ไปตามติ่ง ‘โมเนต์’ ที่โตเกียว ใน Claude Monet: Journey to Series Paintings นิทรรศการรวมผลงาน โคลด โมเนต์ ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น

Post on 15 February

ปี 2024 ถือเป็นปีสำคัญของ Impressionism หรือศิลปะลัทธิประทับใจ เพราะเป็นปีที่ขบวนการศิลปะอันเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัยใหม่แห่งศิลปะตะวันตกขบวนการนี้ มีอายุครบ 150 ปีพอดี ซึ่งที่ประเทศฝรั่งเศสอันเป็นต้นกำเนิด Impressionism ก็กำลังจะมีนิทรรศการใหญ่เพื่อเฉลิมฉลองฤกษ์งามยามดีนี้ ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์ออร์เซย์ (Musée d'Orsay) ที่กำลังจะมีนิทรรศการParis 1874: Inventing impressionism ซึ่งนำผลงานที่เคยจัดแสดงในนิทรรศการ Impressionism ครั้งแรกเมื่อปี 1874 มาจัดแสดงอีกครั้ง หรือที่แคว้นนอร์มังดีซึ่งเป็นที่ตั้งของสวนจิแวร์นี อันเป็นสถานที่บ่มแรงบันดาลใจของหัวหน้าขบวนการอย่าง โคลด โมเนต์ ก็กำลังจะมีเทศกาล Normandy Impressionist Festival ที่พลิกพื้นที่ทั่วแคว้นเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมให้ชาวลัทธิประทับใจไปสำรวจขบวนการศิลปะแห่งศตวรรษที่ 19 นี้

ข้ามมาที่อีกฟากฝั่งของโลกที่ประเทศญี่ปุ่น กระแสความตื่นเต้นต่อวาระครบรอบ 150 ปี Impressionism ก็ดูจะบูมอยู่ไม่ใช่น้อย เห็นได้จากความยาวของแถวชาวญี่ปุ่นที่มายืนรอหน้าพิพิธภัณฑ์ Ueno Royal Museum เพื่อเข้าชมนิทรรศการที่รวบรวมผลงานของ โคลด โมเนต์ ที่ได้ชื่อว่าใหญ่ที่สุดที่เคยจัดในญี่ปุ่น

Monet: Journey to Series Paintings คือนิทรรศการที่รวบรวมผลงานของโคลด โมเนต์ ถึง 75 ชิ้นมาจัดแสดง โดยรวบรวมมาจากทั้งในพิพิธภัณฑ์ของญี่ปุ่นและจากที่อื่นทั่วโลก โดยเน้นไปที่ ‘Series Painting’ หรือผลงานภาพวาดที่โมเนต์วาดเป็นชุด ๆ ไม่ว่าจะเป็นชุดภาพดอกบัว กองฟาง หรือทิวทัศน์ของทะเลทางตอนใต้ของฝรั่งเศส

เราคิดว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ Impressionism ได้รับความนิยมมาก ๆ ในหมู่ผู้สนใจศิลปะชาวญี่ปุ่น (ต่อจากนิทรรศการโมเนต์แล้วก็ยังมีนิทรรศการ Frontiers of Impressionism: Paintings from the Worcester Art Museum มาจัดแสดงที่ Tokyo Metropolitan Art Museum ซึ่งอยู่ใกล้กัน) นั่นก็เพราะข้อเท็จจริงที่ว่าศิลปะลัทธิประทับใจที่มีต้นกำเนิดในประเทศฝรั่งเศสได้รับอิทธิพลจากศิลปะภาพพิมพ์ญี่ปุ่นอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของเทคนิคการนำเสนอองค์ประกอบภาพแบบสองมิติ (จากเดิมที่เน้นการนำเสนอแสงเงาแบบสมจริง เห็นมิติลึกชัด) หรือแนวคิดเรื่องการนำเสนอความงามของธรรมชาติ โดยเฉพาะโมเนต์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความคลั่งไคล้ในศิลปะญี่ปุ่น ทั้งเคยวาดภาพภรรยาในชุดกิโมโน และถึงขั้นจัดสวนจิแวร์นีย์โดยได้แรงบันดาลใจจากสวนญี่ปุ่นด้วย นั่นจึงอาจทำให้คนญี่ปุ่นรู้สึกเชื่อมโยงกับศิลปะลัทธิประทับใจได้อย่างง่ายดาย

สำหรับนิทรรศการ Monet: Journey to Series Paintings จะแบ่งออกเป็นห้าห้อง (แต่น่าเสียดายที่อนุญาตให้ถ่ายรูปแค่สองห้องสุดท้ายเท่านั้น) ประกอบด้วย Chapter 1: Monet, His Early Works ที่จัดแสดงผลงานในช่วงแรก ๆ ของอาชีพศิลปิน ที่โมเนต์ได้รู้จักกับ ยูจีน โบแด็ง ศิลปินรุ่นพี่ผู้จุดประกายความสนใจในการวาดภาพทิวทัศน์ (Landscape) ให้โมเนต์ รวมไปถึงเพื่อนร่วมขบวนการประทับใจอย่าง กามีย์ ปีซาโร, ปีแอร์ ออกุสต์-เรอนัวร์ และ เฟรเดริก บาซีย์ โดยมีผลงานที่ถือเป็นมาสเตอร์พีซประจำห้องคือ The Luncheon (1868 – 1869) ที่โมเนต์นำเสนอภาพภรรยา การ์มีย์ และลูกชายขณะที่โต๊ะอาหารกลางวัน

