เจาะลึก 20 ผลงานศิลปะไม่ควรพลาดใน ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’

Art
Post on 17 January

หลังจากที่ ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ เปิดตัวมาได้สักพักหนึ่งแล้ว เชื่อว่าหลายคนน่าจะเริ่มเห็นภาพงานศิลปะที่น่าสนใจจากนี้ฟลัดขึ้นเต็มฟีดไปหมด จนเริ่มสับสนแล้วว่าควรจะไปดูงานของใครและพื้นที่ไหนก่อนดี ซึ่งวันนี้ GroundControl ก็ขอทำหน้าที่คัดสรรงานศิลปะเด่น ๆ ที่ไม่ควรพลาด จาก 13 พื้นที่จัดแสดงงาน มาเจาะลึกรายละเอียดพร้อมแนะนำคอนเซปต์ให้ทุกคนได้รู้จักกัน

นอกเหนือไปจากการพลิกพื้นจังหวัดทั่วเชียงรายให้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงศิลปะขนาดใหญ่กว่า 30 จุด ความน่าสนใจของมหกรรมศิลปะครั้งนี้ยังเป็นการที่ผู้ชมจะได้ไปทำความรู้จักพื้นที่เหนือสุดแดนสยามของบ้านเราให้ลึกซึ้งยิ่งกว่าเคย ทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์ แก่นรากของวัฒนธรรม ชนชาติพันธุ์อันหลากหลาย และสังคมร่วมสมัยของเชียงรายในปัจจุบัน ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนี้ได้ถูกถ่ายทอดผ่านสายตาของศิลปิน 60 ราย ทั้งศิลปินท้องถิ่นคนเชียงราย ศิลปินไทย และศิลปินต่างประเทศที่เดินทางมาจากพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ บราซิล อเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี ฯลฯ เพื่อมาร่วมกันสำรวจเชียงรายด้วยมุมมองใหม่

ใน 13 สถานที่จัดงานที่เราเลือกไป มีผลงานชิ้นไหนที่พูดถึงประเด็นเรื่องใดบ้าง ไปดูกันเลย

Summer Holiday with Naga, 2019
พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง

พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง (Mekong Basin Civilization Museum)
พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง (Mekong Basin Civilization Museum) คือหนึ่งในพื้นที่จัดแสดงหลักของงาน ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ ครั้งนี้ โดยพื้นที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของหน่วยงานด้านศิลปวัฒนธรรมในแถบลุ่มน้ำโขง ที่ทำหน้าที่ค้นคว้า วิจัย และผลิตงานด้านเอกสารทางวิชาการ รวมถึงการสำรวจ การจัดแสดงนิทรรศการเพื่อนำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมในแถบลุ่มน้ำโขง และเผยแพร่องค์ความรู้สู่สังคม

ผลงานภาพยนตร์สารคดี ‘Summer Holiday with Naga, 2019’ ของ วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ พูดถึงบันทึกการเดินทางในแม่น้ำโขงด้วยการพายเรือ จากพื้นที่อำเภอเชียงของ ถึงหลวงพระบาง ที่กินระยะทางมากถึง 300 กิโลเมตร พร้อมบันทึกสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป หลังจากการสร้างเขื่อนปากแบงขึ้น เพื่อสะท้อนภาพระบบนิเวศน์ที่ไม่เหมือนเดิม และกระตุ้นให้เราเกิดความสนใจต่อธรรมชาติกันมากขึ้นกว่านี้

เรือเหาะสิงหนวัติกุมาร
พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง

ผลงานจิตรกรรม ‘เรือเหาะสิงหนวัติกุมาร’ ของอุบัตสัตย์ เกิดจากการใส่จินตนาการ ข้อมูลเกี่ยวกับตำนานพื้นบ้าน ประวัติศาสตร์พื้นถิ่น พร้อมกับหยิบยกเอาการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในแม่น้ำโขง มาเทียบเข้ากับโลกดิสโทเปียด้วย

ศิลปินได้เทียบพื้นที่ในพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขงเป็นภาพของอดีตและปัจจุบัน จากวัตถุโบราณในอดีตที่จัดแสดงให้คนในปัจจุบันสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้อย่างอิสระ ส่วนงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ของเขาที่ติดตั้งอยู่บนผนัง คือภาพแทนของอนาคต ที่ในท้ายที่สุดแล้วเราทุกคนคงทำได้เพียงต้องอพยพโยกย้ายไปกับเรือ หากยังไร้หนทางแก้ไขปัญหาเช่นนี้ต่อไป เช่นเดียวกับที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็อาจจะไม่หลงเหลืออะไรเก็บไว้ให้เราหรือคนรุ่นต่อไปได้เฝ้ามองประวัติศาสตร์ใด ๆ อีกแล้ว และเมื่ออดีตพัง ปัจจุบันสูญหายไป อนาคตอันใกล้ที่เรากำลังมุ่งหน้าไปก็คงจะไม่ต่างจากสิ่งที่ศิลปินได้เปรียบเปรยเอาไว้นัก

Mor Doom and Ya Be E Lon
พิพิธภัณฑ์บ้านดำ

พิพิธภัณฑ์บ้านดำ (Baan Dam Museum - Black House) เป็นอีกหนึ่งพื้นที่จัดแสดงหลักของของงาน ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ ครั้งนี้ และตัวมันเองก็ยังถือว่าเป็นงานศิลปะอีกอย่างได้ด้วยเหมือนกัน เพราะบ้านทุกหลังในบริเวณนี้ เป็นผลงานของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) โดยมีรูปแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่นประยุกต์ ภายในมีการจัดแสดงศิลปะพื้นบ้านที่สร้างสรรค์โดยช่างท้องถิ่น ส่วนใหญ่ถูกทาด้วยสีดำแต่ละหลังประดับด้วยไม้แกะสลักลวดลายสวยงาม นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงชิ้นส่วนร่างกายของสัตว์ป่าและสัตว์ดุร้ายอย่าง หนังจระเข้ หนังงู และเขาสัตว์ต่าง ๆ ด้วย

ด้วยภาพลักษณ์เรือนพื้นถิ่น งานศิลปะพื้นถิ่น และของสะสมแบบบ้านป่า ศิลปินที่จัดแสดงผลงานอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ก็เป็นศิลปินที่ทำงานกับเรื่องราวของตำนานพื้นถิ่นหรือศิลปะพื้นถิ่นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น บู้ซือ อาจอ, ชาไคอา บุคเคอร์, กมลลักษณ์ สุขชัย และ โซยุนแว ผลงานที่จัดแสดงที่บ้านดำแห่งนี้จึงสะท้อนภาพความเป็นเชียงรายผ่านผลงานศิลปะที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวพื้นถิ่นด้วยเช่นกัน

ผลงาน ‘Mor Doom and Ya Be E Long’ ผลงานศิลปะแบบจัดวาง ของบู้ซือ อาจอ ศิลปินหญิงชาวอาข่า ผู้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานศิลปะทั้งหมดด้วยตัวเอง โดยเธอได้วาดภาพจิตรกรรมบนผืนหนังควายขนาดใหญ่จำนวนแปดภาพขึ้นมา เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิดตามความเชื่อของชาวอาข่า หนึ่งในชาติพันธุ์สำคัญที่ดำรงอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายมาอย่างช้านาน เพื่อสะท้อนให้เราเห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่แทรกซึมอยู่ในภูมิภาคนี้มาโดยตลอด

บริเวณตรงกลางศาลาจะมีประติมากรรมรูปโลงไม้ขนาดใหญ่สีดำสนิทตั้งอยู่ โดยโรงไม้นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเล่าเรื่องเวียนว่ายตายเกิดของชาวอาข่าเช่นกัน ความเชื่อที่ว่านั้นเล่าไว้ว่าโลงศพแรกของชาวอาข่าถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่ภรรยาของพญานาคซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดของชาวอาข่าเสียชีวิต (พญานาคของชาวอาข่าไม่ได้มีลักษณะแบบของไทย และรูปร่างหน้าตาที่เห็นก็เป็นสิ่งที่ศิลปินจินตนาการแต่งเติมขึ้นเองตามคำบอกเล่า) เขาจึงสร้างโรงไม้ขึ้นมาเพื่อใส่ศพของภรรยา และนับแต่นั้นเมื่อชาวอาข่าเสียชีวิต พวกเขาก็จะนำศพใส่โรงไม้ ไม่ว่าจะรวยมากเท่าไร ก็จะใช้แต่โรงไม้ที่เรียบง่ายเท่านั้น

