ว่ากันว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีชะตากรรมเป็นของตัวเอง บ้างก็ว่าชีวิตของเราถูกลิขิตไว้มาตั้งแต่เกิด ราวกับเป็นหุ่นในโรงละครที่กำลังโดนใครบางคนชักใยให้เคลื่อนที่ไปตามบทบาท หากเป็นคนที่เชื่อมั่นในพระเจ้า คนที่ว่านั้นก็คงจะเป็นพระเจ้าที่พวกเขานับถือ หรือถ้าเป็นความเชื่อแบบไทยเรา คนคนนั้นก็อาจจะเป็นเวรกรรม หรือเทพสักองค์ก็เป็นได้
นิทรรศการ ‘Rendering Destiny’ ที่เพิ่งจัดแสดงจบไปหมาด ๆ ของอ้อน - ณัฐริกา ดอกแดง ศิลปินผู้มีนามปากกาว่า ‘where is watashi’ ก็เป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่นำเรื่องราวของโชคชะตามาวิเคราะห์ แล้วสร้างเป็นงานศิลปะชิ้นใหม่ ที่เชื่อมโยงชีวิตของมนุษย์เข้ากับ ‘เส้นลายมือ’ และ ‘เส้นด้ายแห่งโชคชะตา’ เพื่อค้นหาความสัมพันธ์ที่อยู่เบื้องหลังเส้นที่มองไม่เห็นเหล่านี้ ว่าส่งผลต่อชีวิตของพวกเราจริงหรือ?
และเมื่อเราได้เห็นฉากด้ายแดงที่ห้อยระโยงระยางจากฝ่ามือหลายคู่ สู่ทารกน้อยในครรภ์หินที่จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการนี้ เราก็ตัดสินใจได้ทันทีว่าอยากจะถามอะไรศิลปินเป็นเรื่องแรก และคำถามนั้นก็คือ ‘เส้นพวกนี้กำลังบอกอะไรเรากันแน่?’
“ปกติเราเป็นคนที่ชอบทำงานเพื่อสื่อนัยทางสังคมผ่านตัวกลางอยู่แล้ว โดยตัวกลางที่ว่านั้น ก็จะเป็นร่างกายของมนุษย์ เช่น หู หัวใจ และมือ ซึ่งสิ่งที่เหมือนกันในทุก ๆ งาน คือเราจะใช้เส้นเป็นตัวเชื่อมชิ้นงานต่อกัน เพื่อเป็นการทรานส์เฟอร์จากวัตถุหนึ่งไปยังอีกวัตถุหนึ่ง”
“สำหรับเส้นในนิทรรศการนี้ ก็เริ่มมาจากความอยากเล่นกับเส้นอีกครั้ง ‘เส้น’ ณ ที่นี้ก็เลยเป็นการพัฒนาข้อมูลมาจากผลงานชิ้นก่อน ๆ ของเรา ที่ใช้เส้นเพื่อสื่อถึง เส้นเลือดและเส้นประสาทภายในร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นเส้นที่ต้องทำงานตลอดเวลา มันเลยเปรียบเสมือนกับเส้นแห่งชีวิต ผลงานชิ้นนี้ ก็เลยเป็นการพยายามถอดรหัสของเส้น ที่เชื่อมโยงระหว่างความสัมพันธ์ของมนุษย์และโชคชะตา แล้วนำมาเปรียบเทียบกับเส้นภายใน ผ่านการใช้เส้นลายมือของมนุษย์”
เธอยังเล่าต่ออีกว่า “ สำหรับเหตุผลที่เราเลือกใช้เส้นลายมือมาอธิบาย ก็เพราะบนโลกใบนี้มีศาสตร์ที่เรียกว่าการดูลายมืออยู่หลายแขนง และมีหลายคนที่เชื่อว่าทุกเส้นสายที่ปรากฏเป็นรอยขีดบนมือเรา สามารถบอกได้ว่าชีวิตในวันนี้และวันข้างหน้าของเราจะเป็นอย่างไร จะมีคู่ไหม จะมีบุตรกี่คน และจะอายุยืนหรือเปล่า เส้นลายมือก็เลยเป็นเหมือนกับเส้นแห่งชีวิตที่ถูกลิขิตมาตั้งแต่แบเบาะ และที่น่าสนใจก็คือ ในทางวิทยาศาสตร์เส้นลายมือยังสามารถบอกอัตลักษณ์บุคคลได้อีกด้วย แบบว่าพวกเราแต่ละคนยากที่จะมีเส้นลายมือเหมือนกัน มันเลยสอดคล้องกับพวกศาสตร์ดูลายมือได้แบบแปลก ๆ เราก็เลยเลือกเส้นลายมือนี้มาใช้ในงานของเรา”
