277303070_7259268387481595_4597582210058115469_n copy.jpg

ชวนรู้จัก 7 สตูดิโอสัญชาติไทยที่ใช้ดิจิทัลอาร์ตสร้างประสบการณ์สุดล้ำ

Post on 10 August

เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ดิจิทัลอาร์ต’ สิ่งแรกที่หลาย ๆ คนนึกถึงมักมีลักษณะเป็นผลงานศิลปะหน้าตาฉูดฉาดที่ถูกแสดงผลผ่านระบบสี RGB บนจอหน้าจอแบน ๆ ของคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือเท่านั้น แต่ถ้าจะว่ากันตามตรง ขอบเขตของดิจิทัลอาร์ตอาจขยายไปไกลกว่านั้นมาก เมื่อมันสามารถนำใช้สร้างประสบการณ์การดำดิ่งเข้าไปในห้วงอารมณ์แบบ ‘สด ๆ’ ผ่านการออกแบบ และการนำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่เฉพาะ

นอกจากกลุ่มศิลปินมัลติมีเดียต่างชาติมากมายหลายกลุ่มที่เรา ๆ ชาวไทยน่าจะคุ้นชื่อกันดีแล้ว ก็ยังมีสตูดิโอโดยฝีมือคนไทยอีกหลายทีมเหลือเกินที่มีผลงานน่าจับตามองไม่แพ้กัน ครั้งนี้ GroundControl เลยขอทำหน้าที่แนะนำ 7 สตูดิโอสัญชาติไทยที่นำดิจิทัลอาร์ตมาใช้สร้างสรรค์ผลงาน และประสบการณ์สุดล้ำให้กับผู้ชมได้อย่างน่าสนใจ ทั้งแนวคิด วิธีการ และรูปแบบการนำเสนอ

Eyedropper Fill

เริ่มต้นด้วยทีมที่หลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี Eyedropper Fill คือสตูดิโอออกแบบมัลติมีเดียที่โดดเด่นด้วยผลงานการสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมได้ ทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์ โดยนอกจาก Eyedropper Fill จะมีผลงานที่โดดเด่นด้วยรูปแบบแสง สี เสียงที่มาช่วยสร้างอารมณ์และความรู้สึกให้ผู้ชมได้ดำดิ่งเข้าไปในภวังค์แล้ว อีกหนึ่งความน่าสนใจคือการที่พวกเขาก้าวเข้ามาทำงานเพื่อสังคมในหลายรูปแบบ ตั้งแต่ Conne(X)t Klongtoey โครงการสร้างโอกาส และทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับน้อง ๆ ในชุมชนคลองเคย ไปจนถึง AramArom (อารามอารมณ์) งานออกแบบประสบการณ์ที่ว่าด้วยการเข้าใจและตระหนักรู้ถึงสุขภาพจิตของแต่ละคน

Yellaban

ถ้าจะให้พูดถึงสตูดิโอสัญชาติไทยที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานแล้วคงจะขาดชื่อของ Yellaban ไปไม่ได้เลย เพราะผลงานของพวกเขามีหลากหลาย ตั้งแต่การออกแบบแสงสีเสียง Motion Graphic, Projection Mapping ไปจนถึงการนำเทคนิค Augmented Reality (AR) มาใช้ในการสร้างสรรค์ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งอีเวนต์ มิวสิกวิดีโอ แฟชั่นวิดีโอ คอนเสิร์ต และวิดีโออีกหลากหลายแนวที่ล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวชัดเจน โดยเฉพาะกับงาน Projection Mapping ที่ไม่ได้ออกมาอวดโฉมแค่ในประเทศเท่านั้น แต่ยังไปอวดโฉมไกลถึงการประกวด 1minute Projection Mapping ในแดนอาทิตย์อุทัย หรือล่าสุดกับ Louis Vuitton Men's Fall-Winter 2022 by Virgil Abloh งานแฟชั่นโชว์ของแบรนด์ดังครั้งแรกในประเทศไทยที่พวกเขารับหน้าที่รังสรรค์วิดีโอประกอบโชว์ได้ดูดีมีสไตล์สุด ๆ

27 JUNE STUDIO

สตูดิชื่อเก๋ (ที่มาของชื่อคือผู้ก่อตั้งทั้งสองคนเกิดวันที่ 27 มิถุนายนเหมือนกัน) ที่กำลังมาแรงสุด ๆ ด้วยการผสานเทคโนโลยีล้ำสมัยเข้ากับผลงานศิลปะ ทั้ง Interactive Art และ Performance Art ได้อย่างงดงาม และไร้รอยต่อสุด ๆ เห็นได้จากการใช้เทคนิค Projection Mapping ใน Our presence in Time ผลงาน Interactive Installation ที่ปล่อยให้ผู้ชมได้เคลื่อนไหวไปพร้อม ๆ กับภาพที่ปรากฏตรงหน้าแบบเรียลไทม์สุด ๆ หรือแม้แต่กับ Dancing River ผลงาน Installation Art ภายในงาน Awakening Bangkok 2021 ที่ใช้หลอดไฟ LED มาใส่กลไกให้เคลื่อนไหวอย่างแผ่วเบาราวผิวน้ำ

