20210816_GC_Vessel_Cover copy.jpg

บทเรียนการออกแบบอาคาร Vessel แลนด์มาร์คสุดเก๋แห่งมหานครนิวยอร์คที่กลายเป็นจุดหมายปลายทางการจบชีวิต

Post on 7 May

เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาก็เป็นอีกครั้งที่ Vessel อาคาร Interactive Installation Art แห่ง Hudson Yards Public Square ในมหานครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา กลายมาเป็นที่พูดถึงจากการเป็นสถานที่จบชีวิตของผู้เข้าชม โดยในครั้งล่าสุดนี้ เป็นเด็กชายวัยเพียง 14 ปีที่กระโดดลงมาเสียชีวิตต่อหน้าต่อตาครอบครัวที่มาเยี่ยมชมอาคารรังผึ้งแห่งนี้ด้วยกัน ซึ่งเด็กชายคนดังกล่าวก็ถือเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 4 หลังจาก Vessel ถูกเปิดใช้งานมาเป็นเวลาเพียง 2 ปีกว่าเท่านั้น

ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ Vessel เปิดทำการต้อนรับผู้คนจากทั่วสารทิศ อาคารแห่งนี้ก็ได้กลายมาเป็นแลนด์มาร์คยอดฮิตแห่งใหม่ของเกาะแมนฮัตตันอย่างไม่ยากเย็นนัก เพราะนอกจากหน้าตาสุดล้ำ แสน ‘instagrammable’ แล้ว Vessel ยังตั้งอยู่ในทำเลทองที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้เข้าไปชมวิวแม่น้ำฮัดสันได้จากมุมสูง พร้อมสัมผัสบรรยากาศการปีนบันไดแสนพิศวง

อย่างไรก็ดี อาคารแลนด์มาร์คแห่งนี้ก็ถูกเหล่าประชาชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมาตลอด ตั้งแต่รูปร่างสุดแปลกตา ไปจนถึงการออกแบบบันไดสูงชันและลิฟต์ที่มีเพียงจำกัดไม่กี่ชั้น จนถูกตั้งคำถามถึงการออกแบบที่ไม่ได้คำนึงถึงการใช้งานของผู้สูงอายุและคนพิการ แต่คำวิจารณ์เหล่านี้ก็เป็นเพียง ‘น้ำจิ้ม’ เท่านั้น เพราะแรงกดดันที่ถาโถมเข้ามาก็เกิดขึ้นเป็นทวีคูณหลังจากมีเหตุฆ่าตัวตายเกิดขึ้นติด ๆ กันถึง 3 รายภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี จน Vessel ต้องปิดทำการชั่วคราวเป็นเวลาหลายเดือน และเพิ่งจะกลับมาเปิดใช้งานอีกครั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมกฎการเข้าชมใหม่ที่ไม่อนุญาติให้ผู้เข้าชมมาเพียงลำพัง ต้องมาเป็นคู่หรือกลุ่มเท่านั้น อีกทั้งยังเข้าไปจับมือกับมูลนิธิ Born this Way Foundation ของนักร้องตัวแม่ชื่อดังอย่าง Lady Gaga ที่เน้นช่วยเหลือและสร้างความเข้าใจอันดีต่อสุขภาพจิต โดยมีการติดป้ายข้อความป้องกันการฆ่าตัวตายตลอดทั่วทั้งอาคาร อย่างไรก็ดี เหตุโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับเด็กชายวัย 14 ปีในครั้งล่าสุดก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าการรับมือกับความสูญเสียดังกล่าวอาจจะยังรัดกุมไม่มากเพียงพอ

ไม่ว่าจะเป็นเพราะโครงสร้างสูงโปร่งที่ดูจะเป็นสถานที่ในอุดมคติของการปลิดชีพ หรือจะเป็นเพราะปรากฏการณ์ High-Place Phenomenon หรือ L'appel du vide (หมายถึง ‘เสียงเรียกจากความว่างเปล่า’ ในภาษาไทย) ที่ทำให้คนรู้สึกอยากกระโดดจากที่สูงอย่างฉับพลันแม้ไม่เคยวางแผนมาก่อนอย่างที่ชาวเน็ตหลายคนออกมาแสดงความคิดเห็น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Vessel กลายเป็นบทเรียนชั้นดีของการออกแบบอาคารที่ไม่ได้คำนึงการใช้งานในภาพกว้าง

