cover_web.jpg

ล่าท้าผีกับ 7 ภาพหลอน

Art
Post on 25 October

ถ้าคิดดูดีๆ มนุษย์เราวนเวียนอยู่กับผีมานานนม ตั้งแต่ก่อนมีศาสนา คนเราก็นับถือผี กระทั่งมีศาสนาให้ยึดถือกันแล้ว ผีก็ยังเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติที่ยังคงอยู่กับมนุษย์เราอยู่เสมอ ไม่ว่าจะในรูปแบบของงานเขียนนวนิยายแบบสมัยก่อน เรื่องเล่าจากคนทางบ้านแบบสมัยนี้ หรือถ้าไม่อยู่ในงานเขียนก็ยังปรากฏในภาพวาดอยู่ดี

แต่ผีในที่นี่อาจไม่ได้อยู่ในรูปแบบของผีตามความคิดของเราที่มีรูปร่างน่ากลัวก็ได้ มันอาจมาในรูปแบบของแนวคิดหรือสิ่งที่เราไม่พึงปรารถนาอีกต่อไป ผีอาจไม่ได้มาหลอกแล้วหายไป แต่ตามหลอกหลอนเราในใจไปทุกที่

ต้อนรับเข้าสู่สัปดาห์หลอนก่อนวันปล่อยผี GroundControl จึงขอพาทุกคนไปล่าท้าผีกับ 7 ภาพหลอนที่อาจจะเต็มไปด้วยผีตัวเป็นๆ ก็ได้ หรืออาจเป็นผีที่มองไม่เห็นก็มี

ผีสาวใน Speak! Speak! ของ John Everett Millais

ภาพนี้ถือเป็นภาพที่ John Everett Millais ตั้งใจอย่างมากแม้มันจะไม่ได้ทำให้เขาโด่งดังเช่นศิลปินคนอื่นๆ ก็ตาม จากภาพเราจะเห็นว่าปลายเตียงของชายหนุ่มนั้นมีเจ้าสาวแสนสวยเปิดม่านและจ้องมองเขาที่ตื่นจากการหลับฝัน เป็นผีหรือไม่ ไม่มีใครรู้ แต่ถ้าให้ทายดู คนดีๆ ที่ไหนจะมายืนจ้องเราอยู่ปลายเตียงกัน?

ตามคำอธิบายของเขาที่บันทึกไว้ในคำบอกเล่าของลูกชาย ภาพนี้สร้างขึ้นจากเรื่องราวของชาวโรมันหนุ่มที่อ่านจดหมายของคนรักที่หายไป กระทั่งรุ่งสาง จู่ๆ ม่านคลุมเตียงก็แยกออกจากกัน ปลายเตียงนั้นปรากฏร่างหญิงสาวเจ้าของจดหมาย เขาไม่สามารถระบุได้ว่าเธอคือเธอจริงๆ หรือเป็นเพียงวิญญาณ แต่นั่นไม่สำคัญเพราะสายตาอันโศกเศร้าซึ่งเต็มไปด้วยความรักนั้นสำคัญกว่า

ผีแม่มดช่างวิจารณ์ใน The Witches’ Flight ของ Francisco de Goya

แม้จะไม่ใช่ผีตุ้งแช่หลอนขึ้นหัว แต่ก็เป็นผีแม่มดน่ากลัวๆ ได้อยู่ กับ The Witches’ Flight ของ Francisco de Goya

Francisco Goya คือศิลปินชาวสเปนไม่กี่คนที่หยิบเอาเรื่องเหนือธรรมชาติมานำเสนอในผลงานศิลปะ ซึ่งแท้จริงแล้วใช่ว่าเขาจะเชื่อในเรื่องผีสางนางไม้หรือสิ่งลี้ลับ แต่นี่คือการวิพากษ์วิจารณ์รัฐของเขาต่างหาก แม่มดในภาพนี้อาจจะไม่ใช่ผีที่ตายไปแล้วแบบภาพอื่นๆ แต่ถือเป็นผีที่หลอกหลอนชาวสเปนจนทำให้ Goya ต้องสร้างภาพที่น่าสะพรึงชิ้นนี้ขึ้นมา

ในภาพชิ้นนี้ แม่มดคือสัญลักษณ์ถึงประเพณีทางสังคมที่ล้าหลังและความเชื่อในสังคมสเปนในขณะนั้น โดยเฉพาะกับ Spanish Inquisition หรือศาลศาสนาของสเปนที่มอบหมวกทรงสูงหรือที่เรียกว่าโคโรซ่าให้กับคนที่เชื่อว่าเป็นแม่มดและยังสนับสนุนให้เกิดการล่าแม่มดอีกด้วย

