จังหวะ แรงสั่นสะเทือนและการเคลื่อนไหวที่รายล้อม Motion Pictures (2023)

Art
Post on 14 August

เขียนโดย กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ

Motion Pictures (2023) เป็นผลงานศิลปะจัดวางของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จัดแสดงที่โรงเรียนบ้านแม่มะ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ส่วนหนึ่งของผลงานในเทศกาลศิลปะ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 ระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2566 – 30 เมษายน พ.ศ. 2567 โดยมี ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช, กฤติยา กาวีวงศ์, มนุพร เหลืองอร่าม และ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ เป็นภัณฑารักษ์ ผลงานดังกล่าวชวนให้ผู้เขียนสำรวจแรงสั่นสะเทือนเป็นวัฏจักรของสรรพสิ่ง ผ่านความทรงจำและการสั่นไหวของตะกอนจากเทือกเขาหิมาลัยที่ไหลมายังเชียงแสน การเคลื่อนไหวของเปลือกโลกและพญานาค ซากผีและอาคารปรักหักพังของอาณาจักรโบราณก่อนการเข้ามาของศาสนาพุทธทางการและรัฐสยามที่พยายามเข้าควบคุมอาณาจักรทางตอนเหนือ ในทางหนึ่ง Motion Pictures (2023) จึงเสมือนพิธีกรรมปลุกผีดิบขึ้นมาอีกครั้งและเป็นการตั้งคำถามถึงวิกฤตทางนิเวศน์ที่แยกไม่ขาดออกจากบาดแผลทางการเมืองของพื้นที่เฉพาะในมนุษยสมัย

เส้นทางของตะกอนและความทรงจำจากการผุกร่อน

ตะกอนจากการละลายของหิมะและการผุกร่อนของเทือกเขาหิมาลัยตอนบน ไหลเรื่อยมาจากที่ราบสูงทิเบต จีน พม่า ลาว จนมาถึงไทยที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน อัตราการไหลตะกอนที่เชียงแสนประมาณ 58.4 ล้านตันต่อปี จากข้อมูลการขุดค้นของคณะธรณีวิทยาในปี ค.ศ. 2008 แม่น้ำโขงเกิดจากการเลื่อนตัวของเปลือกโลกจากการพบหินภูเขาไฟอายุ 1.7 ล้านปี ลำดับชั้นบนสุดของตะกอนในแม่น้ำหลักฐานเชื่อมโยงกับยุคหินใหม่ และยังรวมไปถึงการก่อตั้งอาณาจักรล้านนาในศตวรรษที่ 14 จากการค้นพบกำแพงเมืองที่กร่อนสลายลงในแม่น้ำ 

การเคลื่อนตัวและกระบวนการธรณีแปรสัณฐานในแนวระนาบของรอยเลื่อนแม่จันทำให้ที่ราบน้ำท่วมถึงในเชียงแสนขยายตัวมากขึ้น การสร้างเขื่อนม่านวาน ในมณฑลยูนนาน ตั้งแต่ปี ค.ศ.1992 ส่งผลกระทบต่อการไหลตะกอน สัณฐานและความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ รวมไปถึงน้ำท่วมที่เกิดขึ้นน้อยลง จังหวะของน้ำท่วมตามฤดูกาลและการไหลของตะกอนเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่สำคัญต่อชีวิตของแม่น้ำ ที่ราบน้ำท่วม การอพยพของปลา และการแบ่งปันแร่ธาตุ 

ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนยังรวมไปถึงการเสื่อมถอยของพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งอาศัยน้ำท่วมชั่วคราวเป็นบางเวลา เวียงหนองหล่มคือพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญทางใต้ของแอ่งแม่สายซึ่งเกิดจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนแม่จัน แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่พบหลักฐานของการมีอยู่ของอาณาโยนกนครในยุคตำนานของอาณาจักล้านนาซึ่งล่มสลายลงเพราะแผ่นดินไหวเมื่อ ค.ศ. 460 

ตะกอนในเวียงหนองหล่มส่วนใหญ่มีอายุย้อนไปถึงสมัยโฮโลซีน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของยุคหินใหม่ที่มนุษย์เริ่มเคลื่อนย้ายราว 10,000 ปีก่อน การตกตะกอนตามธรรมชาติประกอบกับการกิจกรรมของมนุษย์ที่มีการใช้เทคโนโลยีนำไปสู่การเสื่อมสลายของพื้นที่ชุ่มน้ำในบริเวณพื้นที่อำเภอแม่จันและอำเภอเชียงแสน ปัจจัยสำคัญคือการกว้านซื้อที่พื้นที่โดยนักลงทุนนำไปสู่การโยกย้ายถื่นฐานและการแก่งแย่งหางานนอกภาคการเกษตร นี่ทำให้เห็นถึงเส้นทางการพัดพาตะกอนขนาดเล็กเป็นส่วนหนึ่งของปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และระบบนิเวศน์