เหตุผลที่บู้ซือตั้งใจทำผลงานศิลปะเหล่านี้ขึ้นมา เพราะเธอต้องการบอกเล่าเรื่องราวของชาวอาข่าให้เป็นที่จดจำ เนื่องจากชาวอาข่านั้นจะไม่ทำการบันทึกประวัติศาสตร์หรือข้อมูลใด ๆ เป็นลายลักษณ์อักษร จะอาศัยเพียงการบอกเล่าปากต่อปากเท่านั้น ทำให้ศิลปินรู้สึกกังวลว่าในท้ายที่สุดแล้วองค์ความรู้ทั้งหมดนี้จะสูญหายไป และถึงแม้ว่าเธอจะเติบโตมาในความเชื่อแบบชาวอาข่า แต่เนื่องจากได้เข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ในภายหลัง ทำให้เธอนำแนวคิดการบันทึกแบบตะวันตกมาจับเข้ากับวัฒนธรรมความเป็นอาข่า และสานต่อใหม่ด้วยการใช้ศิลปะเข้ามาช่วยเล่าเรื่อง

“ในตำนานของชาวอาข่าได้เล่าถึงพระเจ้าที่ทำการเขียนองค์ความรู้ทุกอย่างใส่ลงหนังควาย และเมื่อชาวอาข่าเอาหนังควายนั้นมากิน ความรู้ทั้งหมดก็อยู่ในสมอง และส่งต่อด้วยการเล่าเรื่องราว ไม่ใช่ตัวหนังสือ เพราะเรากินมันลงไปแล้ว และจดจำมันไว้แล้ว” บู้ซืออธิบายถึงตำนานบางส่วนเพิ่มเติม

การทำงานศิลปะจึงเป็นอีกสิ่งสำคัญที่เปิดโลกของบู้ซือ รวมถึงชาวอาข่าด้วย เพราะถึงแม้ว่าบู้ซือจะเริ่มทำงานศิลปะมาได้หลายปีแล้ว ทว่ายังมีชาวอาข่าอีกหลายคนที่ไม่เข้าใจในการกระทำของบู้ซือที่ต้องการจะบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ผ่านการวาดภาพหรือศิลปะ ที่ต่างไปจากขนบธรรมเนียมของชาวอาข่าดั้งเดิม แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายส่วนที่เริ่มมองเห็นความสำคัญและเข้าใจในสิ่งที่เธอทำและให้การสนับสนุนเช่นกัน

Red Lotus, 2019
พิพิธภัณฑ์บ้านด

ผลงาน ‘Red Lotus, 2019’ ของ กมลลักษณ์ สุขชัย ผลงานภาพถ่ายผสมเทคนิคคอลลาจที่ว่าด้วยตำนานนางบัวแดง ตำนานใหม่ที่ศิลปินเพิ่งสร้าง โดยอิงจากเรื่องราวในชีวิตของตัวเอง ที่ชี้ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามถึงการกำหนดบทบาททางเพศ ผ่านการเล่าเรื่องในสไตล์ของนิทานพื้นบ้าน จักษ์ ๆ วงศ์ ๆ ที่มาครบทั้งฤาษี เจ้าเมือง พรานป่า โดยงานชิ้นนี้ไม่ใช่ผลงานชิ้นใหม่ที่สร้างขึ้นมาใน ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ แต่เป็นงานชุดเก่าที่ตอบโจทย์ของพื้นที่แห่งนี้ เพราะศิลปินได้เลือกผลงานมาจัดแสดงทั้งหมดสี่ชิ้น จาก 10 ชิ้น ซึ่งภาพที่ยกมาจะอัดแน่นไปด้วยสีสันจัดจ้าน เนื่องจากพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์บ้านดำ มีความ Masculine สูงมาก ทั้งในแง่ของผู้สร้างอย่างอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี และตัวสีสันที่จะเน้นสีดำเป็นหลัก การเอางานของเธอที่พูดถึงเรื่องผู้หญิงและสีสันที่ตัดกับสีดำอย่างชัดเจน จึงทำให้เข้ากับพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์บ้านดำมากขึ้น

Beyound the Site
หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM)

ถ้าจะพูดถึงพื้นที่สำคัญของงาน ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ ครั้งนี้ ย่อมหนีไม่พ้น หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (Chiang Rai International Art Museum) ที่ก่อตั้งโดยศิลปินแห่งชาติชาวเชียงรายอย่าง อาจารย์เฉลิมชัย โชลพิพัฒน์ ที่สร้างขึ้นพร้อม ๆ กับการมาถึงของโปรเจกต์ Thailand Biennale ซึ่งในอนาคต ที่นี่ก็จะเป็นศูนย์รวมการจัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัยของชาวเชียงราย สานต่อภารกิจการดันจังหวัดเหนือสุดแดนสยามแห่งนี้ให้เป็น ‘เชียงรายเมืองศิลปะ (โลก)’ ต่อไป

ศิลปินคนสำคัญที่จัดแสดงผลงานในพื้นที่แห่งนี้ ก็มีด้วยกันถึงห้าราย ประกอบไปด้วย ออล(โซน), พรีเชียส โอโคโยมอน), สมลักษณ์ ปันติบุญ, โทเบียส เรห์แบร์เกอร์ และ หวัง เหวิน จื้อ

ผลงาน ‘Beyound the site’ ของ หวัง เหวิน จื้อ ด้วยรูปแบบของงานศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ ที่สร้างขึ้นมาจากไม้ไผ่ทั้งหลัง อีกทั้งยังตั้งเทียบเคียงอยู่ด้านข้างของหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงรายอย่างโดดเด่น ทำให้เป็นที่สนใจของผู้ชมได้ในทันที และเมื่อสำรวจต่อมายังแนวความคิด ก็ยิ่งทวีความน่าสนใจ เพราะศิลปินได้ตีความคำว่า “เปิดโลกภายใน เชื่อมโลกภายนอก” ด้วยการทำงานร่วมกันกับระหว่างช่างฝีมือจากไต้หวันและสล่า (ช่างฝีมือ) ไม้ในเชียงราย เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ผ่านภาพ เสียง สัมผัส และกลิ่น เพื่อสำรวจลึกลงไปยังโลกภายในที่เชื่อมโยงสู่โลกภายนอก เป็นโลกที่เราสามารถสัมผัสได้หลังจากการระบาดของโควิด-19 และอยู่นอกเหนือขอบเขตของสิ่งที่มองเห็น ดังชื่อผลงาน ‘Beyound the site’

ในส่วนของแรงบันดาลใจในการสร้างชิ้นงาน ศิลปินได้แรงบันดาลใจเหล่านั้นมาจากวัดขาว (วัดร่องขุ่น) และวัดดำ (พิพิธภัณฑ์บ้านดำ) เพราะสภาพแวดล้อมของทั้งสองแห่งนี้เชื่อมโยงกับสถานที่ที่ศิลปินเติบโตขึ้นมา โดยศิลปินได้ออกแบบพื้นที่ของงานศิลปะชิ้นนี้ให้คล้ายกับรูปแบบของวัด ผ่านการแบ่งพื้นที่ออกเป็นสามส่วน (เทียบเท่ากับสามโลกตามคติพุทธ) ได้แก่ พื้นที่ใต้โลก โลก และสรวงสวรรค์ และในระหว่างที่ทุกคนเดินเข้ามาภายในพื้นที่ จะต้องลอดอุโมงค์ ที่จะค่อย ๆ ทำให้ใจของทุกคนสงบลง

ศิลปินยังผูกโยงตัวชิ้นงานเข้ากับความเป็นล้านนาผ่านการใช้ ‘ไม้ไผ่’ ของเมืองไทยในการทำทั้งหมด พร้อมกับให้ความเห็นไว้ด้วยว่าไม้ไผ่ที่ไทยหนาและหนักกว่าที่ไต้หวันมาก จึงต้องใช้เวลาเตรียมการนานกว่าปกติ ไม่เพียงเท่านั้นเขายังทาสีของโครงสร้างภายในให้เป็นสีขาวกับดำ เพื่อล้อรับไปตัวอาคารของหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงรายที่มีสองสีนี้

Between Roof & Floor, 2023
หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM)

