แม้ศิลปินชาวดัตช์ที่มีผลงานโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะอย่าง Vincent van Gogh จะล่วงลับไปนานร่วม 130 ปี แต่ชีวิตและผลงานของเขาก็กลับยังคงมีอิทธิพลและสร้างแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายคนตราบจนปัจจุบัน นอกจากผลงานที่เป็นอมตะอยู่เหนือกาลเวลาของเขาแล้ว ส่วนหนึ่งอาจจะต้องยกความดีความชอบนี้ให้กับ Van Gogh Museum พิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นที่รวบรวมผลงานของตัว Van Gogh เอง และผลงานของศิลปินอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ถือเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่โดดเด่นที่สุดในแง่การปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีเครื่องมือมากมายเพื่อใช้สื่อสารเรื่องราวของศิลปินเอกคนนี้ทั้งในตัวพิพิธภัณฑ์ และสื่อออนไลน์
ซึ่งสิ่งที่ทำให้เราประทับใจสุด ๆ คือในหมู่มวลพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่มีมากมายบนโลกใบนี้ พิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมอย่าง Van Gogh Museum กลับยังคงยืนหนึ่ง เป็นที่ฮอตฮิตสำหรับคนทุกเพศทุกวัยไม่เสื่อมคลาย โดยในปี 2017 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ต้อนรับผู้เยี่ยมชมไปกว่า 2.3 ล้านคน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากที่สุดในพิพิธภัณฑ์ในประเทศเนเธอร์แลนด์ รวมถึงเป็นอันดับ 23 ของโลกด้วย นอกจากนั้น ทางพิพิธภัณฑ์ยังมีความพยายามจะนำผลงานของ Van Gogh ออกไปสู่วงกว้างให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น จึงมีการจัดทำระบบข้อมูลบนโลกออนไลน์ที่ง่ายต่อการสืบค้น รวมถึงมีการทำคลิปวีดีโอให้เราได้เข้าไปศึกษาตัวตนและผลงานของศิลปินเอกคนนี้กันแบบง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว ซึ่งในช่อง YouTube ของทาง Van Gogh Museum เองก็ยังมีการปล่อยคลิป Virtual Tour พาเราเดินดูผลงานของ Van Gogh ในพิพิธภัณฑ์กันแบบไม่มีกั๊กด้วย
สัปดาห์นี้เราจึงอยากชวนทุกคนไปร่วมทัวร์เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในแต่ละโซนไปพร้อม ๆ กัน พร้อมแอบส่องเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ เบื้องหลังผลงานมาสเตอร์พีซแต่ละชิ้นว่าจะมีเรื่องราวที่น่าสนใจอะไรซ่อนอยู่บ้าง เผื่อว่าวันหน้าฟ้าใหม่จะได้ปักหมุดไปเที่ยวที่นี่กันแบบฟิน ๆ
ด้วยความที่ขณะยังมีชีวิต Van Gogh เป็นเพียงศิลปินยากจนที่ไม่มีเงินจะไปจ้างใครมาเป็นแบบวาดรูป ทำให้เขาจำเป็นจะต้องฝึกฝนการวาดภาพมนุษย์จากการใช้ตัวเองเป็นแบบ จนในปัจจุบันเขากลายเป็นหนึ่งในศิลปินที่วาดภาพตัวเองเก็บไว้เยอะที่สุด ซึ่งในโซน Self-Portrait นี้ ทางพิพิธภัณฑ์ก็ได้รวบรวมผลงาน Self-Portrait ชิ้นเล็กชิ้นน้อยของเขาไว้มากมาย หนึ่งในชิ้นที่เราชอบเป็นพิเศษคือ ‘Self-Portrait with Straw Hat (1887)’ ผลงานที่เขาวาดไว้ตั้งแต่ปี 1887 ในช่วงที่ยังที่ยังใช้ชีวิตอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยนอกจากเขาจะไม่มีเงินจ้างแบบมาวาดรูปแล้ว แม้แต่ผืนผ้าใบที่ใช้วาดรูปนี้ก็ยังเป็นด้านหลังของผ้าใบเก่าที่เขาใช้วาดภาพหุ่นนิ่งไปก่อนหน้านี้
