GC_Coverweb_burnout.jpg

The Burnout Society สำรวจนรกยุคใหม่ของคนทำงานที่การ ‘หมดใจ’ คือความป่วยไข้แห่งยุคสมัย

Post on 16 March

“…ปัจเจกชนผู้แสวงหาความสำเร็จกลับพบว่า สิ่งที่เขากำลังต่อสู้อยู่นั้นกลับกลายเป็นตัวของเขาเอง บาดแผลที่เกิดขึ้นกับผู้เผชิญกับความซึมเศร้ากลับมีต้นกำเนิดมาจากสงครามภายในจิตใจของพวกเขา อาการซึมเศร้าคือความป่วยไข้ที่แพร่ระบาดในสังคมที่ถูกกระตุ้นให้มองโลกในแง่บวกจนล้นเกิน อาการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นภาพของมนุษย์ในยุคปัจจุบันที่ต้องทำสงครามต่อสู้กับตัวเอง”

 

ถ้อยความดังกล่าวมาจากส่วนหนึ่งของบท Beyond the Disciplinary Society ที่อยู่ในหนังสือ The Burnout Society ของ ฮันบยอนชุล นักปรัชญาชาวเกาหลีใต้สัญชาติสวิส-เยอรมัน ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักปรัชญาร่วมสมัยที่ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อกระบวนทัศน์ทางความคิดในศตวรรษที่ 21 เนื่องจากงานของเขาส่วนใหญ่ล้วนว่าด้วยการสำรวจมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องเผชิญและปะทะกับเทคโนโลยี ข้อมูลอันมากล้น และความรวดเร็วของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีทุนนิยมครอบงำ

‘Burnout’ คำสั้น ๆ ที่ทำให้คนทำงานทุกคนต่างสะดุ้งโหยง และไม่ว่าเราจะเกลียดหรือพยายามหลีกเลี่ยงคำคำนี้อย่างไร แต่อาการเบิร์นเอาต์ที่ใช้เรียกอาการหมดกำลังใจในการทำงานนั้น กลับเป็นเหมือนเงาที่คอยตามหลังเหล่าสมาชิกชมรมคนรักงาน ทำให้เราต้องคอยกังวลว่าเมื่อไหร่กันหนอที่มันจะแตะบ่าและขยับขึ้นมาขี่คอเป็นเงาเหนือหัวเรา

อาการเบิร์นเอาต์คือหนึ่งในประเด็นหลักที่ฮันบยอนชุลสำรวจไว้ในงานเขียนของเขา จนกลายมาเป็นหนังสือชื่อสังคมเบิร์นเอาต์ที่เราหยิบยกขึ้นมาพูดถึงด้านบน และอยากหยิบมาบอกเล่าให้เหล่าผู้กำลังเผชิญกับสภาวะหมดใจในการทำงานได้สำรวจร่วมกัน 

 

<p><i>Byung-Chul Han</i></p>

Byung-Chul Han

<p><i>The Burnout Society</i></p>

The Burnout Society

The Burnout Society เริ่มต้นด้วยการที่ฮันกล่าวถึงสภาพสังคมในยุคปัจจุบันที่ความรวดเร็วของข่าวสารข้อมูลและรูปภาพ ก่อให้เกิดโรคพยาธิวิทยารูปแบบใหม่ที่ต่างจากอาการป่วยไข้ในโลกยุคเก่า นั่นก็คือโรคซึมเศร้า การโหยหาความสนใจ การสับสนในตัวตนหรือบุคลิกภาพของตัวเอง ไปจนถึงสภาวะหมดไฟในการทำงาน (หรืออาจรวมไปถึงการใช้ชีวิต) ซึ่งต่างจากโรคติดเชื้อซึ่งเกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของมนุษย์มีการ ‘บกพร่อง’ หรือร่อยหรอลง (negativity) โรคทางจิตใจในโลกยุคใหม่นี้เป็นผลมาจากการที่คนในสังคมมีภูมิคุ้มกันในแง่บวกมากเกินไป (positivity) หรือพูดง่าย ๆ ว่าสังคมในปัจจุบันกระตุ้นให้คนเปิดรับแต่สิ่งที่เป็นแง่บวกแบบมากล้น จนทำให้เราไม่เหลือพื้นที่เผื่อไว้สำหรับความผิดพลาดหรือความล้มเหลว