แม่มดทั้งสามสวมหมวกที่มีเปลวไฟลุกโชนบ่งบอกว่าพวกเธอคือซามาร์รา หรือพวกที่ไม่สำนึกผิดและถูกประณามให้เผาทั้งเป็น บนพื้นแสดงภาพของชายคนหนึ่งที่คลุมผ้าขาวปิดหน้าตา และทำท่าฟิจาเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายแสดงถึงความมืดบอดของไสยศาสตร์ที่ทำให้คนสเปนตอนนั้นพยายามปัดเป่าสิ่งที่ตนเองมองไม่เห็น อีกคนทางซ้ายก็กำลังนอนคว่ำหน้าลงกับพื้นและเอามือปิดหูสื่อถึงคนที่จงใจทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นกับเหตุการณ์การล่าแม่มดที่เกิดขึ้น ส่วนลานั้นเป็นสัญลักษณ์ของความโง่เขลาของคริสตจักรที่ปล่อยให้ศาลศาสนาฆ่าคน

Witches Flight จึงคือการโจมตีพลังของคริสตจักร และวิพากษ์วิจารณ์ว่าชาย 'ศักดิ์สิทธิ์' ที่ล่าแม่มดก็เลวร้ายพอๆ กับเหยื่อของพวกเขานั่นแหละ

ผีปู่ผีย่าในภาพ A Burial At Ornans ของ Gustave Courbet

ถ้าไทยมีวิญญาณศาลตายาย ฝาหรั่งก็ขอส่งผีปู่ผีย่าเข้าสู้กับ The Burial at Ornans ผลงานจากปลายพู่กันของจิตรกรชาวฝรั่งเศส ผู้นำขบวนการ Realism ในฝรั่งเศสสมัยศตวรรษที่ 19 อย่าง Gustave Courbet

Courbet วาดภาพนี้ขึ้นระหว่างปี 1849-50 แสดงภาพการฝังศพปู่แท้ๆ ของเขาอย่าง Jean-Antoine Oudot ที่เสียชีวิตในปี 1849 เอาจริงๆ แค่สีสันของภาพที่เขาเลือกใช้บวกกับสีหน้าและการแต่งกายของทุกคนในภาพนี้ก็แอบน่ากลัวใช่ย่อย แต่มีใครสังเกตมั้ยว่าในบรรดาคนที่ยืนอยู่ในภาพนี้ มีคนหนึ่งที่ดูแปลกๆ ไป

ด้วยความยาวของภาพและจำนวนคนมหาศาลที่มารอการฝังศพอาจทำให้เราไม่ได้ใส่ใจกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของภาพนี้เท่าไหร่ แต่นักประวัติศาสตร์กล่าวว่าทางซ้ายสุดของภาพ Courbet ได้วาดภาพวิญญาณปู่ของตัวเองที่กำลังจ้องมองลงไปที่โลงศพด้วย

ผีโผล่ในคืนเหงาที่เรานอนคนเดียวใน The Nightmare ของ Henry Fuseli

The Nightmare เป็นภาพเขียนสีน้ำมันในปี 1781 โดยศิลปินชาวสวิส Henry Fuseli ที่นำเสนอภาพฝันร้ายหลากหลายรูปแบบไว้ในภาพเดียว

นักประวัติศาสตร์ศิลป์ส่วนใหญ่เชื่อว่า The Nightmare ได้รับแรงบันดาลใจจากนิทานพื้นบ้านเยอรมัน ที่ว่ากันว่าผู้ชายที่นอนหลับแบบคนเหงาจะมีผีม้ามาเยี่ยม ส่วนผู้หญิงที่นอนเปลี่ยวคนเดียวก็จะถูกปีศาจหรือมารเข้าสิง (บ้างก็ว่ามารจะมามีซัมติงกับเธอ)

นอกจากนั้น นิรุกติศาสตร์ของคำว่า Nightmare ยังน่าจะมาจากศัพท์ในตำนานของสแกนดิเนเวียนว่า mara ที่อ้างถึงมารที่ถูกส่งไปรังควานคนที่กำลังหลับ ซึ่งน่าจะสัมพันธ์กับประสบการณ์การนอนของศิลปินเองหรือหลายๆ คนที่รู้สึกมีอะไรมาทับ บ้างก็เกิดอาการอัมพาตขณะหลับ หายใจลำบาก หรือรู้สึกหวาดกลัว

ผีพระสันตะปาปาใน Study After Velazquez's Portrait of Innocent X ของ Francis Bacon

Francis Bacon คือหนึ่งในศิลปินชาวไอร์แลนด์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในศตวรรษที่ 20 ในช่วงท้ายของการทำงาน ผลงานของเขาเริ่มดำมืดจากเหตุผลหลายประการ

หนึ่งในภาพที่เขาวาดขึ้นในช่วงหลังๆ และเป็นภาพที่ทรงพลังอย่างมากคือภาพพระสันตะปาปาที่เขาวาดเลียนขึ้นมาอีกทีจากภาพของ ‘ดิเอโก เบลาซเกซ’ จิตรกรบาโรกชาวสเปน แต่เขากลับวาดพระสันตะปาปาองค์นี้ขึ้นในรูปแบบที่น่ากลัว แรกเริ่มเขาอ้างว่าเขาเพียงต้องการทดลองสีม่วงในงานเท่านั้น ไม่ได้มีเหตุผลอื่นใด แต่บางคนก็บอกว่าาเขาวาดขึ้นในช่วงที่เสียพ่อไป บ้างก็ว่าเพราะเขาได้จบความสัมพันธ์ที่วุ่นวายและรุนแรงกับ Peter Lacy ซึ่งถ้าเป็นข้อนี้ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าทำไมเขาถึงสนใจภาพพระสันตะปาปาผู้ซึ่งเป็นชายที่มีอำนาจเช่นเดียวกับ Lacy ที่แก่กว่าและประสบความสำเร็จมากกว่าเขา