“เรารวบรวมลายมือของผู้คนที่เคยพบเจอในชีวิต จากนั้นก็นำมาจัดเรียงตามลำดับความสัมพันธ์ เพื่อแสดงความแตกต่างของลายเส้น และรวบรวมทั้งหมดโยงมาที่ตนเองเพื่อแสดงถึงการเชื่อมต่อระหว่างกัน ผสานกับการมีอยู่ของตัวกลางพรหมลิขิต นอกจากนี้เรายังอิงข้อมูลจากทฤษฎี ‘6 ช่วงคน’ หรือ ‘Six Degrees of Separation’ ที่ว่าด้วยการตั้งสมมติฐานว่า มนุษย์ทั้งโลกสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ผ่านคนไม่เกิน 6 คน เราเลยใช้มือคนรู้จักเป็นตัวแทนของการเชื่อมต่อกัน และมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน” ณัฐริกาสรุป
นอกเหนือจากคอนเซ็ปต์ อีกสิ่งหนึ่งที่เราค่อนข้างสนใจในนิทรรศการนี้ คือเทคนิคการทำงานศิลปะของเธอ เมื่อเราถามถึง ทางศิลปินก็อธิบายอย่างรวดเร็วว่า จุดเริ่มต้นทั้งหมด มันเริ่มมาจากความไม่ปลื้มในการทำงานคอลลาจของตัวเอง เพราะอยากได้งานที่มันคงทนกว่านี้
ศิลปินแชร์ถึงอุปสรรคในการทำงานช่วงแรกให้ฟังว่า “คือก่อนหน้านี้เราจะชอบทำงานคอลลาจมาก ๆ ก่อนจะทดลองพิมพ์รูปออกมาแล้วเอามาเย็บลงบนผ้าจริง ๆ แต่ปรากฏว่ามันไม่เวิร์ค เพราะงานดูไม่เรียบร้อย ไม่คงทน ขาดความประณีต และไม่ตอบโจทย์ที่เราตั้งใจอยากจะทำ”
“เราก็เลยตัดสินใจเปลี่ยนเทคนิคไปเป็นการทรานเฟอร์ลงบนผ้าแทน แต่ใช่ว่าตัดสินใจแล้วจะทำได้เลยนะ คือเราก็พยายามทดลองหาเทคนิคใหม่อยู่หลายครั้ง อย่างบางครั้งก็หล่อซิลิโคน บางครั้งก็ลองใช้ผงพิมพ์ฟัน หรือไม่ก็หล่อปูนปาสเตอร์บ้าง หล่อเรซินบนรูปภาพบ้าง รวมไปถึงการใช้โฟม P.E ในการขึ้นรูปต่าง ๆ ด้วย จนสุดท้ายแล้วก็วนกลับมาใช้เทคนิคทรานส์เฟอร์เหมือนเดิม เพราะเป็นอะไรที่ถนัดมือที่สุดแล้ว”
พอเห็นว่าศิลปินมีการทดลองทำงานหลายครั้ง แปลว่าต้องมีชิ้นงานที่ทำแล้วประทับใจอยู่หลายชิ้นแน่นอน เราเลยอยากทราบต่อว่าถ้าเลือกได้เพียงหนึ่งอัน เธออยากจะแนะนำชิ้นไหนให้เรารู้จักเป็นพิเศษ ซึ่งณัฐริกาก็ตอบเราอย่างอารมณ์ดีว่า “ต้องเป็นงาน 100 มือเลยค่ะ”
“งาน 100 มือ คืองานที่เราประทับใจมากที่สุดในนิทรรศการ Rendering Destiny เลยอยากจะพูดถึงมาก ๆ เลย คืองานนี้เราได้ไปถ่ายภาพมา แล้วเอามาทรานส์เฟอร์ลงบนผ้า เราชอบเทคนิค ชอบพื้นผิวสัมผัส แต่ที่ชอบที่สุด คงจะเป็นกระบวนการทำ เพราะกว่าจะได้ภาพมือแต่ละมือมา เราต้องได้คุย ได้มีปฏิสัมพันธ์จริง ๆ กับเจ้าของมือ เพื่อเชื่อมต่อกับเจ้าของมือนั้นในชีวิตจริง ซึ่งมันตรงคอนเซ็ปต์ที่เราวางไว้ทั้งหมด เป็นผลพลอยได้ที่บังเอิญและเราชอบมันมาก เพราะถือว่ามันทำให้เกิดเส้นสายที่โยงใยกันได้จริง ๆ โดยไม่ต้องใช้เส้นอะไรทั้งนั้น เพียงลากมันออกมาด้วยตาเปล่า จากคำพูดสู่คำพูด จากตาสู่ตา จากใจสู่ใจ”
ได้ยินศิลปินเล่าแบบนี้แล้วก็ชวนให้คิดเหมือนกันว่า บางทีการที่ศิลปินได้จัดแสดงงานนิทรรศการในครั้งนี้ ก็อาจจะเป็นผลมาจากสายใยหรือโชคชะตาบางอย่างที่มาบรรจบกันพอดีก็เป็นได้