อีกหนึ่งผลงาน Self-Portrait ที่โด่งดังของ Van Gogh โดยผลงาน ‘Self-Portrait as a Painter (1888)’ ถือเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายที่เขาวาดในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่ซึ่งเขาทุ่มเททำงานศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ไว้มากมาย แต่กลับได้มาเพียงความเหนื่อยล้าทั้งทางกายและทางใจ
ขยับจากโซน Self-Portrait มาสู่โซน Painter of Peasants ซึ่งจะพาเราย้อนอดีตกลับไปดูจุดเริ่มต้นของศิลปินเอกคนนี้สมัยที่ยังศึกษางานสไตล์ Realism อยู่ โดยผลงานมาสเตอร์พีซของเขาอย่าง ‘The Potato Eaters (1885)’ นี้ Van Gogh ถ่ายทอดความยากลำบากของกลุ่มชาวนาในชนบทผ่านลักษณะร่างกายของเหล่าชาวนาที่ดูซูบผอม หยาบกร้าน รวมถึงบรรยากาศในภาพที่ดูมืดมัวจนต้องเพ่งมอง นอกจากผลงานสีน้ำมันชิ้นนี้แล้ว เขายังผลิตมันในรูปแบบภาพพิมพ์หิน (Lithograph) ด้วย ปัจจุบันภาพพิมพ์หินชิ้นดังกล่าวถูกเก็บรักษาไว้ที่ Museum of Modern Art (MOMA) ในมหานครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกานั่นเอง
Van Gogh เป็นศิลปินอีกคนหนึ่งท่ีได้รับอิทธิพลจากงานภาพพิมพ์ญี่ปุ่นที่กำลังหลั่งไหลแผ่อิทธิพลเข้ามาสู่ยุโรปขณะนั้นเข้าอย่างจัง ในโซน Dreaming of Japan ทางพิพิธภัณฑ์จึงได้รวบรวมผลงานของเขาที่ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์มาจากภาพพิมพ์ญี่ปุ่นไว้มากมายหลายชิ้น โดยขณะที่เขาใช้ชีวิตอยู่ที่เมือง Arles ประเทศฝรั่งเศส เขาได้วาดผลงานผลงานชิ้นเอกอย่าง ‘The Bedroom (1888)’ เพื่อบันทึกภาพห้องนอนของเขาในบ้าน Yellow House ที่เขาใช้พักอาศัยในขณะนั้น (ซึ่งบ้านหลังนี้เองก็ปรากฏตัวในผลงานของเขาอีกหลายชิ้นด้วยเช่นกัน) โดยในจดหมายที่เขาส่งถึง Theo น้องชายของเขา Van Gogh ระบุว่า เขาจงใจวาดรูปข้าวของเครื่องใช้ในห้องนี้ให้ดูแบน ไร้น้ำหนัก และปราศจากเงาตกทอดตามหลักความถูกต้องของแสงและเงา เพื่อให้ผลงานชิ้นนี้มีลักษณะออกมาใกล้เคียงกับงานภาพพิมพ์ญี่ปุ่นมากที่สุด ซึ่งผลลัพธ์ของมันก็คงจะเป็นที่ถูกอกถูกใจเขามาก จนได้ผลิตมันออกมาในอีก 2 เวอร์ชั่นเพิ่มเติม ปัจจุบัน ผลงานอีก 2 ชิ้นถูกเก็บรักษาไว้ที่ Art Institute of Chicago ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Musée d'Orsay ประเทศฝรั่งเศส
