รุ่นใหญ่ขอเคลม! ศิลปินญี่ปุ่น Hajime Sorayama โพสต์เหน็บ Beyoncé เอาผลงานไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

Post on 18 December

กลายเป็นศึกช้างชนช้างของสองผู้ทรงอิทธิพลจากต่างวงการไปแล้วสำหรับข้อพิพาทล่าสุดระหว่าง ฮาจิเมะ โซรายามะ (Hajime Sorayama) ศิลปินชื่อดังชาวญี่ปุ่น ผู้ถูกจดจำจากผลงานศิลปะรูปหุ่นยนต์หญิงสาวสุดเซ็กซี่ กับ บียอนเซ่ (Beyoncé) นักร้องดิว่าตัวแม่ขวัญใจเหล่าพส. น้อยใหญ่ทั่วโลก หลังจากล่าสุด โซรายามะได้ออกมาโพสต์ภาพจอบนเวทีและสินค้า merchandise จากทัวร์คอนเสิร์ต ‘Renaissance World Tour’ ของบียอนเซ่ที่ถูกจัดขึ้นตามเมืองใหญ่ทั่วโลกมาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมของปีนี้ รวมไปถึงภาพหุ่นยนต์สาวในชุดโลหะ ผลงานในอดีตของตนบนอินสตาแกรม @hajimesorayamaofficial พร้อมข้อความที่ระบุว่า

โย่ @beyonce 🤘คุณควรจะมาขอผมแบบ ‘เป็นทางการ’ ก่อนนะ ผมจะได้ทำงานที่ดีกว่านี้ให้คุณได้ เหมือนพ่อหนุ่ม @theweeknd ✊ ไง

ผลงานของโซรายามะ

ผลงานของโซรายามะ

จอบนเวทีคอนเสิร์ต Renaissance World Tour ของบียอนเซ่

จอบนเวทีคอนเสิร์ต Renaissance World Tour ของบียอนเซ่

โดยนอกจากภาพและข้อความดังกล่าวจะแสดงให้เห็นว่า ศิลปินคนดังตั้งใจออกมาโพสต์ ‘เคลม’ ว่า การออกแบบชุดโลหะสีเงินพร้อมเสาอากาศบนเครื่องประดับศีรษะที่ดิว่าสาวใช้สวมใส่ในทัวร์ครั้งนี้เป็นการนำผลงานสุดไอคอนนิกของตนมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์โดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว โซรายามะยังมีการกล่าวถึง The Weeknd นักร้องหนุ่มที่เขาเพิ่งไปร่วมงานด้วยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การกำกับมิวสิกวิดีโอ ไปจนถึงการออกแบบปกอัลบั้มและสินค้า merchandise เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีของมิกซ์เทป ‘Echoes Of Silence’ จากปี 2011 นอกจากนั้น The Weeknd ยังนำประติมากรรมไซบอร์กสาวไซส์ยักษ์ของเขามาใช้ประกอบการแสดงบนเวทีคอนเสิร์ตในช่วงต้นปีที่ผ่านมาด้วย

มิวสิกวิดีโอเพลง Echoes of Silence ของ The Weeknd ที่โซรายามะกำกับ

มิวสิกวิดีโอเพลง Echoes of Silence ของ The Weeknd ที่โซรายามะกำกับ

ปกอัลบั้ม Echoes of Silence ของ The Weeknd ที่โซรายามะออกแบบ

ปกอัลบั้ม Echoes of Silence ของ The Weeknd ที่โซรายามะออกแบบ

ประติมากรรมไซบอร์กสาวของโซรายามะบนเวทีคอนเสิร์ตของ The Weeknd

ประติมากรรมไซบอร์กสาวของโซรายามะบนเวทีคอนเสิร์ตของ The Weeknd

หลังจากภาพและข้อความของโซรายามะถูกเผยแพร่ออกไปในโลกออนไลน์ก็มีชาวเน็ตหลาย ๆ คนออกมาแสดงความคิดเห็นถึงประเด็นดังกล่าวในมุมมองที่หลากหลายออกไป บ้างก็ผิดหวัง บ้างก็ออกอาการช็อก เพราะคิดมาตลอดว่า ทีมงานของควีนบีน่าจะได้ทำการพูดคุยกับศิลปินมาก่อนหน้านี้แล้ว เพราะลายเซ็นชุดเกราะโลหะสไตล์ Retro-Futuristic แบบดังกล่าวกลายเป็นภาพจำที่ชวนให้นึกถึงผลงานศิลปะของโซรายามะไปโดยอัตโนมัติแล้ว

ภาพจากคอนเสิร์ต Renaissance World Tour ของบียอนเซ่

ภาพจากคอนเสิร์ต Renaissance World Tour ของบียอนเซ่

สินค้า merchandise จาก Renaissance World Tour ของบียอนเซ่

สินค้า merchandise จาก Renaissance World Tour ของบียอนเซ่

ปกซิงเกิล My House (2023) ของบียอนเซ่

ปกซิงเกิล My House (2023) ของบียอนเซ่

ในขณะที่ชาว BeyHive (ชื่อแฟนคลับของบียอนเซ่) ก็ขอออกมา ‘ดับมั่น’ ศิลปินรุ่นใหญ่ และแย้งว่า บียอนเซ่มีการใช้สุนทรียะแบบดังกล่าวในผลงานของตัวเองมายาวนานหลายปีแล้ว โดยชุดที่เธอสวมใส่ในทัวร์คอนเสิร์ตครั้งนี้ก็ไม่ได้ ‘ก็อป’ ผลงานศิลปะของโซรายามะแต่อย่างใด แต่เป็นการคัสตอมชุดใหม่โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากคอลเลกชัน Autumn/Winter 1995-1996 ของ Thierry Mugler แฟชั่นเฮาส์จากฝรั่งเศสต่างหาก

ผลงานของโซรายามะ

ผลงานของโซรายามะ

ผลงานของโซรายามะ

ผลงานของโซรายามะ

อย่างไรก็ดี ชาวเน็ตบางส่วนก็เชื่อว่า เสื้อผ้าคอลเลกชันดังกล่าวก็ได้รับอิทธิพลมาจากผลงานของโซรายามะมาอีกทีเช่นกัน แต่บางส่วนก็มองว่า เขาไม่ได้เป็นเจ้าของภาพหุ่นยนต์เพศหญิงหรือสุนทรียะแบบนี้แต่อย่างใด เพราะนอกจากผลงานในลักษณะดังกล่าวจะถูกพบเห็นในแวดวงสร้างสรรค์มาอย่างยาวนานแล้ว ทั้งเขาและบียอนเซ่ต่างก็น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Metropolis ภาพยนตร์เงียบแนวไซไฟจากปี 1927 โดยฝีมือของผู้กำกับ ฟริตซ์ ลัง (Fritz Lang) เหมือนกันทั้งคู่มากกว่า

Metropolis (1927) ของผู้กำกับ ฟริตซ์ ลัง

Metropolis (1927) ของผู้กำกับ ฟริตซ์ ลัง

อ้างอิง:
Artnet
Dailymail