ผลงาน ‘Between Roof & Floor, 2023’ ของกลุ่มออลโซน กลุ่มสถาปนิกและนักออกแบมืออาชีพจากกรุงเทพ ที่มักสร้างงานแนวทดลองที่ท้าทายขนบของสถาปัตยกรรมอยู่เสมอ ซึ่งงานในครั้งนี้ก็เช่นกัน โดยพวกเขาได้ตั้งคำถามขึ้นมาว่า ต้องออกแบบโครงสร้างแบบไหนถึงจะคลุมพื้นที่ได้มาก ในราคาที่ไม่แพง และจำเป็นไหมที่แกลเลอรี่หรือพิพิธภัณฑ์ต้องมีหน้าตาแบบที่เรารู้จัก เมื่อได้โจทย์แล้วพวกเขาก็เริ่มสืบค้นและช่วยกันออกแบบจนค้นพบกับรูปทรงของเรือนกระจกแบบ Kimbell Art Museum ที่ออกแบบโดย ลุยส์ ไอ.คาห์น (Louis I. Kahn) จากนั้นพวกเขาก็เอามาปรับใหม่ให้มีลักษณะเป็นอาคารจากโครงเหล็กโปร่ง ๆ และหลังคาโค้งเป็นคลื่น ในราคาที่ไม่แพง ดังที่เราเห็นกัน

ความน่าสนใจคือ ชิ้นงาน ‘Between Roof & Floor, 2023’ ได้ทำหน้าที่เป็นผลงานศิลปะซ้อนทับกับแกลเลอรี เพราะภายในของผลงานชิ้นนี้ได้มีการนำผลงาน ‘A Blue Instant a Forward Looking Sky, 2023’ ของ พรีเชียส โอโคโยมอน มาจัดแสดงด้วย ผลงานของกลุ่มออลโซนจึงสามารถสะท้อนบทบาทที่หลากหลายของงานศิลปะได้เป็นอย่างดี

The 4 Noble Truth
ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน

ศููนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน คือพื้นที่ปฏิบัติธรรมในจังหวัดเชียงรายที่ก่อตั้งโดย ‘ว.วชิรเมธี’ หรือ ‘พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี’ ผู้เปรียบเปรยว่าธรรมะเป็นดั่งดวงตะวัน ที่มีขึ้นก็มีตก เป็นไปตามกฏของธรรมชาติ และเมื่อธรรมะอุบัติขึ้นมาในใจ กิเลสและความมืดทั้งปวงก็จะหายไป จึงเป็นที่มาของชื่อพื้นที่ที่มีความหมายถึงการ ‘เชิญธรรมะมาเป็นแสงสว่างนำทางชีวิต’ และในตอนนี้ พื้นที่แห่งนี้ยังถูกเชื่อมโยงเข้ากับ ‘ศิลปะ’ อีกศาสตร์หนึ่ง ผ่านการเป็นหนึ่งในพื้นที่จัดแสดงหลักสุดสำคัญในงาน ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ ด้วย โดยศิลปินที่ร่วมจัดแสดงผลงานในพื้นที่แห่งนี้ มีด้วยกันทั้งหมดหกราย ประกอบไปด้วย กรกต อารมย์ดี, ชาตะ ใหม่วงศ์, สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์, อริญชย์ รุ่งแจ้ง, เซน เท และทรงเดช ทิพย์ทอง

‘The 4 Noble Truth’ ของ ‘ชาตะ ใหม่วงศ์’ ศิลปินเชียงรายผู้ตั้งใจรังสรรค์ศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ที่ทำมาจากหิน เศษไม้ โครงเหล็ก และต้นกระบกยักษ์อายุกว่า 200 ปีที่ยืนตายซากอยู่ในพื้นที่ของศููนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน จำนวนสี่ต้น ศิลปินได้บอกกับเราว่าความจริงแล้วพื้นที่ตรงนี้มีไว้เพื่อวิปัสสนา เป็นพื้นที่ที่แสดงถึงความว่างเปล่า ท่านว.วชิรเมธี จึงไม่อยากให้มีอะไรมาตั้งอยู่ในพื้นที่นี้เลย เพราะจะไม่ตรงกับที่ตั้งใจไว้ แต่เมื่อศิลปินได้อธิบายถึงแนวความคิดของผลงานศิลปะที่ตั้งใจจะทำ ท่านว.วชิรเมธีก็เห็นด้วยและมองว่าเหมาะที่จะอยู่คู่กันตรงนี้

แนวคิดหลักของผลงานชิ้นนี้ มีที่มาจากหลักธรรมในศาสนาพุทธอย่าง ‘อริยสัจ 4’ หรือ ‘ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ’ โดยต้นไม้ยืนต้นตายทั้งสี่ต้นนั้นจะตั้งอยู่บนเสาสี่เหลี่ยมที่มีฐานเป็นเศษไม้ มองดูแล้วคล้ายกับการวางเชิงตะกอน ซึ่งต้นไม้เหล่านี้แทนถึงหลักธรรมในข้อนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นศิลปินไม่ได้กำหนดว่าผู้ชมต้องมองงานศิลปะของเขาตามเสต็ปอย่างเคร่งครัด และสามารถตีความได้ตามใจ หรือจะมองเพียงมันสวยงามเฉย ๆ ก็ได้ หรือถ้ามาปล่อยใจสบาย ๆ อยู่ภายในผลงานนี้สักพักก็ได้เช่นกัน เพราะอีกสิ่งหนึ่งที่ศิลปินต้องการสื่อสารผ่านผลงานชิ้นนี้คือความว่างเปล่า ธรรมชาติของชีวิต การเวียนว่ายตายเกิด และการยอมรับความจริง

สังเกตได้จากรูปทรงของงานศิลปะที่มีการจัดวางในรูปแบบวงกลมที่ไม่สมบูรณ์ ที่พบเห็นได้บ่อย ๆ ในภาพการตวัดพู่กันตามวิถีเซน จากรูปทรงนี้ศิลปินต้องการสื่อถึงความไม่สมบูรณ์พร้อมของมนุษย์ ที่แม้เราอยากจะวาดวงกลมให้กลมมากแค่ไหน แต่ก็ต้องมีการบิดเบี้ยวเกิดขึ้นได้บ้าง นอกจากรูปทรงแล้วเรายังเห็นความเชื่อแบบเซนอยู่ในส่วนของทางเดินภายในตัวงานที่มีการโรยด้วยก้อนกรวดสีขาว คล้ายกับการทำสวนเซนเพื่อฝึกจิตให้นิ่ง ซึ่งก็สอดรับกับตัวพื้นที่แห่งนี้ ที่เป็นลานปฏิบัติธรรมแห่งความว่างเปล่า

บริเวณตรงกลางของชิ้นงานจะเป็นพื้นที่ว่างให้เราเข้าไปยืนได้ และเมื่อเงยหน้ามองขึ้นไปจากตรงจุดนั้น ก็จะพบกับโครงเหล็กที่ประดับไปด้วยเศษไม้ชิ้นเล็กชิ้นน้อยมากมาย ที่มีรูโหว่วตรงกลาง ตรงกับจุดที่เรายืนอยู่พอดิบพอดี รูปร่างของโครงเหล็กและเศษไม้เหล่านี้ ชวนให้เรานึกถึงกลุ่มดาว จักรวาล และสิ่งมีชีวิตที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร แต่ในขณะเดียวกันก็ยังชวนให้เรานึกถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าได้ด้วย ถ้าเราสังเกต เราจะพบว่าเศษไม้เหล่านี้คือเศษไม้ที่ถูกตัดทอนออกมาจากไม้ใหญ่ เพื่อสร้างให้ไม้ใหญ่เหล่านั้นเป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์ขึ้น แต่เศษที่ถูกตัดออกไปกลับถูกทิ้งไว้ไม่ได้ใช้งาน ศิลปินเลยหยิบวัสดุเหล่านี้มาใช้งาน เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าด้วย

Belief is like the wind
ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน

‘Belief is like the wind’ ของ ‘อริญชย์ รุ่งแจ้ง’ ที่ต้องการพูดถึงเรื่องราวของชาวปกาเกอะญอ ชนชาติพันธุ์ที่มีบทบาทสำคัญต่อป่าไม้ของเมืองเชียงรายมาอย่างช้านาน พร้อมกับเชื่อมเข้ากับผลงานชิ้นนี้เข้ากับหลักธรรมทางศาสนาพุทธเพื่อเชื่อมโยงตัวงานเข้ากับพื้นที่จัดแสดงที่เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม

‘Belief is like the wind’ คืองานศิลปะจัดวางที่มีฐานเป็นทางเดินรูปวงรีที่ปูทางด้วยก้อนหิน ให้ผู้ชมสามารถเข้าไปเดินเหยียบย่ำได้ คล้ายกับกำลังเดินจงกลม เหนือขึ้นไปจากทางเดินนั้นจะมีระฆังลมไม้ที่มีใบโพธิ์ห้อยลงมาแขวนอยู่ เมื่อลมพัดผ่านระฆังไม้เหล่านั้นก็จะส่งเสียงกรุ๊งกริ๊งเบา ๆ คลอไปกับเสียงเพลงกล่อมเด็กภาษาปกาเกอะญอ ที่ชวนให้เราขนลุกและเย็นใจอย่างน่าประหลาด สำหรับบริเวณตรงกลางของชิ้นงานจะเป็นพื้นที่ว่างโล่งที่มีก้อนหินขนาดใหญ่หลายก้อนตั้งทับสายสิญจ์สีแดงอยู่

