หญิงสาวคนหนึ่งตั้งใจจบชีวิตตัวเองเพื่อความสิ้นสุดอันเป็นนิรันดร์ เพียงแต่ในท้องของเธอมีอีกหนึ่งชีวิตที่รอการเริ่มต้นและความเป็นไปได้ไม่รู้จบของชีวิต สมองทารกถูกเปลี่ยนถ่ายสู่ร่างของหญิงสาวโดยนักวิทยาศาสตร์ชื่อพ้องกับพระเจ้า และชีวิตใหม่นั้นก็ได้ถือกำเนิดในชื่อ เบลลา แบ็กซ์เตอร์ นางเอกของภาพยนตร์เรื่อง Poor Things
ในการผจญภัยของเบลลา เธอพาเราไปพบกับชาย (และหญิง) ที่ต่างเป็นตัวแทนของปิตาธิปไตยและความเปราะบางของปิตาที่พร้อมจะปริแตกเพียงแค่หญิงสาวหนึ่งคนไม่ยอมก้มหัวให้กับมัน
จะสังเกตว่าตัวละครในหนังมีหลายคนที่สุดโต่งมาก ไม่ว่าจะ ‘God’ ก็อดวิน รวมไปถึงพ่อของเขา ผู้ซึ่งไม่ได้ปรากฏตัวในหนัง แต่ถูกบอกเล่าเรื่องราวผ่านปากคำของลูกชายอย่างก็อดวิน ที่ระถึงถึงพ่อผู้เป็นหมอที่เชื่อ (จนถึงขั้นหมกมุ่น) ในวิทยาศาสตร์ จนยอมที่จะตัดทิ้งความรู้สึกหรือความสัมพันธ์ทางสายเลือด หรือท้าทายพระเจ้าโดยการเป็นพระเจ้าผู้สร้างชีวิตต้องห้ามขึ้น
แม็กซ์ ผู้ช่วยของก็อดวินที่เป็นเหมือนทางสองแพร่งในตัวเอง เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์แต่ก็ยังเชื่อมั่นในพระเจ้า และตกหลุมรัก “ปีศาจ” ที่ก็อดวินสร้างขึ้น ในขณะที่ ดันแคน ทนายเจ้าชู้ที่ใช้ชีวิตสัมมะเลเทเมา ติดเหล้า ติดเซ็กส์ ติดพนัน ที่ท่องเที่ยวใช้จ่ายไปเรื่อยราวกับชีวิตนี้ไม่มีภาระใด ๆ ไม่ได้รับรู้ถึงความผิดปกติของหญิงสาวที่จะพาหนีออกจากบ้าน ส่วนสามีเก่าของเบลลาคนเก่า อัลเฟรด ‘อัลฟี’ ก็เป็นนายพลบ้าอำนาจหัวโบราณที่ไม่อาจยอมรับตัวตนใหม่ในร่างสาวหญิงสาวคนเดิม หรือแม้แต่ตัวละครต่าง ๆ บนเรือสำราญ โรงโสเภณี และผู้ช่วยบ้านก็อดวิน ทุกคนต่างมีความสุดโต่งในตัวเอง
แต่ความคิดเหล่านี้ไม่ได้อยู่ ๆ ก็ตีขลุมขึ้นมา แต่บริบททางยุคสมัยใน Poor Things ต่างหาก ที่เกิดเป็นตัวละครหลากสีสันเหล่านี้
แม้จะอยู่ในโลกกึ่งไซไฟ Poor Things ก็อิงมาจากบริบททางสังคมของยุโรปยุควิกตอเรียนในช่วงปลายศัตวรรษที่ 19 แต่ช่วงเวลาที่โดดเด่นที่สุดจนเดาว่าเนื้อเรื่องจะเกิดในปีนั้น คือช่วง La Fin de Siecle หรือยุคสิ้นสุดศตวรรษ (ปลายค.ศ. 1880-1890) เพราะสภาพสังคมและจิตใจของช่วง La fin de siecle ต่างเต็มไปด้วยความสุดโต่งเช่นเดียวกับตัวละครในหนังที่ดูจะไปกันคนละทิศละทาง ทั้งเชื่อในพระเจ้า เชื่อในวิทยาศาสตร์ เชื่อในการเสพย์สุขให้ชีวิตอำนาจของจักรวรรดิยุโรป หรือไม่เชื่อในอะไรเลย เรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งความตกต่ำหรือยุคแห่งความเสื่อมโทรมทางสังคม (social decadence) ที่ทุกคนต่างหลงระเริงในอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสุรา การพนัน สารเสพติด โสเภณี ไปจนถึงอำนาจทางการทหาร
ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจไม่น้อย หากมองว่า ย้อนกลับไปเพียงไม่กี่สิบปีก่อนหน้านั้น ยุโรปกลับอยู่ในยุคที่เรียกว่า Belle Epoque ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า ‘ช่วงเวลาอันสวยงาม’ อันนับว่าเป็นยุคทองของจักรวรรดิยุโรปที่สงบสุข รุ่งเรื่อง และแผ่ขยายอำนาจออกไปทั่วโลกโดยการล่าอาณานิคม วิทยาการทั้งทางวิทยาศาสตร์และด้านศิลปะเฟื่องฟูอย่างมากในยุคนี้
ทั้งที่วิทยาการและความสะดวกสบายต่าง ๆ ควรจะช่วยทำให้มนุษย์มีโลกที่สมบูรณ์แบบและเป็นอุดมคติมากขึ้น แต่ทำไมผู้คนกลับหันเข้าหาความโสมมต่าง ๆ ถ้าสงสัยว่าทำไม? เราลองมาเทียบกับยุคปัจจุบันดู ในยุคที่ทุกอย่างดูจะสะดวกสบาย ความบันเทิงสามารถหาได้จากปลายนิ้วมือ และการเจ็บป่วยต่างก็ทุเลาลงได้ด้วยการแพทย์อันทันสมัย ทั้งที่เราทุกคนควรจะได้เกษียณตัวเองโดยให้หุ่นยนตร์ทำงานแทนแล้ว แต่ทำไมเราถึงยังรู้สึกเป็นทุกข์? เพราะในยุคที่เราเชื่อว่า “ทุกอย่างสะดวกสบายแล้ว” มันถูกแลกมาด้วยความไม่สะดวกสบายของคนอื่น (หรือแม้แต่พวกเราเอง) ไม่ว่าจะแรงงานที่ถูกขูดรีดในยุคนี้ เมื่อเทียบกับศัตวรรษที่ 19 แล้ว นั่นก็คือทาสที่ถูกตีตราในยุคอาณานิคม ต่างถูกฉกฉวยความสะดวกสบายและความสุขเพื่อให้คนเพียงจำนวนน้อยได้มีความสุขเท่านั้นเอง เช่นเดียวกับในหนังที่แฮรี่พาเบลลาไปพบกับความจริงอันน่าสะอิดสะเอียนในเมืองอเล็กซานเดรีย ที่แม้จะมีชื่อเป็นตะวันออกแต่กลับเป็นเมืองในอียิปต์ หนึ่งในประเทศใต้อาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษอันรุ่งเรืองนั่นเอง
ดูเผิน ๆ แล้ว เรื่องราวใน Poor Things ก็คล้ายกับเรื่องราวในนวนิยายโกธิกชื่อดังระดับตำนานอย่าง Frankenstein โดยนักเขียนหญิง แมรี เชลลี ที่เขียนในตอนต้นของศตวรรษเดียวกัน วิทยาศาสตร์ได้ก่อเกิดแรงบันดาลใจให้นวนิยายและศิลปะอย่างมาก แม้แต่ตัวเบลลาเอง ก็มองการใช้ชีวิตของเธอเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์ การกระทำ และการได้ลองกระทำอะไรบางอย่างนำมาซึ่งผลลัพท์ ไม่ว่าจะเป็นการหนีออกจากบ้านไปกับชายที่เพิ่งพบกัน การ ‘กระโดดอย่างบ้าคลั่ง’ การได้ลองสัมผัสและค้นหาส่วนที่นุ่มที่สุดของร่างกาย การขายเรือนร่างเพื่อแลกกับเงิน สำหรับเบลล่าแล้ว นั่นมีคุณค่ามากกว่าคุณค่าที่สังคมกำหนดเสียอีก ไม่ต่างกับความคิดในยุคนั้นที่ต่างไขว่คว้าหา ‘ความจริง’