ฮันอธิบายว่า สังคมในยุคปัจจุบันกระตุ้นให้คนต้องแสวงหาความสำเร็จอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งมันได้เปลี่ยนคนให้กลายเป็นทั้งนายและทาสในตัวเราเอง แล้วการเป็นนายและทาสในตัวเองหมายความว่าอย่างไร? ฮันยกตัวอย่างเป็นภาพของระบบการผลิตที่เราคุ้นเคยกันดีที่นายทุนใช้แรงงานของทาสหรือคนทำงานในการผลิตสินค้าออกมา ซึ่งสุดท้ายแล้วสินค้าที่มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของคนทำงานนั้นก็จะตกเป็นของนายทุน ฮันอธิบายว่า รูปแบบความสัมพันธ์การหาผลประโยชน์ระหว่างนายทุนกับแรงงานได้เปลี่ยนไปในโลกศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคที่นายทุนก็กลับกลายเป็นตัวเรา และถูกกระตุ้นโดยสังคมที่ไม่มีพื้นที่ให้กับความล้มเหลวหรือภาพลักษณ์ในแง่ลบ ทำให้เราเฆี่ยนตีและขูดรีดแรงงานซึ่งก็คือตัวเราเอง โดยที่ผลผลิตที่ได้จากความสัมพันธ์นายและทาสในตัวเรานั้นก็คือความสำเร็จหรือภาพลักษณ์ในแง่ดีนั่นเอง 

แล้วสังคมที่บูชาความสำเร็จและภาพลักษณ์ในแง่บวกเข้ามาควบคุมกำหนดชีวิตเราได้อย่างไร? ฮันอธิบายโดยยกตัวอย่างเป็นแนวคิดเรื่องอำนาจเชิงวินัย (disciplinary power) ของนักปรัชญาและสังคมวิทยาตัวพ่ออย่าง มิเชล ฟูโกต์ ซึ่งทำงานผ่านการจัดแจงและสร้างกฎระเบียบในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาล โรงพยาบาลจิตเวช คุก โรงงาน โรงเรียน ฯลฯ ฮันมองว่าในศตวรรษที่ 21 พื้นที่แห่งอำนาจเชิงวินัยนั้นได้ย้ายพื้นที่ปฏิบัติการมาสู่พื้นที่ที่ดูปราศจากพิษภัยอย่าง ฟิตเนส ตึกสำนักงาน ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ โดยที่ ‘สังคมแห่งกฎระเบียบ’ ได้แปลงตัวเองให้กลายเป็น ‘สังคมแห่งความสำเร็จ’ คือหากรูปแบบอำนาจในยุคเก่าใช้กฎระเบียบเป็นฉากหน้าในการควบคุมผู้คนเพื่อนำไปสู่อำนาจ อำนาจในยุคใหม่ก็ใช้ ‘กระบวนการแสวงหาความสำเร็จ’ เป็นฉากหน้าเพื่อควบคุมผู้คน โดยที่คนคนนั้นเป็นทั้งผู้คุมและถูกควบคุมภายในคนเดียวกัน ดังที่กล่าวมา

ฮันยังอธิบายถึงกระบวนการทำงานของสังคมที่กระตุ้นให้คนแสวงหาความสำเร็จ ในขณะที่อำนาจเชิงวินัยในยุคเก่าเต็มไปด้วยคำในแง่ลบอย่างคำว่า ‘ห้าม’ (may not) หรือ ‘ควร’  (should) อำนาจในยุคใหม่กลับเลือกใช้คำในแง่บวกคือ ‘ทำได้’ (can) แล้วสนับสนุนให้คนใช้คำว่า ‘ทำได้’ กับทุกสิ่ง ซึ่งในโลกยุคเก่านั้น ผู้ที่ฝ่าฝืนคำว่าห้ามที่อยู่ในข้อห้ามต่าง ๆ ของสังคม จะกลายเป็นนักโทษหรือคนบ้า แต่ในโลกแห่งศตวรรษที่ 21 นี้ หากใครไม่สามารถ ‘ทำได้’ หรือพูดคำว่า ‘ทำไม่ได้’ ออกมา ก็จะกลายเป็น ‘ผู้แพ้’, ‘ลูซเซอร์’ (looser) หรือผู้ป่วยซึมเศร้า