ศิลปินได้เล่าให้ฟังถึงที่มาแนวคิดของการทำงานในครั้งนี้ว่า ในเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรป่าไม้และเต็มไปด้วยชาติพันธุ์อันหลากหลายของคนหลายชนชาติอย่างเชียงราย ชาวปกาเกอะญอ หรือที่รู้จักกันในชื่ออื่น ๆ ด้วยอย่างกะเหรี่ยงสะกอ หรือกะเหรี่ยงขาว มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นตัวการในการทำให้ป่าไม้ลดลง เพราะตัดไม้ทำลายป่าจากการทำไร่เลื่อนลอย ไม่เป็นหลักแหล่ง และเผาทำลายไปเรื่อย ๆ ทั้งที่ความจริงแล้วสิ่งที่พวกเขาทำไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติเท่ากับสิ่งที่คนในเมืองทำเลย และเมื่อค้นลึกลงไปในวัฒนธรรมของพวกเขาแล้ว ยังพบอีกว่าชาวปกาเกอะญอมีความผูกพันกับธรรมชาติมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่เกิด

เนื่องจากในยามเกิด ชาวปกาเกอะญอจะมีพิธีที่เรียกว่า ‘เดปอทู่’ หรือ ‘ป่าสะดือ’ ที่พ่อกับแม่จะนำสายสะดือของเด็กแรกเกิดไปผูกกับต้นไม้ให้เป็นต้นไม้ประจำตัว ที่ต้องดูแลรักษาและจะไม่ตัดเด็ดขาด ซึ่งศิลปินก็ได้นำแรงบันดาลใจส่วนนี้มาทำเป็นระฆังลมไม้ที่มีใบโพธิ์ห้อยลงมาแขวนอยู่ รวมถึงเสียงเพลงกล่อมเด็กด้วย นั่นหมายความว่าถึงแม้พวกเขาจะทำการตัดไม้ แต่ก็เป็นการตัดเพื่อดำรงชีวิต ไม่เบียดเบียนและมีการดูแลรักษาร่วมด้วยเสมอ นอกจากนี้ศฺลปินยังมีการสอดแทรกเรื่องวิญญาณนิยม (Animism) หรือคติความเชื่อพื้นเมืองที่เชื่อเรื่องการนับถือผี นับถือชาแมนและคนทรง ที่เชื่อว่าทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้มีวิญญาณและเจตจำนงเป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นความเชื่อที่สามารถสืบย้อนกลับไปได้ถึงยุคหินเก่าเอาไว้ในงาน ผ่านก้อนหินนั้นด้วย เพราะชาวปกาเกอะญอยังคงมีรากความเชื่อแบบนั้น และถึงแม้ว่าในปัจจุบันพวกเขาจะมีการนับถือพุทธร่วมเข้ามาด้วย แต่รากความเชื่อเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ และยังคงทำให้พวกเขารักธรรมชาติไม่เปลี่ยนแปลง

Share Residence, 2023
ห้องสมุดรถไฟเชียงราย

ห้องสมุดรถไฟเชียงราย (Chiang Rai Train Library) ก็คือห้องสมุดในรูปแบบของรถไฟสมกับชื่อสถานที่เลย ซึ่งสถานที่แห่งนี้คือพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป สามารถเข้ามาค้นคว้าและอ่านหนังสือได้อย่างอิสระ โดยมีให้เลือกอ่านหลายหมวดหมู่ ทั้งประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ปรัชญา ศาสนา การพัฒนาทักษะ ภาษา สังคมศาสตร์ ฯลฯ และในตอนนี้ ที่นี่ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่จัดแสดงหลักของงาน ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ ด้วย

‘Share Residence, 2023’ คือผลงานของ โปกล็อง อะนาดิง (Poklong Anading) ที่จัดแสดงอยู่ภายในห้องสมุดรถไฟเชียงราย (Chiang Rai Train Library) เขาได้นำแรงบันดาลใจจากการได้สัมผัสเชียงรายมาสร้างเป็นงานศิลปะที่สะท้อนตัวตนของผู้คนที่นี่ ผ่านการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างกัน โดยเขาได้ร่วมมือกับนักวาดภาพประกอบ และประชาชนชาวเชียงราย ให้นำผลงานศิลปะหรือสิ่งของส่วนตัวมาแลกเปลี่ยนกัน และในขณะเดียวกัน พวกเขาก็สามารถนำผลงานศิลปะของศิลปินกลับไปที่บ้านของตัวเองตามเวลาที่กำหนดได้ด้วย

Weekend, 2023
ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า

ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า (The Old Chiang Rai City Hall) คือพื้นที่จัดแสดงหลักในงาน ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ และเป็นหนึ่งในพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่พาเราย้อนกลับไปมองสภาพสังคมในช่วงการปฏิรูปบ้านเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้แจ่มชัดขึ้น เพราะศาลากลางแห่งนี้ได้ถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลานั้น เพื่อเป็นที่ทำงานของหน่วยงานรัฐบาลและข้าหลวงเมืองเชียงราย ตามนโยบายการปฏิรูปการปกครองเข้าสู่ศูนย์กลางของรัฐบาลสยาม และมีฐานะเป็นศาลากลางที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยที่ยังคงเหลืออยู่

ด้วยเหตุนี้ ครั้งหนึ่งพื้นที่แห่งนี้ก็เคยเป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัยใหม่ เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ และเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนารูปแบบใหม่ที่กระจายจากศูนย์กลางสู่เมืองเชียงราย โดยตัวชิ้นงานได้ตั้งเป็นฉากหลังให้กับรูปปั้นรัชกาลที่ 5 ผู้เป็นสัญลักษณ์ของโลกยุคสมัยใหม่ในมุมมองของศิลปิน (สร้างฐานขึ้นมาใหม่ไม่ได้ยึดเกาะกับตัวอาคารเก่าเพื่อป้องกันความเสียหาย) ที่นำพาทุกการเปลี่ยนแปลงสำคัญมาสู่สยาม จนเกิดเป็นการพัฒนาในหลายภาคส่วน และด้วยแนวคิดเหล่านี้ ไมเคิล ลิน (Michael Lin) ศิลปินหนึ่งเดียวที่จัดแสดงผลงานอยู่ที่นี่ ก็ได้ดึงเอามาเป็นวัตถุดิบหลักในการสร้างงานศิลปะที่ชื่อว่า ‘Weekend, 2023’

‘Weekend, 2023’ คือผลงานที่เล่นกับ ‘กาลสมัย’ บนพื้นที่ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า ที่ถูกซ้อนทับด้วยยุคสมัยอยู่หลายชั้น และเป็นหมุดหมายสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงภาพการเปลี่ยนแปลงของเชียงรายในภาพใหญ่ โดยศิลปินได้เปรียบเหตุการณ์นี้ เข้ากับการต่อสู้ของแรงงานและกลุ่มคนชายขอบ กับผู้ปกครองส่วนกลางในยุคปัจจุบัน โดยเขาผสมลวดลายและสีสันของผ้าจากชาวเขาในบริเวณสามเหลี่ยมทองคํา ผืนผ้าเปรียบเหมือนตัวแทนของสหภาพแรงงานและชุมชน ที่ต้องการลุกขึ้นมาต่อต้านผู้ปกครองส่วนกลาง และยังเป็นการตั้งคำถามถึงตำแหน่งแห่งหนของศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัยในภูมิภาคนี้ กับศิลปะที่ได้รับความนิยมจากส่วนกลางด้วย

อีกหนึ่งจุดเด่นของ ‘Weekend, 2023’ คือการพูดถึงกรอบของการจัดสรรการทำงานให้กับแรงงาน ที่กระตุ้นให้ทำงานจนกว่าจะถึงวันหยุดสุดสัปดาห์จนเป็นเรื่องเคยชิ้น และเพื่อสะท้อนภาพเหล่านั้นให้ชัดขึ้น นอกจากศิลปินจะได้แรงบันดาลใจมาจากลวดลายและสีสันของชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในเชียงรายแล้ว เขายังนำเอาความเชื่อและวัฒนธรรมของคนไทยที่มีสีสำหรับทุกวันในสัปดาห์มาใช้ด้วย เช่น วันจันทร์สีเหลือง วันอังคาสีชมพู วันพุธสีเขียว จนกลายเป็นชิ้นงานหลากสีสันดังที่เราได้เห็นกัน