Yimsamer

สตูดิโอที่มีผลงานชวน ‘ยิ้มเสมอ’ สมชื่อ Yimsamer คือทีมนักออกแบบมัลติมีเดียที่เชี่ยวชาญในการผสมผสานเทคโนโลยีล้ำ ๆ ลงไปในผลงานหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ​​Experience Design, Interactive Installation, Space Design, Stage Design, Lighting Design และ Visual Effects สไตล์จัดจ้านที่สะท้อนตัวตนของพวกเขาออกมาได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Journie ภายในงาน Awakening Bangkok 2020 หน้าอาคารไปรษณีย์กลางบางรัก หรือ YIMSAMER X EUCERIN : MULTI PROJECTION | DINING EXPERIENCE ที่ใช้โปรเจกเตอร์ถึง 19 ตัวในการสร้างประสบการณ์ในการรับประทานอาหารแบบแปลกใหม่ แต่น่าสนใจสุด ๆ

Photon

อีกหนึ่งสตูดิโอที่น่าจับตามองสุด ๆ กับผลงานการออกแบบมัลติมีเดียหลากหลายรูปแบบที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ และเทคนิคการนำเสนอสุดล้ำ ที่หลาย ๆ คนอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตากับผลงานของพวกเขากันมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น CHAMELEON POD ผลงาน Interactive Installation เปลี่ยนสีได้ที่ถูกจัดแสดงอยู่ภายในงาน Bangkok Design Week 2020 และ Narrative Gashapon ผลงานในซีรี่ส์ NEWNESS ที่ถูกจัดแสดงอยู่ภายในงาน Bangkok Design Week 2021 โดยมีลักษณะเป็นตู้กาชาปองที่นำเรื่องราวภายในชุมชนมาบอกเล่าผ่านการร่วมสนุกของผู้คนด้วยการเสี่ยงดวง 

XD49 Limited

อดีตกลุ่ม DON BOY ที่ปัจจุบันผันตัวมาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ 49GROUP พร้อมกับชื่อใหม่ XD49 Limited ที่แม้ชื่อเปลี่ยน แต่คุณภาพของผลงานยังคงเด็ดดวงไม้แพ้เก่า ไม่ว่าจะเป็นงานคอนเสิร์ต อีเวนต์ หรือมิวสิกวิดีโอ ที่ยังคงแนวคิดการนำสื่อดิจิทัลเข้าไปสู่พื้นที่และการมีส่วนร่วมของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นงาน Light Installation อย่าง Talk Awake(n) ภายในงาน Awakening Khaosan เมื่อช่วงต้นปี หรือ GLOW & GROW ผลงาน Immersive Digital Mapping ที่ทำให้ประสบการณ์การรับประทานมื้อค่ำสไตล์ Chef's Table ที่ร้าน Giorgio's โรงแรม Royal Orchid Sheraton ดูน่าสนใจขึ้นเป็นกอง

DuckUnit

สตูดิโอระดับ OG ของวงการออกแบบประสบการณ์ในประเทศไทยที่ก่อตั้งมายาวนานกว่า 17 ปี ด้วยความชำนาญในการผนวกศาสตร์แห่งเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับการออกแบบในสไตล์เฉพาะตัว ทำให้ DuckUnit มีผลงานมากมายในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่งานพาณิชย์ศิลป์อย่างอีเวนต์ นิทรรศการ คอนเสิร์ต มิวสิกวิดีโอ ไปจนถึงงานศิลปะอย่าง Installation Art และ Performance Art ที่ไปจับมือร่วมศิลปินและคณะศิลปะมากมายหลายกลุ่ม 

แค่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาพวกเขาก็มีผลงานออกแสดงสู่สายตาสาธารณชนแล้วไม่ต่ำกว่า 4 งาน ไม่ว่าจะเป็น A Conversation with the Sun ผลงานศิลปะจัดวางโดย เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ว่าด้วยความทรงจำ และการผสมผสานระหว่างภาพเคลื่อนไหว ปัญญาประดิษฐ์ และการเคลื่อนที่ของผ้าขาวผืนยักษ์, Four Days in September (The Missing Comrade) ละครเวทีโดยกลุ่ม FOR WHAT THEATER ที่นำแสงสีเสียง และสื่อมัลติมีเดียมาใช้บอกเล่าประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านเรื่องราวของตัวละครทั้ง 5 คน และ Sound of the Soul นิทรรศการเสียงจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่พวกเขาทำร่วมกับกลุ่มศิลปิน Hear & Found และ ศุภชัย เกศการุณกุล 

ใครที่อยากรู้แนวคิดและวิธีการทำงานของทีม DuckUnit แบบเจาะลึกยิ่งขึ้น สามารถรับฟังกันต่อแบบเต็ม ๆ ได้ที่:

The Making of DuckUnit
ไขเบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานแบบเป็ด ๆ ของสตูดิโอที่ผนวกเทคโนโลยีเข้ากับประสบการณ์ของผู้คน
Exclusive Talk ร่วมกับ ต้น-เรืองฤทธิ์ สันติสุข และ ฉิง-พรพรรณ อารยะวีรสิทธิ์ สองนักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มเป็ด และ ผ้าป่าน-สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ จาก GroundControl 
ร่วมพูดคุยกันแบบสด ๆ ในวันเสาร์ที่ 13 สิงหาคมนี้ ทางเพจ Facebook : FAAMAI Digital Arts Hub & GroundControl และช่อง YouTube : GroundControl ตั้งแต่เวลา 10:00 น. เป็นต้นไป