เมื่อเรามองเบลลาในฐานะตัวแปรที่เกิดจากสังคม เราก็นึกถึงผลงานศิลปะหรือนวนิยายที่เป็นภาพสะท้อนสังคมในยุคนั้น ดังนั้นไม่แปลกเลยที่ผลงานศิลปะหรือนวนิยายในยุคนั้นจะฉายภาพเหล่านี้ ซึ่งดูเหมือนเป็นแรงบันดาลใจของหนังเสียด้วยซ้ำ ในครึ่งหลังของบทความ เราจะยกตัวอย่างภาพวาดหรือหมุดทางวัฒนธรรมต่าง ๆ มาเป็นตัวอย่าง
Henri de Toulouse Lautrec
อ็องรี เดอ ตูลูซ-โลแทร็ก เป็นศิลปินยุค Post-Impressionism ที่ชอบวาดภาพผู้คนสังสรรค์รื่นเริง โดยเฉพาะภาพ Moulin Rouge ที่หลายคนอาจคุ้นตา สำหรับเราแล้ว มีหลายรูปของโลแทร็กที่เรารู้สึกว่าตรงกับในหนังมาก เช่น At the Moulin Rouge หรือรูปงานเลี้ยงสังสรรค์ที่ดูเหมือนจะปกติแต่พอดูใกล้ ๆ แล้วกลับบิดเบี้ยวไปหมด โดยเฉพาะภาพหญิงสาวหน้าเขียวปั้ดใน foreground ที่มองสบตากับผู้ชม ไม่ต่างอะไรกับฉากสังสรรค์ในหนังที่ทุกคนต่างยิ้มให้กัน ถึงแม้ว่าบรรยากาศในงานเลี้ยงจะกระอักกระอ่วนชวนถุยแค่ไหนก็ตาม หรือชุดแขนพองสีเหลืองโดดเด่นของเบลลาก็ชวนให้คิดถึงภาพ La Clownesse Assie (1896) โลแทร็กอิงแบบของภาพมาจากหญิงสาวชื่อ Cha-U-Kao ซึ่งเป็นนักแสดงหญิงที่โดดเด่นในมูแลงรูจ และมักจะใส่ชุดแขนพองสีเหลืองนี้ ด้วยความที่เธอเป็นตัวตลกหญิงในยุคที่นักแสดงตลกส่วนมากจะเป็นผู้ชาย นอกจากความโดดเด่นทางอาชีพแล้ว เธอยังเปิดเผยด้วยว่าเธอเป็นเลสเบี้ยน
และถึงแม้เราจะยกตัวอย่างรูปชองโลแทร็กไปมากแล้ว เราก็อยากยกอีกรูปหนึ่งขึ้นมา เพราะหัวข้อนี้ชัดเจนในเรื่องมาก คือเรื่องรักร่วมเพศ ในหนังเบลลามีความสัมพันธ์กับโสเภณีอีกคนที่ปารีส เป็นความสัมพันธ์ที่อ่อนโยนต่างกับชายทั้งหลายที่ซื้อเบลล่าเพื่อร่างกายของเธอ หรือแม้กระทั่งดันแคนที่กักขังเธอ และสุดท้ายก็โทษเธอว่าเป็นปีศาจที่กลืนกินเขา ซึ่งทำให้เรานึกถึงภาพ In Bed, The Kiss (1892) ซึ่งเป็นภาพผู้หญิงสองคนจูบและหลับนอนกันอย่างใกล้ชิดบนเตียง โลแทร็กเป็นศิลปินที่ถึงจะเกิดในครอบครัวมีอันจะกิน แต่ก็มีโรคที่ทำให้เขาตัวเล็กกว่าคนอื่น ทำให้ไม่มีภรรยยาและเขาต้องเข้าหาโสเภณีแทน โลแทร็กเห็นความสัมพันธ์อันจริงใจของหญิงโสเภณีที่มีให้กันมากกว่าภาพคู่สามีภรรยาทั่วไป นั่นทำให้เขาประทับใจในความรักนั้นมากจนต้องวาดภาพความรักนี้ขึ้นมา