Museo Aero Solar
โกดังยาสูบ สำนักงานยาสูบเชียงราย

โกดังยาสูบ สำนักงานยาสูบเชียงราย (Tobacco Warehouse, Chiang Rai Tobacco Office) คือพื้นที่สำหรับเก็บใบยาสูบที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2476 โดยบริษัท ยาสูบ อังกฤษ-อเมริกัน (ประเทศไทย) จำกัด (บี.เอ.ที.) ก่อนที่รัฐบาลจะซื้อกิจการต่อมาแล้วเปลี่ยนให้เป็นโกดังยาสูบ สำนักงานยาสูบเชียงรายอย่างทุกวันนี้ โดยภายในพื้นที่แห่งนี้จะมีผลงานของศิลปินให้ชมห้าราย ได้แก่ อาร์โต ลินด์เซย์ (Arto Lindsay), อัททา ความิ (Atta Kwami), มาเรีย เทเรซา อัลเวซ (Maria Thereza Alves), ชิมาบุกุ (Shimabuku) และ โทมัส ซาราเซโน (Tomas Saraceno)

‘Museo Aero Solar, open-source and collaborative project since 2007, 2023’ หรือ บอลลูนจากถุงพลาสติกที่สามารถลอยขึ้นฟ้าได้โดยไม่ใช้พลังงานใด ๆ นอกจากการนำไปวางตากแดด แล้วอาศัยหลักการความร้อนและความหนาแน่นของอากาศเท่านั้น จุดตั้งต้นของผลงานชิ้นนี้มาจากความพยายามหาวิธีการที่จะทำให้มนุษย์บินได้โดยไม่ใช้เชื้อเพลิง ซึ่งโครงการนี้ก็สามารถทำได้และยังต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ อีก และเมื่อศิลปินนำหลักการนี้มาใช้สร้างงานชิ้นใหม่ขึ้นที่เชียงราย เขาเลยจัดควบคู่ไปกับการเวิร์กชอปเพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องน้ให้คนในท้องถิ่นสามารถนำไปทำตามได้เองด้วย

ส่งผลให้บอลลูนลอยฟ้าลูกนี้ เปรียบเสมือนกับหลักฐานความร่วมมือระหว่างศิลปินกับคนในพื้นที่เชียงราย เพราะเขาเปิดโอกาสให้ทุกคนนำถุงพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วมาสร้างเป็นบอลลูนลูกนี้ด้วยกัน ซึ่งในปัจจุบันบอลลูนลูกนี้ก็ยังสามารถต่อเติมและขยายใหญ่ขึ้นได้อีกเรื่อย ๆ และหลังจาก ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ จบไปแล้ว ศิลปินก็จะยกให้คนเชียงรายตัดสินใจได้เลยว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะมันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ไปแล้ว

We are flying, 2023
โกดังยาสูบ สำนักงานยาสูบเชียงราย

‘We are flying, 2023’ ของชิมาบูกุ คืองานที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของผลงานได้ ด้วยการถ่ายภาพตัวเองทำท่าพระพุทธรูปปางเปิดโลก อันเป็นคอนเซปต์หลักของ ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ ครั้งนี้ แล้วส่งรูปมาให้เขา จากนั้นเขาจะทำการวาดโครงร่างขนาดเท่าคนจริงให้ ส่วนสีสันต่าง ๆ เจ้าของภาพต้องลงมือระบายสีด้วยตัวเอง ในช่วงที่เขาจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปขึ้น สำหรับแนวคิดตั้งต้นของการพาคนขึ้นบินแบบนี้ เริ่มมาตั้งแต่เมื่อ 16 ปีก่อน ที่เขาได้มองเห็นว่าวจากรูปสัตว์ต่าง ๆ บนท้องฟ้า และเมื่อว่าวรูปสัตว์เหล่านั้นต้องลมจนเกิดความเคลื่อนไหว ความเคลื่อนไหวนั้นก็คล้ายกับการเคลื่อนที่ของสัตว์เหล่านั้นจริง ๆ เมื่อเห็นดังนั้นเขาก็เกิดเป็นความคิดว่าแล้วถ้าเป็นรูปของมนุษย์บ้างจะเป็นอย่างไร และกลายเป็นโปรเจกต์นี้ในที่สุด

บนผนังด้านหนึ่งของส่วนจัดแสดงของชิมาบูกุ ได้เขียนถ้อยความหนึ่งไว้ว่า “ฉันได้ไปที่เทือกเขาแอลป์ ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยอยู่ใต้ท้องทะเล และจนถึงทุกวันนี้ ซากฟอสซิลของปลาและหอยก็ยังมีให้เห็นอยู่บนเทือกเขา ฉันตัดสินใจที่จะทําและเล่นว่าวรูปร่างเหมือนปลากับคนในหมู่บ้าน ระหว่างนั้นก็คิดและจินตนาการไปว่าท้องฟ้านั้นเป็นห้องทะเลหลังจากนั้น ฉันก็ได้พบว่าว่าวรูปปลาที่บินอยู่นั้นเหมือนกําลังว่ายน้ํา ส่วนว่าวรูปปลาหมึกที่บินอยู่นั้นเหมือนกําลังเดินอยู่ ฉันก็เลยคิดขึ้นมาว่า ถ้าฉันทําว่าวรูปมนุษย์ มันจะบินได้หรือไม่”

เมื่อได้นั่งมองผลงานของซาราเซโนและชิมาบูกุ ที่พยายามทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ อย่างการพาคนบินขึ้นท้องฟ้าแบบธรรมชาติ ผ่านวิธีการในแบบฉบับของตัวเอง ก็เหมือนกับได้เก็บเอาแรงบันดาลใจ ความฝัน ความหวัง และพลังงานดี ๆ กลับบ้านมาด้วยเลยทีเดียว

PLUVIOPHILE
Sawanbondin Tea House & Experience

“ขณะที่เรื่องราวความทรงจำถูกนำมาถ่ายทอด ในจังหวัดเหนือสุดอย่างเชียงรายซึ่งได้ผลัดเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ดินแดนใต้สุดของไทยยังคงเผชิญกับฤดูฝนอันยาวนาน”

นี่คือถ้อยความสั้น ๆ ที่เราพบเห็น เมื่ออ่านคำอธิบายเกี่ยวกับพื้นที่ของ ‘PLUVIOPHILE Pavillion’ พาวิลเลียนจากศิลปินชาวไทยที่เหมือนจะอยู่ใกล้ แต่กลับห่างไกลจากจังหวัดเชียงรายมากพอสมควร เพราะพวกเขาเดินทางมาจากใต้สุดของสยาม สู่เหนือสุดของสยาม พร้อมกับนำพาเอาเรื่องราวที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของสายฝนกับการก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาจัดแสดงให้ทุกคนได้ชมกันผ่านนิทรรศการ ‘PLUVIOPHILE | สายฝนและสถานะของผู้กำหนด’ โดยมีศิลปินเข้าร่วมทั้งหมด 5 คน ได้แก่ คีต์ตา อิสรั่น, รอซี ฮารี, ปรัชญ์ พิมานแมน, อนีส นาคเสวี, อับดุลฮากีม ยูโซ๊ะ

สำหรับพื้นที่ที่ PLUVIOPHILE Pavillion ตั้งอยู่ คือร้าน ‘สวรรค์บนดิน’ ฟาร์มสเตย์กึ่งร้านชาสมุนไพร ที่ทั่วทั้งบริเวณได้มีการติดตั้งเครื่องพ่นหมอก ที่ช่วยเสริมบรรยากาศคล้ายสายฝนที่กำลังตกปอย ๆ ล้อรับไปกับชื่อนิทรรศการที่ต้องการเล่าเรื่องพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในฤดูฝน

เพ็ญวดี นพเกตุ มานนท์ ภัณฑารักษ์ของพาวิลเลียนและนิทรรศการนี้ ได้อธิบายถึงจุดประสงค์ของนิทรรศการว่าฤดูฝนหรือวันที่ฝนตกนั้นค่อนข้างพิเศษ เพราะเป็นสัญญาณว่าจะเกิดความรุนแรงหรือความไมาสงบน้อยลง และเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนในพื้นที่นี้จะได้กลับมาใช้ชีวิตปกติธรรมดากันสักครั้ง ผลงานในนิทรรศการเลยต้องการพาเรามาดูว่า ถ้าไม่ใช่ความรุนแรง จะมีอะไรเกิดขึ้นในวันฝนพรำได้บ้าง

