Artist on our radar: เบื้องหลังสัญญะความเป็นหญิงของ Sandy Chuchat บนโลกศิลปะแบบเซอร์เรียล

Post on 3 July

มดลูก ช่องคลอด หรือดอกไม้ ไม่ว่าคุณจะมองเห็นภาพของ ‘แซนดี้ ชูชาติ (Sandy Chuchat)’ เป็นรูปอะไร ก็ขอรับประกันได้เลยว่าไม่มีผิดมีถูก เพราะนั่นคือความตั้งใจของศิลปิน ที่อยากสร้างโลกบนผืนผ้าใบขึ้นใหม่ให้กลายเป็นจักรวาลสุดเหนือจริงที่สะท้อนความเป็นหญิงจนถึงแก่นความรู้สึก

แซนดี้นิยามตัวเองว่าเป็นศิลปินจิตรกรรม หรือ ‘Visual artist - painter’ ผู้ชื่นชอบการทำงานแนวเซอร์เรียลลิสม์และสัญลักษณ์นิยม โดยเธอเรียนจบปริญญาตรีสายแฟชันมาจาก Istituto Marangoni ลอนดอน ประเทศอังกฤษ สาขา Fashion Styling ก่อนจะมาทำงานเป็นวิชวลดีไซเนอร์ให้กับแบรนด์ Pomelo Fashion ก่อนจะตัดสินใจย้ายออกมาเป็นศิลปินเต็มตัวในปี 2019 และวาดรูปของตัวเองอย่างจริงจัง

“เรารู้มาตลอดว่าแพสชันของเราคือการวาดรูป แต่ก็ไม่เคยคิดจะยึดเอาสิ่งนี้มาทำเป็นอาชีพเลย เพราะเราไม่รู้ว่าต้องทำยังไง แบบว่าเราไม่รู้จักใครที่ทำงานด้านนี้เลย จนวันหนึ่งที่เรารู้สึกเบิร์นเอาท์จากการทำงานมาก ๆ และอยากทำอะไรที่เป็นของตัวเองดูสักอย่าง ตอนนั้นแหละที่เราตัดสินใจทิ้งงานเดิมเพื่อมาทำงานศิลปะ ตั้งแต่นั้นเราเลยต้องเรียนรู้ธุรกิจศิลปะด้วยตัวเอง พร้อมกับค้นหาเอกลักษณ์ในงานของตัวเองไปด้วย” เธออธิบายถึงเหตุผลที่เธอเลิกทำงานประจำเพื่อเป็นศิลปินเต็มตัว

เธอยังเล่าถึงความชอบในงานแนวเซอร์เรียลลิสม์ให้เราฟังด้วยว่า “เรามีความคลั่งไคล้ในงานแนวเซอร์เรียลลิสม์มาตั้งแต่สมัยมัธยมปลายแล้ว ซึ่งศิลปินที่เราชอบมาก ๆ เลยก็คือ เรอเน มากริต ศิลปินแนวเซอร์เรียลลิสม์ระดับแนวหน้าชาวเบลเยียม โดยเหตุผลที่ทำให้เราชื่นชมเขามาก ก็คือเรื่องกราฟิกของเขา เพราะเราเองก็มีความเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ในตัวสูงเหมือนกัน เลยชอบการจัดวางองค์ประกอบ การจับคู่สีต่าง ๆ รวมถึงความตลกร้ายของเขาด้วย”

“มากริตยังขึ้นชื่อเรื่องการหยิบสัญญะมาใช้งานในภาพเยอะมาก ๆ ด้วย เราเลยชอบความที่เขาเป็นคนพูดเยอะ (ผ่านสัญญะ) โดยไม่ต้องพูดอะไรออกมาเลย แต่เราต้องตีความจากงายของเขาเอง ซึ่งลึก ๆ แล้วเรารู้ดีว่าเราคงอยากเป็นแบบเขาบ้าง อยากเล่าเรื่องราวชีวิตของเราออกมาแบบนั้นบ้าง แล้วปล่อยให้คนเดาเอาเอง แบบที่เราไม่ต้องพูดอะไร”