โธมัส ฮีธเทอวิก (Thomas Heatherwick) สถาปนิกและนักออกแบบชาวอังกฤษที่เป็นผู้ออกแบบอาคารรวงผึ้งแห่งนี้ได้เผยว่า ความจริงตัวเขาและทีมงานได้มีความพยายามอย่างมากในการคิดหาทางออก และได้ออกแบบโครงสร้างที่ใช้ป้องกันความสูญเสียจากการฆ่าตัวตายของผู้เข้าชมที่เกิดขึ้นไว้ในหลายรูปแบบ อย่างไรก็ดี Related บริษัทอสังหาริมทรัพย์เจ้าของโปรเจ็ค Hudson Yards กลับไม่เคยนำโครงสร้างเหล่านี้ออกมาใช้แม้แต่ครั้งเดียว (หลาย ๆ คนมองว่าน่าจะเกี่ยวกับงบการก่อสร้างที่บานปลายจนไม่อยากลงทุนเพิ่ม)

นักวิชาการหลายคนออกมาเรียกร้องให้ Vessel ยุติการใช้งานถาวร ในขณะที่หลาย ๆ คนมองว่ามันเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น โดยเสนอให้ทางโครงการทำแนวรั้วกั้นให้สูงขึ้น เนื่องจากแนวรั้วกั้นเดิมที่ถูกใช้งานอยู่ในปัจจุบันมีความสูงถึงเพียงแค่ระดับเอวเท่านั้น ซึ่งเป็นระดับความสูงที่ง่ายต่อการปีนและกระโดดลงมา โดยเฉพาะการที่อาคารแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาจากชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่ถูกนำมาประกอบในภายหลัง (Prefabrication) ก็น่าจะไม่ใช่เรื่องยากในการถอดประกอบและดัดแปลงโครงสร้างป้องกันภัยใหม่ โดยในการวิจัยพบว่า เพียงแค่มีแนวรั้วกั้นสูงขึ้นหรือมีตาข่ายป้องกันภัยให้เป็นอุปสรรคต่อการปีน ก็มีส่วนทำให้ผู้ที่คิดจะจบชีวิตตัวเองต้องเปลี่ยนใจและถอยหลังกลับมาคิดทบทวนการตัดสินใจใหม่ โดยเฉพาะในหมู่เยาวชนที่มีแนวโน้มจะมีการตัดสินใจที่ชั่ววูบฉับพลัน (เหล่าผู้เสียชีวิตจากการกระโดดอาคาร Vessel มีอายุ 14, 19, 21 และ 24 ปีเท่านั้น) แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการก่อสร้างที่รัดกุมปลอดภัยก็คือการสร้างสังคมและสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสภาวะจิตใจและอารมณ์ของทุก ๆ คน รวมทั้งส่งเสริมและสร้างความเข้าใจอันดีต่อสุขภาพจิตด้วย

แม้ปัจจุบัน Vessel ยังถูกปิดใช้งานชั่วคราวอย่างไม่มีกำหนด แต่เราอาจกล่าวได้ว่า บทเรียนที่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์โศฏนาฏกรรมของอาคารแลนด์มาร์คแห่งนี้ คือการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่ไม่สามารถคำนึงถึงเพียงแค่รูปร่างหน้าตาที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ และการใช้งานที่สะดวกสบายต่อคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกความต้องการตามหลักการของการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) เท่านั้น แต่เราอาจจะต้องนำหลักการทางจิตวิทยามาใช้เป็นอีกหนึ่งหลักเกณฑ์ในการออกแบบในอนาคตด้วย

แหล่งข้อมูล:
https://www.architecturaldigest.com/story/heatherwick-vessel-saved
https://www.fastcompany.com/90665053/learning-from-the-vessel-how-cities-can-be-designed-to-prevent-suicide
https://www.curbed.com/2021/01/vessel-hudson-yards-suicide-problem.html