ผลงานของ ‘ปรัชญ์ พิมานแมน’ ที่วางอยู่ในศาลาแห่งหนึ่ง ประกอบไปด้วยโต๊ะน้ำชา แก้วและกาน้ำชาที่สร้างจากคอนกรีต หน้าต่างที่ห้อยอยู่ผิดที่ผิดทาง และตามผนังจะมีเสื้อผ้าและผ้าเก่า ๆ ที่เกิดจากการช่วยกันเย็บขึ้นใหม่ของกลุ่มแม่บ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และถ้าสังเกตดี ๆ เราจะพบว่าบนผ้าเหล่านั้นมีรอยไหม้และเขม่าไฟติดอยู่ด้วย คอนเซปต์ของงานชิ้นนี้คือการพูดถึงเรื่องจุดปลอดภัยของชาวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ศิลปินเปรียบเทียบช่วงเวลาปลอดภัยที่ว่านั้นเข้ากับช่วงเวลา ‘ดื่มน้ำชา’ หรือถ้าพูดตามภาษามลายูท้องถิ่นจะเรียกว่า ‘มาแกแต’ เพราะวัฒนธรรมการดื่มชา เป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับคนที่นี่มาโดยตลอด ซึ่งศิลปินก็ได้ทำงานร่วมกับตัวพื้นที่อย่างร้านสวรรค์บนดินที่เป็นร้านน้ำชาขึ้นชื่อของเมืองเชียงราย อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่จุดปลอดภัยไม่เคยปลอดภัยจริง ๆ และผู้คนที่นี่ก็ชินกับการรับมือกับความไม่สงบมากกว่าความสงบไปแล้ว ภาพลักษณ์ที่ศิลปินถ่ายทอดออกมา จึงเป็นการพยายามทำตัวปกติของคนที่ไม่สามารถทำตัวปกติได้ ทุกอย่างภายในงานจึงดูผิดที่ผิดทางไปเสียหมด

In-Pattani
Sawanbondin Tea House & Experience

‘In-Pattani’ คือผลงานศิลปะที่เกิดจากการนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพื้นที่สมมติแต่เหมือนกับสามจังหวัดชายแดนใต้เป๊ะ ๆ มาทำเป็นบอร์ดเกมชื่อว่า ‘In-Pattani’ ที่เปิดเวิร์กชอปให้ผู้ชมสามารถเข้ามาร่วมเล่นได้ด้วย โดยทุกคนจะได้สวมบทบาทแตกต่างกัน เป็นทหารบ้าง เป็นนักข่าวบ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คนที่เข้าร่วมเกมทุกคนจะมีชะตากรรมอยู่ในพื้นที่เดียวกันและต้องหาทางออกจากพื้นที่แห่งนี้ให้ได้ ซึ่งแต่ละเหตุการณ์ที่เจอก็ทำให้ผู้ชมได้สัมผัสกับประสบการณ์ของคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

หลังจากเล่นไปสักพัก เชื่อว่าหลายคนน่าจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกชวนเศร้าผุดขึ้นมาเป็นระยะ ๆ เพราะทุกคนต่างต้องดิ้นรนเพื่อพาตัวเองไปให้ถึงเส้นชัยให้ได้ ด้วยทรัพยากรและอำนาจในการเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่อย่างจำกัด (และถ้าในระหว่างการเล่นมีผู้เสียชีวิตมากกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้เกมจะจบลงทันที) ซึ่งจุดเส้นชัยที่ว่านั้นก็จะมีคำคำหนึ่งเขียนไว้ว่า ‘Bon voyage’ หรือ ‘เดินทางโดยสวัสดิภาพ’ ที่สะท้อนให้เห็นว่าหากอยากอยู่รอดปลอดภัย ก็ต้องออกไปจากที่นี่ให้ได้ นัยของข้อความนี้จึงอาจจะเป็นเสียงของคนที่สิ้นหวังในพื้นที่ เพราะในท้ายที่สุดแล้ว จวบจนปัจจุบันเราก็ยังหาวิธีแก้ไขเรื่องความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างแน่ชัดไม่เจอ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้จึงไม่ใช่การอยู่เพื่อเปลี่ยน แต่คือการออกไปจาก ‘Pattani’ เมืองสมมติสุดเหมือนจริงแห่งนี้มากกว่า

The Unarchiver
MAIIAM Pavillion โดยพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม (MAIIAM)

MAIIAM Pavillion นับเป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญที่ควรไปเยือนใน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ครั้งนี้ โดยพวกเขาได้นำเสนอนิทรรศการ ‘Point of No Concern: return to the rhizomatic state’ ในร้านหนังสือเวียงทองเก่า (ตรงข้ามกาดหลวงฝั่งร้านขายผ้า) ถนนไตรรัตน์ ต.เวียง อ.เมืองเชียงราย เพื่อนำเสนอเรื่องราวเส้นทางโบราณของพ่อค้าวัวในล้านนา โดยสื่อสารผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวของพื้นที่ ประวัติศาสตร์บอกเล่า และความทรงจำของตน ทั้งด้วยภาพ เสียง ประสบการณ์ปฏิสัมพันธ์ และสุรา

จุดเด่นของพื้นที่นี้คือความกลมกล่อมเป็นเนื้อเดียวกันในการเล่าเรื่อง เรียกได้ว่าทุกอย่างที่นำมาจัดแสดงในพื้นที่แห่งนี้ได้ร่วมด้วยช่วยกันบอกเล่า ‘ประวัติศาสตร์’ หน่วยเล็ก ๆ จากมุมมองของศิลปินหลาย ๆ คน จนเกิดเป็นภาพใหญ่ที่ช่วยให้เรามองเห็นหัวใจสำคัญของนิทรรศการที่ทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ในพื้นที่ ประวัติศาสตร์กระแสรอง และประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยถูกบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรได้อย่างแจ่มชัด ซึ่งศิลปินที่ร่วมจัดแสดงในพื้นที่แห่งนี้ ประกอบไปด้วย สหพล ชูตินันท์, กอบพงษ์ ขันทพันธ์, ภูวมินทร์ อินดี, นนทนันทร์ อินทรจักร์, ลลิตา สิงห์คําปุก, เหล้ากบฏเงี้ยว, อนุรักษ์ ธัญญะปาลิต โดยมี อนุสรณ์ ธัญญะปาลิต และอธิคม มุกดาประกร เป็นภัณฑารักษ์

‘The Unarchiver’ ของ ‘สหพล ชูตินันท์’ ที่เกิดข้อสงสัยเวลามองภาพถ่ายเก่า ๆ ว่า คนถ่ายภาพเขากำลังคิดอะไร และอยากจะบอกเล่าอะไรเกี่ยวกับภาพนั้นกันแน่ แต่ไม่ว่าเราจะค้นหาข้อมูลอย่างไร เราก็ไม่มีทางได้คำตอบที่แท้จริงได้เลย เพราะในท้ายที่สุด เราก็มักจะเชื่อในสิ่งที่ตัวเองอยากจะเชื่อ และผูกเอาเรื่องราวที่เราคุ้นเคยมากกว่า เข้ากับภาพเหล่านั้นอยู่ดี แนวคิดนี้ได้นำไปสู่มุมมองทางประวัติศาสตร์ ที่มีหลากหลายที่มาและทฤษฎีเช่นกัน ซึ่งไม่มีข้อมูลใดที่สามารถยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าสิ่งใดถึงถูกต้องกันแน่

ศิลปินจึงตั้งใจสร้างงานศิลปะขึ้นมาเพื่อแสดงให้ผู้ชมเห็นภาพเหล่านี้ ด้วยการ ‘ปั่น’ ให้ผู้ชมรู้สึกงุนงง ไม่รู้ว่าสิ่งใดจริง สิ่งใดเท็จ เพื่อท้าทายมุมมองการเสพข่าว เสพประวัติศาสตร์ และแยกแยะทุกอย่างในโลกปัจจุบัน โดยเขาได้นำเอาภาพถ่ายเก่ามาคอลลาจร่วมกับข้อความจากหนังสือพิมพ์ หลักฐานทางการแพทย์ และอีกมากมาย ที่ชี้ชวนให้เราหาข้อสรุปในแบบฉบับของตัวเองขึ้นมา ทว่าศิลปินจะไม่เฉลยว่าสิ่งที่เราคิดนั้นถูกหรือผิดกันแน่ แต่ถ้าเราอยากรู้จริง ๆ ว่าเดาเรื่องราวในภาพถูกหรือไม่ ก็สามารถลองป้อนคีย์เวิร์ดลงไปใน AI ที่ศิลปินเตรียมไว้ เพื่อให้ AI ช่วยให้คำใบ้ (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเรื่องจริง) จากนั้นคำใบ้ที่ทุกคนช่วยกันหาจะขึ้นโชว์บนหน้าจอใหญ่ ให้ทุกคนช่วยกันถอดรหัสต่อไป