แต่เพราะพระสันตะปาปาที่เขาวาดเกือบทั้งหมดปรากฏในโครงสร้างคล้ายกรงและกำลังกรีดร้อง นักวิจารณ์บางคนจึงบอกว่าเขากำลังกล่าวถึงการล่มสลายของพระเจ้า

ผีที่มองไม่เห็นใน American Gothic ของ Grant Wood

หลายคนอาจสงสัยว่าภาพนี้มีผียังไง เราขอจัดให้ภาพนี้เป็นภาพที่แฝงไปด้วยผีที่มองไม่เห็น เป็นความหลอกหลอนของชาวอเมริกันที่บางคนอาจไม่อยากพูดถึง

หลายคนคงรู้จักอเมริกันดรีมหรือความฝันแบบอเมริกันที่ต่างคนต่างทำงานหนักเพื่อจะได้มีบ้าน มีรถ มีลูกชายลูกสาว รวมๆ แล้วเป็นชีวิตที่สวยงาม แต่ American Gothic (1930) ของ Grant Wood ภาพนี้กลับแสดงให้เห็นว่าฝันที่ว่ามันช่างตรงข้ามกับความจริง (แม้ Wood อาจไม่ได้ตั้งใจนำเสนอออกมาแบบนั้น)

หอกสามง่ามแสดงถึงการทำงานอย่างหนัก แต่สีหน้าของชายหญิงในภาพกลับไม่ได้มีรอยยิ้มแบบที่สังคมพร่ำบอกว่าทำงานหนักแล้วจะแฮปปี้ ฉากหลังที่เป็นบ้านในฝันของทั้งคู่ก็ไม่ได้น่าอยู่ แต่กลับดูเหมือนบ้านผีสิงที่ไม่มีใครอยากเข้าไป เมื่อพิจารณาคู่กับสถานการณ์ตอนนั้นที่สังคมกำลังเกิด Great Depression

ผีจน ผีไม่มีตังค์ใน The Old Guitarist ของ Pablo Picasso

หลายคนอาจสงสัยว่าภาพของ Pablo Picasso ภาพนี้มันมีผีได้ยังไง? ถ้าสังเกตดีๆ บริเวณหัวของนักดนตรีคนนี้จะมีใบหน้าผู้หญิงปรากฏรางๆ แต่อย่าเพิ่งหลอนกันไป เพราะจริงๆ แล้วผีสาวที่ไม่ใช่พี่สาวในภาพนี้สอดคล้องกับสภาพคล่องทางการเงินของ Picasso ในช่วงตั้งไข่ในวงการศิลปะ

The Old Guitarist เป็นภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุค Blue Period ของเขา ในยุคนี้เป็นยุคที่เขาเพิ่งย้ายจากสเปนมาอยู่กับเพื่อนศิลปินที่ฝรั่งเศสและได้เผชิญกับการกัดก้อนเกลือกินเพราะยังเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมากนัก หลายครั้งทีเดียวที่พวกเขาไม่มีเงินจะซื้อข้าว และยังต้องเอากระดาษที่มีค่าสำหรับเขาในฐานะศิลปินมาเผาเพื่อให้ไออุ่นยามหนาว

แล้วความยากจนนั้นเกี่ยวข้องอะไรกับผี? เมื่อปี 2001 นักวิจัยจากสถาบันศิลปะชิคาโกได้นำภาพชิ้นนี้ไปเข้าเครื่อง X-Ray ภาพที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือภาพผู้หญิงคนหนึ่งกำลังนั่งและหันศีรษะไปทางซ้าย ส่วนเทคโนโลยีอินฟราเรดแสดงให้เห็นอีกภาพหนึ่งคือใบหน้าและลำคอของหญิงสาวที่มองไปทางขวา นอกจากนี้ยังมีเท้า ลำตัว และภาพร่างของเด็กที่มองเห็นด้วย การวาดภาพนี้ทับภาพเก่าๆ บนแคนวาสชิ้นเดิมนี้ก็แสดงให้เห็นว่า Picasso ไม่มีเงินแม้กระทั่งซื้อแคนวาสมาสร้างงาน

แม้หญิงสาวในภาพจะไม่ใช่ผีจริงๆ แต่ก็ถือเป็น ‘ผี’ แห่งความยากจนที่ตามหลอกหลอนศิลปินคนดังคนนี้จนทำให้เขาเกิดภาวะซึมเศร้าได้เลย ซึ่งผีตัวนี้แหละที่ทำให้เขาเริ่มเห็นมุมมองของภาพทับซ้อนที่จะพัฒนาไปสู่ขบวนการศิลปะคิวบิสม์ในอนาคต

อ้างอิง

wikipedia
artincontext
francisco-de-goya
wikipedia
tate