“อาจจะมีก็ได้นะ ก็จังหวะเวลามันพอดีสุด ๆ เริ่มตั้งแต่การแสดงผลงานที่หอศิลป์ แล้วมีการลงเพจต่าง ๆ เพื่อเป็นการโปรโมทผลงาน ทำให้ทาง Halo house ได้เห็นผ่านตาบ้างและเกิดความสนใจขึ้นมา ซึ่งทาง Halo House มีแพลนจะเปิดพื้นที่ใหม่ ให้กับเหล่าศิลปินหน้าใหม่พอดิบพอดี จึงได้ให้เกียรติเชิญเรามาแสดงที่ Halo House เป็นนิทรรศการแรก ก็เลยทำให้ผู้คนเข้าถึงและได้รับชมงานของเรามากขึ้น” ณัฐริกากล่าวปิดท้าย
‘Rendering Destiny’
“เราไม่คาดหวังว่างานชิ้นนี้จะออกมาสมบูรณ์แบบ แต่พอทำเสร็จแล้ว รู้สึกว่ามันเกินความคาดหมายมาก ๆ ซึ่งการทำงานชิ้นนี้ทำให้เราได้เทคนิคทรานเฟอร์มาเป็นเอกลักษณ์ของงาน และมีแนวโน้มว่าจะทำเพิ่มขึ้นในอนาคต ก็เลยชอบผลงานชิ้นนี้มากที่สุด เพราะได้ทดลองอะไรใหม่ ๆ ทั้งผิดพลาดและสำเร็จ ที่สำคัญเรายังได้พูดคุยกับผู้คนที่เราทำงานด้วย ซึ่งตรงกับคอนเซ็ปต์การเชื่อมโยงที่ตั้งเป้าไว้ ทุกอย่างก็เลยลงตัว เป็นกิมมิกเล็ก ๆ ของงานที่ชอบมาก และความไม่สมบูรณ์ของการทรานเฟอร์ทำให้งานมีความรู้สึกว่ามันเรียล ไม่กระด้างจนเกินไป พอความหยาบมารวมตัวกันมันจึงเกิดพื้นผิวและอารมณ์ ทำให้ผลงานชิ้นนี้มีอิทธิพลต่อใจเรามากที่สุด”
"จุดเด่นของงานนี้คือ ‘หู’ กับ ‘หัวใจ’ ที่เรายกคำว่า ฟังก์ไจ (Fungi) ที่แปลว่าเห็ดราแบบมีไมซีเลียมเป็นตัวประกอบมาใช้คู่กับคำว่าฟังใจ เพราะมันเป็นคำพ้องเสียงกัน และฟังใจ ยังแปลว่าฟังหัวใจ กับฟังเสียงหัวใจได้ด้วย เลยเอาหูกับหัวใจมาอุปมาอุปไมยถึงมันได้ ซึ่งในตัวผลงานจะเป็นลักษณะกายภาพมนุษย์ ที่หัวใจขึ้นรา และมีเส้นสายใยต่อไปกับใบหู เปรียบเทียบว่า หัวใจที่ขึ้นรา เป็นหัวใจที่ถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการรับฟัง เป็นหัวใจที่นิ่งสนิทราวกับตายแล้ว"
Fungi (ฟังใจ)
“ยังคงอยู่กับผลงานชุด Fungi (ฟังใจ) สำหรับชิ้นนี้เราใช้เทคนิคที่ตั้งใจทำอย่างแรก คือต้องการให้ตัวชิ้นงานมีความเคลื่อนไหว และมีลักษณะเป็นอินเทอร์แอคทีฟอาร์ต (Interactive Art) คือให้ผู้คนมีส่วนร่วมกับงานได้ด้วย โดยการทำลูกบอลมาเรียงกัน แล้วแขวนไว้เป็นหน้ากระดาน จุดประสงค์เพื่อให้ลูกบอลมีการปะทะกันและเกิดโมเมนตัม จากนั้นค่อยเอาเชือกที่ออกมาจากหัวใจผูกไว้กับลูกบอล เพื่อให้หัวใจมีการขยับจากแรงของผู้กระทำ ซึ่งลูกบอลจะมีการกระทบกันสองฝั่ง ทำให้ภาพหัวใจในกรอบมีการสั่งสะเทือนที่เสมือนเกิดการเต้นขึ้นมาจริง ๆ จุดประสงค์ของแนวความคิดนี้ คือต้องการเปรียบให้ผู้ชมเห็นว่าเป็นหัวใจที่ถูกรับฟังแล้ว จึงกลับมาเต้นได้อีกครั้ง สังเกตตรงด้านหลังจะมีใบหูวางอยู่ เปรียบเป็นการรับฟังกับได้ยินสิ่งที่คนต้องการจะสื่อ”
“งานนี้เป็นงานออกแบบโปสต์การ์ดของร้านกาแฟที่เราได้ทำงานและคลุกคลีไปกับวงการกาแฟ เป็นการออกแบบคาแรคเตอร์ และเป็นผลงานชุดครั้งแรก ชื่อว่า ‘Full Of Love Coffee Collection’ ที่มีสีสันสดใส อบอุ่นสนุกสนานในโลกของกาแฟ”
สามารถตามไปสัมผัสเส้นสายและลองเชื่อมโยงสายใยของผ่านผลงานของศิลปินเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/profile.php?id=100004097982581