เปลี่ยนฝุ่นควันให้เป็นลายศิลป์ไปกับ Subannakrit Krikum

Post on 2 June
**พระอินทร์ vs PM2.5**

พระอินทร์ vs PM2.5

พอได้เห็นฉาก ‘พระอินทร์’ ผู้มีฤทธิ์ ลอยลงมาแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้วยการดูดฝุ่นแล้ว เชื่อว่าหลาย ๆ คนจะต้องอยากรู้จักกับคนวาดเหมือนเราอย่างแน่นอน เพราะนอกจากความสร้างสรรค์แบบเต็มขั้น เรายังเห็นความตลกร้ายชวนปวดใจจี๊ด ๆ ซ่อนอยู่ในงานของเขาด้วย ซึ่งเจ้าของผลงานที่ว่านั้นก็คือ เสมา - สุบรรณกริช ไกรคุ้ม ศิลปินผู้ชอบต่อยอดงานจิตรกรรมไทยให้เข้ากับสังคมร่วมสมัยมากขึ้น

เมื่อเริ่มพูดคุยกัน ศิลปินก็ไม่รอช้าและเล่าถึงเบื้องหลังภาพวาดที่สั่นสะเทือนไปถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ให้เราฟังทันทีว่า “ภาพนี้เป็นมุมมองจากกระจกเครื่องบินที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพถ่ายที่เป็นไวรัลในโลกออนไลน์ครับ ตอนนั้นบรรยากาศบนน่านฟ้าเมืองไทยมีแค่สีฟ้ากับเทา มองไม่เห็นเมืองด้านล่างเลย เพราะถูกฝุ่น pm2.5 บดบังเอาไว้หมด”

“ส่วนการเอาพระอินทร์มาดูดฝุ่น ก็ได้ไอเดียมาจากผู้นำคนก่อนของเราที่ให้แก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยธรรมะและการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผมจึงใช้พระอินทร์เป็นตัวละครหลัก เพราะพระอินทร์มีหน้าดูแลสวรรค์ให้สงบสุข เปรียบเสมือนนายกในประเทศไทย ซึ่งมีอำนาจที่สุดในการแก้ไขปัญหา แต่แก้ไม่เคยตรงจุดเสียที”

**สีฝุ่นจาก P.M. 2.5**

สีฝุ่นจาก P.M. 2.5

แต่นอกเหนือจากการใช้พระอินทร์มาเป็นตัวแทนของผู้มีอำนาจในบ้านเมืองแล้ว ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของภาพชุดนี้ก็คือการใช้ ‘สีฝุ่น’ ที่ทำจากฝุ่น PM2.5 จริง ๆ มาระบายสีบนงาน

“ผมชื่นชอบในการวาดและทำ ‘สีฝุ่น’ ซึ่งเป็นกรรมวิธีแบบจิตรกรรมไทยโบราณอยู่ก่อนแล้วครับ สำหรับวิธีการทำสีประเภทนี้ คือการนำวัตถุดิบในธรรมชาติ เช่น ดิน หิน แร่ เปลือกหอย และพืชมาสกัดครับ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและความพิถีพิถันเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันสีฝุ่นที่ปรากฏออกมาในงาน ก็จะให้เอฟเฟ็กต์ที่สวยงามเฉพาะตัว โดยผมได้รับความรู้เหล่านี้มาจากอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร กับการเข้าร่วมเวิร์กช็อปกับเหล่านักวิชาการในไทยและต่างประเทศ รวมถึงการอ่านหนังสือและดูวิธีการจากสื่อต่าง ๆ เพื่อนำมาพัฒนาผลงานในทุก ๆ มิติ”

เสมาเริ่มเล่าถึงความคิดแรกที่อยากลองทำสีฝุ่นที่สกัดจากฝุ่น PM2.5 ว่า “ส่วนจุดเริ่มต้นของการทำสีฝุ่น PM2.5 มาจากการมองลงมาจากคอนโด แล้วเห็นแต่หมอกฝุ่นปกคลุมทั่ว จึงคิดเล่น ๆ ว่าจะเอา ‘ฝุ่น’ มาทำสีฝุ่น พอคิดได้แบบนั้นก็เริ่มทำการทดลองเลยครับ โดยใช้ความรู้ในการผลิตสีโบราณผสมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ สมัยที่เรียนจบสายวิทย์-คณิตมา ซึ่งเป็นเรื่องของอนุภาค ดังนั้น ฝุ่นที่ละเอียดอยู่แล้ว น่าจะทำสีได้แน่ ๆ”

“ผมเลยเริ่มดูดฝุ่นจากอากาศตรง ๆ และจากตัวกรองของเครื่องฟอกอากาศ จากนั้นก็นำฝุ่นมาผ่านกระบวนการกรองต่าง ๆ จนได้เป็นสีเทา สีเขม่า เหมือนฝุ่น ถ้าเปียกจะเป็นสีดำ มีเท็กเจอร์พิเศษเป็นคราบ ๆ ตรงนี้เป็นเสน่ห์ของธรรมชาติ”

