สบเสี้ยวสายตาแห่งความหลังเมื่อครั้งยังอุ่น ในภาพวาดของ Theo ศิลปินผู้เปลี่ยนตัวตนวัยเด็ก ให้กลายเป็นคาแรกเตอร์ย้อนใจวัยเยาว์

Post on 30 July

“ผู้ใหญ่ทุกคนเคยเป็นเด็กมาก่อน แต่น้อยคนที่จะจดจำช่วงเวลานั้นได้” คือโควทสำคัญจากนิยายภาพเรื่องเจ้าชายน้อย ที่เราพลันนึกถึงขึ้นมาเมื่อลองสำรวจผลงานและพูดคุยกับ ‘Theo’ หรือ ‘ธีโอ-สาวินี เอียดสงคราม’ อดีตนักศึกษาคณะโบราณคดี เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เพิ่งเดบิวต์เป็นศิลปินอิสระแบบเต็มตัวไปเมื่อสามเดือนก่อน และเมื่อช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ผลงานของเขาก็เพิ่งกลายเป็นไวรัลบนทวิตเตอร์ และมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นนับหมื่นคนภายในเวลาไม่กี่วัน

อย่างไรก็ตาม การที่เรายกโควทนี้มาเทียบเคียง ไม่ได้หมายความว่าผลงานของธีโอหลงลืมความเป็นเด็ก แต่เรากลับรู้สึกถึงความเป็นเด็ก ความฝัน ความหวัง และความรู้สึกลาง ๆ ราวกับเคยพบเห็นมันที่ไหนมาก่อนในงานของเขามากกว่า ซึ่งเขาเองก็เฉลยกับเราในทันทีด้วยเหมือนกันว่า เหตุผลที่ทำให้บรรยากาศในงานของเขาเป็นแบบนั้น เพราะเขาได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘Inner Child’ หรือ ‘เด็กในตัวเรา’ ที่คอยกระตุ้นให้เขามีไฟ และสร้างสรรค์ผลงานมากมายที่เยียวยาเด็กคนนั้นในตัวเขา

“ถ้าจะอธิบายถึง Inner Child ก่อนอื่นเลยก็คงต้องบอกว่ามันเป็นคำศัพท์ทางจิตวิทยาที่สื่อถึงความเป็นเด็กในตัวเราค่ะ ทฤษฎีนี้เขามองว่า แม้หลาย ๆ คนจะคิดว่าพอโตขึ้นแล้ว เราในวัยเด็กจะหายไปอย่างสิ้นเชิง แต่จริง ๆ แล้วตัวตนในวัยเด็กไม่ได้หายไป แต่หลอมรวมเราให้เป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ต่างหาก และพอมีอะไรไปทริกเกอร์ตัวตนนั้น ดก็จะกลับมาอีกครั้งให้เรานึกถึง เหมือนกับเราที่หลงใหลในนิทานเด็กที่เป็นลายเส้นของฝั่งต่างประเทศมาก ๆ แล้วมานั่งนึกเสียดายว่า ตัวเราในวัยเด็กไม่เคยรู้จักหรือสัมผัสสิ่งเหล่านี้เลย มันเลยกระตุ้นให้เราอยากทำสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับสิ่งนั้นขึ้นมา เพื่อตอบสนอง Inner Child ในตัวเราค่ะ” ธีโอเริ่มเล่า

เขายังอธิบายถึงคอนเซปต์และที่มาของคาแรกเตอร์ต่าง ๆ ในผลงานของเขาด้วยว่า “เอกลักษณ์ของงานเราน่าจะเป็น ‘glimpse of nostalgia’ (เสี้ยวสายตาแห่งความคิดถึง)โดยคาแรคเตอร์ที่เราออกแบบมาแต่ละตัวค่อนข้างที่จะขึ้นอยู่กับความรู้สึก ณ ตอนนั้นเลยค่ะ เราชอบวาดพวกเขาขึ้นมาจากความทรงจำที่มีเกี่ยวกับผู้คน ไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่เราเดินผ่านในแต่ละวันหรือผู้คนที่เราจินตนาการขึ้นมา เราอยากวาดออกมาให้แต่ละคาแรคเตอร์มีสไตล์ของตัวเองชัด ๆ ค่ะ หลัก ๆ ของแนวคิดก่อนวาดออกมาก็ประมาณนี้เลย”