หรือเมื่อพูดถึงผู้คนที่ไม่แยแสให้กับโลกอันเสื่อมถอยแล้ว เราก็นึกถึงมูฟเมนต์โบฮีเมียน ซึ่งเป็นกลุ่มคนอายุน้อยในยุคนั้นที่ปฏิเสธกฎเกณฑ์ของสังคม หนึ่งในศิลปินที่พัวพันกับโบฮีเมียนที่โดดเด่นคนหนึ่งก็เป็นใครไปไม่ได้นอกจาก เอ็ดวาร์ด มุงก์ เจ้าของภาพวาด The Scream ชื่อดัง อย่างเช่นฉากที่ดันแคนหมกตัวอยู่ในคาสิโนของเรือสำราญที่ไม่ได้เพียงดูดกลืนเงินทอง แต่มันผลาญเหตุผลของเขาไปเสียหมด จนเมื่อเงินของดันแคนหายไปหมด เขาถึงคิดได้ว่าผู้หญิงที่เขารักหัวปักหัวปำนั้นเป็นต้นเหตุของการสูญเสียสถาณภาพที่เคยมั่นคงของเขา (ซึ่งจะว่าเบลลาอย่างเดียวก็ไม่ได้เพราะเขาเองก็เลือกไปเล่นพนันเอง) ทำให้ทั้งคู่เลิกรากันในกรุงปารีส
Edvard Munch
เมื่ออยู่ในวังวนของความลุ่มหลงไม่ว่าใครก็มองเห็นโลกเต็มไปด้วยสีสันสดใส แต่เมื่อต่างฝ่ายต่างสิ้นหวัง (เบลลา จากการเห็นภาพความเหลื่อมล้ำอันโหดร้าย และดันแคน ที่สูญเสียเงินทองไปหมด) จากความรักร้อนแรงก็กลายเป็นความหดหู่ ไม่ต่างกับรูป Ashes (1894 –1895) ของมุงก์ ที่เปรียบเทียบความรักที่เผาไหม้จนเหลือเพียงเถ้าถ่านของคู่รักคู่หนึ่ง ฝ่ายชายเต็มไปด้วยความดำมืด ไม่แม้แต่จะมองคนรักของเขาที่แหวกชุดสีขาวบริสุทธิ์ เผยให้เห็นชั้นในสีแดงอันเย้ายวนด้วยซ้ำ
การเปลี่ยนแปลงของเบลล่าเองก็ทำให้เรานึกถึงภาพ Woman in Three Stages (1894–1944) หรือในชื่อ Sphinx ของมุงก์ เปรียบผู้หญิงเหมือนสฟิงซ์สัตว์ในตำนานมีหัวเป็นผู้หญิงและมีตัวเป็นสิงโต คอยถามนักเดินทางว่า “อะไรเอ่ย ตอนเช้าเดินสี่ขา ตอนเที่ยงเหลือสองขา และตอนเย็นเพิ่มเป็นสามขา” คำตอบคือมนุษย์ที่ตอนแบเบาะคลานสี่ขา ตอนโตเดินตั้งตรงและตอนแก่มีไม้เท้า แต่ในภาพนี้ มุงก์เทียบหญิงสาวเป็นสามช่วงเช่นเดียวกับที่สฟิงซ์ ช่วงแรกคือความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ช่วงสองกลับกลายเป็นร่างเปลือยเปล่าเหมือนโสเภณีและช่วงสุดท้ายกลับดำสนิทไร้ชีวิตชีวา ไม่ต่างกับเบลลาที่ในช่วงแรกไม่เข้าใจแม้แต่ว่าดันแคนล่วงเกินเธอ จนเธอสนุกสนานไปกับการพาร่างกายไปค้นหาความสุข และจบด้วยความไม่แยแสต่อเพศสัมพันธ์ของชายหนุ่มที่จ่ายเงินให้เธอ ชุดสีดำของเบลล่าอาจเปรียบถึงความตายด้านของชีวิตชีวา และพาเธอไปพบกับความตายของก็อดวิน ที่เปรียบเหมือนพ่อของเธอ
Rene Magritte
คนสุดท้ายที่อดพูดถึงไม่ได้ แต่เกิดในยุคนี้ คือ เรอเน มากริต ศิลปินลัทธิเหนือจริงหรือ Surrealism ด้วยรูป The Great War (1964) ที่ทั้งชุดเดรสสีขาว ดอกไม้ และการมีอะไรบางอย่างบังหน้า ต่างคล้ายคลึงกับฉากแต่งงานของเบลลา