แน่นอนว่าการนำสีจากฝุ่นของจริงมาพูดเรื่องฝุ่น ย่อมเสริมให้ความหมายของงานเด่นชัดมากขึ้นตามไปด้วย ในส่วนนี้ศิลปินเลยขยายความเพิ่มว่า “สำหรับความหมายของการใช้สีฝุ่นของจริง ก็เพราะว่าภาพของผมกำลังบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปีพ.ศ. 2566 เอาไว้ เปรียบเสมือนกับงานจิตรกรรมฝาผนังเอง ก็บันทึกประวัติศาสตร์สำคัญ ๆ เอาไว้ในภาพเหมือนกันครับ”

**Work Form Home**

Work Form Home

**อินเกิ๊น**

อินเกิ๊น

**Pha In Home**

Pha In Home

เสมายังแชร์ให้เราฟังถึงวิธีการเลือกตัวละครต่าง ๆ มาใช้ในแต่ละเรื่องราวด้วย เพราะนอกเหนือจากภาพ ‘พระอินทร์ vs ฝุ่น PM2.5’ แล้ว ผลงานอื่น ๆ ของเขายังมีการใช้ตัวละครอื่น ๆ มาใช้ในภาพด้วย ซึ่งแต่ละตัวก็จะมีความหมายและบริบทแตกต่างกันออกไป

“ผมมักจะหยิบเอาตัวละครในไตรภูมิ วรรณคดี และจิตรกรรมฝาผนังมาใช้ เพราะตัวละครเหล่านี้จะพ่วงมาด้วยเรื่องราวเสมอทำให้ผู้ชมได้สนุกกับการเชื่อมโยงจากความรู้และประสบการณ์ของแต่ละคนครับ ยกตัวอย่างเช่น ผมมักจะใช้ ‘พระอินทร์’ แทน ตัวผู้มีอำนาจในสังคม และมักเอามาเล่นคำต่อเป็น ‘พระไม่อิน’ แทนกลุ่มอิกนอร์แรนซ์ (ignorance) หรือ พวกไม่อินเหตุการณ์บ้านเมือง และใช้คำว่า ‘พระอินเกิ๊น’ กับเหล่าคนที่จดจ่อและสนใจกับเรื่องอะไรมาก ๆ”

“ยังมีตัวละคร ‘สังข์ทอง’ ในวัยเด็ก มาแทนการแสดงออกของเด็กเมื่ออยู่ลับหลังผู้ปกครอง ใช้ ‘พระราม’ กับ ‘สีดา’ เพื่อแทนเรื่องราวของความรัก และใช้ ‘ทศกัณฐ์’ แทนมนุษย์ออฟฟิศที่ยุ่งกับการทำงานมาก ๆเหมือนมีสิบแขนก็ไม่พอ เป็นต้น”

**God of Coffee**

God of Coffee

**God of Dog**

God of Dog

“และนอกจากเทพในตำนานแล้ว ผมยังต่อยอดและสร้างเทพของตัวเองขึ้นมาใหม่เพื่อพูดถึงสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของเราในชีวิตประจำวันด้วย เช่น God of Coffee, God of Bacon, God of Game และ God of Cat ด้วยนะครับ”

หลังจากได้ฟังแนวคิดของศิลปินพร้อมกับชมผลงานอื่น ๆ ก็เห็นได้ชัดเลยว่าเอกลักษณ์ของศิลปิน คือการบันทึกประวัติศาสตร์และถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ในรูปแบบของงานจิตรกรรมไทยขนาดเล็ก (Thai miniature painting) ไปพร้อม ๆ กับการนำเอาตัวละครจากวรรณคดี ไตรภูมิ หรือตำนานโบราณต่าง ๆ มาลองใช้ชีวิตอยู่ในโลกยุคปัจจุบันแบบเรา ๆ ดู เพื่อหยอกล้อ สะท้อนสังคม และเปรียบเทียบให้ผู้ชมมองเห็นถึงวิถีชีวิตใหม่ ที่ผู้คนในสังคมไทยต้องเผชิญหน้าและเอาตัวรอดอยู่ทุกวี่วัน อีกทั้งศิลปินยังสอดแทรกสัญลักษณ์และปรัชญาต่าง ๆ ให้ผู้ชมได้ลองตีความกันเองอีกด้วย

**หัวจุกเกมส์มิ่ง**

หัวจุกเกมส์มิ่ง

“ผลงานชิ้นนี้พูดถึงการละเล่นของเด็กไทยในปัจจุบัน โดยนำเสนอเป็นภาพของสตรีมเมอร์ตัวน้อย ที่หาเงินได้จากการเล่นเกมและการแข่งขันอีสปอร์ต เพื่อทำให้เห็นว่าสามารถประกอบเป็นอาชีพได้ และผู้ใหญ่ควรสนับสนุนมากกว่าปิดกั้น เลิกอคติแบบเดิม ๆ ว่าเกมทำให้เด็กเสียคน อย่าให้เด็กต้องทำสิ่งที่เขารักแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ เหมือนพระสังข์ ที่ต้องหลบเข้าหอยอีกเลย”