การเคลื่อนไหวของพญานาคและการควบคุมให้หยุดนิ่ง

ในตำนานเวียงหนองหล่มยังเชื่อมโยงกับความเชื่อก่อนศาสนาพุทธเรื่องการบูชาพญานาคซึ่งถักถอกับชีวิตประจำวันของผู้คน เมื่อพญาไชยชนะ กษัตริย์ผู้ปกครองโยกนกนครโดยขาดทศพิธราชธรรม สั่งให้ฆ่าปลาไหลเผือก (ลูกของพญานาค) ที่ชาวบ้านจับได้และแจกจ่ายให้ประชาชนนำไปสู่ล่มสลายของอาณาจักรเพราะความพิโรธของพญานาค และเป็นจุดเริ่มต้นของยุคพญามังรายราวศตวรรษที่ 1316-17 

พญานาคซึ่งอาศัยในแม่น้ำ มีอิทธิพลต่อการควบคุมฟ้าฝน การเคลื่อนไหวของพญานาคสัมพันธ์กับภูมิทัศน์ของแม่น้ำ แผ่นดินไหว และน้ำท่วม ผู้คนจำนวนหนึ่งมองว่าตนเองเป็นลูกหลานของพญานาคซึ่งสร้างผัสสะของชุมชนในเชียงแสน นี่แสดงให้เห็นว่าพญานาคถือเป็นผู้กระทำการในเครือข่ายโยงใยของการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศน์ อำนาจทางการเมือง และการเติบโตทางระบบเศรษฐกิจ วัดป่าหมากหน่อสร้างขึ้นด้วยแนวคิดพุทธนอกขนบก่อนศตวรรษที่ 14 โดยหันหน้าอุโบสถไปยังบริเวณเวียงหนองหล่มซึ่งแตกต่างจากวัดที่สร้างขึ้นหลังจากนั้นในตัวเมืองเชียงแสนอันได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธที่ได้รับการอุปถัมป์โดยรัฐโบราณ ได้แก่ วัดป่าสัก ซึ่งสร้างโดยพญาแสนภู (หลานของพญามังราย) โดยอุโบสถและพระประธานจะต้องหันไปยังทิศตะวันออก ภูมิตำนานร้อยรัดสิ่งที่มนุษย์ไม่รู้กับความปรารถนาที่ต้องการดำรงอยู่กับพื้นดินอย่างเคารพ

อย่างไรก็ตามพญานาคสามารถดำรงอยู่กับศาสนาพุทธทางภาคเหนือได้อย่างแนบเนียน การสร้างวัดป่าสักเป็นการผสมผสานระหว่างหลากหลายวัฒนธรรม ศาสนาฮินดูและพุทธมีอิทธิพลต่อแนวคิดธรรมราชาและเทวราชาเป็นการมาเกิดของพระวิษณุ ซึ่งเชื่อมโยงกับเทือกเขาหิมาลัย ชุมชนก่อนการเกิดรัฐหรือรัฐยุคแรกๆ ในเชียงแสนก่อนศตวรรษที่ 14 มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ตำแหน่งลำดับชั้นเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลาสอดคล้องกับระบบที่อำนาจกระจายไปทั่วซึ่งพบในชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายกลุ่ม และถึงแม้ว่าวัดที่สร้างขึ้นหลังจากศตวรรษที่ 14 จะมีความเป็นลำดับชั้นมากขึ้น เช่น การแบ่งระหว่างส่วนเขตสังฆาวาสและเขตธรณีสงฆ์ ก็ยังมีองค์ประกอบที่เป็นแนวระนาบอยู่