สังคมบูชาความสำเร็จยังคงทำงานสอดคล้องกับสังคมแห่งทุนนิยมและบริโภคนิยมที่เน้นการผลิตอันเกินล้น ไม่ต่างจากสังคมแห่งอำนาจเชิงวินัยในอดีต อย่างไรก็ตาม สังคมแห่งพลังบวกนี้ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าและมากกว่าสังคมแห่งกฎข้อห้าม เพราะในขณะที่คำว่า ‘ห้าม’ ที่ใช้อย่างแพร่หลายในสังคมแห่งอำนาจยุคเก่าสะท้อนนัยถึงการปิดกั้น จำกัด หรือขอบเขต คำว่า ‘ทำได้’ ที่เป็นหัวใจของสังคมพลังบวกในศตวรรษที่ 21 กลับแฝงนัยของการไร้ขีดจำกัดและการลงมือทำได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งสอดคล้องกับสังคมทุนนิยมที่คลั่งการผลิตอย่างเหลือล้น จึงเป็นที่ชัดเจนว่า สังคมยุคใหม่ที่ผลิต ‘ทาสความสำเร็จ’ นั้นนำมาสู่ผลิตผลที่มากกว่าสังคมที่ผลิต ‘ทาสอันนอบน้อม’ แบบสังคมในอดีต

และความน่ากลัวยิ่งกว่าสิ่งใดของสังคมแห่งการทำได้นี้ก็คือ มันหลอกเราว่าเราเป็นอิสระ เราสามารถทำอะไรก็ได้โดยไร้ผู้ควบคุม หากแต่แท้ที่จริงแล้ว สังคมบูชาความสำเร็จนี้หาได้ต้องการผู้คุมมาคอยตรวจตราผู้อยู่ใต้อำนาจ เพราะในสังคมนี้ เราได้กลายไปเป็นผู้คุมของตัวเราเอง ดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า

ด้วยความที่เราเป็นทั้งนายและทาสของตัวเราเอง การงานจึงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ก่อความเหนื่อยล้าให้กับร่างกายและจิตวิญญาณ (ฮันใช้คำว่า tired soul) จริงอยู่ แม้ว่าการทำงานจะทำให้เราเหนื่อยล้า แต่มันไม่ใช่ความเหนื่อยล้าในระดับของจิตวิญญาณ การงานมีวันหมดไป แต่ความกดดันที่ตัวเราสร้างขึ้นมากดทับตัวเองนั้นยังคงทำงานอยู่แม้หลังเวลาเลิกงาน ซึ่งสำหรับฮันแล้ว แรงกดดันที่เราสร้างขึ้นมาจากภายในของเราเพื่อบังคับให้ตัวเราสร้างความสำเร็จและมองโลกในแง่บวกนั่นเองที่นำมาสู่การเป็นซึมเศร้า ในที่นี้ ยุคสมัยของเราจึงไม่ใช่ยุคของการต่อสู้กับการกดขี่จากภายนอก แต่เป็นการต่อสู้กับแรงกดดันจากภายใน ที่อำนาจในสังคมได้แปลงกายล่องหน แล้วทำงานผ่านคำลวงอย่าง ‘อิสระ’ หลอกให้เราเชื่อว่าเรามีทางเลือกมากมายไม่รู้จบ และที่ร้ายที่สุดคือการหลอกให้เราเป็นผู้กดขี่ตัวเราเอง

 

อ้างอิง

Han, B.-C., & Butler, E. (2015). The burnout society.