“ศิลปินอีกคนหนึ่งที่เราชอบมากก็คือ ฟรีดา คาห์โล น่าจะเป็นเพราะเรื่องราวของชีวิตเขาด้วยที่ทำให้เราชอบเขา คือตอนเด็ก ๆ เราเคยดูหนังเรื่อง Frida แล้วชอบแพสชันที่เขาแสดงออกมามา ๆ พอบวกเข้ากับความกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเองแบบไม่แคร์อะไรเลย ก็ยิ่งชอบไปใหญ่”

หลังจากพาเราย้อนไปฟังเบื้องหลังแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอเดินทางสายเซอร์เรียลจบแล้ว แซนดี้ก็เริ่มแชร์ถึงเอกลักษณ์ในผลงานของตัวเองบ้าง ซึ่งเธอบอกกับเราว่างานของเธอเหมือน ‘Melting Pot’

“สไตล์การทำงานของเรามาจากศิลปะ ดนตรี หนังสือ แล้วก็หนังที่เราชอบเสพโดยตรงเลย มันเลยเป็นเหมือนเบ้าหลอม หรือ Melting Pot ของทุกอย่างที่เราชอบ ดังนั้นงานที่เรามองว่าดี เลยเป็นงานที่แสดงตัวตนออกมาได้ดีที่สุด โดยเราจะใช้สีน้ำมัน แต่อาจจะมีสีอะครีลิกช่วยรองพื้นบ้าง หรือไม่ก็ดิจิทัลไปเลยในการสร้างงาน”

“สำหรับประเด็นหลักในการทำงานของเราคือความเป็นผู้หญิง เพราะเราอยากแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวของตัวเองในฐานะผู้หญิงและความสัมพันธ์กับความเป็นผู้หญิงของเรา ส่วนมากจะเกี่ยวกับความรู้สึกต่อร่างกายของตัวเองเมื่อมี 'หน้าที่' หรือมีมุมมองเกี่ยวกับเพศมาเกี่ยวข้อง ภาพส่วนมากใช้แหล่งอ้างอิงมาจากหลาย ๆ อย่าง เช่น รูปอินทรีย์ (Organic Form) ที่ได้มาจากการหยิบภาพเกสรดอกไม้แบบใกล้ ๆ มาเป็นแบบ หรือเอาเถาวัลย์มาจากภาพในยุค Art Deco แล้วเอามาผสมผสานตามความรู้สึกตัวเอง”

“โดยส่วนมากแล้วเรายังโฟกัสเรื่องร่างกายและหน้าที่ของเพศหญิงในความคิดของเราเอง มันอาจจะคอนทราสต์กับสิ่งที่สังคมหรือคนรอบตัว 'มอบหมาย' ให้เรา ทำให้ความเป็นผู้หญิงบางทีรู้สึกเหมือนเป็นพันธะหน้าที่ หรือเป็นสิ่งที่ผูกยึดเราไปเลย เราเลยพยายามสร้างรูปแบบขึ้นมา และบอกใบ้หน่อย ๆ ว่านี่คือสรีระหรือส่วนหนึ่งของร่างกายเพศหญิง แล้วก็ใส่สัญลักษณ์ส่วนตัวของเราประกอบเข้าไป หลาย ๆ อย่างเลยอาจจะเป็นสัญญธที่มีความหมายกับเราคนเดียว หรือบางทีก็ใช้อะไรที่มันเป็นสากลขึ้นมาหน่อย”

“หากสังเกตทุกคนจะเห็นเลยว่าบางทีภาพของเราก็มีรูปร่างเหมือนดอกไม้ บางทีก็ออกมาเหมือนมดลูก ซึ่งเราไม่ได้กำหนดตายตัวนะ เพราะอยากให้คนดูใช้ความรู้สึกตอนเห็นงานเราตีความด้วยตัวเอง 80% แต่ก็มีอีก 20% ที่ใช้สัญลักษณ์ส่วนตัวมาเล่าเรื่องของตัวเองเข้าไปด้วย” แซนดี้สรุป