“ภาพนี้วาดจากประสบการณ์ในวัยเด็กของตัวเองที่ทางบ้านห้ามเล่นเกม แต่ก็แอบไปทุกเล่นทุกครั้งอยู่ดีเพราะเป็นสิ่งที่ชอบ ชิ้นนี้จึงสร้างขึ้นเพื่อสื่อสาร ให้เห็นข้อดีของการเล่นเกมครับ”

**โตขึ้นหนูจะเป็นแบล็กพิงค์**

โตขึ้นหนูจะเป็นแบล็กพิงค์

“ความฝันของเด็กไทยในยุคนี้คงหนีไม่พ้นการเป็น Idol หรือ Girl Group ที่โด่งดังระดับโลกแบบ พี่ลิซ่า Black Pink แน่นอน เด็กต่างจังหวัดกลุ่มนี้เลยฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อทำตามความฝัน แม้สภาพแวดล้อมที่พวกเขาเกิดมาอาจดูไม่เป็นใจก็ตาม อนาคตที่เด็ก ๆ เฝ้ามองหาล้วนเป็นภาพฝันที่หอมหวาน หากแต่บนโลกแห่งความเป็นจริงไม่ง่ายดายอย่างที่คิดเลย”

“ชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากกลุ่ม ‘เด็กเซาะกราว’ ครีเอเตอร์ผู้นำเสนอชีวิตชนบทของอีสานผ่านวัฒนธรรม K-pop”

**RAMA Café**

RAMA Café

“คนไทยนิยมไปคาเฟ่ ซึ่งผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น จึงได้สร้างคาเฟ่ในอุดมคติขึ้นมาโดยใช้ตัวละครจากวรรณคดีไทยเรื่องรามเกียรติ์ มาแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่คนในคาเฟ่มักจะทำกัน เช่น การถ่ายภาพลงโซเชียล, การขนงานจำนวนมากมาทำ, การถ่าย Vlog และการทำคอนเทนต์ ฯลฯ ซึ่งผมได้แรงบันดาลใจมาจากการไปรีเสิร์ชในหลาย ๆ ร้านกาแฟ เพื่อสังเกตผู้คนที่ไปใช้บริการ หน้าตาอาหารเครื่องดื่ม รวมถึงการจัดตกแต่งร้าน ถือเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ความนิยมของคนในยุคนี้ว่ามีวิถีชีวิตอย่างไร”

**God of Bacon**

God of Bacon

“ผลงานในชุดนี้ได้แรงบันดาลใจจากความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้คน ซึ่งเป็นเรื่องแสนธรรมดาที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจให้คนคนหนึ่งมีแรงที่จะสู้ชีวิตต่อไป เช่น การได้กินของอร่อย ๆ การไปเที่ยวหรือทำในสิ่งที่ชื่นชอบ ผมจึงได้เอาเรื่องราวเหล่านี้มาถ่ายทอดในรูปแบบที่คล้ายรูปเคารพของเทพในหลายศาสนา มาจินตนาการใหม่เป็น ‘เทพที่กำเนิดมาจากความธรรมดา’”

**Resident Sims**

Resident Sims

“ชีวิตวัยทำงานที่ต้องซื้อรถ ผ่อนคอนโด ทำให้ผมรู้สึกว่าวิถีชีวิตของเราหมดไปกับการหาเงิน กิน นอน และทำอะไรแบบซ้ำ ๆ เดิม ๆ ดูเป็นแพทเทิร์น เหมือนเกมที่เราเคยเล่นตอนเด็ก ๆ อย่างเกม THE SIMS”

“ภาพนี้เลยเป็นภาพแทนของเซฟโซนแห่งความสุข ที่ต่อให้มีขนาดเพียง 30 ตารางเมตร แต่ขอแค่ได้อยู่กับคนที่เรารัก ทำงานอดิเรกที่ชอบ เล่นเกม ทำอาหาร ปลูกต้นไม้เล็ก ๆ เล่นกับสัตว์เลี้ยง จัดห้องให้สวย ๆ ก็เป็นการชาร์จแบตให้กับร่างกายและจิตใจของเราได้อย่างเต็มที่ และพร้อมออกไปสู้กับทุกภารกิจที่ต้องเจอในแต่ละวัน”

**sun&moon**

sun&moon

**7 ปี ดีจะตาย**

7 ปี ดีจะตาย

**God of One Night Stand**

God of One Night Stand

**Skeleton Artist**

Skeleton Artist

สามารถตามไปชมการสู้ชีวิตของเหล่าตัวละครผู้มีฤทธิ์ในตำนานกันได้ที่:
Facebook:https://www.facebook.com/subannakrit
Instragram:https://www.instagram.com/Suban_nakrit/?fbclid=IwAR1W8IocjHHeVqEQt3_XybVyUqOIppdfc99hqf-9yyfhCqkEYMoy1mGIpGY