255041878_456805962629450_1728355939334982997_n.jpeg

มากกว่าความสวยงามคือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 6 สถาปนิกคนสำคัญจากเดนมาร์กที่ควรรู้จัก

Post on 6 May

ในการจะพิจารณาว่าอาคารไหนถูกออกแบบมาอย่างดี อะไรคือสิ่งที่ใช้วัดคุณค่าของงานสถาปัตยกรรม… ความสวยงาม? โครงสร้างที่แข็งแรง? นวัตกรรมอันทันสมัย? ประโยชน์ใช้สอย? หรือการจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสม?

คำตอบอาจจะไม่ใช่ข้อใดข้อหนึ่ง แต่เป็นการผสมผสานของแนวคิดทุก ๆ ข้อเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฟังเสียงและความต้องการของผู้ใช้งานจริงมาใช้พิจารณาในการพัฒนาเป็นแนวคิดตั้งต้นในการออกแบบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ สามารถเห็นได้อย่างเด่นชัดในผลงานการออกแบบอาคารและสิ่งก่อสร้างน้อยใหญ่ของสถาปนิกชาวแดนิชตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่เน้นให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบพื้นที่สาธารณะ มหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์ โรงโอเปร่า หรือแม้แต่บ้านจัดสรรราคาย่อมเยาก็ล้วนแล้วแต่มีมุ่งหมายในแนวทางไม่ต่างกัน

วันนี้ GroundControl ได้รวบรวมสถาปนิกคนสำคัญจากเดนมาร์กที่ควรรู้จักมาถึง 6 คนด้วยกัน มาร่วมพิสูจน์ไปพร้อม ๆ กันว่า งานออกแบบสามารถช่วยพัฒนาเมืองและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของชาวเมืองได้อย่างไรบ้าง

Bjarke Ingels

ถ้าจะให้พูดถึงสถาปนิกจากเดนมาร์กแล้วไม่มีชื่อของ Bjarke Ingels ก็คงจะยังไง ๆ อยู่ เพราะไม่ว่าจะเป็นสถานที่เด่น อาคารดังชิ้นไหน ๆ ในเดนมาร์กก็มักจะมีชื่อของบริษัท Bjarke Ingels Group (BIG) ที่เขาก่อตั้งปรากฏร่วมอยู่ด้วยเสมอ 

Ingels เชื่อในการสร้างความยั่งยืนแบบสุขนิยม (Hedonistic Sustainability) ที่มีทั้งความสนุกสนาน และความรับผิดชอบต่อส่วนรวม โดยมีแนวคิด ‘Yes is more’ เป็นจุดยืนในการออกแบบของเขา ซึ่งในที่นี้ เขาก็ไม่ได้หมายถึงการที่ปัจเจกบุคคลจะกล่าวคำว่า ‘Yes’ ต่อตนเอง แต่ยังหมายถึง ‘Yes’ ต่อสังคมด้วยมากกว่า

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าผลงานเด่นที่ถูกจดจำได้ของเขาส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับสังคมและผู้คนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น Superkilen Park สวนสาธารณะดีไซน์ทันสมัยกลางกรุงโคเปนเฮเกนที่เชื่อในความหลากหลายและการรับฟังเสียงประชาชน รวมไปถึงโครงการบ้านจัดสรรอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Dortheavej Residence โครงการบ้านราคาย่อมเยาเพื่อชาวโคเปนเฮเกนที่สวยงามเกินราคาไปไกล

ซึ่งแน่นอนว่าด้วยความปังระดับนี้ Ingels ในวัย 47 ปีจึงได้รับรางวัลด้านการออกแบบมากมาย รวมไปถึงหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ที่ยกให้เขาเป็นนักคิดค้นแห่งปีด้านสถาปัตยกรรมในปี 2011 และนิตยสาร Time ที่รวมชื่อของเขาเป็น 1 ใน 100 ผู้ทรงอิทธิพลในปี 2016 ด้วย หลายคนถึงกับยกให้เขาเป็นหนึ่งในสถาปนิกที่ยอดเยี่ยมที่สุดของศตวรรษที่ 21 กันเลยทีเดียว

Jan Gehl

เมื่อพูดถึงโคเปนเฮเกน สิ่งแรก ๆ ที่หลายคนจะนึกถึงคือการที่เมืองแห่งนี้มักจะติดอันดับเมืองที่ประชากรมีความสุขมากที่สุดในโลก รวมไปถึงการเป็นเมืองที่มีพื้นที่สาธารณะมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งโดดเด่นด้วยการออกแบบทางเท้า เลนจักรยาน และสวนสาธารณะสำหรับทุกคน แต่ความจริงแล้ว ในอดีตโคเปนเฮเกนเองก็เคยเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยรถยนต์ไม่ต่างจากที่อื่น ๆ ในโลก การพัฒนาและออกแบบให้โคเปนเฮเกนเป็นพลิกโฉมกลายเป็นเมืองเดินเท้าเพิ่งเกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อประมาณ 40-50 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น โดยมีสถาปนิกและนักวางผังเมืองที่เชื่อในความสำคัญของพื้นที่สาธารณะอย่าง Jan Gehl เป็นหนึ่งในคนสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง

ชายผู้ก่อตั้ง Gehl Architects ผู้นี้เชื่อว่า ความสุขที่แท้จริงควรจะเป็นของ ‘ผู้คน’ ไม่ใช่รถยนต์ ดังนั้น การออกแบบเมืองที่ดีควรจะคำนึงถึงการเป็นพื้นที่ของประชาชน ไม่ใช่ของรถยนต์ตามท้องถนน เพราะผู้คนคือสิ่งที่จะทำให้เมืองมีชีวิตชีวา สุนทรียะ และความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น 

นอกจากผลงานการพัฒนาทางเท้าและผังเมืองตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลกแล้ว อีกหนึงผลงานเด่นของเขาคงจะหนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลงถนนเก่าแก่เส้นสำคัญที่สุดของโคเปนเฮเกนอย่าง Strøget จากการเป็นถนนที่เคยมีรถยนต์สัญจรอย่างหนาแน่น มาสู่การเป็นถนนคนเดินของผู้คนอย่างแท้จริง โดยในปัจจุบัน Strøget ก็ถือเป็นถนนชอปปิงเส้นที่ยาวที่สุดในยุโรปที่มีกิจการน้อยใหญ่เกิดขึ้นมากมายตลอดเส้นทาง ซึ่งนี่เองก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Gehl ไม่เพียงเป็นสถาปนิกตัวพ่อของเดนมาร์ก แต่ยังเป็นบุคคลทรงคุณค่าด้านการจัดการพื้นที่สาธารณะของโลกด้วย

Jorn Utzon

ถ้าใครได้ไปเยือนซิดนีย์ก็คงต้องมีแวะไปชักภาพกับบริเวณด้านนอกของ Sydney Opera House กันสักแชะ สองแชะ เพราะอาคารดีไซน์สวยในตำนานแห่งนี้ถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของซิดนีย์ที่ไม่ว่าใครเห็นก็เป็นต้องจดจำได้ ซึ่งแท้จริงแล้ว บุคคลที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบในครั้งนี้ก็ไม่ใช่สถาปนิกชาวออสเตรเลียนคนไหน ๆ แต่เป็น Jorn Utzon สถาปนิกระดับมาสเตอร์คนสำคัญจากเดนมาร์กนั่นเอง

ถึงในปัจจุบัน Sydney Opera House จะเป็นกลายเป็นภาพจำของคนทั่วทั้งโลก แต่ในอดีต สถาปัตยกรรมรูปร่างคล้ายกับเปลือกหอยที่ตั้งอยู่บนปากอ่าวแห่งนี้ก็เคยถูกต่อต้านจากประชาชนชาวเมืองที่มองว่ามันดู ‘แปลกประหลาด’ เกินไป แต่ท้ายที่สุด มันก็ค่อย ๆ พิสูจน์คุณค่าเหนือกาลเวลา ก่อให้เกิดแหล่งพบปะสังสรรค์ของผู้คน และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของซิดนีย์ไปโดยปริยาย

โดยในเวลาต่อมา คุณค่าของ Sydney Opera House ก็ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากถูกประกาศเป็นมรดกโลกจาก UNESCO ในปี 2007 ทำให้ Utzon กลายเป็นบุคคลคนที่ 2 ที่มีผลงานเป็นมรดกโลกขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ หลังจาก Oscar Niemeyer สถาปนิกชางบราซิลเลียนที่ได้รับเกียรตินี้เป็นคนแรก

Arne Jacobsen

ถ้าจะให้พูดถึงสถาปนิกชาวแดนิชที่โดดเด่นด้วยผลงานการออกแบบอาคารสไตล์โมเดิร์นนิสม์ เชื่อว่าชื่อของ Arne Jacobsen คงจะเป็นชื่อแรก ๆ ที่เหล่าคนรักงานสถาปัตยกรรมหลาย ๆ คนจะนึกถึง 

