อตั้งคำถามพื้นฐานที่สุดเกี่ยวกับการเป็นปัจเจกบุคคลคนหนึ่งในสังคม นั่นก็คือสิ่งใดทำได้ และสิ่งใดห้ามทำในเชิงกฎหมาย โดยเธออธิบายว่า การเลือกฉี่ในท่ายืนก็มีความหมายสำคัญ เพราะการยืนฉี่นั้นเป็นหนึ่งในลักษณะสำคัญที่สะท้อนภาพความเป็นชาย การยืนฉี่ในที่สาธารณะของเธอจึงไม่เพียงเป็นการตั้งคำถามถึงความหมายและข้อกำหนดระหว่างเรื่องพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะ แต่ยังรวมไปถึงข้อกำหนดของการเป็นผู้ชายและผู้หญิงด้วย
บรรจุภัณฑ์กระป๋อง ของดีจากศิลปิน
Artist’s Shit, 1961
Piero Manzoni
ปีเอโร มันโซนี ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินคนสำคัญของขบวนการอาวองการ์ดที่มี ‘อารมณ์ขันตลกร้าย’ เป็นลายเซ็นหลักในผลงานของเขา ผลงานของมันโซนีมักเป็นงานที่สำรวจประเด็นเรื่องความหลงใหลคลั่งไคล้ (fetishisation) และกระบวนการเปลี่ยนแรงงานหรือร่างกายให้เป็นสินค้า (commodification) เช่น ครั้งหนึ่งเขาเคยขายลูกโป่งที่เขาออกแรงเป่าด้วยตัวเอง โดยขายมันในฐานะลมหายใจของศิลปิน
แต่ไม่มีงานไหนจะอื้อฉาวและเป็นที่กล่าวขวัญในความกล้ามากเก่งมากไปกว่าผลงาน ‘ขี้บรรจุกระป๋อง’ จำนวน 90 กระป๋อง ในปี 1961! โดยแต่ละกระป๋องจะมีตัวเลขรันตั้งแต่ 001-090 และมีคำในภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส และเยอรมัน เขียนว่า ‘Artist’s Shit’ แปะกระป๋องไว้เป็นการรับประกันคุณภาพ
ผลงานขี้อัดกระป๋องบรรจุน้ำหนัก 30 กรัมเนื้อ ๆ เน้น ๆ นี้ไม่ได้แค่ทำเอามัน แต่มันโซนีตั้งใจที่จะเสียดสีวงการซื้อขายงานศิลปะในช่วงเวลานั้นที่ดูหมกมุ่นกับตัวศิลปินเสียเหลือเกิน “ถ้าคอลเลกเตอร์อยากได้อะไรที่ทำให้รู้สึกใกล้ชิดกับศิลปิน หรือเป็นผลผลิตส่วนตัวของศิลปินนักละก็ ก็เอาขี้ของศิลปินไปเลยก็แล้วกัน เพราะนี่ล่ะคือผลงานของศิลปินแบบแน่แท้”
ไม่มีการเปิดเผยแน่ชัดว่ามันโซนีขายขี้อัดฝของตัวเองไปได้กี่กระป๋อง แต่ครั้งหนึ่งเขาเคยขายให้ศิลปิน Alberto Lùcia โดยแลกกับทองคำ 18 กะรัต! อย่างไรก็ตาม ผลงานศิลปะสุดเหม็นโฉ่ของมันโซนีชิ้นนี้ก็ได้รับการยกย่องว่าเสียดสีแวดวงศิลปะได้เจ็บแสบ และยังสะท้อนกระบวนการสร้างงานศิลปะที่ซ้อนทับกับภาพกระบวนการผลิตสินค้าในระบบทุนนิยม ในแง่ที่ว่างานศิลปะเองก็ต้องผ่านกระบวนการลงแรงจากศิลปิน นำมาจัดลงแพคเกจจิง ทำการตลาด แล้วขาย ไม่ต่างจากสินค้ากระป๋อง