ก่อนจบการสนทนาเรายังขอให้แซนดี้ช่วยบอกแผนการการทำงานในอนาคตให้เราฟังสักหน่อย ว่าจะมีอะไรรอคอยพวกเราอยู่บ้างหรือเปล่า ซึ่งเธอก็ได้แชร์ให้เราฟังว่า “ตอนนี้เรามีแพลนที่จะทำงานออกมาในหลากหลายมิติมากขึ้น”

“เช่น ลองใช้วัสดุนอกเหนือจากผ้าใบ ลองไปวาดบนวัสดุอย่างอื่นบ้าง อย่างเช่นไม้ไดคัท อยากทำงานจิตรกรรมออกมาให้มีมิติมากขึ้น แล้วก็อยากลองทำงานประติมากรรมบ้างเหมือนกัน แต่ดูทรงแล้วเราว่ามันน่าจะออกไปทางงานปั้นเซรามิกอะไรอย่างงี้มากกว่า ส่วนเนื้อหาและสไตล์การทำงานยังคงเหมือนเดิม แค่สำรวจความเป็นตัวเองมากขึ้น อยากให้เวลาที่นำงานไปโชว์แล้วผู้ชมสามารถรู้สึกร่วมไปกับงานของเราได้มากขึ้น ด้วยบรรยากาศหรือด้วยงานที่มันมีหลายมิติมากขึ้น”

Wandering Stars (2024)
30 x 30 cm
Oil and acrylic on canvas

ชิ้นนี้เป็นผลงานชุดใหม่ที่ชอบมาก ๆ เพราะรู้สึกว่าได้ค้นพบรูปทรงใหม่ ๆ แล้วก็หลาย ๆ อย่างที่ใช้ในงานมีองค์ประกอบที่เคยใช้มาก่อน แต่มันพัฒนาเป็นรูปทรงที่น่าสนใจขึ้น แล้วโทนสีก็รู้สึกว่าเป็นตัวเองมากขึ้น

Second Life (2024)
30 x 30 cm
Oil and acrylic on canvas

ชิ้นนี้เป็นผลงานชุดใหม่ที่ชอบมาก ๆ เพราะรู้สึกว่าได้ค้นพบรูปทรงใหม่ ๆ แล้วก็หลาย ๆ อย่างที่ใช้ในงานมีองค์ประกอบที่เคยใช้มาก่อน แต่มันพัฒนาเป็นรูปทรงที่น่าสนใจขึ้น แล้วโทนสีก็รู้สึกว่าเป็นตัวเองมากขึ้น

Order From Chaos (2023)
60 x 80 cm
Oil and acrylic on canvas

The Becoming (2023)
50 x 50 cm
Oil on canvas

ชิ้นนี้ไม่ได้ตั้งใจให้เป็น self-portrait เพราะปกติไม่ค่อยอยากวาดตัวเองเท่าไร แต่ขอยืมหน้าตัวเองมาใช้ เลยออกมาเป็น self-portrait ที่ชอบมาก ๆ

I'm Not Made of Stone (2021)
digital painting (NFT)

งานนี้เป็นงานแรก ๆ ที่รู้สึกว่าสัญลักษ์ส่วนตัวที่เราใช้ออกมามันโอเค อย่างเชือกแดงแทนถึงความผูกพันที่เป็นเหมือนโซ่ล่ามเอาไว้ ตอนหลังเอามาใช้ค่อนข้างบ่อยเลย แต่ความหมายอาจจะเปลี่ยนไปบ้างตามสถานการณ์

สามารถติดตามผลงานอื่น ๆ ของ Sandy Chuchat ได้ที่ Instagram https://www.instagram.com/sandychuchat/