การดำรงอยู่ระหว่างพุทธและผีเป็นสิ่งที่พบได้ในพุทธแบบไม่เป็นทางการเช่น ครูบาบุญชุ่มผู้เกิดที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายในปี ค.ศ.1965 และมีอิทธิพลต่อความเชื่อในกลุ่มชาติพันธุ์ชาวฉาน ลื้อ ลาหู่ ว้า ยังรวมไปถึงชนชั้นกลางไทย และกองทัพพม่า กลุ่มชาติพันธุ์ผนวกรวมครูบาบุญชุ่มเข้ากับตำนานความเชื่อ เช่น การเป็นผู้ปลดแอกของชาวฉาน และกื่อชาของลาหู่ ซึ่งขัดแย้งกับพุทธเถรวาทที่พยายามเข้าควบคุมศาสนาพุทธทางภาคเหนือช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จนนำไปสู่กบฎผู้มีบุญซึ่งใช้วิธีการสร้างศาสนสถานเพื่อสั่งสมบุญบารมี คัดง้างกับการควบคุมของรัฐสยาม เช่นเดียวกับการแข่งขันสร้างวัดช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เจ้าอุปราชคำตุ้ย ผู้นำท้องถิ่นบูรณะวัดพระสิงห์ ในขณะที่ข้าหลวงสยามบูรณะวัดจันทโลกกลางเวียง รวมถึงการปล้นและย้ายพระพุทธรูปสำคัญในเชียงแสนเพื่อทำลายความชอบธรรมของผู้นำท้องถื่นเดิม 

การเคลื่อนย้ายและการจำลองพระพุทธรูป

ผลงาน “ภาพเคลื่อนไหว” ของอภิชาติพงษ์เชื่อมโยงกับการสั่นสะเทือนอาคารโรงเรียนบ้านแม่มะและรอยเลื่อนแม่จัน จังหวะการเคลื่อนที่ของตะกอน พื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำ พญานาค และแรงงานพลัดถิ่น รวมถึงปฏิเสธการหยุดนิ่งในภาพแทนของลำแสง จังหวะของผีดิบและพระพุทธรูปรบกวนระเบียบและเชื่อมโยงเรือนร่างเข้ากับจักรวาล ภาพแทนที่เกิดจากผลิตซ้ำในวงจรอนันต์จึงเป็นพื้นที่และเวลาของศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงและต่อต้านอัตลักษณ์ที่เฉยชา แต่ก็อาจดำรงไว้ซึ่งความจริงที่ไม่ถูกตั้งคำถาม อย่างไรก็ตาม “ภาพเคลื่อนไหว”เน้นย้ำว่าการผลิตซ้ำไม่ใช่การตามหาความสมบูรณ์และลำดับชั้นแบบรวมศูนย์ หากแต่พฤติกรรมซ้ำๆ ในกิจวัตรประจำวันอันแสนธรรมดากลับเป็นเสมือนพิธีกรรมแห่งการดูแลทั้งในระดับปัจเจคและชุมชน

การเคลื่อนย้ายของพระพุทธสิหิงค์และพระแก้วมรกต (ซึ่งค้นพบที่วัดป่าเยี้ยะ อำเภอเมืองเชียงราย) ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงถึงบทบาททางการเมืองเนื่องจากความเชื่อว่ามีผีสถิตในพระพุทธรูป ซึ่งให้พุทธคุณด้านความความมั่งคั่งและการปกปักรักษา อำนาจศักดิ์สิทธิ์ของพระแก้วมรกตถูกใช้เพื่อควบรวมอำนาจของสถาบันกษัตริย์ การทหาร และสถาบันพุทธเถรวาท นี่เองทำให้พระยาจักรี (รัชกาลที่ 1) ปล้นพระแก้วมรกตจากเวียงจันทร์ไปไว้ที่วัดอรุณราชวราราม ในปี ค.ศ. 1778 รวมถึงกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท (พระอนุชาธิราชร่วมพระราชชนก ของรัชกาลที่ 1) เชิญพระพุทธสิหิงค์มาไว้ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในปี ค.ศ.1795 หลังรบชนะเชียงใหม่ ถึงแม้จะมีข้อถกเถียงว่าพระพุทธสิหิงค์องค์ไหนเป็นต้นฉบับ25 เพราะปัจจุบันมี 3 องค์ที่ถูกอ้างตามหลักฐานประวัติศาสตร์ว่าเป็นของจริง

การผลิตซ้ำพระพุทธรูปเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสามัคคีและบารมี เช่นเดียวกับพระพุทธวิโมกข์ซึ่งหลวงปู่โง่น (ผู้เป็นพระอาจารย์ของครูบาบุญชุ่ม และได้รับแรงบันดาลใจจากครูบาศรีวิชัย) ได้สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1985 กว่า 200,000 องค์ก่อนจะส่งไปตามโรงเรียนทั่วประเทศ และในรูปแบบพระเครื่องให้แก่ทหารที่ประจำการที่ฐานภูหินร่องกล้าซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางที่ตั้งฐานที่มั่นการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของภาคเหนือ และอีกหลายแห่ง พระพุทธวิโมกข์สององค์ได้ประดิษฐานบนฐานที่มีพญานาค ณ โรงเรียนบ้านแม่มะ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ในผลงาน Motion Picture (2023) ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ส่วนหนึ่งของผลงานในเทศกาลศิลปะ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 พระพุทธวิโมกข์ถูกจัดวางไว้ด้านหน้าอาคารสีเขียวท้าทายผู้เข้าชมด้วยการทำให้ไม่สามารแยกออกได้ว่าองค์ไหนที่ตั้งมาก่อนหรือองค์ไหนที่เพิ่งถูกติดตั้งใหม่ โดยที่องค์หนึ่งหันหน้าทางทิศตะวันออก อีกองค์หันทางทิศตะวันตก