Point of No Concern: return to the rhizomatic state
MAIIAM Pavillion โดยพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม (MAIIAM)

อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้นิทรรศการ ‘Point of No Concern: return to the rhizomatic state’ กลมกล่อมขึ้น คือการนำเหล้ากบฏเงี้ยวมาทำเป็นเครื่องดื่มรสชาติเชียงรายให้ทุกคนในงานได้ลองชิม เพราะนอกจากสิ่งนี้จะเชื่อมโยงเข้ากับเส้นทางการค้าวัวที่ต้องมีเรื่องสุราเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอยู่แล้ว เหล้าชิ้นนี้ยังพาเราไปพบกับประวัติศาสตร์ของชาวไทใหญ่ ที่เคยเป็นฟันเฟืองหลักของเส้นทางการค้านี้ด้วย

‘อนันตรัฐ สุวรรณรัตน์’ ผู้คอยดูแลจัดการในส่วนจัดแสดงชั่วคราวเกี่ยวกับ ‘เหล้ากบฏเงี้ยว’ นี้ได้อธิบายให้เราฟังว่า เหล้าที่นำมาร่วมแสดงในนิทรรศการครั้งนี้คือเหล้าของคนแพร่ ซึ่งแพร่เป็นจังหวัดที่เสียภาษีเรื่องเหล้าเป็นจำนวนมหาศาล เพราะเหล้าของที่นี่นั้นขึ้นชื่อ และอีกหนึ่งประวัติศาสตร์หลักของคนที่นี่ก็คือชาวไทใหญ่ที่ถูกส่วนกลางเรียกว่าเป็น ‘กบฏเงี้ยว’ ที่ต่อต้านการปกครองจากส่วนกลางในสมัยรัชกาลที่ 5 กลุ่มของพวกเขาเลยจัดสองเรื่องราวนี้มารวมเป็นเนื้อเดียวกัน คือการใช้เหล้ามาเล่าประวัติศาสตร์กระแสรองของกบฏเงี้ยวที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึง ใช้เหล้ามาแสดงให้เห็นบทบาทสำคัญของชาวไทใหญ่ที่มีต่อเศรษฐกิจไทยมาตั้งแต่ครั้งอดีต และใช้เหล้านี้ในการผลักดันสุราก้าวหน้า

Don’t be afraid to walk alone
ตึก RJJ (อดีตห้างเยาวชนการค้า)

ผลงานทั้งหมดในนิทรรศการ ‘Don’t be afraid to walk alone’ คือนิทรรศการที่ต้องการบอกเล่าถึงจิตวิญญาณการทำงานศิลปะของกลุ่มรูบาน่า ที่ให้ความสนใจกับเรื่องของลายเส้นที่สามารถนำมาใช้สร้างเป็นอะไรก็ได้ ภายในนิทรรศการนี้ ทุกคนจึงสามารถพบเห็นศิลปะจากหลากหลายรูปแบบที่เล่าเรื่องผ่านเส้นได้แตกต่างกัน ทั้งในรูปแบบของงานจิตรกรรม ประติมากรรม และศิลปะจัดวาง โดยมีแรงบันดาลใจมาจากบทเพลงเฉพาะตัวที่กลุ่มของพวกเขาร่วมกันแต่งขึ้นมา (บทเพลงนี้ยังไม่เผยแพร่สู่สาธารณะ)

สำหรับพื้นที่จัดแสดงของกลุ่มรูบาน่าใน ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ ครั้งนี้ คือตึก RJJ (อดีตห้างเยาวชนการค้า) ข้างธนาคารกสิกรไทย ถนนบรรพปราการ ต.เวียง อ.เมืองเชียงราย ที่ในปัจจุบันเป็นเหมือนห้องเก็บของไปแล้ว แต่เมื่อทางกลุ่มรูบาน่าจะมาจัดแสดงงานที่นี่ ก็เลยมีการเก็บกวาดครั้งใหญ่จนพร้อมจัดแสดง และด้วยความที่สถานที่แห่งนี้กลายเป็นห้องเก็บของเก่าเก็บ ก็เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมของกลุ่มรูบาน่า ที่มีฐานที่มั่นอยู่ในชั้นใต้ดินของอาคารแห่งหนึ่งเช่นกัน เมื่อได้มาจัดแสดงที่นี่จึงราวกับพวกเขาได้ย้ายบ้านครั้งใหญ่ และเชียงรายก็ทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนบ้านจริง ๆ

Chantdance, 2023
อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง

‘Chantdance, 2023’ ผลงานศิลปะจัดวางของ ‘เออร์เนสโต เนโต (Ernesto Neto)’ ศิลปินชาวบราซิลผู้ให้ความสนใจในเรื่องราวของธรรมชาติและวัฒนธรรมของชนพื้นถิ่นมาอย่างยาวนาน โดยเขาได้นำเอาองค์ความรู้เหล่านั้น มาผสานเป็นงานศิลปะที่เชิญชวนให้ผู้ชมเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ร่วมด้วย ผ่านการสัมผัส และดมกลิ่นเครื่องเทศ ที่เขามักใส่ลงไปในงานอยู่เสมอ

‘Chantdance, 2023’ คือผลงานที่มีรูปลักษณ์เป็นโครงข่ายสีแดงขนาดใหญ่ ที่เกิดขึ้นมาจากการถักทอเชือกสีแดงเข้าด้วยกัน โดยที่ปลายเชือกถักถูกผูกเข้ากับโอ่งดินเผาฝังดิน ภายในโอ่งดินเผาเหล่านั้นจะมีการบรรจุน้ำเอาไว้เต็มใบ พร้อมกับปลูกพืชพันธ์ุหลายชนิดเอาไว้ ตามพื้นดินจะมีฝาดินเผาเล็ก ๆ ครอบหลอดไฟที่ใช้สำหรับเปิดไฟตอนกลางคืน สำหรับพื้นที่ตรงกลางของชิ้นงาน จะมีการจัดวางกลองมโหระทึกกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ และเมื่อเงยหน้าขึ้นมองข้างบน ก็จะพบกับก้อนดินหนัก ๆ หลายก้อน ห้อยระโยงระยางลงมาจากเชือกถักสีแดงจนเต็มพื้นที่ไปหมด และเมื่อเราลองเข้าไปจับ เข้าไปตี และเข้าไปอยู่ใกล้ ๆ ก็จะสัมผัสได้ถึงกลิ่นกำยานและเครื่องเทศอันหลากหลาย ผสมผสานอยู่ภายในก้อนดินเหล่านั้น อันเป็นเอกลักษณ์ในงานของเนโต

“ต้นไม้ทุกต้นถูกออกแบบมาเพื่อสัมผัสกับไฟและน้ำ ต้นไม้ทุกต้นคือจุมพิตระหว่างดวงอาทิตย์และโลก และทุก ๆ สิ่งในนี้คือการจูบ” เนโต อธิบายถึงผลงานศิลปะ ‘Chantdance, 2023’ ของเขาที่จัดแสดงอยู่ที่อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง ในฐานะส่วนหนึ่งของ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

ผลงานศิลปะติดตั้งที่สร้างจากโครงข่ายเชือกถักร้อยสีแดงนี้ มีจุดเริ่มต้นเริ่มจากประสบการณ์ของเขาในจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่การเดินทางไปที่ร้านอาหาร วัด และดอยดินแดง ที่เขาได้พาความหลงใหลในงานเซรามิกและศาสนาพุทธไปอีกขั้นให้เข้มข้นกว่าเดิม

“มีคนบอกผมว่า สีแดงคือสวรรค์ในศาสนาพุทธ มันเป็นเรื่องที่แปลกใหม่สำหรับผมมาก” นั่นจึงนำมาสู่แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานจากเชือกถักสีแดง โดยศิลปินอธิบายต่อว่า สำหรับเขา สีแดงคือสีของชีวิต และชีวิตที่เราอยู่นี้เองคือสวรรค์ หาใช่สถานที่หรือห้วงมิติหลังความตาย และในเมื่อชีวิตของเรานี่เองคือสวรรค์ สวรรค์จึงสถิตอยู่ ณ ห้วงขณะนี้ และสถิตอยู่ในตัวเรา ดังที่เขาอธิบายว่า ‘Paradise is Life’