 The Luncheon (1868 – 1869)

The Luncheon (1868 – 1869)

ในห้องถัดมา Chapter 2: Monet, the Impressionist จัดแสดงผลงานในช่วง 1870s-1880s อันเป็นช่วงเวลาที่โมเนต์กับเพื่อนทำงานเพื่อนำไปจัดแสดงในนิทรรศการ Impressionism ครั้งแรก โดยในห้องนี้ผู้ชมจะได้เห็นภาพวาดทิวทัศน์ของชนบทในประเทศฝรั่งเศส จากการที่โมเนต์เดินทางไปยังหลากหลายที่ ไฮไลต์ของห้องนี้จึงหนีไม่พ้นภาพเรือที่โมเนต์และผองเพื่อนดัดแปลงเป็นสตูดิโอลอยน้ำ เพื่อพากันออกไปเก็บแสงและเงาที่กระทบผิวน้ำในช่วงเวลาต่าง ๆ ของวัน

The Studio Boat (1874)

The Studio Boat (1874)

The Studio Boat (1876)

The Studio Boat (1876)

Chapter 3: Focusing On One Subject จัดแสดงผลงานภาพวาดทิวทัศน์ธรรมชาติที่โมเนต์ได้พานพบและเก็บบันทึกไว้ระหว่างเดินทางไปในที่ต่าง ๆ ทั่วยุโรป ผลงานในห้องนี้จะเน้นภาพวาดทิวทัศน์ของสถานที่เดิม ๆ ที่โมเนต์วาดซ้ำ ๆ เช่น หน้าผาที่ชายฝั่งพูร์วีล์ ในแคว้นนอร์มังดี หรือหินผาหน้าตาประหลาดที่ชายฝั่งเมืองเอเทรอทาต์ โดยจะเห็นได้ว่าโมเนต์นำเสนอภาพจากมุมเดียวกัน แต่ด้วยสีสันที่แตกต่างกัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสีแสงแดดในแต่ละช่วงวันนั่นเอง

La Manneporte (Étretat), 1883

La Manneporte (Étretat), 1883

La Manneporte près d'Étretat

La Manneporte près d'Étretat

ในห้องที่สี่ Chapter 4: Series Painting ซึ่งเป็นห้องแรกที่สามารถถ่ายรูปได้ ห้องนี้แสดงผลงานซีรีส์กองฟางซึ่งเป็นชุดภาพวาดที่โมเนต์วาดจากกองฟางที่เขาเห็นเป็นประจำในแถบละแวกบ้านที่จิแวร์นีย์ ภาพกองฟางแต่ละภาพถูกนำเสนอด้วยสีสันที่แตกต่างกัน ตามการแปรผันของแสงและสีในแต่ละช่วงวัน โดยมีการศึกษาว่าโมเนต์น่าจะได้แรงบันดาลใจในการวาดภาพเป็นชุดหรือซีรีส์เช่นนี้มาจากขนบการสร้างภาพพิมพ์แบบญี่ปุ่นหรือ ukiyo-e นอกจากนี้ ห้องนี้ยังจัดแสดงชุดภาพสะพานชาริ่งครอสและสะพานวอเตอร์ลูของลอนดอน ซึ่งก็เป็นซีรีส์ผลงานชื่อดังที่สะท้อนการเฝ้าสังเกตแสงและสีของโมเนต์เช่นกัน

ในห้องสุดท้าย Chapter 5: Water-Lilies and the Garden in Giverny ถือเป็นห้องไฮไลต์ที่ไม่เพียงจัดแสดงภาพทิวทัศน์หิมะโปรยชื่อดังของโมเนต์ ยังจัดแสดงชุดผลงานที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของโมเนต์ อย่างซีรีส์ดอกบัวแห่งสวนจิแวร์นีย์ด้วย โดยชิ้นที่เราคิดว่าน่าสนใจที่สุดก็คือ Corner of Water Lily Pond (1918-1819) ซึ่งเป็นผลงานในช่วงท้ายของชีวิตโมเนต์ และเป็นช่วงที่เขาเผชิญกับปัญหาด้านสายตาที่ทำให้เขาต้องเข้ารับการผ่าตัดถึงสองครั้ง แต่แม้จะยังมองเห็น แต่ก็เห็นเพียงสีม่วงและแดงเท่านั้น ทำให้ภาพบัวจิแวร์นีย์ในช่วงหลังนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งพร่าเลือนมากขึ้น และใช้สีสันที่ฉูดฉากมากขึ้น แต่ก็ยังคงงดงามในแบบของตัวเองอยู่ดี

แม้ว่านิทรรศการ Claude Monet: Journey to Series ที่โตเกียวจะจบลงไปแล้ว แต่หากใครแวะเวียนไปแถวโอซากา ยังสามารถตามไปรับชมที่ Nakanoshima Museum of Art ได้ถึงวันที่ 6 พฤษภาคมนี้