โรงเรียนบ้านแม่มะสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1960 ในเวลาที่สงครามเย็นกำลังคุกรุ่นในพื้นที่ภาคเหนือและอีสานเป็นดินแดนซ่องสุมกำลังคอมมิวนิสต์ โดยมีระบบสังฆะพุทธเถรวาทเป็นเครื่องมือของการสร้างอัตลักษณ์ของชาติและต่อต้านคอมมิวนิสต์ โรงเรียนบ้านแม่มะอยู่ไม่ไกลจากดอยซะโง้ซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวอาข่า ชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้าฝิ่นที่สำคัญในทศวรรษที่ 1950 ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลและกลุ่มทหารจีนคณะชาติก๊กมินตั๊งเพื่อแลกกับผลประโยชน์ ก่อนความนิยมจะค่อย ๆ เสื่อมลงจนถึงปลายทศวรรษ 1990 เนื่องจากความนิยมในแอมเฟตตามีน

อย่างไรก็ตามพื้นที่ชายแดนภาคเหนือในช่วงสงครามเย็นเป็นที่วิตกกังวลของรัฐบาลไทยเพราะมีการตั้งเขตปกครองตนเองของกองกำลังของคอมมิวนิสต์ทางใต้ของจีนจึงนำไปสู่ความร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐในการก่อตั้งตำรวจตระเวนชายแดนสร้างภาพแทนของ “ชาวเขา” ให้เป็นผู้ไม่มีการศึกษาและต้องการความช่วยเหลือด้วยความต้องการที่จะรักษาไว้เพื่ออำนาจแบบลำดับชั้นของรัฐไทยผ่านระบบการศึกษาและสาธารณสุข การทำให้กลายเป็นไทยเข้มข้นมากขึ้นในทศวรรษ 1960 ผ่านการทำให้ฝิ่นเป็นสารเสพติด สร้างกองกำลังของชาติพันธ์เพื่อร่วมต่อสู้คอมมิวนิสต์ และย้ายที่ฐานผู้คน

โรงเรียนบ้านแม่มะปิดตัวลงปี ค.ศ.2007 เนื่องจากนักเรียนจำนวนน้อยและถูกผนวกรวมทำให้นักเรียนต้องย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนประจำตำบล ไม่กี่ปีที่ผ่านมาโรงเรียนถูกใช้เป็นพื้นที่เรียนศาสนาพุทธของพระในทุกวันพฤหัสบดี ผลงาน Motion Picture (2023) ยังรวมไปถึง ออกแบบในใจ (Blue Encore) ซึ่งเป็นภาพวาดทิวทัศน์ของป่าเชียงราย ภาพนามธรรมสีฟ้า และท้องถนนซึ่งเป็นมุมมองจากด้านหลังของคนขับ ภาพทั้งสามของศิลปินเชียงราย ได้แก่ นพนันท์ ทันนารี และ อำนาจ ก้านขุนทด ถูกนำไปพิมพ์ลงบนม่านลิเกที่เคลื่อนไหวไปมาอย่างไร้รูปแบบ ด้านหลังเป็นกระดานไวท์บอร์ดในรายวิชาการออกแบบผลงาน ซึ่งมีขั้นตอนแรกคือ “การออกแบบในใจ” และขั้นตอนสุดท้าย “ทำซ้ำ ๆ ให้ดีกว่าเก่า”

