KANDA : น้อย หน้านิ่ง แต่อารมณ์มาก

Post on 24 January

ไม่มากก็น้อย เราเชื่อว่าหลายคนต้องเคยเห็นงานของ KANDA หรือขวัญ–กานดา ตั้งตรงจิตรไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

อาจเป็นหน้าปกหนังสือ, Key Visual นิทรรศการ หรือบนสินค้าต่างๆ แต่ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่างานดิจิทัลอาร์ตของเธอมีลายเซ็นที่แสนเป็นเอกลักษณ์ 

ลายเส้นที่น้อย หน้าเรียบเฉย และองค์ประกอบภาพที่แสนพอดี เหล่านี้คงเป็นคำจัดกัดความคร่าวๆ ที่พออธิบายงานของ KANDA แต่สิ่งที่เรารู้สึกมากไปกว่านั้นคืออารมณ์ที่ซ่อนอยู่ 

หลายครั้งที่เห็นงาน KANDA เรามักคิดถึงภาพคนที่ยืนอมยิ้มพร้อมกับนัยตาเศร้า คล้ายความรู้สึกที่ซ้อนทับกันหลายชั้น ตรงกันข้ามกับหน้าเด๊ดที่อยู่ในภาพอย่างสิ้นเชิง

“ในการทำงานขึ้นมาสักชิ้น เราจะตั้งต้นจากความอยากเล่า ประสบการณ์และความรู้สึกจะเป็นตัวกระตุ้น แต่หลังจากนั้นเราจะมาเลือกวิธีเล่าอีกทีว่าอยากเล่าแบบไหน” เมื่อถามถึงวิธีคิดงาน KANDA เฉลยให้เราฟังดังนี้ “ต่อให้เรื่องที่กระทบใจจะดาร์กมาก แต่เราจะเอาตรงนั้นมาเลือกอีกทีว่าอยากให้งานออกมาแบบไหน อาจออกมาดาร์กก็ได้ หรือสนุกเสียดสีไปเลยก็ได้เหมือนกัน 

“มันแล้วแต่ประสบการณ์ในตอนนั้น เช่น กับความทุกข์หนึ่งเรื่อง ตอนเด็กเราอาจวาดออกมาดาร์กมาก เพราะตอนนั้นเราคิดแบบนั้น แต่พอโตขึ้นและเจอเรื่องเดิมซ้ำๆ ความรู้สึกเราเบาบางลง เพราะชีวิตและเวลาที่เหลือน้อยลงเรื่อยๆ มันทำให้เราไม่อยากแบกเรื่องเดิมเท่าเดิมอีก เหมือนเราอยู่กับมันได้มากขึ้น ลองเอ็นจอยกับความทุกข์ได้ ซึ่งมันส่งผลให้เราพบวิธีการทำงานในรูปแบบใหม่

“แต่ยังไงเราก็ยังชอบวาดคนที่ไม่มีความรู้สึก หน้านิ่งๆ เหมือนเดิมนะ อาจเป็นเพราะเราไม่อยากมีความรู้สึกด้วย เราอาจอยากให้กำลังใจตัวเองอ้อมๆ บางทีงานก็อาจเป็นเหมือนกระจกสะท้อนตัวเราออกมา” 

จะเห็นได้ว่าเพราะแนวคิดตั้งต้นนี้เอง ที่ทำให้ภาพของ KANDA มีลายเซ็นโดดเด่น แม้หลายภาพอาจมีความกวนไปจนถึงขบขัน แต่ภายใต้หน้านิ่งเหล่านั้นเรากลับสัมผัสถึงอารมณ์ที่มากกว่าที่ซ่อนอยู่ ซึ่งกับเรื่องนี้ยังสะท้อนไปถึงอีกหนึ่งอย่างที่ KANDA ให้ความสำคัญ นั่นคือความพอดีของน้ำเสียงและองค์ประกอบ 

“เวลาเราวาด เราคิดเสมอว่าภาพตรงหน้าสื่อสารเรื่องที่เราอยากพูดหรือยัง ถ้าสื่อสารแล้ว น้ำเสียงของภาพอยู่ในจุดที่อยากได้ยินแล้วใช่ไหม ถ้าทุกอย่างโอเค แม้ภาพจะน้อย เราก็โอเค ถ้ามากไปกว่านั้น มันอาจเหมือนงานกำลังพูดด้วยน้ำเสียงที่เราไม่อยากฟัง ดังนั้นเราจึงเน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษ”

ด้วยงานที่ใช้มุมมองและอารมณ์ต่อเรื่องรอบตัวเป็นตัวนำนี้เอง ในทุกๆ ปีงานของ KANDA จึงเปรียบเหมือนบันทึกส่วนตัว อย่างกับปีนี้ เธอกำลังสนใจและสำรวจตัวเองในประเด็น ‘ความกลัว’ จนออกมาเป็นงานหลายชิ้นที่เธออยากชวนคนดูลองสำรวจสิ่งนี้ไปด้วยกัน แต่สำหรับในปีต่อไปจะเป็นอะไร คงไม่มีใครตอบได้ แต่สิ่งหนึ่งที่มั่นใจได้แน่ๆ คืองานของเธอในช่วงเวลานั้นๆ จะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ยืนยันความรู้สึกของเธอแน่นอน 

และมันจะแฝงนัยยะของความเติบโต รวมถึงการมองโลกของเธออย่างไม่ต้องสงสัย

 

ติดตามผลงานของ KANDA ได้ที่ [studiokanda.com ](https://studiokanda.com/?fbclid=IwAR2-4yiqHfJE-uRdo2SALihu6wTjGaE4DecvyZ7KYkaup2rn-tbJW9OFFqk) hicetnunc.art/kandanft [twitter.com/kandanft](https://twitter.com/kandanft?fbclid=IwAR35gZVl1JeRgweYetZBgjY6hJ9LQmczlxygI5PzR6i3L0M7bkryHF65_vg) [twitter.com/studiokanda](https://twitter.com/studiokanda?fbclid=IwAR3RA8tlvmtsySUCssh1TZSxKy9Pf2yHVlnyuUGg1_WbwVnag4IjUGbnrMM) และ [instagram.com/studiokanda](https://www.instagram.com/studiokanda/?fbclid=IwAR1qlknieKBQsIUdC8yPfIg_WfqHrgprGqL0btIHSnCM-pawRedO4Kq1rmQ)