“ในส่วนของเทคนิคที่ใช้ เราจะใช้สีน้ำและสีชอล์กเป็นหลัก เพราะรู้สึกว่ามันเข้ากันได้ดีกับความเป็นนิทานเด็ก ทั้งในเรื่องพื้นผิวและการผสมกันของสีทั้งสองแบบก็ถือว่าเข้ากันได้ดี โดยเรามองว่าสีน้ำจะช่วยทำให้งานเต็มไปด้วยความอบอุ่นยิ่งกว่าเดิม เลยมองว่ามันเข้ากับคอนเซปต์งานที่อยากให้ออกมาด้วย”

ที่มาที่ไปของผลงานชิ้นแรกที่เรารู้สึกประทับใจที่สุด เริ่มต้นมาจากแรงบันดาลใจของมันค่ะ คือเราวาดผลงานชิ้นนี้ออกมาเพราะบังเอิญเห็นรูปถ่ายรูปหนึ่งแล้วเกิดรู้สึกชอบขึ้นมามาก ๆ ชอบจนไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้ ก็เลยวาดเป็นคาแรคเตอร์และลงสีด้วยมู้ดและโทนของรูปถ่ายรูปนั้นเอาไว้แทนค่ะ

สำหรับผลงานชิ้นนี้เรียกว่าไม่มีที่มาหรือคอนเซปต์อะไรใด ๆ เลยค่ะ มันแค่เกิดขึ้นมาเพราะเราเครียดและคิดว่าตัวเองวาดรูปไม่ได้ ไม่ชอบผลงานที่ตัวเองเคยวาดออกมาเลย คิดไปคิดมาก็เลยแบบ อ้ะ งั้นลองฮึบวาดดูอีกสักตั้ง ตอนนี้พอมองย้อนกลับไปแล้วก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นหนึ่งในชิ้นที่ประทับใจมาก ๆ เลยค่ะ

ผลงานชิ้นนี้มีที่มาจากการที่เรานึกถึงเมืองนิวยอร์ก และอยากเอาความเป็นนิวยอร์กมาใส่ไว้ในคาแรคเตอร์ ก็เลยออกมาเป็นชิ้นนี้ค่ะ

ก่อนจากกันไปเรายังขอให้ธีโอฝากผลงานในอนาคตของเขาให้เราคอยติดตามกันสักหน่อย ซึ่งเขาก็ตอบอย่างยินดีว่า “งานในอนาคตถ้ามีโอกาสคงจะทำเป็นหนังสือนิทานเด็กหรือหนังสือภาพแบบที่ยังคงความคิดถึง โหยหา และอาลัยความหลังวันวาน ตามเอกลักษณ์ในงานของเราเอาไว้อยู่ แบบว่าเราอยากจะเก็บสไตล์นี้ไว้และเพิ่มความรู้สึกอบอุ่นเข้าไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ค่ะ”

สามารถติดตามวันวานอันน่าคิดถึงกับลายเส้นสไตล์นิทานเด็กที่คุ้นใจของ Theo กันต่อได้ที่
Instagram: https://www.instagram.com/menametheo/
Twitter: https://x.com/menametheo

RELATED POSTS

ศิลปะแห่งการออกแบบสัตว์ประหลาด ความเป็นมนุษย์ และสงครามเย็น คุยกับ ‘มะเดี่ยว-ชูเกียรติ’ และ ‘เอก-เอกสิทธิ์’ จาก 13 เกมสยอง สู่ Taklee Genesis: ตาคลี เจเนซิส
In Focus
Posted on Sep 16
คุยกับ ‘บอส-นฤเบศ กูโน’ และ ‘มายน์-ชญานุช เสวกวัฒนา’ ว่าด้วยเบื้องหลังการรีเสิร์ชเพื่อสร้าง ‘วิมานหนาม’ ผ่านสถานที่และดีไซน์เสื้อผ้าในหน้าจอ
In Focus
Posted on Sep 11
สำรวจภาวะ​​ ’คนนอก’ ของตัวเองและของตัวละครแซฟฟิกอมนุษย์ต่างชนชั้น ใน ‘ฝนเลือด’ ของศิลปินคนทำหนัง อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
In Focus
Posted on Sep 9
‘เอ๋ - ปกรณ์ รุจิระวิไล’ กับการบอกลาศิลปะแบบเมืองใหญ่ และความท้าทายของอาร์ตสเปซในเมืองเล็ก ๆ
In Focus
Posted on Aug 15