ณ มุมหนึ่งของถนนพลับพลาไชย มีอาคารสถาปัตยกรรมกึ่งโมเดิร์นตั้งอยู่ หากสังเกตที่ด้านหน้าอาคาร ทุกคนจะเห็นป้ายชื่อขนาดใหญ่ติดตั้งอยู่ ป้ายนั้นเขียนไว้ว่า ‘ยาหอมอินทรโอสถแท่งทอง 亭宮 ยาหอมอำพันทอง’ ที่บ่งบอกให้คนที่พบเห็นรับรู้ว่า อาคารแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของ ‘บริษัท ปราสาททองโอสถ จำกัด’ ผู้เป็นต้นตำรับยาหอมโบราณของไทยที่มีอายุมากกว่า 100 ปี และเมื่อวันเสาร์ที่ 10 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา อาคารแห่งนี้ก็ได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของ GroundControl และผู้คนอีกหลายคนที่สนใจในสถาปัตยกรรมเก่า ให้เข้าไปสำรวจภายในพร้อมกันในงาน ‘เรือนเฮอริเทจ openhouse ครั้งที่ 2’ จาก ‘เรือนเฮอริเทจ’
‘เรือนเฮอริเทจ’ คือกิจการของบริษัท 9 อาณาจักร จำกัด ที่ประกอบธุรกิจรับซื้อ บูรณะ ขายต่อ บ้านโบราณอย่างครบวงจร ที่ตัดสินใจจัดทัวร์สำรวจอาคารเก่าให้ทุกคนเข้าชมได้พร้อม ๆ กัน ซึ่งใน ‘เรือนเฮอริเทจ openhouse ครั้งที่ 2’ นี้ พวกเขาก็ได้ตัดสินใจพาทุกคนไปปักหมุดกันที่ ‘อาคารปราสาททองโอสถ’ เพื่อชี้ชวนให้ทุกคนได้ลองย้อนกลับไปสัมผัสกับยุครุ่งเรืองของอาคารแห่งนี้ ในฐานะฐานที่ตั้งแรกของ ‘บริษัท ปราสาททองโอสถ จำกัด’
ย้อนกลับไปในปีพ.ศ. 2465 ‘ทองคำ ช้างบุญชู’ และ ‘กานต์ พั่ววงศ์แพทย์’ สองแพทย์แผนไทยผู้เคยเป็นข้าราชบริพารในวังหลวงมาก่อนได้คิดค้นตำรับยาหอมของตัวเองขึ้นมา ก่อนจะตัดสินใจก่อตั้งห้างขายยาตราปราสาททองขึ้นที่ถนนพลับพลาชัยในปี พ.ศ. 2473 ในนามบริษัท ปราสาททองโอสถ จำกัด โดยนอกเหนือจากยาหอมแล้ว บริษัทแห่งนี้ก็ยังจัดจำหน่ายยาแผนไทยอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ยาข่าหอม ยาธาตุ ยาหอมอำพันทอง และ ยาหอมอินทรโอสถแท่งทอง เป็นต้น รวมถึงยาชนิดอื่น ๆ ในรูปแบบเม็ดและแคปซูลด้วย ซึ่งหลังจากเปิดดำเนินการอยู่นานหลายปี พวกเขาก็สามารถสร้างอาคารของตัวเองได้สำเร็จในปีพ.ศ. 2501 หรือเมื่อ 66 ปีที่แล้ว ด้วยชื่อ ‘อาคารปราสาททองโอสถ’ ออกแบบโดย 'ทรงคุณ อัตถากร (สถาปนิก) และรชฏ กาญจนะวณิชย์ (วิศวกร อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย)
ไฮไลต์ของกิจกรรมครั้งนี้ ก็คือการเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่ผสมผสานระหว่างแนวคิดสมัยใหม่และรูปแบบดั้งเดิมเอาไว้ของอาคารปราสาททองโอสถ โดยอาคารแห่งนี้ได้ถูกออกแบบให้ส่วนด้านหน้าอาคารกว้างขวาง แต่ไม่สูงมากนัก ภายในอาคารมีการแบ่งพื้นที่ใช้สอยอย่างชัดเจน ประกอบด้วยส่วนสำนักงาน, โรงงานผลิตและจำหน่ายยาหอม, โถงทางเดินกลาง และที่พักอาศัย ยังมีส่วนของบันไดบริเวณทางเดินภายในที่ถูกออกแบบมาได้อย่างน่าสนใจมาก เพราะถูกออกแบบให้มีรูปทรงแแตกต่างกันออกไปในแต่ละโซน ได้แก่ บันไดเวียนสำหรับส่วนพักอาศัย บันไดหลักสำหรับให้พนักงานใช้ และบันไดรองสำหรับลูกค้า ซึ่งนอกจากจะช่วยแยกประเภทผู้ใช้งานผ่านรูปทรงแล้ว ยังสร้างมุมมองและทัศนียภาพชวนแปลกตาด้วย นอกจากนี้ยังมีการตกแต่งพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยงานโมเสก งานไม้ และสร้างช่องระบายอากาศอันเป็นเอกลักษณ์ด้วย ส่งผลให้ภาพรวมของอาคารแห่งนี้ยังคงดูทันสมัย แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์เฉพาะตัวเอาไว้ได้เช่นกัน
หากใครสนใจเรื่องอาคารเก่า และอยากลองสำรวจพื้นที่เหล่านี้ด้วยตัวเองบ้าง ก็สามารถติดตามเพจ เรือนเฮอริเทจ รับซื้อบ้านโบราณเพื่อการบูรณะ โดย บริษัท 9 อาณาจักร จำกัด เอาไว้ได้ เพราะพวกเขายังวางแผนจะจัดกิจกรรมแบบนี้อีกเรื่อย ๆ ซึ่งล่าสุดพวกเขาก็เตรียมจะจัด ‘เรือนเฮอเริเทจ openhouse ครั้งที่ 3’ แล้วด้วยเหมือนกัน อย่าลืมไปเกาะขอบจอรอติดตามกันนะ