The Great War เป็นเหมือนภาพวาดพี่น้องกับอีกภาพที่โด่งดังกว่าอย่าง The Son of Man (1946) หรือภาพชายหน้าแอปเปิลที่เราคุ้นเคย แต่ใน The Great War มากริตเปรียบเทียบสงครามด้วยหญิงสาวสูงศักดิ์ในชุดขาวแสนสวย เราไม่ต้องเห็นใบหน้าของเธอก็รู้ได้ว่าเธอเป็นสาวสวยที่คนทั่วไปไม่อาจเอื้อมถึง เช่นเดียวกับสงครามที่มีราคาแพงทั้งค่าอาวุธและชีวิตที่เสียไปจากสงคราม แต่ถึงกระนั้น สังคมวิกตอเรียนก็ยกย่องผู้ก่อสงคราม ทั้งนายพลและทหารกล้าต่าง ๆ ด้วยยศถาบันดาศักดิ์ เช่นเดียวกับหมวกใหญ่อู้ฟู่ที่เธอสวมอยู่ แต่ในทางกลับกัน สงครามพรากชีวิตที่มีอยู่ และชีวิตที่กำลังจะมีไปเสียหมด ดอกไม้ที่บังหน้าเธออยู่เป็นได้ทั้งดอกไม้ในพิธีวิวาห์ และดอกไม้ในงานศพ เธอกลายเป้นเหมือนเจ้าสาวที่รอเจ้าบ่าวกลับจากการไปสู้รบตลอดไป
ในฉากแต่งงานของเบลลาเอง คนที่มาหยุดพิธีก็คือ อัลเฟรด นายพลยศใหญ่ที่พาเธอกลับไปอยู่ในที่ที่เธอจากมาก่อนที่เธอจะได้ชีวิตใหม่ เบลลาผู้สงสัยในชีวิตเก่าจึงยอมตามเขาไป เพื่อเรียนรู้ว่าตัวตนเก่าที่ชื่อ ‘วิกตอเรีย’ ของเธอเป็นใคร วิกตอเรียแห่งยุควิกตอเรียนเป็นชื่อที่พ้องเสียงกันอย่างจงใจ ส่วนอัลเฟรดเองก็เปรียบเสมือนจุดสูงสุดของความเย่อหยิ่งของจักรวรรดิอังกฤษ นายพลผู้เต็มไปด้วยเกียรติยศศักดิ์ศรีคิดว่าเขาสามารถครอบครองผู้หญิงได้ไม่ต่างกับที่จักวรรดิอังกฤษสามารถครอบครองประเทศใต้อาณานิคมจนเป็นเจ้าผู้ครองโลกในยุควิกตอเรียนได้ และน่าเศร้าที่วิธีเดียวที่จะมอบ ‘ชีวิตใหม่’ ให้ชายที่ยึดติดกับอดีตอันยิ่งใหญ่ได้มีแค่การผ่าตัดเปลี่ยนสมองเขาเท่านั้น
สำหรับเราแล้ว เบลลาเปรียบเสมือนผลผลิตของการปล่อยเด็กอันไร้เดียงสาให้ได้เผชิญกับโลกความเป็นจริง ตัวตนของเบลลาที่เติบโตไม่ได้ถูกหล่อหลอมโดยพ่อ แม่ หรือเพื่อนในวัยเดียวกัน แต่กลับเป็นคนแปลกหน้าในสังคมที่ก่อร่างสร้างตัวตนของเธอขึ้นมา หลายคนอาจมองว่าเบลล่านั้นน่าสงสารในหนังเรื่องนี้ เบลลาไม่ควรเกิดมาในโลกยุคสิ้นสุดศัตวรรษที่เต็มไปด้วยความโกลาหล แต่เธอกลับดูเป็นคนที่มีความสุขที่สุดในหนังด้วยซ้ำ เพราะเธอไม่ต้องโดนตีกรอบโดยสังคม สิ่งที่ถูกมองว่าตกต่ำที่สุดสำหรับผู้หญิงกลับกลายเป็นการทดลองของเธอ และเธอมองโลกด้วยสายตาอันเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็นของเด็กที่เกิดใหม่ในร่างที่พร้อมจะออกไปเผชิญโลกภายนอก เธอผ่านโลกมาในเวลาอันสั้นและคงพร้อมที่จะโอบรับการเริ่มต้นของศัตวรรษที่ 20 ด้วยความตื่นเต้นไม่ต่างกับตอนที่สมองเธอยังเป็นเด็ก ต่างกับคนรอบตัวเธอที่ถูกสังคมกำกับเอาไว้ ด้วยเกียรติ ศักดิ์ศรี หน้าที่ ความเป็นชาย อุดมการณ์ ความเชื่อ และที่สำคัญ เงินทอง มนุษย์คืออะไรกันแน่ หากไม่ใช่สิ่งที่ถูกหล่อหลอมโดยสภาพสังคม คนที่ยังยึดติดกับกรอบล่องหนในศัตวรรษเดิมต่างหากที่น่าสงสารที่สุด
บทความโดย พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