หลังจากได้ไปท่องเที่ยวและพบกับความงดงามของงานสถาปัตยกรรมในเยอรมนีอยู่พักหนึ่ง Jacobsen ในช่วงวัยรุ่นก็ได้รับอิทธิพลในด้านการออกแบบมาจาก Mies van Der Rohe และ Walter Gropius แห่งสำนัก Bauhaus เข้าเต็ม ๆ สิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ ก่อร่างสร้างเป็นตัวตนของเขาในฐานะสถาปนิกที่เชื่อในเรื่องของความเรียบง่ายแต่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพที่มนุษย์สามารถใช้งานได้อย่างสูงสุด 

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นผลงานสถาปัตยกรรมดัง ๆ ของเขาอย่างอาคาร Århus City Hall, อาคาร Stelling House หรือแม้แต่ผลงานการออกแบบเฟอร์นิเจอร์สุดไอคอนนิกอย่าง Drop Chair, Egg Chair และ Swan Chair สถาปนิกชั้นครูคนนี้ก็ล้วนคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและการใช้งานจริงของผู้คนเป็นสำคัญทั้งนั้น โดยเน้นการเลือกใช้วัสดุ และการวางสัดส่วนของรูปทรงอย่างพอเหมาะพอเจาะ สวยงามกำลังดี

Henning Larsen

นอกจากชื่อของ Bjarke Ingels Group (BIG) ของ Bjarke Ingels จะปรากฏอยู่ในโปรเจกต์ปัง ๆ ของเดนมาร์กในยุคปัจจุบันอยู่บ่อยครั้งแล้ว ชื่อของ Henning Larsen Architects ที่ถูกก่อตั้งในปี 1959 โดยสถาปนิกใหญ่ในตำนานอย่าง Henning Larsen ก็ตีคู่มาติด ๆ ไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นผลงานดังอย่าง Bølgen หรือที่รู้จักกันในชื่อ The Wave หรือ Harpa Koncert Hall ก็ล้วนแล้วแต่ผลงานการออกแบบของบริษัทสถาปัตย์แห่งนี้ภายใต้การดูแลของ Larsen ทั้งสิ้น

Larsen ถือเป็นอีกหนึ่งสถาปนิกสไตล์โมเดิร์นนิสม์คนสำคัญของเดนมาร์ก นอกจากเรื่องของการใช้งานและประโยชน์ใช้สอยแล้ว เขายังเน้นผลิตผลงานการออกแบบที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์มากขึ้น คือ ออกแบบให้มนุษย์ได้มาเจอหน้ามากกันยิ่งขึ้น โดยล้อไปกับวัตถุประสงค์การใช้งานของสถานที่นั้น ๆ 

ซึ่งการที่เขาเคยเป็นลูกศิษย์ของ Arne Jacobsen และ Jorn Utzon ก็ทำให้เขาได้รับอิทธิพลด้านการออกแบบอาคารมาจากสถาปนิกชั้นครูสองคนนี้อยู่ไม่น้อย อย่าง Copenhagen Opera House ที่เขาลงมือออกแบบเองก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Sydney Opera House ผลงานการออกแบบของ Utzon นั่นเอง

C.F. Moller

อีกหนึ่งมาสเตอร์ด้านสถาปัตยกรรมจากเดนมาร์กที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ Christian Frederik Møller หรือที่รู้จักอย่างกว้างขวางในชื่อ C.F. Moller สถาปนิกผู้เป็นอธิการบดีคนแรกของ Aarhus School of Architecture รวมทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง C. F. Møller Architects บริษัทสถาปัตย์ที่ยิ่งใหญ่และมีพนักงานมากที่สุดในเดนมาร์ก ที่ปัจจุบันไม่ได้มีออฟฟิศแค่ภายในประเทศแต่ยังขยายสาขาออกไปแล้วทั่วโลก 

ผลงานที่น่าจดจำที่สุดของ Moller คงหนีไม่พ้นพิพิธภัณฑ์ Herning Museum of Contemporary Art และมหาวิทยาลัย Aarhus University ที่โดดเด่นด้วยการเป็นอาคารก่ออิฐสีเหลืองที่ถูกผสานเข้ากับบริบทของสิ่งแวดล้อมสีเขียวโดยรอบ อันเป็นจุดเด่นสำคัญในผลงานการออกแบบของเขา

Møller เสียชีวิตในปี 1988 ปัจจุบันร่างของเขาถูกฝังอยู่ที่ Vestre Kirkegård ในเมืองออร์ฮูส อยู่คู่กับป้ายแกะสลักชื่อที่ทำมาจากอิฐสีเหลืองแบบเดียวกับอาคารมหาวิทยาลัย Aarhus University ที่เขาเป็นคนออกแบบ

รับชมรายการ Self-Quarantour EP. Good Society in Copenhagen เต็ม ๆ ได้ที่:

แหล่งข้อมูล:
https://www.archdaily.com/
https://www.angloinfo.com/blogs/denmark/living-in-denmark/danish-architects/