ซากศพที่ทวงถามความยุติธรรม

ห้องที่ติดกันเป็นผลงาน ผีตาโบ๋ (ห้องฉายหนัง) เป็นวิดิโอฉายวนซ้ำ อันเป็นการทำซ้ำของภาพยนตร์โดยนพพล โกมารชุน ในชื่อเดียวกันเมื่อ ค.ศ. 1981 ผลงานของอภิชาติพงษ์หรือการทำให้ผู้ชมมึนงงราวกับต้องมนต์คล้ายกับการเป็นผีดิบเป็นโอกาสของการคิดทบทวนทัศนียภาพที่เงียบสงบซึ่งอาจเป็นทั้งการหลีกหนีจากความจริง และเป็นการนำเสนอความเกี่ยวรัดระหว่างประวัติศาสตร์มนุษย์และระบบนิเวศน์ นี่จึงเป็นการสลายเส้นกั้นระหว่างมนุษย์และผีดิบ อำนาจของศพจึงเป็นมากกว่าสัญลักษณ์ของการสูญเสียหรือการวิพากย์สังคม

เมื่อเราเดินเข้าไปใน ห้องฉายหนัง จะพบเก้าอี้สำหรับนั่งดู ผีตาโบ๋ และโต๊ะเรียนมีหยากไย่เกาะชวนให้นึกถึงฉากที่ป้าเจนเดินเข้าไปในห้องเรียนรกร้างกลางดึกใน รักที่ขอนแก่น (2015) เธอครุ่นคิดถึงสัตว์ประหลาดคล้ายองคชาตที่ถูกตอนหรือสิ้นสมรรถภาพ สถานะของเธอจึงก้ำกึ่งระหว่างการกลายเป็นผู้ตื่นและหลับจากสภาวะที่อำนาจอธิปัตย์ทำให้ม่อยหลับและเฉื่อยชาราวกับผีดิบในโรงเรียนที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นโรงพยาบาลรักษาทหารผู้ล้มป่วยด้วยโรคเหงาหลับ พร้อมๆกับโครงการรัฐบาลซึ่งกำลังขุดค้นอาณาจักรโบราณรอบๆ โรงเรียน

ด้านหลังของจอฉายหนังคือห้องฉายแสง ไม่มีเก้าอี้ให้นั่งและปราศจากเสียงประกอบภาพแต่เรารู้ได้จากการสั่นของอาคารราวกับเราได้เฝ้ามองมหรสพหลังฉาก ในห้องนี้เองที่เราเห็นภาพหักเหซ้อนเป็นสองชั้นต่างจากห้องฉายหนังที่จะเป็นภาพคมชัดเพราะโฮโลแกรมฟิล์ม การเห็นภาพสองชั้นชวนให้ตั้งคำถามถึงการเลี้ยวเบนอันหมายถึงคลื่นที่เลี้ยวโค้งตามวัตถุกีดขวาง คาเรน บาราด (2007) นักฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-ซานตาครูซ เสนอว่านี่คือการเผยให้เห็นแสงในฐานะผู้กระทำ การสร้างความรู้เกิดจากปฏิสังสรรค์และความแตกต่างหลากหลาย และต่อต้านแนวคิดว่าความจริงเป็นสิ่งที่เฉื่อยชารอการค้นพบ ตรงข้ามกับการสะท้อนในกระจกที่เป็นการพยายามเทียบกับความจริงซึ่งหมกมุ่นกับความจริงแท้และต้นฉบับ อันเป็นมรดกของมนุษยสมัยซึ่งแยกขาดจากยุคโฮโลซีนเมื่อราวศตวรรษที่ 1813 เมื่อมนุษย์เริ่มออกล่าอาณานิคม

ภาพโฮโลแกรมซึ่งเกิดจากการม้วนพับข้อมูลถ่ายโอนเป็นเคลื่อนของแสงและคลื่คลายกลายเป็นภาพ กระบวนการที่ต่อเนื่องนี้เผยให้เห็นวัฏจักรของการขมวดและคลายที่ไม่หยุดนิ่ง รวมถึงการเชื่อมโยงของวัตถุซึ่งปรากฏขึ้นจากปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ ในโลก การเคลื่อนไหวนี้ท้าทายการรับรู้ว่าสิ่งต่างๆดำรงอยู่แยกขาดจากกันและเป็นเอกเทศ การสั่นไหวของร่างกายของเราเชื่อมโยงกับโครงอาคารที่กำลังผุงพัง ผีดิบ พระพุทธรูป และตะกอนในสายน้ำพญาคนาค “ภาพเคลื่อนไหว”เผยให้เห็นสภาวะระหว่างของสรรพสิ่ง สลายเส้นกันระหว่างมนุษย์และสิ่งอื่น ๆ ประกอบเป็นช่วงเวลาของการปลดปล่อยเรือนร่างจากจังหวะแบบพุทธเถรวาทที่เฉื่อยชา ท่ามกลางระบอบอาณานิคมที่แผ่ขยายตัดข้ามพรมแดนรัฐประชาชาติโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป การร่ายรำของเสียงและแสงในของอภิชาติพงษ์จึงเป็นการสร้างบทสนทนาให้เราทบทวนถึงจริยธรรมของการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างไรในเครือข่ายที่เหนือพ้นไปจากมนุษย์