และแล้วเราก็มาถึงผลงาน ‘Self-Portrait with Bandaged Ear (1889)’ อีกหนึ่งผลงาน Self-Portrait กับหูที่หายไป ซึ่งความจริงแล้วเรื่องราวของ Van Gogh กับการตัดหูนั้นก็ยังมีการถกเถียงกันไม่จบสิ้น บ้างก็ว่า เขามีอาการทางจิต คลุ้มคลั่งควบคุมตัวเองไม่ได้จนตัดหูของตัวเอง บ้างก็ว่า เขาตัดหูเพื่อเป็นของต่างหน้าส่งไปให้หญิงโสเภณีที่หลงใหล หรือแม้แต่บางทฤษฎีที่สงสัยว่า ความจริงแล้ว Van Gogh อาจไม่ใช่คนตัดหูของตัวเอง แต่เป็นศิลปินและเพื่อนรักอย่าง Paul Gauguin ที่ตัดหูของเขาหลังจากมีเรื่องบาดหมางผิดใจกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีไหน ผลงานชิ้นนี้ก็น่าจะเป็นสัญลักษณ์อย่างดีที่บอกว่าศิลปินเอกคนนี้ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับอาการทางจิตที่คอยรบกวนชีวิตและความสัมพันธ์ของเขากับคนรอบข้างตราบจนวันสุดท้ายของชีวิต
เมื่อพูดถึง Van Gogh แล้ว ภาพแรก ๆ ที่เราจะนึกถึงคงหนีไม่พ้นภาพดอกทานตะวันสีเหลืองเด่นในแจกันที่กำลังตั้งตระหง่านอย่างโดดเดี่ยวจากผลงาน ‘Sunflowers (1889)’ ที่แม้จะใช้สีเพียงไม่กี่สีในการสร้างสรรค์ แต่กลับทรงพลังจนกลายเป็นหนึ่งในผลงานภาพวาดดอกไม้ที่ไอคอนนิคที่สุดในโลกศิลปะ โดยความจริงแล้ว Van Gogh ได้วาดดอกทานตะวันในแจกันในลักษณะดังกล่าวไว้อีกหลายชิ้น แต่ชิ้นที่ถูกจัดแสดงอยู่ที่ Van Gogh Museum คือผลงานที่เขาผลิตเพิ่มเติมในภายหลังจากที่ Paul Gauguin ขอเป็นของขวัญหลังจากมาพักอาศัยร่วมกันที่บ้าน Yellow House นั่นเอง
‘Wheatfield with Crows (1890)’ คืออีกหนึ่งผลงานชิ้นสำคัญของ Van Gogh แม้จะยังไม่มีหลักฐานที่ปรากฏแน่ชัด และยังมีการถกเถียงอยู่เป็นระยะ แต่นักประวัติศาสตร์ศิลป์หลายคนก็เชื่อว่าผลงานชิ้นนี้คือเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของเขาก่อนจะจากโลกใบไปในวัยเพียง 37 ปี ซึ่งภาพทุ่งข้าวสาลีสีเหลืองอร่ามที่กำลังถูกปกคลุมไปด้วยความขมุกขมัวของท้องฟ้ามืดมนและฝูงอีกานี้เองก็เป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่บอกเล่าความโศกเศร้าและโดดเดี่ยวของเขาในช่วงบั้นปลายชีวิตได้เป็นอย่างดี
ปิดท้ายกันที่โซน Painting Against All Odds ซึ่งผลงานที่เตะตาเรามากที่สุดคงหนีไม่พ้นผลงาน ‘Almond Blossom (1890)’ ซึ่งถือเป็นอีกครั้งที่อิทธิพลของงานภาพพิมพ์ญี่ปุ่นแสดงออกอย่างชัดเจนในภาพวาดของเขา ทั้งการจัดวางองค์ประกอบ และการใช้เส้นเอาต์ไลน์สีเข้นมาตัดขอบ สำหรับ Van Gogh แล้ว การผลิดอกบนกิ่งก้านของต้นอัลมอนด์เหล่านี้เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความหวังและการกำเนิดใหม่ ซึ่งนี่เองอาจจะเป็นสาเหตุที่เขาวาดผลงานชิ้นนี้ขึ้นเพื่อเป็นของขวัญแก่ Theo และ Jo น้องชายและน้องสะใภ้ของเขาที่เพิ่งคลอดลูก โดยหลานชายคนนี้เองก็ถูกตั้งชื่อว่า Vincent Willem ตามชื่อของเขานั่นเอง
Free Virtual Tour:
📍 Van Gogh Museum
อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
€ 19 ต่อคน อายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าชมฟรี
Website: https://www.vangoghmuseum.nl/en
Facebook: https://www.facebook.com/VanGoghMuseum/
Instagram: https://www.instagram.com/vangoghmuseum/