“ต้นไม้คือสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า มันเกิดจากความฝันในคืนที่ผมมาถึงเชียงราย วันถัดมาเขาพาผมไปไหว้พระ พาไปพิพิธภัณฑ์ข้าง ๆ ไปวัดอื่น ๆ ไปร้านอาหาร ที่เจอปลาในหม้อดินเผา พาไปดอยดินแดง ไปสวน ไปบ้านพวกเขา จำไม่ค่อยได้แล้ว แต่จะบอกว่าวันนั้น หลังผมเจ็ตแล็ก ปรับเวลาไม่ได้ พอตื่นขึ้นมา ผมก็เห็นภาพงานชิ้นนี้ในหัว และได้ยินเสียงเพลง“

“แล้วผมก็คิดว่า พระพุทธเจ้าก็คือพืชพรรณ เหมือนกับจิตวิญญาณของต้นไม้ที่จัดวางสมดุลของทุกอย่างแล้ว ผมจึงใช้ต้นไม้แทนจิตวิญญาณของพระพุทธ จิตวิญญาณแห่งธรรมชาติ จิตวิญญาณแห่งชีวิต นั่นคือเหตุผลที่ต้นไม้นี้อยู่ตรงกลางทุกสิ่ง”

“งานนี้จึงเป็นเหมือนวัดที่อ่อนนุ่ม ทุกอย่างมันเหมือนวัดสำหรับผม พอเข้าไปอยู่ ณ ใจกลางของชิ้นงาน ผู้ชมจะเห็นว่าหม้อดินเผากับดินและต้นไม้อยู่ในนั้น และโครงสร้างเสมือนเต็นท์ก็แผ่ออกมาจากหม้อดินนั้น จะมีน้ำเต็มไปหมด ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ได้ด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก”

ไท-ยวนปิ๊กบ้าน: การสืบทอดและส่งต่อ
โบราณสถานหมายเลข 16 อำเภอเชียงแสน

‘ไท-ยวนปิ๊กบ้าน: การสืบทอดและส่งต่อ’ คือผลงานของ ‘บ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม’ (Baan Noorg Collaborative Arts and Culture) กลุ่มศิลปินที่มีฐานการทำงานอยู่ในตำบลหนองโพ จังหวัดราชบุรี และมีเอกลักษณ์ในการทำงานเป็นการร่วมมือกับชุมชนศิลปินท้องถิ่น เพื่อตีความ สำรวจ และนำประวัติศาสตร์ ชาติพันธ์ุ และการพลัดถิ่นมาเล่าใหม่ในภาษาของศิลปะ ที่นำมาร่วมจัดแสดงที่โบราณสถานหมายเลข 16 อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายซึ่งถูกนำเสนอในรูปแบบของเจดีย์เป่าลมสีดำ ที่ชวนผู้ชมขึ้นมามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับชิ้นงานผ่านการกระโดดและปีนป่าย

‘ไท-ยวนปิ๊กบ้าน: การสืบทอดและส่งต่อ’ เป็นผลงานที่พูดถึงประวัติศาสตร์ของชุมชนยวนพลัดถิ่นในหนองโพที่มีอันต้องอพยพมาจากเมืองเชียงแสนเมื่อ 200 ปีก่อน หลังทัพสยามและเชียงใหม่ได้ปลดแอกเชียงแสนจากกองทัพพม่า ทำให้บรรพบุรุษของชาวยวนก็ถูกกวาดต้อนมาตั้งรกรากใหม่ในพื้นที่หนองโพ ณ ปัจจุบัน

ศิลปินพยายามสืบค้นร่องรอยของคนไทยวน โดยจินตนาการถึงอดีตที่ย้อนกลับไปไม่ได้ ผ่านผลงาน ศิลปะกลางแจ้งในวัดร้าง ในรูปแบบสถาปัตยกรรมเป่าลมแบบไร้รากฐานสองชิ้น มีรูปทรงสถูปเจดีย์ (Stupa) และรูปทรงฐานวิหาร เปรียบเหมือนการสร้างเติมชีวิตให้กับวัตถุที่มีสภาวะชั่วขณะ เกิดขึ้นและจางหาย วนเวียนต่อเนื่องไป

Solarium (ผีตาโบ๋)
โรงเรียนบ้านแม่มะ ต.ศรีดอนมูล

เจ้ย - อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้ใช้พื้นที่ในโรงเรียนเก่าข้างสุสานเป็นที่จัดแสดงผลงานที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการค้นพบข้อมูลประวัติศาสตร์ขนาดย่อม ในระหว่างลงพื้นที่สำรวจเชียงราย ก่อนจะนำมาผสานเข้ากับการทำหนังสั้น และฉากม่านลิเกจากจอหนังที่เกิดจากการร่วมมือกันกับศิลปินในท้องถิ่นของเชียงรายด้วย

ภายในพื้นที่โรงเรียนบ้านแม่มะ ต.ศรีดอนมูล แห่งนี้ ศิลปินได้แบ่งการจัดแสดงผลงานทั้งหมดออกเป็นสามห้องจัดแสดง ภายในห้องแรกทุกคนจะได้พบกับม่านและจอหนังสีขาว ที่นำมาติดตั้งบนรางเลื่อน และออกแบบให้คล้ายคลึงกับฉากลิเกที่เคลื่อนที่คลี่คลายไปมาแบบอัตโนมัติ พร้อมเผยให้เห็นภาพวาดจากผลงานจิตรกรรมของ นพนันท์ ทันนารี (Noppanan Thannaree) และ อำนาจ ก้านขุนทด (Amnart Kankunthod) บนม่านเหล่านั้นด้วย

สำหรับสองห้องสุดท้ายจะเป็นการจัดแสดงหนังสั้นเรื่อง 'Solarium' หรือชื่อไทยคือ 'ผีตาโบ๋' ความยาว 19.32 นาที โดยจะแบ่งออกเป็น Side A และ Side B โดย ห้อง Side A จะเป็นห้องฉายหนังให้ทุกคนเข้าไปนั่งรับชมได้ ส่วนห้อง Side B จะเป็นส่วนของห้องฉายแสง ที่ทำหน้าที่ฉายภาพไปยังอีกฝั่งหนึ่ง เพื่อให้คนฝั่ง Side A ได้มองเห็นภาพ ความพิเศษของผลงานชิ้นนี้คือภาพยนตร์ที่เราเห็นจะถูกฉายลงบนกระจกใส ที่ช่วยสร้างความแตกต่างทางสายตาและความรู้สึกในการรับชมภาพในมิติที่แปลกใหม่มากขึ้น

ผลงานทั้งหมดที่จัดแสดงอยู่ภายในโรงเรียนแม่มะแห่งนี้ ยังคงเต็มไปด้วยลายเซ็นความเป็นพี่เจ้ยอย่างเต็มเปี่ยม ทั้งยังเป็นการนำเสนอจินตนาการใหม่บนโรงเรียนร้างข้างสุสาน ที่ล้อรับไปกับภาพความทรงจำส่วนตัวและเรื่องผี พร้อมกับสะท้อนให้เห็นภาพบรรยากาศขมุกขมัวของความมืด ความเชื่อ ความกลัว ความฝัน และการเมืองที่สอดแทรกอยู่ในผลงานด้วย

และเมื่อมวลความรู้สึกเหล่านั้นมารวมเข้ากับการเล่าเรื่องแบบไม่เป็นเส้นตรง (nonlinear) ตามสไตล์เฉพาะตัวของศิลปิน ก็ทำให้ผู้ชมได้ลองนำภาพความทรงจำและความรู้สึกเหล่านั้น มาปะติดปะต่อเป็นภาพความทรงจำใหม่ ตามความรู้สึกของตัวเองได้อย่างอิสระ

หากใครอยากสัมผัสกับผลงานเหล่านี้ด้วยตัวเองแบบใกล้ชิด ก็สามารถตามไปชมผลงานของ เจ้ย - อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กันได้ในงาน 'Thailand Biennale,Chiang Rai 2023' ตั้งแต่วันนี้ - 30 เมษายน 2566 ณ โรงเรียนบ้านแม่มะ ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ - 30 เมษายน 2567 ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ในจังหวัดเชียงราย (เข้าชมฟรีทุกพื้นที่ ยกเว้น พิพิธภัณฑ์บ้านดำ, อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ที่มีค่าเข้าชม)

สามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรม สถานที่ วิธีการเดินทาง หรือดาวน์โหลดคู่มือเดินชมงานเพิ่มเติมได้ที่เพจ Thailand Biennale