เชิงอรรถ

[1] ภัณฑารักษ์ได้รับแรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปปางเปิดโลกที่วัดป่าสัก ซึ่งเล่าถึงการเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงหลังจากโปรดพระมารดา พระพุทธองค์ทรงทำโลกวิวรณปาฏิหาริย์ คือ ทรงเปิดโลกทั้ง 3 อันได้แก่ เทวโลก ยมโลก และมนุษยโลก ให้มองเห็นถึงกันหมด โดยพญานาคได้มารับเสด็จพระพุทธเจ้าด้วยการพ่นลูกไฟ และเป็นวันที่พระสงฆ์สามารถกล่าวตักเตือนได้ โดยไม่กำจัดด้วยยศ ชั้น พรรษา และวัย ส่วนสัญลักษณ์ของงานคือรูปลูกตาห้าลูกโดยได้แรงบันดาลใจจากแมงสี่หูห้าตา ตำนานพื้นถิ่นเล่าเรื่องทุกคตะ ยาจกผู้กลายเป็นกษัตริย์ทรงธรรมเพราะครองในศีล 5 และอิทธิบาท 4 นี่จึงดูเหมือนเป็นความพยายามในการท้าทายระบอบอาณานิคมสยามที่มีมาอย่างน้อยตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19

[2] ภาพยนต์ดั้งเดิมเล่าเรื่องกำพล นักวิทยาศาสตร์ผู้มีฐานะ และพยายามตามหาลูกตาให้กับภรรยาของตนที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนสูญเสียการมองเห็น ลูกน้องของเขาทำงานแลกกับสารเสพติดเพื่อไปตามหาเหยื่อ ได้แก่ ผู้หญิงและชายแก่เที่ยวสถานบันเทิงแต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจ จนกระทั่งกำพลไปพบกับพรโดยบังเอิญ เขาหลงรักลูกตาคู่สวยของพร ชายหนุ่มชั้นแรงงานผู้กำลังเดินสมัครงานแถบนอกชานเมืองกรุงเทพฯ พรช่วยกำพลซ่อมรถ หลังจากนั้นเขาก็ออกอุบายจ้างพรให้ไปช่วยงานที่บ้าน เขาตกหลุมเชื่อก่อนจะถูกนำเข้าห้องผ่าตัด นำลูกตาไปให้ภรรยาด้วยความหวังว่าจะได้ออกไปใช้ชีวิตภายนอก แต่กลายเป็นว่าพร ในร่างผีดิบออกมาหลอกหลอนพวกเขาทุกคืนจนออกไปไหนไม่ได้ พวกเขารอดได้เพราะสายสิญจน์อาคมของหมอผี พรไปเข้าฝันภรรยาของเขาให้ไปช่วยถึงสายสิญจน์ออก พรจัดการล้างแค้นทุกคน ควักลูกตาของเขาออกจากเบ้าตาภรรยาของกำพล ดวงตาของพรพุ่งไล่ล่าเข้าไปยัดลูกตาใส่ทุกคนที่ยังมีชีวิต ภรรยาของเขาขออโหสิกรรมให้กับหมอผีเพราะเธอมองว่าเขาก็ได้รับการว่าจ้างหาเงินเลี้ยงครอบครัวไม่ต่างจากเรา พรโอบกอดลุกครั้งสุดท้ายก่อนดวงอาทิตย์จะขึ้นในตอนเช้า ร่างของเขาไหม้สลายกลายเป็นส่วนหนึ่งของผืนดิน

อ้างอิง

1.R. Kumphorn. The Mekong School. Effects, Changes, and What Remains of The Mekong River. [Internet]. The Mekong School; 2024 [cited 2024-05-09]. Available from: https://mekongschool.org/en/effects-changes-and-what-remains-of-the-mekong-river/.
2. WWF. General Information of the Mekong River. https://www.worldwildlife.org/stories/a-river-that-splits-and-unites.
3. Wood, Spencer & Ziegler, Alan & Bundarnsin, Tharaporn. (2008). Floodplain deposits, channel changes and riverbank stratigraphy of the Mekong River area at the 14th-Century city of Chiang Saen, Northern Thailand. Geomorphology. 101. 510-523. 10.1016/j.geomorph.2007.04.030.
4. Lu, Xi Xi & Li, Siyue & Kummu, Matti & Padawangi, Rita & Wang, Jianjun. (2014). Observed changes in the water flow at Chiang Saen in the lower Mekong: Impacts of Chinese dams?. Quaternary International. 336. 10.1016/j.quaint.2014.02.006.
5. Laska, Shirley & Morrow, Betty. (2006). Social Vulnerabilities and Hurricane Katrina: An Unnatural Disaster in New Orleans. Marine Technology Society Journal. 40. 16-26. 10.4031/002533206787353123.
6. Bremner, Lindsay. (2020). Sedimentary Ways. GeoHumanities. 7. 10.1080/2373566X.2020.1799718.
7. Grundy-Warr, C. and Lin, S. (2020), The unseen transboundary commons that matter for Cambodia's inland fisheries: Changing sediment flows in the Mekong hydrological flood pulse. Asia Pac. Viewp., 61: 249-265. https://doi.org/10.1111/apv.12266
8. Parrinello, Giacomo & Kondolf, george 'mathias. (2021). The Social Life of Sediment. Water History. 13. 10.1007/s12685-021-00280-w.
9. Klaver I. 3 Radical Water. In: (ed.) Hydrohumanities: Water Discourse and Environmental Futures. Berkeley: University of California Press; 2021. p.64-88. https://doi.org/10.1515/9780520380462-007.
10. Rice, J. (2013). Controlled Flooding in the Grand Canyon: Drifting Between Instrumental and Ecological Rationality in Water Management. Organization & Environment, 26(4), 412-430. https://doi.org/10.1177/1086026613509250.
11. Sneddon, Chris. (2007). Nature's Materiality and the Circuitous Paths of Accumulation: Dispossession of Freshwater Fisheries in Cambodia. Antipode. 39. 167 - 193. 10.1111/j.1467-8330.2007.00511.x.
12. Wood, Spencer H.; Singharajwarapan, Fongsaward S.; Bundarnsin, Tharaporn; and Rothwell, Eric. (2004). "Mae Sae Basin and Wiang Nong Lom: Radiocarbon Dating and Relation to the Active Strike-Slip Mae Chan Fault, Northern Thailand". Proceedings, International Conference on Applied Geophysics, 26-26 November, 1994, Chiang Mai Thailand, 60-69.
13. ตรงใจ หุตางกูร. นัทกฤษ ยอดราช. แอนโธรพอซีน (Anthropocene). [Webpage]. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) [Internet]. 2021 [cited 2024-05-09]. Available from: https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/224.
14. Hempattarasuwan, N., Untong, A., Christakos, G. et al. Wetland changes and their impacts on livelihoods in Chiang Saen Valley, Chiang Rai Province, Thailand. Reg Environ Change 21, 115 (2021). https://doi.org/10.1007/s10113-021-01842-7
15. Moonkham, Piyawit & Cassaniti, Julia. (2017). MYTHSCAPE: AN ETHNOHISTORICAL ARCHAEOLOGY OF SPACE AND NARRATIVE OF THE NAGA IN NORTHERN THAILAND.
16. ศูนย์วัฒนธรรมนิทัศน์และพิพิธภัณฑ์เมืองเชียงราย 750 ปี
17. Moonkham, Piyawit. (2021). Ethnohistorical Archaeology and the Mythscape of the Naga in the Chiang Saen Basin, Thailand. TRaNS Trans -Regional and -National Studies of Southeast Asia. 10.1017/trn.2021.3.
18. Johnson, Andrew. (2020). Mekong Dreaming: Life and Death along a Changing River. 10.2307/j.ctv14t48xn.
19. จักรกริช สังขมณี. The Mystery of the Almost Disappearing Naga: On Urbanization and Cosmopolitics in Bangkok. MultipliCity [Internet]. 2024 [cited 2024-05-09]. Available from: https://static1.squarespace.com/static/61a8ce58fcdd5470827a88eb/t/66377d513d407a5f922d6678/1714912595434/The+Mystery+of+the+Disappearing+Naga.pdf.
20. Moonkham, Piyawit & Srinurak, Nattasit & Duff, Andrew. (2023). The Heterarchical Life and Spatial Analyses of the Historical Buddhist Temples in the Chiang Saen Basin, Northern Thailand. 70. 10.1016/j.jaa.2023.101506.
21. Cohen P. Charismatic Monks of Lanna Buddhism [Internet]. Copenhagen: NIAS Press; 2017. 272 p. Available from: https://urn.kb.se/resolve?urn=urn:nbn:se:norden:org:diva-5845.
22. ​​Building Buddhism in Chiang Rai, Thailand: Construction as Religion. 2018. Retrieved from the Digital Public Library of America, https://digital.library.wisc.edu/1711.dl/U4UP5EYXQN3678Q. (Accessed May 8, 2024.)
23. Rohman, Carrie. “‘We Make Life’: Vibration, Aesthetics and the Inhuman in The Waves.” In Virginia Woolf and the Natural World, edited by Carrie Rohman and Kristin Czarnecki, 12–23. Liverpool University Press, 2011. http://www.jstor.org/stable/j.ctt1gn6c4h.7.
24. COOLE, DIANA, and SAMANTHA FROST, eds. New Materialisms: Ontology, Agency, and Politics. Duke University Press, 2010. https://doi.org/10.2307/j.ctv11cw2wk.
25. Aulino, Felicity. Rituals of Care: Karmic Politics in an Aging Thailand. Cornell University Press, 2019. http://www.jstor.org/stable/10.7591/j.ctvfc5296.
26. ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. พระพุทธสิหิงค์ เคยจะถูกนำไปประดิษฐานที่ โบสถ์วัดพระแก้ว วังหน้า?. Museum Siam [Internet]. 2022 [cited 2024-05-09]. Available from: https://www.museumsiam.org/km-detail.php?CID=177&CONID=5795.
27. Laucirica, Teshan. The Emerald Buddha: Legend, Myth, and the Bedazzlement of History and Nation-Creation. University of Washington ProQuest Dissertations Publishing,  2023. 30527842. [Internet]. 2023 [cited 2024-05-09]. Available from: [Internet]. 2022 [cited 2024-05-09]. Available from: https://www.museumsiam.org/km-detail.php?CID=177&CONID=5795.
28. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระพุทธสิหิงค์ คือพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในศิลปะล้านนา. ศิลปวัฒนธรรม [Internet] 2019 [cited 2024-05-09]. Available from: .https://www.silpa-mag.com/history/article_4581.
29. ตำนานพระพุทธสิหิงค์. หอสมุดแห่งชาติ นครศรีธรรมราช. [Internet] [cited 2024-05-09]. Available from: https://www.finearts.go.th/nakhonsithammaratlibrary/view/12920-%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C.
30. New Amulet. [Internet]. [cited 2024-05-09]. Available from: https://www.new-amulet.com/Detail%2061-120/Detail_NP062.htm.
31. อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) [Internet]. [cited 2024-05-09]. Available from: https://thai.tourismthailand.org/Attraction/%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2.
32. จุลสารโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายประถมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) ปีที่ 2 ฉบับที่ 1. [Internet]. 2021 [cited 2024-05-09].
33. โรงเรียนบ้านแม่มะ. Thailand Biennale, Chiang Rai [Internet]. [cited 2024-05-09]. Available from: https://www.thailandbiennale.org/venues/ban-mae-ma-school/.
34. Peleggi, Maurizio. (2007). Thailand The Worldly Kingdom.
35. ชาวอาข่าดอยสะโง้ ผวาหมูดำตายทุกวันนับร้อย ร้องปศุสัตว์ฯ ช่วยหยุดอหิวาต์ระบาด. [Internet]. 2023 [cited 2024-05-09]. Available from: https://www.thairath.co.th/agriculture/agricultural-policy/2728985.
36. Ribó, Ignasi. (2020). Golden Triangle: A Material–Semiotic Geography. ISLE: Interdisciplinary Studies in Literature and Environment. 29. 10.1093/isle/isaa140.
37. Hyun, Sinae. “In the Eyes of the Beholder: American and Thai Perceptions of the Highland Minority during the Cold War.” Cold War History 22, no. 2 (2022): 153–71. doi:10.1080/14682745.2021.1928077.
38. Graiwoot Chulphongsathorn, Apichatpong Weerasethakul’s planetary cinema, Screen, Volume 62, Issue 4, Winter 2021, Pages 541–548, https://doi.org/10.1093/screen/hjab058.
39. Gardiner, Nicholas (2020) Dead as a Doornail: New Materialism and the Corpse in Contemporary Fiction. Doctoral thesis, University of Huddersfield.
40. BARAD, KAREN. Meeting the Universe Halfway: Quantum Physics and the Entanglement of Matter and Meaning. Duke University Press, 2007. https://doi.org/10.2307/j.ctv12101zq.
41. Bohm, David (1996). On Creativity. New York: Routledge. Edited by Lee Nichol.
42. Varela, Francisco J. ; Thompson, Evan & Rosch, Eleanor (1991). The Embodied Mind: Cognitive Science and Human Experience. MIT Press.